ปองวุฒิ รุจิระชาคร กับหนังสือเล่มล่าสุด ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดำรงอยู่

การกลับมาอีกครั้งกับผลงานสุดท้าทายคอวรรณกรรมไทย และผู้ชื่นชอบงานแนว Psychological Thriller ‘ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดำรงอยู่’ ของนักเขียนหนุ่มผู้มีผลงานตีพิมพ์มาแล้วกว่าร้อยชิ้น ‘ปองวุฒิ รุจิระชาคร’ ร่วมด้วยบทสัมภาษณ์บางส่วนอันแสนเข้มข้นและเผ็ดร้อนสไตล์เขา

 

มาเริ่มทำความรู้จักผลงานเล่มล่าสุดของปองวุฒิ รุจิระชาคร ไปพร้อมๆ กันเลย

 

 

คุณเขียนเอาไว้ในคำอุทิศหนังสือ ‘ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดำรงอยู่’ ว่า “แด่เจ้าความจริงผู้น่าสงสาร เพราะผู้คนในประเทศนี้ชอบแสร้งเมินเฉย ทำเหมือนเจ้าไม่มีตัวตนอยู่เสมอ” มันหมายความจริงๆ ว่าอย่างไร ต้องการกระทบกระเทียบอะไรไหม

ปองวุฒิ : ผมไม่กระทบกระเทียบแต่เป็นข้อเท็จจริงนะ เมื่อเราพิจารณามองเชิงสถิติกับเรื่องต่างๆ ในประเทศนี้ ถ้าใครรู้จักและคุ้นเคยกันพอสมควรจะรู้ว่าผมเป็นคนคิดพูดอะไรโดยใช้เหตุผลเป็นหลัก ที่เขียนไปอย่างนั้น หนึ่งคือผมคิดว่ามันเป็นถ้อยคำที่เหมาะกับโทนหนังสือ เสริมด้วยเหตุผลข้อสองคือประเทศไทย ไม่ว่าวงการไหน ดูเหมือนเราจะนิยมหลบเลี่ยงความจริง ตัวอย่างเห็นง่ายมาก เช่นวงการเมือง/ข้าราชการ/ธุรกิจ เวลามีพฤติกรรมโกง ประเทศอื่นเขาก็ฟันธงกันไปชัดๆ ว่านี่คือโกง เฮ้ยคุณทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องโดนลงโทษอะไรยังไงว่าไป แต่ประเทศเราขนาดโดนจับได้ แต่ยังเอาวาทกรรม หาข้อแก้ตัวบ้าๆ บอๆ มาพูดว่าไม่ได้โกงมาอ้าง ซึ่งมันเป็นข้ออ้างปัญญาอ่อน แล้วมันก็ไม่มีใครทำอะไร หน่วยงานทำหน้าที่ลงโทษก็เฉยจริงรับลูกด้วยนะ มันก็ตลกดี

 

ถ้า “ความจริง” เป็นสิ่งมีชีวิตอะไรสักอย่าง มันก็ตัวใหญ่ยังกับช้างยืนอยู่ตรงหน้า แต่คนจำนวนมากกลับบอกไม่เห็นมีอะไรเลย ว่างเปล่านี่หว่า สรุปคือผมแค่เขียนประโยคที่เป็นข้อเท็จจริงลงไป

 

แท้จริงแล้ว ‘ความจริง’ ในสายตาคุณคืออะไร

ปองวุฒิ : เอาเป็นว่านิยามในแบบผมนะ มันคือข้อมูลรอบด้านที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์หนึ่ง ที่เราควรมองให้ครบทุกมุมและเอามาถกหรือพิจารณาว่าจะนำเอามาใช้อย่างไร อาจจะนำไปพัฒนา นำไปแก้ปัญหา หรือกระทั่งไม่ต้องทำอะไรเลยแค่รู้ไว้เป็นฐานข้อมูลสำหรับอนาคต เพื่อช่วยให้เข้าใจความเป็นไปของสิ่งต่างๆ มากขึ้น มันแล้วแต่สถานการณ์ บางครั้งการรับรู้ความจริง ไม่ได้หมายความว่าต้องมีใครถูกผิด เป็นฝ่ายชนะหรือแพ้นะ ผมว่าหลายคนยังเข้าใจผิดว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน จนทำให้ปฏิเสธรับรู้ข้อมูลที่จะนำไปสู่ความจริงจากมุมที่ตัวเองไม่ชอบ เพราะกลัวว่าจะผิด จะแย้งตัวเอง จะมีการแพ้ชนะ

