12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต 12 RULES FOR LIFE เป็นหนังสือที่เขียนโดย ศาสตราจารย์จอร์แดน บี. ปีเตอร์สัน ซึ่งเป็นการตกผลึกขั้นสุดท้ายจากกฎตั้งต้นหลายสิบประการ กฎแห่งชีวิตที่ฟังดูแสนเรียบง่าย แง่คิดเล็กๆ น้อยๆ ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ส่งผลกับชีวิตของคุณอย่างไม่น่าเชื่อ
12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต ประกอบด้วยอะไรบ้าง มาดูกันเลย
กฎข้อที่ 1 ยืนให้ตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง
ทำไมคนเราจึงควรยืนให้ตัวตรง อกผายไหล่ผึ่งไม่ปล่อยให้ตัวเองหลังงอ ห่อเหี่ยว เพราะท่าทางของเราบ่งบอก หรือถึงขั้นกำหนดสภาพความเป็นจริงของตัวเรา มากกว่าที่เราคาดคิด
ดำลึกลงใต้มหาสมุทร ที่นั่นมักเกิดสงครามแย่งอาหารและที่พักพิงของเหล่าล็อบสเตอร์
ผู้ชนะที่ได้ทั้งอาหาร โพรงพักอาศัยที่ปลอดภัย และตัวเมีย คือ ล็อบสเตอร์ที่ยืดกายผึ่งผาย เปี่ยมด้วย เซโรโทนิน ฮอร์โมนเบิกบานที่มีส่วนควบคุมให้ร่างกายให้เหยียดตรง
ตรงกันข้ามกับล็อบสเตอร์คอตก ที่พร้อมจะพ่ายแพ้ และถอยหนี
ไม่ใช่แค่ในโลกของล็อบสเตอร์ สารประสาทเคมีพื้นฐานของเรา กับ ล็อบสเตอร์ นั้นคล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ ในมนุษย์เอง เซโรโทนิน ก็ควบคุมท่าทางและแนวโน้มของความขี้วิตกกังวลและถอยหนีปัญหาต่างๆ ในชีวิต
หากท่าทางของคุณดูแย่ ห่อเหี่ยว ไหล่ห่อมาด้านหน้า หน้าอกหดเข้า ก้มหัว ดูตัวจ้อย คุณจะรู้สึกลีบเล็ก ขี้แพ้ และจนปัญญาจริงๆ ซึ่งส่งผลต่อปฏิกิริยาของคนอื่นที่มองมายังตัวคุณด้วย หากคุณนำเสนอตัวเองในแบบที่พ่ายแพ้ คนอื่นจะโต้ตอบกับคุณราวกับว่าคุณกำลังแพ้ หากคุณเริ่มยืดตัวตรง คนอื่นๆ ก็จะมองคุณและปฏิบัติต่อคุณต่างออกไป
การยืนตัวตรง อกผายไหล่ผึ่งทำให้ตัวเองดูมีพลัง มีอำนาจ คุณตอบโต้ด้วยความท้าทาย แทนที่จะยอมรับหายนะ เลิกห่อไหล่ หลังงอเวลาไปไหนมาไหน พูดสิ่งที่ตัวเองต้องการ แสดงความปรารถนาออกมา เดินยืดตัวตรง มองตรงไปข้างหน้า กล้าที่จะเป็นตัวอันตรายบ้าง กระตุ้นเซโรโทนินประมาณมากให้ฉีดไปทั่ววิถีประสาท เมื่อคุณทำเช่นนี้เป็นประจำ การสื่อสารของคุณจะดีขึ้น กระอักกระอ่วนน้อยลง และทำให้คู่สนทนาของคุณรู้สึกดีเมื่อได้คุยกับคุณ
กฎข้อที่ 2 ดูแลตัวเองให้ดี เหมือนเวลาที่ดูแลคนอื่น
โดยพื้นฐานแล้ว เมื่อเรารู้สึกดีต่อใคร ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ เรามักจะเป็นห่วงคนอื่นมากกว่าตัวเองอยู่เสมอ ลองคิดดูว่าคุณเคยแคร์สุขภาพตัวเองครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ทั้งทำงานหนัก นอนดึก ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ แต่หากคนที่คุณรู้สึกดีด้วยเจ็บไข้ได้ป่วย คุณจะเป็นเดือดเป็นร้อนกว่าเสมอ
การดูแลตัวเองให้ดีเหมือนดูแลคนอื่น เป็นการพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่ดีจริงๆ สำหรับตัวคุณ คิดถึงอนาคตและคิดว่าจะทำให้ตัวเองมีความสุขเพิ่มมากขึ้นอย่างไร และดูแลสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ ปกป้องตัวเองจากคนที่จะมาเอาเปรียบคุณอย่างไม่เหมาะสม รักษาสัญญาที่ให้ไว้แก่ตัวเองและให้รางวัลตัวเอง เพื่อที่คุณจะได้ไว้ใจและกระตุ้นตัวเองให้ทำสิ่งต่างๆ ต่อไปได้
กฎข้อที่ 3 คบหาคนที่อยากให้คุณได้ดี
เราจะคบคนที่ไม่อยากให้เราได้ดีไปทำไมกันนะ?
