[ทดลองอ่าน] ร้านขนมเเห่งความลับ ตอน “ความลับเเห่งวัยเยาว์” / ซากากิ ซึคาสะ

 

ซากากิ สึคาสะ เขียน

 ปาวัน การสมใจ เเปล

(ยังไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์)

 

————————————————————

กลางเดือนมกราคม ควันหลงของความครึกครื้นจากช่วงปีใหม่จางหาย พิธีฉลองการบรรลุนิติภาวะ[1]จบลง พร้อมกับการเปิดเทอมใหม่

ในเช้าวันหนึ่งของสุดสัปดาห์ที่ไร้เหตุการณ์พิเศษใด ๆ จู่ ๆ แม่ของฉันก็พูดขึ้นมา

“จะว่าไป เคียวโกะ วันนี้ลูกหยุดงานใช่ไหม”

“อืม”

สัปดาห์นี้ฉันได้หยุดงานวันอาทิตย์กับวันพุธ ที่ทำงานพาร์ตไทม์ของฉันจำเป็นต้องยื่นขอล่วงหน้าในกรณีที่ต้องการหยุดติดต่อกัน

“แล้วลูกก็ไม่ได้มีแผนจะทำอะไรเป็นพิเศษใช่ไหม”

ฉันแอบทำหน้างอเล็กน้อย ก็จริงอยู่ ตัวเตี้ย แถมเสพแต่ของแคลอรี่สูงแบบนี้ย่อมไม่มีวาสนาได้ข้องแวะกับผู้ชายที่จะเรียกได้ว่าแฟน แถมวันหยุดยังไม่ตรงกับเพื่อนฝูงอีก จะนัดกันทีก็ลำบากยากเข็ญ แต่เห็นอย่างนี้ฉันเองก็มีกำหนดการแสนวิเศษว่าจะนั่งกินขนมพลางดูละครที่อัดเก็บไว้อยู่นะ

“…ก็ไม่เชิงว่าไม่มี”

ฉันเคี้ยวขนมเซมเบกรุบ ๆ ก่อนดื่มชาลงไปอึกหนึ่ง อา—อร่อยจังเลย นี่แหละความชิลล์ของวันหยุด ขณะที่ฉันกำลังดูโทรทัศน์อย่างแสนจะผ่อนคลายทั้งกายใจ แม่ก็หันมาหา ก่อนเอ่ยปากกล่าวสิ่งที่ฉันไม่เคยคิดฝัน

“นี่ ถ้าว่างละก็ ไปห้างด้วยกันไหม”

“เอ๊ะ— !?”

“เห็นว่ามีอีเวนต์น่าสนใจแน่ะ ถ้าไปด้วยกัน ลูกต้องสนุกแน่ ๆ”

หนาวน่ะ ไม่อยากไป ที่สำคัญคือไม่อยากไปสถานที่แบบนั้น ฉันว่าแล้วส่ายหน้าดิก แต่แม่กลับยกมือขึ้นประกบตรงหน้า

“ขอร้องละเคียวโกะ เพื่อนแม่ไม่ว่าง ให้ไปกับพ่อหรือพี่ชายของลูกก็ไม่สนุก ที่สำคัญคืออีเวนต์ที่ว่า มีถึงแค่วันนี้เอง!”

“แต่ว่า”

“ตอนเที่ยงจะให้เคียวโกะเลือกกินของชอบ นะ?”

หลังซื้อของเสร็จเราไปหาอะไรอร่อย ๆ กินด้วยกันนะ แม่เล่นพูดถึงขนาดนั้น จะทู่ซี้ปฏิเสธต่อไปก็เริ่มรู้สึกไม่ดี เพราะในความเป็นจริง ฉันก็ว่างแสนว่าง

“…แล้วอีเวนต์ที่ว่า คืองานอะไรเหรอ”

ละ… ลองถามดูนิดเดียวเองน่า แต่นั่นกลับเป็นกับดักของแม่

“นี่ไง”

แม่ยื่นแผ่นพับในหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าที่อยู่บนโต๊ะมาให้อย่างรวดเร็ว ในนั้นเขียนไว้ว่า

“—‘งานรวมเบนโตะ (ข้าวกล่อง) จากทั่วประเทศ’ ”

อุนิกับเนื้อปูพูนกล่องประหนึ่งจะท้าทายทุกสายตาให้เหลียวมอง ข้าวกล่องเนื้อเสต็กที่เขียนว่า ปรุงสดใหม่ตรงนั้นเลย! ตลอดจนข้าวกล่องรูปรถไฟชินคังเซ็นที่เห็นแล้วรู้สึกสนุกขึ้นมาทันทีแม้ไม่คิดซื้อเป็นของฝากเด็กที่ไหนก็เถอะ

“น่าไปใช่ม้า”

ฉันเผลอพยักหน้าหงึกหงัก ก่อนนึกเสียใจอย่างรุนแรงในวินาทีถัดมา

ฉัน อุเมโมโตะ เคียวโกะ มีชื่อเล่นตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ว่าโคโระจัง ส่วนตอนนี้โดนเรียกโดยตัดคำว่า “โกะ” ของอันโกะ[2]ออกไปเหลือแค่ “อัน” ฉันทำงานอยู่ที่ร้านวากาชิ “มิตสึยะ” โดยรับหน้าที่เป็นพนักงานขาย และสถานที่ตั้งของร้านที่ว่านั้น—

ก็คือชั้นขายอาหารของห้างสรรพสินค้านั่นเอง

 

*

 

ทำไมกระทั่งวันหยุดยังต้องไปห้างอีกนะ ฉันคิดอยู่ได้ไม่นานใจก็แปรเปลี่ยนเป็นเพลิดเพลินในการเดินห้างที่ต่างไปจากที่ทำงานของฉันเสียแล้ว ก็… มีร้านที่ไม่เคยเห็นในยามปกติเต็มไปหมดเลยนี่นา

“นี่ เคียวโกะ แม่จะไปต่อแถวร้านเบนโตะอาหารทะเลทางโน้น ฝากลูกไปซื้ออิกะเมชิ [3] คามะเมชิ [4] ไทเมชิ [5]มาอย่างละกล่องนะ”

เพราะทางนั้นไม่ต้องต่อคิว แม่กล่าวทิ้งท้ายไว้เช่นนั้นแล้วก็เดินหายไปในฝูงชน เอาเถอะ มีโทรศัพท์มือถืออยู่นี่นา คงไม่เป็นไรหรอก ฉันคิดแล้วเดินเตร็ดเตร่ไปมาในบริเวณงาน สายตาสอดส่องมองหาร้านเป้าหมาย

“เร่เข้ามา ๆ! เนื้อร้อน ๆ แบบจัดเต็มเลยนะ!”

“ข้าวหน้าหมู! ซอสหวานเค็มนี่เด็ดอย่าบอกใครเลยเชียว”

สายตาของฉันรังแต่จะนอกใจเหล่มองร้านระหว่างทางอยู่เรื่อย แล้วจู่ ๆ ก็คิดฉงนขึ้นมา ทำไมข้าวกล่องถึงได้ดูน่าอร่อยโดยไร้เงื่อนไขแบบนี้นะ

ในความเป็นจริงแล้ว ข้าวกล่องจำนวนไม่น้อยมีรสชาติด้อยกว่าอาหารในร้านขายกับข้าวเสียอีก ถึงอย่างนั้นคนก็ยังซื้อ คิดแล้วก็น่าฉงน บางทีอาจเป็นเพราะมีเวทมนตร์ ”ให้อารมณ์เหมือนไปเที่ยว“ ใส่เป็นเครื่องปรุงอยู่ก็ได้

(อย่างกล่องนี้ ถ้าซื้อตอนไปเที่ยวจะทำยังไงเนี่ย)

ฉันถือคามะเมชิหนักอึ้งก่อนเดินออกจากบริเวณจัดงานแสดงข้าวกล่อง ห้างแห่งนี้อยู่กลางเมือง มีบริเวณสำหรับจัดกิจกรรมกว้างขวาง อย่างฝั่งตรงข้ามนั่นก็เป็นงานแสดงสินค้าชนิดอื่น ฉันกวาดตามองไปเรื่อยเปื่อยและสังเกตเห็นว่ามีร้านขายวากาชิเรียงรายอยู่ด้วย

“หืม ‘วากาชิแฟร์รับต้นฤดูใบไม้ผลิ’ เหรอ”

ฉันตรงเข้าไปยังมุมดังกล่าวโดยไม่ลังเล เพราะเป็นของที่ข้องแวะอยู่ทุกวี่วันย่อมสนใจเป็นธรรมดา

(อืม ถึงจะไม่ใช่พนักงานประจำหรือพนักงานชั่วคราว แต่เป็นแค่พาร์ตไทม์ก็เถอะ)

จะมีขนมแบบไหน จัดแสดงอย่างไร บรรยากาศตอนขายเป็นอย่างไร จริง ๆ แล้วก็คือฉันสนใจเรื่องเหล่านั้นมากที่สุดเลยละ

ลองซื้ออะไรสักอย่างดีกว่า ฉันคิดขณะเดิน แต่ก็เลือกร้านไม่ได้เสียที เพราะร้านที่มาออกงานนี้เป็นร้านที่อยู่นอกโตเกียวหมดเลยนี่นา

ฉันตระเวนดูโดยเน้นร้านที่เขียนป้ายว่า มาออกร้านที่โตเกียวเป็นครั้งแรก! เป็นหลัก มีร้านจากเกียวโต นาโกย่า โอซาก้า ถิ่นเดิมของวากาชิมาจากแถบคันไซ[6]จริง ๆ ด้วยสิ

“อ๊ะ อันนี้น่ารักจัง”

ฉันหยุดเดินเมื่อสะดุดตากับห่อขนมที่ดูไม่สมเป็นวากาชิเท่าไร ห่อนั้นมีสีขาวเป็นพื้น ดีไซน์ทันสมัย แม้ตัวขนมวากาชิด้านในจะดูธรรมดา แต่ดูแล้วเหมาะสำหรับมอบให้ผู้หญิงสาว ๆ ร้านนั้นชื่อ “คาคิอิจิ วากาชิเมืองคานาซาวะ” ฉันเพิ่งเคยเห็นขนมวากาชิจากคานาซาวะเป็นครั้งแรกนี่แหละ ลองซื้อดูดีกว่า

“ยินดีต้อนรับครับ”

พนักงานหนุ่มที่ยืนประจำร้านส่งเสียงทักฉัน

“ขอค่อย ๆ ดูก่อนนะคะ”

พอฉันตอบ เขาก็ค้อมศีรษะให้ด้วยสีหน้าแข็งเกร็ง พนักงานหนุ่มคนนี้น่าจะอายุไล่เลี่ยกับฉันหรือมากกว่าเล็กน้อย ดูเหมือนยังไม่ชินกับการต้อนรับลูกค้า ซึ่งถ้าจริง หากโดนเร่งคงน่าสงสารแย่

อย่างไรก็ดี คานาซาวะนี่เป็นสถานที่แบบไหนนะ รู้สึกว่าเป็นเมืองคล้าย ๆ เกียวโตแต่นึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหนในแผนที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ฉันกำลังครุ่นคิดพลางทอดสายตามองโยคัง[7]กับนามะกาชิ[8]อย่างอ้อยอิ่งอยู่นั่นเอง จู่ ๆ ลูกค้าชายคนหนึ่งซึ่งยืนอยู่ก่อนก็ตั้งคำถามน่าตื่นตะลึง

“นี่คุณ ผมอยากซื้อขนมไปฝากคนที่แพ้แป้งสาลีน่ะ ขนมร้านนี้ใส่แป้งสาลีไหม”

“เอ๊ะ ?”

พนักงานหนุ่มอึ้งไป ก่อนยกมือชี้ไปยังมุมขนมโจนามะกาชิ[9]

“อะ เอ่อ ผมคิดว่าขนมทางด้านนี้น่าจะไม่เป็นไรครับ—”

อืม จริงอยู่ว่าขนมทางนั้นย่อมดีกว่าโดรายากิ[10]หรือมัตสึคาเซะ[11]อยู่แล้ว แต่โจนามะกาชิบางชนิดก็มีส่วนผสมของแป้งสาลี

(จะเป็นอะไรรึเปล่านะ)

ยังไม่ชินกับการต้อนรับลูกค้าเลยแล้วเขาจะตอบคำถามแบบนั้นได้เหรอ ฉันแอบคิด และตอนนั้นเอง ลูกค้าชายคนนั้นก็ตำหนิเขาดังคาด

“ชี้ไปสุ่มสี่สุ่มห้าแบบนั้น ถ้าอีกฝ่ายเกิดแพ้อย่างรุนแรงจนช็อกตายไป จะรับผิดชอบได้เรอะ”

จะรับผิดชอบได้อย่างไรเล่า ฉันแอบเถียงกลับไปในใจ ว่าแต่ คุณพี่ขา รู้จักดูสถานการณ์เสียบ้างสิ สมมติว่าอยากซื้อขนมให้คนแบบนั้นจริง ก็ไม่ควรมาเลือกถามพนักงานซึ่งเห็นชัด ๆ ว่าไม่ชินงานแบบนี้

แล้วจริง ๆ หากมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดอาการแพ้จนช็อกขนาดนั้น คุณต้องตรวจสอบถึงระดับโรงงานผู้ผลิตเลยด้วยซ้ำ อย่างบนถุงขนมสมัยนี้ก็มักเขียนบอกไว้เช่นว่า ผลิตภัณฑ์นี้ผลิตในโรงงานที่มีการใช้ถั่วลิสงและถั่วเหลือง

สถานการณ์แบบนี้ หากเป็นฉันจะเลือกปรึกษาผู้จัดการร้าน แต่ร้านนี้ไม่มีคนอื่นอยู่นอกจากพนักงานคนนี้ ถ้าอย่างนั้นก็ควรเรียกผู้รับผิดชอบระดับสูงกว่ามาคุยแทน เช่น ติดต่อหาผู้จัดการประจำชั้นของห้างนี้ หรือผู้รับผิดชอบในการจัดอีเวนต์

“ขะ ขอโทษครับ…”

พนักงานกล่าวขอโทษด้วยสีหน้าหวาดหวั่น ขณะที่ลูกค้าชายกลับยิ่งไล่ต้อน

“จริง ๆ เล้ย ขายของโดยที่ไม่รู้จักส่วนผสมในสินค้าของตัวเองเนี่ยนะ มีร้านขนมแบบนี้อยู่  ร้านอื่นจะพลอยลำบากไปหมด”

“—ต้องขอโทษด้วยจริง ๆ ครับ”

พนักงานหนุ่มทำได้แต่ขอโทษ เล่นเอาคนดูอย่างฉันพลอยรู้สึกขมขื่นไปด้วยเลย ถึงอย่างนั้นลูกค้าชายเจ้าปัญหาก็ยังรังควานไม่เลิก

“ในแผ่นพับของร้านนี้เขียนไว้ว่า ‘โจนามะทำด้วยโคนาชิ[12]แบบดั้งเดิม’ สินะ นั่นแปลว่า มีการใช้แป้งมันและแป้งสาลีด้วย ดังนั้นคำตอบของคุณจึงไม่ถูกต้อง แล้วรู้รึเปล่าว่าคำตอบที่ถูกคืออะไร”

“ขะ ขออภัยครับ ผมไม่ทราบ”

พนักงานหนุ่มก้มศีรษะด้วยใบหน้าแดงก่ำ ลูกค้าชายชี้มือไปยังอันโคโระโมจิ[13]ในตู้กระจกสำหรับโชว์สินค้า

“ดังโงะทำจากแป้งโจชิน[14] ห่อด้วยอันถั่วแดงร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือก็คืออันโคโระโมจิ นี่ต่างหากคือคำตอบที่ถูกต้อง”

ทันทีที่ได้ยิน ฉันก็โกรธจี๊ดขึ้นมาทันที คนคนนี้ตรวจสอบมาก่อนแล้วนี่นา!

ตั้งใจมาหาเรื่องแน่ ๆ ฉันรู้สึกแบบนั้น แล้วแสร้งจงใจแทรกกายไปยืนมองขนมในตู้โชว์ตรงหน้าของชายคนดังกล่าว ทำทีเป็นกวาดตามองทางนั้นทีทางนี้ทีพยายามแสดงอาการประมาณว่า เพราะคุณเกะกะ ฉันเลยมองขนมไม่ค่อยเห็น ชายคนนั้นจึงได้ฤกษ์ผละออกจากตู้ขนมเสียที เขากล่าวทิ้งท้ายใส่พนักงานว่า

“ช่างเถอะ”

อา ค่อยยังชั่ว ฉันคิด ตั้งท่าจะเอ่ยปากพูดกับพนักงานหนุ่ม แต่ลูกค้าชายคนนั้นกลับพึมพำถ่มคำพูด

“แย่ชะมัด คิดจะวางนกน้ำตาลปั้นแบบนี้ไว้ถึงเมื่อไรนะ”

น้ำตาลปั้นงั้นเหรอ มีของแบบนั้นในร้านนี้ด้วยเหรอ ฉันลองตั้งใจมอง แต่ก็หาของที่เข้าเค้าไม่เจอ กระทั่งขนมประเภทลูกกวาดยังไม่มีเลยด้วยซ้ำ

(หรือว่าขายหมดแล้ว)

ถ้าอย่างนั้นก็น่าจะมีป้ายแจ้งว่าขายหมดวางอยู่ตรงพื้นที่ที่ไม่มีสินค้าสิ แต่นี่ไม่เห็นมีเลย และพอมองหน้าของพนักงานหนุ่มก็เห็นว่าเขาทำหน้าฉงนไม่ต่างกับฉัน

จำผิดกับร้านอื่นรึเปล่า ฟังคำพูดทิ้งท้ายแบบเดาอะไรไม่ได้นั่นแล้วฉันกับพนักงานหนุ่มก็มองหน้ากัน

“อะ เอ่อ ขออภัยที่ให้รอนานนะครับ ต้องขอโทษด้วยจริง ๆ”

เขารีบก้มศีรษะให้ฉัน

“ไม่เป็นไรค่ะ พอดีว่าฉันก็อยากดูขนมไปเรื่อย ๆ ด้วย”

ว่าแล้วฉันก็ชี้มือไปยังนามะกาชิ[15]ในตู้กระจก

“ขอ ‘โซชุน (ต้นวสันต์)’ กับ ‘อุกุยซุ [16](นกกระจ้อยญี่ปุ่น)’ อย่างละชิ้นค่ะ”

“ครับ ผมจะจัดเตรียมให้เดี๋ยวนี้”

ระหว่างที่พนักงานหนุ่มกำลังห่อสินค้า ฉันก็หยิบแผ่นพับขึ้นมาชุดหนึ่ง หืม คานาซาวะอยู่ทางฝั่งทะเลญี่ปุ่นหรือนี่

“ขออภัยที่ให้รอนานครับ!”

ฉันเงยหน้าขึ้นตามเสียงเรียก เห็นว่าเขาวางกล่องที่ห่อเสร็จเรียบร้อยโดยไม่ได้ให้ฉันตรวจดูของภายในก่อน แถมเชือกมัดกล่องยังหลวมเสียขนาดนั้น กระดาษห่อก็เบี้ยว

(ตายจริง ตายจริง)

แบบนี้ถือว่าขาดคุณสมบติของพนักงานขายนะเนี่ย ถึงท่าทางของลูกค้าผู้ชายคนเมื่อกี้จะน่าหงุดหงิด แต่พนักงานหนุ่มคนนี้ก็มีปัญหาเช่นกัน ฉันจ่ายเงินด้วยความรู้สึกแอบผิดหวัง พนักงานหนุ่มโค้งคำนับฉันอย่างสุภาพ

“ขอบคุณมากครับ! รับประทานให้อร่อยนะครับ”

อืม แต่รอยยิ้มถือว่าไม่เลว

 

แม่โทร.หาฉัน นัดให้ไปเจอกันบริเวณข้างบันได

“ซื้อเบนโตะที่หมายตาไว้ได้รึเปล่า”

ฉันถาม แม่ยกถุงที่ถืออยู่เต็มสองมือขึ้นมาด้วยใบหน้ากระหยิ่มยิ้มย่อง

“แน่นอนซี! นอกจากนั้นก็ยังซื้อเบนโตะหน้าสเต็ก กับเบนโตะหน้าสารพัดไก่มาด้วยนะ”

“เอ๊ะ ? ตกลงว่าซื้อมากี่กล่องล่ะเนี่ย”

“อืมมมม ซื้อที่เห็นแล้วสนใจมาทั้งหมดเลย ประมาณหกกล่องมั้ง”

บวกกับที่ฝากฉันซื้ออีกสามกล่อง อย่างไรก็ดีครอบครัวเรามีสี่คน พี่ชายเป็นคนกินเก่งพอสมควร แต่พ่อกินน้อย

“…นี่แม่ ตอนเที่ยงเราก็กินเบนโตะกันนี่แหละเนอะ”

ฉันถอนหายใจ รู้สึกได้ว่าคำว่า ”หาอะไรอร่อย ๆ กิน“ ถอยห่างออกไปทุกที แม่ก็เป็นแบบนี้ตลอด ซื้อของกินเยอะเกินไป ฉันกับพี่ชายถึงได้เอาแต่เติบโตออกด้านข้างแทนที่จะสูงขึ้นอย่างนี้ไง

ทั้งอย่างนั้นแท้ ๆ แม่กลับชี้มือไปยังบันไดเลื่อนด้วยท่าทางสบายสุด ๆ

“เอางั้นเหรอ ถ้างั้นก็ซื้อพวกเครื่องเคียงกับของหวานจากชั้นใต้ดินกลับไปหน่อยไหม”

บอกแล้วไงว่านั่นแหละต้นตอของความอ้วน—!

