ตามรอย กาหลมหรทึก: คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ จากหนังสือดังสู่ละครช่องวัน 31

คุณเคยเป็นติ่งอะไรสักอย่างจนต้องตามไปดูของจริงให้เห็นกับตาไหม? Event ตามรอยกาหลมหรทึก เกิดขึ้นมาเพราะความติ่งเช่นนี้แหละ สถานที่สำคัญต่างๆ รวมถึงสถานที่ ฆาตกรรมสะเทือนขวัญ ในช่วงปี พ.ศ. 2486 ที่ปรากฏในหนังสือ กาหลมหรทึก นั้นมีอยู่จริง จนเราอดรนทนไม่ได้ที่จะจัดทริป ตามรอยกาหลมหรทึก

การ ตามรอยกาหลมหรทึก ครั้งนี้ เราได้ไป 7 จุดสำคัญทั่วพระนครและธนบุรี ซึ่งจะมีที่ไหนบ้างนั้น แพรวสำนักพิมพ์ได้จัดให้ผู้โชคดี 10 ท่าน พร้อมผู้สื่อข่าวไปตามรอยกาหลมหรทึกกัน สนุกสุขสันต์ในวันตรุษจีนกันเลยทีเดียว อาจมีสปอยเนื้อเรื่องกาหลมหรทึกบางๆ แต่จะพยายามทำให้อ่านแล้วสงสัยต่อแล้วกันนะ ตามไปดูกันเถอะ

ตามรอยกาหลมหรทึก

คุณองอาจ จิระอร คุณจตุพล บุญพรัด และ ปราปต์
พร้อมด้วยผู้โชคดีจากการร่วมกิจกรรมใน FB แพรวสำนักพิมพ์

 

ตรอกศาลาต้นจันทร์ วัดระฆังโฆสิตาราม

เราเริ่มต้นที่ชุมชนศาลาต้นจันทร์ วัดระฆังโฆสิตาราม นำโดยวิทยากรกิติมศักดิ์มากๆ 2 ท่าน ท่านแรก คือพี่ฉ่ำ คุณองอาจ จิระอร ที่ปรึกษาสายงานสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ฯ (ก็ผู้บริหารบริษัทนั่นแหละจ้ะ) และน้องปราปต์ ผู้เขียนหนังสือกาหลมหรทึกนั่นเอง ที่ต้องเป็นสองท่านนี้เพราะ พี่ฉ่ำเป็นผู้รู้ทางประวัติศาสตร์แน่นปึ้ก ส่วนปราปต์นั้นก่อนจะเขียนหนังสือเล่มนี้ เขาได้มาเดินสำรวจแทบทุกซอกทุกมุม เพื่อสร้างฉากในนวนิยายที่สมจริง

ทุ่มเทกว่านี้มีอีกไหม !?!? แล้วใครจะแทนที่สองท่านนี้ได้ !?!?

เข้าเรื่อง ศาลาต้นจันทร์ที่เห็นนี้ไม่ใช่ของเดิม เพราะของเดิมนั้นย้ายไปปลูกที่เมืองโบราณแล้วเมื่อตอนที่มีการขยายถนนอรุณอมรินทร์ ในภาพนี้คือ ‘ศาลศาลาต้นจันทน์’ ซึ่งชาวบ้านร่วมทุนสร้างขึ้นมาแทนที่ศาลาต้นจันทน์หลังเดิมที่ถูกย้ายไป 

ถัดจากศาลนี้จะมีตรอกเล็กๆ อยู่ติดกัน เมื่อเดินเข้ามาเราจะเจอบ้านหลังหนึ่งตามภาพด้านล่าง ซึ่งน้องปราปต์เล่าว่า คือภาพต้นแบบของบ้านที่เกิดเหตุฆาตกรรม…

30 ตุลาคม พ.ศ.2486 ได้เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมสะเทือนขวัญในบ้านหลังหนึ่ง บนโต๊ะไม้กลมตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งที่เต็มไปด้วยชามกับข้าว 

เลือดแห้งเกรอะกรัง กลิ่นคละคลุ้ง

แมลงวันกระพือปีกบินตอม

ศีรษะด้านหลังของเจ้าตัวแตกยุบ

ของเหลวและไขมันภายในไหลทะลักออกมา

รอยแผลนั้นเกิดจากหินลับมีด !!!

