[ทดลองอ่าน] สุภาพบุรุษในมอสโก / แพรวสำนักพิมพ์

A Gentleman in Moscow

สุภาพบุรุษในมอสโก

เอมอร์ โทวล์ส เขียน

ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ แปล

ติดตามการวางจำหน่ายได้ที่เพจ แพรวสำนักพิมพ์

(เวอร์ชันนี้สำหรับทดลองอ่าน ไม่ใช่ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์) 

——————————————————————————————————————-

ภาคหนึ่ง

 

1922

หีบท่านทูต

 

เวลาหกโมงครึ่ง วันที่ยี่สิบเอ็ด เดือนมิถุนายน ปี 1922 เมื่อเคานต์อเล็กซานเดอร์ อีลิช รอสตอฟ ถูกคุมตัวออกจากประตูพระราชวังเครมลินไปทางจุตรัสแดง อากาศเย็นสบาย ท้องฟ้าแจ่มจ้า เขาก้าวเดินพลางยืดอก สูดหายใจเต็มปอดเหมือนตอนกำลังว่ายน้ำ ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าจัดจ้าน ตัดกับสีสันยอดโดมมหาวิหารนักบุญเบซิล ซึ่งเจตนาทาสีให้ขับกันและกัน ชมพู เขียวและทอง ทอประกายสดใส ราวกับการชื่นชมบูชาพระเจ้าคือจุดประสงค์หนึ่งเดียวของการมีศาสนา  แม้แต่สาวๆ บอลเชวิคซึ่งยืนเสวนากันอยู่ตรงหน้าต่างห้างสรรพสินค้าของรัฐ ก็ดูจะแต่งกายสีสดใสรับกับบรรยากาศช่วงท้ายของฤดูใบไม้ผลิ

“สวัสดี คุณพ่อค้า” ท่านเคานต์ร้องทักฟีโอดอร์ที่ขอบจัตุรัส “แบล็กเบอร์รีมาเร็วนะปีนี้!”

ท่านเคานต์ก้าวเดินว่องไวโดยไม่รอฟังคำตอบจากพ่อค้าที่กำลังงงงวย หนวดซึ่งจัดทรงด้วยขี้ผึ้งสยายออกเหมือนปีกนกนางนวล เขาเดินผ่านทางประตูรีเซอร์เร็กชั่น หันหลังให้พุ่มไลแลคแห่งสวนอเล็กซานเดอร์ และมุ่งหน้าไปยังจัตุรัสเธียเตอร์ ที่ตั้งของโรงแรมเมโทรโปลอันสง่างาม เมื่อมาถึงประตูทางเข้า ท่านเคานต์ก็ขยิบตาให้ปาเวล พนักงานเปิดประตูกะบ่าย แล้วหันมาหาทหารสองนายที่เดินตาม พร้อมยื่นมือให้จับอำลา

“ขอบคุณเธอทั้งสองที่มาส่งฉันโดยสวัสดิภาพ จากนี้คงไม่ต้องรบกวนให้ช่วยอะไรแล้วล่ะ”

แม้ทั้งสองเป็นทหารร่างกำยำ แต่ก็ยังต้องเงยหน้ามองท่านเคานต์ผ่านกระบังหมวก ด้วยสมาชิกสิบชั่วอายุในตระกูลรอสตอฟล้วนสูงสง่ากว่าหนึ่งร้อยเก้าซิบเซนติเมตรเช่นท่านเคานต์

“ยังต้องไปต่อ” คือคำตอบของทหารคนที่ดูห้าวกว่า เขาแตะพานท้ายปืนตนเอง “เราต้องส่งคุณให้ถึงห้อง”

ในล็อบบี้ ท่านเคานต์โบกมือทักทายทั้งอาร์คาดีผู้สุขุม (ซึ่งดูแลแผนกต้อนรับส่วนหน้า) และวาเลนตีนาผู้น่ารัก (ซึ่งกำลังปัดฝุ่นรูปปั้น) แม้ท่านเคานต์จะโบกมือทักทายทั้งสองแบบนี้มาแล้วนับร้อยนับพันครั้ง ทั้งสองกลับเบิ่งตาโตจ้องมอง เป็นปฏิกิริยาตอบรับแบบที่เราจะเจอเมื่อมาถึงงานเลี้ยงอาหารค่ำโดยลืมสวมกางเกง

เมื่อเดินผ่านเด็กหญิงผู้โปรดปรานสีเหลืองและกำลังนั่งอ่านนิตยสารที่เก้าอี้ตัวโปรดในล็อบบี้ ท่านเคานต์ก็หยุดกึกตรงหน้าต้นปาล์มกระถาง แล้วหันมาพูดกับผู้คุมทั้งสอง

“ขึ้นบันไดหรือใช้ลิฟต์ดีล่ะ คุณสุภาพบุรุษ”

ทหารทั้งสองมองหน้ากัน มองหน้าท่านเคานต์ แล้วหันมามองหน้ากัน ชัดเจนว่าตัดสินใจไม่ได้

ถ้าอยู่ในสนามรบแล้วจะไปสู้ใครเขาได้ ท่านเคานต์นึก หากแค่จะขึ้นชั้นบนด้วยวิธีไหน ยังเลือกไม่ได้เลย

“บันไดก็แล้วกัน” ท่านเคานต์ถือวิสาสะเลือกให้ แล้วก้าวขึ้นบันไดทีละสองขั้น ซึ่งเป็นนิสัยติดตัวตั้งแต่สมัยเรียน

พอถึงชั้นสาม ท่านเคานต์เดินตามทางเดินปูพรมแดงสู่ห้องสวีตของเขา ซึ่งประกอบด้วยห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับประทานอาหาร และห้องนั่งเล่นกว้างใหญ่ มีหน้าต่างสูงเกือบสามเมตรพร้อมวิวต้นลินเดนที่จัตุรัสเธียเตอร์ และ ณ ที่นั่นเอง เรื่องหยาบต่ำประจำวันรอคอยเขาอยู่ เบื้องหน้าประตูห้องที่เปิดอ้า เขาพบร้อยเอกจากหน่วยทหารผู้คุม ยืนอยู่กับปาชาและเปตยา พนักงานยกกระเป๋าของโรงแรม สองหนุ่มสบตาท่านเคานต์อย่างกระอักกระอ่วน เห็นได้ชัดว่าพวกเขาถูกบังคับกะเกณฑ์ให้ทำภารกิจบางอย่างที่ไม่อยากทำ ท่านเคานต์กล่าวแก่นายทหารคนนั้นว่า

 

“นี่มันเรื่องอะไรกันหรือ ผู้กอง”

ผู้กองดูไม่แปลกใจนักกับคำถาม เขาถูกฝึกมาอย่างดีให้รักษาปฏิกิริยานิ่งเฉย

“ผมมาพาคุณไปที่พักของคุณ”

“ก็นี่ คือที่พักของผม”

ผู้กองตอบพร้อมเผลอยิ้มบางๆ “เกรงว่าตอนนี้ไม่ใช่เสียแล้วครับ”

 

 

ปาชาและเปตยายังอยู่ที่ห้องสวีต ผู้กองนำท่านเคานต์และทหารผู้คุมขึ้นบันไดพนักงาน ซึ่งซ่อนอยู่หลังบานประตูแสนธรรมดา ณ แกนกลางของโรงแรม ช่องบันไดแสงสลัวหักเลี้ยวซ้ายทีขวาทีทุกห้าขั้นคล้ายบันไดของหอระฆัง พวกเขาเดินขึ้นไปสามชั้น ก็ถึงประตูที่เปิดออกสู่เฉลียงทางเดินแคบๆ ที่มีห้องน้ำและห้องนอนหกห้อง หน้าตาชวนให้นึกถึงห้องพักของนักบวชในอาราม ห้องใต้หลังคานี้เดิมสร้างไว้เป็นที่พักของบัตเลอร์และแม่บ้านประจำตัวที่ติดตามแขกของโรงแรม ต่อมาเมื่อธรรมเนียมการเดินทางพร้อมคนรับใช้ติดสอยห้อยตามเริ่มพ้นยุคไป ห้องที่ไม่ได้ใช้งานเหล่านี้จึงมีไว้ใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินตามแต่โอกาส ซึ่งนับแต่นั้นมันก็กลายเป็นที่เก็บของ เก็บไม้กระดาน เฟอร์นิเจอร์หักพัง และขยะบรรดามี

ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกันนั้น ทางโรงแรมได้จัดแจงเคลียร์ข้าวของออกจากห้องห้องหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ช่องบันไดที่สุด เหลือไว้แต่เตียงเหล็ก โต๊ะเขียนหนังสือสามขา และฝุ่นหนานับทศวรรษ มุมใกล้ประตูมีตู้เก็บของทรงแคบเหมือนตู้โทรศัพท์ คล้ายมีคนนึกสงสารเอามาเติมให้ ส่วนเพดานนั้นลาดลงตามมุมหลังคา โดยเอียงต่ำลงเรื่อยๆ จากประตูไปยังผนัง บริเวณเดียวของผนังห้องชั้นนอกที่ท่านเคานต์ยืนตัวตรงได้โดยศีรษะไม่ชนเพดาน คือบริเวณหน้าต่างหลังคา ซึ่งมีขนาดเท่ากระดานหมากรุก

จากโถงทางเดิน ทหารสองคนที่คุมตัวท่านเคานต์มองดูเหตุการณ์อย่างสะใจ ผู้กองคนดีชี้แจงว่าเขาสั่งให้พนักงานยกกระเป๋าทั้งสองช่วยท่านเคานต์ย้ายข้าวของเท่าที่ห้องพักใหม่จะพอรองรับได้

“แล้วข้าวของที่เหลือล่ะ”

“ก็จะกลายเป็นสมบัติของประชาชน”

เล่นกันแบบนี้สินะ ท่านเคานต์คิด

“ได้สิ”

ท่านเคานต์ลงบันไดไปเร็วปร๋อ ทหารผู้คุมเร่งฝีเท้าตาม กระบอกปืนยาวกระทบผนังส่งเสียงดัง พอถึงชั้นสาม เขาก็มุ่งหน้าตามโถงทางเดิน ตรงไปยังห้องสวีต พนักงานยกกระเป๋าสองคนเงยหน้ามอง สีหน้าอมทุกข์

“ไม่เป็นไรนะพวก” ท่านเคานต์ปลอบใจ แล้วเริ่มชี้สั่งการ “ชิ้นนี้ ชิ้นนั้น แล้วก็หนังสือทั้งหมด

ในบรรดาเฟอร์นิเจอร์ที่จะได้ย้ายไปยังห้องพักใหม่ มีเก้าอี้พนักสูงสองตัว โต๊ะรับแขกสไตล์ตะวันออกของท่านย่า จานชามกระเบื้องชุดโปรด เขาเลือกโคมไฟตั้งโต๊ะสองตัวทำจากไม้มะเกลือแกะสลักเป็นรูปช้าง ภาพเหมือนของน้องสาวนามเฮเลนา ซึ่งจิตรกรใหญ่เซรอฟวาดไว้เมื่อครั้งพำนักที่บ้านโมงยามความเขษมเป็นช่วงสั้นๆ ในปี 1908 เขายังไม่ลืมหีบหุ้มหนังซึ่งมีคนสั่งทำให้เขาโดยเฉพาะจากร้านแอสเปรย์ในกรุงลอนดอน เพื่อนสนิทของเขา มิชคา ตั้งชื่อให้หีบนั้นอย่างเหมาะเจาะว่า “ท่านทูต”

 

มีคนช่วยสงเคราะห์นำหีบเดินทางใบหนึ่งของท่านเคานต์มาไว้ในห้องนอน ทันทีที่พนักงานยกกระเป๋าทั้งสองขนของทั้งหมดขึ้นชั้นบน ท่านเคานต์ก็จัดแจงเอาเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวลงหีบเดินทาง เมื่อสังเกตเห็นทหารสองนายหมายตาบรั่นดีสองขวดบนหิ้ง เขาเลยคว้าใส่หีบมาด้วย เมื่อขนหีบขึ้นไปเรียบร้อย ในที่สุดเขาก็ชี้ไปที่โต๊ะเขียนหนังสือ

พนักงานยกกระเป๋าสองคนเข้าไปจับมุมโต๊ะเตรียมยก เครื่องแบบฟ้าสดเริ่มเปรอะเปื้อนเพราะงานที่ทำ

“หนักเป็นตันเลยนะเนี่ย” เด็กหารือกัน

“ปราสาทคือปราการของพระราชา” ท่านเคานต์ให้ข้อสังเกต “โต๊ะเขียนหนังสือคือปราการของสุภาพบุรุษ”

ช่วงที่พนักงานยกกระเป๋าทั้งสองยกโต๊ะเก้กังออกมาตามโถงทางเดิน นาฬิกาตั้งพื้นทรงสูงประจำตระกูลซึ่งถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ตีบอกเวลาแปดนาฬิกาอย่างอาดูร ผู้กองกลับไปพักใหญ่แล้ว ส่วนทหารผู้คุมก็เริ่มเบื่อหน่ายแทนจะระราน ยืนพิงผนังพลางเขี่ยขี้บุหรี่ลงบนพื้นไม้ปาร์เกต์ ขณะห้องนั่งเล่นกว้างใหญ่กำลังอาบแสงแดดจ้าแห่งครีษมายันของกรุงมอสโก

ท่านเคานต์เดินมาตรงหน้าต่างมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของห้องสวีต ตาเหม่อเศร้า ใจนึกถึงความหลัง เขาเคยยืนเหม่อตรงนี้มาแล้วกี่ชั่วโมง กี่เช้าที่เขาสวมเสื้อคลุมพร้อมถ้วยกาแฟในมือ เฝ้ามองดูผู้โดยสารเดินทางมาจากนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ก้าวออกจากแท็กซี่ เหนื่อยล้าจากการเดินทางโดยรถไฟมาตลอดคืน กี่ค่ำคืนแห่งฤดูหนาวที่เขายืนมองหิมะโปรยปรายโดยมีเงาร่างคนตัวสั้นหนาเดินผ่านใต้แสงไฟถนน ชั่วขณะนั้นเอง ที่ด้านเหนือสุดของจัตุรัส นายทหารหนุ่มแห่งกองทัพแดงคนหนึ่งเร่งรุดขึ้นบันไดโรงละครบอลชอย หลังพลาดการแสดงครึ่งชั่วโมงแรกของค่ำคืนไปแล้ว

ท่านเคานต์ยิ้มเมื่อนึกถึงตนเองในวัยหนุ่ม ติดนิสัยชอบเข้าโรงละครในช่วงอองแทรค[1] หลังจากยืนยันกับเพื่อนฝูงในสโมสรชาวอังกฤษว่าเขาดื่มต่อได้อีกแก้วเดียว เขาก็จบตรงแก้วที่สาม ก่อนจะรีบขึ้นรถม้าซึ่งรออยู่ด้านนอก เหาะข้ามเมือง แล้วเดินลิ่วขึ้นบันไดโรงละคร หายเข้าไปในประตูทองคำ เช่นเดียวกับชายหนุ่มคนนี้เอง และในช่วงที่นักบัลเลต์กำลังแสดงโชว์ลีลางดงามบนเวที ท่านเคานต์ก็จะกระซิบขอทางเป็นภาษาฝรั่งเศส เอ็กคูเซมัวส์ เพื่อไปยังที่นั่งประจำในแถวที่ยี่สิบ ซึ่งมีวิวพิเศษให้เล็งบรรดาสุภาพสตรีในบ็อกซ์ส่วนตัวได้ถนัดตา

สายเสมอ… ท่านเคานต์คิดพลางถอนใจ รสชาติอันโอชะของวัยหนุ่มสาว

จากนั้นเขาก็หันหลังกลับทันควัน และเดินสั่งลาห้องสวีต เริ่มด้วยการชื่นชมพื้นที่กว้างใหญ่ของห้องนั่งเล่น ซึ่งมีโคมไฟระย้าถึงสองช่อ ชื่นชมแผงผนังทาสีสวยของห้องดินเนอร์เล็ก พร้อมกลไกซับซ้อนของลูกบิดประตูทองเหลืองสำหรับล็อกประตูสองชั้นของห้องนอน พูดได้ว่าเขาสำรวจการตกต่างภายในราวกับลูกค้าที่มาดูห้องเป็นครั้งแรก พอเข้าห้องนอน ท่านเคานต์ก็มาหยุดที่โต๊ะหน้าหินอ่อนซึ่งมีไว้วางของสะสมแปลกตา เขาหยิบกรรไกรเล่มโปรดของน้องสาว ตัวกรรไกรทำเป็นรูปนกกระยาง ใบมีดยาวทำเป็นจงอยปากนก สกรูสีทองตรงจุดหมุนแทนนัยน์ตา ตัวกรรไกรแสนบอบบางจนเขาแทบสอดนิ้วเข้าไปในห่วงไม่ได้

ท่านเคานต์มองห้องพักจากด้านหนึ่งไปจรดอีกด้าน กวาดตาดูว่ามีอะไรบ้างที่ต้องทิ้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นสมบัติของรักของหวง เครื่องเรือน และศิลปวัตถุใดก็ตามที่เขาคัดมาที่ห้องสวีตนี้เมื่อสี่ปีก่อน ก็เรียกได้ว่าผ่านการคัดสรรมาดีที่สุดดุจร่อนเมล็ดข้าวออกจากแกลบ ทันทีที่ทราบข่าวซาร์ถูกประหารชีวิต ท่านเคานต์ก็มุ่งหน้าออกจากกรุงปารีสทันที ใช้เวลาเดินทางยี่สิบวันดั้นด้นข้ามหกประเทศ หลบหลีกการรบพุ่งของแปดกองพันจากหกประเทศ จนในที่สุดก็มาถึงบ้านโมงยามความเขษมเมื่อวันที่เจ็ดของเดือนสิงหาคม ปี 1918 ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเป้ติดหลังเพียงใบเดียว เขาพบว่าแม้สถานการณ์ในชนบทเปราะบางพร้อมลุกฮือ และคฤหาสถ์ก็จมอยู่ในอารมณ์วิตก แต่ท่านย่าหรือเคาน์เตสยังคงนิ่งสงบตามนิสัยของท่าน

“ซาชา” ท่านย่ากล่าวโดยไม่ลุกจากเก้าอี้ “ดีใจเหลือเกินที่หลานมา ท่าจะหิวน่าดู มาดื่มชากับย่าสิ”