 

*

 

เนื่องจากกินมื้อเที่ยงไปเยอะ จึงไม่มีแก่ใจกินขนมที่ซื้อมา ดังนั้นหลังกินข้าวกล่องกับซุปมิโซะเป็นมื้อเย็น ฉันเลยปฏิเสธพุดดิ้งเป็นของหวาน ก็พุดดิ้งกินพรุ่งนี้ก็ยังอร่อยนี่นา แต่โจนามะกาชิต้องกินตอนนี้เท่านั้น

“เอาละ”

ฉันเตรียมชาไว้ตรงหน้า หยิบ “โซชุน” ออกมาก่อน บนก้อนโจโยะมันจู[17]สีขาวปุย มีรูปวาราบิ[18] หงิกงอสีเขียววาดไว้ด้านบน น่ารักจัง ฉันใช้ไม้จิ้มตัดแบ่งแล้วส่งเข้าปากคำหนึ่ง

“อืมมมม”

อืม เรียกได้ว่ารสชาติไม่มีพิษมีภัยล่ะมั้ง มันจูนุ่มฟูพอสมควร อันด้านในก็ไม่แย่ แต่จะว่ายังไงดีล่ะ คือเป็นรสชาติที่หาซื้อได้ทั่วไป

ฉันใช้ไม้จิ้มอันเดิมผ่าครึ่ง “อุกุยซุ” เจ้านกน้อยน่ารักทำจากโคนาชิให้เป็นสองซีกอย่างโหดร้าย จริงด้วยแฮะ รู้สึกได้ว่าสัมผัสต่างจากเนริคิริ[19]ที่ฉันกินตามปกติ

อ้อ โคนาชิกับเนริคิริก็คือวัตถุดิบหลักในการทำโจนามะกาชิ มีลักษณะคล้ายอันโกะที่ปรับเปลี่ยนรูปร่างได้อย่างอิสระ และถ้าให้พูดแบบโผงผางก็คือ ทางฝั่งคันไซจะใช้โคนาชิเป็นหลัก ส่วนฝั่งคันโตจะใช้เนริคิรินั่นเอง ฉันได้ยินมาแบบนั้น

ถ้าถามว่าต่างกันอย่างไรน่ะเหรอ เอาจริง ๆ ก็ไม่ต่างกันมากหรอก แค่โคนาชิมีการผสมผงแป้งในอันแล้วนำไปนึ่ง ส่วนเนริคิริไม่นึ่งเท่านั้นเอง คือต่างกันแค่นึ่งกับไม่นึ่ง แต่มีการเติมกิวฮิหรือไม่ก็น้ำเชื่อมเหนียว ๆ ลงไป ดังนั้นในแง่ส่วนผสมก็อาจเรียกได้ว่าคล้ายคลึงกันอยู่ดี

ความรู้สึกหลังกิน โคนาชิจะชุ่มชื้นเด้งหยุ่น ส่วนเนริคิริจะชุ่มชื้นแต่เบากว่า (หรือนุ่มหนืด) ประมาณนั้น

(ก็หยุ่น ๆ ดีหรอกนะ—)

แต่ของที่นี่ไม่ค่อยโดนใจแฮะ แล้วก็ค่อนข้างหวานจัดทีเดียว รู้สึกไม่มีเอกลักษณ์ มีเพียงความหวานโดดเด่น ชวนให้รู้สึกแปร่ง ๆ อย่างไรชอบกล

ทั้งที่ห่อน่ารักมากเลยแท้ ๆ ดีไซน์ของตัวขนมก็น่าเอ็นดู และเพราะอย่างนั้นละมั้ง ถึงยิ่งรู้สึกว่าน่าเสียดาย

ฉันมองนกน้อยที่เหลือครึ่งซีกแล้วคิดขึ้นมาลอย ๆ จะว่าไป เรื่องเมื่อตอนนั้นก็แปลกจริง ๆ นั่นแหละ ลูกค้าอุตส่าห์ตรวจสอบข้อมูลของทางร้านมาดีขนาดนั้นแต่กลับกล่าวถึงสินค้าที่ไม่มีอยู่ในร้าน

นอกจากนั้นแล้ว คนทั่วไปคงไม่มีทางรู้หรอกว่าโคนาชิไม่ใส่แป้งสาลี แสดงว่าเขาอาจเป็นช่างทำวากาชิ ไม่อย่างนั้นก็อาจเป็นคนของร้านวากาชิร้านอื่น

(แต่ต่อให้เป็นคู่แข่งทางการค้าก็เถอะ จำเป็นต้องทำโจ่งแจ้งแบบนั้นด้วยเหรอ)

สู้มาทำทีเป็นโกรธและโวยวายว่าไม่อร่อยยังดูน่าเชื่อถือเสียกว่า แต่ด้วยเหตุผลแบบเด็ก ๆ อย่างนั้นเนี่ยนะ

พรุ่งนี้ลองถามผู้จัดการดูดีกว่า อาจเข้าใจอะไรขึ้นบ้าง ฉันคิดแล้วโยนขนมที่เหลือใส่ปาก เอ๊ะ ? จะบอกว่าถ้าไม่อร่อยก็ไม่ต้องกินสิงั้นเหรอ แหม ถ้าทำแบบนั้นได้ละก็ป่านนี้ฉันคงใส่เสื้อผ้าไซส์เอสได้แล้วละ

ในโลกนี้ยังมีของไม่อร่อยแต่ไม่ถึงขั้นห่วยแตกอยู่เต็มไปหมด ฉันกินเหลือด้วยเหตุผลว่าไม่อร่อยไม่ได้หรอกนะ

เอาเป็นว่า เรียกว่าฉันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็แล้วกัน

 

*

 

“อ้าว คุณอุเมโมโตะไป วากาชิแฟร์ มาด้วยเหรอ”

ฉันก็อยากไปบ้างจังเลย ผู้จัดการทอดถอนใจขณะดูแผ่นพับ

“ยิ่งเป็นช่วงฮัตสึกามะ (เตาแรก) คงมีอะไรให้ดูเป็นแบบอย่างได้เยอะเลย”

“ฮัตสึกามะเหรอคะ”

ฉันพึมพำย้อนคำพลางเอียงคอฉงน เตาแรกหมายความว่าอย่างไร เป็นพิธีกรรมถวายข้าวสวยร้อน ๆ ให้เทพเจ้าหรือไง

“ฮัตสึกามะหมายถึงพิธีชงชาที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกของปีใหม่ ถือเป็นอีเวนต์สำคัญอย่างหนึ่งในวงการชงชาเลยละ และแน่นอนว่า ย่อมสำคัญสำหรับร้านวากาชิด้วย”

“เหรอคะ”

พิธีชงชาครั้งแรกของปีงั้นเหรอ ก็จริงนะ ฟังดูเหมือนงานเฉลิมฉลองเลย ขนมสำหรับพิธีชงชาดังกล่าวก็คงสำคัญด้วยเช่นกัน

“ใช่แล้ว ถ้ามีคำสั่งซื้อล็อตใหญ่อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้มีลูกค้าประจำ จึงเรียกได้ว่า เป็นโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่เชียวละ”

ดังนั้นช่วงนี้ถึงต้องเน้นจัดวางขนมใหม่ ๆ ให้ผู้คนจำนวนมากมองเห็นได้ไงล่ะ ฉันฟังแล้วนึกเข้าใจได้ อย่างนี้นี่เอง ที่เขียนว่า มาออกร้านที่โตเกียวครั้งแรก! ก็คงต้องการมีโอกาสทางธุรกิจนี่ด้วยละมั้ง

“ว่าแต่ ผู้จัดการคะ ถ้าพูดถึง ‘นกน้ำตาลปั้น’ จะนึกถึงอะไรเหรอคะ”

ดีที่ช่วงเช้าไม่ค่อยมีลูกค้า ฉันจึงถือโอกาสลองถามผู้จัดการ

“นั่นสินะ สำหรับฉัน คงนึกถึงน้ำตาลปั้นตามงานวัดสมัยก่อนละมั้ง”

“แบบเบคโคอาเมะ[20]เหรอคะ หรือว่าอันซุอาเมะ[21]

“ไม่ใช่ทั้งสองแบบ ฉันหมายถึงลูกกวาดที่ใช้นิ้วหรือกรรไกรปั้นแต่งเป็นรูปร่างตอนยังร้อนน่ะจ้ะ ลูกกวาดที่ทำโดยช่างปั้นน้ำตาล”

ไม่เคยเห็นร้านแผงลอยแบบนั้นเลย ฉันเอียงคองุนงงเพราะนึกภาพไม่ออก ผู้จัดการจึงบอกว่า

“ลองใช้คอมพิวเตอร์ในห้องด้านหลังค้นหาคำว่า ‘ช่างปั้นน้ำตาล’ ดูก็แล้วกัน ฟังร้อยหนไม่สู้เห็นภาพเองนะ”

ฉันลองหารูปดูตามที่ผู้จัดการบอก ในนั้นคือโลกแห่งงานฝีมืออันเลิศล้ำ

ใช้ไม้พันน้ำตาลเคี่ยวในภาชนะเก็บความร้อนขึ้นมา จากนั้นก็ปั้นให้เป็นรูปร่างอย่างรวดเร็วก่อนน้ำตาลเย็นแข็ง นก กระต่าย งู เริ่มจากสิบสองนักษัตรไล่ไปจนถึงบรรดาตัวการ์ตูนสมัยใหม่ต่าง ๆ

ใส่สีลงในน้ำตาลเคี่ยวสีขาวดั่งน้ำนม ตบท้ายด้วยการแต่งแต้มด้วยพู่กัน ลูกกวาดน้ำตาลปั้นก็เป็นอันเสร็จสิ้น และเพราะมีสีขาวเป็นพื้นจึงดูเป็นสีพาสเทลละมุนตาไปหมด

น่ารักจัง ฉันคิดขณะมองหน้าจออย่างใจจดใจจ่อ ตอนนั้นเองประตูห้องพักหลังร้านก็เปิดออก ก่อนชายร่างสูงเพรียวจะเดินเข้ามา

“อรุณสวัสดิ์ครับ”

คุณทาจิบานะเป็นพนักงานประจำของร้านวากาชิแห่งนี้เช่นเดียวกับผู้จัดการสึบากิ และเขายังเป็นช่างทำวากาชิอีกด้วย อย่างไรก็ดี เวลาไม่พูดไม่จาจะดูเหมือนพวกพนักงานเสิร์ฟในร้านคาเฟ่สุดชิคเสียมากกว่า พูดตรง ๆ ว่า เป็นหนุ่มประเภทที่สาวร่างเตี้ยแต่สูงใหญ่ในแนวนอนอย่างฉันไม่อยากยืนข้าง ๆ เลยละ

แต่เขาไม่เหมือนพนักงานหนุ่มคนเมื่อวานหรอกนะ เพราะคุณทาจิบานะเป็นพนักงานขายผู้สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับลูกค้า ความรู้เกี่ยวกับสินค้า ตลอดจนการห่อของ ฉันจึงเคารพเขามาก

ตามปกติเขาจะต้องมาคุยถามรายละเอียดงานกับฉันก่อนเล็กน้อย แต่วันนี้คุณทาจิบานะมาถึงร้านทันฉิวเฉียดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เขาจึงรีบสวมผ้ากันเปื้อนและถือบัตรสำหรับตอกเข้างานถลาออกไปนอกร้าน

 

“ ‘นกน้ำตาลปั้น’ เหรอครับ”

ฉันกลับมาหน้าร้าน เล่าเรื่องเมื่อวานให้ฟัง คุณทาจิบานะฟังแล้วแสดงสีหน้าคล้ายกำลังนึกย้อนถึงอะไรบางอย่างพลางเอียงคอครุ่นคิด

“รู้สึก… เหมือนเคยได้ยินมาก่อนเลย…”

“ถ้าอย่างนั้น แปลว่าเป็นคำเฉพาะเกี่ยวกับวากาชิจริง ๆ ด้วยสินะคะ”

ภาษาเฉพาะในแวดวงวากาชิงั้นเหรอ ฉันนึกย้อนไปถึงเมื่อก่อน ตอนได้ฟังคำสุ่มเสี่ยงอย่าง ”ฮังโคโรชิ (ทำให้เจ็บเจียนตาย)“ หรือ ”ฮาราคิริ (คว้านท้อง)“ แล้วตกอกตกใจเสียแทบแย่ แต่คุณทาจิบานะคิดอยู่พักหนึ่งก็ส่ายศีรษะ

“อย่างน้อยผมก็ไม่คิดว่าเป็นภาษาเฉพาะของวากาชิหรอกนะครับ”

ค้างคาใจมากเลย อยากรีบนึกให้ออก ปากว่าอย่างนั้นแต่ตัวเดินไปหาลูกค้าที่เตร่เข้ามาใกล้ตู้กระจก

“ไม่ใช่ภาษาในการทำขนม ถ้าอย่างนั้นคืออะไรล่ะ”

คนในชั้นใต้ดินเริ่มเยอะขึ้นทีละน้อย ฉันมองภาพนั้นพลางคิดตาม คำนั้นถูกใช้ในสถานที่แบบนี้แปลว่า…

“หรือว่าจะเป็นภาษาเฉพาะกลุ่มคะ”

“อ้อ เหมือน ‘เดินทางไกล’ ใช่ไหม”

คำว่า ”เดินทางไกล“ เป็นภาษาเฉพาะกลุ่มของคนในห้างสรรพสินค้าโตเกียว หมายถึงการไปห้องน้ำ

“สมมติว่าชายคนนั้นอยากพูดให้พนักงานคนนั้นเข้าใจเพียงคนเดียว ก็น่าจะใช้ภาษาที่เข้าใจร่วมกันนะคะ”

“นั่นสินะ แต่ถ้าฟังจากที่คุณอุเมโมโตะเล่า ดูเหมือนว่าอีกฝ่ายก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่ชายคนนั้นต้องการสื่อเหมือนกันนี่นา”

ก็จริง ถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้นพนักงานหนุ่มเองก็ทำหน้างุนงงสงสัยไม่ต่างอะไรกับฉัน

“อ๊ะ แต่ว่า”

มีลูกค้าเดินตรงมาจากฝั่งตรงข้าม ผู้จัดการสึบากิผงกศีรษะให้น้อย ๆ ก่อนยืดหลังตรง

“เป็นคนละห้างกันนี่นา อาจมีภาษาเฉพาะกลุ่มที่ต่างออกไปก็เป็นได้”

ยินดีต้อนรับค่ะ ผู้จัดการสึบากิกล่าวพลางโค้งคำนับ ฉันแอบพยักหน้าในใจ ถ้าอย่างนั้นก็พอเข้าใจได้แล้วว่าชายคนนั้นอาจพูดไปเพราะนึกว่าพนักงานหนุ่มจะเข้าใจ คือถึงแม้จะไม่พอใจ แต่ดูเหมือนว่าเขามีอะไรอยากบอกพนักงานคนนั้นสินะ

 

*

เอาจริง ๆ นะ ฉันไม่ได้อยากทุ่มเทไขปริศนาเล็ก ๆ นี่ให้ได้ขนาดนั้นหรอก แค่ค้างคาใจเพราะคิดว่าเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับวากาชิเท่านั้นเอง

แต่พอได้ยินคำตอบ กลับยิ่งทำให้ค้างคาใจหนักขึ้นอีก

วันนี้คุณทาจิบานะเข้ากะบ่าย ทันทีที่กลับมาจากพักเที่ยงเขาก็กล่าวขึ้นว่า

“ตกลงว่า ‘นกน้ำตาลปั้น’ เป็นคำที่ใช้เป็นสำนวนหรือคำพังเพยน่ะครับ”

ไม่เคยได้ยินสำนวนแบบนั้นเลยแฮะ แต่ก่อนที่ฉันจะเริ่มหดหู่เพราะนึกว่าตัวเองเรียนน้อย ผู้จัดการสึบากิก็พึมพำออกมา

“งั้นเหรอ ฉันเพิ่งเคยได้ยินนี่ละ”

อย่างนั้นเหรอ พอฉันเริ่มสบายใจขึ้นมานิดหน่อย คุณทาจิบานะก็พูดเรื่องชวนงงต่อมา

“เดิมที ที่ผมจำได้คือมาจากบทพูดในละครหุ่นนินเกียวโจรุริ[22]น่ะครับ และพอหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็เลยรู้ว่ามีการใช้คำพูดนั้นเป็นสำนวนด้วย”

นินเกียวโจรุริเหรอ ในหัวของฉันนึกตัวคันจิของคำนั้นไม่ออกเลย เอ่อ รู้สึกเหมือนเคยเรียนในโรงเรียนแฮะ คือเป็นละครเพลงที่ใช้ตุ๊กตาเป็นตัวแสดงใช่ไหม ว่าแต่ โจรุริจริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่นะ

บางครั้งบางคราวเวลาทำงานที่ร้านนี้ฉันเป็นต้องโดนผลักให้เผชิญหน้ากับความไร้การศึกษาของตัวเองแบบนี้แหละ ผู้จัดการกับคุณทาจิบานะคุยกันเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ฉันกลับไม่เข้าใจไปกับพวกเขาเลย ทำให้พานนึกกังวลขึ้นมา คนทั่วไปในสังคมมีความรู้ระดับนี้กันอยู่แล้วรึเปล่าหนอ หรือไม่เข้าใจก็ถือว่าไม่แปลกอะไร

เอาเป็นว่า สิ่งที่ฉันทำได้คือกล้าเอ่ยปากถามอยู่เรื่อยไปนี่ละ

“…โจรุริ คือเหมือนการแสดงคาบุกิเหรอคะ”

ฉันถามแสดงความโง่ออกไปเต็มที่ คุณทาจิบานะพยักหน้าน้อย ๆ

“ถ้าในแง่ที่ว่าเป็นการแสดงประกอบเสียงดนตรีถือว่าคล้ายกัน แต่โจรุริจะแสดงไปตามบทเพลงร้อยเปอร์เซ็นต์ คิดเสียว่าเป็นละครเพลงก็ได้ครับ”

“ว่าแต่คำพูดที่ว่านั่นมาจากบทเพลงไหนล่ะ”

“บทเพลง หญิงสาว ปลิดชีพ น้ำมัน นรก ของชิงะมัตสึ มนซาเอมน[23]ครับ”

ชื่อล่อแหลมอะไรขนาดนั้น หรือว่าเป็นละครสยองขวัญ พอเห็นฉันทำหน้ากระตุกเกร็งขึ้นมา ผู้จัดการสึบากิก็แย้มยิ้มแล้วตบหลังฉัน

“ไม่ต้องกลัวน่า ถึงจะชื่อเพลงแบบนั้น แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ทั้งรักทั้งชังของตัวเอกซึ่งเป็นคนขายน้ำมันน่ะ”

ถ้าอย่างนั้นก็อย่าเอาคำว่า “น้ำมัน” กับ “นรก” มาใช้ด้วยกันซี ฉันพึมพำ คุณทาจิบานะเห็นแล้วกลั้นหัวเราะจนปากสั่น

“…อ้อ แล้วก็คำพูดที่ว่าก็คือ ‘ดีแต่รูปลักษณ์ ดั่งนกน้ำตาลปั้นที่ไร้ความหวาน’ น่ะครับ”

คุณทาจิบานะพูดพลางหยิบกระดาษโน้ตแผ่นจิ๋วออกมาจากกระเป๋าผ้ากันเปื้อน

“ตามคำพูดในบทละครเขียนว่า ‘ความหวาน’ แต่เห็นว่าความหมายดั้งเดิมของคำพูดนั้นคือ ‘ดีแต่รูปลักษณ์ แต่เนื้อในกลับกลวงโบ๋ไม่สมตัว’ และคำว่า ‘น้ำตาลปั้น’ ยังมีความหมายว่า ‘ของปลอมที่ดูคล้ายแค่ภายนอก’ ด้วย”

“ดีแต่รูปลักษณ์—”

ชั่วขณะที่พึมพำคำนั้นออกมา หัวใจของฉันก็พลันกระตุกวูบ นึกเข้าใจได้ในทันทีว่าคำพูดนั่นใช้ได้กับทั้งตัวขนมและพนักงานประจำร้านคนนั้นเลย แม้ออกแบบหีบห่อได้สวยเก๋แต่รสชาติขนมไม่ได้ดีเด่ แม้มีรอยยิ้มเปี่ยมอัธยาศัยแต่กลับเป็นพนักงานไร้ฝีมือ

ถ้าอย่างนั้นแปลว่าชายคนนั้นไม่ได้พูดอะไรผิดไปเลย ไม่สิ อาจเรียกได้ว่ามีน้ำใจแล้วด้วยซ้ำ พอฉันแสดงความเห็นออกไป ผู้จัดการสึบากิก็พยักหน้าเบา ๆ

“กล่าวตักเตือนด้วยคำพูดที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ เขาอาจเป็นแค่คนขี้แกล้งก็ได้”

แต่คุณทาจิบานะกลับส่ายศีรษะอย่างเฉียบขาด

“แต่… ในทางผลลัพธ์แล้ว เขาดุพนักงานขายคนนั้นต่อหน้าลูกค้า มองจากภายนอกคงเห็นเขาไม่ต่างอะไรจากพวกมาหาเรื่อง ซึ่งไม่เห็นมีประโยชน์อะไรกับทางร้านเลย ผมคิดว่าแบบนั้นคงเรียกว่ามีเจตนาดีได้ยากนะครับ”

ตกลงว่าเป็นคนดีหรือไม่ดีกันแน่นะ ฉันนึกย้อนไปถึงสีหน้าของพนักงานกับชายคนนั้น ชายคนนั้นดูโกรธอยู่ตลอดเวลา ขณะที่พนักงานมีสีหน้าลำบากใจ

“ฉันไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเอง คงกล่าวแบบเหมารวมไม่ได้—”

ฉันเงยหน้าขึ้นตามเสียงของผู้จัดการ คราวนี้มองเห็นลูกค้าคนหนึ่งกำลังเดินรี่เข้ามาหาฉัน

“แต่คนเราน่ะ ไม่ค่อยโกรธหรือดุว่าคนที่เราไม่ใส่ใจหรอกใช่ไหมล่ะ”

ฉันฟังคำพูดนั้นพลางก้มศีรษะอย่างนอบน้อมให้ลูกค้า

“ยินดีต้อนรับค่ะ”

และคิดขึ้นมาว่า ตอนนี้ฉันสวมเครื่องแบบของร้านนี้ ทั้งยังดูเหมือนจะอธิบายเกี่ยวกับวากาชิให้ลูกค้าได้ก็จริง แต่นั่นเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอก เพราะฉันไม่มีความรู้เฉพาะทางหรือความรู้ด้านงานประพันธ์มาสนับสนุนเหมือนผู้จัดการกับคุณทาจิบานะนี่นา

แค่จำในสิ่งที่ถูกสอนมาโดยไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้และพูดออกไปเท่านั้นเอง

“เนื่องจากเป็นเทศกาลของฮัตสึกามะ ขนมชิ้นนี้จึง—”

นกน้ำตาลปั้น… ก็คือฉันเอง

 

*

 

วุฒิการศึกษาสูงสุดคือแค่จบมัธยมปลาย ไม่มีวิชาถนัด ไม่มีความรู้เฉพาะทาง ไร้คุณสมบัติพิเศษใด ๆ จะมีก็แต่ความอยากอาหารและไขมันสะสม

ฉันไม่มีอะไรจะเขียนในเอกสารสมัครงานหรือเอกสารแนะนำตัวสำหรับการดูตัว ไม่มีสักกระผีกจนน่าขำเลยด้วยซ้ำไป

(ไม่ถึงระดับน้ำตาลปั้นเลยด้วยซ้ำ)

เพราะกระทั่งรูปลักษณ์ยังไม่น่ามองเลยนี่นา ตอนพักครั้งที่สองของวันนั้นฉันครุ่นคิดถึงตัวเองขณะดื่มชา ตอนนั้นเอง ใครบางคนก็เคาะประตูห้องพักด้านหลัง

“โทษทีนะ ขอรบกวนตอนพักสักนิด”

คุณทาจิบานะโผล่หน้าเข้ามา ชี้มือไปยังตารางเข้างาน

“นี่ วันหยุดรอบหน้า เราหยุดตรงกันเนอะ”

“อืม จะว่าไปก็ใช่นะคะ”

“คือว่า ถ้าว่าง ไปไชน่าทาวน์ด้วยกันไหม”

“…คะ ?”

