คำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัล ARC Award
ครั้งที่ ๑ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๐
รางวัล ARC Award ครั้งที่ ๑ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ มีต้นฉบับส่งเข้าประกวดจำนวนทั้งสิ้น ๗๒๑ เรื่อง ในจำนวนนี้ มีผลงานที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย เพื่อให้คณะกรรมการตัดสินพิจารณาตัดสินว่าเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล ARC Award ครั้งที่ ๑ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ รวมทั้งสิ้น ๙ เรื่อง คือ
อิสรภาพกลางไพร โดย ก.แกะดำ
เธอผู้ถูกกล่าวถึงหนึ่งนัยนั้น โดย ภักดี ไชยหัด
พสุธากำสรวล โดย อธิชนัน สิงหตระกูล
NEW-SEE-RIDE @ New Zealand โดย Yambo
Café de สัตว์ โดย ฝนฟ้าคะนอง
ใต้ฝุ่น โดย โกลาบ จัน
ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดำรงอยู่ โดย ปองวุฒิ รุจิระชาคร
(ก่อน) สิ้นดวงตะวัน โดย ณัฐกมล ไชยสุวรรณ
แววโศกในรอยยิ้ม โดย บุญเลิศ วิเศษปรีชา
คณะกรรมการตัดสินรางวัล ARC Award พิจารณาแล้ว มีมติเอกฉันท์ให้นวนิยายเรื่อง ใต้ฝุ่น โดย โกลาบ จัน ได้รับรางวัล ARC Award ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๐
ใต้ฝุ่น เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่มหัศจรรย์บันดาลให้ย้ายร่างท่องเวลาข้ามดินแดนไปใช้ชีวิตในประเทศอัฟกานิสถาน ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองสงบสุขสวยงาม แม่น้ำคาบูลใสสะอาด ร่ำรวยด้วยวัฒนธรรม ก่อนที่สงครามจะบังเกิดทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ทำให้ประเทศที่เคยรุ่งเรืองเหลือเพียงซากปรักหักพัง น้ำตา และเสียงสะอื้น
ผู้เขียนนำพาผู้อ่านเดินทางผ่านเวลาทีละน้อย ย้อนหลังไปสี่ทศวรรษ ร้อยเรียงเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อคนในชาติถูกสองขั้วมหาอำนาจปลุกปั่นหยิบยื่นอาวุธให้เข่นฆ่ากัน คู่ขนานไปกับเรื่องราวความรักระหว่างหญิงชาย มารดากับบุตร และที่สำคัญ ความรักที่มีให้กับมาตุภูมิเหนืออื่นใด ท่ามกลางเสียงระเบิดและความทุกข์ยากของสงคราม ความเสียสละอันสูงส่งเจิดแสงจ้า สั่นสะเทือนอารมณ์ผู้อ่านได้ถึงแก่น ตราตรึงให้นวนิยายเรื่องนี้ข้ามผ่านเส้นแบ่งพรมแดนสู่ความเป็นสากล พิษของความบาดหมาง ความโลภและความฝักใฝ่ในอำนาจไม่ว่าเกิดขึ้น ณ ที่ใด ผลร้ายที่ตามมาย่อมไม่ต่างกัน ผู้เขียนใช้ภาษาอันสละสลวยให้อรรถรส คลุกเคล้าข้อมูลกับจินตนาการได้อย่างแยบยล พอเหมาะพอดี ส่งให้ความสวยงามอันมีที่มาจากความแตกต่างปรากฏชัดแจ้ง ผู้อ่านได้รู้จักอัฟกานิสถานพร้อมไปกับรู้จักโลกนี้มากยิ่งขึ้น ความหวังและศรัทธาเป็นไฟส่องทางที่ผู้เขียนฝากไว้ให้ผู้อ่านครุ่นคำนึงเมื่ออ่านจบ และย้ำเตือนว่าสันติภาพมีค่ายิ่ง
นวนิยายเรื่อง ใต้ฝุ่น ของ โกลาบ จันจึงสมควรได้รับรางวัล ARC Award ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๐
ประกาศ ณ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๑