หลังจากเขาอธิบายถึงความจำเป็นที่ท่านต้องเดินทางออกจากประเทศ และอธิบายการเดินทางที่เขาตระเตรียมไว้ให้ เคาน์เตสก็ตระหนักดีว่าท่านไม่มีทางเลือกอื่น ท่านยังเข้าใจอีกด้วยว่าแม้คนรับใช้ทุกคนเต็มใจติดสอยห้อยตาม แต่ท่านมีผู้ติดตามได้เพียงสองคนเท่านั้น และยังตระหนักอีกด้วยว่า ทำไมหลานชายคนนี้ ทายาทคนเดียวที่ท่านเลี้ยงมาตั้งแต่วัยสิบขวบ จึงไม่อาจร่วมทางไปกับท่านได้

เมื่อครั้งท่านเคานต์อายุเจ็ดขวบ เขาแพ้เกมในเกมหมากฮอสกับเพื่อนข้างบ้าน ราบคาบถึงขั้นต้องหลั่งน้ำตาและก่นด่าสาปแช่ง กระดานล้ม ตัวหมากกระจายเกลื่อนพื้น ท่านพ่อเคืองที่ลูกชายไร้น้ำใจนักกีฬา จึงสั่งสอนลูกและสั่งให้ขึ้นไปห้องนอนโดยไม่ต้องกินมื้อเย็น ท่านเคานต์น้อยยึดกำชายผ้าห่มแน่นอย่างขมขื่น ท่านย่าเดินเข้ามาหาในห้อง นั่งลงที่ปลายเตียงแล้วปลอบ “ความพ่ายแพ้น่ะไม่มีอะไรดีให้พูดถึงหรอก” ท่านเริ่ม “ และเด็กบ้านโอโบเลนสกีคนนั้นก็น่ารำคาญนัก แต่ซาชาหลานรัก ทำไมหลานถึงยอมให้เขาได้สาแก่ใจด้วยการแสดงออกอย่างนั้นล่ะ” และด้วยสำนึกเช่นนี้เอง ท่านเคานต์และท่านย่าก็อำลากันโดยปราศจากน้ำตา ณ ท่าเรือปีเตอร์ฮอฟ จากนั้นท่านเคานต์ก็กลับมาเพื่อดูแลการปิดคฤหาสน์ประจำตระกูล

ลำดับงานที่ต้องทำคือกวาดปล่องไฟ รื้อของออกจากตู้เก็บอาหาร ห่มห่อเฟอร์นิเจอร์ ก็ไม่ต่างจากเมื่อครอบครัวเตรียมเดินทางกลับเซนต์ปีเตอร์เบิร์กตามฤดูกาล ต่างไปก็เพียงครั้งนี้ต้องปล่อยหมาและม้าออกจากคอก และปลดบรรดาคนรับใช้ให้พ้นจากหน้าที่ หลังจากคัดเฟอร์นิเจอร์ชิ้นงามที่สุดบางชิ้นของตระกูลรอสตอฟใส่รถม้าเพียงหนึ่งตู้ ท่านเคานต์ก็ลั่นดานประตู แล้วรุดไปยังมอสโก

คิดดูแล้วก็แปลกดี ท่านเคานต์นึกขณะเตรียมตัวพร้อมลาจากห้องสวีต ตั้งแต่จำความได้เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะกล่าวอำลาเพื่อนฝูงญาติมิตร เรามาส่งพ่อแม่และพี่น้องที่สถานีรถไฟ เราไปเยี่ยมญาติๆ ไปเข้าโรงเรียนประจำ ไปประจำการในกรมกอง เราแต่งงาน เดินทางไปต่างประเทศ ส่วนหนึ่งของประสบการณ์มนุษย์คือการต้องเอามือกุมไหล่ผู้คนอยู่เป็นประจำ กล่าวอวยพรให้เขาโชคดีมีชัย แล้วปลอบใจตัวเองว่าอีกไม่นานคงได้ยินข่าวคราว

ทว่าประสบการณ์เหล่านี้ไม่ได้เตรียมใจเราให้กล่าวอำลาสมบัติแสนรัก และแม้ประสบการณ์จะสอนกันได้ เราก็คงไม่อยากเรียน เพราะเอาเข้าจริง เรารักและหวงแหนสมบัติข้าวของยิ่งกว่าญาติมิตรเสียอีก เราขนสมบัติบรรดามีติดตัวไปตามที่ต่างๆ แม้จะต้องลำบากลำบนหรือมีค่าใช้จ่ายในการขนย้ายเราก็ยอม เราหมั่นปัดฝุ่นเช็ดถูมัน และคอยเอ็ดเมื่อเด็กๆ ไปเล่นซนใกล้ๆ เราลงทุนทุ่มเทความทรงจำของเราทำให้มันยิ่งทวีคุณค่าความสำคัญมากทุกที เราจะหวนระลึกว่า ตู้เสื้อผ้าใบนี้ สมัยเด็กๆ เราชอบเข้าไปซ่อน เชิงเทียนเงินเหล่านี้ก็ตั้งเรียงบนโต๊ะในวันคริสต์มาสอีฟ ผ้าเช็ดหน้าผืนนี้ที่เธอเคยใช้ซับน้ำตา ฯลฯ กระทั่งเราจินตนาการไปว่าทรัพย์สมบัติที่เก็บสะสมมานี้ อาจเป็นเครื่องปลอบประโลมใจแท้จริงในวันที่เราไม่มีใคร

แต่แน่นอน วัตถุก็เป็นเพียงแค่วัตถุ

เช่นนั้นเอง เมื่อหย่อนกรรไกรด้ามน้อยของน้องสาวลงกระเป๋า ท่านเคานต์ก็มองดูข้าวของมรดกประจำตระกูลที่หลงเหลืออยู่อีกครั้ง จากนั้นก็ลบล้างพวกมันจากใจดวงร้าวของเขาตลอดไป

 

 

หนึ่งชั่วโมงให้หลัง ท่านเคานต์ลองเด้งตัวสองหนบนเบาะที่นอนในห้องพักใหม่ เพื่อระบุว่าเสียงออดแอดของสปริงที่นอนนั้นอยู่ในคีย์อะไร (จีชาร์ป) เขาสำรวจเฟอร์นิเจอร์ที่กองพะเนินรอบตัว พลางคำนึงถึงความใฝ่ฝันตอนวัยหนุ่มที่จะขึ้นเรือกลไฟไปฝรั่งเศส และขึ้นรถไฟตู้นอนไปมอสโก

แล้วทำไมเขาถึงอยากเดินทางตามเส้นทางนั้นนักหนานะ

ก็เพราะที่นอนมันทั้งเล็กทั้งแคบไงล่ะ!

ช่างน่าทึ่งเมื่อรู้ว่าโต๊ะแบบนั้นพับเก็บได้มิดชิดไร้ร่องรอย ใต้เตียงมีลิ้นชักให้เก็บของ โป๊ะไฟติดผนังขนาดกะทัดรัดส่องสว่างได้หนึ่งหน้ากระดาษของหนังสือพอดี การออกแบบที่เน้นประโยชน์ใช้สอยเปรียบเป็นดนตรีต่อความคิดของคนหนุ่มสาว มันยืนยันถึงการใช้งานอย่างแม่นตรงตามวัตถุประสงค์ และคำมั่นว่ามีการผจญภัยรออยู่ข้างหน้า ห้องพักแบบนี้ไม่ต่างกับเคบินของกัปตันนีโมตอนบุกโลกบาดาลใต้ทะเลลึกสองหมื่นโยชน์ เชื่อแน่ว่าเด็กผู้ชายคนไหนก็ตามที่มีความกล้าหาญแม้เพียงนิด จะพร้อมยอมแลกร้อยค่ำคืนแสนสบายในวัง กับการได้โดยสารเรือดำน้ำนอติลุสแค่คืนเดียว

ก็นั่นละ ในที่สุดเขาก็มาอยู่จุดนี้

และอีกอย่าง ห้องพักครึ่งหนึ่งบนชั้นสองถูกพวกบอลเชวิคเหมาชั่วคราวเอาไว้ใช้พิมพ์ดีดออกคำสั่งทั้งวัน อย่างน้อยเมื่อมาอยู่ชั้นหกแบบนี้ เขาก็ได้ยินเสียงที่ตัวเองคิด[2]

ท่านเคานต์ลุกขึ้นยืน ศีรษะกระแทกเพดานเข้าอย่างจัง

“ก็นั่นละ” เขาตอบ

เขาค่อยๆ เลื่อนเก้าอี้พนักสูงตัวหนึ่งหลบไปข้างๆ แล้วยกโคมไฟรูปช้างไปไว้ที่เตียง จากนั้นจึงค่อยเปิดหีบ เริ่มด้วยหยิบภาพถ่ายคณะผู้แทนฯ มาวางไว้ในที่ที่ควรจะอยู่ ซึ่งก็คือบนโต๊ะเขียนหนังสือ จากนั้นก็หยิบบรั่นดีสองขวดออกมา ตามด้วยนาฬิกาบอกเวลาสองครั้งของท่านพ่อ แต่เมื่อเขาหยิบแว่นส่องดูโอเปร่าของท่านย่ามาวางบนโต๊ะ ท่านเคานต์ก็ได้ยินเสียงกระพือปีกทางหน้าต่างหลังคา ซึ่งแม้จะเป็นช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กเท่าบัตรเชิญร่วมดินเนอร์ เขาก็มองเห็นนกพิราบตัวหนึ่งบินมาเกาะที่ขอบหน้าต่างกรุทองแดง

“อ้าว สวัสดี” ท่านเคานต์ทัก “ขอบใจที่อุตส่าห์แวะมา”

นกพิราบมองตอบด้วยสีหน้าราวกับแสดงกรรมสิทธิ์ จากนั้นก็เริ่มเอาเล็บข่วนกระจก แล้วใช้จะงอยจิกบานกระจกรัวๆ

“อ้า ใช่” ท่านเคานต์ “ที่เธอว่ามาก็เข้าใจได้”

เขาตั้งท่าจะอธิบายกับเพื่อนบ้านรายใหม่ถึงสาเหตุที่ทำให้เขามาอยู่ที่นี่โดยไม่คาดคิด แต่แล้วก็ได้ยินเสียงกระแอมเบาๆ อยู่ที่โถงทางเดิน ไม่ต้องหันไปดูก็รู้ว่าคืออันเดรย์ ผู้จัดการร้านที่ภัตตาคารโบยาร์สกีของโรงแรม เอกลักษณ์ของเขาคือการกระแอมเพื่อขอขัดจังหวะ

ท่านเคานต์หันไปพยักหน้ากับนกพิราบเป็นนัยว่าขอตัวก่อน เดี๋ยวค่อยกลับมาคุยกันใหม่ จากนั้นก็กลัดกระดุมเสื้อนอกจนเรียบร้อย เมื่อหันมาจึงพบว่าผู้มาเยือนไม่ได้มีแต่อันเดรย์ แต่ยังมีพนักงานโรงแรมอีกสามคนออกันอยู่ที่ทางเดิน

อันเดรย์ยืนตัวตรงเป็นสง่า พร้อมมือเรียวยาวคู่นั้นที่ทำสิ่งใดๆ อย่างสามารถเสมอ และยังมีวาซีลี คอนเซียร์จผู้เก่งกาจยากจะหาใครเทียม และยังมีมารีนา สาวขี้อายนิสัยดีผู้มีอาการตาขี้เกียจ และเพิ่งได้เลื่อนตำแหน่งจากแม่บ้านมาเป็นช่างเย็บผ้า แววตาของทั้งสามบ่งบอกความสับสนงุนงงแบบเดียวกับที่ท่านเคานต์เห็นในแววตาของอาร์คาดีและวาเลนตีนาเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อน และในที่สุดท่านเคานต์ก็เข้าใจ เมื่อเขาถูกคุมตัวไปตั้งแต่เมื่อเช้านั้น ทุกคนคาดว่าเขาคงไม่ได้กลับมาที่นี่อีก ทว่าเขากลับปรากฏตัวออกมาจากกำแพงพระราชวังเครมลิน ราวกับนักบินโผล่ออกมาจากซากเครื่องบินตก

“เพื่อนยากทั้งหลาย” ท่านเคานต์กล่าว “เชื่อว่าพวกเธอคงมีคำถามมากมายเกี่ยวเหตุการณ์ในวันนี้ อย่างที่คงรู้กันอยู่แล้วว่าฉันถูกเชิญไปพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวที่เครมลิน บรรดาเจ้าหน้าที่เคราแพะของระบอบการปกครองปัจจุบันระบุว่า จากความผิดที่ถือกำเนิดในตระกูลผู้ดี ฉันจึงถูกตัดสินให้ใช้ชีวิตที่เหลือ…ในโรงแรมแห่งนี้”

ท่านเคานต์จับมือตอบรับการแสดงความยินดีจากแขกของเขาทีละคน แสดงความขอบคุณในมิตรไมตรีจากใจจริง

“เข้ามาสิ” เขากล่าวชวน

พนักงานโรงแรมทั้งสามค่อยๆ แทรกตัวเข้าไปตามช่องว่างระหว่างกองเฟอร์นิเจอร์ในห้อง

“ถ้าไม่รังเกียจ” ท่านเคานต์กล่าวพลางยื่นขวดบรั่นดีให้อันเดรย์ แล้วคุกเข่าลงหน้าหีบท่านทูต ปลดล็อก เปิดฝาหีบราวเปิดหนังสือเล่มยักษ์ ข้างในหีบคือแก้วห้าสิบสอง ใบ หรือเรียกให้ถูกต้องกว่าคือแก้วยี่สิบหกคู่ แต่ละคู่มีรูปทรงเหมาะสมกับเครื่องดื่มแต่ละชนิด ตั้งแต่แก้วไวน์เบอร์กันดีทรงเขื่องใหญ่ จนถึงแก้วใบเล็กๆ น่ารักสำหรับสุราสีสดสวยจากยุโรปตอนใต้ และด้วยจังหวะอารมณ์แห่งโมงยาม ท่านเคานต์เลือกแก้วอย่างสุ่มมาสี่ใบ แล้วส่งให้ทุกคน ขณะที่อันเดรย์ได้รับเกียรติให้เปิดจุกก๊อกขวดบรั่นดี

เมื่อแขกทุกคนมีบรั่นดีในมือ ท่านเคานต์ก็ชูแก้วขึ้น

“แด่เมโทรโปล” เขากล่าว

“แด่เมโทรโปล!” ทุกคนขานรับ

ราวกับท่านเคานต์มีธรรมชาติของการเป็นเจ้าบ้านที่ดีมาตั้งแต่เกิด ในชั่วโมงต่อมา เขาคอยรินบรั่นดีเติม จุดประเด็นชวนพูดคุย เขารับรู้ได้โดยสัญชาตญาณว่าแขกแต่ละคนมีความรู้สึกหรืออารมณ์อย่างไร อันเดรย์ซึ่งปกติทำตัวเรียบร้อยเป็นทางการตามตำแหน่ง บัดนี้ยิ้มร่าแถมขยิบตาเป็นพักๆ วาซีลีผู้ซึ่งปกติพูดจาฉะฉานบอกทางแขกไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ตอนนี้กำลังครวญเพลงประสาคนที่พอถึงพรุ่งนี้ก็คงจำไม่ได้ว่าพูดอะไรไปบ้าง ส่วนมารีนาผู้เหนียมอายก็อนุญาตให้ตัวเองหัวเราะโดยไม่ปิดปาก

สำหรับค่ำคืนนี้ ท่ามกลางค่ำคืนทั้งหลาย ท่านเคานต์ซึ้งใจอย่างยิ่งสำหรับกำลังใจจากพวกเขา แต่เขาก็รู้ว่าการที่เขารอดมาได้อย่างหวุดหวิดไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ควรค่าแก่การเฉลิมฉลอง ท่านเคานต์เองย่อมรู้ดีกว่าใคร ในเดือนกันยายนปี 1905 คณะผู้แทนประเทศได้เซ็นสนธิสัญญาพอร์ตสมัทเพื่อสงบศึกระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น และเพียงสิบเจ็ดปีหลังเหตุการณ์นั้น ซึ่งเป็นเวลาไม่ถึงชั่วอายุคนด้วยซ้ำ รัสเซียก็ต้องบอบช้ำจากทั้งสงครามโลก สงครามกลางเมือง ทุพภิกขภัยสองครั้ง รวมทั้งปรากฎการณ์ที่ขนานนามว่า “ความสยองสีแดง” จากเหล่านักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ โดยสรุปคือประเทศชาติผ่านยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน และส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างถ้วนทั่ว ไม่ว่าจะเป็นซ้ายหรือขวา แดงหรือขาว ไม่ว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้นหรือเลวลง ที่แน่นอนคือมันเป็นเวลาดื่มแด่ความสุขสวัสดีของประเทศชาติเสียที

 

 

เวลาสี่ทุ่ม ท่านเคานต์เดินไปส่งแขกลงบันไดวน กล่าวอำลาอย่างเป็นพิธีรีตองคล้ายกับที่ทำหน้าประตูคฤหาสถ์ของตระกูลที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อกลับเข้าห้องพัก เขาเปิดหน้าต่าง (แม้มีขนาดเล็กราวกับสแตมป์) รินบรั่นดีจิบสุดท้าย แล้วนั่งลงที่โต๊ะเขียนหนังสือ

โต๊ะตัวนี้สร้างที่กรุงปารีสในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหก หน้าโต๊ะบุหนัง ประดับทองพองามตามสมัยนิยม ได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากแกรนด์ดยุกเดมีดอฟ บิดาทูนหัวของท่านเคานต์ เจ้าของจอนสีขาวแผงใหญ่ นัยน์ตาฟ้า สวมเครื่องแบบติดอินธนูทองอร่าม ท่านแกรนด์ดยุกพูดได้สี่ภาษา อ่านได้หกภาษา และไม่เคยสมรส ท่านเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนประเทศรัสเซียในการเจรจาสนธิสัญญาพอร์ตสมัท นอกจากนั้นยังดูแลคฤหาสน์อีกสามแห่ง และมีนิสัยให้ราคาความเพียรเหนือความไร้สาระ ทว่าก่อนหน้าเหตุการณ์ทั้งหมดนั้น ท่านเคยรับราชการพร้อมกับบิดาของท่านเคานต์ สมัยยังเป็นนักเรียนนายร้อยผู้รักสนุกแห่งกองทหารม้า ท่านแกรนด์ดยุกจึงมาเป็นผู้พิทักษ์ท่านเคานต์อย่างใกล้ชิด และเมื่อบิดามารดาของท่านเคานต์ต้องมาเสียชีวิตตามกันไปในเวลาห่างกันเพียงไม่กี่ชั่วโมงจากอหิวาตกโรคในปี 1900 ท่านแกรนด์ดยุกเรียกท่านเคานต์น้อยมาคุยเป็นการส่วนตัว อธิบายว่าจะต้องเข้มแข็ง เพื่อเป็นที่พึ่งพาของน้องสาว และยังอธิบายอีกว่าอุปสรรคขวากหนามนั้นอาจมาในหลายรูปแบบ หากเราควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ สถานการณ์จะเป็นฝ่ายควบคุมเราแทน