จู่ ๆ ก็พูดอะไรของเขาเนี่ย ฉันเผลอขมวดคิ้วมุ่น เงยหน้ามองคุณทาจิบานะ

ถ้าเกี่ยวกับวากาชิก็ยังพอเข้าใจได้หรอก หรือถ้าชวนไปดูอะไรเกี่ยวกับขนมที่แม้จะไม่ใช่ขนมของญี่ปุ่นก็เข้าใจได้ เพราะถึงแม้ว่าเป็นพนักงานพาร์ตไทม์ แต่ฉันก็ถือเป็นเพื่อนร่วมงานของเขา

แต่กลับชวนไปไชนาทาวน์เนี่ยนะ!

“ความจริงคือ เมื่อเช้าผมตื่นสายน่ะ เลยต้องกินซาลาเปาไส้ถั่วแดงในร้านสะดวกซื้อเป็นมื้อเช้า แล้วพอเห็นซาลาเปานุ่มฟูก็เลยนึกถึงอันจังขึ้นมาน่ะซี!”

คุณทาจิบานะยื่นมือเรียวยาวมาบีบแก้มนุ่มหยุ่นของฉัน

“ว้าว วันนี้ก็นุ่มเหมือนเคย”

จริง ๆ เลยนะ ท่าทางที่แตกต่างราวฟ้ากับเหวตอนอยู่หน้าร้านกับห้องด้านหลังของคุณนี่มันยังไงกัน ฉันอยากบอกออกไปเหลือเกิน แต่ก็พูดไม่ถนัด

“ออโอดอ้วยอ่ะ อี้แอ้มอุ้ม (ขอโทษด้วยค่ะ ที่แก้มนุ่ม)”

“เนอะ เราไปกินเพื่อนของอันจังด้วยกันเถอะ”

ถ้าไปกับอันจังละก็ รู้สึกว่าจะกินได้อร่อยขึ้นหลายเท่าเลยละ! คุณทาจิบานะพูดพลางแย้มยิ้ม

ลืมบอกไปเลย คุณทาจิบานะไม่ใช่เกย์นะ แค่มีหัวใจเป็นสาวน้อยเท่านั้นเอง

ถึงได้มาชวนฉันไปไหนต่อไหนด้วยอารมณ์เหมือนชวนเพื่อนสาว แต่สำหรับฉันแล้ว ไม่ค่อยอยากเดินเคียงข้างเขาเท่าไรนัก เพราะรูปลักษณ์ภายนอกของเราต่างกันเกินไป

แต่สาวน้อยคนนี้ก็เหมือนแม่ของฉันนั่นแหละคือ เข้าอกเข้าใจผู้หญิงเป็นอย่างดี

“แล้วก็ อีกไม่นานจะถึงปีใหม่ทางจันทรคติแล้วด้วย”

“ปีใหมทางจันทรคติ ?”

“ที่ประเทศจีน เดือนหนึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะถือว่าเป็นวันปีใหม่อย่างเป็นทางการ และนั่นก็คือประมาณสัปดาห์หน้า เหมือนฮัตสึกามะนั่นแหละ”

ประเด็นคือ ในหัวฉันนึกปฏิทินจันทรคติที่ว่านั่นไม่ออกไงเล่า

“มีร้านค้าแผงลอยและการแสดงตามถนนเพียบเลยละ สนุกนะ ไม่ใช่แค่มันจู แต่ยังมีเสี่ยวหลงเปาทอด[24] บะหมี่ร้อน ๆ แน่นอนว่าต้องไปเดินกินติ่มซำด้วย!”

“ถ้าแบบนั้น—”

ก็อยากเหมือนกันแฮะ

“หมูตงพอ[25]นุ่มละไมละลายในปาก ฮะเก๋า[26]เนื้อแน่นเต่งตึง! ชานมไข่มุกเหนียวหนึบก็ขาดไม่ได้เลยเนอะ”

เนอะ ไปด้วยกันน้า พูดขนาดนี้แล้ว ฉันก็ต้องเผลอพยักหน้ารับน่ะซี

บอกแล้วไงว่า ถ้าปฏิเสธการชักชวนแบบนี้ได้ ตอนนี้ฉันก็คงไม่ตัวขนาดนี้หรอกน่า—!

 

*

 

เสียงฆ้องดังก้องกังวานไปทั่วบริเวณ

“อ๊ะ ดูสิ มังกรละ”

มังกรทำจากผ้าบิดตัวเลี้ยวลดไปมาไล่ตามลูกบอลสีทอง ขณะที่ฉันกำลังโดนการเคลื่อนไหวไหลลื่นนั่นดึงดูดสายตา ต่อมาสิงโตก็ปรากฏกาย

“ดูสมจริงผิดกับของญี่ปุ่นเลยเนอะ”

ขนสิงโตแลดูอ่อนนุ่มทั่วร่าง การเคลื่อนไหวก็คล้ายแมว เห็นแล้วฉันก็อดพึมพำออกมาไม่ได้

“…ของญี่ปุ่นน่ะผิดตั้งแต่การใช้ผ้าฟุโรชิกิ (ผ้าห่อของแบบญี่ปุ่น) มาทำเป็นลำตัวแล้วละค่ะ”

คุณทาจิบานะได้ยินแล้วทำตัวสั่นขึ้นมาทันที

“อะ อันจังละก็! อย่าเหน็บแนมอย่างเยือกเย็นเป็นเหตุเป็นผลแบบนั้นซี่—!”

“ฉันนึกสงสัยมาตั้งแต่เด็ก ๆ เลยว่า ทำไมบอกว่า ‘สิงโต’ แต่มีลำตัวเป็นผ้า แถมยังเป็นผ้าลวดลายหงิกงออีก มีแต่เรื่องให้ตบมุกได้เต็มไปหมด”

ให้พูดอีกก็คือ ทำไมหัวสิงโตเชิดของญี่ปุ่นต้องทำด้วยไม้ มันน่าจะหนักเกินกว่าจะใช้สวมหัวแล้วเต้นได้นะ

“หัวเป็นไม้ ตัวเป็นผ้า น้ำหนักมันต่างกันมากเกินไปนะคะ”

“บอก—ว่า—อย่า—แซว!”

คุณทาจิบานะหัวเราะจนตัวงอ ฉันเหลือบตามองพลางหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปการเชิดสิงโตเอาไว้

“แต่ว่า เห็นแล้วมันเจ็บใจยังไงก็ไม่รู้นะคะ”

“หืม ทำไมล่ะ”

“ก็วัฒนธรรมของญี่ปุนน่ะ สุดท้ายเมื่อสืบสาวราวเรื่องก็พบว่ามาจากจีนทั้งหมดเลยนี่คะ”

อย่างวากาชิก็เช่นกัน เรียกได้ว่าไม่อาจบอกเล่าเกี่ยวกับวากาชิโดยไม่เท้าความถึงอิทธิพลของคารากาชิ[27] ได้เลยละ และเพราะมีซาลาเปาของจีน ถึงได้เกิดมันจูของญี่ปุ่นขึ้นมา

“เหมือนโดนบอกว่าต้นกำเนิดของทุกอย่างมาจากประเทศจีนน่ะค่ะ”

ลัทธิขงจื๊อ ตัวคันจิ ทุกสิ่งทุกอย่างเลย รู้หรอกว่าประเทศอยู่ใกล้กันเลยเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม แต่ถ้าอย่างนั้นอะไรคือความคิดริเริ่มของญี่ปุ่นล่ะ ความสมเป็นญี่ปุ่นคืออะไรกันแน่

ระหว่างที่ฉันพึมพำอยู่นั่นเอง คุณทาจิบานะก็ยื่นมือทั้งสองออกมาตรงหน้า จากนั้นก็ผายออกเป็นวงเหมือนรูปดอกทิวลิปคล้ายเด็กทำท่ากายบริหาร

“การโอบอุ้ม”

“เอ๊ะ ?”

มือทั้งสองของเขาโอบอุ้มอากาศเอาไว้อย่างอ่อนโยน

“สิ่งที่สมเป็นญี่ปุ่นในความคิดของผมคือการโอบอุ้ม เคารพอีกฝ่าย รับสิ่งที่ดีมาแต่ไม่ได้เลียนแบบเฉย ๆ กลับดัดแปลงตามประสาพวกตนเข้าไปห่อหุ้มเพิ่มเติม ซึ่งผมคิดว่า นั่นคือความรู้สึกที่ซื่อตรงและเป็นอิสระมากเลยนะ คิดว่ายังไง”

สิงโตเชิดกำลังร่ายรำอยู่ตรงหน้าพร้อมกับเสียงโช้งเช้งที่ดังขึ้น แล้วดอกทิวลิปก็เบ่งบานในสองมือ

“เพราะคิดว่าอร่อยจัง ดีจังเลยน้า เลยอยากบอกความรู้สึกนั้นให้คนอื่นรับรู้ จึงเกิดการสืบสานวัฒนธรรมใช่ไหมล่ะ คือถ้าสืบสานสิ่งเลวร้ายมันก็น่าเศร้าหรอก แต่ถ้าเป็นสิ่งดีก็เต็มใจเปิดรับแบบสุด ๆ เพราะญี่ปุ่นน่ะมีพลังมากพอจะรองรับสิ่งเหล่านั้นไว้ได้ยังไงละ”

“พลัง… ในการรองรับ…เหรอ”

“เทพเจ้าของญี่ปุ่นสมัยโบราณมีมากมายนับร้อยพัน ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้าแบบไหนก็ล้วนต้อนรับไว้ทั้งสิ้น ใจกว้างมากเลยเนอะ”

และเพราะเปิดรับทุกสิ่งที่ว่านั่นไว้ถึงได้มีแต่ของอร่อยเต็มไปหมดเลย คุณทาจิบานะว่าแล้วชี้ไปยังร้านรวงเรียงรายตรงปลายถนน พลางแย้มยิ้มออกมา

แม้รูปร่างภายนอกจะเหมือนหนุ่มทันสมัยและภายในหัวใจเป็นสาวน้อย แต่คุณทาจิบานะไม่ใช่นกน้ำตาลปั้น การยืนเคียงข้างเขาคนนี้ทำให้ฉันรู้สึกขมขื่นเสียยิ่งกว่าที่เคยเป็น

ก็ฉันน่ะ ทั้งที่ไม่มีอะไรเลยกลับเอาแต่อิจฉา ถึงมีชื่อสมญาว่าอันโกะ แต่แท้จริงแล้วกลับไม่ต่างอะไรจากมันจูไร้ไส้กลวงโบ๋

(อย่างน้อยถ้าฉันมีรูปร่างภายนอกสวยงามเหมือนนกน้ำตาลปั้นก็ยังดีหรอก)

คิดถึงตรงนั้นฉันพลันตระหนักถึงความจริงแสนง่ายขึ้นมาได้

นกน้ำตาลปั้นน่ะไม่ได้กลวงโบ๋เสียหน่อย

 

“คลิปในคอมพ์เหรอ”

ระหว่างรอเสี่ยวหลงเปาย่าง ฉันเล่าเรื่องนั้นให้คุณทาจิบานะฟัง

“ค่ะ มีหลายเว็บไซต์ทีเดียวที่ลงคลิปวิดีโอแนะนำฝีไม้ลายมือของช่างทำน้ำตาลปั้น แต่เท่าที่ฉันดู ไม่เห็นมีน้ำตาลปั้นที่กลวงตรงกลางเลยนะคะ”

ใช้แท่งไม้เกี่ยวน้ำตาลเคี่ยวร้อน ๆ ที่นวดจนเป็นสีขาวขึ้นมา ปั้นแต่งให้เป็นรูปร่างอย่างรวดเร็ว ในขั้นตอนนั้นไม่มีตรงไหนที่ต้องทำให้เนื้อในกลวง

“แล้วทำไมในสำนวนถึงกลายเป็นว่า ‘ไม่มีเนื้อใน’ ไปได้ล่ะคะ”

“อืมมมม ก็จริงแฮะ น้ำตาลปั้นไม่ได้กลวงเสียหน่อย”

“ถ้าไม่ได้มีความหมายตามคำพูดแล้วจะมีความหมายอะไรได้อีกคะ”

ฉันถาม คุณทาจิบานะเอียงคอครุ่นคิด

“หรือมีอะไรที่ลักษณะเหมือนนกแต่ด้านในกลวงเหรอ แต่ถ้าเป็นแบบนั้นก็น่าจะตั้งเป็นชื่อเฉพาะไปเลยนะ อย่าง ‘จิโดริ (นกหัวโต) น้ำตาลปั้น’ ‘สึรุ (นกกระเรียน) น้ำตาลปั้น’ อะไรแบบนี้”

“ถ้าหมายถึงการคล้ายคลึงแต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกก็ไม่จำเป็นต้องเจาะจงว่าเป็นน้ำตาลปั้นนะคะ”

ฉันรับเสี่ยวหลงเปาที่ทอดเสร็จเรียบร้อยมากัดอย่างระมัดระวัง น้ำซุปร้อนฉ่าทะลักพุ่งออกมาทันที

“ร้อน!”

คุณทาจิบานะยกมือปิดปาก เดือดร้อนถึงฉันต้องสอนวิธีกิน

“เพราะกัดตรงก้นจึงโดนซุปโจมตีเข้าน่ะสิ ต้องเปิดจากทางด้านบนก่อนค่ะ”

“อ้อ แอบอี๊อี้เอง”

วิธีพูดบ่งบอกว่าลิ้นของเขาคงโดนลวกเข้าแล้ว ฉันจึงพาคุณทาจิบานะไปที่ร้านขายชานมไข่มุก เครื่องดื่มผสมผสานกับขนมหวาน เย็นฉ่ำ หวานล้ำ ใส่ไข่มุกนุ่มหนึบนี้เหมาะเหม็งสำหรับคลายความร้อนภายในโพรงปากดีนักแล

“อา—รอดแล้ว”

เราสองคนถือชานมไข่มุกไว้ในมือหนึ่ง ก่อนเดินไปตามถนนสายหลักเพื่อมองหาของกินต่อไป ตอนนั้นเองสายตาก็เหลือบไปเห็นร้านแผงลอยเล็ก ๆ ที่มีเด็ก ๆ วิ่งกรูไปรุมล้อม

“นั่น เขียนว่า ‘ลูกกวาด’ ใช่ไหมคะ”

บนป้ายแนวตั้งมีตัวอักษรที่คล้ายกับคำว่าลูกกวาดเขียนไว้ พอเข้าไปใกล้ก็เห็นน้ำตาลปั้นสีน้ำตาลทองแวววาวเรียงราย

“นี่คือน้ำตาลปั้นของจีนน่ะ”

ดีไซน์อ้วนกลมน่ารักน่าเอ็นดู ฉันมองดูบนแท่นวางจึงเห็นว่าไม้ที่เสียบกับตัวลูกกวาดแท้จริงแล้วเป็นหลอดหลากสีสัน หรือว่า…

“อ๊ะ มีสาธิตวิธีทำให้ดูด้วยแน่ะ”

เมื่อเด็ก ๆ ร้องขอ คุณลุงคนขายก็หยิบน้ำตาลเคี่ยวแข็ง ๆ ออกมาจากกล่อง จากนั้นจึงเสียบไว้ตรงปลายหลอด ก่อนเริ่มเป่าลมใส่พลางหมุนหลอดไปเรื่อย ๆ

รู้สึกเหมือนเคยเห็นที่ไหนเลย ฉันพยายามขุดคุ้ยความทรงจำอันเลือนลาง จนนึกถึงฤดูร้อนขึ้นมาได้

“—เหมือนการทำกระดิ่งลมเลย”

ฉันพูด คุณทาจิบานะพยักหน้า

“น้ำตาลเป่าน่ะ”

“น้ำตาลเป่า ?”

“อืม น้ำตาลปั้นของจีนเหมือนที่อันจังบอกนั่นแหละ คือส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเป่าขึ้นรูปเหมือนการเป่าแก้ว ดังนั้นจึงได้พองกลมน่ารักยังไงละ”

ฉันถึงนึกขึ้นมาได้ตอนนั้นเอง น้ำตาลปั้นของจีนแปลว่าเก่าแก่กว่าของญี่ปุ่นสินะ และวิธีการเป่าขึ้นรูปแบบนี้—

“หรือว่านี่คือที่มาของสำนวนนั่น”

“เอ๊ะ ?”

“ที่ว่าดีแต่รูปลักษณ์ ข้างในกลับกลวงโบ๋—พอเห็นน้ำตาลเป่านี่แล้ว ก็รู้สึกเข้าใจขึ้นมาได้น่ะค่ะ”

“อ๊ะ! จริงด้วยสิ”

คุณทาจิบานะมองมือของช่างน้ำตาลเป่าพลางบิดตัวยุกยิก

“โธ่เอ๋ย ผมรู้จักน้ำตาลเป่านี่แท้ ๆ แต่กลับนึกไม่ถึงเลย!”

สมแล้วที่เป็นอันจัง! คุณทาจิบานะบอก แต่ฉันกลับส่ายหน้า

“เป็นคำตอบที่ได้มาเพราะความรู้ของคุณทาจิบานะกับผู้จัดการสึบากิต่างหากละคะ”

เพราะภายในของฉันน่ะ—ใช่สิ แต่ก่อนฉันจะพึมพำออกไป คุณทาจิบานะกลับวางมือลงบนศีรษะของฉัน

“ไม่ใช่นะ”

“เอ๊ะ ?”

“แค่ความรู้ไม่พอหรอก ต้องรู้จักนำมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ด้วย ไม่อย่างนั้นก็ถือเป็นแค่ข้อมูล ต้องรู้จักคิดหาทางเข้าใกล้คำตอบด้วยตัวเองเหมือนอันจังนี่แหละ”

เขาลูบศีรษะฉัน กลิ่นน้ำตาลเคี่ยวหวาน ๆ โชยเตะปลายจมูก

“อ๊ะ ผมก็พลอยนึกขึ้นมาได้อีกอย่าง”

“อะไรคะ”

“คำพูดว่า ‘นกน้ำตาลปั้น’ น่าจะมีความหมายอีกอย่าง”

นอกจากเป็นสำนวนแล้วยังมีอะไรอีกเหรอ ฉันถาม คุณทาจิบานะแย้มยิ้ม

“ชายคนที่พูดคงอยากให้อีกฝ่ายเป็นได้เหมือนอันจังน่ะ”

“เหมือนฉันเหรอ”

หมายถึงให้เพิ่มน้ำหนักเหรอ แต่ก่อนฉันจะได้แซวตัวเอง คุณทาจิบานะก็หยิบกระเป๋าเงินออกมา ซื้อน้ำตาลปั้นมาสองอัน

“ก็คำพูดนั้นสื่อไปไม่ถึงอีกฝ่ายใช่ไหม แปลว่าความรู้ของพนักงานคนนั้นยังอยู่ในระดับ ‘นกน้ำตาลปั้น’ ”

ใช่ ก็เหมือนฉันไง แต่คุณทาจิบานะกลับพูดต่อ

“ใช้คำพูดยาก ๆ กับคนที่ไม่น่าจะเข้าใจ ผมคิดว่าคงเป็นเพราะเขาอยากให้อีกฝ่ายไปค้นหาความหมายด้วยตัวเองนะ”

เชี่ยเชี่ย (ขอบคุณ) ช่างน้ำตาลปั้นยิ้มให้ คุณทาจิบานะยื่นน้ำตาลปั้นอันหนึ่งให้ฉัน นั่นคือนกกระจ้อยตัวอ้วนกลมปุ๊กปิ๊ก

“เพราะการตรวจสอบด้วยตัวเองคือก้าวแรกของการเรียนรู้ไงละ”

ฉันมองนกกระจ้อยนิ่ง ก่อนพยักหน้าหงึก

ได้ใช่ไหม แม้ภายในกลวงโบ๋ แต่จากนี้ไปค่อยหาอะไรยัดใส่ก็ได้เนอะ

เสียงฆ้องแว่วมาแต่ไกล

น่ายินดี น่ายินดี ตอนนี้ที่นี่ขึ้นปีใหม่แล้ว ดังนั้น จะสาบานอะไรเพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายของปีนี้ก็ได้เนอะ

“คุณทาจิบานะ มีเรื่องอยากขอร้องค่ะ”

“อะไรเหรอ”

“คราวหน้าช่วยแนะนำหนังสือเกี่ยวกับวากาชิที่ฉันพอจะอ่านได้ให้หน่อยได้ไหมคะ”

แน่นอนซี! คุณทาจิบานะพยักหน้ารับ ร้านแผงลอยขายซาลาเปาทางด้านหลังของเขาแลดูพร่าเลือนด้วยไอน้ำโชยกรุ่น

 

มีเพียงเรื่องหนึ่งที่ฉันรู้จากการพยายามจดจำขนมสำหรับช่วงปีใหม่

อุกุยซุมีอีกชื่อว่าฮารุสึเกะโดริ (นกแจ้งวสันต์)

ฉันเรียนหนังสือไม่เก่ง คงไม่มีใครมาแจ้งผล “ซากุระผลิบาน[28]” ให้ฉันหรอก แต่ถ้ามีขนมโปรดเป็นจุดริเริ่มก็อาจพอทำอะไรอย่างใครได้บ้าง

ขอให้ในสักวันหนึ่ง ฉันคนนี้ทำให้อะไรสักอย่างแบ่งบานขึ้นมาได้ด้วยเถิด

ฉันภาวนากับเจ้านกน้อยตัวกลม

 

*

 

ชมพู ฟ้า เขียว แดง เหลือง ผู้คนต่างถือพู่ผูกเชือกหลากสีมารวมตัวกัน ของประดับอะไรเหรอ ฉันนึกสงสัย คราวนี้ขบวนมังกรที่เคลื่อนจากไปเมื่อครู่กำลังแห่ย้อนกลับมาจากถนนฝั่งตรงข้าม

“ว่าแต่ พูดถึงเรื่อง ‘โอบอุ้ม’ แล้วก็นึกขึ้นได้ ขากลับเราไปแวะกินเครปที่คาเฟ่กันเนอะ”

ฉันมองมังกรเต้นระบำพลางพยักหน้ารับ เพราะกินแต่อาหารจีนสารพัดอย่าง ตอนนี้ชักเริ่มอยากกินของหวานแนวตะวันตกขึ้นมาแล้วสิ

“รสซอลเท็ตบัตเตอร์คาราเมล เพิ่มแอ๊ปเปิ้ลซินนาม่อนก็ท่าจะดี”

ฉันพึมพำ คุณทาจิบานะพยักหน้าเห็นด้วยอย่างแรง รสนิยมเรื่องรสชาติของสาวน้อยไม่มีพรมแดนใด ๆ ทั้งสิ้น

“เครื่องดื่มต้องเป็นเอิร์ลเกรย์เท่านั้น!”