ความโหดร้ายของการฆาตกรรมครั้งนี้นั้น ยังไม่น่าฉงนเท่ากับปริศนาที่ฝากไว้บนร่างกายห้าจุด หนึ่งคำเหนือหน้าผาก สองคำหลังข้อมือซ้าย – ขวา กับอีกสองคำใต้ตาตุ่มทั้งสองข้าง

[su_note text_color=”#de120f” radius=”2″]เหย้า เจ้า แพะ ทิ้ง พงส์[/su_note]

 

ชุมชนวังเดิม

จากจุดแรก คณะผู้ตามรอยกาหลมหรทึก เดินทางมาวังเดิม หรือพระราชวังกรุงธนบุรี ด้วยรถตู้ พระราชวังนี้ เดิมคือวังหลวงในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ ชุมชนนี้ปรากฏในหนังสือกาหลมหรทึก ด้วยเช่นกัน…

4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 คดีฆาตกรรมต่อเนื่องสะเทือนขวัญได้เกิดขึ้นที่ชุมชนแห่งนี้

กลิ่นเหม็นเน่า

ถูกแขวนคอ

พร้อมตรึงแขนขา เหมือนจับขึงร่าง

รอยสักปริศนา 5 คำ ที่หน้าผาก ข้อมือ และข้อเท้า

[su_note text_color=”#b6200e” radius=”2″]ต่อ ขัง ลง พา โหน[/su_note]

 

 

ศาลเจ้าเกียนอันเกง

จากชุมชนวังเดิม พี่ฉ่ำ องอาจ และปราปต์ ได้พาเราตามรอยกาหลมหรทึกมาที่ศาลเจ้าเกียนอันเกง หรือเกียนอันเก๋ง หรือก็คือศาลเจ้าแม่กวนอิม ศาลเจ้านี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในชุมชนกุฎีจีน ข้างวัดกัลยาณมิตร ถ้ามาจากฝั่งพระนครสามารถข้ามเรือตรงท่าราชินีได้ แต่พวกเรามาจากทางฝั่งธนบุรี จึงลงรถที่วัดกัลยาณมิตรแล้วเดินเลียบริมน้ำเจ้าพระยาท่ามกลางแดดแผดเผามา ศาลเจ้าแห่งนี้ว่ากันว่ามีมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงธนบุรี และว่ากันว่าก่อนสมเด็จพระเจ้าตากสินจะกู้เอกราช ท่านมาเสี่ยงเซียมซีที่นี่ว่าจะได้รับชัยชนะ จึงมีความมั่นใจ และสุดท้ายก็ชนะจริงๆ
และขอบอกเลยว่า โดยส่วนตัวมาที่นี่หลายครั้ง เซียมซีแม่นจริงๆ ติดอันดับความแม่น 1 ใน 3 เซียมซีแม่น นะจ๊ะ!!

และที่นี่เอง ในตอนจบของทั้งหนังสือและละครกาหลมหรทึก

ความจริงเพียงหนึ่งเดียว ที่สุดจะคาดเดา

เรื่องที่จะทำให้ผู้คนอึ้ง

แล้วอุทานซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เป็นไปได้อย่างไร

จะปรากฏขึ้น!!

 

 

ย่านกุฎีจีน

จบจากการฟังบรรยายที่ศาลเจ้าเกียนอันเกง ชาวคณะกาหลมหรทึกก็เดินต่อกันมาในชุมชนกุฎีจีน ซึ่งที่นี่พี่ฉ่ำ องอาจ และปราปต์ ได้พาเรามาดูเตาอบโบราณซึ่งอบขนมฝรั่งกุฎีจีนด้วยถ่าน และเหลือร้านที่ผลิตขนมฝรั่งกุฎีจีนอยู่ร้านเดียวที่ใช้เตาอบแบบโบราณ หลังจากมาดูการอบขนมจากเตาโบราณจนแน่นขนัดเต็มพื้นที่แล้ว วิทยากรก็ได้พาชาวคณะกาหลมหรทึกไปช้อปปิ้งขนมฝรั่งกุฎีจีนกันอย่างเริงร่า

แต่ใครจะรู้ว่าเตาอบแบบโบราณที่เอาไว้ใช้อบขนมฝรั่งกุฎีจีนนี้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ชายคนหนึ่งถูกฆาตกรรมจนต้องจบชีวิตภายในเตาอบแบบนี้ ในสภาพ

อวัยวะถูกหั่นแยก

แขน ต้นขา หน้าแข้ง ลำตัวไหม้เกรียม

ศีรษะ สองมือ สองเท้าตั้งแต่ส่วนข้อลงไปถูกทิ้งไว้ ไม่ถูกเผา

และแน่นอน พบปริศนาฆาตกรรม 5 คำ เฉกเช่นศพอื่น

[su_note text_color=”#b6200e” radius=”2″]หล้อง สิ ไห้ จับ เกิด[/su_note]