ท่านเคานต์เอื้อมมือลูบริ้วรอยบนผิวโต๊ะ

กี่ตัวอักษรที่ท่านแกรนด์ดยุกจดจารและฝากรอยจางๆ ไว้บนโต๊ะตัวนี้ ยาวนานกว่าสี่สิบปีที่เขาเขียนข้อความสั้นกระชับมากมายเพื่อสั่งการผู้ดูแลคฤหาสน์และที่ดิน เขียนอธิบายความโต้แย้งถึงรัฐบุรุษท่านอื่นๆ ให้คำแนะนำสุดวิจิตรแก่เพื่อนฝูง กล่าวโดยสรุปก็คือ โต๊ะตัวนี้สลักสำคัญนัก

ท่านเคานต์จิบบรั่นดีจนหมดแก้ว เลื่อนเก้าอี้ไปข้างหลัง แล้วนั่งลงกับพื้น เขาเอื้อมมือไปคลำขาโต๊ะหน้าข้างขวา จนเจอมือจับ เมื่อเมื่อจับแล้วกดลง ประตูลับก็เปิดออก เผยให้เห็นช่องลับที่บุด้วยกำมะหยี่ เช่นเดียวกับที่อยู่ในโต๊ะสามขาตัวอื่นๆ ในนั้นอัดแน่นด้วยเหรียญทองคำ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชาวแองกลิคันติดเกาะ

 

เขาเริ่มงัวเงียตื่นนอนตอนเก้าโมงครึ่ง ในช่วงสลึมสลือก่อนจะตื่นเต็มตา เคานต์อเล็กซานเดอร์ อิลีช รอสตอฟ นึกเล่นๆ ว่าวันนี้มีอะไรน่าทำบ้าง

ภายในหนึ่งชั่วโมง เขาจะเดินไปตามถนนทเวอร์สกายา รับสายลมอุ่นแห่งฤดูใบไม้ผลิ หนวดโง้งขึงกว้างอย่างใบเรือ ตามเส้นทางนี้เขาจะซื้อหนังสือพิมพ์เฮอราลด์จากแผงที่ซอยกาเซตนีย์ เดินผ่านร้านฟีลิปปอฟส์ (โฉบไปดูขนมหน้าร้านแวบเดียว) แล้วมุ่งหน้าไปหานายธนาคาร

ขณะหยุดยืนที่ขอบทางเท้า (เพื่อรอให้รถว่าง) ท่านเคานต์ก็จะนึกขึ้นได้ว่ามีนัดรับประทานอาหารเที่ยงที่สโมสรจ๊อกกี้เวลาบ่ายสอง ส่วนนายธนาคารนั้นนัดกันไว้สิบโมงครึ่ง แต่ด้วยเจตนาและเป้าประสงค์ใดๆ พวกนี้ต้องง้อลูกค้าอยู่แล้ว ดังนั้นจึงน่าจะรอได้…ว่าแล้วเขาก็กลับหลังหัน ถอดหมวกทรงสูง แล้วเปิดประตูเข้าร้านฟีลิปปอฟส์

ในทันใด ประสาทรับรู้ของเขาจะปลื้มปริ่มอิ่มเอมไปกับผลงานช่างทำขนมชั้นเอก ทั้งร้านหอมอบอวลด้วยกลิ่นขนมอบใหม่ เพรตเซล โรลหวาน ขนมปังรสเยี่ยมอย่างไม่มีใครเทียม ถึงขนาดต้องจัดส่งขึ้นรถไฟเข้าวังเฮอร์มิทาจทุกวัน ในตู้กระจกมีเค้กหน้าครีมหลากสีสันเรียงเป็นแถวราวกับแปลงดอกทิวลิปแห่งอัมสเตอร์ดัม เมื่อเดินไปที่เคาน์เตอร์ ท่านเคาต์จะบอกสาวน้อยสวมผ้ากันเปื้อนสีฟ้าว่าจะรับขนมมิลล์เฟย (ชื่อตั้งได้เหมาะเจาะจริง) และมองดูอย่างชื่นชมขณะเธอค่อยๆ ใช้ช้อนชาตะล่อมขนมชิ้นละเมียดจากเกรียงเงินไปวางบนจานกระเบื้อง

เมื่อได้จานขนมติดมือ ท่านเคาต์จะเดินไปเลือกที่นั่งซึ่งใกล้ที่สุดกับโต๊ะตัวเล็กในมุมหนึ่ง ซึ่งกลุ่มสุภาพสตรีสาวสมัยนิยมจะนัดพบกันยามเช้าเพื่อสรุปกลอุบายในงานเลี้ยงค่ำคืนก่อน ด้วยเกรงใจบรรยากาศ สุภาพสตรีทั้งสามจะเริ่มต้นด้วยการกระซิบกระซาบกันเบาๆ แต่พอยิ่งคุยก็ยิ่งออกรส เสียงพวกหล่อนก็จะเริ่มดังฟังชัด กระทั่งเมื่อถึงเวลา 11:15 น. แม้แต่ลูกค้าผู้สงบเสงี่ยมที่สุดก็จะไม่มีทางเลือกนอกจากต้องฟังความซับซ้อนซ่อนเงื่อนในหัวใจพวกเธอ

เมื่อถึงเวลา 11:45 น. หลังมิลล์เฟยหมดชิ้นและปัดเศษขนมที่อาจติดอยู่บนเรียวหนวดออก ท่านเคานต์จะโบกมือขอบคุณเด็กสาวหลังเคาน์เตอร์ แตะหมวกร่ำลากลุ่มสุภาพสตรีซึ่งก่อนหน้านั้นเขาได้สนทนาด้วยเล็กน้อย จากนั้นก็จะออกเดินไปบนถนนทเวอร์สกายา และหยุดนึกชั่วครู่: ไปไหนต่อดีล่ะ แวะไปแกลเลอรีเบอร์ทรันด์ดีไหม เผื่อมีภาพเขียนชิ้นใหม่มาจากกรุงปารีส หรือไปเยือนห้องโถงของสถาบันดนตรีที่นักศึกษาหนุ่มสาวกำลังเคี่ยวกรำงานประพันธ์ของบีโทเฟน ไม่ก็บ่ายหน้ากลับสวนอเล็กซานเดอร์ หย่อนกายลงบนม้านั่ง และยลแปลงไลแลคเบ่งบาน ขณะนกพิราบกำลังขันคู ขาเขี่ยขอบหน้าต่างกรุทองแดงแวววาว

ขอบหน้าต่างกรุทองแดงแวววาว…

“อ่า ใช่” ท่านเคานต์ได้สติ “คงไม่ได้ทำอะไรอย่างนั้นแล้วละ”

ถ้าท่านเคานต์จะเพียงหลับตาแล้วเอนกายพิงกำแพงให้ถูกยิงเป้า เป็นไปได้ไหมที่เขาจะกลับไปที่ม้านั่งตัวนั้น ทันทักทายเวลาสุภาพสตรีทั้งสามจากร้านฟีลิปปอฟส์เดินผ่านมา แหมช่างบังเอิญจริงๆ นะครับ

ไม่ต้องสงสัยเลย ทว่าการเอาแต่มโนนึกไปว่าเราจะเป็นอย่างไรหนอถ้าสถานการณ์ต่างไปจากนี้ คือหนทางสู่ความวิกลจริตแน่แท้

บนโต๊ะเขียนหนังสือของท่านแกรนด์ดยุกมีแก้วแชมเปญทรงฟลุตและแก้วบรั่นดีปากแคบวางอยู่ ใบแรกทรงสูงชะลูดยืนค้ำใบที่สองซึ่งเป็นแก้วทรงเตี้ยจุมปุ๊ก ชวนให้นึกถึงเรื่องราวของดอน กิโฮเตและซานโช ปันซา แห่งที่ราบเซียราโมเรนา หรือไม่ก็โรบินฮู้ดกับบาทหลวงทักกลางเงาไพรของป่าเชอร์วูด หรือไม่ก็เจ้าชายฮาลกับฟอลสตาฟฟ์อยู่เบื้องหน้าประตูแห่ง–

เสียงเคาะประตูดังขึ้น

ท่านเคานต์ลุกขึ้น ศีรษะโขกเพดาน

“รอเดี๋ยว” ท่านเคานต์กล่าว เอามือลูบผม แล้วควานหาเสื้อคลุมในหีบ เมื่อสวมเสื้อคลุมเรียบร้อย จึงเปิดประตูมาเจอหนุ่มน้อยจอมขยันยืนอยู่พร้อมอาหารเช้าของท่านเคานต์เหมือนเช่นเคย กาแฟหนึ่งกา บิสกิตสองชิ้น และผลไม้หนึ่งชิ้น (วันนี้เป็นพลัมหนึ่งลูก)

“เยี่ยมมาก ยูริ! เข้ามาสิ วางไว้ตรงนี้ก็ได้”

ระหว่างที่ยูริกำลังจัดวางชุดอาหารเช้าลงบนหีบ ท่านเคานต์ก็นั่งหน้าโต๊ะของท่านแกรนด์ดยุก เขียนโน้ตสั้นๆ ฉบับหนึ่งถึงคอนสแตนติน คอนสแตนติโนวิช แห่งถนนเดอร์นอฟสกี

“ช่วยส่งให้ทีได้ไหมพ่อหนุ่ม”

ยูริรับโน้ตมาด้วยความยินดี คนอย่างเขาไม่บ่ายเบี่ยง เขารับปากท่านเคาต์ว่าจะส่งให้ถึงมือ โค้งรับเงินค่าทิป พอมาถึงประตูเขาก็หยุดกึก

“ให้ผม…เปิดประตูทิ้งไว้ดีไหมครับ”

คำถามนี้นับว่ามีเหตุผล ด้วยสภาพห้องออกจะอุดอู้ และยังอยู่ไกลผู้ไกลคนถึงชั้นหก คงไม่มีปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวเป็นแน่

“ดีเลย”

เมื่อยูริเดินลงบันไดวนไป ท่านเคานต์ก็หยิบผ้าเช็ดปากมาวางบนตัก รินกาแฟใส่ถ้วย เหยาะครีมลงไปสองสามหยด เขารู้สึกพึงใจกับจิบแรก พ่อหนุ่มยูริคงจะรุดขึ้นบันไดสามชั้นพิเศษนี้ว่องไวนัก เพราะกาแฟไม่ได้เย็นชืดจากปกติแม้แต่องศาเดียว

ทว่าท่านเคานต์ก็สังเกตเห็นเงาสีเงินขณะกำลังใช้มีดแงะเนื้อพลัมให้หลุดจากเมล็ด เลือนรางคล้ายพวยควัน หลบลี้อยู่หลังหีบ เขาชะโงกตัวไปดูหลังพนักเก้าอี้ จึงเห็นว่าที่ลับๆ ล่อๆ อยู่คือแมวในล็อบบี้ของโรงแรมเมโทรโปลนี่เอง เจ้าแมวตาเดียวพันธุ์รัสเชียนบลูผู้ไม่เคยปล่อยให้ธุระใดในโรงแรมหลุดรอดสายตา ชัดเจนว่ามันอุตส่าห์ขึ้นมาถึงชั้นห้องใต้หลังคาเพื่อตรวจดูความเป็นอยู่ใหม่ของท่านเคานต์ด้วยตัวเอง มันก้าวออกจากที่ซ่อนในเงามืด โดดเงียบเชียบขึ้นไปบนหลังหีบท่านทูต จากนั้นก็โดดขึ้นโต๊ะข้างเตียง แล้วโดดต่อไปบนโต๊ะเขียนหนังสือสามขาอย่างไร้สุ้มเสียง เมื่อได้จุดสังเกตการณ์ถูกใจ มันก็กวาดตามองรอบห้องเต็มตา แล้วส่ายหัวบ่งบอกความผิดหวังอย่างแมวๆ

“ใช่เลย” ท่านเคานต์ตอบหลังจากร่วมพิจารณาห้องของตน “ฉันพอจะเข้าใจเธอ”

เฟอร์นิเจอร์ที่เบียดเสียดยัดเยียดในห้องทำให้ที่พำนักของท่านเคานต์มีสภาพไม่ต่างจากร้านขายของมือสองบนถนนอาราบัต ห้องขนาดแค่นี้ มีแค่เก้าอี้พนักสูงหนึ่งตัว โต๊ะข้างเตียงหนึ่งตัว โป๊ะไฟอีกตัวก็พอแล้ว ไม่ต้องมีเครื่องกระเบื้องเคลือบลิโมจส์ของท่านย่า เขาก็พออยู่ได้

แล้วไหนจะหนังสืออีก หนังสือทุกเล่ม! ก่อนหน้านั้นเขาสั่งอย่างฮึกเหิม แต่พอรุ่งเช้ามาจึงเริ่มตาสว่าง เขาจำต้องยอมรับว่าบอกไปแบบนั้นเพราะอยากอวดพนักงานยกกระเป๋าและแสดงให้ทหารผู้คุมรู้จักที่ต่ำที่สูง จริงๆ หนังสือเหล่านั้นไม่ได้ต้องตามรสนิยมของท่านเคาต์ด้วยซ้ำ หนังสือที่สะสมในห้องสมุดส่วนตัวของเขาแพรวพราวด้วยตัวอักษรของนักเขียนอย่างบาลซัก ดิกเกนส์ และตอลสตอย ซึ่งทั้งหมดถูกทิ้งไว้ที่กรุงปารีส ส่วนหนังสือที่พนักงานยกกระเป๋าขนขึ้นมาเป็นของท่านพ่อตำราว่าด้วยปรัชญาแห่งการใช้เหตุผล ศาสตร์แห่งเกษตรกรรมสมัยใหม่ แต่ละเล่มล้วนแต่มีเนื้อหาหนักอึ้ง ยากเย็นนักที่จะตะลุยเข้าไป

เห็นจะต้องคัดสรรผ่านตะแกรงร่อนอีกสักรอบ

พอได้รับประทานอาหารเช้า อาบน้ำ และแต่งเนื้อแต่งตัว ท่านเคานต์ก็ดำเนินการทันที ลองห้องข้างๆ ก่อน ซึ่งน่าจะมีของหนักยันประตูไว้ เพราะบานประตูแทบไม่ขยับ แม้ใช้ไหล่ดันเต็มแรง ส่วนสามห้องถัดไปก็กองสุมด้วยข้าวของบรรดามี ห้องสุดท้ายมีเพียงหม้อซาโมวาร์ไว้ต้มน้ำสำหรับชงชา ตัวหม้อเก่าและบุบบู้บี้ คงเป็นของช่างซ่อมหลังคาทิ้งเอาไว้ ในห้องมีกระเบื้องและแผ่นทองแดงวางกองอยู่บ้าง

ท่านเคานต์กลับไปที่ห้อง หยิบเสื้อนอกมาแขวนในตู้เสื้อผ้า กางเกงและเชิ้ตพับกองที่มุมขวาด้านหลังของโต๊ะเขียนหนังสือ (ถ่วงน้ำหนักไว้ไม่ให้โต๊ะสามขาล้ม) เขายกหีบ ครึ่งหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์ และหนังสือท่านพ่อทุกเล่มออกไป ยกเว้นไว้เพียงเล่มเดียว ภายในหนึ่งชั่วโมงทั้งห้องก็เหลือเพียงของเท่าที่ควรมี โต๊ะเขียนหนังสือและเก้าอี้ เตียงและโต๊ะข้างเตียง เก้าอี้พนักสูงไว้รับแขก และที่ทางระยะราวสามเมตร พอไว้ใช้เดินจงกรมยามสุภาพบุรุษต้องการใช้ความคิด

ด้วยความพอใจในผลงาน ท่านเคานต์หันไปหาแมว (ซึ่งกำลังง่วนเลียครีมจากปลายเท้าอยู่บนเก้าอี้พนักสูงแสนสบาย) “คิดว่าไง เจ้าโจรเฒ่า”

จากนั้นเขาก็ไปนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือ หยิบหนังสือเล่มเดียวที่เก็บไว้ น่าจะสักสิบปีได้แล้วที่เขาสัญญากับตัวเองว่าจะหยิบขึ้นมาอ่าน หนังสือที่ใครๆ ก็ล่ำลือว่าดีนักดีหนา และเป็นเล่มที่พ่อของเขารักมาก กระนั้นทุกครั้งที่เขาชี้นิ้วไปที่ปฏิทิน พร้อมตั้งใจว่า เดือนนี้ละเป็นเดือนที่ฉันจะอุทิศเวลาอ่าน ความเรียง[3] ของมิเชล เดอ มงตาญ! ก็ต้องมีมารผจญโผล่มาเป็นอุปสรรคให้ไขว้เขวทุกครั้ง ตั้งแต่เรื่องราวที่จับพลัดจับผลูกลายเป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ซึ่งคนสติดีที่ไหนละจะเพิกเฉย หรือไม่นายธนาคารก็โทรมา หรือไม่คณะละครสัตว์ก็มาแสดงในเมือง

ไปๆ มาๆ ชีวิตจะหาเรื่องล่อลวงเราเอง

ทว่าตอนนี้ไงล่ะ สถานการณ์ต่างๆ ได้สมคบคิดกันเพื่อไม่ให้มีอะไรมาล่อหูล่อตาท่านเคานต์อีก เขาเพียบพร้อมทั้งเวลาและความสันโดษอันจำเป็นสำหรับการลงมืออ่านเสียที ท่านเคานต์ถือหนังสือในมือ พาดเท้าข้างหนึ่งไว้ที่มุมโต๊ะเขียนหนังสือ ยันโต๊ะจนขาเก้าอี้สองขาหน้าลอยจากพื้น แล้วเริ่มอ่าน

