มนุษย์ทุกชาติพันธุ์เหมือนกันในความเป็นสัตว์โลก หากในความเหมือนก็ยังมีความต่างในเรื่องของวัฒนธรรม ความเชื่อ วันที่โลกแคบลงด้วยเทคโนโลยี การเรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง จึงจำเป็นต่อการอยู่ร่วมเพื่อการมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกอย่างไม่อาจปฏิเสธ เทคโนโลยีนำมาซึ่งการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดก็คือการเรียนรู้ในความต่าง ในรสนิยม ในกิเลส ในความชอบไม่ชอบ เป็นการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อเอามาขยายความว่า อะไรดี อะไรด้อย อะไรถูก อะไรผิด ด้วยสายตาอันเป็นปัจเจก
เรียนรู้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” คือการคิดจากเหตุไปหาผล คิดจากผลไปหาเหตุ มองเห็นถึงความสัมพันธ์ต่อเนื่อง จนถึงการมองแบบองค์รวม พิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนเป็นอาทิ มองได้อย่างนี้ก็จะไม่เกิดวิวาทะว่า สิ่งนั้น ๆ เป็นตัวอย่างที่ยั่วยุนำไปสู่การเลียนแบบ หรือเป็นบทเรียนที่ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งที่เป็นสิ่งเดียวกัน
นวนิยายชุด Fifty Shades ทั้ง 3 เล่ม ที่สร้างกระแสการขายดีชนิดทำลายทุกสถิติจึงเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งในโลกยุคดิจิทัลที่ต้องเรียนรู้และเฝ้ามองอย่างมีสติถึงที่มาที่ไป ถึงประเด็นอันเป็นแก่นของเรื่องมากกว่าการมองเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะบางฉากบางตอนที่เรียกว่า อีโรติก หรือเชิงสังวาส ในความหมายแบบไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกทางเพศเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในความเป็นสัตว์โลกแต่กระนั้น ในความเป็นมนุษย์ซึ่งมีวิวัฒนาการทางด้านสังคม สัมพันธภาพระหว่างหญิงชายจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกหลอมรวมอยู่ในโครงสร้างทางวัฒนธรรม ก่อเกิดเป็นธรรมเนียมประเพณีให้ยึดถือปฏิบัติ แต่ตลอดยุคสมัยของประวัติศาสตร์ ธรรมเนียมประเพณีหลายอย่างก็ถูกปรับเปลี่ยนไปตามกระแสโลก
ฉะนั้น รสนิยมทางเพศที่แตกต่างไปจากขนบ จะถูกประณามขัดขวางหรือยอมรับจึงขึ้นอยู่กับความเชื่อของยุคสมัย ขึ้นอยู่กับสังคมของผู้คนในภูมิภาคนั้น ๆ ซึ่งวิวัฒนาการทางความคิดเหล่านี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ทางด้านชาติพันธุ์ในแง่มานุษยวิทยาในปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน แนวคิดเรื่องสัมพันธภาพทางเพศยังถูกสะท้อนผ่านงานศิลปะมาโดยตลอด นับเนื่องแต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านวรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ซึ่งหลายส่วนของโลก สัมพันธภาพทางเพศคือส่วนหนึ่งของพิธีกรรมอันเป็นหนทางที่ทำให้มนุษย์สามารถหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของเทพเจ้า ดังปรากฏเป็นเด่นชัดจากภาพสลักกามสูตรซึ่งประดับรอบเทวสถาน KHAJURAHO ในอินเดีย