ถ้าคุณมีเพื่อนสักคน ที่คุณไม่คิดจะแนะนำให้คนในครอบครัวรู้จัก แล้วทำไมคุณถึงยังคบเพื่อนแบบนั้นอยู่ คุณอาจบอกว่า เพราะความซื่อสัตย์ ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่ต่อรองกันอย่างยุติธรรมและซื่อตรง มิตรภาพคือการตกลงร่วมกัน คุณไม่มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือคนที่ทำให้โลกเลวร้ายขึ้น
ตรงกันข้าม คุณควรเลือกคนที่อยากทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลง การเลือกคนที่ดีต่อตัวคุณเองเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวการคบหาคนที่ชีวิตดีขึ้น เมื่อเห็นว่าชีวิตของคุณดีขึ้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมและน่ายกย่อง
หากคุณมีเพื่อนที่สนับสนุนให้คุณไปสู่จุดมุ่งหมายที่สูงขึ้น พวกเขาจะส่งเสริมคุณเมื่อคุณทำดีต่อตนเองและผู้อื่น และลงโทษคุณอย่างระมัดระวังเมื่อคุณทำตัวไม่ดี สิ่งนี้จะช่วยเสริมความเด็ดเดี่ยวของคุณให้คุณทำสิ่งที่ถูกที่ควร
เพื่อนอีกประเภทจะทำตรงกันข้าม พวกเขาจะอิจฉาเมื่อคุณประสบความสำเร็จ พวกเขาจะถอยห่าง ไม่สนับสนุน และไม่ยินดีกับความสำเร็จขอบคุณ พวกเขาจะทำให้คุณตกต่ำ เพราะการที่คุณดีขึ้น ทำให้เขาดูแย่ลงนั่นเอง
กฎข้อที่ 4 เปรียบเทียบตัวคุณกับคนที่คุณเป็นในอดีต
เราเกิดมาจากต่างครอบครัว ต่างพื้นเพ พบเจอปัญหาในชีวิตที่ต่างกัน แล้วจะมัวเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นไปทำไม?
