วิธีทำให้ลูกค้าจดจำที่นอกเหนือจากโลโก้หรือสโลแกน ก็คือการ สร้างแบรนด์ด้วยเรื่องราว (Storytelling) ที่เปลี่ยนจากการเล่าเรื่องแบรนด์ เป็นการทำให้ลูกค้ากลายเป็นตัวเอกของแบรนด์
Storytelling หรือศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง เป็นอีกคำที่ได้ยินบ่อยๆ ในแวดวงการตลาด การโฆษณา และการทำแบรนดิ้ง การเล่าเรื่องที่จะพูดถึงนี้ไม่ใช่การเล่าเรื่องแบรนด์แบบเดิมๆ แต่เป็นการเรียงร้อยเรื่องราวของลูกค้าให้กลายเป็นตัวละครเอกของแบรนด์ โดยใช้หลักการ StoryBrand Framework
รู้จัก StoryBrand Framework
หนังสือ Building a Story Brand กลายเป็นหนังสือการตลาดที่ขายดีที่สุด เพราะผู้เขียนได้พลิกโฉมคำว่า Storytelling ให้เป็นไปในมุมมองใหม่ โดยเปรียบเทียบการทำธุรกิจเป็นการเดินทางของพระเอกในภาพยนตร์ว่า เริ่มต้นอย่างไร ผ่านอุปสรรคอะไรบ้าง และแบรนด์จะเข้าไปเป็นองค์ประกอบในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างไร โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องด้วย StoryBrand Framework ซึ่งช่วยร้อยเรียงเรื่องราวของลูกค้าและแบรนด์เข้าด้วยกัน
ลองมาดูขั้นตอน สร้างแบรนด์ด้วยเรื่องราว ทั้ง 7 ขั้นตอนดังนี้
1.เริ่มจากตัวเอง
คุณไม่ต้องไปตามหาคุณชายหรือเจ้าของธุรกิจหมื่นล้านคนไหนมาเป็นพระเอกให้ยุ่งยาก เพราะพระเอกตัวจริงก็คือ “ลูกค้า” นั่นเอง เรามักจะพูดถึงแต่เรื่องแบรนด์ จนลืมไปว่าจริงๆ แล้วคนที่คุณควรให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือลูกค้า
ละครธุรกิจเรื่องนี้จะออกมาเป็นแบบไหน อยู่ที่ว่าคุณเข้าใจลูกค้าดีพอหรือยัง การทำความรู้จักทำได้หลายวิธี เช่นการทำ Persona ผ่านการสัมภาษณ์ พูดคุย นอกจากจะช่วยให้รู้จักลูกค้าได้ดีมากขึ้นแล้ว บางครั้งยังได้แนวคิดที่จะสร้างโปรดักซ์ใหม่ๆ เพิ่มเติมด้วย
2.พบปัญหา
ถ้าคุณเห็นตัวละครตัวหนึ่งที่ไม่สมบูรณ์ โดนเพื่อนแกล้ง ตัวเล็กกว่าใครในห้อง มีอุปสรรคให้เผชิญมากมาย ให้คิดไว้ลยเว่า คนนี้คือตัวละครเอกของเรื่อง
StoryBrand บอกว่า ลูกค้าหรือพระเอกคือคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาใดปัญหาหนึ่ง และกำลังหาวิธีแก้ปัญหา ซึ่งยังแก้ไขไม่ได้ ในโลกแห่งความจริง การที่ลูกค้ามีปัญหาถือว่าเป็น “โอกาส” ให้แบรนด์อย่างเราเข้าไปช่วยเหลือ
3.พบผู้นำทาง (Brand)
เมื่อพระเอกเริ่มออกเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง ก็นึกขึ้นได้ว่า การลุยเดี่ยวน่าจะรอดยาก จึงเริ่มมองหาผู้นำทาง
ถ้าเป็นภาพยนตร์เรามักเห็นผู้นำทางในรูปแบบของอาจารย์ พี่เลี้ยง หรือแม้แต่พรายกระซิบ ซึ่งจะโผล่มาช่วยเหลือตอนที่พระเอกเริ่มสู้ไม่ไหว โดยผู้นำทางที่ว่าก็คือแบรนด์ของคุณนั่นเอง
แบรนด์จึงพึงระลึกถึงลูกค้าและจับตามองอีกฝ่ายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะใช้วิธีการพูดคุยสอบถาม เฝ้าดู สังเกตการณ์ เพื่อที่ว่าเมื่อถึงเวลาที่ลูกค้ามีปัญหาก็จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างถูกที่ถูกเวลา
