3 วิธีคิดนอกกรอบแบบอัจฉริยะ โดย ทันตแพทย์สม สุจีรา

นับแต่กำเนิดผึ้งตัวแรกของโลก เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนจวบจนปัจจุบัน รังผึ้งก็ยังมีรูปร่างแบบเดิมๆ นั่นเป็นเพราะผึ้งไม่มีความคิด มันทำทุกอย่างตามสัญชาตญาณ เรียกได้ว่า สัตว์ไม่มีความสามารถในการ คิดนอกกรอบ มนุษย์เท่านั้นที่มีความสามารถการ คิดนอกกรอบ แต่ว่าทุกคนมีไม่เท่ากัน เพราะการคิดในกรอบง่ายและปลอดภัยกว่าการคิดนอกกรอบ จึงมีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่กล้าคิดต่าง และคนส่วนนี้คือคนที่ประสบความสำเร็จในสาขาต่างๆนั่นเอง

 

นายแพทย์เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Dr. Edward de Bono)ผู้ริเริ่มแนวความคิดเรื่อง Lateral Thinking หรือ การคิดนอกกรอบ บอกว่า “มีไม่กี่ครั้งที่การคิดนอกกรอบจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น จงคิดทางเลือกไว้หลายๆ ทาง คิดนอกกรอบหลายๆ แบบ แต่ถ้ามีเพียงครั้งเดียวที่ประสบความสำเร็จ ผลของมันก็คุ้มค่าที่สุด”

 

เนื่องจากการคิดนอกกรอบเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีคนคิดและทำมาก่อน อุปสรรค ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นยังไม่เคยได้รับการบอกเล่า ดังนั้นจึงควรมีการทดลองก่อนเสมอเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และทำใจเผื่อไว้ว่าโอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จยังมีอยู่ ทั้งยังต้องทำใจกับการถูกดูหมิ่น คัดค้าน จากคนส่วนใหญ่ที่คิดอยู่ในกรอบ

ตามปกติคนเราไม่กล้าออกนอกกรอบกันเท่าไรนัก ลองสังเกตจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิตเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการย้ายบ้าน ย้ายที่เรียนย้ายที่ทำงาน เปลี่ยนแฟน เปลี่ยนวิถีชีวิต ล้วนแล้วแต่ต้องมีสถานการณ์มากดดันให้เราเปลี่ยน เพราะคนเรามักไม่อยากเจออะไรใหม่ๆที่ไม่แน่ใจ

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่ผ่านมา ลองพยายามนึกถึงความคิด ความรู้สึกของตนเองในสมัยนั้นอย่างละเอียดและชัดเจนที่สุด จะพบว่าการที่คุณเป็นอย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และถ้าขณะนั้นความคิดของคุณเปลี่ยนไปเพียงนิด ทุกวันนี้ก็จะมีชีวิตที่ต่างออกไปมาก

 

ร้านอาหารที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงไม่เคยมีในประเทศไทย แต่แมคโดนัลด์ลงทุนไปหลายร้อยล้านบาทเพื่อเปิดตลาดนี้ และยังมีสาขาDrive Thru ที่สามารถขับรถเข้ามาซื้อได้โดยไม่ต้องลงจากรถอีกด้วย ถือเป็นธุรกิจที่คิดนอกกรอบสำหรับเมืองไทย ปรากฏว่าธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็วจนบริษัทอื่นทำตามกันเป็นจำนวนมาก และสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือถ้าการคิดนอกกรอบของเราสามารถจดลิขสิทธิ์ได้ ควรไปจดลิขสิทธิ์ให้เรียบร้อยก่อนประกาศต่อสาธารณชน เพราะการลอกเลียนแบบเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน และทำให้การคิดนอกกรอบของเราสร้างรายได้น้อยกว่าที่ควร

นอกจากนี้ การคิดนอกกรอบทำให้พบกลยุทธ์ใหม่ๆหรือค้นพบวิธีแก้ปัญหาได้อย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน การค้นพบทางวิทยาศาสตร์นั้นเกิดจากจินตนาการ ถ้ากาลิเลโอไม่คิดนอกกรอบจากอาริสโตเติล มนุษย์จะไม่รู้จักดาราจักรทางช้างเผือก ถ้าอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ไม่คิดนอกกรอบจากกฎนิวตัน ทฤษฎีสัมพัทธภาพก็เกิดขึ้นไม่ได้ กาลิเลโอคิดนอกกรอบว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล ลบล้างความเข้าใจเก่าๆที่มีมานับพันปี ไอน์สไตน์คิดนอกกรอบว่าระยะทางและเวลาไม่มีอยู่จริง ส่วนสตีฟ จ็อบส์ คิดนอกกรอบของการคลิกเมาส์ เป็นที่มาของนวัตกรรมไอโฟนและไอแพด