 

หลากวิธี แต่ไปถึงจุดหมายเดียวกัน

 

วิธีการสามัญที่สุดซึ่งทำให้คนที่เราเคยจาบจ้วงนั้นใจอ่อน ยามเขามีความพยาบาทพร้อมลงมือ และชีวิตเราขึ้นกับเมตตาของเขา เราต้องยอมจำนนเพื่อให้เขาเวทนาสงสาร อย่างไรก็ตาม ความอหังการและความทรหดอดทน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ขัดแย้ง ก็กลับให้ผลลัพธ์เดียวกัน…

 

เป็นที่บ้านโมงยามความเขษมนี่เอง ที่ท่านเคานต์ติดนิสัยอ่านหนังสือแล้วต้องเอนเก้าอี้

เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งต้นไม้ในสวนผลไม้บานสะพรั่ง และดอกหญ้าเอนไหวในสายลม ท่านเคานต์และเฮเลนาจะมองหามุมสงบเงียบเพื่อฆ่าเวลาครั้งละหลายชั่วโมง วันหนึ่งอาจเป็นใต้ร่มซุ้มไม้บนเฉลียงชั้นบน อีกวันอาจอยู่ใต้ร่มเอล์มใหญ่ตรงคุ้งน้ำ เฮเลนาปักผ้า ส่วนท่านเคานต์จะเอนเก้าอี้ไปข้างหลัง ใช้เท้าข้างหนึ่งยันขอบน้ำพุหรือไม่ก็กิ่งก้านไม้เพื่อประคองตัวไม่ให้ล้ม และอ่านผลงานของปุชกินที่เธอชื่นชอบให้ฟัง ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า บทแล้วบทเล่า ขณะเข็มเล่มน้อยของเธอปักไปตามลวดลาย

“น้องจะปักไปถึงไหน” บางครั้งเขาเอ่ยถามเมื่ออ่านจบหน้า “ตอนนี้หมอนที่บ้านก็มีผีเสื้อบินไปเยือนทุกใบ ผ้าเช็ดหน้าก็ปักชื่อย่อหมดแล้วทุกผืน” เมื่อเขาล้อว่าพอตกกลางคืนเธอคงรื้อลายที่ปักไว้เหมือนเพเนโลปีในตำนานกรีก เพื่อให้พี่ชายคนนี้อ่านหนังสือให้ฟังเรื่อยไป เธอก็จะยิ้มตอบอย่างมีเลศนัย

ท่านเคานต์เงยหน้าจากงานของมงตาญ ทอดสายตาไปยังภาพเหมือนของเฮเลนาที่พิงกำแพงอยู่ ภาพนี้วาดไว้เมื่อเดือนสิงหาคมที่บ้านโมงยามความเขษม เธออยู่ที่โต๊ะอาหาร เบื้องหน้ามีจานใส่ลูกพีช จิตรกรเซรอฟวาดเฮเลนาได้เหมือนจริงอะไรเช่นนี้ เรือนผมสีดำสนิทดุจขนนกเรเวน แก้มแดงเรื่อ สีหน้าบ่งบอกนิสัยละเอียดอ่อนและกรุณา บางทีมันอาจมีความลับอะไรอยู่ในการปักผ้าพวกนั้น ท่านเคานต์คิด ภูมิปัญญาอันอ่อนโยนจากการปักแต่ละครั้ง และด้วยจิตเมตตากรุณาเช่นนั้นในวัยเพียงสิบสี่ปี ใครๆ ก็คงพอนึกภาพได้ถึงความดีงามที่จะฉายส่องจากตัวเธอเมื่ออายุยี่สิบห้า…

ท่านเคานต์ตื่นจากภวังค์เมื่อได้ยินเสียงเคาะประตูเบาๆ อย่างเกรงใจ เขาปิดหนังสือท่านพ่อ เหลียวไปมอง จึงเห็นชายชาวกรีซวัยหกสิบยืนอยู่ที่ประตู

“คอนสแตนติน คอนสแตนติโนวิช!”

ท่านเคานต์ปล่อยสองขาหน้าของเก้าอี้ลงพื้น แล้วก้าวออกไปจับมือทักทายผู้มาเยือน

“ดีใจที่คุณมา เราเคยเจอกันมาก่อนหน้านี้หนสองหน คุณอาจจำไม่ได้ ผมอเล็กซานเดอร์ รอสตอฟครับ”

ชายชราชาวกรีซโค้งให้ แสดงกิริยาว่าเขาจำได้

“เชิญครับ เข้ามาก่อน เชิญนั่ง”

เขาโยนผลเอกชิ้นเอกของมงตาญไปทางเจ้าแมวตาเดียว (ซึ่งโดดหนีลงพื้นแล้วขู่ฟ่อ) ท่านเคานต์ยกเก้าอี้พนักสูงให้แขกนั่ง ส่วนตนไปนั่งเก้าอี้โต๊ะเขียนหนังสือแทน

ชายชราชาวกรีซมองตอบท่านเคานต์ด้วยสายตาส่อแววอยากรู้พอประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ เนื่องจากทั้งสองไม่เคยติดต่อธุระกันมาก่อน ด้วยความเป็นคนไม่ชอบเสียเชิง ท่านเคานต์เลยถือโอกาสเริ่มก่อน

“อย่างที่เห็นละคอนสแตนติน สถานการณ์ของผมตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว”

แขกผู้มาเยือนทำทีแปลกใจพอให้ไม่เสียมารยาท

“เรื่องจริง” ท่านเคานต์กล่าวแก้ “เรียกว่าเปลี่ยนไปพอสมควรเลยละ”

เมื่อเหลียวมองรอบห้อง ชายชราชาวกรีซก็ผายมือทั้งสอง แสดงความรับรู้ในความไม่จีรังยั่งยืนอันน่าเศร้าของสถานการณ์

“หรือท่านกำลังมองหา…เงินทุนหรือขอรับ” เขาหยั่งเชิง

ชายชราชาวกรีซเว้นจังหวะเล็กน้อยก่อนจะเอ่ยคำว่า เงินทุน ในความเห็นอันถี่ถ้วนของท่านเคานต์แล้ว การเว้นจังหวะนี้ช่างเหมาะเจาะ ต้องผ่านประสบการณ์สนทนามาหลายสิบปีกว่าจะมีทักษะเว้นระยะให้เหมาะเจาะเยี่ยงนี้ การเว้นระยะนี้แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจที่ท่านเคานต์ตกที่นั่งลำบาก โดยไม่ส่อนัยแม้สักนิดว่าสถานะของทั้งสองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

“ไม่ใช่ ไม่ใช่” ท่านเคานต์ส่ายหน้าเพื่อเน้นว่าการกู้หนี้ยืมสินไม่ใช่วิสัยของคนในตระกูลรอสตอฟ “ตรงกันข้าม คอนสแตนติน ผมมีบางอย่างซึ่งคิดว่าคุณน่าจะสนใจ” ว่าแล้วท่านเคานต์ก็หยิบเหรียญหนึ่งขึ้นมาจากโต๊ะของท่านแกรนด์ดยุก โดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้คีบไว้

ชายชราชาวกรีซพินิจดูเหรียญ ผ่อนลมหายใจช้าๆ แสดงความชื่นชม สำหรับคอนสแตนติน คอนสแตนติโนวิช นักปล่อยเงินกู้มืออาชีพ ศิลปะอันช่ำชองของเขาคือการเพ่งพินิจข้าวของเพียงชั่วครู่ ถือไว้ในมือเพียงชั่วคราว และล่วงรู้ถึงมูลค่าของมัน

“ขออนุญาตนะขอรับ…” เขากล่าว

“เชิญตามสบาย”

เขารับเหรียญไปพลิกดู แล้วยื่นคืนให้ด้วยความยำเกรง เนื่องจากเหรียญทองคำพิสุทธิ์นี้ไม่ได้พิเศษด้วยเนื้อแท้ทางโลหะวิทยาเพียงอย่างเดียว สำหรับสายตาผู้ชำนาญ ตราแผ่นดินอินทรีสองหัวทางด้านก้อยบ่งชัดว่านี่เป็นหนึ่งในเหรียญกษาปณ์เพียงห้าพันเหรียญ ซึ่งจัดทำเพื่อฉลองวาระครบรอบพิธีราชาภิเษกของพระนางแคเทอรีนมหาราชินี ในยามสถานการณ์บ้านเมืองปกติ การซื้อเหรียญจากผู้ดีกำลังร้อนเงินไปขายให้นักลงทุนหรือธนาคาร ย่อมเป็นการค้าที่ได้กำไรเห็นๆ แต่ในช่วงที่ประเทศชาติกำลังระส่ำระสายเช่นเวลานี้ ความต้องการซื้อขายข้าวของหรูหราลดลง กระนั้นราคาของสมบัติสูงค่าระดับนี้มีแต่จะขึ้นกับขึ้น

“โปรดอภัยความอยากรู้อยากเห็นของกระผม ว่าแต่เหรียญนี้…มาโดยลำพังหรืออย่างไรขอรับ”

“โดยลำพังหรือ โอ้ เปล่าเลย” ท่านเคานต์ตอบพลางส่ายศีรษะ “มากันเป็นหมู่เหล่า เหมือนทหารในกรมกอง เหมือนฝีพายทาสใต้ท้องเรือ เกรงว่ามันจะไม่เคยได้อยู่เดียวดายหรอกนะ”

ชายชราชาวกรีซผ่อนลมหายใจช้าๆ อีกครั้ง

“ถ้าเช่นนั้น…”

ในเวลาไม่กี่นาที ทั้งสองก็ตกลงธุรกิจกันเสร็จสรรพโดยไม่พูดพล่ามทำเพลงให้มากความ นอกจากนั้น ชายชราชาวกรีซยังยินดีจะนำส่งจดหมายให้สามฉบับเป็นการส่วนตัว ซึ่งท่านเคานต์ลงมือเขียนต่อหน้า จากนั้นทั้งสองก็จับมือกันฉันมิตร นัดแนะว่าจะพบกันอีกภายในสามเดือนข้างหน้า

ก่อนที่ชายชราชาวกรีซจะเดินพ้นประตูห้อง เขาหยุดชะงัก

“ใต้เท้าขอรับ…ขอละลาบละล้วงเรียนถามสักเรื่องได้ไหมขอรับ”

“ได้สิ”

ชายชราผายมือไปทางโต๊ะของท่านแกรนด์ดยุกอย่างเกรงใจ

“เราจะได้อ่านบทกวีที่ท่านเขียนอีกไหมขอรับ”

ท่านเคานต์ยิ้มสุภาพแทนคำตอบ

“เสียใจด้วยนะคอนสแตนติน ยุคแห่งบทกวีของฉันมันผ่านพ้นเสียแล้ว”

“ถ้าการเขียนบทกวีผ่านพ้นท่านเสียแล้ว พวกเราต่างหากที่ต้องเสียใจ”

 

 

ภัตตาคารโบยาร์สกีตั้งอยู่อย่างสงบงามที่มุมอาคารทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ชั้นสองของโรงแรมเมโทรโปล นับเป็นร้านอาหารที่เลิศหรูที่สุดในมอสโก หรืออาจจะที่สุดในรัสเซียก็ว่าได้ ผนังห้องสีแดงเข้ม เพดานโค้งเว้า เหมือนโถงคฤหาสน์ของพวกโบยาร์ ชนชั้นปกครองยุคโบราณ ภัตตาคารโบยาร์สกีได้ชื่อว่ามีการตกแต่งวิจิตรงดงามที่สุด พนักงานชำชาญงานที่สุด และหัวหน้าเชฟซึ่งปรุงอาหารได้โอชารสที่สุด

ประสบการณ์รับประทานดินเนอร์ที่โบยาร์สกีสักมื้อไม่ใช่จะมีกันได้โดยง่าย กว่าจะได้อภิสิทธิ์นี้ต้องเบียดเสียดไปอยู่แถวหน้าจนได้สบตาอันเดรย์ ขณะเขายืนประจำตำแหน่งหน้าสมุดสีดำเล่มโต ในนั้นคือรายชื่อของผู้ที่มีบุญจะได้ที่นั่งรับประทาน และเมื่อผู้จัดการร้านนำแขกไปที่โต๊ะ ทำใจได้เลยว่าเขาอาจต้องหยุดแวะห้าครั้งเพื่อทักทายแขกอื่นด้วยภาษาต่างกันสี่ภาษา และเมื่อถึงโต๊ะบริกรสวมเสื้อนอกสีขาวเนี้ยบก็จะรับช่วงดูแลลูกค้าต่ออย่างไร้ที่ติ

ภาพทัศน์เช่นนี้คือโบยาร์สกีช่วงก่อนปี 1920 หลังจากนั้นเมื่อมีการปิดพรมแดน พวกบอลเชวิคสั่งห้ามไม่ให้มีการใช้จ่ายเงินรูเบิลในร้านอาหารหรูหรา ปิดกั้นไม่ให้ประชากรกว่าร้อยละ 99 มาใช้บริการไม่ได้ ขณะท่านเคานต์เริ่มรับประทานอาหารเรียกน้ำย่อย แก้วน้ำส่งเสียงกระทบมีดส้อม ลูกค้าเพียงสองสามคู่นั่งกระซิบกระซาบอย่างประดักประเดิด แม้พนักงานเสิร์ฟที่ว่าฝีมือดีที่สุดยังว่างจนต้องเงยหน้ามองเพดานเรื่อยเปื่อย

แต่ทุกสถานการณ์ย่อมมีข้อดี แม้ในยามบ้านเมืองอลหม่าน…

เมื่อมีผู้ชักชวนเอมีล จูคอฟสกี ให้มารับตำแหน่งหัวหน้าเชฟที่โรงแรมเมโทรโปลในปี 1912 เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลทีมงานที่เก่งกาจคล่องแคล่ว และครัวขนาดใหญ่ แถมยังมีคลังวัตถุดิบเกรียงไกรที่สุดทางทิศตะวันออกของกรุงเวียนนา ชั้นเครื่องเทศเต็มไปด้วยของดีมีราคาหายาก ห้องแช่เย็นมีสัตว์ปีกและสัตว์สี่เท้าแขวนห้อยหัวเรียงราย เราจึงอาจด่วนสรุปว่าร้านอาหารในปี 1912 ช่างเป็นบรรยากาศสมบูรณ์แบบในการวัดฝีมือของเชฟ ทว่าในภาวะที่สภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์อย่างนั้น พ่อครัวฝีมือประเภทกึ่งดิบกึ่งดีอาจทำอาหารถูกปากคนได้ไม่ยาก การทดสอบความสามารถแท้จริงของเชฟ จึงต้องดูกันในช่วงยามแห่งความขาดแคลน และไม่มีช่วงไหนที่เราจะขาดแคลนยิ่งกว่าช่วงสงครามอีกแล้ว

เศรษฐกิจดิ่งลงเหวหลังการปฏิวัติ พืชพรรณธัญญาหารขาดแคลน การค้าหยุดชะงัก วัตถุดิบชั้นดีในมอสโกเริ่มหายากเหมือนหาผีเสื้อกลางทะเล คลังวัตถุดิบของโรงแรมเมโทรโปลเริ่มร่อยหรอลงเรื่อยๆ เชฟต้องทำอาหารให้สมกับความคาดหวังของลูกค้าโดยใช้เพียงวัตถุดิบดาดๆ อย่างแป้งข้าวโพด ดอกกะหล่ำ และกะหล่ำปลี พูดง่ายๆ ก็คืออะไรก็ตามที่คว้ามาได้

ถูกละ บางคนบอกว่าเอมีลคือตาลุงอารมณ์ร้าย บ้างเรียกเขาว่าเฒ่าภูเขาไฟ บ้างบอกเพียงว่าเขาเป็นชายเตี้ยความอดทนต่ำ แต่ไม่มีใครแย้งได้เลยว่าเขาไม่ใช่เชฟอัจฉริยะ ดูอย่างอาหารจานที่ท่านเคานต์กำลังรับประทานจวนจะหมดจานนี้ เมนูซัลติมบ็อกกาในยามยาก ปรุงจากวัตถุดิบเท่าที่หาได้ ในเมื่อหาเนื้อลูกวัวไม่ได้ เชฟเอมีลก็นำอกไก่มาทุบจนแบน นำแฮมจากยูเครนมาแล่ให้บางเฉียบ ทดแทนโปรชูโตจากเมืองปาร์มา อิตาลี และแทนที่จะใช้ใบเสจตามตำรา เขาเลือกสมุนไพรอื่นซึ่งมีคุณสมบัติสมานรสชาติของทั้งอาหารจานให้กลมกล่อม มันเป็นสมุนไพรที่นุ่มนวลและหอมกรุ่นอย่างใบเสจ ทว่ารสชาติติดขมกว่าเล็กน้อย…ท่านเคานต์แน่ใจว่าไม่ใช่โหระพา ไม่เชิงออริกาโน แต่เขาแน่ใจว่าเคยชิมมาแล้วแน่นอน

“อาหารค่ำเรียบร้อยดีไหมขอรับ”

“อา อันเดรย์ เหมือนทุกครั้ง ยอดเยี่ยมไร้ที่ติ”

“แล้วซัลติมบ็อกกาล่ะครับ”

“บรรเจิดเชียวละ แต่ฉันมีเรื่องจะถาม สมุนไพรที่เชฟแทรกใต้แฮมคืออะไร รู้ว่าไม่ใช่ใบเสจ สงสัยว่าเป็นใบตำแยเนตเติล ฉันเดาถูกไหม”

“เนตเติล? ไม่น่าจะใช่นะขอรับ แต่ผมจะไปถามเชฟให้”

ผู้จัดการร้านโค้งให้ก่อนเดินจากมา

ท่านเคานต์นึกในใจ เอมีลคือเชฟอัจฉริยะ เรื่องนี้ไม่มีใครเถียงอยู่แล้ว ทว่าชายผู้ผดุงชื่อเสียงความเป็นเลิศของภัตตาคารโบยาร์สกีด้วยการช่วยจัดการทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น คืออันเดรย์ ดูราส์