กับงานวรรณกรรมเล่า ความรักในหอแดง และ บัณฑิตหลังเที่ยงคืน คืออีกตัวอย่างที่เรื่องราวทางเพศปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาถึงวัฒนธรรมจีนในอดีตได้อย่างเข้าใจและเข้าถึง ไม่ต่างจาก บทอัศจรรย์ ในวรรณกรรมไทยโบราณ ซึ่งเน้นการใช้ภาพธรรมชาติมาเปรียบพฤติกรรม ดังตัวอย่างจาก วรรณคดีขุนช้างขุนแผน ในฉากระหว่างพลายแก้วกับนางพิม
หรือบางตอนก็บอกกล่าวกันด้วยภาษาที่เรียกว่าบ้าน ๆ เช่น
แล้วกับ ลิลิตพระลอ เล่าบทเชิงสังวาสของนางรื่น นางโรยกับนายแก้ว นายขวัญ ก็เป็นงานที่บรรยายให้เห็นภาพ นับแต่ฉากในสระน้ำก่อนจะขึ้นมาบนฝั่ง
หรือในฉากของพระลอกับพระเพื่อนพระแพงก็นับเป็นตัวอย่างของการใช้ภาษาที่งดงามยิ่งนัก
แต่ที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของเนื้อหา เป็นเพียงองค์ประกอบปรุงแต่งให้เกิดสิ่งที่เรียกว่ารสของวรรณกรรม รสของภาษาเพราะโดยโครงสร้างหลัก ลิลิตพระลอ คือโศกนาฏกรรมที่เกิดกับตัวละครซึ่งเลือกจะจบชีวิตของตัวเองมากกว่าจะยอมเป็นเหยื่อของชะตากรรมในความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะที่ ขุนช้างขุนแผน ก็ใช้สัมพันธภาพทางเพศเป็นตัวอธิบายความเป็นสามัญมนุษย์ในระดับชาวบ้านของสังคมอยุธยา ทั้งที่ภาพรวมของเรื่องคือการต่อสู้ชีวิตของเด็กวัดลูกกำพร้าระดับล่าง แต่ไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรม และพยายามศึกษาเรียนรู้เพื่อเข้ารับราชการจนสามารถไต่เต้าขึ้นไปเป็นคนระดับสูงด้วยความสามารถล้วน ๆ
อย่างไรก็ดี การพรรณนาโวหารในรูปแบบโคลงฉันท์กาพย์กลอนคืออีกรูปแบบในขนบการเขียนในความนิยมของยุคสมัย ต่างไปจากปัจจุบันที่ใช้ความเรียงในการอธิบายพฤติกรรมตัวละครด้วยจังหวะของคำที่แตกต่างกันออกไป
หน้าปกหนังสือชุด Fifty Shade ฉบับโปสเตอร์ภาพยนตร์ (Limited Edition)
นวนิยายไตรภาคชุด Fifty Shades นี้ แม้จะไม่อาจเทียบได้เลยกับวรรณกรรมของไทย แต่บทเชิงสังวาสในเรื่องทั้งหมดที่ผู้เขียนนำเสนออย่างเป็นขั้นเป็นตอนนั้น ล้วนมีเหตุผลมาจากบาดแผลของอดีตในวัยเด็ก บาดแผลที่ตัวละครพยายามกลบฝังและปิดบังซ่อนเร้น ตัวละครอย่าง คริสเตียน เกรย์ ชายหนุ่มรูปงามผู้ประสบความสำเร็จทางด้านการงาน สังคมมองเห็นแต่เปลือกของความร่ำรวย แต่มองไม่เห็นบาดแผลในใจของเขา ชายหนุ่มผู้แยกไม่ออกระหว่างสิ่งที่เรียกว่าความรักกับความใคร่ ผู้มีพฤติกรรมทางเพศที่ดูเหมือนจะแตกต่างไปจากผู้คนทั่วไป
ซึ่งแท้จริงแล้วมันคือหนทางเดียวที่เหลือในการเยียวยาบาดแผลในหัวใจ คือหนทางที่เขาไม่อยากเลือก เพียงแต่ไม่มีเส้นทางอื่นเหลือไว้ให้เลือกเดินประเด็นของเรื่องจึงอยู่ที่ ‘การบำบัดรักษา’ การเข้ามาของแอนัสเตเชีย สตีล หญิงสาวใสซื่อบริสุทธิ์ เปรียบเหมือนแสงสว่างที่ทำให้คริสเตียนพบทางออก เห็นทางแห่งการปลดปล่อยให้ตัวเองสามารถกลับไปมีชีวิตมีพฤติกรรมเฉกเช่นคนธรรมดาในสังคมจะพึงเป็น