ระวังให้ดีเวลาที่คุณเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นๆ เพราะคุณเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเพียงหนึ่งเดียว เมื่อคุณโตขึ้น คุณมีปัญหาเฉพาะของคุณเอง ปัญหาที่ไม่เหมือนใคร จะเป็นเรื่องเงิน ความสัมพันธ์ เรื่องจิตใจ หรือเรื่องอื่นๆ ปัญหาพวกนี้เป็นปัญหาเฉพาะบุคคลที่คุณเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่นก็เท่านั้น
ลองทำวันนี้ให้เต็มที่ แล้วหันกลับไปมองตัวคุณในอดีต คุณโตขึ้นกว่าเดิมมากแค่ไหน สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าเดิมมากแค่ไหน พัฒนาทักษะของตัวเองได้เก่งกว่าเดิมมากแค่ไหน
เมื่อคุณหัดมองความเป็นจริง มองไปข้างหน้า และเปรียบเทียบตัวเองกับตัวเองในอดีตอยู่เสมอ คุณจะเห็นการเติบโตของคุณชัดเจนขึ้น อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยละ
กฎข้อที่ 5 อย่าให้ลูกของคุณทำสิ่งที่คุณไม่ชอบ
พ่อแม่ที่ยอมรับผิดชอบการฝึกวินัยให้ลูกของตน มักคิดว่า ตัวเองเลือกจะหนีจากความขัดแย้งอันจำเป็นในการเลี้ยงดูเด็กอย่างเหมาะสมได้ พวกเขาหลีกเลี่ยงการเป็นคนไม่ดี ซึ่งไม่ได้ช่วยหรือปกป้องลูกจากความกลัวและความเจ็บปวดได้เลย และโลกแห่งสังคมที่กว้างขึ้น จะสร้างความขัดแย้งและลงทัณฑ์เด็กแทนพ่อแม่ที่แท้จริงเอง
คุณลองสังเกตเวลาที่ลูกของคุณกรีดร้องเสียงดังในที่สาธารณะ ลองสังเกตสีหน้าและแววตาของคนที่เดินผ่านไปผ่านมา แน่นอนว่าส่วนหนึ่งอาจจะเกลียดลูกคุณ และที่แน่ๆ เขาต้องเกลียดคุณด้วยแน่ๆ ที่ไม่ยอมฝึกระเบียบวินัยลูกให้ดีพอก่อนที่จะพาออกมานอกบ้าน
เด็กๆ ที่ได้รับการเอาใจใส่และฝึกสอนจากพ่อแม่ จะมีเพื่อนในทุกที่ที่เขาไป ครูจะชอบเขา เขาจะได้รับความเอาใจใส่ ยิ้มให้ และอบรมสั่งสอนอย่างมีความสุข เรียนรู้กฎการอยู่ร่วมในสังคมได้ง่ายยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าจะไม่มีใครเกลียดลูกคุณ ถ้าคุณฝึกสอนลูกของคุณมาดีพอ คุณไม่ชอบเด็กแบบไหน จงจำไว้ว่าอย่าทำให้ลูกคุณเป็นเด็กเช่นนั้น
กฎข้อที่ 6 ดูแลบ้านของคุณให้เรียบร้อยก่อนจะวิจารณ์โลก
แน่อยู่แล้ว โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่ ไม่ได้ดั่งใจเรา การเฝ้าตำหนิโลก สิ่งนั้นไม่ดี คนนี้ชั่ว ก็ไม่ได้ปรับโลกให้ตรงขึ้น แต่ที่แน่ๆ คือ มันบิดงอจิตใจของเจ้าตัวไปทุกวันๆ
คนที่ช่างวิจารณ์ไปหมด (ยกเว้นตัวเอง) อาจเหมือนคุยด้วยสนุกออกรส แต่ถึงเวลา ใครบ้างอยากมีคนแบบนั้นไว้ในชีวิต
โลกไม่ได้หมุนอยู่ได้จนถึงวันนี้ เพราะคนที่เฝ้าแต่มองออกหน้าต่างบ้านของตัวเอง แล้วจับผิด แต่โลกถูกค้ำจุนไว้โดยคนที่มองเข้าสู่ภายในจิตใจของตัวเอง บ้านของตัวเอง เฝ้าสังเกตเพื่อแก้ไข เพื่อที่จะเป็นคนที่ดีขึ้นอีกสักนิดบ้าง เพื่อที่ครอบครัวจะสงบสุขขึ้นอีกสักหน่อยบ้าง บ้างก็เพื่อจะเป็นผู้นำที่ดีขึ้น เพื่อลงมือปกป้องและสร้างสรรค์ เพื่อให้โลกหลุดจากปัญหาทีละเล็ก ละน้อย ความหวังของมนุษยชาติอยู่บ่นบ่าของคนเหล่านี้ต่างหาก
