ปัจจัยที่ส่งผลต่อการ พัฒนาการทำงาน ให้ดีขึ้นอันดับต้นๆ ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ความพยายามเป็นเรื่องที่ดี แต่หากพยายามแบบผิดวิธี อาจเหนื่อยฟรี และไม่ก้าวหน้าได้
แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าความพยายามที่เราทำอยู่ จะส่งผลให้การทำงานดีขึ้นได้ บางครั้งคุณอาจรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานในทุกวัน หรือต้องนำงานกลับมาทำที่บ้าน ทั้งที่ควรจะเป็นเวลาพักผ่อน การทำงานแบบนี้นอกจากจะเหนื่อยฟรีแล้ว ยังไม่ได้พัฒนาการทำงานด้วย ยังทำงานหนักเท่าเดิม หรือหนักกว่าเดิม และเหนื่อยเหมือนเดิมวนลูปอยู่แบบนั้น
ลองมาดูวิธี พัฒนาการทำงาน ที่คุณจะไม่เหนื่อยฟรีอย่างแน่นอน
เพิ่มความรวดเร็ว
ความรวดเร็วเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ถ้าอยากพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น ความรวดเร็วหมายถึง การลงมือทำก่อนคนอื่น รวมถึงการคิดและเริ่มต้นทำงานให้เร็วกว่าคนอื่นเสมอ ส่วนความรวดเร็วอย่างที่สองคือ การทำงานให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ถ้าไม่หัดทำงานให้เร็วขึ้นอยู่เรื่อยๆ เราก็จะทำงานช้าอยู่อย่างนั้น
หากเราทำงานโดยนึกถึง ความรวดเร็ว ทั้งสองแบบนี้ เราก็สามารถทำงานให้เร็วขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้ และสาเหตุที่ทำให้เราทำงานช้า หรือไม่ทันกำหนดส่งงานเป็นเพราะทำงานเป็น Routine ประเด็นแรกเลยจะต้องเลือกทิ้งในส่วนงานที่ไม่จำเป็น ประเด็นที่สองคือต้องปฏิรูปขั้นตอนในการทำงาน ตัวอย่างเช่น ในการผลิตสินค้า ที่ผ่านมาจะตรวจสอบคุณภาพสินค้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก็อาจยกขั้นตอนนี้มาทำก่อนหน้า หรือแทนที่จะทำงานไล่ไปเป็นลำดับ ก็อาจนำบางงานมาทำพร้อมกัน เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่สาม คือ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในแผนกหลักๆ ทั้งหมด โดยคอยสังเกตว่า ที่งานออกมาช้าเนื่องจากติดขั้นตอนไหน และจะแก้ไขได้ด้วยวิธีใด การทำงานเป็น Routine ส่งผลกับความเฉื่อยชาในการทำงานมาก ถ้าจำเป็นต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน จงหมั่นเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานบ่อยๆ และหาทางทำงานให้ออกมาเร็วที่สุด (แต่ต้องมีคุณภาพด้วยนะ)
สร้างแผนการทำงาน
บางครั้งเราพบว่า ทั้งที่ทำงานแต่ละชิ้นให้เร็วที่สุดอย่างเต็มความสามารถแล้ว เมื่อย้อนกลับไปดูกลับพบว่าเราใช้เวลากับมันมาก สุดท้ายแล้วงานจึงดำเนินไปได้อย่างเชื่องช้า หรือบางทีอาจดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เมื่อพบปัญหาก็หยุดชะงักลง สาเหตุมาจากการวางแผนการทำงานไม่ถูกต้อง
สมมติว่าคุณเป็นหัวหน้าทีมจัดตั้งแคมเปญเปิดตัวสินค้าตัวใหม่
สินค้าจะเปิดตัวสามเดือนหลังจากนี้
ขั้นแรกคุณได้พูดคุยกับทีมขาย ทีมโฆษณาและการจัดการผู้แทนจำหน่าย ทว่าแต่ละทีมกลับมีภาพลักษณ์ของสินค้าใหม่ต่างกันออกไป แม้จะทำการประชุมเสนอไอเดียหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุปเสียที ทำให้หนึ่งเดือนแรกผ่านไปด้วยความสับสนวุ่นวาย
นี่เป็นตัวอย่างในการพยายามที่เหนื่อยและไม่ดี หรือเรียกได้ว่าไม่มีแผนการทำงานเลย
อะไรคือส่วนสำคัญในการทำให้แคมเปญเปิดตัวสินค้าตัวใหม่ให้สำเร็จได้ด้วยดี และเราต้องจัดการกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร นั่นคือเรื่องที่เราต้องคิดตั้งแต่แรก