อันเดรย์เกิดที่ภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส เขาเป็นคนรูปงาม ร่างสูง ผมที่ขมับเป็นสีดอกเลา ทว่าคุณสมบัติโดดเด่นที่สุดของเขาไม่ใช่ใบหน้าหล่อเหลา ไม่ใช่หุ่นสูงชะลูด ไม่ใช่ปอยผมขาว หากคือมือทั้งสองข้างของเขา มือสีขาวซีด ผ่านการดูแลด้วยช่างทำเล็บมาอย่างดี เมื่อเทียบกับชายซึ่งตัวสูงเท่ากัน นิ้วมือของอันเดรย์ยาวกว่าคนอื่นครึ่งนิ้ว ถ้าเขาเป็นนักเปียโน ก็คงเล่นคีย์ที่ห่างกันได้ถึงคู่สิบสอง ถ้าเป็นนักเชิดหุ่นชัก คงเชิดให้แมคเบ็ทดวลดาบกับแมกดัฟโดยมีแม่มดสามตนเมียงมองได้ไม่ยาก ทว่าอันเดรย์ไม่ใช่ทั้งนักเปียโนและนักเชิดหุ่น อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในแบบที่เราคุ้นเคยกัน เขาเป็นกัปตันแห่งภัตตาคารโบยาร์สกี และทุกครั้งที่มือไม้ของเขาป่ายปะไปทำสิ่งใด มันล้วนเป็นไปเพื่อสนองความต้องการผู้อื่น สร้างความประทับใจแก่ผู้ได้ประสบพบเห็นเสมอ

หากอันเดรย์นำสุภาพสตรีกลุ่มหนึ่งมาที่โต๊ะ ดูเหมือนเขาจะดึงเก้าอี้ให้พวกหล่อนนั่งได้เกือบจะพร้อมกัน เมื่อนางหนึ่งนางใดหยิบบุหรี่ขึ้น เขาก็จะโผล่มาเคียงข้าง มือหนึ่งจุดไฟแช็ค อีกมือป้องเปลวไฟ (ราวกับลมหนาวจะพัดผ่านกำแพงภัตตาคารเข้ามาได้อย่างนั้นละ!) พอนางหนึ่งยกเมนูไวน์พลางถามหาคำแนะนำ แทนที่เขาจะใช้นิ้วจิ้มตรงไปที่บอร์โดซ์ปี 1900 อันเป็นไวน์ยอดนิยม เขาจะทอดนิ้วชี้ลงไปแทน ลักษณะเดียวกับการทอดพระดัชนีของพระเจ้าเพื่อมอบชีวิตแก่อดัมในภาพบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน จากนั้นก็โค้งคำนับ ขอตัวกลับเข้าครัวไป

ทว่าเวลาผ่านไปไม่ทันถึงนาที บานประตูครัวก็ถูกเหวี่ยงเปิดออก เอมีลเดินอาดๆ ออกมา

ด้วยส่วนสูงหนึ่งร้อยหกสิบห้าเซนติเมตร น้ำหนักตัวกว่าแปดสิบกิโลกรัม หัวหน้าเชฟกวาดตามองทั่วร้านรวดเร็ว ก่อนจะตรงดิ่งมายังโต๊ะของท่านเคานต์โดยมีอันเดรย์เดินตามมาติดๆ ร่างของเชฟกระทบกระแทกเก้าอี้ของแขกระหว่างเดิน และแทบจะชนบัสบอยคนหนึ่งล้มคะมำพร้อมถาดในมือ ก่อนจะมาหยุดกึกที่โต๊ะท่านเคานต์ เชฟมองเขาตั้งแต่หัวจรดเท้าเช่นคู่ดวลหยั่งเชิงศัตรู

บราโว เมอซีเยอ ยอดเยี่ยมมากครับท่าน” น้ำเสียงขุ่นเคือง “บราโว!

จากนั้นก็กลับหลังหัน แล้วหายเข้าครัวไปทันที

อันเดรย์ซึ่งยังหอบไม่หาย รีบโค้งทั้งเพื่อขออภัยและแสดงความยินดีไปพร้อมกัน

“ใบตำแยเนตเทิลจริงๆ ขอรับท่าน การรับรสของท่านหาผู้ใดเสมอเหมือน”

แม้ท่านเคานต์จะไม่มีนิสัยขี้โอ่ แต่ก็อดยิ้มยินดีกับตัวเองไม่ได้

อันเดรย์รู้ดีว่าท่านเคานต์โปรดปรานขนม จึงผายมือไปทางรถเข็นของหวาน

“ให้ผมนำทาร์ตพลัมมาอภินันทนาการสักชิ้นดีไหมขอรับ…”

“ขอบคุณที่มีน้ำใจนะอันเดรย์ ถ้าเป็นทุกครั้งฉันคงไม่ปฏิเสธ แต่คืนนี้ดูจะไม่ว่างเสียแล้ว”

 

 

เมื่อตระหนักว่าบุรุษจำต้องเป็นนายเหนือสถานการณ์ของตน มิฉะนั้นจะโดนสถานการณ์บงการเสียเอง ท่านเคานต์จึงลองนึกเล่นๆ ถึงตัวอย่างของผู้ที่จัดการชีวิตตนได้แม้ต้องอยู่ในที่คุมขังตลอดชีวิต

ดูอย่างเอ็ดมอนด์ ดานเต้ ซึ่งถูกคุมขังในชาโตดิฟ เขาอาศัยความปรารถนาที่จะล้างแค้นช่วยรักษาความสงบนิ่งแห่งใจตน  ตัวเอกในนิยายท่านเคานต์แห่งมอนเตคริสโตคนนี้ถูกใส่ร้ายและจำคุกโดยอยุติธรรม เขาประคองสติด้วยการวางแผนอันแยบยลเพื่อแก้แค้นพวกที่วางแผนใส่ร้ายตนเอง ส่วนเซอร์วานเตส นักเขียนใหญ่ซึ่งถูกโจรสลัดจับตัวไปขังไว้ในอัลเจียร์ ความคิดคำนึงถึงนิยายซึ่งยังเขียนไม่จบเป็นกำลังใจให้เขาเอาชีวิตรอดมาได้ ส่วนโปเลียนเมื่อถูกคุมขังไว้ที่เกาะอัลบา ก็เดินง่วนอยู่กลางฝูงเป็ดไก่ มือไม้ปัดแมลงวัน ก้าวแต่ละก้าวอย่างระแวดระวังโคลนตม เขารักษาชีวิตไว้ได้ด้วยการรักษาจินตภาพว่าจะต้องกลับไปยังกรุงปารีสเยี่ยงผู้ชนะ

ทว่าท่านเคานต์ไม่ใช่คนเจ้าคิดเจ้าแค้น จินตนาการรึก็ไปไม่ถึงระดับมหากาพย์ แถมไม่ใช่คนอัตตาสูงถึงขั้นจะฝันเฟื่องว่าจะช่วงชิงจักรวรรดิกลับคืน หามิได้ บุคคลที่เขาจะยึดเป็นต้นแบบในการจัดการกับสถานการณ์ครั้งนี้ ถูกคุมขังในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือชายผู้นับถือนิกายแองกลิคัน เรือแตก และต้องมาติดเกาะร้าง นามว่าโรบินสัน ครูโซ นั่นเอง บนเกาะแห่งความสิ้นหวังนี้ ท่านเคานต์หาหนทางครองสติโดยหันมาทุ่มเทกับภารกิจซึ่งเน้นสร้างประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ เมื่อต้องอยู่บนเกาะนี้ไปอีกนานโดยไม่รู้ว่าวันไหนจะมีใครมาช่วย โลกของโรบินสัน ครูโซ คือการสร้างที่พักพิง หาแหล่งน้ำจืด สอนตัวเองให้ใช้หินเหล็กไฟ ศึกษาภูมิศาสตร์ของเกาะ รวมทั้งภูมิอากาศ พันธุ์สัตว์ และพรรณพืชอย่างทะลุปรุโปร่ง พลางฝึกฝนสายตาให้มองหาใบเรือตามขอบฟ้า ไม่ก็รอยเท้าบนหาดทราย

คิดได้ดังนั้น ท่านเคานต์จึงมอบโน้ตสามฉบับให้ชายชราชาวกรีซช่วยส่งมอบ จากนั้นภายในไม่กี่ชั่วโมงก็มีคนส่งสารอีกสองรายมาเยือน รายแรกเป็นหนุ่มน้อยจากร้านมิวร์แอนด์เมอร์รีลีส นำส่งผ้าปูที่นอนและหมอนอย่างดี อีกรายมาจากเปโตรฟสกีพาสเสจ  พร้อมสบู่สุดโปรดปรานของท่านเคานต์จำนวนสี่ก้อน

แล้วรายที่สามล่ะ เธอคงมาถึงช่วงที่เขารับประทานอาหารเย็น เพราะมีกล่องสีฟ้าบรรจุมิลล์เฟยหนึ่งชิ้นวางรอคอยอยู่บนเตียงของเขา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การนัดหมาย

 

เสียงตีบอกเวลาเที่ยงวันไม่เคยไพเราะเช่นนี้มาก่อน จะเป็นที่รัสเซีย หรือทั่วยุโรป หรือที่ไหนในโลกก็คงไม่เสนาะหูเท่า หากจูเลียตนัดหมายให้โรมีโอมาพบเธอที่หน้าต่างยามเที่ยง ความดีใจอกแทบระเบิดของโรมิโอยามใกล้ถึงเวลานัดก็ยังแพ้ความปรีดาของท่านเคานต์ในเวลานี้ หากฟริตส์กับคลาร่า บุตรชายและบุตรสาวของดร.สตาห์ลบอม ในเรื่องนัตแครกเกอร์[4] ได้รับแจ้งว่าประตูห้องนั่งเล่นจะเปิดยามเที่ยงในวันคริสต์มาส ความยินดีของทั้งคู่คงแพ้ความสุขสันต์ของท่านเคานต์เมื่อได้ยินเสียงตีบอกเวลาครั้งแรก

เมื่อหักห้ามใจไม่ให้คิดเตลิดไปถึงถนนทเวอร์สกายา (และโอกาสที่จะได้พบกลุ่มสุภาพสตรีสาวสมัยนิยม) ท่านเคานต์ก็อาบน้ำ แต่งตัว ดื่มกาแฟ และรับประทานผลไม้ (วันนี้คือลูกฟิก) เมื่อได้เวลาสิบนาฬิกาเศษๆ เขาก็ขมีขมันหยิบหนังสือของมงตาญขึ้นมาอ่าน แต่พบว่าอ่านไปได้สักสิบห้าบรรทัดก็ต้องละสายตาจากตัวหนังสือไปเหลือบดูนาฬิกาทุกที…

ท่านเคานต์ยอมรับว่านึกหวั่นอยู่เหมือนกันตอนหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจากโต๊ะเมื่อวันก่อน หนังสือเล่มเดียวแต่หนาเทียบเท่าพจนานุกรมหรือคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเป็นสองเล่มประเภทที่นานๆ เราจะเปิดหาความรู้หรือถ้อยคำประโลมใจสักครั้ง แต่ไม่เคยได้อ่านจริงจัง จนเมื่อท่านเคานต์เปิดดูเนื้อหาของหนังสือ จากรายชื่อความเรียงทั้ง 107 เรื่องในหัวข้ออย่าง ความเสมอต้นเสมอปลาย การเดินทางสายกลาง ความวิเวกสันโดษ และการนอนหลับ ล้วนยืนยันสิ่งที่ท่านเคานต์ตั้งสมมติฐานไว้ก่อนหน้านี้ มงตาญเขียนหนังสือเล่มนี้สำหรับอ่านยามค่ำคืนของฤดูหนาว นี่คือหนังสือที่เราพึงเปิดอ่านเมื่อนกกาเริ่มอพยพหนีหนาวลงใต้ เมื่อเขาขนฟืนมากองข้างเตาผิง เมื่อทุ่งนาห่มหิมะขาวโพลน เมื่อผู้เขียนคร้านเกินกว่าจะออกไปข้างนอก และเพื่อนๆ ก็ระอาลมหนาวเกินกว่าจะมาเยือน

อย่างไรก็ตาม ท่านเคานต์มองไปข้างหน้าอย่างเด็ดเดี่ยว เฉกเช่นกัปตันเรือผู้ชาญทะเลลงบันทึกเวลานาทีที่เรือออกจากท่าสู่จุดหมายแห่งการผจญภัยอันยาวนาน ท่านเคานต์ไถลลงสู่เกลียวคลื่นลูกแรกด้วยการเพ่งนินิจเนื้อความ “หลากวิธี แต่ไปถึงจุดหมายเดียวกัน”

ในความเรียงตอนเปิดเล่ม ผู้เขียนหยิบยกเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาสนับสนุนความคิดของตนที่ว่า เมื่อคนเราตกอยู่ใต้อำนาจของผู้อื่น เราพึงร้องขอเมตตาจากเขา

หรือไม่ก็คงความโอหัง และไม่ยอมหักไม่ยอมงอเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนผู้เขียนจะปักใจเชื่อว่าใช้วิธีใดในสองวิธีนี้ก็ล้วนแต่ถูกต้อง และเดินหน้าพิจารณาหัวข้อต่อไป “ว่าด้วยความเศร้า”

ตรงนี้เองที่มงตาญอ้างอิงเนื้อหาจากแหล่งข้อมูลอันทรงภูมิจากยุคทอง ซึ่งล้วนแต่ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าความเศร้าคืออารมณ์ซึ่งเราควรแบ่งปันให้ผู้อื่นรับรู้

หรือไม่ก็จงเก็บไว้กับตัว

ถึงช่วงกลางๆ ของความเรียงเรื่องที่สาม ท่านเคานต์ก็เผลอเหลือบดูนาฬิกาอีกเป็นครั้งที่สี่ หรือไม่ก็ครั้งที่ห้า หรือว่าปาเข้าไปครั้งที่หกแล้วนี่ ที่แน่ๆ คือความสนใจของท่านเคาต์เบี่ยงเบนไปสู่นาฬิกามากกว่าหนึ่งครั้ง

กระนั้นก็เถอะ เครื่องบอกเวลาเครื่องนี้ก็ช่างงามน่ามอง

บิดาของท่านเคานต์สั่งทำนาฬิกาเรือนนี้โดยบริษัทบริเกต์เป็นผู้ดำเนินการ ลำพังนาฬิกาชนิดตีบอกเวลาสองครั้งนี้ก็นับเป็นเรือนเวลาชิ้นเอกอยู่แล้ว หน้าปัดโลหะเคลือบสีขาว ทรงคล้ายผลเกรปฟรุต และตัวเรือนทำจากรัตนชาติสีน้ำเงินคือลาพิสลาซูลี มีทรงสอบเข้าอย่างอสมมาตรจากด้านบนสู่ฐาน อัญมณีในตัวเครื่องผ่านฝีมือเจียระไนของนายช่างระดับเอก รับประกันในความเที่ยงตรงอย่างที่สุด บริษัทนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี เมื่อท่านเคานต์อ่านความเรียงเรื่องที่สามต่อ (ซึ่งเพลโต อริสโตเติล และซิเซโรต่างมารวมตัวกันพร้อมจักรพรรดิแมกซิมิลเลียน) หูของท่านเคานต์ได้ยินเสียงเดินทุกติ๊กของนาฬิกา

นาฬิกาบอกเวลา สิบนาฬิกายี่สิบนาที กับห้าสิบหกวินาที

สิบนาฬิกาห้าสิบเจ็ดนาที

ห้าสิบแปด

ห้าสิบเก้า

เหตุใดกันนะ นาฬิกาเรือนนี้จึงบอกเวลาแม่นยำอย่างละเอียดเป็นวินาที ดุจโฮเมอร์ร่ายกวีของตนหมดจดครบทุกบาท หรือราวกับปีเตอร์ผู้บาปหนาที่สุดในบรรดาคนบาป

ว่าแต่ เมื่อกี้ถึงไหนแล้ว

อ๋อใช่ ความเรียงเรื่องที่สาม

ท่านเคานต์ขยับเก้าอี้ไปทางซ้ายเล็กน้อย จะได้ไม่ต้องเห็นนาฬิกา จากนั้นก็กลับไปดูว่าเมื่อกี้อ่านไปถึงไหน เขาค่อนข้างแน่ใจว่าเป็นย่อหน้าที่ห้าของหน้าสิบห้า แต่พอกลับไปอ่านต่อก็ดูเหมือนไม่คุ้นเนื้อหาตรงนั้นเลย อ่านย่อหน้าที่ผ่านมาแล้วก็ยังไม่คุ้น เอาเข้าจริงคือต้องพลิกกลับไปสามหน้ากว่าจะเจอเนื้อความที่คุ้นตาพอจะตั้งจิตตั้งใจอ่านต่อได้

“ตกลงหนังสือท่านต้องอ่านแบบนี้รึ” ท่านเคานต์ถามมงตาญ “เดินหน้าสองก้าว แล้วถอยหลังสามก้าว”

ด้วยทิฐิที่อยากพิสูจน์ว่าใครกันแน่ที่เป็นนาย ท่านเคานต์จึงลั่นวาจากับตนว่าจะไม่เงยหน้าจากหน้ากระดาษจนกว่าจะอ่านถึงบทที่ยี่สิบห้า ความตั้งใจกลายเป็นพลัง ท่านเคานต์อ่านรวดเดียวจากความเรียงที่สี่ ห้า และหก จากนั้นก็เดินหน้าสู่ความเรียงที่เจ็ดและแปดด้วยความคึกคัก ความเรียงที่ยี่สิบห้าตอนนี้ดูเหมือนอยู่แค่เอื้อม ราวเหยือกน้ำบนโต๊ะกินข้าวนี่เอง

ทว่าช่วงที่กำลังอ่านความเรียงเรื่องที่สิบเอ็ด สิบสอง และสิบสามคืบหน้าอยู่นั้น เป้าหมายก็เริ่มพร่าเลือน ราวกับตอนนี้หนังสือไม่ได้อยู่บนโต๊ะกินข้าวเสียแล้ว หากอยู่ในทะเลทรายซาฮารา ซึ่งบัดนี้น้ำในกระติกก็หมดเกลี้ยง ท่านเคานต์ต้องตะเกียกตะกายปีนป่ายประโยคสูงชันกว่าจะผ่านแต่ละหน้าไปได้ ซึ่งก็ยังมีหน้าอื่นรออยู่ไม่รู้จบสิ้น              …