“ถ้าไม่อย่างนั้นก็เอาเป็นวอลนัทครีมชีส ราดเมเปิ้ลไซรัป”

“งั้นต้องสั่งกาแฟ กาแฟดำเท่านั้น!”

มังกรเต้นระบำคดเคี้ยวเขยิบเข้ามาใกล้ ผู้คนถือพู่ตรงเข้าไปรายล้อมขนาบข้าง

“และ… ไม่ว่าจะสั่งรสไหนก็ขาดไอศกรีมไปไม่ได้”

“อ๊า รสนิยมอันจังจะดีเกินไปแล้วววว!”

ทันทีที่คุณทาจิบานะตั้งท่าจะกรีดร้องออกมา ดอกไม้ไฟก็ระเบิดตูมตรงหน้าพวกเรา

ตูม  ตูม  ตูม  ตูม  ตูม  ตูม!

“อะ อะไรน่ะ!”

ปัง ปัง ปัง! เสียงดังลั่นปานหูจะแตกแถมยังดีดดิ้นลามมาถึงบริเวณขา ประทัดนั่นเอง

“กรี๊ดดดด!”

คุณทาจิบานะอุดหู ทรุดลงไปนั่งยอง ๆ ขณะที่ฉันยืนเฉย ท่ามกลางควันขาวคละคลุ้ง ในมือข้างหนึ่งของฉันที่ยืนจังก้าคือนกน้อยน้ำตาลปั้น ส่วนมืออีกข้างที่ว่างวางลงบนศีรษะของคุณทาจิบานะอย่างอ่อนโยน

“ไม่เป็นไรนะคะ ประทัดน่ะ”

“สะ เสื้อผ้าไหม้รึเปล่าเนี่ย!”

“ไม่ไหม้ค่ะ”

“เยื่อแก้วหูแตกรึเปล่า!”

“ถ้าแตกก็พูดคุยกันแบบนี้ไม่ได้หรอกค่ะ”

ฉันลูบบริเวณที่หากเป็นในยามปกติคงไม่มีทางเอื้อมถึงนี้ไปมา พลางหัวเราะคิกคัก

“อันจัง ยังมีชีวิตอยู่รึเปล่า!”

ค่า ค่า ฉันยังมีชีวิตอยู่น่า

 

เทศกาลของผู้หญิง

 

 

สงครามกำลังเกิดขึ้นตรงหน้า

ณ ชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้า ต้นเดือนกุมภาพันธ์

“มีแต่… ผู้หญิงเนอะ”

ก็เป็นธรรมดาหรอก คุณซากุระอิเพื่อนร่วมงานของฉันพึมพำขณะยืนอยู่ข้างเคาน์เตอร์

“นั่นสินะคะ”

ฉันพยักหน้า เหม่อมองอย่างสุดชิลล์ไปยังความโกลาหลทางฝั่งร้านขายขนมตะวันตก มีทางเดินขวางกั้นไว้แบบนี้ก็เหมือนไฟไหม้ที่อีกโพ้นทะเล[29]ดี ๆ นี่เอง ทางฝั่งโน้นดูท่าจะลำบากลำบนเอาการ ขณะที่ร้านวากาชิในช่วงนี้เรียกได้ว่าเรื่อยเฉื่อยอย่างแท้จริง

แน่นอนว่าทางร้านเราก็เตรียมสินค้าสำหรับโอกาสที่ว่าไว้ด้วยเช่นกัน หนึ่งในขนมโจนามะกาชิประจำเดือนกุมภาพันธ์มีโยคังซึ่งประดับไปด้วยโซโบโระ[30]สีชมพูกับริบบิน อีกทั้งยังมีคาวาระเซมเบที่ทำเป็นรูปร่างเหมาะกับโอกาสดังกล่าวด้วย

แต่พูดตรง ๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าก็เป็นแค่การสร้างบรรยากาศแบบ “เตรียมไว้พอเป็นพิธีน่ะค่ะ” เพราะในเวลาแบบนี้ แม้แต่ในหมู่ขนมตะวันตกเองที่ถือเป็นตัวชูโรงหลักก็มีแต่ “สิ่งนั้น” เท่านั้น

เดิมทีชั้นใต้ดินของสรรพสินค้าก็ถือเป็นสถานที่ที่พวกผู้หญิงมารวมตัวกันอยู่แล้ว ยิ่งเป็นช่วงนี้ ร้อยทั้งร้อยล้วนเป็นลูกค้าผู้หญิง หากไม่นับผู้สูงอายุกับเด็กแล้วตรงหน้าของฉันก็คือผู้หญิงทุกช่วงวัยผสมปนเปกันยุ่บยั่บไปหมด

“แทบไม่คิดเลยว่าเป็นช่วงกลางวันของวันธรรมดา”

“เดี๋ยวตกเย็นจะมีพวกที่กลับจากทำงานเข้ามาเพิ่มด้วยนะ สภาพจะยิ่งกว่านี้อีก”

พนักงานประจำร้านถือป้ายพลาสติกบอกตำแหน่งหางแถว พนักงานประจำห้างถือโทรโข่งคอยตะโกนไปทางบริเวณสำหรับจัดกิจกรรม พวกผู้หญิงที่หอบหิ้วถุงกระดาษเต็มสองมือมุ่งหน้าสู่ร้านถัดไป ทุกคนเหงื่อท่วมกาย ทำสีหน้าจริงจังเหลือแสน

เห็นแล้วพวกผู้ชายคงต้องรู้สึกสยองแน่ ข่าวทางโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตคงนำเสนอเรื่องนี้กันสนุก แต่ฉันเห็นแล้วกลับรู้สึกสาแก่ใจอย่างไรไม่รู้

“ซื้อได้สะใจดีนะคะ”

“ฮ่า ๆ ไม่ว่าจะคิดยังไงก็ไม่เหมือนซื้อตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงเลยเนอะ”

คุณซากุระอิยืนอยู่ด้านในเคาน์เตอร์หยิบปึกกระดาษห่อขึ้นมาทั้งปึก หากพับกระดาษห่อเหล่านี้ไว้ให้เป็นรอยบาง ๆ ตามขนาดกล่องเตรียมไว้ในเวลาว่างก็จะช่วยให้สบายในภายหลัง

“คงสนใจช็อกโกแลตกันไปอีกพักหนึ่งเลยนะคะ”

ฉันว่าแล้วออกแรงกรีดนิ้วกดรีดไปตามกระดาษห่อที่พับซ้อนกันหลายชั้น

“ฟังแล้วเลือดกำเดาจะไหล แต่ฉันเองก็ชอบนะ พอถึงเทศกาลนี้ทีไรก็อดซื้อไม่ได้”

“ฉันก็เหมือนกันค่ะ”

คุณซากุระอิกับฉันสบตากันแล้วหัวเราะคิกคัก มีแค่ฉันรึเปล่านะที่ระยะนี้รู้สึกสบายใจกับเทศกาลวาเลนไทน์ขึ้นมากทีเดียว

 

“นั่นคงเป็นเพราะเลิกกำหนดแล้วน่ะสิว่า ผู้บริโภคปลายทางต้องเป็นผู้ชาย”

ผู้จัดการสึบากิพูดขณะตรวจเช็กเครื่องคิดเงินรอบครึ่งวันเช้า หลังเพิ่งหมดเวลาพัก

“ผู้บริโภคปลายทางเหรอคะ”

ฉันถามกลับเพราะไม่รู้ความหมาย ผู้จัดการจึงชี้ใบเสร็จ

“คนที่มาซื้อขนมของร้านนี้คือผู้บริโภคหรือก็คือผู้ซื้อ ส่วนผู้บริโภคปลายทาง พูดง่าย ๆ ก็คือคนที่กินขนมนั่นเอง”

“อ๋อ คือผู้หญิงซื้อให้ผู้ชายกินสินะคะ”

“ใช่แล้ว ประเด็นสำคัญคือผู้บริโภคปลายทางไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนซื้อเสมอไป”

ฉันพยักหน้าเข้าอกเข้าใจในความหมาย อย่างนี้นี่เอง คนซื้อที่ไม่ใช่คนใช้ อาจมีเยอะผิดคาดนะ เพราะอย่างเด็ก ๆ ก็ไม่ได้ซื้อเสื้อผ้าด้วยตัวเองเสียหน่อย

“แต่แบบนั้นจะดีเหรอคะ ในแง่ของความเป็นวาเลนไทน์ ยังไงก็ถือว่ามีการกำหนดเหตุผลในการซื้อไว้แล้ว”

ฉันพึมพำอู้อี้ในลำคอ ผู้จัดการสึบากิได้ยินแล้วแย้มยิ้ม

“เพราะในที่สุดผู้ขายก็รับรู้เสียทีว่า ‘เหตุผลที่กำหนด’ แท้จริงแล้วมีความหมายอย่างไรน่ะสิ คนที่อยากให้ช็อกโกแลตจริง ๆ แล้วคือใคร คนอยากกินคือใคร หรือคนที่ดีใจเมื่อได้รับคือใครกันล่ะ”

เมื่อโดนถามแบบนั้นแล้ว คำตอบก็มีเพียงหนึ่ง

“—ผู้หญิง… เหรอคะ”

“ใช่เลย คิดว่าผู้ชายที่ชอบช็อกโกแลตอยู่หรอกนะ แต่ฉันรู้สึกว่าสำหรับพวกเขาแล้วคงไม่จำเป็นต้องขายความน่ารักของแพ็คเกจหรือดีไซน์ที่ประณีตเท่าไรหรอก”

ก็จริงอยู่ ถ้าแค่ชอบช็อกโกแลตก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับช่วงเทศกาล แน่นอนว่ากลุ่มลูกค้าที่อ่อนไหวกับงานอีเวนต์หรือกิจกรรมที่เน้นความพิถีพิถันต้องเป็นผู้หญิงนั่นเอง

“อย่างคำว่า ‘ช็อกโกแลตสำหรับเพื่อน’ ฉันว่า ก็เป็นตัวช่วยหนุนอยู่เหมือนกันนะ”

“ฉันเองก็ทำมาตลอด แต่พอมีชื่อเรียกแล้วรู้สึกว่าให้กันได้ง่ายขึ้นนะคะ”

“คิดว่า คำอย่าง ‘ช็อกโกแลตสำหรับเพื่อน’ หรือ ‘ให้ช็อกโกแลตเป็นรางวัล’ ช่วยให้ยอมรับความรู้สึกอยากซื้อแต่ไม่กล้าได้ง่ายขึ้นน่ะสิ”

อย่างนี้นี่เอง ยอมรับความรู้สึกสินะ อาจเป็นแบบนั้นก็ได้ เพราะทำให้รู้สึกถึงบรรยากาศว่า “ไม่ต้องให้ผู้ชายก็ได้นี่นา จะให้ผู้หญิงด้วยกันเองก็ไม่เห็นเป็นไรเลย~” แบบสุด ๆ เลยนี่นา

และความจริงแล้วไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้หญิงด้วยกันหรอก

เมื่อถึงเวลาพัก ฉันเข้ามาในห้องพักด้านหลัง ครั้นมองเห็นกล่องที่เขียนว่า ช็อกโกแลตแจกเพื่อน สำหรับทุกคนเลย แล้วก็ต้องถอนใจ

ไม่เกี่ยวกับเพศตรงไหนเลย

แต่ก็นะ ฉันว่ามันวิเศษมากเลยละ

 

คืนนั้น พวกเราทุกคนจำต้องเข้ากะบ่าย เพราะถูกยืมตัวให้ไปช่วยเก็บกวาดลานจัดกิจกรรมนั่นเอง

“ขอโทษทีนะ ถึงขั้นต้องให้พนักงานร้านวากาชิมาช่วยด้วยอย่างนี้”

พนักงานประจำห้างที่รับผิดชอบจัดอีเวนต์กำลังเก็บแผ่นป้ายเขียนว่า ช็อกโกแฟร์

“ไม่เป็นไรค่ะ เพราะเดี๋ยวตอนต้นฤดูใบไม้ผลิทางเราก็ต้องขอให้พวกคุณช่วยเช่นกัน”

ผู้จัดการสึบากิแกะโบที่พันอยู่รอบเสา ส่วนฉันซึ่งอยู่ข้าง ๆ กำลังพยายามยัดแผ่นโฟมรูปหัวใจลงถังขยะ แต่ด้วยความที่มีขนาดใหญ่เกินจึงยัดไม่ลงเสียที

“อันนั้นไม่ต้องนำกลับมาใช้ใหม่แล้ว จะหักเลยก็ได้นะ”

พนักงานประจำห้างบอก ฉันลังเลอยู่ชั่วขณะ เอ่อ ก็มันเป็นรูปหัวใจนี่นา

“ทำอะไรอยู่”

คุณคุซุดะประจำแผนกสุราซึ่งเปรียบเสมือนสารานุกรมมีชีวิตประจำชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้านั่นเอง เธอตรงรี่เข้ามาหา หยิบโฟมรูปหัวใจไปจากมือของฉัน

“ทำแบบนี้ นี่”

แล้วหักกร๊อบเป็นสองท่อน

“นี่ไง รีบทำเร็วเข้า”

ฉันจึงออกแรงหักโฟมตามที่เธอบอก กร๊อบ แม้จะรู้สึกหดหู่เล็ก ๆ ในตอนแรก แต่พอหักไปหลายแผ่นเข้าก็เริ่มรู้สึกสะใจ กร๊อบ กร๊อบ กร๊อบ หักโฟมนี่รู้สึกดีชะมัด กรุบกรับ เอี๊ยดอ๊าด กร๊อบ ๆ

“เหนื่อยหน่อยนะวันนี้”

“เอ๊ะ ? อ้อ ค่า!”

ตอนผู้จัดการสึบากิตบไหล่ของฉัน ถุงขยะก็แน่นเอี้ยดแล้ว เป็นความรู้สึกเหนื่อยและเสียเหงื่อแต่ชวนให้รู้สึกดี แต่นั่นก็ถือเป็นอีกเรื่อง

เมื่อคิดถึงวาเลนไทน์ในฐานะเด็กสาวเนี่ย ฉันที่เป็นแบบนี้จะดีเรอะ

 

*

 

อีเวนต์ใหญ่สำหรับชั้นใต้ดินห้างสรรพสินค้าจบลงแล้ว ฉันจึงได้หยุดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวบ้างเสียที

ถ้าเป็นปกติฉันคงต้องคิดว่า “จะทำอะไรดีน้อ” และสุดท้ายก็จบลงโดยการทำตัวเรื่อยเฉื่อยไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ครั้งนี้ต่างออกไป เพราะฉันมีกำหนดการว่าจะไปเที่ยวนี่นา

“ฤดูร้อนมีโอชูเก็น[31] ฤดูหนาวมีคริสต์มาสกับโอเซโบะ[32] พอขึ้นปีใหม่ก็มีงานลดราคาขนานใหญ่ แล้วเมื่อไรเธอจะได้หยุดพักเป็นเรื่องเป็นราวกับเขาเสียทีล่ะ!”

ฉันโดนว่าแบบนั้นมาตลอดเกือบเก้าเดือน ในที่สุดก็มีหน้าไปเจอเพื่อนเสียที

พูดตรง ๆ ถ้าฉันอยากหยุดก็หยุดได้ ถ้ายื่นขอล่วงหน้าก็ปรับตารางงานได้ อีกทั้งผู้จัดการสึบากิก็ยังถามฉันตั้งหลายต่อหลายครั้งว่า “ไม่หยุดเลยจะดีเหรอ”

ฉันไม่ใช่คนจริงจังอะไรหรอก อู้งานได้ก็คิดว่าสบายดี แถมบางทีก็ไม่อยากตื่นเช้า แต่ฉันก็ไม่ยอมหยุดงาน ไม่ยอมจะหาวันหยุดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเสียที

นั่นคงเป็นเพราะฉันฝืนทำเป็นเข้มแข็งละมั้ง

เพราะตัวฉันเองไม่อยากคิด และไม่อยากให้คนอื่นคิดด้วยว่า “เพราะเป็นงานพาร์ตไทม์ ฉะนั้นจะหยุดเมื่อไรก็ได้”

และที่ไม่ชอบใจที่สุดก็คือการคุยกับคุณป้าละแวกบ้าน เดินผ่านทีไรก็มักโดนร้องทักว่า “อ้าวเคียวโกะจัง ช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง” พอตอบไปว่า “ค่ะ ช่วงโอเซโบะยุ่งมากเลยค่ะ” ก็โดนสวนกลับมาว่า

“แต่ยังไงก็เป็นแค่พาร์ตไทม์ใช่ไหมล่ะ”

ยังไงก็เป็นแค่พาร์ตไทม์

รู้น่า คุณป้าคนนั้นเปิดร้านขายของนี่นา หรือก็คือเธอเป็นผู้รับผิดชอบร้านนั่นแหละ ดังนั้นคุณป้าเลยพูดในฐานะเจ้าของร้าน ฉันรู้ดีน่า

แต่ยังไงก็เป็นแค่พาร์ตไทม์

เป็นแค่พาร์ตไทม์

ตอนเริ่มทำงานใหม่ ๆ ฉันไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้นัก แต่พอฉันชอบร้านมิตสึยะกับวากาชิเข้าแล้วก็เริ่มรู้สึกไม่ชอบใจ และตอนนี้ก็พยายามขีดเส้นกั้นเพื่อไม่ให้ต้องเผชิญกับบทสนทนาพวกนั้นอีก

“ช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง”

“ค่ะ สนุกดีค่า~”

“ยุ่งไหม”

“ก็ ช่วงที่ทางห้างยุ่ง ๆ ก็ยุ่งแหละค่ะ~”

เป็นต้น

ฉันเกิดและโตในย่านร้านค้าย่อมมีทักษะไหลลื่นเอาตัวรอดอยู่แล้ว แต่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าฉันจะอ่อนไหวกับคำพูดแบบนี้ เพราะหากเป็นฉันเมื่อก่อนคงตอบไปหน้าตาเฉยแน่ ๆ ว่า “ใช่ค่ะ เพราะเป็นพาร์ตไทม์เลยชิลล์มาก~”

คำพูดที่คนเราใส่ใจจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เช่นเมื่อครั้งยังเด็กจะไม่ชอบคำพูดว่าร้ายที่เข้าใจได้ง่าย ๆ พอขึ้นชั้นมัธยมต้นจะไม่ชอบโดนว่าเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเพศ และนั่นอาจสะท้อนถึงสิ่งที่กำลังพะวงที่สุดขณะนั้นก็เป็นได้

(ถ้าอย่างนั้น แปลว่าสิ่งที่ฉันแคร์ที่สุดในตอนนี้ก็คือตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในร้านมิตสึยะใช่ไหม)

ตอนที่สะกิดใจถึงเรื่องนั้น จู่ ๆ ฉันก็นึกสงสัยขึ้นมา หรือว่าฉันอยากเป็นพนักงานประจำ

ทำงานแล้วได้เงิน ถ้าแค่นั้นละก็ จะเป็นพนักงานประจำหรือพาร์ตไทม์ก็ไม่ต่างกัน อย่างนั้นก็เหมือนกันนี่

แต่มาระยะนี้ฉันกลับคิดขึ้นมาว่ามันคงไม่ใช่แค่นั้นแล้ว แต่ฉันก็ไม่รู้อยู่ดีว่าควรทำอะไร จะบอกว่าเพราะทุกคนหางานประจำทำเลยต้องหาบ้างก็ฟังดูแปลก ๆ เพียงแค่รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนอะไรสักอย่าง

ดังนั้น ฉันจึงเลือกที่จะออกเดินทางไงล่ะ

 

*

 

มีหลายเหตุผลที่ทำให้ฉันเลือกเกียวโตเป็นจุดหมาย

อันดับแรกคือ ไม่มีเงินกับความใจกล้ามากพอจะไปเที่ยวต่างประเทศ (เห็นว่าคนที่ชอบไปต่างประเทศ มีแค่สองหมื่นเยนก็ไปเกาหลีได้แล้วใช่ไหมนะ) ฉันจึงเลือกท่องเที่ยวในประเทศแทน ประจวบเหมาะกับเพื่อนคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “ผู้หญิงไปเที่ยวกันก็ต้องเลือกไปเกียวโตสิ” ตบท้ายด้วยเหตุผลว่า เมื่อเช็กดูแล้ว ทัวร์ไปเกียวโตมีราคาถูกตอนเดือนกุมภาพันธ์ซึ่ง (เห็นว่า) เป็นช่วงที่เกียวโตหนาวที่สุดน่ะสิ

และสิ่งที่เป็นตัวชี้ขาดก็คือคำพูดประโยคเดียว

“ถ้าเป็นเกียวโตจะมีวากาชิอร่อย ๆ ให้กินเพียบเลย!”