 

หลายปีหลัง คุณคิดว่า ‘ความจริง’ ในสังคม กับ ‘ความเชื่อ’ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ปองวุฒิ : ความจริงคือที่ผมบอกไปข้อก่อนหน้า ส่วนความเชื่อ คือสิ่งที่เราเชื่อว่ามันควรเป็นอย่างนั้น ซึ่งบางทีมันอาจจะไม่ถูกหรอก และเราก็ไปคาดหวังว่าความเชื่อเราคือความจริง แล้วมันโดนสนับสนุนด้วยอารมณ์ความรู้สึกอื่น ความอยากเอาชนะ ไม่อยากเสียหน้า เกลียดชัง อิจฉา ฯลฯ ทำให้เราปิดหูปิดไม่รับรู้ข้อมูลทั้งหมดไป

 

 

‘ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดำรงอยู่’ เป็นงานที่ว่าด้วยอะไร พูดถึงอะไร จะนำผู้อ่านไปไหน

ปองวุฒิ : มันเป็นงานที่อ่านได้หลายระดับ โดยส่วนตัวผมอยากสร้างงานละเอียดที่คุ้มค่าสำหรับนักอ่านทุกคน เนื้อเรื่องคือเริ่มจากความตายของบุคคลสำคัญในชุมชน ก่อนนำไปสู่การเปิดเปลือยให้เห็นว่าไอ้การตายครั้งแรกที่ทุกคนตกใจนั้นมันยังถือว่าเป็นเพียงเรื่องเล็ก เพราะมีเรื่องเลวร้ายซ่อนอยู่มากกว่านั้น แถมมันเกิดขึ้นนานแล้วแต่พวกคุณไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าอยู่กับมันมาตลอด ซึ่งมันก็เหมือนสังคมเรา ผมใช้เทคนิคประสบการณ์เขียนจากทุกแนวมาผสมนะ เช่นในมุมนักอ่านแนวแคชชวลเน้นเอาสนุก มันจะเป็น Page Turner ให้เขาสนุกกับการค้นหา Who done it ว่าเกิดอะไรขึ้นใครคือฆาตกร แต่ถ้านักอ่านฮาร์ดคอร์กว่านั้นจะเห็นมิติหลายอย่างที่ซ้อนอยู่ในเรื่อง มันจะตีความได้เยอะ ส่วนในมุมเนื้อความมัน มองเปลือกนอกแวบแรกมันดูเหมือนนิยายสะท้อนสังคมสไตล์ไทยแบบยุคก่อน อย่างคำพิพากษา แต่ถ้ามองให้ลึกก็จะเห็นว่ามันมีองค์ประกอบแบบยุคใหม่ มีจิตวิเคราะห์ พฤติกรรมมนุษย์ Psychological Thriller รวมทั้งหลายอย่างให้ตีความที่ไม่ใช่แค่เรื่อง ดีเลวตามสูตรสำเร็จ

คือผมว่าคุณอ่านแล้วจะหวนกลับมาคิดตั้งคำถามกับอะไรหลายอย่างในชีวิต

 

คุณบอกว่างานชิ้นนี้คุณพอใจกับมันมาก ขณะเดียวกัน บรรณาธิการก็บอกว่าเขาชอบงานชิ้นนี้ของคุณมากที่สุด ทำไม

ปองวุฒิ : คือสำหรับคนทำงานสายศิลปินที่สร้างงานมาเยอะๆ มันจะมีงานแบบที่นักเขียนอย่างเรารู้ตัวว่า เฮ้ย! นี่แหละมันดีอันดับต้นๆ เลยที่เราเคยทำมา ทุกอย่างมันเป๊ะดั่งใจ ภาษา เนื้อหา การสื่อสารตรงเป้าที่เราต้องการ ซึ่งพอมันไม่ได้พิมพ์สักที ผมก็เลยปรับแก้มาเรื่อยให้ยิ่งสมบูรณ์ขึ้นก็เลยรู้สึกว่าเป็นงานที่ดีนะ มั่นใจในตรงนี้หลังทำมา 8-9 ปีได้ บ.ก.ก็เป็นคนอ่านหนังสือคนหนึ่งที่ทำงานสายนี้เขาก็คงสัมผัสได้ถึงความตั้งใจ ความละเอียดของงานมั้ง ก็หวังว่านักอ่านจะชอบ

