ความสำเร็จยุคแรกของหัวเว่ยในประเทศจีนเกิดจาก 3 ปัจจัย
อย่างแรกคือ คว้าโอกาสระดับประวัติศาสตร์การลงทุนด้านการสื่อสารของประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าการตลาดปีละหลายแสนล้านหยวน ต่อมาคือนโยบายของรัฐที่ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการสื่อสารในประเทศ และสุดท้ายคือเสน่ห์ส่วนตัวของเหรินเจิ้งเฟย ซึ่งเสน่ห์ของเหรินเจิ้งเฟยคือนอกจากจะไม่เห็นแก่ตัว ใจกว้าง และมีวินัยในตนเอง ซึ่งเป็นบุคลิกภาพอันสูงส่งแล้ว เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งคือท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดและโหดร้าย เหรินเจิ้งเฟยยังคงรักษาวิสัยทัศน์และจุดยืนความเป็นนักธุรกิจการเมืองไว้เป็นอย่างดี นโยบายสอนพนักงานของเขาทุกครั้งล้วนเป็นการทำให้สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริง และยังเป็นคำสอนที่ทำให้ชาวหัวเว่ยทุกคน ยินดีทำเพื่อเหรินเจิ้งเฟยและหัวเว่ยตลอดมา
[su_quote]ชีวิตที่ขัดสนด้านวัตถุและการเคี่ยวกรำทางจิตใจคือโอกาสอย่างหนึ่งที่สร้างเราให้มีวุฒิภาวะในเวลาต่อมา
– เหรินเจิ้งเฟย[/su_quote]
เนื่องจากครอบครัวยากจน ถึงทำให้เหรินเจิ้งเฟยได้ลิ้มรสความทุกข์ยากของโลก และด้วยการนี้จึงตระหนักถึงความหมายที่ลึกซึ้งของ “การมีชีวิตต่อไป”คำสอนและการกระทำของพ่อแม่ทำให้เขาบ่มเพาะนิสัยประหยัดมัธยัสถ์ แต่ไม่เห็นแก่ตัว และก็เป็นเช่นนี้ตลอดชีวิต
นอกจากความประหยัดแล้ว เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเหรินเจิ้งเฟยคือ เขาไม่ให้ความสำคัญกับทรัพย์สินและความร่ำรวย เขายินดีแบ่งปันผลลัพธ์จากการต่อสู้แก่พนักงาน จึงทำให้มียอดฝีมือจำนวนมากยินดีร่วมงานกับเขาเพื่อช่วยให้กิจการของหัวเว่ยเติบโตยิ่งขึ้น
“ความไม่เห็นแก่ตัวของผมได้มาจากพ่อแม่ สาเหตุที่หัวเว่ยประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความไม่เห็นแก่ตัวของผม” เหรินเจิ้งเฟยกล่าวเช่นนี้ เป็นการรำลึกถึงบิดามารดา แสดงความสำนึกบุญคุณ และได้ถ่ายทอดแนวคิดง่าย ๆ แต่ลึกซึ้งแก่ชาวหัวเว่ย
[su_quote]แม้นวัตกรรมจะเป็นสิ่งที่ยากมากแต่มันคือทางรอดทางเดียวของธุรกิจและเป็นทางผ่านเดียวเพื่อไปให้ถึงความสำเร็จ
– เหรินเจิ้งเฟย[/su_quote]
หวนดูประวัติศาสตร์เราพบว่าในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในชั่วพริบตา การขยายตัวของธุรกิจก็แค่ไม่กี่ก้าว แม้แต่การเลือกทิศทางของผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งก็อาจมีความสำคัญถึงขนาดตัดสินความรุ่งเรืองหรือล่มสลายของบริษัทได้ ทว่าเมื่อโอกาสมาถึง ความเสี่ยงด้านการวิจัยพัฒนาที่มักทำให้ผู้คนขยาดนี้ เหรินเจิ้งเฟยกลับมีวิสัยทัศน์เฉพาะตัวที่แตกต่างออกไป
“ในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ การอยู่รอดและการขยายตัวของธุรกิจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากรากเหง้าเช่นกัน ในอดีตต้องอาศัยการทำงานอย่างถูกต้อง แต่ปัจจุบันสิ่งสำคัญคือต้องลงมือทำในงานที่ถูกต้อง ในอดีตผู้คนถือว่านวัตกรรมคือความเสี่ยง ปัจจุบันการไม่มีนวัตกรรมต่างหากคือความเสี่ยงสูงสุด”
“มีนวัตกรรมย่อมมีความเสี่ยงแต่จะไม่กล้าสร้างนวัตกรรมเพราะมีความเสี่ยงไม่ได้เด็ดขาด ย้อนคิดดูแล้ว ถ้าไม่เสี่ยง เอาแต่ตามหลังผู้อื่นเป็นระดับสองระดับสาม ระยะยาวเราก็จะไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติและหมดสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป หากความกล้าเสี่ยงของเหรินเจิ้งเฟยมาจากความกล้าหาญของนักธุรกิจที่กล้าลงมือ เมื่อเล็งโอกาสได้อย่างแม่นยำเอาแต่ทำแบบเดิม ๆ กอดวิถีเดิม ๆ เอาไว้ ก็จะไม่มีการพัฒนาที่รวดเร็วเพียงนี้”
ความกล้าเสี่ยงของเหรินเจิ้งเฟยมาจากความกล้าหาญของนักธุรกิจที่กล้าลงมือเมื่อเล็งโอกาสได้อย่างแม่นยำ และกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หัวเว่ยผงาดขึ้นในเวทีเทคโนโลยีของโลกได้
[su_quote]วิกฤตและการหดตัวการล้มละลายของหัวเว่ยต้องมาถึงอย่างแน่นอน ทุกคนต้องเตรียมรับมือ นี่คือทัศนะที่ไม่เปลี่ยนแปลงของผมนี่เป็นกฎเกณฑ์ของประวัติศาสตร์
– เหรินเจิ้งเฟย[/su_quote]
ระหว่างเยือนสหรัฐอเมริกา มีเพื่อนในวงการไอทีจำนวนมากบอกเหรินเจิ้งเฟยด้วยความหวาดวิตกว่า ฟองสบู่ไอทีแตกจะทำให้โลกสูญเสียเงินยี่สิบล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้สหรัฐอเมริกาสูญเสียเก้าล้านล้าน กิจการไอทีขาดทุนสามล้านล้าน และโศกนาฏกรรมของแนสแด็กขณะนี้เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง ความเสียหายของซิลิคอนแวลลีย์ครั้งนี้คงยากจะฟื้นฟูภายในสิบปี…
ก่อนหน้านี้เหรินเจิ้งเฟยเคยกล่าวหลายครั้งในที่ประชุมบริษัทว่าธุรกิจไอทีกำลังขยายตัวมากกว่าปกติ ซึ่งขัดกับหลักของมูลค่า คงต้องล่มจมเข้าสักวัน แต่ไม่มีใครคิดว่าจะรุนแรงถึงเพียงนี้ หลังเขาตกใจไปกับสภาพหล่นวูบเข้าสู่ฤดูหนาวเฉพาะหน้าของลูเซนท์ นอร์เทล และบริษัทอื่น ๆ ในยุโรปแล้ว เขาก็ได้คิด
เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาเร็วมาก การแข่งขันดุเดือดและมีการลงทุนมากเกินเหตุ ทำให้การโทรคมนาคมของยุโรปและอเมริกาอิ่มตัว เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วตลาดประเทศจีนที่มีประชากร 1,200 ล้านคนจึงมีศักยภาพใหญ่หลวง ยกตัวอย่างเช่น การสื่อสารเคลื่อนที่ ขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือกระทรวงอุตสาหกรรมการสื่อสารของประเทศจีนต่างเคยทำนายว่า ระหว่างปี 1999 ถึง 2003 ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือของจีนจะเติบโตปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้เนื่องจากประเทศจีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก การเปิดตลาดโทรคมนาคมจึงเป็นแนวโน้มที่แน่นอน
