เสน่ห์สำคัญอย่างหนึ่งในงานชุด โรเบิร์ต แลงดอน ตัวเอกในนิยายของ แดน บราวน์ ก็คือในทุกตอนจะมีงานศิลปะสวยๆ เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในเรื่องด้วยเสมอโดยเฉพาะศิลปินในยุคเรนาซองอย่าง ดาวินชี, ไมเคิล แอนเจโล เป็นอาทิ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะฉากของเรื่องส่วนใหญ่มันเกิดอยู่ในอิตาลีกับฝรั่งเศสก็เป็นได้
ศิลปินในยุคนี้ผู้อ่านรู้จักดีอยู่แล้ว แต่พอมาถึงงานชุดใหม่อย่าง ออริจิน ที่เรื่องเกิดในสเปน ทำให้มานึกว่า ประเทศนี้มีศิลปินคนไหนดังบ้าง เพราะแม้กระทั่ง อันตอนี เกาดี ทีผลงานของเขามีบทบาทในเรื่อง และยังเป็นศิลปินดังของสเปนเราเองก็ไม่คุ้น
คงไม่เสียเวลาเปล่า ถ้าเราจะมีทำความรู้จักศิลปินดังของสเปนกันก่อน ถือว่าปูพื้นเพื่อความอินในการอ่านก็คงได้
แน่นอนที่ว่า จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ปิกัสโซ่ หรือ ปาโบล์ รุยซ์ ปิกัสโซ
แต่ถ้าจะเอาชื่อเต็มๆคงอ่านกันไม่ไหว เพราะมันประกอบด้วยตัวอักษรมากถึง 103 ตัวคือ
“Pablo Diego José Francisco de Paula Juan Nepomuceno María de los Remedios Cipriano de la Santísima Trinidad Martyr Patricio Clito Ruíz y Picasso”
กล่าวกันว่า เขาเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ หมายถึงว่าคนอื่นในรุ่นเดียวกันหรือก่อนหน้าก็ดัง แต่ดังหลังตายไปแล้ว ไม่ได้ใช้เงินทองที่ได้จากการขายรูป ไม่ได้อยู่ชื่นชมกับชื่อเสียงที่ได้รับ ผิดจากปิกัสโซ ที่ถึงจะอยากจะได้รูปของเขาอย่างไม่เกี่ยงราคา แต่ก็ใช่ว่าจะได้ถ้าเขาไม่อยากขายให้
การที่เขาเก่งเรื่องวาดรูป ก็ไม่น่าแปลกเพราะพ่อของเขาก็เป็นครูสอนศิลปะ เขาเองว่ากันว่า คำแรกที่พูดคือคำว่า ดินสอ ในภาษาสเปน ไม่ได้เรียกแม่อย่างเด็กทั่วไป แถมพ่อยังสนับสนุนเต็มที่ มีสีมีกระดาษให้ใช้อย่างไม่อั้น
เขาวาดรูปสีน้ำมันตั้งแต่อายุ 7 ขวบ พออายุได้ 13 อยู่ไม่สุขไปลงสีรูปนกพิราบที่พ่อสเก็ตค้างไว้ พ่อมาเห็นตกใจบอกกับตัวเองว่าจะเลิกเขียนรูปไปเลย เพราะเขียนไปก็สู้ลูกชายไม่ได้
แต่เส้นทางชีวิตศิลปินของปีกัสโซก็ไม่ได้สวยหรู เรื่องของเรื่องก็เพราะเขาเบื่อแนวทางเก่าๆ เลยเร่ร่อนไปปารีส ไปสุมหัวกับเพื่อศิลปิน ไปตั้งกลุ่มตั้งแก๊ง ไปดูงานชิ้นเยี่ยมๆ ตามพิพิธภัณฑ์ จนหาแนวทางของตนเองเจอ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะแบ่งงานของเขาออกเป็นยุคๆ อย่างยุคแรกเรียกว่า ยุคสีน้ำเงิน (1901-1904) คือภาพจะเขียนโดยสีเขียวกับฟ้าเป็นหลัก ให้ความรู้สึกหม่นๆเศร้าๆ ซึ่งก็เป็นอย่างเดียวกับชีวิตจริงของเขานั่นแหละ กินไม่ค่อยจะอิ่ม นอนไม่ค่อยจะหลับ
ต่อมาเป็นยุคสีชมพู (1904-1906) เรียกว่าสดใสขึ้นมาหน่อย สนุกสนานขึ้น ภาพในยุคนี้ที่ติดตาก็น่าจะเป็นภาพตัวตลกที่ชื่อ Acorbat and Young Harlequin
