‘ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ คว้ารางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ 2560

 

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2560 ในฐานะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่

 

19 กันยายน 2560 – บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดงานประกาศผลและมอบรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ครั้งที่ 14 ประจำปีพุทธศักราช 2560 ณ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานบริษัท เพื่อเชิดชูบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นแบบอย่างของการทำงานสร้างสรรค์และอุทิศตนเพื่อสังคม อันก่อให้เกิดการพัฒนาชีวิตของคนในสังคมต่อไป โดยมีคุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธี

ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ประจำปี 2560

 

ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ประจำปี 2560 และเมตตา อุทกะพันธ์ุ ประธานในพิธี

 

บุคคลที่ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ 14 ประจำปีพุทธศักราช 2560  ได้แก่  ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ที่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้อย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากตัวเองจนประสบผลสำเร็จ แล้วจึงนำประสบการณ์ที่ปฏิบัติจริงไปเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรทั่วทุกภูมิภาค จนเกิดเป็นโครงการต่าง ๆ มากมาย อาทิ ชมรมกสิกรรมธรรมชาติและศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาและขยายเครือข่ายแนวทางแห่งความพอเพียงนี้ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย

 

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ “อาจารย์ยักษ์” เป็นอดีตข้าราชการที่ทำงานตามเสด็จรับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในโครงการพระราชดำริ ผู้หักเลี้ยวชีวิตมาพิสูจน์ความจริงว่าแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาความพอเพียง คือแนวทางที่ช่วยให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง และเป็นเกษตรกรรมที่เอื้อต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมุ่งมั่นนี้ทำให้เกิดเป็น “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง” ก่อให้เกิดการขยายเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงได้มากถึง 46 ศูนย์

 

อาจารย์ยักษ์เลือกทิ้งอดีตในเมืองหันมาใช้ชีวิตเกษตรกรตามบรรพบุรุษ ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพียงข้อเดียว “ผมต้องการพิสูจน์ให้เกษตรกรเห็นว่า ทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสุขแท้จริง ยังรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และยังช่วยให้โลกที่กำลังร้อนระอุ ร่มเย็นลง”

ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ประจำปี 2560

 

โดยเริ่มจากการบุกเบิกพื้นที่ 40 ไร่ของพี่ชาย ที่บ้านมาบเอื้อง ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอ้อยทิ้งรกร้าง แห้งแล้ง ดินดาน มาปรับปรุงใหม่ ด้วยการขอกล้าไม้จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาขุดหลุมปลูก คลุมด้วยหญ้าแฝก รดด้วยน้ำหมักชีวภาพที่ทำเองด้วยตัวคนเดียวทั้งหมด

 

เวลาผ่านไป 20 ปีเขาสามารถสร้างป่าผืนใหญ่ได้สำเร็จ พื้นที่ 40 ไร่แห่งนี้กลายเป็น “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง” แหล่งเรียนรู้การทำเกษตรเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้ยืนต้นกว่า 300 ชนิด มีการอบรมการทำเกษตรปลอดสารพิษ การปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิดการบริหารพื้นที่ตามหลัก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” คือการปลูกป่าแบบป่าใช้ไม้ ป่าสำหรับใช้ผล และป่าสำหรับใช้เป็นฟืน ดังนั้นการปลูกป่า 3 อย่างให้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ หนึ่งให้ไม้กินได้ สองให้ไม้เศรษฐกิจ สามให้ไม้ใช้สอย และสี่คือการช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธาร แนวคิดนี้ถือเป็นการปลูกไม้ให้เกิดขึ้นในใจของคนในชุมชน เป็นจิตสำนึก เป็นความสัมพันธ์ที่สร้างความเกื้อกูล เป็นการสร้างป่าสร้างชุมชนที่ยั่งยืน

 

เพื่อขยายแนวคิดอันทรงคุณค่านี้ อาจารย์ยักษ์เริ่มหาแนวร่วมจากกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะใช้แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในวิถีการเกษตร เน้นการรณรงค์ให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมี ลดการพึ่งพาสารเคมีและปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หันกลับมาพึ่งตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้าน และจัดตั้งเป็น “ชมรมกสิกรรมธรรมชาติ” ในปี 2540

อาจารย์ยักษ์กับเหล่าลูกศิษย์จากเครือข่ายชมรมกสิกรรมธรรมชาติ

ชมรมจะเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องการทำกสิกรรมธรรมชาติ เริ่มจากการผลิตเอนไซม์ สมุนไพรธรรมชาติใช้เองในนาข้าวและพืชชนิดอื่น ๆ ทั้งพืชผักและไม้ผล รวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่ทดลองก็คือศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จากนั้นก็นำประสบการณ์ไปเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกร ขณะเดียวกันก็ศึกษา ค้นคว้า และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอ็นไซม์สมุนไพรธรรมชาติ สมุนไพรไล่แมลง โดยนำไปทดลองในพื้นที่เกษตรกรกว่า 50 จังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค

 

นอกจากนี้ยังก่อตั้ง “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” ซึ่งเป็นการรวบรวมระบบการศึกษาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  ในทุกด้านเอาไว้ โดยได้รับการสนับสนุนจากสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตรและได้รับการบริจาคที่ดินเพื่อจัดสร้างมหาวิชชาลัยที่จังหวัดสระแก้ว แนวคิดในการดำเนินงานคือ ต้องการสร้างบัณฑิตให้เป็นนักพัฒนาในท้องถิ่นของตนเอง

 

บุคคลในภาพ(จากซ้ายไปขวา)
รุ่งมณี เมฆโสภณ, นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน, ระพี อุทกะพันธุ์, ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร, เมตตา อุทกะพันธุ์,

ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์, อัศศิริ ธรรมโชติ และนวลจันทร์ ศุภนิมิตร

 

สิ่งที่อาจารย์ยักษ์สร้างนั้น นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ยังสามารถจุดประกายความคิดเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่ผู้คนมากมาย นักคิดเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ และหลายคนมีโอกาสนำแนวคิดที่ได้ไปปรับใช้และถ่ายทอดสร้างนักคิดใหม่ให้เพิ่มขึ้นรุ่นต่อรุ่นในแผ่นดินอีกมากมาย คณะกรรมการตัดสินได้ร่วมกันพิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นผู้ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ประจำปี พ.ศ. 2560

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า