การวางแผนการทำงานคือ การตัดสินใจว่าต้องจัดการอย่างไรจึงจะทำงานได้สำเร็จ เมื่อวางแผนแล้วก็มอบหมายว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายรับผิดชอบงานส่วนนี้และกำหนดวันเสร็จให้เรียบร้อย หากเราวางแผนโดยรวมได้ถูกต้องและชัดเจน ก็จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แผนกที่เกี่ยวข้องทำงานให้สำเร็จลุล่วง และถือเป็นพัฒนาการทำงานที่ดีของเราด้วย
ยืมกำลังคนให้ถูกต้อง
การทำงานที่ไม่มีความช่วยเหลือกันและกันเลยคือกำแพงในการพัฒนาการทำงาน การลงมือทำงานคนเดียวจะไม่สามารถทำงานใหญ่ได้ การจะสร้างผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ เราจึงต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นความสามารถที่เราไม่มี เงินทุน ทัศนคติ เครือข่าย หรือประสบการณ์ เป็นต้น
เราควรรู้ว่าเราต้องการความช่วยเหลืออะไรและจากใครให้ได้ โดยดูจากเป้าหมายการทำงานที่ถูกต้องและชัดเจน ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าการทำงานนี้จะสำเร็จ “ต้องอาศัยคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการขายของออนไลน์จากฝ่ายอีคอมเมิร์ซ” ในที่นี้เราต้องระบุคนให้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย หากคิดแบบง่ายๆ เราอาจขอความช่วยเหลือคุณ A ที่เป็นผู้จัดการฝ่ายและมีความรู้เรื่องการขายของออนไลน์มากที่สุด เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เกิดความคุ้นเคยในการขอความช่วยเหลือได้ก็คือความยืดหยุ่น หากเราไม่เคยขอหรือถูกขอความช่วยเหลือเลย พอถึงเวลาเราก็จะไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากใคร
หรือถ้าเราทำตัวใหญ่โตจนคนพูดว่า “เขาเป็นคนเก่งนะ แต่คุยด้วยยาก” แม้จะได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าแผนก แต่จะไม่สามารถโตไปกว่านั้นได้ ยิ่งเราเป็นคนเก่งมากเท่าไร ยิ่งต้อง “ให้” ความช่วยเหลือมากขึ้นเท่านั้น
กำหนดส่วนที่ต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษ
หากเป็นงานสำคัญ หากเราใส่ใจแค่อัตราความสำเร็จและความราบรื่น การพัฒนาในการทำงานก็จะไม่เกิด ดังนั้นเราต้องกำหนดส่วนที่ต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษ หรือ “เฉพาะจุดนี้เราต้องไม่พลาดเด็ดขาด”
เรื่องที่เราต้องใส่ใจอาจมีแค่หนึ่งหรือสองอย่างเท่านั้น เพราะถ้าให้ความสำคัญกับทุกอย่างเราจะไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญจริงๆ นอกจากนี้ความใส่ใจยังเป็นสไตล์การทำงานอีกด้วย เมื่อกำหนดจุดที่ต้องใส่ใจแล้ว ต้องลุยเต็มที่กับจุดที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และเพิ่มความใส่ใจกับจุดนั้นเป็นพิเศษ เมื่องานประสบความสำเร็จ นี่ก็เป็นอีกก้าวของพัฒนาการทำงานของคุณ
ข้อมูลจากหนังสือ ทำมากเหนื่อยฟรี ทำถูกวิธีไม่เหนื่อยเลย
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
สาเหตุ วิธีป้องกัน และวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในที่ทำงาน
ไอเดียใหม่ๆ ในการทำงานหาได้จากการทำสิ่งเหล่านี้
วิธีจุดไฟให้ลุกโชนอีกครั้ง เมื่อเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน
วิธีแก้ปัญหาในการทำงาน จากโนโบรุ โคยามา CEO ชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น