วงการโฆษณารู้ดีว่าโฆษณาที่มีความคิดนอกกรอบสามารถสร้างแรงกระตุ้นผู้บริโภคได้สูง ดังนั้นถ้าคุณต้องการโดดเด่นเป็นที่จดจำได้อย่างรวดเร็วต้องพยายามคิดนอกกรอบ แม้ว่าบางครั้งการคิดแบบนั้นจะมีโอกาสล้มเหลวสูงกว่าปกติก็ตามการคิดนอกกรอบเป็นการสร้างสนามแข่งของตัวเองขึ้นมา ในการแข่งขันกีฬาจัดให้มีการวิ่ง 100 เมตร 200 เมตรจะคิดนอกกรอบว่าขอวิ่ง 150 เมตรไม่ได้ แต่ในชีวิตจริงสามารถกำหนดสนามแข่งของตัวเองได้ตลอดเวลา เพียงแต่รู้จักคิดนอกกรอบและสร้างเงื่อนไขตามที่ตัวเองถนัด

 

[su_note note_color=”#dfbea1″ text_color=”#111010″]3 วิธีคิดนอกกรอบแบบอัจฉริยะ [/su_note]

เอาสองกรอบมารวมกันเป็นกรอบใหม่

หนังสือไอน์สไตน์พบพระพุทธเจ้าเห็น ที่มียอดขายกว่าสามแสนเล่ม เป็นการรวมกรอบของธรรมะเข้ากับกรอบของวิทยาศาสตร์ หนังสือส่วนใหญ่เป็นธรรมะล้วนๆหรือวิทยาศาสตร์ล้วนๆ การเชื่อมสองกรอบเข้าด้วยกันทำให้เห็นมุมมองภายนอกกรอบได้ ซึ่งจะเห็นไม่เหมือนเดิม  หนังสือดังกล่าวทำให้เราสามารถมองกรอบของพุทธจากมุมมองของวิทย์ และมองกรอบของวิทย์จากมุมมองของพุทธ

การนำมารวมกันเป็นเทคนิคสำคัญในการคิดนอกกรอบ เพราะคุณสมบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจะแตกต่างจากสิ่งที่นำมารวมกัน เช่น โซเดียม (Na) เป็นธาตุโลหะที่มีพิษร้ายแรง คลอรีน (Cl) เป็นธาตุที่มีพิษร้ายแรงเหมือนกัน แต่เมื่อนำสองตัวนี้มารวมกันเป็น โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) กลายเป็นเกลือที่เราใช้ปรุงอาหาร มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นคุณสมบัติใหม่ที่แตกต่างจากตอนแยกส่วนอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับการปรุงอาหาร เราสามารถปรุงอาหารชนิดใหม่นอกกรอบจากแบบเดิมๆที่เคยทานอยู่ทุกวันได้โดยการนำส่วนประกอบต่างๆมารวมกัน

ถ้าผสมสีเหลืองกับสีน้ำเงินจะได้ออกมาเป็นสีเขียว การรวมกันสามารถเปลี่ยนคุณสมบัติได้ แม้ว่าจะเปลี่ยนไปไม่มาก แต่สิ่งที่คุณคิดก็ถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่หรือนวัตกรรม เช่น ถ้าคุณประดิษฐ์แว่นตาที่มีหูฟังบริเวณขาแว่นด้วย เมื่อสวมแว่น หูฟังจะอยู่ตรงตำแหน่งรูหูพอดีคุณก็สามารถไปจดลิขสิทธิ์ได้ และในอนาคต ถ้าโรงภาพยนตร์สามมิติ บริษัทโทรศัพท์มือถือ บริษัทรถยนต์ บริษัทเกม ต้องการใช้ไอเดียที่คุณคิดก็ต้องมาติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์จากคุณ

คิดแบบแยกส่วน

อุปสรรคที่สำคัญในการคิดนอกกรอบ คือ เรามักจะมองเป็นองค์รวมแล้วเข้าใจไปว่าเป็นลักษณะเฉพาะที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกแล้ว เช่นถ้าเรามองน้ำเป็นน้ำ เราจะไม่สามารถคิดนอกกรอบที่แปลกกว่าความเป็นน้ำ แต่ถ้าเรามองว่าน้ำเป็น H2O เราจะสามารถแยกไฮโดรเจนกับออกซิเจนออกมา และสามารถคิดนอกกรอบได้อีกมากมาย

 

คิดแบบนามธรรม

[su_quote]การคิดถึงสิ่งที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ ทำให้เกิดการค้นพบใหม่ๆที่เปลี่ยนแปลงโลก[/su_quote]

มนุษย์เห็นนกบินได้ แต่ไม่รู้สาเหตุที่ทำให้นกบินได้จึงผ่าดูปีกของนกแล้วเลียนแบบนกด้วยการทำปีกเพื่อทดลองกระโดดลงมาจากหน้าผา ทำให้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากเนื่องจากไปมองที่รูปธรรม จนเมื่อนักวิทยาศาสตร์มาศึกษาเกี่ยวกับความดันอากาศก็สามารถประดิษฐ์เครื่องบินขึ้นมาได้

 

การมุ่งไปที่นามธรรมทำให้เกิดการคิดนอกกรอบ ภาพวาดของปีกัสโซและแวนโก๊ะมีราคานับพันล้านบาท เพราะมีนามธรรมซ่อนอยู่ในนั้นมากมาย แตกต่างจากภาพของศิลปินทั่วไป