ที่สำคัญ มีเรื่องจริงเจ็บๆ บางอย่าง เกี่ยวกับการเป็นคนช่างแดกดัน ตำหนิติเตียนสิ่งต่างๆ ไปวันๆ
คำกล่าวแห่งปัญญาว่าไว้ว่า คนนี้มีวุฒิภาวะหรือไม่ ตัดสินได้จากการที่เขาเลิกก่นด่าคาดหวังจากสิ่งที่อยู่รอบตัว แล้วยุ่งอยู่กับการเปลี่ยนแปลงตัวเองแทน ฉะนั้นเป็นการฉลาดที่จะถามตัวเองเสมอว่า “ตัวฉันยังมีอะไรต้องทำอีกบ้าง”
“เริ่มจากเล็กๆ ก่อน” ปีเตอร์สันแนะ “คุณได้ใช้โอกาสที่คุณได้รับอย่างเต็มที่หรือยัง คุณทุ่มทำงานหนักเพื่ออาชีพของคุณ หรือปล่อยให้ความขมขื่นเหนี่ยวรั้งคุณไว้ คุณเคยอยู่อย่างสงบสุขกับพี่น้องของคุณหรือเปล่า คุณให้เกียรติคู่ครองของคุณหรือไม่ คุณได้พูดสิ่งที่ควรพูดกับเพื่อนๆ และครอบครัวของคุณหรือยัง ยังมีอะไรอีกบ้าง ที่คุณทำได้เพื่อให้สิ่งต่างๆ รอบตัวคุณดีขึ้น”
เพราะหากทำเช่นนั้นได้ “…ชีวิตของคุณจะเรียบง่ายขึ้น ยุ่งยากน้อยลง วิจารณญาณของคุณก็จะดีขึ้น คุณจะแข็งแกร่งขึ้น และทุกข์น้อยลง…โลกจะหยุดเป็นสถานที่อันชั่วร้าย เมื่อเราทุกคนตัดสินใจที่จะพยายามอย่างดีที่สุด” ปีเตอร์สันกล่าวไว้ในกฎทองของชีวิตประการที่ 6 ของเขา “ดูแลบ้านของคุณให้เรียบร้อยก่อนที่จะวิจารณ์โลก”
กฎข้อที่ 7 ทำสิ่งที่มีความหมาย ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายทันใจ
เมื่อทำสิ่งต่างๆ โดยเน้นง่ายเข้าว่า เรามักใช้มุมมองแบบคับแคบ เห็นแก่ตัว และหลอกลวง (กระทั่งหลอกตัวเอง) ไปวันๆ การทำสิ่งที่ง่ายๆ ลวกๆ จึงมักหมายถึงจิตใจที่เปล่าเปลี่ยว แตกแยกอยู่ภายใน
การทำสิ่งที่มีความหมายนั้นไม่ง่าย แต่นำมาซึ่งความสุขสงบใจอย่างจีรังยั่งยืน เพราะมันมักหมายถึงการทำตัวเองให้สมบูรณ์ขึ้น ทั้งตอนนี้ พรุ่งนี้ และในอนาคต เพื่อตัวคุณ เพื่อครอบครัว นั่นช่วยสร้างจิตใจที่มั่นคงเป็นหนึ่งเดียว
กฎข้อที่ 8 พูดความจริง หรืออย่างน้อยก็ไม่โกหก
จุดเริ่มต้นของการโกหกที่ใหญ่ที่สุด เกิดจากการโกหกเล็กๆ …
การโกหกเล็กๆ หลายๆ ครั้งก็จะทำให้มันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นก็เกิดการคิดที่บิดเบือน เพื่อหลีกเลี่ยงความอับอายที่เกิดจากการโกหกและวนลูปไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น
หากไม่อยากเกิดวงจรอุบาทว์ โกหกไปเรื่อยๆ เช่นนี้ จะดีกว่าหากคุณเลือกที่จะ “พูดความจริง” หรืออย่างน้อยก็ “ไม่โกหก” ตามกฎข้อที่ 8 ของ จอร์แดน บี ปีเตอร์สัน
กฎข้อที่ 9 สงสัยไว้ก่อนว่าคนที่คุณกำลังฟัง อาจรู้บางสิ่งที่คุณไม่รู้
คนที่คุณคิดว่าโง่ที่สุดก็ยังสอนอะไรบางอย่างกับคุณได้ ดังนั้นถ้าคุณจะฟังใครสักคนแล้ว ให้ฟังจริงๆ ไม่ใช่ฟังเพื่อด่วนจะตัดสิน โน้มน้าว ครอบงำ หรือมองเป็นเรื่องขำ เพราะมันอาจทำให้ทั้งคุณและเขาพลาดสิ่งสำคัญที่อาจค้นพบด้วยกัน