เนอะ ๆ ๆ ทุกคนเออออกันอย่างครึกครื้น จากนั้นจึงถือใบปลิวไปหาบริษัททัวร์ที่อยู่ใกล้ ๆ แล้วซื้อทัวร์แบบอิสระที่เสียเพียงค่าที่พักและค่าเดินทาง ก่อนเคลื่อนพลขึ้นรถไฟชินคังเซ็นไปด้วยใจตื่นเต้น

ใช่แล้ว พวกเราตื่นเต้นกันจริง ๆ นะ

ไปเที่ยวกันตามประสาเพื่อนสาวสามคน บนรถไฟชินคังเซ็นเราสามคนคุยกันว่า ดีแล้วที่ได้นั่งติดกันพลางกินเบนโตะกันงั่ม ๆ ตามด้วยเคี้ยวขนมหงุบหงับโดยไม่หยุดเมาท์มอยกันเลย

ก็พวกเราเพิ่งเคยมาเที่ยวกันเองแบบนี้เป็นครั้งแรกนี่นา และเป็นครั้งแรกที่จะได้ไปเกียวโต เพราะตอนโรงเรียนพาไปเที่ยว ที่หมายคือนิกโกอันจืดชืด พวกฉันจึงหลงใหลใฝ่ฝันถึงคำว่า “คาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่นอันอบอุ่น” และ “คุณไมโกะ[33]ผู้แช่มช้อย” เป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้เอง จะว่ายังไงดีล่ะ คล้ายกับว่าความหลงใหลนั้นมากเกินไปนิด

“—เกียวโตเนี่ยเป็นเมืองใหญ่เหมือนกันเนอะ”

สิ่งที่รู้สึกเป็นอันดับแรกหลังเดินออกจากช่องตรวจตั๋วของสถานีคือ ความเป็น  “แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก” อย่างเต็มเปี่ยม มีชาวต่างชาติอยู่ทั่วไปหมด เพื่อนสนิทที่หูรับภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้จึงเกาะฉันหนึบไม่ยอมปล่อย

“ถ้าโดนทักจะทำยังไงดี!”

ก็ไม่ต้องทำยังไงหรอก ดูสิ มีคนอื่นนอกจากพวกเราอยู่ตั้งเยอะ ฉันตอบพลางกวาดตามองรอบด้าน เอ๊ะ ? นี่มันยังไงกัน รู้สึกคุ้นเคยมากเลย

มีแต่ผู้หญิงเต็มไปหมด

มีทั้งวัยเดียวกับพวกเรา สูงวัยกว่าที่ดูแล้วน่าจะเป็นวัยทำงาน วัยประมาณคุณแม่ ไปจนถึงผู้สูงวัย และส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงหมดเลย แถมยังมาเป็นกลุ่ม จริง ๆ ก็รู้สึกตั้งแต่ตอนอยู่ในรถไฟชินคังเซ็นแล้วละ แต่ยิ่งรู้สึกมากขึ้นเพิ่มเป็นเท่าทวีเมื่อมาถึงที่

ร้านขายของที่ระลึกในสถานีก็เต็มไปด้วยผู้หญิงที่ต้องการช็อปปิ้งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนขึ้นรถไฟชินคังเซ็นกลับ ต่างส่งเสียงเฮฮาเริงร่าซุบซิบเซ็งแซ่ ต่อแถวยาวทั้งที่หิ้วถุงกระดาษอยู่แล้วเต็มมือทั้งสองข้าง

เหมือนภาพที่เห็นในชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าเลย

(การมาเที่ยวอาจไม่ค่อยมีความหมายก็ได้…)

ฉันแอบผิดหวังเล็กน้อย แต่แล้วก็รีบปรับอารมณ์ก่อนออกไปท่องเที่ยว อันดับแรกคือเข้าไปเดินเตร่ดูเสื้อผ้าและของจิปาถะซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ในร้านรวงต่าง ๆ ตามคำขอของเพื่อน ๆ แต่แล้วพวกฉันกลับโดนเล่นงานเสียน่วม

คือจะว่ายังไงดี มันดูดีมีสไตล์มากเลย ที่สำคัญคือเมื่อเทียบกับบรรยากาศแบบ “หรูหรานะค้า— ดูดีมีสไตล์มากเลยน้า—” ของโตเกียวแล้ว ที่นี่จะชวนให้รู้สึกเหมือนโดนบอกว่า “คนที่ไม่เข้าใจก็ไม่ต้องมานะคะ โน่นค่ะ เชิญทางโน้น” นั่นต่างหากที่เห็นแล้วเข้าใจได้ง่ายว่าที่นี่เป็น “แหล่งท่องเที่ยว”

“นี่ กระเป๋าใบเล็กนี่น่ารักมากเลย!”

สินค้าที่เพื่อนผู้ชอบเสื้อผ้าสไตล์ตะวันตกฉวยขึ้นมามีเลขศูนย์มากกว่าที่ควรหนึ่งหลัก ซ้ำร้ายยังรูดบัตรไม่ได้อีก

(คำว่าขี้แกล้งนี่ควรใช้ในกรณีแบบนี้ใช่ไหม)

คงไม่ใช่หรอก แม้จะเสียขวัญกันเล็กน้อย แต่พวกฉันก็มุ่งหน้าสู่ร้านขายวากาชิเป็นลำดับถัดไปตามคำร้องขอของฉัน

“ให้โทร.ไปจอง ‘ขนมประจำวัน’ และเข้าไปรับภายในช่วงเช้านะ”

ร้านแนะนำของคุณทาจิบานะอยู่ลึกเข้าไปด้านในของตรอกแคบ เปิดร้านอยู่ในหลืบมุม

“ที่นี่เนี่ย ถ้าไม่รู้มาก่อนคงไม่คิดว่าเป็นร้านนะ”

ฉันพยักหน้าเห็นด้วยกับสิ่งที่เพื่อนพูด  เมื่อเข้าไปในร้านก็เห็นเพียงเคาน์เตอร์ไม้ตั้งอยู่ ไม่มีตัวอย่างขนมหรือกระทั่งเมนูบอกชื่อขนมใด ๆ

“เอ่อ ฉันชื่ออุเมโมโตะ ที่โทร.มาจองขนมไว้น่ะค่ะ”

ฉันแจ้งชื่อตัวเองไปอย่างกล้า ๆ กลัว ๆ ชายสูงอายุคนหนึ่งถือกล่องออกมาจากด้านใน จากนั้นจึงบอกว่า

“มิทราบว่ารู้จักร้านของเราได้ยังไงครับ”

“เอ๊ะ ?”

“คือพอดีว่าร้านเราไม่เคยลงแนะนำในหนังสือนำเที่ยวหรือเว็บไซต์เลย โดยทั่วไปแล้วลูกค้าส่วนใหญ่จะรู้จักเพราะคนแถวนี้แนะนำต่อกันไปน่ะครับ”

สัมผัสไม่ได้ถึงเจตนาร้าย แต่จะว่ายังไงดีล่ะ ทำให้รู้สึก “หูยยยย” ขึ้นมายังไงก็ไม่รู้ ดูหน้าเพื่อนที่รออยู่ข้าง ๆ ก็รู้ว่าคงคิดไม่ต่างกัน

“คือ พอดีมีคนที่ชอบวากาชิมาก ๆ แนะนำมาน่ะค่ะ”

ตอบแบบนี้โอเคไหมนะ จะไม่โดนขำรึเปล่า ฉันคิดอย่างประหม่า ตอนนั้นเองพนักงานประจำร้านก็เปิดกล่องออกอย่างแผ่วเบา เผยให้เห็นโจนามะกาชิหลากสีเรียงรายอยู่ภายใน

“ว้าว สวยจังเลย”

พอได้ยินฉันหลุดอุทาน ชายคนนั้นก็ยิ้มน้อย ๆ

“นี่คือ ‘อาโกยะ (หอยมุก)’ ‘โยโมงิโมจิ’ และ ‘ฮิอินะ’ ครับ”

“อ๊ะ เป็นขนมรับเทศกาลฮินะมัตสึริ[34]สินะคะ”

“ครับ ขอประทานโทษนะครับ มิทราบว่าคุณลูกค้ามาจากที่ไหนครับ”

อะไรของเขา หรือว่าถ้าไม่ใช่คนแถวนี้จะไม่มีสิทธ์ซื้อขนมกลับ แต่จะโกหกก็ไม่ดี ฉันคิดแล้วตอบไปตามตรงว่า “มาจากโตเกียวค่ะ”

“ถ้าอย่างนั้นผมขออนุญาตอธิบายนะครับ ขนม ‘อาโกยะ’ นี่ส่วนใหญ่แล้วจะพบในแถบคันไซหรือเกียวโตกับละแวกใกล้เคียงเท่านั้น”

อ้อ ถามเพราะเหตุนี้เอง ฉันแอบโล่งใจ พยักหน้ารับคำอธิบาย

“หรือเรียกอีกชื่อว่า ‘ฮิจิกิริโมจิ (โมจิฉีก)’ ว่ากันว่า สมัยก่อนในวังยุ่งกันมาก จึงนำโมจิซึ่งความจริงแล้วใช้สำหรับทำดังโงะมาฉีกแทนการปั้น และตรงส่วนที่ยืดเพราะการฉีกออกดูแล้วเหมือนบานพับของเปลือกหอย ยิ่งไปกว่านั้นยังดูคล้ายหอยมุกที่โอบอุ้มไข่มุกเอาไว้ จึงตั้งชื่อว่า ‘อาโกยะ’ น่ะครับ และคำว่า ‘อาโกะ’ ยังพ้องเสียงกับ ‘อาโกะ’ ที่แปลว่าลูกน้อยของฉัน สื่อถึงภาพลักษณ์ของสตรี ทำให้ ‘อาโกยะ’ ถูกใช้เป็นขนมสำหรับเทศกาลฮินะมัตสึริครับ”

อย่างนี้นี่เอง จริงดังที่บอก บริเวณที่จับที่ติดอยู่ตรงรูปวงรีนั้นชวนให้คิดถึงหอยจริง ๆ บนขนมรูปเปลือกหอยสีหญ้าอ่อนกับชมพูมีอันสีดำกับอันสีขาววางไว้ มีสองชิ้นคู่กันแบบนี้คงได้แรงบันดาลใจมาจากตุ๊กตาฮินะล่ะมั้ง

“ส่วน ‘โยโมงิโมจิ’ ก็ตามชื่อครับ คือเป็นโมจิใส่หญ้าโยโมงิ โดยมีโซโบโระหลากสีสันประดับไว้ด้านบนเพื่อจำลองภาพต้นหญ้าอ่อนในฤดูใบไม้ผลิ และ ‘ฮิอินะ’ ก็คือตุ๊กตาฮินะ ทำจากโคนาชิและใช้โยคังต่างชุดเสื้อคลุมครับ”

พอได้ยินคำว่าโคนาชิฉันก็นึกขึ้นมาว่า ใช่แล้ว ที่นี่คือเกียวโตจริง ๆ ด้วย

“อาโกยะ” กับ “ฮิอินะ” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากตุ๊กตาฮินะมีชุดละสองชิ้น และคงเพื่อให้ได้สมดุลของสองอย่างนี้ ‘โยโมงิโมจิ’ จึงมีสองชิ้นด้วย โดยแต่ละชิ้นก็มีโซโบโระต่างสีกัน โจนามะกาชิที่สุดแสนจะลงตัวเซ็ตนี้ก็คือ “ขนมประจำวัน” ของร้านนี้นี่เอง

อืม ดูน่าอร่อยมากเลย แต่ช้าก่อน มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งนะ

ระหว่างที่ชายคนนั้นกำลังห่อขนมให้ฉัน ฉันลอบกวาดตามองไปทั่วร้าน แต่ไม่เจอ

ไม่มีป้ายราคาอยู่ที่ไหนเลย

(คะ คุณทาจิบาน้า—!!)

ราคาตลาด คำน่าสะพรึงผุดวาบขึ้นในหัว แต่มีเรื่องแบบนี้ในร้านวากาชิด้วยเหรอ คือสำหรับกระเป๋าเงินของฉันแล้ว ถ้าราคาประมาณสักสองพันเยนได้จะดีมากเลย—

(ตะ แต่ ร้านมีระดับส่วนมากก็ชิ้นละสี่ร้อยเยนเข้าไปแล้ว ถ้าอย่างนั้นที่นี่ก็น่าจะแพงกว่านั้นอีกเล็กน้อย หรือว่า เป็น “ราคาตลาด” เลยแพงขึ้นไปกว่านั้นอีกกันล่ะ!)

คงไม่ถึงขั้นจ่ายไม่ไหว แต่ถ้าแพงถึงขนาดส่งผลกระทบต่อชีวิตหลังกลับจากเที่ยวล่ะจะทำยังไง ขณะที่ฉันกำลังกลุ้มอยู่นั่นเอง ชายพนักงานประจำร้านก็ยื่อห่อขนมมาให้โดยไม่ได้สนใจท่าทางของฉันเลย

“ขออภัยที่ให้รอนานครับ ขนมเช็ตนี้ราคาสองพันเยนพอดีครับ”

“เอ๊ะ ?”

ราคาถูกกว่าที่คิดจนตกใจ และฉันคงเผลอแสดงออกทางสีหน้า เขาจึงยิ้มน้อย ๆ

“ขนมที่ร้านเราขายในร้านก็มีแต่ ‘ขนมประจำวัน’ นี่เท่านั้น และราคาก็อยู่ที่เช็ตละสองพันตลอดน่ะครับ”

“อย่างนี้นี่เอง”

แต่ฉันก็โล่งใจได้เดี๋ยวเดียว หลังจากคิดเงินเสร็จ จู่ ๆ เขาก็บอกกับฉันว่า

“คิดว่าคุณคงทราบ ขนมนี่เรียกว่าโจนามะกาชิครับจึงเก็บไว้ได้ไม่นานนัก กรุณารับประทานภายในวันนี้ และถ้าเป็นไปได้ก็ช่วยรีบรับประทานด้วยนะครับ”

“ค่ะ แน่นอนค่ะ”

“ที่ทางร้านเราให้ลูกค้ามารับขนมในตอนเช้าเพราะขนมทำขึ้นเพื่อให้ใช้รับประทานในพิธีชงชาตอนบ่ายพอดี ดังนั้นหากไม่ถือเดินไปเดินมานานนัก จะอร่อยกว่านะครับ”

อ้อ ดังนั้นถึงได้จำกัดให้มารับในช่วงเช้าสินะ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ การขายขนมโดยคำนวณถึงเวลากินของลูกค้านี่เข้าใจคิดมากเลยนะ และที่สุดยอดไปกว่านั้นก็คือขายแบบนี้แต่ร้านก็อยู่ได้นี่แหละ

“และขนมทนความแห้งได้ไม่ดีนัก กรุณาอย่านำไปวางทิ้งไว้ในโรงแรมนะครับ”

“ค่ะ”

“แล้วก็ โซโบโระก็เสียรูปทรงได้ง่าย อย่าขยับขนมมากนักนะครับ”

“ค่ะ”

เขาคงคิดว่าฉันเป็นเด็กสาวที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับวากาชิเลยสินะ แต่ครั้นจะบอกไปว่า “ฉันเองก็ขายวากาชิเหมือนกันนะคะ” ก็กระไรอยู่ ก็ฉันน่ะไม่ใช่ทั้งพนักงานประจำหรือมืออาชีพด้านนี้เสียหน่อย

 

“คือ น่ากลัวยังไงไม่รู้เนอะ”

“ทั้งที่เราเป็นลูกค้าแท้ ๆ แต่ทำมาเป็นวางท่าใส่ ไม่ใจร้ายไปหน่อยเหรอ”

พอออกมานอกร้าน เพื่อนของฉันก็พากันบ่นพำด้วยความไม่พอใจ

“โทษที แต่ฉันการันตีเรื่องรสชาตินะ”

ไม่นึกว่าจะเป็นร้านที่มากพิธีรีตองขนาดนี้เลย ฉันกล่าว เพื่อน ๆ ถึงพอจะผ่อนคลายได้บ้าง

“เอาเถอะ ของแบบนี้ ไม่มาถึงที่ก็ไม่รู้หรอก”

“แต่มันเจ็บใจยังไงก็ไม่รู้ กินกันเลยไหม ตามที่ตาลุงนั่นบอก”

ความจริงแล้วถ้าได้กินคู่กับชาก็ดีหรอก แต่ช่วยไม่ได้เนอะ เราคุยกันพลางเดินออกมาที่ถนน ซื้อน้ำชาบรรจุขวดจากตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ จากนั้นจึงนั่งลงบนม้านั่งยาวซึ่งถูกจัดเตรียมไว้ให้นักท่องเที่ยวและเริ่มกินขนม

“อุ๊ย”

เพื่อนของฉันส่งเสียงด้วยความประหลาดใจ

“มันหนุบหนับดีจัง อร่อยเนอะ”

“อืม แต่ไม่เหมือนโมจินะ ไม่มีอะไรตกค้างในปาก คือลื่นคอ ทั้งที่เป็นอันโกะแท้ ๆ”

รสสัมผัสของโคนาชิคล้ายคลึงกับมุชิโยคัง[35] แบบนุ่ม ๆ และมี “ความเป็นอันโกะ” น้อยกว่าเนริคิริ และเพราะเหตุนี้เอง เมื่อเทียบกันแล้วถึงได้สดชื่นกว่าอันที่วางอยู่ด้านบน

“ถึงจะเจ็บใจก็เถอะ แต่อร่อยเนอะ”

“เนอะ”

เห็นเพื่อนทั้งสองหัวเราะได้ฉันก็พลอยดีใจไปด้วย

ถึงจะยุ่งยากในการซื้อไปหน่อย แต่ก็อร่อยจริง ๆ นั่นแหละ

“ร้านนั้นน่ะถ้าอยู่ใกล้ ๆ บ้านก็ดีหรอก”

พอพึมพำไปแบบนั้น เพื่อน ๆ ก็ดื่มชาพลางพูดเออออ

“ถ้าซื้อตอนบ่ายได้ด้วยก็ดีหรอก”

ตามด้วยอีกคนช่วยตบท้าย

“ถ้ามีรอยยิ้มแจกฟรีด้วยก็ดีหรอก”

เท่านั้นเองทุกคนก็หัวเราะครืน

 

*

 

ไม่รู้ว่าเกียวโตน่ากลัว หรือเป็นเพราะพวกฉันยังเด็ก แต่รู้สึกเหมือนได้รับแรงกดดันจากทางโน้นทีทางนี้ที เล่นเอาพวกเราชักเหนื่อยขึ้นมาตงิด ๆ

ตอนบ่ายพวกเราจึงเลือกตามรอยเส้นทางท่องเที่ยวสายหลักเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปดูบ้าง

“ถ้าพูดถึงเวลาเที่ยวกับโรงเรียนก็ต้องไปวัดคิโยมิซุเนอะ”

เราคุยกันขณะเดินขึ้นเนิน และแล้วก็ได้พบกับโลก “ตามสูตรแอนด์คลาสสิก” ซึ่งรอคอยอยู่ ร้านขายของที่ระลึกมีกระจกหรือกล่องใส่ของจิปาถะขนาดเล็กกรุกระดาษจิโยกามิ[36]วางขาย กล่องใส่ยัตสึฮาชิ[37]หรือโอทาเบะ[38]สำหรับชิมวางเรียงรายปะปนกับพัดญี่ปุ่นและปิ่นปักผมที่ดูไม่ค่อยมีระดับ พวงกุญแจมาสคอตชื่อดังประจำท้องถิ่นห้อยแกว่งไกวเป็นทิวแถว

“นี่มัน…อาซากุสะ[39]ชัด ๆ”

“นั่นสิเนอะ อารมณ์แบบเวลคัมทูเจแปนอะไรแบบนี้”

“ดาบไม้กับปิ่นปักผมดูจะเป็นของฝากสากลนะ”

แม้จะยิ้มเจื่อนแต่พวกเราก็รู้สึกผ่อนคลาย

“นี่ สาว ๆ ตรงนั้นน่ะ มาชิมนี่สิ มาเร้ว!”

