การ เลี้ยงลูกยุคใหม่ ต่างกับการเลี้ยงลูกยุคเก่าอย่างสิ้นเชิง คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะเคยชินกับการเลี้ยงลูกแบบเก่า ซึ่งในปัจจุบันนี้อาจจะไม่เหมาะกับลูกของคุณ มาดูกันว่าเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจเพื่อ เลี้ยงลูกยุคใหม่ ให้ได้ดีมีอะไรบ้าง
เลี้ยงลูกยุคใหม่ ต้องเข้าใจว่า
สังคมตอนนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน
เลี้ยงลูกยุคใหม่ ต่างกับยุคก่อนตรงที่สังคมยุคก่อนช่วยพ่อแม่เลี้ยงลูกได้เยอะ เพราะมีโรงเรียนที่นักเรียนไม่มาก มีคุณครูที่เอาใจใส่นักเรียนได้ทั่วถึง มีคนลุกให้เด็กนักเรียนบนรถเมล์ มีผ้าเหลืองให้เห็นทุกเช้า มีกลุ่มเพื่อนเดินทางกลับบ้านโดยปลอดภัย และไม่มีอบายมุขให้ลูกๆ แวะกลางทางมากมายนัก
แต่สังคมยุคใหม่นี้ คุณครูแต่ละท่านดูเด็กห้องละห้าสิบหกสิบคน เด็กๆ มีโทรศัพท์มือถือนัดชวนกันออกนอกลู่นอกทางได้ง่าย มีอบายมุขสารพัดระหว่างบ้านกับโรงเรียน มีนักเรียนตีกัน เรียกว่าวันไหนลูกกลับบ้านได้โดยปลอดภัยก็นับว่าเป็นบุญ
ในสภาพสังคมอันตรายแบบนี้ พ่อแม่ต้องลุกขึ้นยืนหยัดกับเรื่องพื้นฐานที่ทุกครอบครัวต้องมี เป็นการเลี้ยงลูกยุคใหม่ “เลี้ยงลูกแบบเชิงรุก” คือ
1. สมาชิกครอบครัวมีเวลาให้กัน
2. เด็กๆต้องมีวินัยพื้นฐานเกี่ยวกับการดูแลตนเองและเคารพสิทธิของผู้อื่น
3. เด็กๆต้องรู้จักประหยัดและมีความเพียร
4. เด็กๆต้องมีความสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเอง
เข้าใจว่า…การเลี้ยงลูกเหมือนการสร้างพีระมิด
การเลี้ยงลูกยุคใหม่ หากสร้างฐานที่หนึ่งแข็งแรง การสร้างฐานที่สอง สาม สี่ ห้า ก็ง่ายขึ้น
ฐานที่หนึ่งคือ 12 เดือนแรกเป็นช่วงเวลาที่ทารกต้องเรียนรู้ที่จะไว้วางใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดู เวลาลูกหิวก็หานมมาให้ ร้อนให้เปิดพัดลม ร้องไห้ก็อุ้มขึ้นมากอด ทำเพียงเท่านี้ทุกวัน เราก็จะได้เด็กขวบปีแรกที่มีสุขภาพจิตดี สมบูรณ์ ไว้วางใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ทารกมีพัฒนาที่เร็วและสมวัย
ฐานที่สองคือช่วงอายุ 1-3 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่จะสร้างสายสัมพันธ์กับลูกและช่วยให้ลูกมีตัวตนที่ชัดเจน สายสัมพันธ์ที่แข็งแรงไม่ว่าลูกจะไปไหนก็รู้จักกลับ จะไปเล่นเกมก็เลี้ยวไปโรงเรียนได้ จะไปมีเพศสัมพันธ์ก็คิดถึงสายสัมพันธ์พ่อแม่ จะใช้ยาเสพติดก็โดนดึงให้หยุดชะงักคิดเสียก่อนที่จะเสพ
เมื่อชั้นฐานแข็งแรง ชั้นต่อไปก็สร้างได้ง่ายตามลำดับ ในที่สุดก็จะได้พีระมิดที่แข็งแรง เปรียบเหมือนได้วัยรุ่นที่แข็งแรง
เข้าใจว่า…
เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่าเปรียบเทียบ
อย่าเกิดคำถามว่า “ทำไมลูกบ้านนั้นไม่เห็นเป็น” เพราะทันทีที่เด็กทารกเกิด แต่ละคนไม่เหมือนกันทันทีสามประการ
1. พวกเขามีพันธุกรรมคนละแบบ ต่อให้เป็นพี่น้องท้องเดียวกันก็ยังได้สัดส่วนพันธุกรรมมาแตกต่างกัน
