สุภาพบุรุษในมอสโก บอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่ถูกลงโทษของ “เคานต์ อเล็กซานเดอร์ อีลิช รอสตอฟ” ชายชนชั้นสูงที่นิยามตัวเองว่าเป็น สุภาพบุรุษ เขาคนนี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรมหรูตลอดอายุขัย (ซึ่งก็ฟังดูไม่เลวเลยนะ) ต้องเฝ้ามองผู้คนผ่านมาและผ่านไป ยุคสมัยเปิดม่านและปิดองก์อุดมการณ์ เบ่งบานและล่มสลาย
นักอ่านจะพบว่า รอสตอฟมองสารพัดเรื่องเหล่านี้ด้วยแว่นตาของ ชนชั้นสูง ผ่านเลนส์อันสวยหรูและทรงภูมิของชายที่ไม่ต้องทํางานหาเลี้ยงชีพ ชายที่มีกิจวัตรหลักคือการอ่านหนังสือและคุยเรื่องอาหารเรียกน้ำย่อยกับไวน์ และชายที่ไม่เคยรู้ว่าความยากจนคืออะไร จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้เขียนเลือกเล่าเรื่องผ่านมุมมองบุคคลที่สาม เปิดกว้างให้นักอ่านมีโอกาสสังเกตเห็นแนวคิด อคติ และข้อบกพร่องบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในแว่นตาของท่านเคานต์
เพราะคนที่เราเชื่อว่าเป็น “คนดี” ก็ใช่ว่าจะมองและประพฤติตัวถูกต้องไปหมดเสียหน่อย (ประวัติศาสตร์พิสูจน์สิ่งนี้เป็นประจํา) แต่ก็น่าสนใจที่เมื่อเรื่องดําเนินไป นักอ่านจะพบว่าแว่นตาของ สุภาพบุรุษคนนี้ก็ใช่ว่าจะเมินเฉยต่อกาลเวลา แว่นตานี้ปรับตัวบ้าง ไหลลื่นบ้าง และเติบโตตามยุคสมัยบ้าง (ส่วนนี้ไม่ขอเล่ารายละเอียดให้นักอ่านเสียอรรถรสก่อน)
บางความคิดและการกระทําก็เรียกได้ว่าล้ำสมัยเกินสังคมบางประเทศจนน่าตกใจ จนเปิดเผยอคติในแว่นตาที่นักอ่านใช้มองรอสตอฟเสียเองในบางครั้ง ส่งผลให้เราก็ต้องปรับแว่นตาของเรา เช่นกัน
อีกจุดที่โดดเด่นน่าคิดคือคําว่า “สุภาพบุรุษ” คํานี้ในความคิดของรอสตอฟมีความหมายเช่นไร สังคมในอดีตคิดว่าสุภาพบุรุษคืออะไร สุภาพบุรุษของรอสตอฟแตกต่างหรือเหมือนกับนิยามที่ชนชั้นต่าง ๆ ให้ไว้ อย่างไรบ้าง คําว่า “สุภาพบุรุษ” และ “ผู้ดี” แตกต่างกันอย่างไร และสุภาพบุรุษในยุคปัจจุบันเปลี่ยนความหมายจากยุคศักดินาอย่างไร คําถามเหล่านี้จะช่วยให้เราเห็นภาพจุดยืนของรอสตอฟท่ามกลางการปะทะกันของยุคสมัยอันร้อนระอุได้ไม่มากก็น้อย
Reviews
There are no reviews yet.