4.นำทางไปสู่เป้าหมาย
ผู้นำทางที่พระเอกเชื่อถือได้จะไม่ได้โผล่มาปลอบประโลมหรือคอยให้กำลังใจแบบเชียร์ลีดเดอร์เท่านั้น แต่ต้องมี “แผนการ” ที่ทำได้จริงและเป็นขั้นเป็นตอน
แผนที่ว่าคือทำให้ลูกค้าเห็นเป็นฉากๆ ว่า โปรดักซ์ของแบรนด์คุณจะช่วยแก้ปัญหาและสร้างผลลัพธ์ที่ดีอย่างไรบ้าง
5.ต้องผลักดันให้เกิดการกระทำอย่างเป็นรูปธรรม
ไม่เพียงแต่นำเสนอแผนการที่เป็นเรื่องราวเท่านั้น ผู้นำทางที่ดีต้องผลักดันพระเอกให้เกิดการกระทำอย่างเป็นรูปธรรม โดยทำให้อีกฝ่ายเห็นว่าสิ่งที่จะทำนี้ “มีเหตุผล” หรือ “มีความท้าทาย” เพียงพอ
เพราะในชีวิตจริง แม้จะมีคนบอกว่ามีหนทางที่จะสำเร็จอยู่ตรงหน้าแล้ว แต่หากไม่มีแรงผลักดันจากภายนอกอย่างเพียงพอ เราก็มักหลงลืมไปว่าต้องทำอะไรต่อไป
สำหรับการตลาด ขั้นตอนนี้คือการบอกลูกค้าว่าเราต้องทำอะไรต่อไป เพื่อจะได้ผลลัพธ์อย่างที่หวังไว้นั่นเอง
6.ช่วยเหลือไม่ให้พลาดสิ่งสำคัญ
ผู้นำทางต้องแสดงให้พระเอกเห็นว่า หากไม่ทำตามแผนที่วางไว้จะต้องพบจุดจบอย่างไร
ในการสื่อสารก็เช่นกัน แบรนด์ต้องอธิบายให้ลูกค้าเห็นภาพชัดเจนว่า ถ้าคุณพลาดสิ่งนี้ไปอะไรจะเกิดขึ้น และแม้ว่าจะอธิบายละเอียด บางครั้งลูกค้าอาจไม่ทำตาม จุดนี้แบรนด์จะต้องเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคและยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือจนกระทั่งลูกค้าสามารถทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ
7.นำทางไปถึงจุดหมายอย่าง Happy Ending
ผู้นำทางจะต้องแสดงให้เห็นว่า ถ้าเดินไปตามแผนทที่ที่บอก ชีวิตของพระเอกจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง
สำหรับการเล่าเรื่อง ยิ่งคุณบอกเล่าความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นจากการใช้สินค้าของคุณให้ลูกค้าเห็นภาพชัดขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการขายมากขึ้นเท่านั้น
อยากได้พระเอกมาครอบครอง ก็ต้องเรียนรู้เรื่องของพระเอก
หากคุณอยากเป็นผู้นำทางให้พระเอกเชื่อใจ และผลักดันให้อีกฝ่ายเดินไปถึงเป้าหมายที่คุณปักไว้ คุณต้องทำความเข้าใจเรื่องราวของพระเอกตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อคุณจะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวนั้น และเป็นผู้นำทางให้แก่ลูกค้าได้อย่างแท้จริง!
ข้อมูลจากหนังสือ INBOUND MARKETING การตลาดแบบแรงดึงดูด
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
8 หนังสือสร้างแรงบันดาลใจ จากคนดังและองค์กรชั้นนำทั่วโลก
5 กลยุทธ์สร้างแบรนด์ไฮเอนด์จาก CEO ระดับโลก
จุดเริ่มต้นของ แบรนด์ Hi-end สินค้าราคาแพงแต่ทำไมขายดี
Pingback: วิธีสร้างคอนเทนต์ ในธุรกิจที่สุดแสนจะน่าเบื่อ (Niche Market)