เอานะ เป็นไงเป็นกัน ท่านเคานต์ลงคลาน คืบต่อไปข้างหน้า

เวลาเคลื่อนผ่านสิบเอ็ดนาฬิกา

ตัวหนังสือเคลื่อนถึงความเรียงที่สิบหก

และแล้วในที่สุด เข็มนาทีซึ่งยาวกว่า ก็เดินตามเข็มโค้งงอผู้เป็นน้องชายของมัน ซ้อนทับกันสนิท ณ ตำแหน่งสุดยอดของหน้าปัด สองเข็มมาบรรจบพบกัน สปริงในตัวเรือนคลายออก ลูกล้อหมุน ค้อนน้อยเคาะระฆัง ส่งเสียงเสนาะหู บ่งบอกว่าเวลาเที่ยงมาถึงแล้ว

สองขาหน้าของเก้าอี้ท่านเคานต์กระแทกพื้นเสียงดัง เมอร์ซิเออร์มงตาญหมุนสองตลบก่อนจะหล่นลงบนผ้าคลุมเตียง ขณะที่นาฬิกาตีครั้งที่สี่ ท่านเคานต์ก็กำลังสาละวนลงบันไดมาแล้ว ตีครั้งที่แปดเขาก็ถึงล็อบบี้ และทะลุผ่านไปยังชั้นล่าง ณ ที่นั้นเอง เขามีนัดกับยาโรสลาฟ ยาโรสลาฟล์ ช่างตัดผลฝีมือไร้เทียมทานแห่งโรงแรมเมโทรโปล

 

 

เป็นเวลากว่าสองศตวรรษ (นักประวัติศาสตร์ท่านว่าไว้) ที่ความเจริญทางวัฒนธรรมของชาติงอกงามออกมาจากบรรดาซาลอนแห่งนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก บรรดาห้องหับโอ่โถง ซึ่งมองออกไปเห็นวิวของคลองฟอนตังกา คือแหล่งที่มาของแนวคิด แฟชั่น หรือวัฒนธรรมการกินใหม่ๆ ก่อนจะแพร่กระจายกลายเป็นความนิยมไปทั่วสังคมรัสเซีย ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ก็ด้วยกิจกรรมบรรดามีใต้พื้นไม้ของห้องนั่งเล่นเหล่านี้เอง เพราะเหล่าบัตเลอร์ คนครัว และคนรับใช้ที่ชั้นล่างระดับเดียวกับถนนร่วมใจกันกระพือข่าวสารทันทีไม่มีติดขัด เมื่อมีการเอ่ยถึงชื่อของบุคคลผู้นำทางความคิดอย่างชาร์ลส์ ดาร์วิน หรือศิลปินเอดูอาร์ มาเนต์

แล้วก็ที่โรงแรมเมโทรโปลนี่เอง

นับแต่วันที่โรงแรมเปิดให้บริการเมื่อปี 1905 ห้องสวีตและภัตตาคารของโรงแรมกลายเป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนชนชั้นเลิศหรู ทรงอิทธิพล และรอบรู้ ทว่าความสง่างามตามที่เราเห็นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดผลงานการบริการของผู้คนชั้นล่าง

เป็นต้นว่า เมื่อเดินตัดล็อบบี้แล้วลงบันไดพื้นหินอ่อนอันโอ่โถงไปชั้นล่าง คุณจะผ่านแผงหนังสือพิมพ์ ซึ่งนำเสนอพาดหัวนับร้อยไว้ให้เลือกสรร แม้ตอนนี้เหลือเฉพาะของรัสเซียเท่านั้นก็ตาม

ถัดจากนั้นคือร้านดอกไม้ของฟาติมา เฟเดโรวา ช่างจัดดอกไม้ แต่ด้วยผลกระทบจากความพลิกผันที่ผ่านมา ชั้นวางของในร้านจึงว่างเปล่า กระจกหน้าต่างก็มีกระดาษปิดทับไว้ตั้งแต่ปี 1920 ส่งผลให้บริเวณซึ่งครั้งหนึ่งเคยสดใสที่สุดแห่งหนึ่งของโรงแรมกลายสภาพเป็นซอกหลืบหม่นหมอง ทว่าในยุครุ่งเรืองนั้น ดอกไม้ในร้านขายดีชนิดหมดกันไปเป็นไร่ ช่อดอกไม้ประธานประจำล็อบบี้ ช่อลิลลีประดับแต่ละห้องพัก ช่อกุหลาบซึ่งผู้ชมโยนไว้แทบเท้าของนักบัลเลต์ที่โรงละครบอลชอย รวมทั้งช่อดอกไม้เล็กๆ ประดับปกเสื้อนอกของบรรดาสุภาพบุรุษผู้โยนช่อกุหลาบเหล่านั้น ฟาติมายังแตกฉานในรหัสแห่งบุปผา อันเป็นภาษาแห่งสุภาพชนซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ยุคอัศวิน เธอไม่ได้รู้แค่ว่าดอกไม้ใดเหมาะแก่การขอขมา เธอยังรู้กระทั่งหากคุณผิดนัด หากคุณพลั้งปากพูดเรื่องซึ่งไม่ใช่ธุระของตน รวมทั้งเมื่อเผลอมองสุภาพสตรีสาวที่ประตูจนเป็นเหตุขัดใจคู่ควงตน คุณจักต้องส่งดอกไม้อะไรให้ กล่าวโดยสรุป ฟาติมามีความรอบรู้เกี่ยวกลิ่นหอม สีสัน และวัตถุประสงค์ของดอกไม้นานาพันธุ์ ยิ่งกว่าผึ้งเสียอีก

เอาล่ะ ท่านเคานต์ครุ่นคิด แม้นร้านฟาติมาต้องปิดตัวลง ทว่าบรรดาร้านดอกไม้ในปารีสก็ต้องปิดชนิดที่เอากระดาษมาแปะกระจกหน้าร้านแบบนี้เหมือนกันในช่วง “ยุคทมิฬ” ของโรเบสปีแยร์หลังการปฎิวัติฝรั่งเศส หากตอนนี้ร้านดอกไม้ก็ยังกลับมาสะพรั่งทั่วนครได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ในไม่ช้าดอกไม้แห่งโรงแรมเมโทรโปลจะกลับมาสะพรั่งอีกครั้งอย่างแน่นอน

สุดเฉลียงทางเดิน คือร้านตัดผมของนายยารอฟสลาฟ เขตขัณฑสีมาแห่งความเที่ยงตรงแม่นยำ การมองโลกแง่บวก ทั้งยังเป็นพื้นที่แห่งความเป็นกลางทางการเมือง ร้านตัดผมนี้คือสวิตเซอร์แลนด์ของโรงแรมเมโทรโปล หากท่านเคานต์ลั่นวาจาว่าจะรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตของตนผ่านการลงมือปฏิบัติ การนัดหมายแสนศักดิ์สิทธิ์เพื่อเล็มผมที่ร้านนี้สัปดาห์ละครั้ง คือเสี้ยวหนึ่งของการลงมือปฏิบัติที่ว่า

 

เมื่อท่านเคานต์เข้ามาในร้าน ยาโรสลาฟกำลังตัดผมสีน้ำเงินของลูกค้าสวมสูทสีเทาอ่อน ที่ม้านั่งชิดผนังมีชายร่างกำยำสวมเสื้อนอกยับยู่ยี่นั่งฆ่าเวลาอยู่ นายกัลบกยิ้มทักทายลูกค้าผู้สูงศักดิ์ เชื้อเชิญให้นั่งเก้าอี้ข้างๆ ตัวที่ยังว่าง

ขณะหย่อนตัวลงบนเก้าอี้ ท่านเคานต์ยิ้มทักชายร่างกำยำ จากนั้นจึงเอนหลัง ทอดสายตาไปยังความมหัศจรรย์ของร้าน อันได้แก่ตู้เก็บของ หากมีใครลองถามปิแยร์ ลารูสส์ ให้ลองจำกัดความคำว่าตู้ นักรวบรวมพจนานุกรมท่านนี้คงตอบว่า เครื่องใช้ที่ประดับประดาสวยงามสำหรับเก็บหรือบรรจุสิ่งของ มีประตูปิดเปิดได้ ก็เป็นคำจำกัดความที่ใช้งานได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมันครอบคลุมตั้งแต่ตู้เก็บของในครัวของบ้านชนบท ไปยันตู้ฝีมือชิปเปนเดลซึ่งใช้ในพระราชวังบักกิงแฮม ทว่าตู้ของยาโรสลาฟไม่ตรงกับคำจำกัดความนี้นัก เนื่องจากมันเป็นตู้กระจกใสกรอบนิกเกิลโปร่งเปิดเผย ไม่มีวัตถุประสงค์จะปิดบังข้าวของข้างในเลยแม้แต่น้อย

ก็เรื่องอะไรจะต้องปิดบัง ในเมื่อข้าวของในตู้นั้นน่าอวด สบู่ฝรั่งเศสห่อกระดาษไข สบู่โกนหนวดอังกฤษบรรจุในกระปุกงาช้าง โทนิกอิตาลีในขวดรูปทรงพิลึกลึกกือ ส่วนของที่หลบอยู่ก้นตู้คือของดีบรรจุในขวดเล็กๆ สีดำ ซึ่งยาโรสลาฟหลิ่วตาเรียกทีเล่นทีจริงว่าคือน้ำพุแห่งความกระชุ่มกระชวย

ในภาพสะท้อนของกระจกเงา ท่านเคานต์เบนสายตาไปมองฝีมือการทำงานของยาโรสลาฟ ซึ่งกำลังตัดผมสุภาพบุรุษผมสีเงินโดยใช้กรรไกรสองตัวตัดผมพร้อมกัน การทำงานของกรรไกรทั้งสองเล่มชวนให้นึกถึงลีลาของนักบัลเลต์เมื่อเต้นท่า อองเตรอชาต[5] เมื่อช่างเดินหน้าตัดต่อก็ยิ่งเร่งมือจนกรรไกรง้างและเตะออกราวกับนักเต้นคอสแซคกำลังโดดสูงและเตะขาเวลาเต้นโอปัคแบบชาวยูเครน เมื่อบรรลุถึงที่หมาย กรรไกรก็ตัดฉับส่งท้ายอย่างสวยงาม สมควรที่ม่านจะโรยตัวลงมาและเปิดออกอีกครั้งเพื่อรับการปรบมือจากผู้ชมโดยมีนายกัลบกโค้งรับ

ยาโรสลาฟดึงผ้าคลุมจากตัวลูกค้าแล้วสะบัดพรึบ ส้นเท้าเขากระทบเข้าหากันเมื่อรับเงินตอบแทนสำหรับผลงานยอดเยี่ยม ช่วงที่ลูกค้าออกจากร้าน (ดูหล่อและหนุ่มกว่าตอนที่ก้าวเข้ามาในร้านเยอะ) นายกัลบกก็ถือผ้าคลุมผืนใหม่มาทางท่านเคานต์

“ใต้เท้า สบายดีนะขอรับ”

“เยี่ยมเลย ยาโรสลาฟ เยี่ยมที่สุดเลยเชียว”

“วันนี้ให้ผมรับใช้อะไรดีขอรับ”

“แค่เล็มก็พอ เพื่อนเอ๋ย”

ช่วงที่กรรไกรเริ่มทำงาน ท่านเคานต์สังเกตความเปลี่ยนแปลงในตัวลูกค้าร่างกำยำบนม้านั่ง แม้ท่านเคานต์จะยิ้มทักทายก่อนหน้า ทว่าบัดนี้ใบหน้าของชายคนนั้นเริ่มจะแดงเรื่อ ดูไม่ผิดแน่ เพราะตอนนี้เขาหน้าแดงไปถึงใบหูแล้ว

ท่านเคานต์พยายามสบตาเขาคนนั้นอีกครั้ง กะจะพยักหน้าแสดงความเป็นมิตร แต่ชายคนนั้นจ้องขมึงที่หลังของยาโรสลาฟ

“ผมมาก่อน” เขากล่าว

ช่างอย่างยาโรสลาฟกำลังทำงานเพลินราวศิลปินจึงไม่รู้ตัว ซอยผมต่อด้วยความคล่องแคล่ว ชายคนนั้นจึงต้องพูดย้ำ คราวนี้เริ่มขึ้นเสียง

ผมมาก่อน

น้ำเสียงนั้นดึงนายกัลบกออกจากภวังค์ของการทำงาน เขาตอบอย่างรักษากิริยา

“สักครู่ก็ถึงคิวท่านแล้วขอรับ”

“ตอนฉันมาถึงร้าน นายก็พูดแบบนี้”

ประโยคนี้สัมผัสได้ชัดเจนถึงความเหี้ยมเกรียม ถึงขนาดยาโรสลาฟต้องหยุดเล็มผม หันมาทำหน้างงเมื่อสบตากับลูกค้า

แม้จะได้รับการอบรมสั่งสอนมาแต่เด็กว่าอย่าแทรกเวลาคนอื่นกำลังพูดกัน แต่ท่านเคานต์ก็ไม่อยากให้ช่างผมต้องมาแก้ตัวแทนเขา จึงพูดขึ้นว่า

“ยาโรสลาฟไม่มีเจตนาล่วงเกินคุณนะครับ เรื่องของเรื่องคือผมเป็นนัดขาประจำทุกเที่ยงวันอังคาร”

ชายคนนั้นหันมาทางท่านเคานต์

“นัดขาประจำงั้นเรอะ” เขากล่าวย้ำ

“ใช่แล้ว”

แล้วเขาก็ลุกพรวดจนม้านั่งเลื่อนไปกระแทกผนัง พอยืนแล้วจึงเห็นว่าเขาสูงแค่หนึ่งร้อยหกสิบเซนติเมตรเศษๆ กำปั้นซึ่งยื่นออกจากแขนเสื้อแดงพอๆ กับหูของเขาในตอนนี้ เขาย่างสามขุม ยาโรสลาฟถอยจนไปชนเคาน์เตอร์หน้ากระจก เขาย่างมาอีกก้าว แล้วปราดเข้ามาแย่งกรรไกรไปจากมือช่างตัดผม แล้วหันไปกระชากคอเสื้อท่านเคานต์ด้วยความเร็วของคนร่างเล็ก ตัดฉับเล่นเอาหนวดซีกขวาแหว่ง จากนั้นก็กำมือแน่น ดึงท่านเคานต์เข้ามาประชิด จมูกแทบจะชิดกัน

“นัดกันตามสบายได้เลย” เขากล่าว

แล้วก็ผลักท่านเคานต์กลับไปนั่งเก้าอี้ตัดผม โยนกรรไกรลงพื้น แล้วเดินออกจากร้านไป

“ใต้เท้าขอรับ” ยาโรสลาฟกล่าวละล่ำละลัก “เกิดมากระผมไม่เคยเจอนายคนนี้มาก่อน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นแขกของโรงแรมหรือเปล่า แต่ร้านนี้ไม่ต้อนรับเขาแล้ว ท่านมั่นใจได้นะขอรับ”

ท่านเคานต์ยืนขึ้น ในใจก็โอนเอียงไปทางเห็นด้วยกับยาโรสลาฟ และกำลังคิดถึงบทลงโทษที่สาสม ทว่าเขารู้จักชายที่มาทำร้ายเขามากน้อยแค่ไหนกันนะ

ครั้งแรกที่เขาเห็นชายผู้สวมเสื้อนอกยับยู่ยี่ที่ม้านั่ง ท่านเคานต์คิดเอาเองว่านายคนนี้คงเป็นคนทำงาน ผ่านมาเจอร้านตัดผม แล้วคิดว่าตัดผมสักหน่อยดีกว่า เป็นการให้รางวัลชีวิตเล็กๆ น้อยๆ ทว่าเขาอาจเป็นหนึ่งในลูกค้าใหม่ที่ชั้นสองของโรงแรมก็ได้ อาจจะเข้าทำงานในโรงเหล็กในช่วงวัยรุ่น เข้าสหภาพเมื่อปี 1912 พอปี 1916 ก็เป็นผู้นำการประท้วงนัดหยุดงาน แล้วกลายเป็นนายทหารในกองทัพแดงเมื่อปี 1918 ตอนนี้ต้องมารับตำแหน่งซึ่งดูแลรับผิดชอบอุตสาหกรรมเหล็กทั้งประเทศรัสเซีย

“ก็ถูกของเขานะ” ท่านเคานต์กล่าวแก่ยาโรสลาฟ “เขารอเพราะเชื่อตามที่เธอบอก ส่วนเธอก็ตั้งใจจะรักษานัดของฉัน ฉันเองต่างหากควรสละที่นั่งแล้วบอกให้เธอดูแลเขาก่อน”

“แต่ตอนนี้เราจะทำเช่นไรดีขอรับ”

ท่านเคานต์หันไปมองกระจก พินิจพิจารณาตนเอง ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

เขาปักใจเชื่อมานมนานแล้วว่าสุภาพบุรุษไม่ควรวางใจในกระจกเงา แทนที่วัตถุนี้จะช่วยให้เราค้นพบตัวเอง ดูเหมือนมันจะช่วยให้เราหลอกตัวเองเสียมากกว่า เขาเองเห็นมานักต่อนัก เมื่อสาวงามหันหน้าทำมุมสามสิบองศาให้กระจกเงาเพื่อยลโฉมตนเองในมุมซึ่งดูดีที่สุด (ราวกับคนทั้งโลกจะมองเห็นเธอจากมุมเดียวนั้น!) เขาเห็นมานักต่อนัก เมื่อสตรีสูงวัยสวมหมวกซึ่งแสนจะพ้นสมัย ทว่าปักใจเชื่อภาพที่เห็นในกระจก เพราะกรอบกระจกถูกสร้างให้เหมาะเจาะกับสไตล์ของยุคสมัยที่ผ่านพ้น ท่านเคานต์เองพึงใจเมื่อสวมใส่เสื้อนอกซึ่งวัดตัวและตัดเย็บมาอย่างประณีต  แต่ภาคภูมิใจยิ่งกว่าที่รู้ว่าสมบัติผู้ดีนั้นรักษาไว้ได้ด้วยกิริยามารยาทอันไร้ที่ดิ ความสวยของเสื้อนอกกลายเป็นเรื่องรอง

จริงเช่นนั้น ท่านเคานต์คิด โลกหมุนไปข้างหน้าจริงๆ

จริงๆ แล้วโลกหมุนบนแกนขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์ กาแลกซีเองก็หมุนเช่นกัน หมุนรอบแกนซึ่งหมุนอยู่ในอีกแกนที่ใหญ่กว่า ส่งเสียงระฆังที่ดังแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากค้อนเคาะระฆังใบน้อยในนาฬิกา เมื่อระฆังจักรวาลดังกังวาล อาจจะถึงเวลาที่กระจกเงาจะทำงานรับใช้วัตถุประสงค์แท้จริง ไม่ใช่แค่เผยให้เห็นโฉมหน้าของคนที่เราจินตนาการว่าเราเป็น หากเผยให้เห็นตัวตนของคนที่เรากลายมาเป็นจริงๆ

