การระดมสมอง หรือ Brainstorm ได้รับความนิยมอย่างยิ่งเวลาต้องใช้ความคิดเห็นของหลายๆ คนเพื่อสร้างโปรเจกต์ใหม่ๆ ขึ้นมา และบางครั้งอาจกินเวลานานหลายชั่วโมงเลยทีเดียวหากไม่เข้าประเด็นที่ถูกต้อง และอาจไม่ได้อะไรเลยถ้าทุกคนไม่สามารถดึงสิ่งเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างครบถ้วน
มาดูกันว่า การระดมสมอง หรือ Brainstorm ที่มีประสิทธิภาพต้องทำอย่างไร
ใครสร้าง Brainstorming และสร้างมาทำไม
อเล็กซ์ ออสบอร์น รองประธาน BBDO บริษัทโฆษณาของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1941 เขาต้องกลุ้มใจอย่างหนักเพราะต้องทำโฆษณาใหม่ แต่คิดไอเดียไม่ออก เขาจึงเรียกทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนคิดคำโฆษณา นักออกแบบ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย มารวมตัวกันในห้องแล้วเริ่มประชุม วงการโฆษณาสมัยนั้นยังใช้ระบบแบ่งแยกงานกันทำ จึงไม่มีใครเรียกคนที่ทำงานในแผนกต่างๆ มารวมตัวกันเช่นนี้
ออสบอร์นสั่งให้คนจากทุกแผนกในบริษัทเข้าร่วมประชุม แล้วใช้วิธีประชุมที่พัฒนาขึ้นเพื่อหาไอเดียสำหรับสร้างโฆษณาใหม่ๆ และยังให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งผลตอบรับดีเกินความคาดหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายที่ไม่ค่อยได้ทำงานร่วมกับฝ่ายพัฒนากลับแสดงไอเดียดีๆ ออกมาในมุมมองใหม่ๆ เมื่อต่อยอดไปเรื่อยๆ ไอเดียดีๆ ก็พุ่งกระฉูด เมื่อออสบอร์นเห็นว่าวิธีประชุมแบบนี้ได้ผลดี ก็เลยนำไปใช้กับทั้งบริษัท และเรียกวิธีนี้ว่า “Brainstorming”
หลักการ 4 ข้อของ Brainstorming
1.ปล่อยให้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ
พยายามสร้างบรรยากาศในการคิดไอเดียแบบไม่กดดัน รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายด้วย ต้องมีคนกลางที่ดำเนินการประชุมได้ดี โดยไม่ยึดเอาตัวเองเป็นที่ตั้งจนมองข้ามไอเดียจากคนอื่น หรือเน้นย้ำความคิดเห็นของตนเองมากเกินไป เพราะไอเดียมักเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในบรรยากาศที่อิสรเสรี
2.ปริมาณสำคัญกว่าคุณภาพ
จงจำไว้ว่า ไอเดียดีๆ มักมาจากไอเดียจำนวนมาก จึงไม่ควรตัดสินว่าไอเดียไหนดีหรือไม่ดี สิ่งสำคัญคือ คิดไอเดียออกมาให้มากที่สุด แม้จะมีบางไอเดียที่ดูแปลกๆ อยู่บ้าง ก็ต้องคิดว่านั่นเป็นมุมมองที่แปลกใหม่และแสดงท่าทียอมรับ
3.ไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น
การ Brainstorming จะไม่วิพากษ์วิจารณ์กัน จงจำไว้ว่า ไม่ควรใช้คำว่า “แต่” ควรใช้คำว่า “แล้วก็” เท่านั้น ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะแสดงไอเดียอะไรออกมาก็ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เช่นนั้นคนที่เสนอไอเดียจะหมดกำลังใจจนไม่กล้าพูดออกมา
4.สร้างไอเดียใหม่ด้วยการรวมและปรับปรุง
เมื่อได้ไอเดียมากพอแล้ว ควรนำคำสำคัญที่เกี่ยวข้องมารวมกันหรือปรับปรุงจนกลายเป็นไอเดียใหม่ๆ ต้องคิดว่าในบรรดาไอเดียจำนวนมากนั้นจะต้องมีไอเดียที่ล้ำค่าเหมือนอัญมณีอยู่ แม้จะดูไม่เป็นรูปธรรม แต่ต้องเชื่อว่าการรวมไอเดียทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ได้
ขั้นตอนการ Brainstorming
1.กำหนดทิศทาง