บางคนบอกว่างานชิ้นนี้มีกลิ่นของงานอย่าง ‘คำพิพากษา’ ผสมสืบสวนลึกลับชนบทห่างไกลแบบหนังฮอลลิวู้ด ในฐานะผู้สร้างงาน คุณมองอย่างไร

ปองวุฒิ : เทคนิคการสร้างงานที่ดี เท่าที่ผมเรียนรู้เก็บข้อมูลมานะ คือการผสมกันลงตัวระหว่างความเก่าที่คุ้นเคยกับความใหม่ที่เป็นนวัตกรรม มองเปลือกนอกเร็วๆ สัมผัสบทแรกๆ คุณจะรู้สึกไปทางคำพิพากษาแต่ถ้าคุณอ่านให้ดีจนจบจะเห็นว่ามันมีหลายอย่างที่ไม่เหมือน ก็ดีครับ ผมก็อยากให้เป็นแบบนี้นะ คนเข้ามาเพราะคุ้นๆ กับรูปแบบคำพิพากษาก่อนพบว่ามันพาคุณไปยังพื้นที่ส่วนอื่นที่แตกต่างออกไป และ โดยส่วนตัวผมมองว่าคำพิพากษาเป็นงานที่ดีและผู้คนชื่นชอบยกย่องอยู่แล้ว ถ้าใครเอางานผมไปเทียบก็ถือว่าเป็นเกียรติ เพราะเป็นหนังสือเล่มโปรดเล่มหนึ่ง

 

ถึงตอนนี้คุณสร้างงานมาแล้วกว่าร้อยชิ้น ยังเหลือความท้าทายอยู่ไหม

ปองวุฒิ : คือเส้นทางนักเขียนผมไม่เคยง่าย ไม่เคยโชคดี มันเป็น hard mode ที่ท้าทายโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าใครเคยได้ยินบ่อยๆ ไอ้เรื่องเล่าน้ำเน่าสร้างแรงบันดาลใจประเภทว่า “คุณแค่ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด แม้สุดท้ายไม่สมบูรณ์แต่โชคชะตาจะรับรู้และหนุนคุณเอง เชื่อมั่นในพลังแห่งวรรณกรรมบลาๆ แล้วก็จบแบบโชคดี สวยงามเกินคาด ประสบความสำเร็จจังเลย” คุ้นๆ แบบนี้ไหมครับ จะบอกว่าชีวิตผมเป็นทุกอย่างที่ตรงข้ามคนละขั้วกับไอ้คำพูดสวยหรูแบบนี้เลย ผมเป็นคนประเภททำไป 200% แล้วได้ผลแค่ 10% อยู่เสมอ เช่นผมเคยเขียนเรื่องสั้นที่ดีมากตัวหนึ่ง ระดับชนะเลิศในวงพลเมืองเรื่องสั้น ซึ่งมีแต่บรรณาธิการและนักเขียนชั้นนำมารวมตัวเขียนแข่งขัน วิจารณ์กัน ทุกคนชมว่างานชิ้นนั้นสมบูรณ์มากแต่ปรากฏพอเราเอาไปส่งประกวดกลับเจอกรรมการคัดเลือกรอบแรกที่เป็นแค่เด็กหัดใหม่ ซึ่งคงมีประสบการณ์อ่านเรื่องสั้นแค่เบสิก 101 ที่ไม่เข้าใจและคัดมันตกรอบ จนคนในพลเมืองเรื่องสั้นรู้เข้าก็งงว่ามันจะเป็นไปได้ยังไง นี่แค่ตัวอย่างเล็กๆ อันเดียว และผมเคยเจอแบบนี้มาหลายต่อหลายรอบ ตลอดหลายปี ซึ่งการผ่านอะไรแบบนี้มาเรื่อย จนถึงจุดนี้ผมไม่ได้หวังอะไรแล้วกับโลกภายนอก และก็ยังมีความสุขกับการสร้างสรรค์งานมาเรื่อย นี่แหละคือความท้าทายของผมในฐานะศิลปินนะ เพราะปกติหลายคนที่เขาเจอน้อยกว่านี้ เขาก็มักจะหดหู่ ซึมเศร้าไปกันหมดแล้ว

 

 