ท่านเคานต์กลับไปนั่งบนเก้าอี้ตัดผม

“โกนเกลี้ยง” เขาบอกช่างตัดผม “โกนให้เกลี้ยงเลยเพื่อนเอ๋ย”

 

 

ผูกมิตร

 

โรงแรมเมโทรโปลมีร้านอาหารสองแห่ง คือภัตตาคารโบยาร์สกี สถานที่แสนสบายในตำนานซึ่งเราเพิ่งไปเยือน และห้องดินเนอร์ใหญ่ข้างล็อบบี้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าเมโทรโปล ทว่าทานเคานต์ชอบเรียกอย่างเอ็นดูว่าปีแอซซา

จริงๆ แล้วความหรูหราของการตกแต่ง คุณภาพของบริการ และความละเมียดแห่งรสชาติอาหารของปีแอซซานั้นเทียบกันไม่ได้กับโบยาร์สกี แต่ปีแอซซาเองไม่ได้มุ่งมาดอวดความหรูหรา บริการ และความละเมียดละไมแต่อย่างใด ในร้านมีโต๊ะทั้งหมดแปดสิบโต๊ะตั้งรายรอบน้ำพุหินอ่อน เมนูมีทุกสิ่งตั้งแต่อาหารพื้นๆ อย่างพีรอชกีไส้กะหล่ำปลีจนถึงเนื้อลูกวัวชุบเกล็ดขนมปังทอด ร้านปีแอซซานี้ตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของนครมอสโก ทั้งสวน ตลาด และถนนหนทาง นี่คือสถานที่ซึ่งชาวรัสเซียจากทุกชั้นชนมาพบปะดื่มกาแฟ มาเจอเพื่อนฝูง ถกเถียงกันหน้าดำหน้าแดง หรือนัดคบชู้สู่สาว ส่วนลูกค้าซึ่งมาคนเดียวก็อาจจะมานั่งใต้เพดานกระจก เพลิดเพลินกับสิ่งรอบตัว ทั้งเรื่องซึ่งน่าชื่นชม สมควรเหยียดหยาม ชวนตั้งข้อกังขา หรือชวนหัว ทั้งหมดทำได้โดยไม่ต้องลุกจากเก้าอี้ของตนด้วยซ้ำ

แล้วพนักงานเสิร์ฟล่ะ เช่นเดียวกับพนักงานเสิร์ฟของบรรดาร้านอาหารในกรุงปารีส ขอใช้คำว่า “มีประสิทธิภาพ” เพื่อชมเชยพนักงานของปีแอซซาก็แล้วกัน พนักงานคุ้นเคยกับร้านที่คนแน่นขนัด ยัดลูกค้าแปดคนลงโต๊ะที่จัดไว้สำหรับสี่ที่นั่งได้โดยไม่คิดมาก ได้ยินเสียงออร์เดอร์อาหารท่ามกลางเสียงดนตรีออร์เคสตราที่ดังแข่งอยู่ในร้าน แล้วนำเครื่องดื่มหลากชนิดใส่ถาดมาลงให้ลูกค้าได้ถูกต้องตามที่สั่ง หากคุณยังกางเมนูแล้วมีทีท่าว่ายังลังเลแม้สักนิด พนักงานเสิร์ฟจะตัดบทให้โดยจิ้มนิ้วไปที่เมนูพิเศษของทางร้าน และเมื่อลูกค้าตักขนมคำสุดท้ายใส่ปาก พวกเขาก็ปรี่มาเก็บจานโดยเร็ว ตามด้วยมอบบิลค่าอาหาร และกลับมาพร้อมเงินทอนภายในเวลาไม่ถึงนาที  อีกนัยหนึ่งกล่าวได้ว่า พนักงานเสิร์ฟของปีแอซซาแคล่วคล่องทุกช่องทาง ตั้งแต่อาหาร จานชาม ยันเงินทอน

อย่างน้อยก็เป็นแบบนั้นในช่วงก่อนสงคราม…

ทุกวันนี้ ห้องอาหารเหลือลูกค้าเพียงไม่กี่คน ผู้ที่มาเสิร์ฟท่านเคานต์เองก็ไม่เพียงดูเป็นเด็กใหม่ในร้าน แต่ยังใหม่ต่อศิลปะของการเสิร์ฟอาหารอีกด้วย นายคนนี้รูปร่างสูงผอม ศีรษะลีบหลิม ท่าทางโอหังบอกไม่ถูก ดูแล้วเหมือนตัวบิชอปเพิ่งหลุดจากกระดานหมากรุกมากกว่า เมื่อท่านเคานต์นั่งลง ในมือมีหนังสือพิมพ์ อันเป็นภาษาสากลที่แปลว่ามาคนเดียว นายคนนี้ก็ยังไม่ยอมเก็บจานส้อมมีดอีกที่ เมื่อท่านเคานต์ปิดเมนูแล้ววางไว้ข้างจาน อันเป็นภาษาสากลที่แปลว่าพร้อมจะสั่งอาหาร ก็ไม่วายต้องโบกมือเรียกจึงจะมารับออร์เดอร์ เมื่อท่านเคานต์สั่งซุปเย็นอาครอชก้ากับปลาโซล นายคนนั้นก็ถามว่าจะรับไวน์ขาวโซแตร์นสักแก้วหรือไม่ ซึ่งก็เป็นคำแนะนำที่ดีอยู่หรอกหากท่านเคานต์สั่งอาหารอย่างฟัวกราส์!

“เอาเป็นว่าขอไวน์ชาโตโบดแลร์มาขวดหนึ่งก็แล้วกัน” ท่านเคานต์แก้ไขให้อย่างสุภาพ

“ได้ครับ” บิชอปตอบพร้อมรอยยิ้มราวบรรลุธรรม

จะว่าไปการสั่งไวน์โบดแลร์ทั้งขวดมาดื่มคนเดียวช่วงมื้อเที่ยงดูเป็นเรื่องสิ้นเปลืองไปสักนิด แต่หลังจากใช้เวลาอีกหนึ่งเช้ากับหนังสือของนายมิเชล เดอ มงตาญ ซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่จะอ่านจบเสียที ท่านเคานต์ก็รู้สึกว่าน่าจะหาอะไรปลอบขวัญสักหน่อย ช่วงหลายวันที่ผ่านมาเขารู้สึกกระวนกระวายบอกไม่ถูก ช่วงที่ลงมายังล็อบบี้ เขาพบว่าตัวเองนับก้าวขณะลงบันได ขณะนั่งดูพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์บนเก้าอี้ตัวโปรด เขาก็เผลอยกนิ้วมาบิดหนวดที่ไม่มีอยู่แล้ว เขาพบว่าตัวเองก้าวเข้ามาในร้านปีแอซซาเวลา 12:01 น. เพื่อมารับประทานมื้อเที่ยง พอถึง 13:35 น. ขณะเดินขึ้นบันได 110 ขั้นกลับขึ้นไปบนห้อง เขาก็เริ่มนับเวลาแล้วว่าอีกกี่นาทีจึงจะกลับลงมาหาเครื่องดื่มที่ชั้นล่าง ซึ่งถ้ายังดำเนินชีวิตต่อไปเยี่ยงนี้ ในไม่ช้าเพดานคงจะค่อยๆ กดต่ำลง ผนังคงจะเลื่อนเข้ามาหา พื้นก็จะยกตัวลอยสูง แล้วเมื่อถึงเวลานั้นทั้งโรงแรมคงยุบเหลือขนาดเท่ากล่องบิสกิต

ขณะรอไวน์ท่านเคานต์เหลียวมองในร้าน แต่หาความเจริญตาจากลูกค้าอื่นมิได้เลย อีกฝั่งหนึ่งคือเจ้าหน้าที่การทูตสองคนซึ่งพลัดหลงมาหาอะไรกินอย่างงงๆ ระหว่างรอให้ยุครุ่งเรืองของการทูตกลับมา อีกมุมคือแขกสวมแว่นจากชั้นสอง บนโต๊ะตรงหน้ามีเอกสารสี่ชุดวางจนแน่น ขณะเขาเอานิ้วจิ้มเทียบตัวอักษรในเอกสารทีละตัว ดูแล้วไม่มีใครสดใสน่าสนใจ ยกเว้นเพียงเด็กหญิงซึ่งชอบสีเหลือง และดูเหมือนว่ากำลังเมียงมองสอดแนมท่านเคานต์อยู่จากโต๊ะหลังน้ำพุ

ตามที่วาซีลีบอก เด็กหญิงวัยเก้าขวบผมเหยียดตรงสีบลอนด์คนนี้เป็นลูกสาวของข้ารัฐการพ่อหม้ายจากยูเครน เธอนั่งอยู่กับพี่เลี้ยงเหมือนทุกครั้ง พอรู้ว่าท่านเคานต์มองมา เธอก็ยกเมนูขึ้นบังหน้าจนมิด

“ซุปครับท่าน” บิชอปกล่าว

“อ้า ขอบใจ น่ารับประทานทีเดียว แต่อย่าลืมไวน์ละ!”

“ได้ครับ”

แล้วเขาก็หันมาใส่ใจกับซุปอาครอชก้า มองปราดเดียวก็รู้ว่าฝีมือดี คนรัสเซียทุกหมู่เหล่าล้วนโตมาจากซุปนี้ด้วยฝีมือคุณย่าคุณยาย ท่านเคานต์หลับตาแล้วชิมซุปให้สมกับที่รอคอย ตัวซุปเย็นเช่นที่ควรเป็น หนักเกลือไปนิด อ่อนน้ำหมักควาสไปหน่อย แต่ก็อร่อยด้วยรสเติมเต็มของผักชีลาว – ราวกับประกาศการมาถึงของฤดูร้อน ชวนให้นึกถึงเสียงหรีดหริ่งของจิ้งหรีด และช่วงเวลาผ่อนคลายจิตใจ

แต่พอลืมตา ช้อนก็แทบหลุดมือ เด็กหญิงซึ่งชอบสีเหลืองมายืนเกาะถึงขอบโต๊ะ – มองพินิจท่านเคานต์อย่างไม่เกรงใจด้วยสายตาแบบที่มีแต่เด็กหรือไม่ก็หมาทำได้ เท่านั้นยังไม่พอ สีกระโปรงของเธอวันนี้คือเหลืองเลมอนสว่างจ้า

“หายไปไหนหมดคะ” เด็กหญิงถามโดยไม่พูดพล่ามทำเพลง

“ขอโทษที อะไร ใครหาย”

เธอเอียงคอเพื่อมองหน้าของท่านเคานต์ใกล้ๆ

“ก็หนวดคุณไง”

ท่านเคานต์เองไม่ค่อยมีเหตุให้ข้องเกี่ยวกับเด็กๆ แต่ก็โตมาโดยมีผู้ใหญ่สอนสั่งว่าเด็กไม่ควรเข้าหาคนแปลกหน้า ไม่ควรชวนคุยขัดจังหวะตอนเขากำลังรับประทานอาหาร และที่แน่ๆ คือไม่ควรไปถามเรื่องรูปลักษณ์ของเขา โรงเรียนสมัยนี้เขาเลิกสอนให้เด็กๆ ไม่ยุ่งเรื่องคนอื่นแล้วหรือนี่

“ก็เหมือนนกนางแอ่น” คือคำตอบของท่านเคานต์ “พอถึงฤดูร้อนมันก็บินไปที่อื่น”

จากนั้นเขาก็ทำมือเหมือนนกกำลังกระพือปีกลอยลม และสื่อนัยว่าเด็กหญิงน่าจะลอยลับกลับไปที่โต๊ะตัวเองเสีย

เธอพยักหน้าพึงใจกับคำตอบของท่านเคานต์

“ร้อนนี้หนูเองก็กำลังจะเดินทางเหมือนกัน”

ท่านเคานต์พยักหน้าเป็นเชิงว่ายินดีด้วย

“ไปทะเลดำ” เด็กกล่าว

ว่าแล้วเธอก็ขยับเก้าอี้ตัวหนึ่งออกจากโต๊ะ แล้วนั่งลง

“กินด้วยกันไหมล่ะ” ท่านเคานต์ถาม

เด็กหญิงขยับตัวดุกดิกในเก้าอี้อย่างสบายใจแทนคำตอบ แล้วเท้าศอกกับโต๊ะ เธอสวมสร้อยทองแขวนเหรียญ เครื่องรางหรือไม่ก็ล็อกเก็ต ท่านเคานต์ชะเง้อไปทางพี่เลี้ยง เผื่อเธอจะมองมา แต่พี่เลี้ยงขอจมอยู่กับหนังสือในมือดีกว่าต้องมาปวดหัวกับคุณหนูคนนี้

เด็กหญิงเอียงคอแบบหมาน้อยอีกครั้ง

“คุณเป็นท่านเคานต์จริงหรือเปล่า”

“จริงสิ”

เธอทำตาโต

“แล้วรู้จักเจ้าหญิงบ้างไหม”

“รู้จักหลายองค์เลย”

เด็กหญิงตาโตยิ่งกว่าเดิม แล้วก็หรี่ลงครุ่นคิด

“เป็นเจ้าหญิงนี่ยากไหม”

“ยากสิ”

ตอนนั้นเอง บิชอปก็โผล่มาพร้อมเนื้อปลาโซล ทั้งที่ท่านเคานต์ยังกินซุปเหลืออยู่ครึ่งชาม เขาเสิร์ฟปลา แล้วเก็บซุปไป

“ขอบใจนะ” ท่านเคานต์กล่าว ยังถือช้อนคามืออยู่

“ครับ”

ท่านเคานต์กำลังจะอ้าปากถามหาไวน์โบดแลร์ แต่บิชอปก็ไปไกลเสียแล้ว เขาจึงหันมาหาแขกที่โต๊ะ เด็กหญิงจ้องปลาในจาน

“นี่อะไรคะ” เธออยากรู้

“นี่หรือ เนื้อปลาโซล”

“อร่อยไหมคะ”

“หนูไม่มีอาหารเที่ยงของหนูเองหรือ”

“ก็หนูไม่ชอบ”

ท่านเคานต์แบ่งเนื้อปลาในจานใส่จานแบ่งบนโต๊ะ แล้วส่งให้เด็กหญิง “เชิญตามสบายเลย”

เธอเอาส้อมจิ้มทั้งชิ้นเข้าปากหมดในคำเดียว

“อร่อยจัง” เธอบอก ด้วยกิริยาซึ่งไม่ได้เรียบร้อยน่ารักอะไร แต่อย่างน้อยปากเธอก็ตรงกับใจอย่างที่สุด จากนั้นเด็กหญิงก็ยิ้มเศร้าๆ ถอนใจเฮือก ตาสีฟ้ามองละห้อยมาที่อาหารเที่ยงในจานของท่านเคานต์

“อืม” ท่านเคานต์เอ่ย พร้อมกับหยิบจานแบ่งกลับมา ตัดปลาในจานตนออกครึ่งหนึ่งแล้วใส่ในจานแบ่ง มีผักโขมและเบบี้แครอตครบเครื่อง เธอขยับตัวอีกหน ราวกับจะเตรียมตัวให้พร้อม พอแม่หนูบรรจงเขี่ยผักไปขอบจานเสร็จ ก็ตัดปลาเป็นสี่ชิ้นเท่ากัน ตัดชิ้นแรกใส่ปาก แล้วซักต่อ

“วันๆ เจ้าหญิงทำอะไรบ้างคะ”

“ก็เหมือนสุภาพสตรีสาวน้อยทั่วไป” คือคำตอบของท่านเคานต์

เด็กหญิงพยักหน้า เป็นสัญญาณให้เล่าต่อ

“ตอนเช้าทรงเรียนภาษาฝรั่งเศส วิชาประวัติศาสตร์ และดนตรี แล้วก็เสด็จไปหาพระสหาย เดินเล่น เสวยมื้อเที่ยง เสวยผักด้วย”

“พ่อบอกว่าเจ้าหญิงคือตัวแทนความฟุ้งเฟ้อของยุคสมัยที่เสื่อมไปแล้ว”

ท่านเคานต์ถึงกับสะอึก

“บางองค์อาจใช่” ท่านเคานต์ตอบ “แต่ไม่ใช่ทุกองค์ ฉันรับรองได้”

“ไม่ต้องห่วงค่ะ พ่อหนูใจดีจะตาย พ่อรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับวิธีใช้รถแทรกเตอร์ แต่ไม่รู้อะไรสักอย่างเกี่ยวกับงานของเจ้าหญิง”

ท่านเคานต์แสดงท่าทีว่าโล่งอก

“คุณเคยไปงานเต้นรำไหมคะ” เธอถาม หลังจากนิ่งคิดไปพักหนึ่ง

“แน่นอน”

“เต้นรำเป็นหรือเปล่า”

“ฉันน่ะเท้าไฟขึ้นชื่อเชียวล่ะ” ท่านเคานต์ตอบพร้อมแววตาเป็นประกายอันเลื่องลือ – ประกายแววตาที่ตัดตอนการโต้เถียงให้สงบได้แต่ต้นลมและดึงดูดสายตาสาวงามในทุกซาลอนของนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

“เท้าไฟคืออะไร”

“อะแฮ่ม” ท่านเคานต์ตอบ “เอาเป็นว่า ฉันเคยเต้นรำมาแล้วหลายงาน”

“แล้วคุณเคยอยู่ในปราสาทหรือเปล่า”

“ประเทศเราไม่ค่อยมีปราสาทหรอก ส่วนใหญ่มีอยู่ในเทพนิยาย” ท่านเคานต์อธิบาย “แต่หนหนึ่งฉันเคยไปดินเนอร์ที่ปราสาท…”

เด็กหญิงขมวดคิ้ว ราวให้คะแนนคำตอบ ถึงจะไม่ได้อย่างใจ แต่ก็นับว่าพอใช้ได้ ว่าแล้วก็จิ้มปลาชิ้นที่สองเข้าปาก ขมวดคิ้วครุ่นคิด แล้วอยู่ๆ ก็เอนตัวมาข้างหน้า

“คุณเคยดวลกับใครไหม”

“หมายถึงแอฟแฟร์ ดอนเนอร์ การดวลเพื่อปกป้องเกียรติยศน่ะหรือ” ท่านเคานต์ลังเล “เอาเป็นว่าฉันเคยดวลแบบ…”

“แบบที่ใช้ปืนสั้น ในระยะสามสิบสองก้าวใช่ไหม”

“ในกรณีของฉัน เรียกว่าดวลกันในเชิงอุปมาอุปมัยจะเหมาะกว่า”

พอเห็นว่าแขกตัวน้อยมีสีหน้าผิดหวังอย่างเห็นได้ชัด ท่านเคานต์ก็รีบหาเรื่องมาเล่าปลอบใจ

“แต่บิดาทูนหัวของฉันเคยรับหน้าที่ผู้ดูแลในหลายวาระด้วยกัน”

“ผู้ดูแลหรือคะ”

“เมื่อสุภาพบุรุษถูกลบหลู่ และต้องการกอบกู้เกียรติยศกลับคืนด้วยการประลอง สุภาพบุรุษท่านนั้นและคู่กรณีจะแต่งตั้งผู้ดูแล เหมือนเป็นผู้หมวดประจำตัว รับหน้าที่ตกลงเรื่องกฎเกณฑ์ในการดวล”

“กฎในการดวลเป็นยังไง”

“จะดวลที่ไหน เมื่อไหร่ จะใช้อาวุธอะไร ถ้าใช้ปืนสั้น จะต้องก้าวให้ห่างกันในระยะกี่ก้าว หรือยิงได้มากกว่าหนึ่งนัดหรือไม่”

“บิดาทูนหัวของคุณหรือ ตอนนั้นเขาอาศัยอยู่ที่ไหนคะ”

“ที่มอสโกนี่ละ”

“ดวลกันที่มอสโกเลยหรือคะ”

“ครั้งหนึ่งที่มอสโก เริ่มจากการไม่ลงรอยกัน เรื่องเกิดในโรงแรมแห่งนี้ละ คู่กรณีคนหนึ่งเป็นนายพลเรือเอก คนหนึ่งเป็นเจ้าชาย ได้ยินว่าสองท่านนี้ไม่กินเส้นกันมานาน แต่มาเป็นเรื่องก็ตอนที่ทั้งสองมาเจอกันในล็อบบี้ และท้าดวลกันตรงนั้นเลย”

“ตรงไหนคะ”

“ข้างๆ โต๊ะของคอนเชียร์จ”

“ตรงที่หนูชอบไปนั่ง!”