คุณป้าประจำร้านของฝากเป็นมิตรจนน่าอุ่นใจ อา แหล่งท่องเที่ยวนี่ดีจริง ๆ

แต่ที่น่าพิศวงก็คือ ทำไมมาแถวนี้แล้วถึงได้เห็นคำว่า “พาเฟ่ต์” แวบเข้ามาในสายตาเยอะจัง

(เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเหรอ)

ฉันสงสัย แต่หลังออกจากวัดแล้วเดินเข้ามาในย่านร้านค้าก็ยังเห็นอยู่ดี

ตอนแรกฉันเคยคิดว่าเกียวโตคือ “เมืองแห่งวากาชิ” เพราะในประวัติศาสตร์ก็ว่าไว้แบบนั้นนี่นา หรือต่อให้เป็นในปัจจุบันก็ยังพูดกันเลยว่า “พูดถึงวากาชิต้องนึกถึงเกียวโต” ที่สำคัญคือมีร้านวากาชิอย่างร้านเมื่อเช้าอยู่ด้วย

ทั้งอย่างนั้นแท้ ๆ ตั้งแต่เมื่อครู่แล้วนะ กลับมีแต่ป้ายเขียนว่า พาเฟ่ต์ โผล่มาให้เห็นเต็มไปหมด

(จะว่าไป คาเฟ่ในสถานีก็มีเหมือนกัน)

แน่นอนว่าร้านวากาชิก็มีให้เห็นสะดุดตา หรือคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่น ตลอดจนร้านของหวาน ร้านขายของที่ระลึก มีร้านมากมายในเมืองที่ขายของหวานสไตล์ญี่ปุ่น แต่ทำไมตามร้านเหล่านั้นส่วนใหญ่ถึงมีตัวหนังสือคำว่า “พาเฟ่ต์” โดดเด่นอยู่ด้วยล่ะ

(ไม่ใช่วากาชิกับมัชฉะหรอกเหรอ)

ชุดขนมแบบที่ฉันคิดก็มีอยู่ในเมนู แต่ดูเหมือนไม่ใช่เมนูแนะนำ แค่มีไว้เป็นเมนูพื้นฐานเท่านั้น

พาเฟ่ต์สไตล์ญี่ปุ่น พาเฟ่ต์มัชฉะเกาลัด พาเฟ่ต์ถั่วแดงไดนากง (ถั่วแดงเม็ดใหญ่) พาเฟ่ต์ชิราทามะ (ก้อนแป้งข้าวเหนียว) พาเฟ่ต์โฮจิฉะ พาเฟ่ต์มัชฉะ พาเฟ่ต์คุโรมิตสึ (น้ำเชื่อมน้ำตาลแดง) พาเฟ่ต์คินาโกะ (ผงถั่ว) พาเฟ่ต์น้ำตาลวาซันบง (น้ำตาลอ้อยจากจังหวัดคากาวะกับโทคุชิมะ) พาเฟ่ต์นัตโตะ พาเฟ่ต์ยัตสึฮาชิ พาเฟ่ต์ยุบะ (ฟองเต้าหู้) เอาเป็นว่ามีสารพัดสารเพพาเฟ่ต์ที่ “สมเป็นเกียวโต สมเป็นญี่ปุ่น” อยู่อย่างครบครัน

ไม่ปฏิเสธหรอกนะ ก็การจับคู่พวกนั้นต้องอร่อยแน่อยู่แล้ว

(แต่นี่หน้าหนาวนะ!)

กลุ้มจัง ยังไงตอนนี้ก็ควรเป็นเวลาของเซ็ตมัชฉะหรืออามะสาเก (เหล้าหวาน) ไม่ใช่เหรอ แต่ไม่ไหวแล้ว ก็ดูสิ เล่นเขียนไว้ว่า “พาเฟ่ต์มัชฉะเกาลัด สามารถเลือกใส่ชิราทามะได้” ก็ต้องสั่งอยู่แล้วน่ะสิ

“รู้สึกเหมือนเป็นคนละโลกกับร้านวากาชิเมื่อเช้าเลยเนอะ”

“สร้างสรรค์ได้อิสระสุด ๆ”

พวกเราหัวเราะพลางหย่อนกายลงนั่ง เตรียมพร้อมสำหรับของหวานรอบสองของวัน

“อร่อย! …อร่อย แต่หนาวเนอะ”

ร่างกายที่เย็นเยียบอยู่แล้วจากการเดินทัวร์วัดยิ่งเย็นลงไปอีกด้วยไอศกรีม แต่ชิราทามะที่เพิ่งทำสด ๆ ร้อน ๆ ในร้านก็นุ่มหนึบดีเหลือเกิน เยลลี่มัชฉะก็เข้มข้นอร่อยลิ้น ดังนั้นฉันก็ไม่ได้นึกเสียใจอะไรหรอกนะ

และพอจบเรื่องนั้น

“ ‘พาเฟ่ต์แห่งความรัก’ คืออะไร…!”

ฉันเผลอร้องเสียงหลงเมื่อเห็นตัวหนังสือบนป้ายสีชมพู เพื่อนคนหนึ่งจึงบอกว่า “เมื่อกี้ฉันก็เห็นเมนูนี้ที่ร้านอื่นด้วย” เอ๊ะ ? อะไรเนี่ย กำลังฮิตเหรอ

“แต่ไม่รู้ว่ามีอะไรใส่อยู่บ้าง มาคนเดียวคงไม่กล้าสั่ง เนอะ”

เพื่อนอีกคนพูดบ้าง ฉันพยักหน้าเห็นด้วย

“มีเขียนว่า ‘เอ็นมุซุบิ(ผูกสัมพันธ์)’ ด้วยแน่ะ”

“เอ๊ะ เอ็นมุซุบิ ?”

“อ้อ—ก็ที่นี่มีพาวเวอร์สปอต[40]เยอะนี่เนอะ”

“พาวเวอร์สปอต…”

มาถึงตรงนี้ ฉันจึงเข้าใจได้เสียที ความผิดแผกที่ฉันรู้สึกได้คือเรื่องนี้นี่เอง

พาเฟ่ต์ เอ็นมุซุบิ พาวเวอร์สปอต ของจิปาถะสไตล์ญี่ปุ่นที่น่ารักกระจุ๋มกระจิ๋ม อาหารไคเซกิ [41]อาหารเมนูเต้าหู้ หรือวากาชิที่โผล่มาทีละเล็กละน้อย วัดหรือศาลเจ้าล้วนตั้งอยู่ในภูเขาเขียวขจี (แต่ใกล้ตัวเมือง) ที่นั่นมีเครื่องรางหรือเอมะ (แผ่นป้ายขอพร) น่ารัก ๆ ขาย และยังเช่าชุดกิโมโนใส่เดินในเมืองได้ แถมเดินแวะถามไถ่ราคาในร้านปิ่นปักผมได้ตามสบาย

ก็นะ

ฉันคิดว่าคงแทบไม่มีผู้หญิงคนไหนรังเกียจสิ่งเหล่านี้หรอก

หรือสรุปได้ว่า ที่นี่เป็นเมืองสำหรับผู้หญิงนั่นเอง

 

*

 

ฉันคิดว่า คำว่า “ให้โชค” พูดอีกอย่างก็คือ “พาวเวอร์สปอต” นั่นแหละ เซียมซีคือการทำนาย การเคารพสุสานก็คือประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ

“สรุปคือ มันก็แค่เปลี่ยนวิธีเรียกนั่นแหละ”

รู้ รู้น่า แต่ฉันไม่ค่อยถูกโฉลกกับอะไรแบบนี้ ไม่สิ ไม่ถูกโฉลกมาก ๆ เลยต่างหาก

หรือให้พูดยิ่งไปกว่านั้นคือ ไม่ค่อยถูกโฉลกกับอะไรที่ “ผู้หญิ้งผู้หญิง” คิดว่าการเดินดูของสนุกดี แต่พนักงานประจำร้านปรี่เข้ามาหาทีก็จะตื่นตระหนก อย่างครั้งนี้ ตอนพนักงานประจำร้านขายของเบ็ดเตล็ดริมถนนที่ทอดตัวสู่วัดทดลองปักปิ่นบนศีรษะให้และบอกว่า “ใช้ปักแบบนี้น่ารักดีนะคะ!” พูดตรง ๆ ว่าฉันลำบากใจมากเลย

“ไม่เห็นต้องกลัวเลย”

“ไม่ ๆ ๆ ๆ ก็มัน ว่ายังไงดี มันน่าอายออก—”

“ไม่เป็นไรน่าไม่เป็นไร ไม่มีลูกค้าคนอื่นอยู่ด้วยเสียหน่อย”

เพื่อนสองคนล้วนชินกับฉันแล้วจึงช่วยแก้สถานการณ์ให้ด้วยรอยยิ้ม

รู้ว่าไม่มีลูกค้าคนอื่น แต่ไม่ว่ายังไงก็อายอยู่ดี คนอ้วนอย่างฉันมายืนหน้ากระจกแล้วโพสท่า “อือฮึ” อะไรแบบนี้ ผ่านไปอีกร้อยปีก็ทำไม่เป็น

(–ฉันอาจไม่เหมาะกับเกียวโตก็ได้)

ไม่เหมาะกับบรรยากาศ “อบอุ่น” ของคาเฟ่ ที่สำคัญคือหุ่นแบบนี้ไม่ได้ดู “ชดช้อย” ถึงไปศาลเจ้าที่ขึ้นชื่อเรื่องผูกสัมพันธ์หรือความงามไปก็ไร้ความหมาย นอกจากนั้นถึงแม้ฉันจะชอบของจิปาถะสไตล์ญี่ปุ่น แต่พอฉันถือแล้วมันก็ดู “บ้าน ๆ” ขึ้นมาทันที

แล้วเอาจริง ๆ เดิมทีฉันก็ไม่ถูกโฉลกกับย่านที่ดูเก๋ไก๋มีสไตล์อยู่แล้ว ดังนั้นต่อให้เป็นโตเกียว หากไม่มีธุระจำเป็นจริง ๆ ฉันจะไม่ยอมโผล่ไปรบปงงิ มารุโนะอุจิ หรืออาโอยามะเด็ดขาด ฉันทนอยู่ในที่แบบนั้นไม่ไหวหรอก

(แต่ฉันคงหลงตัวเองเกินไป)

ฉันแอบหดหู่อยู่คนเดียวในมุมหนึ่งของร้านขายของเบ็ดเตล็ด ตอนนั้นเองรอบด้านก็พลันเกิดเสียงเซ็งแซ่ คุณป้ากลุ่มหนึ่งเดินเข้ามาในร้าน

“ต๊ายคุณขา ซื้ออันนี้ไปฝากลูกสาวไหม”

“ไม่เอา ไม่เอา ฉันซื้อไปเธอก็ไม่ยอมใส่หรอก มีแต่จะบอกว่า ‘รสนิยมล้าสมัย’ เสียเท่านั้น”

“ตายจริง เสียมารยาทจังน้อ ถ้าอย่างนั้น คุณไม่ลองใส่เองล่ะคะ”

“พูดอะไรของคุณฮึ ของแบบนี้มีไว้สำหรับสาว ๆ ต่างหาก— ว่าเข้าไปนั่น คุณว่าเหมาะไหม”

คุณป้าหัวเราะฮะ ๆ แล้วลองปักปิ่นลงบนศีรษะตัวเอง เห็นแล้วฉันก็รู้สึกโล่งใจขึ้นมาเยอะเลย นี่คงเป็นอิทธิพลของแหล่งท่องเที่ยวละมั้ง

“จะว่าไป เกียวโตมีกลุ่มคุณป้าคุณย่าคุณยายมาเที่ยวเยอะเนอะ”

ฉันพยักหน้าเห็นด้วยกับเพื่อน แม้จะรู้สึกถึงแรงกดดันอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าอย่างไรการเป็นเมืองที่ผู้หญิงทุกช่วงวัยชื่นชอบได้นี่ก็เจ๋งมากเลย

“ไม่ต้อง ‘อบอุ่น’ หรือ ‘ชดช้อย’ ก็สนุกได้เนอะ”

ฉันพึมพำ เพื่อนทั้งสองพยักหน้าหงึกหงัก

“อย่างตอนกินข้าวก็ไปหาอะไรถูก ๆ กินก็ได้”

“จะว่าไป ‘โอโช[42]’ กับ ‘เท็นกะอิบปิง[43]’ เป็นร้านของแถบนี้ใช่ไหม”

โห นึกว่าพูดถึงเกียวโตแล้วจะเน้นอาหารเบา ๆ เสียอีก แนวข้นคลั่กก็ชอบเหมือนกันสินะ

“ถ้าอย่างนั้น คืนนี้ก็กินราเม็งกับเกียวซ่า!”

พวกเราได้รับการปลดปล่อยจากคำสาป “อบอุ่นกับชดช้อย” เสียที จึงออกไปเดินในเมืองอีกรอบ ตอนนั้นนั่นแหละถึงได้มองเห็นอะไรมากมายที่ตอนแรกไม่ทันเห็นเพราะมัวแต่เคร่งเครียด

ของที่เป็นมรดกโลกอย่างวัดหรือพระพุทธรูปพวกนั้นยอดเยี่ยมมากจริง ๆ สวนที่มีตะไคร่ปกคลุม ทางเดินเล็ก ๆ ที่โรยด้วยกรวดขาว เห็นแล้วชวนให้จิตใจสงบ

“นี่ ที่แบบนี้เคยมีบุคคลในประวัติศาสตร์อยู่มาก่อนจริง ๆ ใช่ไหม”

เพื่อนคนหนึ่งพึมพำออกมาขณะพวกเรากำลังมองสวนกว้างขวางภายในวัดแห่งหนึ่ง

“สำหรับฉัน ส่วนใหญ่คนเหล่านั้นก็มีแต่ภาพลักษณ์ในจินตนาการเท่านั้น”

“เข้าใจเลย คือรู้สึกว่าเคยอยู่ที่นี่แล้วยังไงล่ะ ประมาณนั้นน่ะ”

ที่ผ่านมาฉันก็เคยไปตามสถานที่ในประวัติศาสตร์มาก่อน แต่เกียวโตมีที่แบบนั้นเยอะเหลือเกินเลยไม่ได้รู้สึกเหมือนว่าประวัติศาสตร์คงอยู่ ณ จุดเดียว

“ถ้าเป็นที่นี่ละก็ รู้สึกเหมือนทั้งหมดทั้งมวลคือประวัติศาสตร์เนอะ”

ประจวบกับเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวขาดสายพอดี ในห้องชมสวนแห่งนี้จึงมีแต่พวกเรา

“เคยอยู่มาก่อนสินะ ที่นี่น่ะ”

“อื้ม”

เมื่อมองจากห้องแบบญี่ปุ่นที่มืดสลัวนี้แล้วสวนนั้นแลดูเหมือนภาพวาด แถมยังมีสีขมุกขมัวเพราะท้องฟ้าครึ้มอีกต่างหาก เห็นแล้วชวนง่วงเหลือเกิน แต่เพราะที่นี่ไม่มีเครื่องทำความร้อน ปลายมือกับปลายเล็บจึงยิ่งเยียบเย็นลงเรื่อย ๆ จนสมองเริ่มกลับมาปลอดโปร่ง

“คนอื่น ๆ มองสวนนี้ด้วยความรู้สึกยังไงนะ”

พริบตาที่ได้ยินคำถามนั้นเสียงซ่าก็ดังขึ้น ทัศนียภาพด้านนอกพลันแปรเปลี่ยน ฝนตกนั่นเอง

หยาดฝนร่วงหล่นสู่สระน้ำ เสียงกระทบใบไม้ กลิ่นชื้น ๆ ปลายจมูกเย็นเจี๊ยบ

(ต้องเหมือนกันแน่เลย—)

ได้รับรู้ทัศนียภาพเดียวกันนี้กับบุคคลในประวัติศาสตร์ รู้สึกมหัศจรรย์ยังไงไม่รู้ แต่ฉันจดจำความรู้สึกเช่นนี้ได้ ใช่แล้ว จากวากาชิไงล่ะ

ปัจจุบันนี้ก็ยังสามารถหาขนมที่เคยปรากฏในเรื่อง ตำนานเก็นจิกินได้ นั่นคือการได้รับรู้รสชาติเดียวกันกับบุคคลในประวัติศาสตร์ ตอนที่ตระหนักได้ถึงเรื่องนี้ฉันจึงพอเข้าใจมนตร์เสน่ห์ของเกียวโตได้ในที่สุด เมืองนี้น่ะต้องเหมือนวากาชิแน่เลย

แค่ดูก็สนุกได้ กินแล้วก็อร่อย แต่หากรู้ความหมายจะยิ่งทวีความสนุกและเอร็ดอร่อยยิ่งขึ้น

ยิ่งรู้ยิ่งน่าสนใจ

เกียวโตคล้ายกับวากาชิในแง่นั้น

 

*

 

“อ้าว”

ขณะที่กำลังเดินจนเกือบครบรอบ ฉันหันขวับกลับไปเพราะรู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่าง ใกล้ทางออกมีตุ๊กตาฮินะสมัยเฮอัน[44]วางประดับไว้ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรหรอก ตุ๊กตาฮินะโบราณที่วางอยู่ท่ามกลางความมืดสลัว แม้ดูน่ากลัวไปสักนิดแต่ก็สวยดี

แต่… มันมีอะไรแปลก ๆ นะ ทั้งอย่างนั้นแท้ ๆ กลับไม่รู้ว่าแปลกตรงไหน

(ไม่ ๆ ๆ ๆ นี่ไม่ใช่หนังสยองขวัญนะ!)

ฉันเอียงคอครุ่นคิดขณะเดินผ่านเพื่อมุ่งหน้าไปสู่ที่หมายถัดไป

จากนั้นพวกฉันก็ได้เจอกับตุ๊กตาฮินะอีกครั้ง

ในอาคารซึ่งเคยเป็นคฤหาสน์ของชนชั้นสูงในอดีต มีตุ๊กตาฮินะหลากหลายประเภทจัดแสดงเอาไว้เพื่อแสดงให้เห็นถึงฤดูกาล

“ว้าว พอดูแบบนี้แล้ว เซ็ตตุ๊กตาฮินะนี่เหมือนบ้านตุ๊กตาเลยเนอะ”

เพื่อนของฉันทอดถอนใจขณะมองเข้าไปในตู้กระจก

“ฝีมือประณีตมาก ๆ เลย น่ารักจัง อยากเล่นตุ๊กตาแบบนี้อะ!”

“ว่าแต่พวกเด็ก ๆ ในตระกูลชนชั้นสูงเมื่อก่อนเคยได้เล่นตุ๊กตาแบบนี้จริง ๆ สินะ”

“โห น่าอิจฉามากเลยง่า~”

อืม ก็แอบอิจฉานิด ๆ แฮะ ถ้าได้นำถ้วยชามขนาดจิ๋วที่เคลือบรักเหมือนของจริงมาใส่ข้าวจริง ๆ และวางบนตั่งแบบมีขาคงสนุกดี ส่วนซุปก็ต้องเป็นโอซุยโมโน[45] ยิ่งใส่เทมาริบุ[46]ก้อนจิ๋วลงไปลอยด้วยแล้วคงน่ารักแบบสุด ๆ ไปเลยละ

“ของประกอบฉากก็เยอะดีเนอะ อย่างบ้านฉันน่ะ นอกจากตุ๊กตาก็มีแต่ต้นไม้กับรถเท่านั้น เห็นแล้วยิ่งอิจฉาไปกันใหญ่”

เพื่อนอีกคนก็เอาบ้าง “บ้านฉันน่ะมีแต่จักรพรรดิกับจักรพรรดินีเท่านั้นเอง” เธอพูดพลางทำแก้มป่อง

“แล้วบ้านเคียวโกะล่ะ”

ฉันเอียงคอครุ่นคิด ระยะหลังไม่ค่อยได้นำออกมาจัดวางเท่าไร ความทรงจำจึงค่อนข้างคลุมเครือ

“อืมมมม ของบ้านฉันเหรอ ถ้าจำไม่ผิดมีเยอะเหมือนกันนะ มีองค์รักษ์ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา นอกจากต้นไม้กับรถแล้ว รู้สึกว่ายังมีกระจกตั้งโต๊ะกับพวกตู้ลิ้นชักด้วยนะ”

สมัยเด็ก ๆ ฉันเคยสนุกสนานกับการเปิดลิ้นชักตู้นั้นแล้วใส่จดหมายลงไป พี่ชายของฉันเคยดึงคันธนูขององครักษ์ซ้ายขวาออกมาจนโดนดุด้วยละ

“โอ๊ะ บ้านของอุเมโมโตะเป็นชนชั้นสูงงั้นเหรอ”

“พูดอะไรของเธอ”

“ก็เอาตุ๊กตาฮินะมาเล่นพ่อแม่ลูกได้เนี่ยเซเล็บชัด ๆ เลยนะ”

“นั่นมันมาตรฐานของสมัยเฮอันต่างหากเล่า ตุ๊กตาฮินะบ้านฉันเป็นของโหลจ้ะ”

ขณะคุยกับเพื่อนฉันก็ยังพยายามมองหาความผิดแผก

ทำไมกันนะ ตุ๊กตาฮินะเมื่อกี้กับตุ๊กตาฮินะตรงนี้สวมกิโมโนไม่เหมือนกัน ของประดับก็มีจำนวนต่างกัน แต่กลับรู้สึกถึงความผิดแผกแบบเดียวกัน

(ฉันรู้สึกไปเองคนเดียวรึเปล่านะ)

สมมติว่าเป็นแค่ฉันคงสยองขวัญจริง ๆ นั่นแหละ ฉันคิดแล้วตั้งท่าจะลองถามเพื่อนดู แต่ตอนนั้นเอง

“อุ๊ย”

เพื่อนคนหนึ่งร้องออกมา

“ตุ๊กตาฮินะนี่กลับด้านแฮะ”

มองจากด้านหน้าจะเห็นว่าทางขวาคือจักรพรรดิ ทางซ้ายคือจักรพรรดินี

ความผิดแผกที่ว่าคือเรื่องนี้นี่เอง แต่ฉันก็ไม่ได้ชำนาญเรื่องตุ๊กตาฮินะสักเท่าไร ปกติจะแค่จัดเรียงตามที่แม่บอกเท่านั้น จึงไม่รู้ว่าทำไมที่นี่ถึงเรียงแบบนี้

“ที่ถูกต้องไม่ใช่เรียงแบบนี้เหรอ”

ฉันลองถาม เพื่อนตอบมาด้วยความมั่นอกมั่นใจ

“ทางซ้ายต้องเป็นจักรพรรดิ ทางขวาต้องเป็นจักรพรรดินี อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าบ้านฉันไม่ได้จัดวางเป็นชั้นน่ะ เลยเน้นแค่เฉพาะการเรียงตุ๊กตาเท่านั้น”

“แปลว่าคนที่นี่เรียงผิดเหรอ”