งามพรรณ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการตัดสิน
ยุทธนา บุญอ้อม กรรมการตัดสิน
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล กรรมการตัดสิน
สุวจนา พินิจชัชวาล กรรมการตัดสิน
ทศพล จันทร์กระจ่าง กรรมการตัดสิน
สราลี สินธพเรืองชัย กรรมการตัดสิน
ภิชาภัช วัฒนโกศล กรรมการตัดสิน
ทีม Readery กรรมการตัดสิน
องอาจ จิระอร ประธานกรรมการเข้มข้น
อุษณีย์ วิรัตกพันธ์ กรรมการเข้มข้น
มนทิรา ภูปากน้ำ กรรมการเข้มข้น
คณะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ กรรมการรอบคัดสรร
——————————-
คำนิยม
“เหมือนนั่งอยู่ใจกลางอัฟกานิสถาน ทุกตัวอักษรพาเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของฉากอย่างแนบเนียน“
-ร้านนายอินทร์-
“งาม สั่นทะเทือนใจ เข้าใจในความรักที่แม่มีต่อลูก“
-ร้าน Kinokuniya-
“แม้แต่คนที่ไม่ชอบอ่านเรื่องแต่งอย่างผมยังมิอาจปฏิเสธความจริงที่ว่า ใต้ฝุ่น เป็นเรื่องแต่งที่ควรค่าแก่การอ่านโดยแท้จริง”
– ทีปกรณ์ วุฒิพิทยามงคล- นักเขียน / บรรณาธิการ
“ผู้เขียนพิสูจน์ให้เราเห็นว่า แม้แต่ในพื้นที่อันเต็มไปด้วยซากปรัก ก็ยังมีความงามอันเป็นความหวังเฉิดฉายอยู่เสมอ”
-ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม-
“อ่านจบแล้วจุกในอก สงครามไม่เคยให้อะไรกับใครเลย“
-ฉัน หนัง สือ-
natcharat –
ความรักในใต้ฝุ่น มีหลากหลายทั้งหญิงชาย แม่ลูก ครอบครัว นายบ่าว เพื่อนร่วมชาติร่วมอุดมการณ์ และที่สุดแล้วความรักต่อผืนแผ่นดินเกิด แม้จะไม่ชอบนวนิยายรัก แต่อ่านไปเป็นน้ำตารื้นน้ำตาไหล เพราะที่สุดแล้ว คงไม่มีใครหลุดพ้นจากความรัก ดังเช่นที่หนังสือเล่มนี้กล่าวไว้…
“ตรงกันข้ามกับความกลัวหรือความเกลียดชัง ซึ่งเมื่อที่สุดแล้วมนุษย์จะลุกขึ้นปลดแอกตัวเอง แต่ไม่มีมนุษย์คนใดปรารถนาจะหลุดพ้นจากพันธนาการรัก”
tigger_gumbiebear (verified owner) –
สิ่งใดเกิดขึ้นเเล้ว
และสิ่งใดกำลังจะเกิด
ใครจะห้ามได้…ไม่มี
ฉันเชื่อว่าไม่มีใครชอบสงคราม ไม่มีใครอยากยกอาวุธขึ้นต่อสู้ แต่บางครั้งเราก็เลี่ยงมันไม่ได้ บางคนตัดสินใจอพยพออกจากบ้านเมืองของตน บางคนกลายเป็นเหยื่อของสงคราม และบางคนเลือกเผชิญหน้ากับมันโดยไม่อาจละทิ้งแผ่นดินเกิดได้
นิยายเรื่องใต้ฝุ่นมีฉากหลังเป็นสงครามในอัฟกานิสถาน ทั้งสงครามระหว่างโซเวียตและสงครามกลางเมืองเอง ใต้ฝุ่น เป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งได้ย้อนอดีตกลับไปยังอัฟกานิสถานก่อนหน้าที่ฟากฟ้าเหนืออัฟกานิสถานจะถูกฝุ่นควันแห่งสงคราม บดบังความสวยงาม เมย์ มิลเลอร์ จึงเป็นเหมือนตัวแทนของคนที่ไม่อาจยอมรับชีวิตที่ต้องเผชิญกับสงคราม ในขณะที่ ราฮิม จาฮานี เป็นตัวเเทนของคนที่มิอาจละทิ้งแผ่นดินเกิดแม้ว่าแผ่นดินนั้นกำลังลุกไหม้ด้วยไฟแห่งสงครามก็ตาม