ร้านแมคโดนัลด์ ร้านสตาร์บัคส์ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เพราะแนวความคิดเกี่ยวกับบรรยากาศร้านที่อบอุ่น เป็นมิตร เป็นสถานที่นัดพบปะสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อน สิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรมแต่มีความหมายต่อชีวิตมาก จึงมีความแตกต่างจากร้านอาหารทั่วไป  สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือจุดที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ ไม่ใช่รูปธรรม

 

ตัวอย่างการคิดนอกกรอบ

คิดนอกกรอบ

สนามฟุตบอลนอกกรอบ

ด้วยความพยายามหาพื้นที่ว่างในชุมชนคลองเตยมาสร้างเป็นสนามฟุตบอลให้กับชุมชน แต่ปรากฏว่าไม่มีที่ว่างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพอที่จะสร้างสนามได้เลย บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงจำเป็นต้องก้าวข้ามกรอบของความคิดเดิม และหาที่ว่างเท่าที่มีมาสร้างสนามฟุตบอลชุมชนคลองเตย โดยให้ประตูทั้งสองข้างทำมุมกันเก้าสิบองศา ซึ่งสามารถใช้งานได้จริงและเล่นได้อย่างสนุกสนาน ปรากฏว่าสนามฟุตบอลที่คิดนอกกรอบนี้เป็นทีฮือฮาระดับโลกทีเดียว

การคิดนอกกรอบต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และทำอย่างไรก็ได้เพื่อไปถึงเป้าหมายนั้น เช่นในกรณีนี้ เป้าหมายคือให้เด็กๆได้มีสนามฟุตบอลเล่น ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และพัฒนาทักษะการเล่นฟุตบอลกรอบที่กำหนดกันไว้ว่าสนามฟุตบอลต้องเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าจึงไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ถ้ากำหนดเป้าหมายใหม่ว่า ต้องการพัฒนาทีมฟุตบอลเพื่อลงแข่งระดับชาติ สนามฟุตบอลก็ต้องเป็นรูปแบบสากลที่ใช้สำหรับแข่งขันจริง

 

 

พี่มาก..พระโขนง

มีการนำเรื่องของแม่นาคพระโขนงมาสร้างเป็นภาพยนตร์มากกว่ายี่สิบครั้ง เป็นละครโทรทัศน์แปดครั้ง และทุกครั้งจะใช้ชื่อ “นาค” เป็นตัวนำมาตลอด จนเมื่อมีการตั้งชื่อแบบนอกกรอบว่า “พี่มาก..พระโขนง” ภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงกับทำรายได้กว่าหนึ่งพันล้านบาท นับเป็นรายได้ถล่มทลายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย

ภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างจากแม่นาคพระโขนงเรื่องอื่นๆ ตรงที่สร้างขึ้นในมุมมองของพระเอกและเพื่อนพระเอกที่มีต่อเหตุการณ์สยองขวัญ และผสมผสานอารมณ์ขันเข้าไปในภาพยนตร์ด้วย ในขณะที่แม่นาคในเรื่องก่อนหน้านี้เน้นไปที่นางเอกและความน่ากลัวเพียงอย่างเดียว

 

 

[su_quote]การคิดนอกกรอบจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ลองฝึกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ เพราะการคิดในกรอบช่วยพัฒนาไอคิว แต่การคิดนอกกรอบช่วยพัฒนาไอเดีย[/su_quote]

 

 

บทความส่วนหนึ่งจากหนังสือ คิดแบบอัจฉริยะ เขียนโดย ทันตแพทย์สม สุจีรา

ราคา 195 บาท

 

 

7 thoughts on “3 วิธีคิดนอกกรอบแบบอัจฉริยะ โดย ทันตแพทย์สม สุจีรา

  1. Pingback: 5 วิธีฝึกให้ไม่คิด ฟุ้งซ่าน คิดมาก วิตกกังวลเกินเหตุ จากหนังสือ ฝึกให้ไม่คิด

  2. Pingback: 8 ข้อคิดในการใช้ชีวิต โดยองค์ทะไลลามะและอาร์ชบิชอป เดสมอนด์ ตูตู

  3. Pingback: 7 วิธีคิดเพื่อ รักตัวเองให้เป็น เห็นคุณค่าในตัวเองและรักตัวเองมากขึ้น

  4. Pingback: 3 ข้อคิดในการทำงาน เพื่อการเข้าใจคุณค่าที่แท้จริงของงาน

  5. Pingback: 9 เทคนิคที่ช่วยให้ จิตใจเข้มแข็ง ฝึกจิตตั้งแต่วันนี้เพื่อภูมิคุ้มกันทางใจที่ดี

  6. Pingback: วิธี "อ่านใจคน" ด้วยเทคนิคทางจิตวิทยา พวกเขากำลังคิดอะไรอยู่นะ?

  7. Pingback: วิธีเอาชนะความกลัว : การจัดการความกลัวในใจคุณ โดยพระไพศาล วิสาโล

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า