หลังจากนี้ฝีมือก็พุ่งทะยานสร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการศิลปะ คือยุคแอฟริกัน (1907-1909) ที่ตื่นตะลึงก็คือผู้คนไม่ค่อยยอมรับเพราะมันแหกโลก แต่มันคือจุดเริ่มของงานในยุคต่อมาของเขาคืองานแบบคิวบิสม์ ภาพที่ติดตาผู้คนในยุคนี้ก็คือภาพ Three Women แต่งานอย่าง Reclining Nude ก็สวยนะ ทำให้นึกถึงภาพมายาของโกยาที่มาในอีกมิติ
และก็มาถึงยุคโด่งดังคือ คิวบิสม์ (1909-1917) ที่สิ่งของหรือผู้คนในภาพจะเป็นเหลี่ยมๆซับซ้อน ประมาณว่าเป็นการแยกวัตถุออกเป็นชิ้น นำเอามาวิเคราะห์แล้วประกอบขึ้นมาใหม่ อย่างภาพ Three Musicians
ทำไปทำมา แกคงเบื่อเลยหันกลับมาเขียนงานในแบบเหมือนจริงอย่างที่เคยทำสมัยเริ่มเข้าสู่วงการ ประกอบกับไปเที่ยวอิตาลี่ ไปดูงานของศิลปินดังในอดีตอย่างราฟาเอล เลยกลับมาเขียนงานที่ดูอ่อนโยน สบายๆ ยุคนี้ถูกเรียกว่ายุคคลาสสิคใหม่ (1918-1925) และแน่นอนพูดถึงยุคนี้ก็นึกถึงรูป Olga Picasso คนรักของเขา แต่ถ้าจะเอาแบบไม่เกี่ยวกับส่วนตัวก็น่าจะเป็นรูป Pierrot มากกว่า
ไม่นาน ปิกัสโซ ก็เบื่ออีก เลยหันไปหาหนทางพัฒนาสไตล์ใหม่ จนกลายมาเป็นยุคเหนือจริงหรือ Surrealism (1925-1936) เป็นยุคที่งานของขาเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่ซ่อนอย่างแนบเนียนอยู่ในภาพ และเป็นยุคที่หลายภาพของเขาราคาแพงเป็นอันดับต้นๆของโลก เช่นภาพ The Dream ใจนึกอยากจะเรียกงานในยุคนี้ของเขาว่า ยุคอะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป เสียจริงๆ
ปิกัสโซเกลียดสงคราม ภาพ Guernica ซึ่งถือว่าเป็นภาพที่มีชื่อเสียงที่สุด ก็เป็นภาพที่แสดงการต่อต้านความโหดร้ายของสงคราม เขาขียนขึ้นจากความสะเทือนใจจากการที่เยอรมันทิ้งระเบิดเข้าใส่เมืองGuernica จนมีคนตายนับพัน นักประวัติศาสตร์นิยามยุคนี้ของเขาว่าเป็นยุคสงคราม คือสงครามกลางเมืองในสเปนและสงครามโลกครั้งที่ 2 (1937-1945)
แล้วก็มาถึงยุคสุดท้าย (1946-1973) ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 งานของเขามีทั้งเรื่องของการเรียกร้องสันติภาพ อย่างงานที่ชื่อ Massacre in Korea และยังหันมาสนใจในงานปฏิมากรรม โดยชิ้นที่มีชื่อเสียงมากก็คือ Chicago Picasso
ตั้งแต่วัยเด็ก ชีวิตของเขาดูจะผูกพันกับนกพิราบมาตลอด และภาพนกพิราบของเขาในหลายเวอร์ชั่นก็เป็นที่นิยมของผู้คนทั่วโลก เช่นภาพ Dove of Peace
ปิกัสโซ่ เป็นศิลปินอายุยืน เขาตายในวัย 91 ก็คงไม่แปลกที่ชีวิตของเขาจะเต็มไปด้วยสีสัน มีผลงานสู่โลกมากกว่า 13,000 ภาพ มีคนรัก 9 คน (เฉพาะเท่าที่มีการบันทึกไว้) ซึ่งก็เป็นเรื่องส่วนตัว เขามีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่นั่นคงไม่สำคํญเท่ากับว่า เขาคือศิลปินชาวสเปนผู้สร้างประวัติศาสตร์ศิลปะให้กับโลกในยุคนี้
สำคัญขนาดนี้ ดังขนาดนี้ ทำไม แดน บราวน์ จึงไม่เอาเขามาอยู่ใน ออริจิน ถ้าเจอคงต้องถามให้หายสงสัย
Pingback: บทสัมภาษณ์ : แดน บราวน์ ผู้เขียนรหัสลับดาวินชี เปิดตัว Origin นิยายเล่มใหม่ปีนี้
Pingback: ออริจิน (Origin) ผลงานของแดน บราวน์ กับความจริงที่ถูกซ่อนไว้