ตอนอ่านเรื่องย่อนั้น ตัวเองก็คิดนะว่า ถ้าตัวเอกเป็นอิสลามและย้อนอดีตเข้าไปในร่างสาวมุสลิม แล้วคนเขียนจะทำอย่างไร จะปล่อยให้นางเอกไม่ละหมาดหรอ จะทำให้นางเอกไม่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียวหรือเปล่า แต่พอได้หนังสือมา โกลาบ จัน ไม่ทำให้เราสูญเสียอรรถรส เธอค่อยๆลงรายละเอียดวิถีชีวิตของมุสลิมอัฟกานิสถาน ค่อยๆลงรายละเอียดในการฝึกละหมาด ที่เราชอบอีกอย่างคือ คนเขียนใส่รายละเอียดเกี่ยวกับกิบลัตว่าคือทิศที่มุสลิมทุกคนจะหันหน้าไปเวลาละหมาดซึ่งละเอียดพอดู ถึงจะเป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ แต่คนเขียนใส่ใจ ทำให้เราไม่คิดมากเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการย้อนอดีต และทำให้เรามองว่านางเอกคือตัวแทนของคนที่ไม่เคยเผชิญภาวะสงคราม และต้องปรับตัวให้อยู่ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองไม่สงบสุข
ฉากที่ไม่เศร้าก็ทำให้เราร้องไห้ได้ เพราะตอนอ่านเราค่อยๆดำดิ่งลงไปในเหตุการณ์ ในขณะที่สมองอีกด้านหนึ่ง ค่อยๆเปิดเปลือยสงครามที่ตัวเองเคยเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นตอนนั้นเมื่อ ๑๓ ปีที่แล้วที่ฉันเคยวิ่งหนีกระสุนปืนออกไปซ่อนตัวในป่า หรือตอนที่ต้องตื่นกลางคืนเเล้วนอนราบหลบกระสุนปืน จากวันนั้น ๑๓ ปี เเต่ฝันร้ายยังคงตามหลอกหลอนฉัน เสียงกระสุนปืน เเละเสียงร่ำไห้ในคืนนั้นยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำจนฉันถูกวินิจฉัยว่าเป็น PTSD
โกลาบ จัน ได้เลือกให้ราฮิม จาฮานี เป็นตัวเเทนของคนที่รักวาตัน รักเเผ่นดินเกิดอย่างที่สุด แม้ตัวเองจะต้องลำบากแค่ไหน ต้องจากบ้าน จากคนที่รัก แต่ราฮิมจะไม่ไปจากแผ่นดินเกิด ยังร่วมต่อสู้เเม้จะต้องทิ้งมีดผ่าตัดไปจับด้ามปืน ทำให้เราเห็นถึงความเลวร้ายของสงคราม จากผู้ช่วยชีวิตกลับต้องพรากชีวิต เพราะพิษสงคราม เเละความน่าสงสารของประชาชนที่ไม่อาจเอาชีวิตรอดจากสงครามไปได้ และแม้สุดท้ายราฮิมต้องเลือกระหว่างชีวิตตัวเองกับวาตันก็ตาม
ราฮิม พาเราไปรู้จักมูจาฮีดีน พาเราไปรู้จักชีวิตของเหล่าคนที่ต้องจับปืนสู้เพื่อวาตัน ชีวิตที่ทำเพื่อเเผ่นดินเเม่ เหมือนมูจาฮีดีนในอีกหลายๆพื้นที่ มัรยัมจานพาเราไปรู้จักชีวิตที่ต้องต่อสู้โดยไร้สามีข้างกาย ชีวิตท่ามกลางซากปรักหักพังเเต่งดงามไปด้วยความรักของเเม่ที่มีต่อลูกเเละความรักของลูกที่มีต่อเเม่ และการรอคอยที่สวยงาม
ถ้าใครชอบประชาธิปไตยบนเส้นขนาน หรือปีกเเดงเเล้วละก็ จะต้องชอบเรื่องนี้เหมือนกัน
เรื่องนี้ฉันคะยั้นคะยอให้น้องอ่านจนสำเร็จ ดีใจที่น้องสนใจไปหาสารคดีที่พาไปหาอัฟกัานิสถานหลังสงครามมาให้ดู
บ้านเมืองของฉันก็เผชิญสงคราม
เเต่ยังไม่ได้น่ากลัวถึงขนาดสงครามในอัฟกานิสถาน
เเต่ก็พอจะรู้สึกถึงมันได้
รู้สึกถึงความขมุกขมัวของควันปืน
รู้สึกถึงความเปียกชื้นของคราบน้ำตา
เเละลึกๆในหัวใจเเล้ว
ฉันก็รักวาตันของฉันเหมือนกัน
เมื่อเกิดสงครมเเล้วจะหาคำตอบได้อย่างไรว่าใครผิดใครถูก เรื่องนี้ทำฉันคิดไม่ตกจริงๆ
เเละฉันจะเลือกฝ่ายใดก็มิอาจรู้ได้นอกจากเพื่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น
สนุกคิดจนลิงหลับ –
สมกับที่เป็นหนังสือรางวัล ARC Award เล่มแรกจริงๆ อ่านแล้วสัมผัสได้ถึงความรักที่อวลอยู่ในเล่ม รักแบบหนุ่มสาว รักแบบครอบครัว รักประเทศชาติ และสำคัญที่สุดคือรักในความเป็นเพื่อนมนุษย์
แค่คำว่างดงามคงไม่พอ