2. พวกเขามีระบบส่วนกลางคนละชุด สมองคนละก้อน เซลล์สมองไม่เท่ากัน ยังไม่นับการให้นมและการอุ้มในหนึ่งขวบปีแรกยิ่งกระทบต่อจำนวนเซลล์สมองและแขนงประสาทอย่างมาก
3. พวกเขามีพื้นฐานทางอารมณ์ต่างกัน บางคนอารมณ์ดีแต่เกิด ขณะที่บางคนอารมณ์ร้อนแต่เกิด ให้สังเกตความยากง่ายของการป้อนนม การกล่อมนอนและการร้องกวน
แค่เกิดก็ไม่เหมือนกันแล้ว ดังนั้น อย่าเปรียบเทียบลูกเรากับใครทั้งนั้น หากเป็นวัยรุ่นยิ่งเป็นข้อห้าม เพราะวัยรุ่นมักคิดหรือพูดว่าพ่อแม่บ้านนี้ก็ไม่เหมือนพ่อแม่บ้านโน้นเช่นเดียวกัน
ยอมรับว่า…พ่อแม่หมดอำนาจ เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น
จากที่พ่อแม่เคยออกปากเตือนหรือสั่งสอนได้ตลอด กลับกลายเป็นเตือนก็ไม่ได้ สอนสั่งก็ไม่ได้ ทำได้แค่นั่งลง รับฟัง คุยกัน ต่อรอง แล้วรอฟังคำตัดสินใจของลูกว่าจะเอายังไง
พ่อแม่ไม่ควรต้อนลูกวัยรุ่นให้เลือกได้แค่สองข้อ คือ Yes หรือ No แต่ควรเจรจาต่อรองให้สักสามสี่ทางเลือก แบบว่าให้เรากับเขาพบกันได้ที่ครึ่งทาง และทำใจว่าตัวเลือกที่ลูกเลือกนั้น มิใช่มีแต่ได้กับเสีย ในบางกรณี ทางออกของปัญหาวัยรุ่นมีเพียงสามทาง คือ เสียหายน้อย เสียหายมาก และเสียหายมากที่สุด เช่น ลูกคุยโทรศัพท์ทีละสองสามชั่วโมงกับเพื่อน หากป้องกันพฤติกรรมเช่นนี้ได้ก็ควรป้องกัน ทางออกของเรื่องนี้อาจมีให้สามตัวเลือก คือ ให้เขาคุยโทรศัพท์ทีละสองชั่วโมงในบ้าน หรือปล่อยให้เขาคุยโทรศัพท์ทีละสองชั่วโมงนอกบ้าน หรือบ่นจนเขาหนีออกไปหาเพื่อน
วัยรุ่นควรมีเสรีภาพตามสมควร แต่โดยธรรมชาติแล้วพวกเขาไร้ความสามารถที่จะบริหารเสรีภาพนั้นได้ เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องสอนเขาบริหาร
ความรักจากพ่อแม่ สำคัญที่สุด
“พ่อแม่” คือคนที่ทรงพลังที่สุด ที่จะมอบความรักและความภาคภูมิใจตนเองให้ลูกๆ จงรักลูกแบบที่ลูกเป็น ไม่เปรียบเทียบลูกของตนเองกับใคร
เมื่อลูกเป็นวัยรุ่น พ่อแม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทจากพ่อแม่เป็นผู้รับฟัง ทำบ้านให้น่าอยู่ รอรับเขากลับบ้านเสมอ ทำให้ลูกรับรู้ว่าบ้านเป็นหลุมหลบภัยที่ปลอดภัยและกลับบ้านได้ทุกเวลา ยามใดที่เขารับรู้ว่าพ่อแม่ไว้ใจได้อีกครั้งหนึ่ง โลกนี้มีที่ปลอดภัยคือบ้าน และพ่อแม่ยินดีรับฟังมากกว่าเดิม เขาจะกลับมา
ลองอ่าน ทำความเข้าใจ และนำเคล็ดลับดีๆจากหนังสือ เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ วัยไหนก็ได้ดี โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ไปปรับใช้ เรื่องหนักหนาแค่ไหนก็รอดได้แน่นอน
ราคา 235 บาท
สั่งซื้อ คลิก
บทความอื่นๆ
Pingback: วิธีรับมือกับลูกขี้โมโห ขี้หงุดหงิด : วิธีแก้ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้
Pingback: โรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ที่คุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษก่อนเกิดอันตรายต่อลูกน้อย