“น่าจะใช่”

“ทั้งสองรักผู้หญิงคนเดียวกันหรือคะ”

“ไม่คิดว่ามีผู้หญิงมาเกี่ยวข้องนะ”

เด็กหญิงมองท่านเคานต์ด้วยสายตาที่บอกว่าอย่ามาหลอกเสียให้ยาก

“มีผู้หญิงเกี่ยวข้องเสมอละค่ะ”

“เอาเป็นว่า จะเป็นด้วยเรื่องอะไรก็ตาม ผู้ที่โดนล่วงเกินเรียกร้องให้ขอขมา อีกฝ่ายปฏิเสธ จึงมีการท้าดวล ช่วงนั้นผู้จัดการโรงแรมเป็นชาวเยอรมันนามว่าเคฟเฟลอร์ ซึ่งมียศถาบรรดาศักดิ์ระดับบารอนเช่นกัน และเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเขามีปืนสั้นคู่หนึ่งซ่อนไว้ในผนังห้องทำงาน ดังนั้นพอเกิดเรื่อง จึงมีห้องหับให้ผู้ดูแลเจรจาตกลงกัน เรียกรถม้ามารอท่า สำหรับให้คู่กรณีพร้อมอาวุธออกเดินทาง

“ในโมงยามก่อนรุ่งสาง…”

“ในโมงยามก่อนรุ่งสาง”

“สู่แหล่งแห่งที่ลับตาคน…”

“สู่แหล่งแห่งที่ลับตาคน”

เด็กหญิงชะโงกเข้ามาใกล้

“เลนสกีถูกโอเนกินฆ่าในการดวลปืน”

เธอกระซิบกระซาบเมื่อกล่าวประโยคนั้น ราวกับการอ้างถึงเหตุการณ์ในบทกวีของปุชกินเป็นเรื่องที่พึงกระทำด้วยความระมัดระวัง

“ใช่แล้ว” ท่านเคานต์กระซิบตอบ “ปุชกินเองก็ตายเพราะการดวลเหมือนกัน”

เธอพยักหน้าขึงขัง

“ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก” เธอกล่าว “ริมฝั่งน้ำริวูเลตดำ”

“ริมฝั่งน้ำริวูเลตดำ”

ปลาในจานสุภาพตรีตัวน้อยเกลี้ยงไปแล้ว เธอพับผ้ากันเปื้อนวางบนจาน พยักหน้าหนึ่งครั้ง ราวให้การยอมรับว่าท่านเคานต์นี่เป็นเพื่อนกินมื้อเที่ยงที่ใช้ได้ เธอลุกขึ้น เตรียมเดินกลับโต๊ะ แต่แล้วก็หยุดชะงัก

“หนูชอบตอนคุณไม่มีหนวด” เธอกล่าว “ไม่มีหนวดแล้ว…ค่อยเห็นหน้าเห็นตาชัดหน่อย”

จากนั้นเธอก็ถอนสายบัวให้อย่างเอนเอียง แล้วเดินหายไปทางหลังน้ำพุ

 

 

แอฟแฟร์ ดอนเนอร์…

ท่านเคานต์คิดคำนึงในเชิงกล่าวโทษตัวเอง ขณะนั่งคนเดียวที่บาร์ของโรงแรมคืนนั้นพร้อมแก้วบรั่นดีในมือ

บาร์แห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากล็อบบี้ มีม้านั่งยาวหุ้มนวม เคาน์เตอร์ไม้มะฮอกกานี ผนังด้านหลังมีขวดวางเรียงราย ท่านเคานต์เรียกเมรัยสถานสไตล์อเมริกันแห่งนี้อย่างเอ็นดูว่า ชาลยาปิน เพื่อเป็นเกียรติแก่นักร้องโอเปร่าผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซีย ผู้เป็นขาประจำที่บาร์นี้ช่วงก่อนการปฏิวัติ สถานที่นี้ครั้งหนึ่งคึกคักด้วยผู้คน แต่บาร์ชาลยาปินวันนี้เป็นเสมือนวิหารสำหรับปลีกวิเวกหรือสวดภาวนามากกว่า ซึ่งก็เหมาะเจาะกับสภาพจิตใจของท่านเคานต์ในคืนนี้

ใช่แล้ว เขาล่องลอยต่อไปในความคิด คนเราไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าเอามาพูดให้เป็นภาษาฝรั่งเศสแล้วมันฟังดูดีไปหมด…

“ให้ผมรับใช้ดีไหมขอรับ ใต้เท้า”

คือเสียงของอาอูดรีอุส นายบาร์แห่งชาลยาปิน ชาวลิทัวเนียผู้ไว้เคราแพะสีทอง ยิ้มสวย และรู้งาน ทันทีที่คุณมานั่งเก้าอี้หน้าบาร์ เขาจะเอาแขนเท้าบาร์แล้วชะโงกถามไถ่ว่าจะรับอะไรดีเพื่อความสำราญใจในค่ำคืน ทันทีที่แก้วคุณพร่อง เขาก็จะปรี่เข้ามาพร้อมเติม ทว่าท่านเคานต์เองก็งงเหมือนกันว่าทำไมนายบาร์จึงเลือกเวลานี้มาเสนอตัวจะรับใช้

“จะช่วยสวมเสื้อนอกให้ท่านน่ะครับ” นายบาร์ตอบคลายข้อสงสัย

ตามจริง ท่านเคานต์ก็สอดแขนเข้ามาในแขนเสื้อนอกได้ลำบากอยู่เหมือนกัน แล้วก็นึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าถอดออกตั้งแต่เมื่อไหร่ ท่านเคานต์มาถึงบาร์ชาลยาปินตอนหกโมงเย็นเหมือนทุกวันเพื่อสั่งเครื่องดื่มเรียกน้ำย่อยก่อนอาหารเย็น โดยจำกัดตัวเองไว้อย่างเคร่งครัดไม่ให้เกินหนึ่งแก้ว แต่เนื่องจากไม่ได้ดื่มโบดแลร์ตามที่ออร์เดอร์ไว้ ท่านเคานต์จึงอนุญาตให้ตัวเองดื่มดูบอนเนต์เป็นแก้วที่สอง แล้วตามด้วยบรั่นดีอีกจิบสอง เผลอแป๊บเดียว…นี่ก็…นี่ก็…

นี่กี่โมงกี่ยามแล้ว อาอูดรีอุส”

“สี่ทุ่มขอรับ ใต้เท้า”

“สี่ทุ่ม!”

อาอูดรีอุส ซึ่งบัดนี้มาอยู่ข้างเคาน์เตอร์ฝั่งลูกค้า ประคองท่านเคานต์ลงจากเก้าอี้หน้าบาร์ ขณะที่เขาช่วยพาลูกค้าผู้สูงศักดิ์เดินตัดล็อบบี้ (ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ออกจะไม่จำเป็น) ท่านเคานต์ก็เชิญชวนเขาเข้าสู่ขบวนความคิด

“รู้อะไรไหม อาอูดรีอุส ตอนที่การดวลเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นายทหารรัสเซียเมื่อต้นทศวรรษ 1700 มันกลายเป็นกิจกรรมที่นายทหารนิยมชมชอบกันมาก ถึงขนาดที่พระเจ้าซาร์ต้องทรงออกกฎห้ามดวล ทรงกลัวว่าขืนปล่อยไว้อาจไม่มีนายทหารเหลือไว้บัญชาการไพร่พล”

“ไม่ทราบมาก่อนเลยขอรับ ใต้เท้า” นายบาร์ตอบยิ้มๆ

“เรื่องจริงเลยล่ะ และไม่ใช่แค่โอเนกิน[6]ที่มีการดวล นิยายอย่าง สงครามและสันติภาพ[7] พ่อและลูกชาย[8] และ พี่น้องคารามาซอฟ [9]ก็มักมีการดวลเป็นกิจกรรมสำคัญเช่นกัน! เห็นได้ชัดว่านักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซียนั้น ต่อให้สติปัญญาปราดเปรื่องขนาดไหน ก็ไม่อาจคิดฉากที่ขับเคลื่อนโครงเรื่องได้ดีกว่าการให้ตัวละครหลักสองตัวจะตัดสินข้อพิพาทกันด้วยปืนสั้นสองกระบอก ในระยะห่างสามสิบสองเก้า”

“กระผมพอเข้าใจขอรับ เรามาถึงแล้ว ให้ผมกดชั้นห้าให้นะขอรับ”

ท่านเคานต์พบตัวเองมายืนจังก้าอยู่หน้าลิฟต์ และมองนายบาร์ด้วยสายตาตกตะลึง

“แต่ว่า อาอูดรีอุส เกิดมาฉันยังไม่เคยขึ้นลิฟต์เลย!”

หลังตบหลังตบไหล่ขอบใจนายบาร์ ท่านเคานต์ก็เริ่มบ่ายหน้าขึ้นบันได ทว่าพอถึงที่พักบันไดชั้นสอง เขาก็หย่อนตัวลงนั่งบนขั้นบันได

“ทำไมประเทศเราถึงได้คลั่งไคล้การดวลยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ เขานะ” เขาตั้งคำถามกับขั้นบันได

บางคนคงอธิบายว่ามันเป็นผลพลอยได้จากนิสัยดิบเถื่อนของผู้คน เนื่องจากรัสเซียเป็นแผ่นดินซึ่งมีฤดูหนาวยาวนานและทารุณ ผู้คนคุ้นเคยกับทุพภิกขภัย ระบบยุติธรรมแบบโหดๆ และอื่นๆ อีกมากมาย จึงเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่พวกผู้ดีมีสกุลจะน้อมนำรับความรุนแรงรูปแบบนี้เป็นวิธีการในการยุติข้อพิพาทบาดหมาง แต่ในความเห็นของท่านเคานต์ เหตุผลที่การดวลแพร่หลายไปทั่วแผ่นดินในหมู่สุภาพบุรุษชาวรัสเซีย มีที่มาจากนิสัยคลั่งไคล้ในเกียรติยศชื่อเสียงและความโก้หร่านต่างหาก

จริงอยู่ที่ตามธรรมเนียมนั้น การดวลต้องมีขึ้นช่วงก่อนรุ่งสาง ในแหล่งแห่งที่ลับตาคน เพื่อให้สุภาพบุรุษที่เกี่ยวข้องจะได้มีความเป็นส่วนตัว แต่คนเหล่านี้ไม่ดวลปืนกันหลังกองขี้เถ้าหรือแถวกองขยะมูลฝอยหรอก ไม่มีทางเสียละ พวกเขาจะต่อสู้กัน ณ ทิวทุ่งโล่ง แวดล้อมด้วยหมู่ต้นเบิร์ช เกล็ดหิมะโปรยปราย หรือริมฝั่งแม่น้ำรีวูเลต หรือที่ว่างชายขอบของที่ดิน ที่ซึ่งสายลมสะกิดกลีบดอกไม้ให้ปลิวโปรยปราย…โดยสรุปคือจะสู้กันในสถานที่สวยงามดุจฉากเปิดขององค์ที่สองของโอเปร่าปานนั้น

ในรัสเซีย ไม่ว่าจะกิจใดเราก็ทำได้ไม่เกี่ยง ขอเพียงให้มีฉากหลังที่งดงาม ดูดีมีเกียรติ และสะท้อนถึงความเกรียงไกรไว้ก่อน  ความจริงแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป สถานที่ดวลกลับยิ่งสวยงามมากขึ้น และอาวุธปืนสั้นก็ถูกรังสรรค์อย่างปราณีตบรรจงขึ้นเรื่อยๆ และชายผู้มีสกุลรุนชาติก็พร้อมจะปกป้องเกียรติยศของตนด้วยเรื่องซึ่งอุกฉกรรจ์น้อยลงไปทุกที  จริงอยู่ที่การดวลเมื่อก่อนเป็นการตอบโต้การกระทำอันสามานย์ ไม่ว่าจะเป็นการตระบัดสัตย์ หักหลัง ขายชาติ หรือลักลอบคบชู้ แต่ครั้นย่างเข้าปี 1900 สาเหตุของการดวลก็ไร้เหตุผลอันเหมาะควรเข้าไปทุกที จนในที่สุดคนเราก็ท้าดวลกันได้เพียงเพราะไม่เปิดหมวกทัก มองหน้าหาเรื่อง หรือแค่ใส่เครื่องหมายวรรคตอนผิดก็มีสิทธิ์แล้ว

ตามกฎดั้งเดิมอันเก่าแก่ของการดวลนั้น จำนวนก้าวที่ผู้หมิ่นศักดิ์ศรีและผู้ที่ถูกหมิ่นศักดิ์ศรีจะต้องออกเดิน ก่อนจะหยุดแล้วหันมาลั่นไกใส่กัน ควรผกผันกับระดับความร้ายแรงของของการจาบจ้วงล่วงเกิน กล่าวคือหากหมิ่นหยามกันระดับอุกฉกรรจ์ ก็ต้องดวลปืนกันในระยะห่างกันไม่กี่ก้าว เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใครก็ใครจะต้องทิ้งชีวิตไว้ที่นี่ และหากเราจะยึดหลักนั้นละก็ ท่านเคานต์ครุ่นคิด ในยุคสมัยใหม่นี้ การดวลกันควรอยู่ในระยะห่างกันอย่างน้อยสักพันก้าว กล่าวคือ หลังจากท้าดวล  แต่งตั้งผู้ดูแล และเลือกอาวุธเรียบร้อยแล้ว ผู้หมิ่นศักดิ์ศรีควรจับเรือกลไฟไปอเมริกา ส่วนผู้ถูกหมิ่นศักดิ์ศรีก็ให้ขึ้นเรือไปญี่ปุ่น เมื่อถึงจุดหมาย ก็ให้ทั้งสองสวมเสื้อโค้ตตัวโก้ เดินลงจากเรือ หันหลังกลับเมื่อเท้าแตะฝั่ง แล้วค่อยยิง

 

 

 

[1] การแสดงสลับฉากในช่วงต้นของการแสดงหลัก

[2] ข้อเท็จจริงคือ ห้องสวีตซึ่งอยู่ใต้ห้องท่านเคานต์ คือที่ที่ยาคอฟ สเวิร์ดลอฟ ประธานคนแรกของคณะกรรมการบริหารส่วนกลางของรัสเซียทั้งปวง เรียกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งคณะมาขังไว้ ลั่นวาจาว่าจะไขเปิดประตูก็ต่อเมื่อพวกเขาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ เสียงพิมพ์ดีดจึงดังต๊อกแต๊กตลอดคืน จนกว่าเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ฉบับนั้นถูกร่างขึ้นเรียบร้อย โดยรับประกันให้ประชาชนมีเสรีภาพทางความคิด (มาตราที่ 13) เสรีภาพทางการแสดงออก (มาตราที่ 14) เสรีภาพในการชุมนุม (มาตราที่ 15) รวมทั้งเสรีภาพในการยกเลิกเสรีภาพดังกล่าวหากพบว่ามัน “ถูกนำมาใช้เพื่อบ่อนทำลายการปฏิวัติสังคมนิยม” (มาตราที่ 23)!

[3] Essays หนังสือเรียงความโดยมิเชล เดอ มงตาญ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1580

[4] The Nutcracker and the Mouse King นิทานโดยอี.ที.เอ. ฮอฟฟ์มันน์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1816 นิทานเรื่องนี้ถูกนำไปสร้างเป็นการแสดงบัลเลต์ในปี 1892 โดยมีปิออตร์ อีลิช ไชคอฟสกีเป็นผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบ

[5] ท่าบัลเลต์เมื่อขาของนักเต้นเหยียดตรงสลับกับซอยยิกกลางอากาศ

[6] Onegin นิยายโดยอเล็กซานเดอร์ ปุชกิน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1833

[7] War and Peace นิยายโดยลีโอ ตอลสตอย ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1867

[8] Fathers and Sons นิยายโดยอีวาน ตูร์เกเนฟ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1862

[9] The Brothers Karamazov นิยายโดยฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1880

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า