มีใครชอบห่อปกหนังสือบ้าง..!?
มาดูกันว่า “ทำไมคนญี่ปุ่นชอบห่อปกหนังสือ”
คนที่เคยซื้อหนังสือที่ญี่ปุ่น ต้องมีประสบการณ์โดนถามว่า “จะห่อปกหรือเปล่าคะ” สักครั้งแน่นอน
วัฒนธรรมการห่อปกหนังสือ เป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวของประเทศญี่ปุ่น และมีประวัติศาสตร์ยาวนานเกือบร้อยปี โดยร้านหนังสือจะให้บริการห่อปกหนังสือด้วยกระดาษทึบ อาจเป็นกระดาษสีน้ำตาลธรรมดา หรือกระดาษลวดลายต่างๆ เมื่อผู้ซื้อถือไปอ่านบนรถไฟขณะเดินทาง คนรอบข้างจะได้ไม่รู้ว่ากำลังอ่านเรื่องอะไรอยู่
หากจะพูดถึงต้นเหตุของวัฒนธรรมนี้ ต้องย้อนกลับไปดูถึงนิสัยพื้นฐานของคนญี่ปุ่น ซึ่งแคร์สังคมมากกว่าตัวเอง กลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบข้าง เราจึงมักเห็นคนญี่ปุ่นต่อคิวซื้อของอย่างเป็นระเบียบ และปฏิบัติตามกฎที่สังคมวางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ถูกติฉินนินทาได้
ด้วยไม่ชอบให้ตัดสิน คนญี่ปุ่นจึงเลือกห่อปกหนังสือ จะได้อ่านหนังสือในที่สาธารณะได้อย่างสบายใจ ไม่ว่าหนังสือเล่มนั้นจะเป็นหนังสือทั่วไป หรือหนังสือที่มีเนื้อหาหวือหวาก็ตาม
คนไทยอาจมองว่าการอ่านหนังสือบนรถไฟเป็นการแสดงตัวตน และยินดีให้เพื่อนร่วมทางตัดสินแบบนั้น ไม่ดีหรือถ้าเราอ่านวรรณกรรมตะวันตกบนรถไฟเพื่อแสดงให้คนรอบข้างเห็นว่าเราอ่านภาษาอังกฤษได้ ไม่ดีกว่าหรือถ้าเราอ่านตำราเรียน เพื่อให้คนรอบข้างเห็นว่าเราตั้งใจเรียน
คนญี่ปุ่นนั้นมีเหตุผลร้อยแปดพันประการให้เชื่อว่า คนอื่นอาจไม่ได้มองในแง่บวกขนาดนั้น คนอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศ อาจถูกมองว่าเป็นคนขี้อวด คนอ่านหนังสือเรียน อาจถูกมองว่าไม่เตรียมตัวล่วงหน้า คนอ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง อาจถูกมองว่าเป็นคนไม่เก่ง ไม่ต้องพูดถึงหนังสือที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่หรือหนังสือที่มีเนื้อหารุนแรงเลย
นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังมีวัฒนธรรมการขายของที่ไม่ใช้แล้วตามร้านขายของมือสองหรือร้านรับซื้อของเก่า เพราะเนื้อที่มีจำกัด หนังสือที่ห่อปกและยังมีสภาพเหมือนใหม่จะขายต่อได้ราคาดีกว่าหนังสือที่ไม่ได้ดูแลรักษา
วัฒนธรรมการห่อปกหนังสือ จึงค่อยๆ พัฒนามาเป็นลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ ที่สำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือใช้โปรโมทแบรนด์ตัวเอง เช่น
ร้านหนังสือฮนโตะ (Honto) มีทั้งปกหนังสือที่แสดงชื่อร้าน หรือปกหนังสือผลงานนักวาดในหลายๆ แบบ
สำนักพิมพ์ชูเอฉะ จัดแคมเปญครบรอบ 40 ปี ด้วยการออกแบบโซนหนังสือของตัวเองให้เป็นสีน้ำเงินและสร้างมาสค็อตแมวสีขาว ลูกค้าที่ซื้อหนังสือของสำนักพิมพ์จะได้รับกระดาษห่อปกตามธีมกิจกรรม แถมยังเป็นกระดาษที่ห่อได้สองด้านอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดแคมเปญโดยใช้กระดาษห่อหนังสือเป็นช่องทาง เช่น บริษัทบุหรี่ออกแคมเปญทำกระดาษห่อหนังสือที่มีข้อความเตือนผู้สูบบุหรี่ว่าขอให้รับผิดชอบต่อส่วนรวม อย่าสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ทำปกกระดาษเพื่อโปรโมทว่านิยายเรื่องนี้ได้สร้างเป็นภาพยนตร์แล้ว แม้แต่บริษัทที่ดูไม่เกี่ยวอะไรกับวงการหนังสือเลยอย่างแบรนด์ฮอนด้า ก็เคยทำปกห่อหนังสือรูปรถมอเตอร์ไซค์เพื่อโปรโมทสินค้าตัวเองเช่นกัน
แม้วัฒนธรรมการห่อหนังสือจะเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน แต่คนญี่ปุ่นบางส่วนก็รู้สึกเกรงใจพนักงานเวลาที่ต้องซื้อหนังสือหลายๆ เล่ม หรือรู้สึกว่าสิ้นเปลืองทรัพยากรเกินไป
ถ้ามาไทย คนญี่ปุ่นอาจตกใจไม่น้อย ที่คนไทยนิยมห่อปกหนังสือด้วยเหมือนกัน แต่เป็นการห่อด้วยพลาสติกใสแจ๋วเพื่อรักษาปกไม่ให้เสียหายเท่านั้น ส่วนถ้าใครจะวิพากษ์วิจารณ์รสนิยมส่วนตัวของเรา ก็แล้วแต่เลย
…..
Pingback: รวมผลงานนิยายสืบสวนสุดสะเทือนอารมณ์จาก มินะโตะ คะนะเอะ