ยักษ์ใหญ่ของยุโรปและอเมริกาต้องเข้าไปแบ่งเค้กก้อนมหึมานี้แน่ และจะย้ายศูนย์วิจัยพัฒนาตลอดจนฐานการผลิตเข้าไปในจีน ใช้ต้นทุนแรงงานราคาถูกของจีนในการเพิ่มกำลังการแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันที่ดุเดือดรอบใหม่นี้จะทำให้หัวเว่ยผู้เคยได้เปรียบด้านต้นทุนค่อย ๆ สูญเสียความได้เปรียบไป
นอกจากนี้แม้ขณะนั้นตลาดโทรคมนาคมของจีนอาจจะดูคึกคัก แต่ในความเป็นจริงนี่เป็นผลจากแรงส่งของราคาหุ้นอินเทอร์เน็ตที่ถีบตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมามากกว่า เมื่อราคาหุ้นของโลกดิ่งลงเหว เศรษฐกิจโลกแย่ลง ย่อมจะทำให้เงินทุนการพัฒนาตลาดสื่อสารของจีนลดลงและเข้าสู่ยุคการหดตัว
“ฤดูหนาวของผู้ค้าอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตครั้งนี้จะดุเดือดเกินกว่าจะเข้าใจได้คือหนาวเหน็บจับขั้วหัวใจ” ความจริงที่โหดร้ายนี้ทำให้เหรินเจิ้งเฟยจำเป็นต้องหาหนทางใหม่เพื่อกอบกู้การฝ่อตัวนี้
หลังเข้าสู่ปี 2000 ด้วยการผลักดันของที่ปรึกษาจากไอบีเอ็มและการทำงานอย่างแข็งขันของพนักงานหัวเว่ย ทำให้หัวเว่ยเริ่มมีกระบวนการทำงานเป็นรูปเป็นร่างขึ้น จึงทำให้เจ้าหน้าที่ระดับกลางของหัวเว่ยเริ่มกลายเป็นส่วนเกิน เจ้าหน้าที่เหล่านี้ส่วนมากเป็นพนักงานเก่าแก่ในยุคที่เริ่มสร้างธุรกิจ ผ่านการต่อสู้มานานปี และปกติพวกเขาก็ขยันขันแข็งอยู่แล้ว แต่พลังการต่อสู้เริ่มถดถอย ดังนั้น จึงมีการสร้างธุรกิจภายในองค์กรโดยให้พนักงานอาวุโสที่เคยมีความดีความชอบต่อบริษัทและมีประสบการณ์การตลาดเป็นตัวแทนผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย เป็นการทำให้ความฝันการเป็นเถ้าแก่ของพวกเขาเป็นจริง ขณะเดียวกันก็เป็นการลดช่องว่างด้านค้าปลีกกับซิสโก้ให้น้อยลง กลายเป็นกลุ่มความร่วมมือทางธุรกิจที่ภักดีต่อหัวเว่ยเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ร่วมกันสร้างเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ และนี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดของหัวเว่ยในการรับมือฤดูหนาวของวงการไอที
[su_quote]ฤดูหนาวนั้นน่ารักมิได้น่าชัง หากเราไม่ผ่านฤดูหนาวและทีมงานของเราเริงร่าอยู่ตลอดเวลาจะเป็นเรื่องอันตรายมาก หัวเว่ยจะไม่ทะนงตน ดังนั้นฤดูหนาวจึงไม่น่ากลัวสำหรับเรา
– เหรินเจิ้งเฟย[/su_quote]
ยามธุรกิจตกที่นั่งลำบาก เจ้าสำนักมักมีทางเลือกสองทาง อาจสร้างความหวังให้พนักงาน หรือไม่ก็ให้พนักงานเลือกที่จะสิ้นหวัง ขณะฤดูหนาวครั้งประวัติศาสตร์ครอบคลุมไปทั่วโลก ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายมักเลือกวิธีลดพนักงานเพื่อความอยู่รอด แต่เหรินเจิ้งเฟยมิเพียงไม่ลดพนักงาน กลับคิดจะให้พนักงานมองเห็นความหวังจากจุดอับ เห็นฤดูใบไม้ผลิในฤดูหนาว…นี่คือจิตวิญญาณและคุณธรรมของนักธุรกิจอย่างแท้จริง จึงทำให้เขาผงาดขึ้นได้อีกครั้งในเวลาต่อมา
ท่ามกลางความยากลำบาก สิ่งที่ชาวหัวเว่ยแสดงออกคือพลังการต่อสู้ที่เข้มแข็งและความซื่อสัตย์ภักดีที่ล้ำค่า ลมหนาวเย็นเยือกจับหัวใจยิ่งขึ้น ความเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้าก็ยิ่งยากลำบากกว่าเดิม ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะลดความเสี่ยงของบริษัทให้เหลือต่ำที่สุด และสร้างระบบที่จะเป็นหลักประกันการอยู่รอดต่อไปของหัวเว่ย ที่เหรินเจิ้งเฟยนึกถึงเป็นอันดับแรกคือระบบการถือหุ้นของพนักงาน
ระบบให้พนักงานถือหุ้นของหัวเว่ยเริ่มเมื่อปี 1992 ขณะนั้นหัวเว่ยกำลังลำบากที่สุดเพราะเงินทุนทั้งหมดได้ทุ่มไปให้กับการวิจัยพัฒนา เหรินเจิ้งเฟยใช้ระบบให้พนักงานถือหุ้น “ร่วมกันรับความเสี่ยงของบริษัท ร่วมเก็บเกี่ยวผลสำเร็จของบริษัท” เป็นการดึงดูดคนมีฝีมือและทำให้พนักงานมีขวัญกำลังใจ และกลายเป็น “บ่อน้ำมัน” ที่ช่วยให้หัวเว่ยขยายตัวอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา แต่เนื่องจากหัวเว่ยมีพนักงานเข้าใหม่จำนวนมาก จึงทำให้ช่องว่างการถือหุ้นระหว่างพนักงานเก่ากับพนักงานใหม่ยิ่งกว้างขึ้น
เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากประวัติศาสตร์นี้ วันที่ 15 กันยายน ปี 2003 หัวเว่ยจึงใช้มาตรการซื้อหุ้นคืน (Management Buyout, MBO) หนึ่งพันล้านหุ้น ด้วยคำนึงว่าพนักงานจะมีปัญหาด้านเงินทุน หัวเว่ยจึงอนุญาตให้พนักงานใหม่จ่ายค่าหุ้นเองเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือให้ไปกู้จากธนาคาร นอกจากนี้การขายหุ้นครั้งนี้กำหนดไว้สามปี หมายความว่าภายในสามปีห้ามเปลี่ยนเป็นเงินโอนย้าย หรือนำไปจำนอง
หลังมาตรการ MBO ประกาศแล้ว พนักงานใหม่ส่วนใหญ่จึงเซ็นชื่อในใบซื้อหลังวันชาติปี 2003 ฝ่ายการเงินก็นำไปยื่นกู้จากธนาคาร
การรณรงค์เปลี่ยนแปลงสิทธิการถือหุ้น MBO นี้จึงช่วยย่นความแตกต่างด้านการถือหุ้นระหว่างพนักงานเก่ากับพนักงานใหม่ ทำให้พนักงานใหม่มีกำลังใจส่วนข้อจำกัดห้ามซื้อขายถ่ายโอนเป็นเวลาสามปีก็เป็นระบบที่ทำให้พนักงานไม่ลาออกจากงานอย่างกะทันหัน นับแต่บัดนี้โชคชะตาของพนักงานกับบริษัทได้ผูกพันไว้ด้วยกัน กลายเป็นต้นทุนอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้หัวเว่ยฝ่าวิกฤต
[su_quote]ภายในสามรุ่น หัวเว่ยไม่บอกว่าจะเป็นหนึ่งในสุดยอด 500 บริษัทของโลก ที่ว่าสามรุ่นมิได้หมายถึงผู้นำสามรุ่นของหัวเว่ยหากหมายถึงหัวเว่ยล้มแล้วลุกล้มอีกแล้วลุกอีกรวมสามครั้ง
– เหรินเจิ้งเฟย[/su_quote]
คำพูดของเหรินเจิ้งเฟยเป็นทัศนคติสำคัญของแนวโน้มการพัฒนาไอที คือหลังถึงจุดพีคในปี 2000 แล้ว อุตสาหกรรมไอทีได้ค่อย ๆ โน้มเอียงไปสู่การต่อสู้ทางธุรกิจดั้งเดิม ดังนั้นแก่นแท้ของการต่อสู้ระหว่างความเป็นความตายนี้คือการแข่งขันระหว่างคุณภาพกับปริมาณ ระหว่างการบริการกับต้นทุน เมื่อเทียบกับโลกตะวันตกแล้ว หัวเว่ยได้เปรียบด้านต้นทุน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายการวิจัยพัฒนาเป็นเพียงหนึ่งในสามของบริษัทจากตะวันตก จึงมีโอกาสที่จะผ่านฤดูหนาวนี้ได้มากกว่าบริษัทจากตะวันตกและบริษัทขนาดเล็ก ดังนั้นขณะเผชิญอุปสรรคครั้งนี้ หัวเว่ยจึงต้องเร่งจัดขบวนทัพให้ดีเพื่อต้อนรับการพัฒนาในอนาคต
เหรินเจิ้งเฟยให้กำลังใจทุกคนว่า “เพราะเราเชื่อมั่นต่อชัยชนะในอนาคต เราจึงกล้าเผยไต๋นี้” วัตถุประสงค์ของเขาก็เพื่อให้ความยากลำบากในรอบนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่กลุ่มใหญ่ได้ฝึกฝนตัวเอง ยิ่งเผชิญกับอุปสรรคอันตราย ผู้บริหารระดับสูงยิ่งต้องมีใจสู้ ความมั่นใจในชัยชนะของเราก็คือการกำตลาดในมือไว้ให้แน่น!
“สงครามพอรบกันจนชุลมุน ความสามารถของแม่ทัพคืออะไร คือต้องเป็นแสงนำทางให้กองทัพท่ามกลางความขมุกขมัวที่มองไม่ชัดเจนและก้าวไปข้างหน้าต่อ ก็เหมือนกับดังโกที่ควักหัวใจตนเองออกมาเผา ส่องสว่างให้กับหนทางที่จะไปข้างหน้า” (Danko เป็นตัวละครในเรื่องสั้นของแมกซิม กอร์กี ในเรื่องดังโกนำคนในเผ่าหนีศัตรูเข้าป่าที่มืดมิด ทุกคนหลงทิศหลงทาง เขาได้แหวะอกควักหัวใจของตนออกมาเผาเพื่อนำทางให้ทุกคน)
“ยิ่งเป็นยามยากลำบาก เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเรายิ่งต้องเป็นผู้ส่องแสงใช้กำลังส่วนบุคคลมาเสริมสร้างกำลังใจของไพร่พล นำพาทีมงานไปสู่ชัยชนะ ผู้นำทุกคนต้องเหมือนแดนคี เป็นผู้ให้กำลังใจแก่พนักงาน ท่ามกลางความมืดกระตุ้นให้ทุกคนฮึกเหิม ทุกคนร้องเพลงมาร์ชก้าวไปข้างหน้า และผู้อยู่รอดรายสุดท้ายอาจเป็นหัวเว่ย”
ต่อมาเหรินเจิ้งเฟยเรียกประชุมใหญ่พนักงานอีกครั้ง เขาเจาะจงไปที่ปัญหาการขาดกำลังใจของพนักงาน และกล่าวกับพนักงานว่ายามตลาดดีใคร ๆ ก็ทำได้ดี ยามตลาดลงจึงจะบอกได้ว่าใครคือวีรบุรุษ หวังว่าพนักงานจะนำความกระตือรือร้นในอดีตกลับคืนมา ร่วมกันฟันฝ่าช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดด้วยกันอีกหลายปี
“ขวัญกำลังใจตอนไหนดีที่สุด ถ้าขวัญกำลังใจดีในยามตลาดร้อนแรง พอลำบากเข้าหน่อยก็เริ่มใจไม่ดี แล้วถ้าเช่นนั้นใครจะเป็นคนเตรียมการพัฒนาจากช่วงลำบากที่สุดให้ผ่านไปถึงตอนรุ่งเรืองที่สุด
“ยิ่งในยามยากลำบากยิ่งสามารถฝึกฝนปณิธานของตน และยิ่งเป็นบททดสอบของคุณธรรมและมโนธรรม ยิ่งสามารถฝึกฝนยอดฝีมือ และยิ่งเป็นจังหวะสำคัญของการสร้างทีมงาน การตรวจสอบดูว่าบริษัทของเราหรือแผนกของเรามีบรรยากาศของวัฒนธรรมองค์กรที่ดีหรือไม่ มิใช่ในยามบริษัทราบรื่น หากเป็นยามที่พบกับอุปสรรค โบราณกล่าวไว้ว่า ยามยากจึงเห็นน้ำใจคน ก็ด้วยเหตุผลเช่นนี้”
เพื่อกระตุ้นขวัญกำลังใจของทุกคน เหรินเจิ้งเฟยกล่าวยกตัวอย่างว่าในยามหัวเลี้ยวหัวต่อ กองกำลังไม่ปั่นป่วน รูปขบวนไม่เสียไป นี่คือพื้นฐานที่จะได้รับชัยชนะ ตัวอย่างเช่นสงครามเหลียวเสิ่น ความจริงขณะนั้นกองทัพพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่มั่นใจว่าจะชนะ แต่สุดท้ายก็ชนะ เป็นเพราะกองทัพพรรคก๊กมินตั๋งเสียขบวนเอง เราจึงชนะ ภายใต้สภาพที่ไม่เสียรูปขบวน อีกสองสามปีข้างหน้าเราจะได้รับชนะครั้งใหญ่ในตลาดต่างประเทศ และบัดนี้ความหวังอยู่ตรงหน้าเราแล้ว
สุดท้ายเหรินเจิ้งเฟยกล่าวอย่างห้าวหาญถึงแนวคิดของเขาในการเรียกประชุมใหญ่พนักงานครั้งนี้
“ทุกคนบอกว่าอยากเป็นหนึ่งใน 500 สุดยอดบริษัทมิใช่หรือ ผมเคยบอกว่าทุกคนในบริษัทของเราต้องตัดคำนี้ทิ้งไป เราจะไม่พูดถึงการเป็นหนึ่งใน 500 บริษัทตลอดกาล อย่างน้อยก็คงเป็นไม่ได้ภายในรุ่นที่หนึ่ง รุ่นที่สอง และรุ่นที่สาม รุ่นที่ผมพูดถึงมิใช่หมายถึงผู้นำหัวเว่ยรุ่นที่หนึ่ง ที่สอง หรือที่สาม หากหมายถึงหัวเว่ยล้มแล้วลุก ล้มอีกลุกอีก จึงจะเป็นไปได้…เพราะนิยามของเราคือต้องอยู่รอด จึงอยู่รอดอย่างแน่นอน”
ค้นหาเคล็ดลับการทำธุรกิจแบบหัวเว่ย
ได้ในหนังสือ HUAWEI จากมดสู่มังกร
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิกที่นี่
Pingback: 'Huawei' จากมดงานสู่มังกรรบ ด้วย 4 คติพจน์ของเหรินเจิ้งเฟย CEO หัวเว่ย
Pingback: 4 เทคนิคขายของ ให้รุ่ง ขายได้ขายดี ไม่มีสต๊อกสินค้า พ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ต้องอ่าน
Pingback: รู้จัก เหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง "หัวเว่ย HUAWEI" จากแบรนด์จีนเซินเจิ้นสู่ตลาดโลก
Pingback: 5 กลยุทธ์การทำธุรกิจแบบ หัวเว่ย HUAWEI ทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ
Pingback: อามันซิโอ ออร์เตกา จากลูกจ้างการรถไฟสู่อาณาจักรแฟชั่นหมื่นล้าน ZARA
Pingback: 10 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ อีลอน มัสก์ อัจฉริยะหรือคนบ้า?
กำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบ TOEIC อยู่ แต่หยิบเล่มนี้มาอ่านข้ามเวลา เพลินดี