แบบนั้นก็แปลกนะ ที่นี่มีตุ๊กตาฮินะมากมาย จะเรียงกลับกันทั้งหมดได้เหรอ

(–หรือว่าจงใจ)

ฉันเอียงคอฉงน ตอนนั้นเองเสียงหนึ่งดังขึ้นจากทางด้านหลัง

“ไม่ได้กลับกันเสียหน่อย แบบนี้ถูกแล้ว”

พอหันกลับไปก็เห็นหญิงสูงอายุคนหนึ่งยืนอยู่ ฉันตกใจเพราะนึกว่าไม่มีคนอื่น แต่เธอมาอยู่ตรงนี้ตั้งแต่เมื่อไรเนี่ย

เธอสวมเสื้อไหมพรมสีแดงคู่กับกระโปรงยาวสีดำ แลดูสุขุม มีกระเป๋างานฝีมือสไตล์ญี่ปุ่นสะพายเฉียงอยู่บนกาย ให้ความรู้สึกว่าเป็นคนช่างแต่งตัวน่าดู

“แต่ฉันไม่ได้ถูกสอนมาแบบนี้นี่คะ”

เพื่อนฉันแย้ง หญิงคนนั้นยักไหล่ด้วยท่าทางเอือมระอา

“ถ้าอย่างนั้นแปลว่าผู้ปกครองของเธอสอนผิดน่ะสิ”

เอ๊ะ? เอ่อ พูดแบบนั้นไม่ใจร้ายไปหน่อยเหรอ พวกฉันมองหน้ากัน หญิงคนนั้นแย้มยิ้มออกมานิ่งไปชั่วขณะ ฉันคาดหวังว่าหลังจากนั้นเธอจะพูดออกมาว่า “ล้อเล่นน่ะ”

แต่กลับไม่ใช่

“เฮ้อ ก็เล่นใส่กระโปรงสั้นจุ๊ดแบบนั้นเข้ามาในวัดได้หน้าตาเฉยนี่นะ พ่อแม่สมัยนี้คงสั่งสอนกันมาแบบนั้นล่ะสิ”

พวกฉันทุกคนเผลอก้มมองเครื่องแต่งกายของตัวเอง อันดับแรกคือฉันใส่กางเกงยีน ถือว่าไม่เข้าข่ายกระโปรงอยู่แล้ว เพื่อนอีกคนเป็นเลกกิ้ง แต่ท่อนบนเป็นชุดวันพีซตัวยาวจึงคิดว่าไม่ใช่ ส่วนอีกคนซึ่งเป็นคนเดียวที่ใส่ “กระโปรง” ก็เป็นกระโปรงแบบพันรอบตัวสำหรับกันหนาวที่พันทับเลกกิ้งแบบหนาอีกที

แต่ถึงกระนั้น กระโปรงที่ว่าก็ยาวถึงเข่าเชียวนะ ดังนั้นฉันจึงไม่คิดว่ามันเสียมารยาทตรงไหนเลย

“เพราะเป็นแค่การแวะเข้ามาระหว่างท่องเที่ยวจึงอาจไม่ค่อยมีจิตสำนึกเท่าไร แต่วัดน่ะเป็นสถานที่ทางศาสนานะจ๊ะ พวกเธอสมควรกลับไปทบทวนเรื่องเครื่องแต่งกายและทัศนคติของตนอีกหน่อยจะดีกว่าไหม”

“แต่—”

เพื่อนตั้งท่าจะเถียง ฉันถองหลังเธอเบา ๆ ก่อนก้าวขึ้นหน้าออกไปหนึ่งก้าว

“นั่นสินะคะ วัดเป็นสถานที่แบบนั้นจริง ๆ ด้วย รู้ทั้งรู้แต่พวกฉันก็ยังทำตัวเสียมารยาท”

หญิงคนนั้นทำสีหน้า “อุ๊ย” ตอนนั้นเองฉันก็ค้อมศีรษะให้

“ขอบพระคุณมากค่ะที่ช่วยสั่งสอน พวกเราได้เรียนรู้มากทีเดียว”

“เดี๋ยวสิเคียวโกะ”

เพื่อนตั้งท่าจะอ้าปากพูด แต่ฉันลอบปรามไว้พลางส่งสัญญาณว่า “หนีกันเถอะ” ด้วยมือที่อยู่ด้านหลัง

“ไว้ครั้งหน้า พวกเราจะแต่งกายให้เรียบร้อยค่ะ!”

ฉันพูดพลางถอยกรูดไปด้านหลังพร้อมกับเพื่อนทั้งสอง แถมด้วยค้อมศีรษะต่ำส่งท้ายอีกทีอย่างสุดนอบน้อม

“เฮ้อ—ก็ทำตัวดีได้นี่”

“ขอบคุณมากค่ะ”

“อีกไม่นานฟ้าก็มืดแล้วระวังตัวด้วยนะ เที่ยวต่อให้สนุกล่ะ”

“ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ!”

พอพูดจบฉันก็ส่งสายตาให้เพื่อน เรารีบเดินจากมาจนถึงบริเวณที่มองไม่เห็นผู้หญิงคนนั้นแล้ว จากนั้นก็วิ่งกันสุดแรงจนกลับมาถึงบริเวณสำหรับถอดรองเท้าแล้วก็หัวเราะกันยกใหญ่

“ไม่ได้เห็นนานแล้วนะเนี่ย! การจู่โจมด้วย ‘ขอบคุณมากค่ะ’ ของเคียวโกะ!”

“ยังคงไร้เทียมทานเหมือนเคยนะ ไม่สิ ยกระดับกว่าเดิมด้วยรึเปล่าเนี่ย”

ฉันจึงยืดอกใส่ทั้งสองคนเสียเลย

“ฉันชินกับลูกค้าแบบนั้นแล้วน่า!”

ไหนจะเทคนิคปลาไหลที่ใช้ในย่านร้านค้า บวกกับเทคนิคการรับรองลูกค้าที่ฝึกฝนมาจากชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้า ไม่ว่าใครจะมาก็ไม่หวั่น ไม่ว่าจะเป็นคำเหน็บแนมหรือคำพูดไร้เหตุผลขนาดไหนก็สามารถยิ้มรับและปล่อยผ่านไปได้

แต่… สำหรับคนคนนั้นแล้ว

แค่คนคนนั้นที่แอบทำให้เจ็บเล็ก ๆ

และผู้หญิงคนเมื่อกี้ก็แอบคล้ายกับคนคนนั้นเล็กน้อย

 

*

 

ตอนแรก คนคนนั้นดูเป็นคนดีมาก

มีอายุ แต่ยังเร็วเกินกว่าจะเรียกว่าคุณยาย แต่งกายภูมิฐาน เนื่องจากคล้ายคุณสุงิยามะที่เป็นลูกค้าประจำของร้านเรา ฉันจึงรู้สึกถูกชะตากับเธอในตอนแรก

ตอนนั้นมีฉันกับคุณทาจิบานะอยู่ประจำเคาน์เตอร์

“อยากได้ขนมประจำฤดูกาลจ้ะ”

เธอพูดกับฉัน

“ขนมประจำเดือนนี้คือ ‘ฮามากุริ (หอยลาย)’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการละเล่นไคอาวาเซะ (ประกบเปลือกหอย) ‘โมโมะ’ เพื่อให้เข้ากับโมโมะ โนะ เซคคุ (วันเด็กผู้หญิง) และยังมี ‘เคียคุซุย (สายน้ำไหล)’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากพิธีลอยตุ๊กตาฮินะ [47] ด้วยค่ะ นอกจากนั้นก็มีฮิชิโมจิ[48]เตรียมไว้ด้วยค่ะ”

“อืม เอาเป็นฮามากุริก็แล้วกัน”

เพราะเธอกล่าวออกมาทันที ฉันจึงคิดว่าเธอคงคุ้นเคยกับวากาชิดีอยู่แล้ว จึงเลือกที่จะเป็นฝ่ายรอเผื่อว่าเธอจะต้องการคำอธิบาย

“อ้อ แต่โมโมะก็ได้ภาพลักษณ์ดีนะ เพราะมีในเรื่องโมโมทาโร[49]ด้วยนี่นา ถ้าอย่างนั้นเอาเป็นฮามากุริสองชิ้น โมโมะสองชิ้น แล้วก็เพื่อจะได้ไม่ลืม เอาเคียคุซุยด้วยชิ้นหนึ่ง แล้วก็… ร้านนี้ไม่มีขนมนั่นเหรอ”

“ขนมนั่นที่ว่าคืออะไรเหรอคะ”

“พูดมาขนาดนี้แล้วยังไม่เข้าใจอีกเหรอ ขนมนั่นไง ที่เป็นมันจูชิ้นใหญ่ ๆ”

พูดถึงมันจูขนาดใหญ่ ฉันจะนึกถึงโคฮาคุมันจู (มันจูขาวแดง) ในงานมงคล ถ้าจำไม่ผิด อันนั้นน่าจะเลือกขนาดได้นะ พออธิบายไปแบบนั้น ลูกค้ากลับส่ายหน้า

“บอกว่าไม่ใช่มันจูขาวแดงหรือมันจูที่เป็นคู่กัน อันที่อยู่ข้างในน่ะ อา โธ่เอ๋ย ชื่อทางการเรียกว่าอะไรนะ”

พอเห็นฉันตกที่นั่งลำบาก คุณทาจิบานะก็เดินเข้ามาใกล้

“คุณลูกค้า มิทราบว่ากำลังหาอะไรเหรอครับ”

พอโดนถาม คุณลูกค้าก็เงยหน้าขึ้นด้วยความประหลาดใจ และไม่รู้ทำไมจึงกลับไปก้มหน้าด้วยท่าทางเอียงอาย

“เอ่อ—คือ กำลังหามันจูลูกใหญ่น่ะ”

เฮ้อ ถึงจะมีอายุแล้วแต่ก็แพ้ทางคนหล่ออยู่ดีสินะ ฉันลอบพยักหน้าหงึกหงักอยู่ในใจ

“ถึงไม่รู้ชื่อขนม แต่หากอธิบายลักษณะได้ ทางเราจะลองหาให้ครับ หรือว่าจะให้ดูภาพก็ได้นะครับ”

คุณทาจิบานะบอก เธอจึงพึมพำออกมา

“—ถ้าจำไม่ผิด ชื่อเหมือนภูเขานะ”

“และไม่ใช่ขนมเป็นคู่อย่างโคฮาคุมันจูใช่ไหมครับ ขนาดประมาณไหนหรือครับ”

“เอ่อ ประมาณนี้มั้ง”

คุณลูกค้าพูดพลางกางฝ่ามือทั้งสองข้างกั้นเป็นสองฝั่ง

“นี่คือขนาดของหนึ่งชิ้นเหรอครับ”

ประมาณชามขนาดย่อมเลยทีเดียว ฉันเห็นแล้วแอบตกใจเล็กน้อย ขนาดเท่าเค้กเลย

แต่พอเห็นแล้วคุณทาจิบานะก็เหมือนจะนึกออก

“หรือว่า… เป็นขนม ‘โฮไรซัง (ภูเขาโฮไร)[50]’ ครับ”

โฮไรซัง ? ฉันนึกถึงตัวคันจิที่ใช้เขียนไม่ออกเลย อย่างน้อยก็ไม่มีขนมชนิดนี้ในร้านตอนนี้แน่

แต่ดูเหมือนคุณทาจิบานะจะเดาถูก

“อ้อ นั่นแหละ ๆ โฮไรซัง ฉันอยากสั่งชิ้นหนึ่งจ้ะ”

“ถ้าจำไม่ผิด ทราบว่าจะเข้ามาขายที่ร้านเราเหมือนกันครับ แต่เพื่อความแน่ใจ ผมจะสอบถามทางโรงงานอีกทีนะครับ รบกวนคุณลูกค้าช่วยแจ้งวันที่ต้องการใช้ขนมได้ไหมครับ”

“ไม่มีกำหนดวันแน่นอนหรอก อืม แต่ก็อยากให้ทันภายในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมนะ”

พอได้ยินอย่างนั้นแล้วคุณทาจิบานะก็โทรศัพท์ไปหาโรงงาน ระหว่างนั้นฉันจัดแจงเรียงขนมที่เธอสั่งลงกล่องแล้วจึงนำให้เธอดู

“ขนมตามนี้ถูกต้องนะคะ”

พออีกฝ่ายพยักหน้า ฉันก็ตอบว่า “รอเดี๋ยวนะคะ” ก่อนจะเริ่มห่อ ตอนนั้นเองคุณลูกค้าก็หัวเราะออกมาเบา ๆ

“ ‘รอเดี๋ยวนะคะ’ เหรอ”

“คะ ?”

“ไม่เข้าใจเหรอ เธอน่ะทำผิดมาตั้งแต่แรกแล้ว”

ฉันร้อนรนขึ้นมาทันที เพราะไม่รู้ว่าเธอหมายถึงเรื่องอะไร ฉันให้เธอตรวจสอบขนมแล้วนี่นา เรื่องที่เธอถามก็ได้คุณทาจิบานะช่วยตอบแทนให้ เพราะฉะนั้นก็ไม่น่ามีปัญหา หรือว่าเรื่องการห่อขนม

(หรือว่าลูกค้าไม่ได้ต้องการนำกลับไปรับประทานเองที่บ้าน แต่ต้องการให้ห่อเป็นของขวัญ)

“เอ่อ ขอโทษค่ะ ดิฉันนึกว่าคุณลูกค้าจะนำกลับไปรับประทานที่บ้านเลยห่อแบบนี้ไปเสียแล้ว”

ฉันก้มศีรษะขอโทษ แต่เธอกลับยิ้มขื่น

“ไม่เข้าใจจริง ๆ ด้วยสินะ ฉันไม่ได้ว่าเรื่องนั้นเสียหน่อย”

“เอ่อ ถ้าอย่างนั้น—”

ฉันอึกอัก คุณลูกค้าเหลือบมองไปทางเสา คุณทาจิบานะยังโทรศัพท์ไม่เสร็จ

“เธอเป็นพาร์ตไทม์เหรอ”

“เอ่อ ค่ะ”

“ถ้าอย่างนั้นก็ช่วยไม่ได้”

คุณลูกค้าถอนหายใจพลางจ้องหน้าฉัน

“นี่ ในเวลาแบบนี้น่ะต้องพูดว่า ‘กรุณารอสักครู่นะคะ’ ไม่ใช่เหรอ”

อีกฝ่ายเอียงคอนิด ๆ เป็นเชิงถาม ฉันรู้สึกหน้าร้อนวาบขึ้นมาทันที

“อ๊ะ ขะ ขออภัยด้วยค่ะ!”

ฉันคิดว่าตัวเองชินกับผู้สูงอายุแล้ว แต่ถึงกระนั้นการใช้ภาษาสุภาพก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ ฉันรีบก้มศีรษะขอโทษ เธอผุดรอยยิ้มพลางมองฉัน

“จริง ๆ แล้วเธอก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียดขนมด้วย ถ้าเป็นพนักงานร้านที่ได้รับการอบรมมาดีพอ อันดับแรกต้องอธิบายเรื่องขนมประจำฤดูกาลให้ลูกค้าฟังเสียก่อน”

“ค่ะ ขออภัยค่ะ”

“แล้วก็นะ ที่พูดว่า ‘ขอโทษค่ะ’ ก็แย่พอกัน”

“คะ ?”

“ต้องพูดว่า ‘ขออภัย’ ต่างหาก คำว่า ‘ขอโทษ’ เป็นแค่ภาษาพูดทั่วไปเท่านั้น”

ไม่รู้ตัวเลย แต่เพราะตื่นเต้นเลยเผลอใช้ “ขอโทษค่ะ“ ออกไป แต่ในความเป็นจริงฉันก็เผลอใช้ปะปนกันบ่อยจริง ๆ นั่นแหละ

“แต่ความจริงแล้วคำว่า ‘ขออภัย’ นั่นก็ใช่ว่าจะถูก ในกรณีนั้นเธอต้องพูดว่า ‘ต้องขอประทานอภัยด้วยนะคะ’ ต่างหาก”

เธอกล่าวด้วยท่าทางอ่อนโยนเหลือเกิน แต่นั่นกลับยิ่งทำให้ฉันขมขื่น

“ขอ—ประทานอภัยด้วยค่ะ”

ทำไมเมื่อกี้ฉันถึงไม่ยอมอธิบายเรื่องขนมไปนะ และทำไมต้องเผลอใช้ “รอเดี๋ยว” หรือ “ขอโทษ” วันนี้ด้วย

เพราะลูกค้าท่าทางใจดีงั้นเหรอ หรือเพราะคิดว่าลูกค้าคงไม่คิดอะไร แต่อย่างไรนั่นก็ถือเป็นคำแก้ตัว ฉันแค่ตัดสินไปเองฝ่ายเดียวทั้งนั้น

“เฮ้อ ก็ยังเด็กอยู่นี่นะ”

“ค่ะ—”

“จะใช้ภาษาสุภาพได้ไม่สมบูรณ์แบบไปบ้างก็ช่วยไม่ได้”

“ขอประทานอภัยด้วยค่ะ”

ฉันก้มหน้าด้วยความรู้สึกแทบทนอยู่ตรงนั้นไม่ไหว ขณะที่คุณลูกค้ายังคงพูดต่ออย่างอ่อนโยน

“ลูกสะใภ้ที่บ้านฉันเองก็ยังสาวยังแส้ คงอายุมากกว่าเธอไม่กี่ปีละมั้ง”

“อย่างนั้นเหรอคะ”

ฉันตอบรับหงอย ๆ เพราะอย่างนั้นถึงยิ่งสังเกตเห็นความใช้ไม่ได้ของฉันได้ง่ายละมั้ง คุณลูกค้ายังแย้มยิ้ม

“เป็นเด็กดีนะ แจ่มใสร่าเริง”

“สนิทกันดีนะคะ”

“แต่งกับลูกชายฉันได้สามปีแล้วละมั้ง ฉันพยายามเข้าหาโดยนึกเสียว่าเธอเป็นลูกสาวแท้ ๆ ปีนี้ก็ว่าจะช่วยกันนำตุ๊กตาฮินะออกมาตกแต่ง”

แม้จะเข้มงวดแต่เธอคงเป็นแม่สามีที่ใจดีสินะ ฉันเริ่มรู้สึกดีขึ้นเล็กน้อย

“แต่เพราะฉันมีลูกชายคนเดียวเลยไม่เคยซื้อตุ๊กตาฮินะเอาไว้ ฉันจึงคิดจะซื้อใหม่ให้เธอโดยเฉพาะ”

หืม แม่สามี จะซื้อตุ๊กตาฮินะให้ลูกสะใภ้งั้นเหรอ  ทำไมไม่ซื้อให้หลานล่ะ

“ก็เธอน่ะ ตอนแต่งเข้าบ้านฉันก็ไม่ได้นำตุ๊กตาฮินะมาด้วยนี่นา ไร้สามัญสำนึกเนอะ พอถามว่าที่บ้านไม่มีตุ๊กตาฮินะเหรอ เธอก็ตอบว่าเพราะใหญ่เกะกะเลยไม่เคยซื้อไว้ มันน่าเชื่อไหมล่ะ”

แบบนั้นเรียกว่าไร้สามัญสำนึกเหรอ พูดตรง ๆ ว่า สำหรับฉันที่ไม่เคยคิดจะแต่งงานแล้วย่อมไม่เข้าใจเอาเสียเลย แต่ก็จริงอยู่ การตั้งชั้นวางตุ๊กตาถือว่าเกะกะบ้านไม่น้อย สมัยเด็ก ๆ พี่ชายของฉันมักเผลอเตะชั้นล่างสุดของแท่นวางตุ๊กตาจนนิ้วก้อยเท้าเจ็บ ต้องแหกปากร้องอยู่บ่อย ๆ

“เพราะแบบนั้นรึเปล่านะ เธอจึงไม่ค่อยรู้จักพวกพิธีปฏิบัติประจำฤดูกาล อย่าว่าแต่กิโมโนเลย ชุดยูกาตะยังสวมไม่ค่อยจะเป็น”

“อย่างนั้นเหรอคะ”

ฉันตอบได้เพียงแค่นั้น เพราะตัวฉันเองก็ไม่ต่างกัน ก่อนเข้าทำงานในร้านมิตสึยะ ฉันแทบไม่เคยตระหนักถึงพิธีประจำฤดูกาลต่าง ๆ เลย ชุดยูกาตะก็เหมือนกัน อย่าว่าแต่การสวมใส่ ฉันพับไม่เป็นด้วยซ้ำ ฟังแล้วก็ปวดใจ

“ก่อนหน้านี้ ลูกชายของฉันเคยพาไปน้ำพุร้อนเธอก็สวมยูกาตะกลับด้าน ฉันนี่อับอายจนไม่กล้าเอ่ยปากเตือนเชียวละ”

อา จะขำก็ขำไม่ออกแล้ว เพราะฉันเองก็เคยสวมผิดจนโดนเพื่อนขำว่า “เป็นคนตายเรอะ!” เหมือนกัน

ว่าแต่การแต่งงานนี่ลำบากเนอะ ชั่วชีวิตนี้ฉันคงไม่มีทางแต่งงานได้แน่

“แต่เธอทำอาหารเก่งนะ งานบ้านก็พอไปวัดไปวาได้ เรื่องพวกนั้นถือว่าไม่มีปัญหา”

คือเริ่มรู้สึกว่าฟังไปก็รังแต่จะหดหู่ แม้ฉันจะลื่นไหลเอาตัวรอดจากคุณป้าที่เดินผ่านในย่านร้านค้าได้ แต่จะทำพฤติกรรมแบบนั้นกับลูกค้าก็ไม่ได้ คุณทาจิบานะช่วยคุยโทรศัพท์ให้เสร็จเร็ว ๆ ได้ไหม

“ถ้าจะมีปัญหาก็คือเรื่องที่เธอทำงานนอกบ้านนี่แหละ”

“ค่ะ”

เรื่องที่คุยออกนอกประเด็นไปไกลแล้ว แต่ฉันย่อมทักท้วงไม่ได้

“ใช่ว่าลูกชายของฉันได้เงินเดือนไม่พอกินพอใช้นี่ และในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแล้วเรื่องพื้นฐานยังร่ำเรียนและทำหน้าที่ได้ไม่ครบครัน ฉันว่ามันก็กระไรอยู่ ก็เลยบอกให้เธอออกจากงานจนกว่าจะจัดการเรื่องพื้นฐานพวกนี้ให้เรียบร้อยเสียก่อน”

“เอ๊ะ ?”

