5 ข้อสุดมหัศจรรย์ของ “Wonder” #ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์

ในเมื่อชีวิตไม่ได้ทุกสิ่งตามที่ต้องการ และไม่อาจแก้ไขความบกพร่องทุกอย่างบนโลกได้ ไม่มีทางหลบเลี่ยงความเลวร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ นอกจากดำรงชีวิตอยู่กับมันต่อไป แม้ต้องรู้สึกทุกข์ทรมานขนาดไหน แต่ตราบใดที่ยังมีชีวิต เชื่อเถอะว่าเราจะผ่านมันไปได้เสมอ  นี่ละเรื่องมหัศจรรย์ของเด็กชายออกัสต์ พูลแมน

 

 

วรรณกรรมเยาวชนที่ติดอันดับ 1 New York Times Bestseller ข้ามปี

สู่ภาพยนตร์ฟีลกู๊ดแห่งปี 2017

ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ (Wonder) บอกเล่าถึงความมหัศจรรย์ของชีวิตผ่านเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เชื่อมโยงกับผู้คนรอบๆ ตัว จึงส่งผลให้เนื้อหานั้นลึกซึ้งโดนใจผู้อ่านมากมาย อีกทั้งยังได้รับเสียงชื่นชมในฐานะหนังสือที่ช่วยให้สามารถเปลี่ยนมุมมองชีวิตเสริมพลังบวกมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังพิสูจน์อย่างแจ่มชัดด้วยการเป็นวรรณกรรมเยาวชนติด “อับดับ 1 New York Times Bestseller” ข้ามปียาวนานถึง 89 สัปดาห์ ขายได้กว่า 5 ล้านเล่ม อีกทั้งการันตีด้วยรางวัลหนังสือยอดเยี่ยมจากเวทีสำคัญอย่าง “Maine Student Book Award”, “Junior Young Reader’s Choice Award”, “Fisher Children’s Book Award” รวมไปถึงจากเว็บไซต์หนังสือยอดนิยมอย่าง “School Library Journal” และ “Publishers Weekly” ไม่เพียงแค่นั้น “Wonder” ยังมีอิทธิพลมากกว่าการเป็นแค่นิยาย เพราะได้เกิดกระแส “เลือกทำดี – Choose Kind” เพื่อมอบแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองออกมาอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก sahamongkolfilm.com

 

แรงบันดาลใจจากความผิดหวังของผู้เขียน 

อาร์. เจ. ปาลาซิโอ ผู้เขียนวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ (Wonder) เธอเคยเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์ และคนออกแบบใบหุ้มปกหนังสือมาก่อน  จนกระทั่งวันหนึ่งเธอตระหนักได้ว่า เธอออกแบบปกหนังสือคนอื่นมากว่า 20 ปีแล้ว ถึงเวลาที่ควรลุกขึ้นมาเขียนหนังสือตัวเองเสียที

โดยวรรณกรรมเยาวชนเล่มแรกของเธอได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริง เมื่อเธอพาลูกชายคนเล็กไปร้านไอศกรีม แล้วลูกชายกลับร้องไห้อย่างหวาดกลัวเมื่อพบกับเด็กหญิงคนหนึ่งที่มีใบหน้าผิดปกติภายในร้าน

เธอกลัวว่าการที่ลูกชายร้องไห้จะทำให้เด็กหญิงคนนั้นรู้สึกไม่ดี จึงรีบพาลูกออกจากร้าน (รีบมากจนทำมิลค์เชคหก) ระหว่างที่เธอกำลังลนลาน คุณแม่ของเด็กหญิงคนนั้นก็พูดด้วยเสียงนุ่มนวลว่า “ไม่เป็นไรนะคะคุณ  เอาล่ะ แม่คิดว่าถึงเวลาที่เราต้องกลับบ้านแล้วจ้ะ”  แค่ประโยคนั้นก็ทำให้เธอคิดได้ว่า การกระทำของเธอนี่แหละที่น่าผิดหวังเป็นที่สุด และเธอคิดว่าเธอควรที่จะสอนให้ลูกๆ ได้เข้าใจถึงความแตกต่างและปฏิบัติตนต่อผู้อื่นให้ดีกว่านี้

 

แล้วคืนนั้นเองเธอก็เริ่มเขียนวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ขึ้นมา

 

เลือกประหลาด หรือเลือกที่จะ มหัศจรรย์”

ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ (Wonder) ไม่ใช่เรื่องราวของฮีโร่ที่มีอาวุธมหัศจรรย์ หรือคนโชคดีที่มีชีวิตมหัศจรรย์ แต่เป็นเรื่องราวของเด็กชายที่มีใบหน้าผิดปกติสุดๆ (เกินกว่าที่ใครจะจินตนาการออกแน่นอน)

ออกัสต์ พูลแมน เด็กชายผู้เกิดมาพร้อมความผิดปกติอย่างรุนแรงบนใบหน้า เขาคิดไว้ว่า หากชีวิตนี้ได้เจอตะเกียงวิเศษที่ขอพรได้หนึ่งข้อ เขาจะขอให้ตัวเองมีใบหน้าปกติ แบบที่เดินไปไหนมาไหนได้โดยไม่มีคนเบือนหน้าหนี ทว่าโลกแห่งความจริงไม่ใช่เทพนิยาย เด็กชายออกัสต์จึงไม่เคยได้เจอของมหัศจรรย์แบบนั้นเลย

แต่หลังจบภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว คุณจะเข้าใจความมหัศจรรย์ของเด็กชายออกัสต์ อย่างแน่นอน

 

 

หนังสือที่จูเลีย โรเบิร์ตเสนอตัวแสดงนำเอง

จูเลีย โรเบิร์ต นักแสดงรางวัลออสการ์ พ่วงตำแหน่งคุณแม่รักการอ่าน เธอเจอวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้จากรายชื่อหนังสือยอดเยี่ยมสำหรับเด็ก โดยจูเลียกล่าวว่า “มันยากนะที่จะหาหนังสือให้ถูกใจคนทั้งครอบครัวได้ แต่หนังสือเล่มนี้ทำได้ ฉันวางมันไม่ลงเลย ลูกๆ ทั้ง 3 คนของฉันก็ชอบมาก (ฝาแฝดฮาเซลและฟินโนส อายุ 13 ขวบ และเฮนรี่ อายุ 10 ขวบ)  หลังจากที่ฉันอ่านจบ ฉันก็รีบโทรบอกตัวแทนของฉันว่า ‘ฉันจะเล่นบทแม่ของเรื่องนี้ให้ได้’”

 

นอกจากฝีมือการแสดงอันโดดเด่นของจูเลีย ลูกๆ ของเธอยังกล่าวว่า เธอคือนักอ่านตัวยง (แถมยังเจ้าบทบาท)  พวกเขาเล่าว่า จูเลียมักจะอ่านหนังสือโดยใช้เสียงต่างๆ กันตามแต่ละคาแรคเตอร์ของตัวละคร  รวมไปทำถึงเสียงร้ายๆ เพื่อรับบท ‘จูเลียน’ เด็กนิสัยไม่ดีในวรรณกรรมเรื่องนี้ด้วย

 

 

 

ความเมตตาและความรักจะเยียวยาทุกสิ่ง

เมื่อครั้งที่อาร์. เจ. เริ่มเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ ลูกชายคนโตของเธอเพิ่งจะเรียนจบเกรดห้า (ประถม 5) เธอก็เลยเขียนนิยายโดยให้เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงวัยนี้  เธอกล่าวว่า “มันไม่ใช่ปีที่ง่ายสำหรับเขาเลย พวกเขาอยู่ในระหว่างการก้าวผ่านวัยเด็กสู่วัยรุ่น ฉันก็อยากที่จะเลี้ยงลูกให้นึกถึงความเมตตาเป็นสิ่งสำคัญ แต่ฉันก็คิดว่าถ้าแต่ละครอบครัวไม่ทำเหมือนกันมันก็ไร้ค่า

 

“วันหนึ่งลูกชายของฉันถูกทำร้ายทางจิตใจและเขาเศร้ามาก  แล้วแม่ๆ คนอื่นก็พูดว่า ‘เธอน่าจะเลี้ยงลูกให้เข้มแข็งหน่อยนะ’ นั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องซะหน่อย แทนที่จะหาเรื่องเหยียบย่ำความรู้สึกของเด็กๆ  ทำไมเราไม่คาดหวังในตัวลูกๆ ของเราให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นให้ดีกว่านี้ล่ะ”

 

 

 

 

Source

sahamongkolfilm.com

www.goodhousekeeping.com/life/inspirational-stories

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า