ระหว่างอ่านบรรทัดต่อบรรทัดของหนังสือเรื่องพ่อกับผม และบางสิ่งที่หายไปในสงคราม ภาพของพ่อที่เคยพร่าเลือนก็เด่นชัดขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งที่เนื้อหาเรื่องราวของหนังสือไม่ได้เหมือนกับชีวิตของเราแม้แต่น้อย
น่าแปลกนะที่ พ่อกับผม และบางสิ่งที่หายไปในสงคราม เป็นวรรณกรรมเยาวชนของฝรั่งแท้ๆ แต่ทำไมมันกระตุ้นเตือนความรู้สึกบางอย่างของเราขึ้นมาได้ คนเราอาจแตกต่างกันโดยสังคม โดยเชื้อชาติ โดยความเชื่อ โดยสภาพแวดล้อม แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือความรัก ว่ากันว่า “เพื่อรัก” ทุกอย่างล้วนมีค่าควรกับการทุ่มเท
อะไรคือรักแรกในชีวิตที่เรามักลืมเลือน พ่อแม่หรือเปล่า หรือเราคุ้นชินกับการถูกรัก คุ้นชินกับอ้อมกอด เป็นความคุ้นชินที่ไม่เคยพรากจากตราบเขาเติบใหญ่ ต่างไปจากชีวิตของ แอลฟี ซัมเมอร์ฟิลด์ ที่ความรักของพ่อถูกพรากไปตั้งแต่วันที่เขาอายุครบ 5 ขวบ
สงครามพรากพ่อพรากรักไปจากเขา ตั้งแต่วันนั้นชีวิตของแอลฟีก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หนังสือให้ภาพของแอลฟี่และครอบครัวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆไม่ไกลจากลอนดอน ซึ่งในวันเกิดครบ5ขวบของเขานั้นเป็นเวลาเดียวกับที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรป ที่แม้ว่ามันจะดูห่างไกลเสียเหลือเกินกับบ้านของเขา แต่คนหนุ่มในหมู่บ้านก็ดูเหมือนจะพร้อมใจกันสมัครเป็นทหารเข้าส่งคราม โดยมีความเชื่อว่า ไม่น่าจะเกินคริสมาสต์สงครามก็จะจบ
พ่อของแอลฟี่สมัครเป็นทหาร และจากไปสงคราม นับแต่พ่อจากไป บ้านของแอลฟี่ก็เริ่มขัดสน ซึ่งก็เป็นเหมือนกันกับครอบครัวอื่นๆในหมู่บ้าน แม่ทำงานหนักขึ้น รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่เคยมีในบ้านก็กลายเป็นเพียงความทรงจำจางๆ คริสต์มาสผ่านไปสี่ครั้งแล้ว พ่อของแอลฟี่ก็ยังไม่กลับบ้าน จดหมายจากพ่อที่เคยมีก็เริ่มห่าง และหายไปในที่สุด แม่บอกกับแอลฟี่ว่าพ่อไปทำงานลับให้รัฐบาล แอลฟี่เองก็มีภาระกิจลับที่ไม่ได้บอกแม่เช่นกัน นั่นคือการที่เขาไปโรงเรียนอาทิตย์ละสองวัน ที่เหลือเขาแอบมาขัดรองเท้าที่สถานีรถไฟคิงส์ครอสเพื่อหาเงินไปช่วยครอบครัวโดยที่แม่ไม่รู้
“คิงส์ครอส” สถานที่ซึ่งพรากพ่อเขาจากบ้านไปสงครามกว่าสี่ปี และกว่าสี่ปีที่ผ่านไป แอลฟี่เติบโตขึ้นอย่างไม่รู้ตัว แอลฟี่ไม่รู้หรอกว่า สนามรบของพ่อนั้นเป็นอย่างไร แต่แอลฟี่รู้ว่าสถานีรถไฟคิงส์ครอบน่าจะเป็นสนามรบของเขาที่เขาจะต้องเอาชีวิตให้รอด เพราะพ่อบอกไว้ในวันที่ไปสงครามว่า “ลูกเป็นหัวหน้าครอบครัวแล้วนะตอนนี้”
พ่อกับผม และบางสิ่งที่หายไปในสงคราม เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่นำเสนอด้านแห่งความจริงของชีวิต ความจริงแห่งความพลัดพราก ที่ผู้ใหญ่ที่หยิบขึ้นมาอ่านก็จะพบความจริงว่า เราหลงลืมอะไรในชีวิตไปบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชายหญิงคู่คนแรกที่รักเรา ในขณะที่เด็กๆเมือ่ได้อ่าน มันก็จะเป็นเหมือนการเตรียมตัวที่จะเติบโตและต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตในโลกได้อย่างเข้มแข็ง และรู้จักถึงความจริงของชีวิตเสียตั้งแต่วัยที่เพิ่งจะเดียงสา
แล้วอะไรเล่าที่หายไปในสงครามอย่างชื่อหนังสือ
จริงอยู่ แม้ประเด็นคือการที่สงครามเข้ามาพรากเอาชีวิตของแอลฟี่ไป แต่เราจะไม่ได้ยินหรือได้เห็นฉากสงครามจริงนอกจากคำบอกเล่าจากจดหมาย แต่บาดแผลของสงครามที่แท้จริงกลับปรากฏอยู่กับทหารบาดเจ็บที่ถูกส่งกลับจากสมรภูมิ ที่มิใช่บาดแผลทางกายเท่านั้น แต่ที่หนักที่สุดคือบาดแผลทางใจ และหนทางเดียวที่จะเยียวยาบาดแผลนี้ได้ก็มีเพียงความรักความเข้าใจของสิ่งที่เรียกว่าครอบครัวเท่านั้น
ถ้าเด็กสักคนจะถามว่า อะไรคือความหมายของชีวิต เรามีชีวิตไปเพื่ออะไร เราน่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ให้เขาฟังก็คงจะช่วยตอบคำถามได้ดีเลยล่ะ
Pingback: ครูต้นแบบ ในวรรณกรรมเยาวชน จาก สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน