นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ที่รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือเรียกสั้นๆ ว่า รางวัลซีไรต์ ถือกำเนิดขึ้น จนถึงวันนี้ ประเทศไทยของเรามี หนังสือซีไรต์ ทั้งสิ้น 41 เล่มที่ประทับตราดังกล่าวไว้บนปก ประกอบไปด้วยวรรณกรรม 3 ประเภท คือ นวนิยาย กวีนิพนธ์และรวมเรื่องสั้น อย่างที่ทราบกันดีก่อนจะถึงเล่มที่ 42 (?) อันเป็นคิวของนวนิยาย จึงขอชวนและเชิญท่านมาย้อนอ่านทบทวนกันว่า มีผลงานเล่มใด ของนักเขียนคนใดบ้าง ที่ได้รับการประทับตราซีไรต์อันทรงเกียรติ์ไว้บนปก และหากจะให้สนุกไปกว่านั้น
ระหว่างอ่านโปรดนับเล่นๆ ไปด้วยก็ได้ว่า ในจำนวนทั้งหมดที่ว่ามานี้ ท่านอ่านหนังสือซีไรต์ไปแล้วกี่เล่ม ว่าแล้วก็เริ่มเลย…
ลูกอีสาน
หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2522
ผู้แต่ง คำพูน บุญทวี
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์บรรณกิจ
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์โป๋ยเซียน
นวนิยายเรื่องลูกอีสาน เป็นหนังสือซีไรต์ที่ สะท้อนภาพชีวิตของชาวอีสาน ผ่านเรื่องเล่าคล้ายสารคดีชีวิตผสมนวนิยายที่แพรวพราวไปด้วยชั้นเชิงวรรณศิลป์ งดงามด้วยสร้อยอักษร ฉายภาพวิถีชีวิตอันแร้นแค้นของชาวอีสานได้อย่างโปร่งใสบริสุทธิ์ ปราศจากน้ำเสียงที่แสดงความขมขื่น และไม่ได้พยายามตีแผ่ความชั่วร้ายของสังคม แต่ปลุกจิตสำนึกให้กับผู้อ่านโดยชี้ให้เห็นถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงของสังคม คุณค่าของเรื่องลูกอีสาน คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความยากลำบาก เพื่อก้าวผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต นักวิจารณ์วรรณกรรมมีความเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้มิได้แฝงปรัชญา ไม่ได้แสดงวิจิตรศิลป์ตระการตาหรือตีแผ่สังคมแต่อย่างใด หากแต่ได้เล่าถึงวิถีชนบทอันเรียบง่าย ฉากต่างๆ ในท้องถิ่นของชาวอีสาน คำพูนเก็บมาร้อยเรียงได้อย่างออกรส ใช้ขนบของนิยายการเรียนรู้ เสนอภาพลักษณ์ของอีสานแตกต่างจากนิยายสัจจนิยมแสดงคุณค่าของความเป็นอีสานอย่างสมศักดิ์ศรี การอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องการความสงสารซึ่งมักมาพร้อมคำดูถูก ทำให้ลูกอีสานเป็นนวนิยายที่ยืนยงมาถึงทุกวันนี้
เพียงความเคลื่อนไหว
หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2523
ผู้แต่ง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์เจ้าพระยา
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์ผจญภัย
เพียงความเคลื่อนไหว เป็นกวีนิพนธ์มุ่งนำเสนอความคิดทางการเมือง ต่อเหตุกาณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เรื่อยมาจนถึง 6 ตุลาคม พ.ศ 2519 มีลีลาและเนื้อหาสะทกสะท้อนใจ ปลุกเร้าอารมณ์ ชี้ให้เห็นถึงความตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง แฝงวิถีชีวิตพื้นบ้านเอาไว้มาก เป็นกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่าทางภาษาอันงดงาม เปี่ยมไปด้วยพลัง ประกอบด้วยฉันทลักษ์อันไพเราะ และทัศนคติอันงดงามเรียบง่าย ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวและความตื่นตัวทางความคิด คำประกาศของคณะกรรมการตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่า เพียงความเคลื่อนไหว เป็นงานร่วมสมัย ซึ่งแสดงจิตสำนึกของชาติไทยยุคปัจจุบันได้ชัดเจนที่สุด มีเอกลักษณ์ในแง่ที่ว่า ได้รวมเรื่องเฉพาะยุคหรือเฉพาะแห่ง กับเรื่องของสากลเข้าไว้ด้วยกัน เสมือนเป็นบันทึกทางความคิด มุมมอง อารมณ์ ความรู้สึก ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้น และด้วยความเป็นสากลของผลงาน แม้เวลาจะเปลี่ยนไป เนื้อหาก็ยังคงทันสมัย น่าอ่าน น่าพิจารณาบทกวีพร้อมๆ ไปกับสังคม
ขุนทอง…เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง
หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2524
ผู้แต่ง อัศศิริ ธรรมโชติ
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ พี.พี.
พิมพ์ครั้งล่าสุด แพรวสำนักพิมพ์
อัศศิริได้นำเค้าโครงบทกวีชื่อ “เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว” ในหนังสือชุด “เพียงความเคลื่อนไหว” ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มาจินตนาการกับเหตุการณ์ต่อสู้ทางการเมืองยุค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งคำว่า “ขุนทอง” หมายถึง เหล่าปัญญาชนคนหนุ่มสาว ซึ่งบ้างก็สูญหาย บ้างเสียชีวิต บ้างก็กลับมาพร้อมกับอุดมการณ์เต็มย่าม ขณะที่อีกไม่น้อยกลับมาเป็น “คนใหม่ ”แต่ในห้วงที่อัศศิริเขียนนั้น สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ยังไม่รู้ว่าปัญญาชนคนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งหายไปไหน สิ่งที่ฟ้องร้องออกมาย่อมพุ่งเป้าไปหาผู้กุมอำนาจทางการเมืองไว้นั่นเองเรื่องสั้นของอัศศิริมีเนื้อความกระชับ ลักษณะเด่นคือการใช้ภาษาที่รัดกุมไพเราะ บางช่วงบางตอนราวกับบทกวี เป็นเหตุการณ์ทางการเมือง ประวัติศาสตร์และสังคม งานของอัศศิริไม่ใช่งานฝันหวาน แต่เป็นงานก่อให้เกิดความคิด ความรู้สึกใหม่ๆ ความจริง ความปลอม ความเงียบ ความสงสัย ซึ่งล้วนเป็นพลังในอาณาจักรวรรณกรรมของเรา ถือเป็นงานเขียนที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง
คำพิพากษา
หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2525
ผู้แต่ง ชาติ กอบจิตติ
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ต้นหมาก
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์หอน
นาฏกรรมบนลานกว้าง
หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2526
ผู้แต่ง คมทวน คันธนู
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ดอกหญ้า
พิมพ์ล่าสุด สำนักพิมพ์ผจญภัย
กวีนิพนธ์เนื้อหาเกาะเกี่ยวกับอยู่กับเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง 14 ตุลาคม พ.ศ 2516 ถึง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 บทกวีของคมทวนมีทั้งปลุกเร้า เรียกร้อง ตีแผ่ ให้กำลังใจ วิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างรุนแรง ดุดัน เสนอทรรศนะของตนเองต่อเหตุการณ์ทางการเมืองในสมัยนั้นด้วยบทกวีนาฏกรรมบนลานกว้าง เป็นการรวมบทกวีการเมืองโดยแท้ ไม่ว่าจะอ่านสำนวนใด จะได้สัมผัสทรรศนะอันเผ็ดร้อนของผู้เขียน ผ่านลีลาการเขียนที่ดุดัน ดุเดือด กระตุกกระตุ้นความฮึกเหิม ด้วยสร้อยสำนวนอันเป็นเอกลักษณ์และแพรวพราวไปด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์
ซอยเดียวกัน
หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2527
ผู้แต่ง วาณิช จรุงกิจอนันต์
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์อู่เพกา
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์บูรพาสาส์น
ปูนปิดทอง
หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2528
ผู้แต่ง กฤษณา อโศกสิน
พิมพ์ครั้งแรก ดับเบิลนายย์
พิมพ์ครั้งล่าสุด เพื่อนดี
นวนิยายปูนปิดทองกล่าวถึงคนสองคน สองเมืองและบาลี ทั้งคู่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง เมื่อทั้งคู่โตเป็นผู้ใหญ่ บาลีได้ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก และชักจูงให้สองเมืองลืมความขมขื่นใจที่เคยเกิดขึ้น ทำให้สองเมืองเกิดความรักต่อบาลี และทั้งคู่ก็มั่นใจว่าชีวิตพวกเขาทั้งสองจะไม่เหมือนกับที่พ่อกับแม่ของตนเคยเป็นทั้งคู่สามารถเป็นพ่อแม่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีได้ ไม่ใช่เป็นเพียงรูปหล่อปูนที่ปิดด้วยทอง ซึ่งไม่ได้มีค่าอะไร“ปูนปิดทอง” นวนิยายที่กฤษณา อโศกสิน กระเทาะคราบทองของผู้เป็นพ่อแม่ เกี่ยวกับปัญหาของครอบครัวไทยในสังคมใหญ่ การเลี้ยงดูที่ขาดความอบอุ่น ขาดความรัก ส่งผลต่อเด็กที่เติบโตมา เป็นนวนิยายที่สร้างสรรค์เนื้อเรื่องให้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ด้วยความงดงามของชีวิตโดยใช้ความเลวร้ายมาเปรียบเทียบ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีร่วมกัน
ปณิธานกวี
หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2529
ผู้แต่ง อังคาร กัลยาณพงศ์
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์กะรัต
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์ศยาม
ปณิธานกวี เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นบทกวีที่มีเอกลักษณ์สวยงาม มีลักษณะเฉพาะตัวเหมือนกับตัวผู้เขียนที่มีนิสัย รักธรรมชาติ รักอิสระเสรี ศรัทธาในพระธรรม บทประพันธ์ทุกบท จะสะท้อนชีวิตวิญญาญ คติชีวิต ปรัชญาและสัจธรรม ด้วยกลวิธีศิลปะการร้อยกรองอันงดงามชาญฉลาดปณิธานกวีของอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นกวีนิพนธ์ที่มีลักษณะแต่งเป็นโคลง กลอนและกาพย์ เป็นงานที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์ เพราะมีความเด่นในการสรรใช้คำ ทำให้เกิดจินตนาการลึกซึ้งและกว้างขวาง กลวิธีการประพันธ์มีลักษณะเฉพาะตัวประสานขนบเก่ากับทัศนคติที่มีต่อสังคมในยุคสมัยนั้นได้อย่างแนบเนียน
ก่อกองทราย
หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2530
ผู้แต่ง ไพฑูรย์ ธัญญา
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์นาคร
เรื่องสั้นชุด ก่อกองทราย สะท้อนปัญหาและแง่มุมต่างๆ ของชีวิตในหลายเรื่อง แสดงให้เห็นถึงชีวิตและธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสากล ดังเช่นมนุษย์ทั่วไปในโลกพึงจะเป็น และในขณะเดียวกันก็มีสีสันของท้องถิ่นและความเป็นไทย ทั้งในด้านถ้อยคำและการใช้ฉากอันเป็นท้องเรื่องอย่างความเชื่อท้องถิ่นของชาวบ้าน การเล่าเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมชีวิตอย่างชัดเจนผลงานของไพฑูรย์โดดเด่นด้านการใช้ภาษา ภาษามีความงดงาม ไม่ว่าจะบรรยายอารมณ์ความรู้สึก ฉากหลังหรือตัวละคร สามารถเรียบเรียงออกมาให้ผู้อ่านเห็นภาพจน์ เห็นถึงความประณีตบรรจง ซึ่งไพฑูรย์ใช้พื้นฐานมาจากการเป็นครูสอนภาษาไทย และเคยผ่านงานบทกวีมาก่อน
ตลิ่งสูงซุงหนัก
หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2531
ผู้แต่ง นิคม รายยวา
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ต้นหมาก
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์รูปรวี
ตัวเอกของเรื่องคือ คำงาย หนุ่มใหญ่ที่มีความรักและผูกพันกับช้างชื่อ พรายสุด ซึ่งเติบโตและเล่นด้วยกันมาตั้งแต่เด็กๆ พอเติบโตขึ้นมาทั้งสองจึงเปรียบเสมือนคนๆ เดียวกัน จนชาวบ้านถึงกับเอ่ยปากว่า “เห็นคำงายที่ไหน ก็เห็นพลายสุดที่นั่นแหละ”ตลิ่งสูง ซุงหนัก เป็นเรื่องของคนผู้แสวงหาความหมายและคุณค่าของการมีชีวิต เราต้องหาเอง ในขบวนการแสวงหานั้น คนเรามัวแต่รักษาซากที่ไม่มีชีวิต ไม่เคยรักษาชีวิตที่อยู่ในซากเลย คนเราเกิดครั้งเดียวตายครั้งเดียว ดังนั้นความหมายที่แท้จริงของชีวิตอยู่ที่การดำรงอยู่ ความเข้าใจต่อธรรมชาติ มิใช่เงินตราหรือวัตถุ ที่คนในสมัยนี้มักสะสมไว้เต็มบ้านเต็มเมือง
ใบไม้ที่หายไป
หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2532
ผู้แต่ง จิระนันท์ พิตรปรีชา
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์อ่านไทย
พิมพ์ครั้งล่าสุด แพรวสำนักพิมพ์
สั่งซื้อหนังสือ คลิกที่นี่
จิระนันท์ พิตรปรีชา เคยเป็นอดีตแกนนำนักศึกษา ร่วมโครงการส่งเสริมประชาธิปไตยของศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตย (ศสป.) ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ 2516 เธอได้มีบทบาทในการแต่งคำประพันธ์เพื่ออ่านบนเวทีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานและกลุ่มสตรีต่างๆ ในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน และหลังจากเกิด 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ต้องหนีเข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดย จิระนันท์ พิตรปรีชา มีชื่อที่ใช้เรียกในป่าว่า สหายใบไม้ หลังจากออกจากป่ามา เธอได้เขียนบันทึกชีวิตของเธอตั้งแต่สมัยที่เธอยังป็นนักศึกษาเป็นเชิงกวีนิพนธ์รวมเล่ม ออกมาจนกลายเป็นชื่อ ใบไม้ที่หายไป สาระของบันทึกนี้มีทั้งความใฝ่ฝัน ปรัชญาชีวิต และอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาว และตัวผู้เขียนเองได้ปฏิบัติตามอุดมการณ์นั้นอย่างถึงที่สุด จึงได้พบว่าทุกชีวิตเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ดังเช่น ชีวิตของผู้เป็นแม่นั้น ไม่เพียงแต่กำหนดอนาคตของลูกเท่านั้น หากรวมทั้งชีวิตของตนเองและผู้ใกล้ชิดอีกด้วย นอกจากนั้นแล้วบทกวีเหล่านี้ยังมีคุณค่าในด้านการปลุกสำนึกของสังคมเกี่ยวกับฐานะและบทบาทใหม่ของผู้หญิงอีกด้วย
อัญมณีแห่งชีวิต
หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2533
ผู้แต่ง อัญชัน
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ภูผา
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์ภูผา
อัญมณีแห่งชีวิต เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ผู้เขียนได้มาจากประสบการณ์ของตนเอง จากคำบอกเล่า เพื่อให้ทราบถึงมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ กิเลส อารมณ์ ความรัก ความกลัวและความชิงชัง สิ่งเหล่านี้จะจมอยู่กับตัวละคร ในเรื่องที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น แต่ละเรื่องสะท้อนภาพสังคม ปัญหาสังคม ครอบครัวและปัญหาอันเป็นเรื่องของแต่ละคน คนใดคนหนึ่ง ซึ่งอาจล้มเหลว ผิดหวัง หรือสมหวังก็ได้อัญชัน เสนอแนวคิดเหล่านี้โดยใช้กลประพันธ์ที่แยบยลสอดคล้องกับเนื้อหา มีลีลาเฉพาะตัวที่ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง และละเมียดละไม ภาษาที่ใช้ให้จินตนาการชัดเจน สร้างบรรยากาศและอารมณ์หลากหลาย ทั้งอ่อนหวาน เศร้า กร้าวแกร่ง โหดร้าย แม้กระทั่งสยอง และให้เห็นถึงวัฏจักรแห่งชีวิตอันเป็นสัจธรรม
เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน
หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2534