ต้องกำหนดหัวข้อและรวบรวมข้อมูล โดยกำหนดหัวข้อให้เป็นรูปธรรม เช่น ปัญหาที่ต้องแก้ไข เป้าหมายที่ต้องพิชิต วิธีและแนวทางแก้ปัญหา เป็นต้น แล้วกำหนดเป้าหมายของไอเดีย เช่น ให้เสนอไอเดียแบบอิสระ 50 อย่างในเวลา 10 นาที
2.ไอเดียแต่ละอย่าง
นี่เป็นช่วงเวลาให้แต่ละคนได้จัดระเบียบไอเดียของตัวเองก่อนเรื่อง Brainstorming โดยให้โอกาสได้คิดไอเดียอย่างอิสระ แล้วใช้กระดาษหรือเครื่องมือดิจิทัลมาจัดระเบียบไอเดียภายในเวลาที่กำหนด
3.อภิปรายกลุ่ม
เมื่อจัดระเบียบไอเดียเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาอภิปรายกลุ่ม คนที่คอยฟังแต่ไอเดียของคนอื่นและไม่บอกความคิดของตัวเอง หรือคนที่ทำตัวเหมือนกาฝากไม่เหมาะสมกับขั้นตอนนี้ ผู้ที่ตำแหน่งสูงกว่าไม่ควรใช้อำนาจมายืนกรานไอเดียของตน เมื่อนำไอเดียทั้งหมดมาแบ่งประเภท นำคำสำคัญมารวมกัน ก็จะกลายเป็นไอเดียอย่างรูปธรรมขึ้นมา
4.ประเมิน
ควรทิ้งระยะห่างหลังจากอภิปรายเสร็จแล้วอีกสักนิดแล้วค่อยประเมินผลจะได้ไม่มีอคติระหว่างการประเมิน เพราะข้อมูลทั้งหมดที่ได้มา ไม่ได้ดีทั้งหมด ควรสอบถามผู้อาวุโส แล้วค่อยตรวจสอบเนื้อหาอีกที
เรียบเรียงผลลัพธ์จากการ Brainstorming
ขั้นตอนสำคัญที่สุดในการระดมสมอง นั่นก็คือการจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดที่ได้ และเลือกนำมาใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมนั่นเอง ซึ่งสามารถทำได้ 4 วิธีดังต่อไปนี้
1.วาดเป็น Mind Map
การวาดแผนผังแบบ Mind Map ช่วยจัดระเบียบและขยายความคิดต่อไปได้อีก ระหว่างวาดกิ่งก้านสาขาเหมือนเวลาวาด Mind Map ควรใช้วิธีคิดแบบเชื่อมโยงต่อไปเรื่อยๆ แทนที่จะยึดติดอยู่กับหัวข้อเหมือนหลักของ Mind Map เพราะจะช่วยให้ขยายเนื้อหาออกไปเรื่อยๆ ได้อย่างอิสระ
2.แปะโพสต์-อิท
เวลา Brainstorming ควรใช้โพสต์-อิท แม้การเขียนไอเดียลงบนกระดาษโพสต์-อิทอาจทำให้แก้ไขเนื้อความยาก แต่ก็มีข้อดีตรงที่แปะแล้วดึงออกได้ จึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อการแก้ไขเนื้อหา
3.Mind-Map + โพสต์-อิท
ควรเขียนเนื้อหาหลักใส่โพสต์-อิท แล้วติดไว้ตามกิ่งก้านสาขาของ Mind Map เหมือนว่ากำลังออกดอกออกผล นับเป็นการจัดระเบียบความคิด โดยการนำข้อดีของ Mind Map ที่ช่วยให้คิดเป็นโครงสร้าง และโพสต์-อิท ที่แปะแล้วดึงออกได้มารวมกัน
4.Digital Mind Map
แม้ Digital Mind Map จะมีข้อจำกัดอยู่ตรงที่ต้องมีเครื่องมือดิจิทัล เช่น คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน แต่ก็ยังมีข้อดีคือ สามารถ ลบ ย้าย แก้ไข และรวมไอเดียเข้าด้วยกันได้อย่างอิสระ จึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ ยิ่งถ้านำมาใช้ตอนระดมสมอง ก็จะช่วยจัดระเบียบไอเดียได้หลากหลายเลยทีเดียว
ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ในการประชุมเพื่อระดมสมองครั้งหน้า รับรองเลยว่าไอเดียดีๆ พุ่งกระฉูดแน่นอน
ข้อมูลจากหนังสือ ทุกอย่างในชีวิตเริ่มจากความคิดที่เป็นระเบียบ
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
3 เทคนิคการจัดระเบียบความคิด เพื่อชีวิตที่เป็นระบบ
ความคิดที่ขวางทางก้าวหน้า ทำให้ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ไอเดียใหม่ๆ ในการทำงานหาได้จากการทำสิ่งเหล่านี้