ยิ่งถ้าคุณเป็นที่ปรึกษาของใคร แค่การปล่อยให้เขาพูดสิ่งที่ต้องพูดออกมา ก็จะช่วยให้เขาค้นพบระบบระเบียบในจิตใจตัวเองมากขึ้นแล้ว
กฎข้อที่ 10 พูดอะไรให้ชัดเจน
จงพูดตรงตามที่ตั้งใจ เพื่อคุณจะได้ค้นพบว่า คุณหมายถึงอะไรกันแน่ ทำตามสิ่งที่คุณพูด เพื่อที่คุณจะได้ค้นพบว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นขอจงใส่ใจ สังเกตความผิดพลาดของคุณ พูดมันออกมาให้ชัด พยายามแก้ไขมัน นั่นคือวิธีที่คุณจะได้ค้นพบความหมายในชีวิต นั่นจะช่วยปกป้องคุณจากโศกนาฏกรรมในชีวิตของคุณ
กฎข้อที่ 11 อย่าไปยุ่งเวลาที่เด็กๆ เล่นสเกตบอร์ด
บางครั้งคุณอาจจะเคยเจอเด็กๆ จับกลุ่มกับเล่นสเกตบอร์ด มีขั้นบันไดคอนกรีต เตี้ย กว้าง และขรุขระ มีราวจับเหล็กกลมๆ ที่เด็กเหล่านั้นถอยหลังและถลาลงมาจากบันไดขั้นบนสุด ก่อนจะเร่งความเร็วและตกลงมาชนกับราวบันได บางครั้งก็กระโดดผ่านไปได้อย่างสวยงาม บางครั้งก็เจ็บตัวหลุดกระเด็นออกจากกระดาน แต่ไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็กลับไปทำใหม่
บางคนอาจเรียกว่านั่นเป็นการกระทำที่โง่ แต่จริงๆ แล้วมันก็เป็นความกล้าหาญด้วย แน่นอนว่ามันอันตราย อันตรายคือปัญหา แต่พวกเขาก็ยินดีที่จะทำโดยไม่ห่วงอันตราย และแม้จะมีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยอย่างสนับเข่า หรือหมวกกันน็อค พวกเขาก็จะทำมันพังอยู่ดี
เพราะพวกเขาไม่ได้พยายามที่จะปลอดภัย แต่พยายามที่จะเก่งขึ้น และความเก่งนี่เองที่ทำให้คนเราปลอดภัยได้มากเท่าที่จะเป็นได้อย่างแท้จริง
กฎข้อที่ 12 หยุดเพื่อลูบแมวที่เจอตามถนนบ้าง
เติมพลังให้ชีวิตในวันที่แสนหม่นหมองด้วยแมวที่เดินอยู่ตามท้องถนน…
บางทีเมื่อคุณกำลังจะออกไปเดินเล่นและกำลังรู้สึกหัวหมุนติ้วๆ แมวตัวหนึ่งอาจปรากฏขึ้นมา และหากคุณใส่ใจมันคุณอาจได้สิ่งเตือนใจสักสิบห้าวินาทีว่า ความมหัศจรรย์แห่งการดำรงอยู่ของชีวิตอาจชดเชยให้กับความทุกข์ที่ไม่อาจลบทิ้งที่มาพร้อมกับมันได้
ลองหยุดลูบแมวสักตัวที่คุณพบเจอบนท้องถนนบ้าง บางที วันที่หม่นหมองของคุณอาจเป็นวันที่ดีก็ได้นะ
แง่คิดดีๆ จากหนังสือ 12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต 12 RULES FOR LIFE
เขียนโดย จอร์แดน บี. ปีเตอร์สัน
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
INTO THE MAGIC SHOP “ร้านเวทมนตร์” ที่มีอยู่ในใจเราทุกคน
ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวยในออฟฟิศ : เมื่อเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องอยู่ให้ได้!
วิธี “จัดระเบียบความคิด” ที่ช่วยให้คุณทำงานง่ายยิ่งขึ้น
เคล็ดลับการทำงานแบบคนโคตรเก่งจาก Netflix ที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างทีมเก่ง