คุณวิพากษ์วิจารณ์การประกวดรางวัลซีไรต์ปีที่แล้วไว้ร้อนแรงพอประมาณ เพราะอะไร

ปองวุฒิ : เอาเบาๆ นะ เพราะนี่ไม่ใช่พื้นที่มาคุยเรื่องนี้ ที่ผมและคนส่วนใหญ่ในสังคมวิจารณ์ก็คือรอบสุดท้าย ที่เขาเลือกบางเล่มมันแปลก ค้านสายตานักอ่านหรือกระทั่งคิดเชิงวิเคราะห์ความดีงามเรื่องคุณภาพหนังสือ เมื่อเทียบกับหลายเล่มที่คัดตกไป ผมพูดแค่นี้แล้วกัน ใครติดตามข่าวสารก็คงได้ยินคนพูดวิจารณ์เรื่องทำนองนี้กันเองอยู่แล้วในหลายแง่มุมที่มากกว่านี้ จะบอกว่าบางครั้งการประกวดไทยหลายเวที คุณไปหวังเชื่อเรื่องประเภททำงานดีแล้วได้ดีไม่ได้หรอก มันมีปัจจัยภายนอกเยอะ บางปัจจัยก็งี่เง่าปัญญาอ่อนด้วยซ้ำ ไม่ต้องให้ผมมาสาธยายหรอก ใครเป็นคนในวงการคุณก็รู้เห็นกันอยู่ สุดท้ายใครอยากทำอะไรก็ทำเถอะ เหมือนหลายอย่างในประเทศนี้แหละผมหรือคนที่ไม่อยู่ในตำแหน่งไม่มีสิทธิไปห้ามหรอก แต่ความจริงของโลกอย่างหนึ่งคือทุกการกระทำ ทุกการเลือกของคุณ มันคือการลงทุนทั้งนั้น เทียบให้เห็นภาพชัดๆ สมมุติเป็นโลกการเงิน กรรมการรางวัลต่างๆ แท้จริงมีบทบาทไม่ต่างจากผู้บริหารกองทุนหรอก คุณเลือกให้ใครเข้ารอบ หรือให้รางวัลใคร ก็คือการเลือกซื้อหุ้นเข้ากองทุน ว่าคุณเชื่อมั่นในบริษัทนี้ และถ้าคุณเลือกผิด เลือกแบบไม่ตริตรอง ไม่มีเหตุผล ผลลัพธ์มันก็ออกมาไม่ดี กองทุนคุณก็ขาดทุนหรือเจ๊ง เป็นรางวัลคนก็เสื่อมศรัทธาเวทีนั้นหรือตกต่ำกันไปเรื่อยๆ มันก็เท่านี้เอง

 

หากให้เปรียบ ‘ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดำรงอยู่’ กับ ‘ประเทศเหนือจริง’ และ ‘ลืมตาตื่นอีกครั้ง…ในเวลาอันสมควร’

ปองวุฒิ : ผมว่ามันดีขึ้นกว่าเล่มที่ออกมาก่อนหน้านะ ถ้าประเทศเหนือจริงคือ 8 ลืมตาตื่นอีกครั้งคือ 9 ส่วน ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดำรงอยู่คือ 10 เทียบแบบนิยายด้วยกัน ประเทศเหนือจริงมันเป็นแนวทดลองกว่า มีส่วนที่เกินส่วนที่แหว่ง ส่วน ณ ที่ซึ่งฯ มันจะมีความเป๊ะ ความพอดี สมดุลมากกว่า อย่างที่ว่าคือเขียนแล้วออกมาได้ดั่งใจ

 

ที่สุดแล้วเราจะได้ความจริงอะไรจากงานของปองวุฒิ

ปองวุฒิ : อยากให้ไปลองซื้อมาอ่านดู พอจบ ผมเชื่อว่ามันจะทำให้คุณคิดอะไรอีกเยอะ ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่องแต่พ่วงไปหาชีวิตนักอ่านแต่ละคนเอง อีกอย่างผมคิดอย่างที่เขียนลงไปในคำนำนะ เอาตรงๆเลย งานประเภทนี้มันสร้างยากและขายยาก บางทีสำหรับผมกับคุณ นี่อาจจะเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย เพราะผมว่าสำนักพิมพ์เขาคงไม่น่าจะพิมพ์ให้ผมแล้วมั้งถ้ามันขายไม่ได้เยอะพอประมาณ แต่ผมก็อยากให้คุณสามารถใช้ชีวิตแบบสามารถสบตากับตัวเองในกระจกได้โดยไม่ต้องละอายต่อสิ่งใด หนังสือเล่มนี้ พูดถึงเรื่องแบบนี้ แหละ

 

 

ณ ที่ซึ่งความจริงไม่อาจดำรงอยู่

เขียนโดย ปองวุฒิ รุจิระชาคร

สั่งซื้อออนไลน์ คลิกที่นี่

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า