 

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

หลังจากช้อปปิ้งขนมเสร็จเรียบร้อย ชาวคณะเดินเท้ากันต่อมาจากชุมชนกุฎีจีนมาถึงวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป้าหมายหลักคือ กุฏิคณะ 11 นั่นเอง ตอนนี้กุฏิคณะ 11 ทาสีใหม่อร่ามเหลืองเรืองศรี เห็นง่าย ใครอยากไปตามรอยกาหลมหรทึกบ้าง รับรองไม่หลงแน่นอน
สมัยก่อนชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดรั้วเหล็ก เพราะรั้วมีลักษณะสูงโปร่ง ปลายรั้วบางส่วนเป็นรูปอาวุธ 3 อย่าง ได้แก่ ขวานสามหมื่น ปืนสามกระบอก และหอกสามแสน (คล้องจองกันดีจัง) ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 3 ไม่ทรงโปรด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ผู้สั่งรั้วเหล็กนี้เข้ามาจึงทูลขอมาให้เป็นกำแพงวัดแทน
นอกจากนี้ วัดประยุรวงศาวาสยังมีเจดีย์สีขาวทรงกลมเป็นสัญลักษณ์ประจำวัด และมีเขามอด้วย ซึ่ง เขามอ นี้ถูกกล่าวถึงทั้งในนวนิยายของปราปต์ทั้งสองเรื่อง ได้แก่ ‘กาหลมหรทึก’ และ ‘นิราศมหรรณพ’ 
อ่านนิราศมหรรณพ คลิก

ย้อนกลับไปวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2486 เกิดเหตุระทึกที่นี่!!! กุฏิคณะ 11 วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้ปรากฏคำที่สักปรากฏบนผิวหนังบริเวณหน้าผาก หลังข้อมือ และใต้ตาตุ่มทั้งสองข้างบนร่างร่างหนึ่ง

แต่คำห้าคำนั้นต่างไป

ลายมือก็ต่างกัน

ที่น่าประหลาดคือ

บุคคลผู้นี้ยังมีชีวิตอยู่ !!!

[su_note text_color=”#de120f” radius=”2″]เจ่า กิ่ง แล้ง แตก เกาะ[/su_note]

 

สะพานภาณุพันธ์

แน่นอนว่าจากวัดประยุรวาศาวาสฯ ช่วงเที่ยงครึ่ง เราจะไม่เดินเท้าข้ามมาทางเยาวราช!! ชาวคณะนั่งรถตู้เพื่อมาดู “สะพานภาณุพันธุ์” อีกหนึ่งสถานที่ซึ่งปรากฏเหตุการณ์ฆาตกรรมในหนังสือกาหลมหรทึก และทางกองละครกาหลมหรทึก ทางช่องวัน 31 ก็ได้จำลองฉากสะพานนี้ไว้เหมือนของจริงอย่างไม่มีที่ติ

สะพานนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามให้ว่า “ภาณุพันธุ์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ สมเด็จพระอนุชา สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาพิมุข เจ้าฟ้าภารุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เนื่องจากสมเด็จพระอนุชาทรงประทับอยู่ที่วังบูรพาภิรมย์ ใกล้กับสะพานแห่งนี้นั่งเอง

บริเวณนี้ คือที่สุดท้ายที่มีผู้พบชายชายไทยวัยย่างสามสิบ ซึ่งต่อมา มีผู้พบศพที่ก้นคลองโอ่งอ่าง ในลักษณะเหมือนจมน้ำตาย ที่จริงแล้ว นี่คือศพแรกของคดีฆาตกรรมรอยสักคำห้าคำ เพราะพบศพเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2486

และเช่นเดียวกัน ปริศนาที่ฝากไว้บนร่างกายห้าจุด

ต่างลายมือและถ้อยคำ

หนึ่งคำเหนือหน้าผาก

สองคำหลังข้อมือซ้าย – ขวา

อีกสองคำใต้ตาตุ่มทั้งสองข้าง

[su_note text_color=”#de120f” radius=”2″]สงค์ ผาก มา โจน รา[/su_note]

 

ย่านสามแพร่ง

จากสะพานภาณุพันธุ์ คณะตามรอยกาหลมหรทึก ลงรถตู้ที่วัดมหรรณพาราม แล้วเดินเท้ามาจนถึงย่านสามแพร่ง ยอมรับว่าทุกคนสู้ไม่ถอยจริงๆ เพราะแดดร้อนฉลองตรุษจีนมากๆ

ย่านนี้เดิมเป็นที่ประทับของพระราชโอรส 3 พระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ (แพร่งภูธร) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (แพร่งนรา) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ (แพร่งสรรพศาสตร์)

และที่ย่านสามแพร่งนี้เอง ณ ร้านทำขนมฝรั่งกุฎีจีนแห่งหนึ่ง ได้พบศพหนึ่งถูกฆาตกรรมสะเทอนขวัญหั่นศพออกเป็นชิ้นๆ อยู่ในเตาอบขนมโบราณ!!