ให้ออกจากงานนี่เป็นสถานการณ์แบบไหนกันนะ ถ้าเป็นพนักงานพาร์ตไทม์อย่างฉันก็ว่าไปอย่าง แต่ถ้าเป็นพนักงานประจำในบริษัทจะไม่ลำบากเหรอ

(ทั้งการบอกให้ออกจากงาน ทั้งการฉลองฮินะมัตสึริกับแม่สามี—)

เป็นเรื่องที่แสดงความเห็นลำบากสุด ๆ เลยแฮะ

“ต้องขอประทานอภัยที่ให้รอนานนะครับ”

ตอนนั้นเองคุณทาจิบานะก็คุยโทรศัพท์เสร็จเสียที

 

*

 

“โห ไม่อยากจะเชื่อเลย”

เพื่อนของฉันเงยหน้าขึ้นจากชามราเม็งก่อนชักสีหน้าไม่พอใจ

“เป็นประเภทเดียวกับป้าคนเมื่อกี้จริง ๆ ด้วย แต่ทางนั้นน่าจะเป็นปัญหาแม่ผัวลูกสะใภ้ตามสูตรเลยเนอะ”

เพื่อนอีกคนกำลังต่อสู้อย่างยากลำบากในการแกะเกี๊ยวซ่าที่ติดหนึบให้แยกจากกัน

“อืม ในความจริงแล้วก็คงเป็นปัญหาแบบนั้นแหละ แต่ก็แปลกเนอะ ถ้าฟังเฉพาะคำพูดของเธอแล้วก็พอจะมองได้หรอกนะว่าใจดี”

ฉันตักข้าวผัดแบ่งใส่ถ้วย ตรวจดูให้แน่ใจว่าทุกคนได้กุ้งเท่าเทียมกัน

“แต่เธอก็อุตส่าห์ทนได้เนอะ เก่งมากเลยละ”

เอ้า รางวัล เพื่อนว่าแล้วยกหมูชาชูให้ฉัน

“—อืม จริง ๆ ก็เศร้ามากเลยละ แต่สาเหตุก็มาจากความอ่อนหัดของฉันเองนี่นะ”

แต่ฉันก็ไม่ใช่มนุษย์ที่ดีเด่อะไรนักถึงได้ต้องมาบ่นให้เพื่อนฟังแบบนี้ไง

ความจริงแล้วคนที่ทำงานบริการไม่ควรนำเรื่องของลูกค้าไปบอกกล่าวให้ผู้อื่นฟังหรอก เพราะถือว่าเสียมารยาท ในแง่ของการรักษาความลับของลูกค้าก็ถือว่าไม่ดี

ดังนั้นฉันจึงพยายามไม่พูดถึงเรื่องของลูกค้าตอนอยู่นอกร้าน แต่เมื่อมาที่ห่างไกลจากโตเกียวแบบนี้แล้ว แถมยังอยู่ต่อหน้าเพื่อนฝูงที่เชื่อใจได้ สรุปคือ—เผลอไผลพลั้งปากเล่าไปนั่นเอง

“เล่าให้คนที่ร้านฟังรึเปล่า”

“อืม แค่คร่าว ๆ  น่ะ”

“คร่าว ๆ คือยังไง”

เพื่อนยื่นหน้าพรวดมาขอคำตอบ

“หรือว่าเคียวโกะ เธอไม่ได้บอกไปเหรอว่าเธอโดนพูดจาแย่ ๆ ใส่น่ะ”

อูย เซ้นส์ไวมาก พอเห็นฉันอึกอัก เพื่อนทั้งสองคนเลยยิ่งต้อนถาม

“เธอน่ะเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เมื่อก่อนแล้ว ทั้งที่โกรธเวลาเห็นคนอื่นโดนว่า แต่พอเป็นเรื่องของตัวเองทำไมถึงได้ปล่อยปละละเลยแบบนี้ล่ะ”

“ใช่ ๆ เห็นแล้วมันน่าหงุดหงิดออก ทั้งที่เธอเองก็ไม่ได้โง่ แต่กลับหัวเราะเหมือนโง่เง่า เฮ้อ ถึงแม้นั่นจะเป็นกลศึกที่ได้ผลในการทำให้อีกฝ่ายเลิกกลั่นแกล้งก็เถอะ”

เซ้นส์เฉียบคมมาก คมแถมไร้ความเกรงใจอีก ฉันจึงได้แต่หัวเราะแหะ ๆ เพราะเถียงไม่ออก

“เนี่ย ก็เป็นซะแบบเนี้ย!”

และโดนเหน็บกลับมาทันควัน

“รู้ว่ามีเทคนิคเลิศล้ำในการไหลลื่นเอาตัวรอด แต่อย่าปฏิบัติกับตัวเองแบบขอไปทีอย่างนี้ซี ก่อนหน้านี้ก็เคยบอกแล้วใช่ไหม”

“แต่—”

“นี่ มันมองออกนะ ประเดี๋ยวเธอก็บอกว่า ‘คนอย่างฉันน่ะ’ อีก”

“เอ่อ ก็เปล่า–”

คือ โทษทีนะ ฉันพึมพำ เพื่อนทั้งสองจึงพร้อมใจกันยื่นมือมาดึงแก้มฉัน

“บอกแล้วไงว่าอย่าขอโทษ!”

ไม่ใช่แค่หนีบหนุบหนับ แต่ดึงกันเสียสุดแรง

“โอ๊ย! เจ็บน้า!”

ฉันพยายามขยับใบหน้าเพื่อสลัดให้หลุด เพื่อนทั้งคู่มองฉันด้วยสีหน้าจริงจัง

“ปกติก็พูดแบบนี้สิ”

“ไม่งั้นพวกฉันก็ไม่ชอบใจเหมือนกัน”

“แต่”

ฉันไม่ชอบก่อความขัดแย้งนี่นา พอพึมพำไปแบบนั้น เพื่อนคนหนึ่งก็ทำหน้าบึ้ง

“ลองคิดจากมุมคนอื่นบ้างสิ”

“เอ๊ะ ?”

“ถ้าเห็นเพื่อนตัวเองถูกคนอื่นทำเหมือนเพื่อนเธอเป็นตัวโง่เง่า เธอเองก็ไม่ชอบใจใช่ม้า!”

อ๊ะ ฉันเผลอหลุดอุทาน

“—ขอโทษ”

“เข้าใจรึยัง”

“อื้อ”

พอพยักหน้ารับแต่โดยดี เพื่อนอีกคนหนึ่งก็ยื่นเกี๊ยวซ่ามาให้ถึงปาก

“เอ้า อ้ามมมม”

อ้ามมมม

 

หลังออกจากร้านราเม็งแนวข้นคลั่ก พวกเราเดินเรื่อยเปื่อยไปตามทางกลับสู่โรงแรม

“จะว่าไป คนคนนั้นสั่งขนมด้วยนี่นะ แล้วเป็นยังไงต่อเหรอ ได้มารับของรึเปล่า”

เพื่อนของฉันพ่นลมหายใจเป็นไอสีขาวพลางถูมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน อากาศหนาวลึกไปถึงกลางกายจนแทบไม่มีความรู้สึกแล้ว เอาเป็นว่าหนาวมาก

“ก็ตอนนั้นเธอคนนั้นสั่งนามะกาชิไว้ใช่ไหมล่ะ เรื่องนั้นก็ค้างคาใจนะ ตอนมาเอาขนม เคียวโกะอยู่ด้วยรึเปล่า”

“ก็อยู่—”

“แล้วเป็นยังไง เธอต้อนรับได้ดีเป็นการแก้แค้นรึเปล่า”

“แก้แค้นน่ะไม่ได้หรอก แต่ฉันคิดว่าก็รับรองเธอได้เรียบร้อยดีนะ”

“ถ้างั้นก็ดีไป”

แต่เรื่องราวมันแปลก ๆ อยู่นะ ฉันบอก เพื่อนทั้งสองทำตาเป็นประกาย การซุบซิบนินทาในสถานที่ปลอดภัยไกลคนรู้จักแบบนี้นี่สนุกเนอะ

“เล่ารายละเอียดให้ฟังหน่อยซี่”

“ถ้าไม่ได้เกิดปัญหาอะไรกับเคียวโกะ พวกฉันก็ฟังได้อย่างเบาใจด้วย”

“ก็นะ”

เอายังไงดีน้า ฉันหัวเราะพลางเดินต่อ เมื่อกลับมาถึงละแวกโรงแรมจึงเพิ่งสังเกตเห็นว่ามีป้ายวางอยู่ข้างทาง

“นี่ดูสิ ‘คาเฟ่กลางคืน’ แหละ”

“เข้าท่านี่”

เพราะถึงกลับโรงแรมไปก็ตั้งใจจะกินขนมและเมาท์มอยกันให้สะใจอยู่ดี พอเข้าไปดูเมนูใกล้ ๆ ก็เห็นตัวหนังสือว่า พาเฟ่ต์ อยู่ดังคาด แถมยังเขียนด้วยว่า พาเฟ่ต์ฤดูหนาว เชอร์เบ็ตรสยูซุกับไอศกรีมวาซันบง ราดซอสคาราเมลอุ่น ๆ ชุ่มฉ่ำ

“…จะว่ายังไงดี ทำให้รู้สึกว่าไม่สั่งก็บ้าแล้ว”

“เข้าใจ เข้าใจเลย”

กินกันไปครั้งหนึ่งแล้วนี่นะ หากคิดในแง่กระเป๋าเงิน ในแง่แคลอรี หรือในแง่อุณหภูมิ ก็ถือว่าไม่ดีทั้งนั้น รู้หรอกน่า แต่นี่เป็นการมาเที่ยวกับเพื่อนครั้งแรกนะ แล้วก็เป็นกลางคืนด้วย มันชวนให้รู้สึกครึ้มใจยังไงไม่รู้

“—ฉัน… ต่อให้ท้องเสีย ก็จะไม่เสียใจ!”

“ฉัน… ต่อให้ซื้อของฝากได้น้อยลงก็จะไม่เสียใจ!”

“ฉันเองก็ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะไม่เสียใจ!”

พวกเรามองหน้ากันก่อนย่างเท้าเข้าไปในตรอกของเมืองเกียวโต

ไม่นึกกลัวเกียวโตอีกต่อไปแล้ว

.

ติดตามต่อได้ในนิยายฉบับเต็ม

วางจำหน่ายเร็วๆ นี้

.

[1] การฉลองการก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ของหนุ่มสาวญี่ปุ่นที่อายุครบ 20 ปี ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 มกราคมของทุกปี

[2] ถั่วกวนหวาน

[3] ข้าวเหนียวยัดใส่ตัวปลาหมึก นำไปเคี่ยวกับน้ำตาลและซอสโชยุให้มีรสหวาน เป็นอาหารขึ้นชื่อของฮอกไกโด

[4] ข้าวอบในเตาขนาดเล็กสำหรับรับประทานคนเดียว ปรุงรสด้วยโชยุ เหล้ามิริน ใส่เครื่องต่าง ๆ เช่น เห็ดหอมหรือเนื้อไก่

[5] ข้าวอบปรุงรสด้วยโชยุ มีเนื้อปลาไทหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ โรยด้านบน

[6] ภาคกลางตอนใต้ของญี่ปุ่น อยู่บนเกาะฮนชู

[7] วุ้นถั่วแดงหวาน มักจำหน่ายในลักษณะเป็นแท่ง

[8] วากาชิสด มักมีน้ำเป็นส่วนประกอบจึงเก็บไว้ได้ไม่นาน เช่น มันจูโจโย โยคัง

[9] วากาชิสดประเภทหนึ่ง มักใช้วัตถุดิบประเภทถั่ว (ถั่วแดง ถั่วเหลือง มันเทศ เผือก ฯลฯ)

[10] วากาชิประเภทหนึ่ง มีลักษณะเป็นแพนเค้กสองชิ้นประกบกัน สอดไส้ถั่วแดงกวน ตัวแป้งส่วนใหญ่ทำมาจากแป้งสาลี เนย ไข่ และนม

[11] วากาชิประเภทหนึ่ง ตัวขนมเป็นเค้กฟองน้ำแบบญี่ปุ่น ส่วนประกอบหลักคือแป้งสาลี ไข่ และน้ำตาล ด้านบนโรยด้วยงาดำหรือเมล็ดมัสตาร์ด

[12] แป้งโมจิ (แป้งข้าวเหนียว) และแป้งมันนวดผสมกับชิโรอัน (อันจากถั่วขาว)

[13] โมจิห่อด้วยถั่วแดงกวน

[14] แป้งที่ทำจากข้าวเหนียวขาว (ข้าวเหนียวขัดสี) แบ่งความละเอียดเป็นสามระดับคือ ชินโกะ โจชินโกะ โจโยโกะ โดยโจชินโกะถือว่าเป็นแป้งข้าวเหนียวที่มีความละเอียดระดับกลาง มีจุดเด่นอยู่ที่รสสัมผัสนุ่มเหนียว

[15] วากาชิสด เนื่องจากมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากจึงเก็บได้ไม่นาน

[16] การร้องของนกกระจ้อยญี่ปุ่น ถือเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกการมาเยือนอยู่ของฤดูใบไม้ผลิ

[17]  วากาชิชนิดหนึ่ง แป้งด้านนอกทำจากเผือกบด แป้งข้าวเจ้า และน้ำตาล ห่อไส้อัน (ถั่วแดงกวน)

[18] พืชตระกูลเฟิร์น ถือเป็นหนึ่งในตัวแทนผักป่าประจำฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น มีรูปร่างคดงอเหมือนกำปั้นเด็กทารกหรือลูกกุญแจ

[19] คือการผสมกิวฮิ (แป้งโมจินวดผสมกับน้ำก่อนนำมานวดผสมกับน้ำตาลหรือน้ำเชื่อม) กับชิโรอัน (ถั่วขาวกวน)

[20] ลูกกวาดชนิดหนึ่ง ทำจากน้ำตาล มีสีเหลือง นิยมรีดเป็นแผ่นแบน ๆ ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือเป็นแผ่นกลม บางแห่งก็จะเสียบไม้คล้ายโลลิป๊อบ

[21] ผลไม้เคลือบน้ำตาล นิยมเสียบไม้ขายตามงานวัดของญี่ปุ่น

[22] ศิลปะการแสดงเก่าแก่ของญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง เป็นการเชิดตุ๊กตาแสดงละครประกอบท่วงทำนองที่บรรเลงโดยเครื่องสายญี่ปุ่นที่เรียกว่าซามิเซ็น

[23] Chikamatsu Monzaemon (ค.ศ.1653-1724) นามแฝงของนักแต่งเพลงโจรุริและคาบุกิสมัยเอโดะ ชื่อจริงว่า สุงิโมริ โนบุโมริ

[24] ติ่มซำชนิดหนึ่งของจีน มีลักษณะเหมือนซาลาเปาที่มีน้ำซุปอยู่ภายใน ที่ประเทศญี่ปุ่นนิยมรับประทานทั้งแบบนึ่งและแบบทอดด้านเดียวในกระทะ คล้ายเกี๊ยวซ่า

[25] ภาษาจีนเรียกว่าตงพัวโร่ว ทำโดยทอดหมูสามชั้นในกระทะแล้วนำมาตุ๋น  มักหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมหนาราวสองนิ้ว มีส่วนไขมันกับเนื้อเท่า ๆ กัน

[26] ติ่มซำชนิดหนึ่ง เมื่อสุกแป้งด้านนอกจะเหนียวและใสมองเห็นไส้ด้านในได้

[27] หรือโทกาชิ ขนมแป้งทอดที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นในสมัยนาระ (ค.ศ.710-794) ว่ากันว่า เป็นต้นกำเนิดของ ดังโงะ มันจู และเซมเบ

[28] การแจ้งผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยผ่านโทรเลข นิยมใช้ในประเทศญี่ปุนตั้งแต่ปีโชวะที่ 30 (ค.ศ.1955) ถึงต้นยุคเฮเซ โดยผลสอบผ่านแจ้งเป็นข้อความว่า “ซากุระซาคุ (ซากุระผลิบาน)” หากสอบตกแจ้งว่า “ซากุระจิรุ (ซากุระร่วงโรย)”

[29] เป็นสำนวนญี่ปุ่น แปลว่าไฟไหม้อยู่อีกฝั่งทะเล ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าตนจะได้รับผลกระทบไปด้วย

[30] ในวงการวากาชิมักหมายถึงอันหรือคินตงในรูปแบบฝอย หรือเป็นเส้นเล็ก ๆ ขยุกขยุย

[31] คนญี่ปุ่นมีธรรมเนียมมอบของขวัญให้ผู้มีอุปการะคุณเพื่อขอบคุณและฝากเนื้อฝากตัวต่อไป

[32] เทศกาลส่งมอบของขวัญช่วงปลายปี โดยเริ่มหาซื้อของขวัญได้ตั้งแต่ 20 ธันวาคมเป็นต้นไป

[33] หญิงสาวที่ทำหน้าที่มอบความบันเทิงด้วยศิลปะการแสดง เช่น ร้องรำทำเพลง

[34] วันเด็กผู้หญิง ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี จะมีประเพณีการจัดวางฮินะหรือตุ๊กตาชายหญิง ซึ่งเป็นตัวแทนของจักพรรดิกับจักพรรดินี รวมทั้งบริวารและเครื่องประดับต่าง ๆ

[35] โยคังนึ่ง ทำจากแป้งชนิดต่าง ๆ เช่น แป้งสาลี แป้งสาคู ผสมถั่ว น้ำตาลแล้วนำไปนึ่ง จะให้รสสัมผัสเหนียวนุ่มกว่าโยคังปกติ เป็นขนมสดที่เก็บไม่ได้นาน

[36] กระดาษญี่ปุ่นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีลวดลายแบบญี่ปุ่น นิยมนำไปใช้พับโอริกามิ (ศิลปะการพับกระดาษ) เพื่อเป็นเสื้อผ้าตุ๊กตาญี่ปุ่น หรือกรุกล่องเก็บเครื่องสำอาง เป็นต้น

[37] ขนมเซมเบประเภทหนึ่ง มีต้นกำเนิดที่เกียวโต รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าผอมยาว ลักษณะคล้ายเครื่องดนตรีที่เรียกว่าโคโตะ  ทำจากแป้งข้าวจ้าวนึ่งผสมน้ำตาลและผงอบเชย จากนั้นจึงนำไปอบจนแข็งกรอบ บางครั้งเรียกว่ายัตสึฮาชิเซมเบ

[38] ขนมทำจากเนื้อแป้งเดียวกับยัตสึฮาชิ แต่ไม่อบ ลักษณะเหมือนเป็นแผ่นแป้งพับครึ่ง มักสอดไส้อันถั่วแดง เรียกอีกชื่อว่านามะยัตสึฮาชิ (ยัตสึฮาชิสด)

[39] วัดแห่งหนึ่งในโตเกียว ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อที่นักท่องเที่ยวต้องไปเยือน

[40]บริเวณที่เต็มไปด้วยพลังเชิงบวกหรือมีพลังงานชีวิตสูง เชื่อกันว่าไปเยือนแล้วจะได้รับพลังหรือเสริมโชค

[41]คอร์สอาหารตามธรรมเนียมดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เสิรฟ์ทีละเมนูตามลำดับ แสดงถึงความพิถีพิถันในคัดเลือกวัตถุดิบตามฤดูกาลและขั้นตอนการปรุง

[42] Osaka Osho ชื่อร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีสาขาทั่วญี่ปุ่นและต่างประเทศ

[43] Tenkaippin Ramen ชื่อร้านราเม็งที่มีสาขาทั่วญี่ปุ่นและต่างประเทศ

[44]ค.ศ.794- 1185 ถือเป็นยุคทองของญี่ปุ่น และเป็นช่วงก่อตั้งเกียวโตเป็นเมืองหลวงของประเทศ

[45] อาหารญี่ปุ่นประเภทหนึ่ง เป็นน้ำซุป อาจปรุงรสด้วยเกลือ โชยุ หรือมิโซะ ใส่เนื้อปลาและผักลงไปให้ดูดซับน้ำซุปเต็มที่ก่อนรับประทาน

[46] อาหารญี่ปุ่นประเภทหนึ่ง เป็นก้อนแป้งปั้นกลม ใช้สีลากเป็นลวดลายคล้ายลูกบอลเทมาริ (ลูกบอลไหมถัก)

[47] พิธีลอยตุ๊กตาในวันเด็กผู้หญิง โดยเด็กผู้หญิงจะเขียนคำอธิษฐานใส่กระดาษใส่เรือฟางลอยลงแม่น้ำไปพร้อมกับตุ๊กตาดินซึ่งถือเป็นตัวแทนของตน

[48] ขนมโมจิสามสีคือชมพู ขาว และเขียว เป็นขนมประจำเทศกาลฮินะมัตสึริอย่างหนึ่ง

[49] นิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่น เกี่ยวกับเด็กชายที่เกิดมาจากโมโมะ (ลูกพีช) เดินทางไปปราบยักษ์พร้อมสหายด้วยความกล้าหาญ

[50] มีที่มาจากภูเขาฮ่องหลาย (ฮ่องหลายซาน) ในภาษาจีน ว่ากันว่าเป็นที่อยู่ของเทพเซียน มักพบในนิทานปรัมปราญี่ปุ่นหรือการจัดสวนญี่ปุ่น ซึ่งจะหมายถึงโขดหินใหญ่ที่ตั้งโดดเดี่ยวเป็นเอกเทศจากองค์ประกอบอื่นในสวน สื่อถึงเกาะแห่งความสันโดษ เปรียบได้กับอาณาบริเวณของความสุขที่มนุษย์ไม่อาจเข้าถึง

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า