ผู้แต่ง มาลา คำจันทร์
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์คณาธรบุ๊ค
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
นวนิยายพูดถึงเจ้าหญิงล้านนา ภาษาที่ใช้ส่วนมากเป็นภาษาล้านนาเพื่อให้เข้ากับเนื้อเรื่อง แต่ผู้เขียนได้บอกความหมายของคำเหล่านั้นไว้ด้วย โครงเรื่องเป็นเรื่องของเจ้าหญิงที่ถูกบังคับให้แต่งงานกับชายที่ไม่ได้รัก แต่นางมีความศรัทธาในองค์พระธาตุอินทร์แขวน นางจึงเดินทางไปนมัสการและอธิษฐานว่าจะสมหวังหรือไม่สมหวังขอให้พระธาตุแสดงเหตุให้จนกระทั่งนางถึงที่หมาย นางจึงประจักษ์ถึงสัจธรรมของชีวิต เห็นความแตกต่างระหว่างความจริงแท้กับภาพมายา ก่อนจะตัดสินใจครั้งสุดท้าย จุดเด่นของเรื่องนี้อยู่ที่มาลา คำจันทร์ สามารถเล่าเรื่องด้วยกลการประพันธ์หลากหลาย เช่น การประยุกต์ขนบวรรณกรรมทั้งเก่าและใหม่ได้อย่างผสมกลมกลืน การดำเนินเรื่องโดยใช้ขนบของนิราศและวรรณคดีเก่าของล้านนามาสานสอดเหตุการณ์ในเรื่อง ได้อย่างลงตัวและสวยงามแบบล้านนา เร็วๆ นี้มาลา คำจันทร์กำลังจะมีผลงานใหม่ล่าสุดกับแพรวสำนักพิมพ์ ชื่อว่า “กงฟ้าลี้”
มือนั้นสีขาว
หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2535
ผู้แต่ง ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ย่ามหนังสือสีขาว
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์สามัญชน
หนังสือ มือนั้นสีขาว รวบรวมบทกวีนิพนธ์ไทยสมัยใหม่ของศักดิ์สิริ มีสมสืบ ที่มีลักษณะสร้างสรรค์ทั้งความคิดและวิธีการนำเสนอที่โดดเด่น มุ่งแสดงอุดมคติอันเชิดชูคุณค่าความบริสุทธิ์และความมีน้ำใจของมนุษย์ผ่านบทกวีที่พูดถึงบุคคลสมมุติ ระหว่างวัยเด็กอันไร้เดียงสากับผู้ใหญ่ที่ถูกครอบนำจากกฏเกณฑ์ในสังคม แต่ละบทสามารถตีความได้กว้างขวาง ลึกซึ้งด้วยกลการประพันธ์ที่เฉียบคม เข้ากับผู้อ่านได้ทุกเพศทุกวัยศักดิ์สิริ มีสมสืบ สรรค์สร้างฉันทลักษณ์ขึ้นมาใหม่ จากความรุ่มร่วยของฉันทลักษณ์ไทยแต่เดิม มีรูปแบบเป็นธรรมชาติสอดคล้องกับเนื้อหา คำที่สรรใช้เป็นคำง่าย เรียงร้อยอย่างมีจังหวะ สร้างลำนำอันทรงพลัง ให้จินตภาพที่ชัดเจน สื่อความคิดของกวี กระทบอารมณ์และเร้าความคิดของผู้อ่าน ให้ผู้อ่านเห็นว่า โลกอาจสงบงดงามได้ด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ด้วยกันเอง
ครอบครัวกลางถนน
หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2536
ผู้แต่ง ศิลา โคมฉาย
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์มิ่งมิตร
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์ผจญภัย
รวมเรื่องสั้นสะท้อนชีวิตของชนชั้นกลางในเมืองกรุง ที่ต้องพยายามดิ้นรนต่อสู้กับสภาพความเป็นอยู่แบบปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนจากการบีบคั้นในการทำมาหากิน การแข่งขันในชั้นเชิงธุรกิจ ไปจนถึงการจราจรที่แสนติดขัด ฉายภาพกว้างให้เห็นถึงชะตากรรมที่คนในเมืองจะต้องเผชิญร่วมกัน พร้อมกับถ่ายทอดความคิดประชดประชันสังคมอย่างรุนแรงศิลา โคมฉาย ใช้ความหลักแหลมแยบยล สรรค์สร้างผลงานขึ้นมาจากความเข้าใจชีวิตและสังคมรอบตัว โดยมีลีลาการเขียนที่สมบูรณ์ ด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์ ใช้สำนวนโวหารในการสร้างบรรยากาศและจินตภาพ ทำให้ผู้อ่านสามารถสัมผัสอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง
เวลา
หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2537
ผู้แต่ง ชาติ กอบจิตติ
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์หอน
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์หอน
เรื่อง “เวลา” นำเสนอเรื่องราวของคนแก่ในสถานสงเคราะห์คนชรา โดยหยิบเอาธรรมชาติของคนขี้หลงขี้ลืมและขี้เหงามาบอกกล่าว ด้วยกลวิธีการเขียนแบบใหม่คือเทคนิคของภาพยนตร์ ผสมกับการนำเสนอแบบละครเวที ซึ่งแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้ของ ชาติ มาจากตอนที่ไปดูละครเวทีของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่กำลังลาโรง โดยนักวิจารณ์ในสมัยนั้นกล่าวว่าเป็นละครเวทีที่น่าเบื่อที่สุดในรอบปี และเป็นละครเวทีที่เกี่ยวกับคนแก่ในบ้านพักคนชรา ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้สร้างเป็นเพียงนักศึกษาที่ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ
ชาติ กอบจิตติ ได้เสนอเรื่องราวที่มีความสร้างสรรค์ ใช้กลวิธีใหม่ๆ ประสมประสานสื่อระหว่างศิลปะของภาพยนตร์ละครและวรรณศิลป์ได้อย่างกลมกลืน โดยเสนอผ่านสายตาและความคิดของผู้ดูละครคนหนึ่งซึ่งเป็นนักสร้างภาพยนตร์ กลวิธีนี้ทำให้การดำเนินเรื่องน่าสนใจ มองได้หลายแง่มุม ตัวละครมีลักษณะเด่น มีสีสันและมีชีวิตชีวา สารของเรื่องนี้จึงมีพลังกระทบผู้อ่านให้ตระหนักถึงความว่างเปล่าของชีวิตที่มนุษย์หลงยึดติดอยู่
ม้าก้านกล้วย
หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2538
ผู้แต่ง ไพวรินทร์ ขาวงาม
พิมพ์ครั้งแรก แพรวสำนักพิมพ์
พิมพ์ครั้งล่าสุด แพรวสำนักพิมพ์
สั่งซื้อหนังสือ คลิกที่นี่
“ม้าก้านกล้วย” เป็นนิราศแรมร้างจากฝันของมนุษย์ร่วมสมัยที่ต้องผจญกับความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วหลากหลาย มนุษย์ผู้ต้องรับสภาพความเสื่อมสลายของอุดมคติเดิม แต่มนุษย์ย่อมมีปัญญาอันเข้มแข็งพอที่จะผ่านวันเวลาอันเจ็บปวดเหล่านี้ และใช้ความฝันของตนสร้าง “อุดมคติ” ใหม่อันงดงามกว่าเดิมขึ้นมา บทกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยในม้าก้านกล้วยยังสะท้อนให้เห็นถึงพลังชีวิตและจิตใจของคนชนบทเข้าสู่เมือง ด้วยความใฝ่ฝันและความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า และได้กลายเป็นพลังอันสำคัญสร้างสรรค์สังคม ซึ่งแม้คนชนบทจะพบกับชีวิตแปลกแยกในสังคม แต่ความผูกพันโหยหาชีวิตในถิ่นเดิมก็เป็นพลังให้คนชนบทมีชีวิตยืนหยัดอยู่ได้
แผ่นดินอื่น
หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2539
ผู้แต่ง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์นาคร
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์นาคร
เรื่องสั้นมีเนื้อหาเข้มข้น เต็มไปด้วยเลือดเนื้อ จิตวิญญาญ มีกลิ่นอายบรรยากาศของท้องถิ่น สะท้อนปัญหาชีวิตสังคมถึงในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวและสังคม นำเสนอวิถีชีวิตที่หลากหลายด้วยแนวชาตินิยม สะท้อนชีวิต ความเชื่อ คุณค่าและคตินิยมพื้นถิ่นอย่างลึกซึ้งและแหลมคม ให้เห็นว่าแม้ในสังคมต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อ มนุษย์ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยไมตรีสัมพันธ์ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ดำเนินเรื่องด้วยกลวิธีการเขียนที่ดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน ให้ใคร่รู้ใคร่ติดตาม และนำไปสู่จุดหมายที่เป็นเอกภาพ โดยไม่ละเลยที่จะสอดแทรกปัญหาและแง่มุมของชีวิต แผ่นดินอื่นเป็นการบันทึกความขัดแย้งของสังคมในอดีต ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจและวัฒธรรม รวมถึงปัญหาของสังคมร่วมสมัย
ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน
หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2540
ผู้แต่ง วินทร์ เลียววาริณ
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์ดอกหญ้า
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์ 113
นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดยมีท้องเรื่องและเหตุการณ์ในช่วงเวลา 60 ปี ของระบอบการเมืองการปกครองทีเรียกกันว่า “ประชาธิปไตย” วินทร์ เลียววาริณ ใช้จินตนาการสร้างตัวละครเอกขึ้นสองตัว โดยกำหนดให้ตัวละครตัวหนึ่งอยู่ในระบบและตัวละครอีกตัวนึ่งอยู่นอกระบบ ซึ่งตัวละครทั้งสองต่างต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ของตน ภายในกรอบจำกัดและเงื่อนไขของสังคมวินทร์ เลียววาริณ ใช้ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ เรียงร้อยเหตุการณ์และบุคคลจริงอย่างผสมผสานกลมกลืน ผ่านความคิดคำนึงและบทสนทนาของสองตัวละครเอก ผู้เป็นเสมือนตัวแทนของคนในชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางการเมือง ตั้งแต่เริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน
ในเวลา
หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2541
ผู้แต่ง แรคำ ประโดยคำ
พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์รูปจันทร์
พิมพ์ครั้งล่าสุด สำนักพิมพ์ผจญภัย
เนื้อหาของบทกวี บรรยายถึงภาวะภายในของคนเมื่อเผชิญกับสิ่งเร้ารอบๆ ตัวแล้วมีการตอบสนอง “ในเวลา” เริ่มต้นด้วยเวลาค่ำ ตามมาด้วยเวลาดึก สาย บ่าย เย็น แล้วจบลงด้วยเวลาพลบค่ำอีกครั้ง เทียบเวลาวันหนึ่งเปรียบเทียบกับช่วงชีวิตของคนที่ผ่านช่วงเวลาต่างๆ ร้อนหนาวเช่นกับดวงอาทิตย์ เริ่มตอนรุ่งอรุณสู่เที่ยงจนถึงเวลาเย็นแล้ว “ดับแล้วลาสารพัด” ในเวลาค่ำหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ ในเวลา แสดงความคิดเห็นได้อย่างหลักแหลม ด้วยเนื้อหาหลากหลาย โดยกวีสามารถจับจังหวะลีลาของโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่ายมาเรียงร้อยให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของกวีอย่างช่ำชอง สร้างจินตภาพกระทบอารมณ์และให้ความรู้สึกลึกซึ้งแก่ผู้อ่าน
Pingback: วรรณกรรมเยาวชน 7 เรื่อง จาก 100 หนังสือดีที่ Amazon แนะนำ
Pingback: ครูต้นแบบ ในวรรณกรรมเยาวชน จาก สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน
Pingback: รวมผลงานนิยายสืบสวนสุดสะเทือนอารมณ์จาก มินะโตะ คะนะเอะ
Pingback: กว่าจะมาเป็น ชื่อตัวละคร นิยายที่ติดหูคุณ ต้องผ่านมาแล้วไม่รู้กี่ชื่อ!!
Pingback: 4 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วรรณกรรมเยาวชน DID YOU KNOW ? โดย แพรวเยาวชน
Pingback: 12 เพลงที่ควรเปิดระหว่างอ่าน ลืมตาตื่นอีกครั้ง...ในเวลาอันสมควร