 

วัดโพธิ์

สถานที่สำคัญที่สุดที่พวกเราทุกคนตามรอยมาคือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ การเดินทางมาวัดโพธิ์นั้น พวกเราเดินมาจากย่านสามแพร่ง ใช่แล้ว เดินตอนแดดจัดๆ

ถ้าไม่รักจริงทนไม่ไหวแน่นอน

ปัจจุบันวัดโพธิ์เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 วัดโพธิ์ถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย จึงมีชาวต่างชาติแวะเวียนมาที่นี่มากมาย

บริเวณเสาโดยรอบระเบียงรอบๆพระอุโบสถ จะมีจารึกโคลงกลอนบนแผ่นหินอ่อนที่ประดับไว้ ที่วัดโพธิ์นี้คือจุดศูนย์กลางของสถานที่เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมสะเทือนขวัญทั้งหมด และเป็นสถานที่ซ่อนปริศนาที่ฆาตกรใช้วางแผนฆาตกรรมในเรื่องกาหลมหรทึกด้วย นั่นคือ กลโคลงพรหมพักตร์ ซึ่งปราปต์ได้นำมาใช้เป็นต้นแบบในการถอดปริศนาคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญในกาหลมหรทึกด้วย

 

ที่วัดโพธิ์นี้เอง กิจกรรมสุดระทึกจากทีมงานและผู้เขียนกาหลมหรทึกก็คือ ให้ตามหา “กลโคลงพรหมพักตร์” นี้ให้เจอ!! ทั้ง staff ทั้งผู้ร่วมกิจกรรม ทั้งผู้สื่อข่าว ต่างเดินวนกันไปทั้งรอบนอกรอบในระเบียงรอบพระอุโบสถอย่างโกลาหลอึกทึกครึกโครม ดุจความหมายของชื่อเรื่อง กาหลมหรทึก ไม่มีผิด

เมื่อจบกิจกรรมทุกคนล้วนประทับใจและมีความสุข แม้จะเหนื่อยร้อนแค่ไหนก็ไม่หวั่น ทั้งยังฝากให้ติดตามอ่านหนังสือ กาหลมหรทึก และติดตามชมละคร กาหลมหรทึก ซึ่งจะฉายทางช่องวัน 31 กันอย่างกระตือรือร้น

ถือเป็นการจบกิจกรรมของชาวติ่งกาหลฯ โดยสมบูรณ์

 

ดูหนังดูละครแล้วอยากย้อนอ่านหนังสือ เพื่อเก็บรายละเอียดสุดระทึกของกาหลมหรทึก

ขอเชิญคลิกที่นี่

และนี่คือตัวอย่างของละคร ที่ชาวติ่งหนังสือกาหลมหรทึก อย่างเราคอยแล้วคอยเล่า เฝ้าแต่รอจ้าาาาา

ละครเรื่องใหม่ 'กาหลมหรทึก' เร็วๆนี้!

เปิดประวัติการณ์ครั้งใหม่บนหน้าจอโทรทัศน์กับการรวมที่สุดของนักแสดงยอดฝีมือ ในสุดยอดละครแห่งปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ “กาหลมหรทึก” ละครที่จะสร้างความอึกทึกครั้งยิ่งใหญ่ เตรียมพร้อมโกลาหลกันทั่วทั้งพระนคร เร็วๆ นี้ ทาง #ช่องวัน31ติดตามทุกความมหรทึกได้ที่นี่! ​#กาหลมหรทึก

โพสต์โดย กาหลมหรทึก เมื่อ วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2018


บทความอื่นๆ

10 เรื่องอึกทึก ที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับกาหลมหรทึก

2 thoughts on “ตามรอย กาหลมหรทึก: คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ จากหนังสือดังสู่ละครช่องวัน 31

  1. Cartoon says:

    เขียนดีมากค่ะ อยากจะตามรอยแอดมินเลย ไว้ไปแล้วจะมาเล่าในอีกมุมให้ฟังนะคะ

    • AMARINBOOKS TEAM says:

      ^_^ พกร่ม พกน้ำ พกขนมติดไปด้วยจ้า ไปแล้วมาเล่ากันมั่งนะ

Comments are closed.

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า