ที่น่าสนใจก็คือ ในปลายทางนั้น เขาไม่ได้เดินไปเพียงลำพังอย่างหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ นิยายเรื่องนี้เล่าผ่านตัวละครฝ่ายหญิงคือ แอนัสเตเชีย สตีล ความรู้สึกและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่เธอสัมผัสรับรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป และในจุดสูงสุดก็คือการกลับลงมาสู่สามัญของการมีชีวิต
ตัวอย่างฉบับภาพยนตร์
การเล่าให้เห็นภาพและความรู้สึกของเธอจึงเป็นเพียงการเล่าผ่านประสบการณ์ของผู้หญิงคนหนึ่งที่หลุดเข้าไปในโลกมืด แน่นอนที่ว่ามันอาจตื่นเต้น ชวนให้ค้นหา หากที่สุดสิ่งที่เธอค้นพบนั้นไม่ใช่ความตื่นเต้นทางเพศอย่างที่เธอสัมผัสและรับรู้ในครั้งแรก ๆ แต่กลับเป็นชายที่ถูกพันธนาการในโซ่ตรวนของความทรงจำ ถูกโบยตีด้วยหนามแหลมของอดีต เธอจึงเป็นเหมือนกุญแจเพียงดอกเดียวที่สามารถปลดปล่อยเขาไปสู่อิสรภาพ และเธอใช้มันในนามของความรัก
นี่หรือเปล่าคือที่มาของประโยคที่ว่า เพื่อรักแล้ว ทุกอย่างล้วนมีค่าควรแก่การทุ่มเท ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีฉากแบบนี้อยู่มากเท่าไร แต่ทว่าทุกครั้งที่มี มันเชื่อมโยงมาจากอะไร เหตุอยู่ตรงไหน นับแต่วิธีการจนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้ ซึ่งถ้าจะมองกันในวงกว้างแล้ว ล้วนเคยปรากฏมาแล้วในงานวรรณกรรมหรือนิยายทั้งสิ้น แม้กระทั่งซิลเวอร์บอลเองก็เคยปรากฏในเรื่อง โชกุน
ดังนั้นการอ่าน Fifty Shades ให้ครบทั้งสามเล่มจึงจะเป็นคำตอบที่ใช้อธิบายความกังขาใด ๆ ที่ใครจะมีต่อนวนิยายชุดนี้ได้ดีที่สุดอย่างไรก็ดี แม้เนื้อหาอันเกี่ยวเนื่องกับสัมพันธภาพทางเพศของนวนิยายชุด Fifty Shades จะมีความเป็นเหตุเป็นผลอย่างเป็นปัจเจก แต่เรื่องก็แต่งขึ้นตามขนบของตะวันตกที่เชื่อว่าพฤติกรรมของตัวละครเป็นเรื่องส่วนบุคคล แม้ไม่มีการฝืนใจ ไม่มีการฉุดคร่าอนาจาร เป็นการเดินไปในเส้นทางชีวิตของคนสองคนที่มีสุขทุกข์ร่วมกัน แต่ในกระบวนการทางภาษา จึงจำเป็นอยู่เองที่ต้นฉบับจะต้องได้รับการขัดเกลา ตัดต่อย่อความในบางบทเพื่อให้เกิดความเหมาะสม แม้ว่าในภาษาไทยมีคำให้ใช้อยู่มาก แต่กระนั้นก็ต้องเลือกใช้อย่างระมัดระวัง โดยเช่นที่อุษณา เพลิงธรรม กล่าวเอาไว้ว่า
[su_quote]“ของอย่างนี้จะเขียนให้มันวิจิตรก็ได้ จะเขียนให้มันสัปดนก็ได้ ขอให้เข้าใจเขียนเถอะ ของแบบนี้มันมีอยู่เรื่อย ทีนี้มันอยู่ที่ภาษาที่ใช้ ถ้าใช้ภาษาดี ๆ มันก็ไปได้ เขียนภาษาให้เรียบร้อยแล้วมันก็ไปลงที่เดียวกันนั่นแหละ”[/su_quote]
เช่นนี้รายละเอียดบางอย่างอาจขาดหายไปจากต้นฉบับ ก็เกิดจากความตั้งใจที่ต้องการตัดเพราะเห็นว่าไม่เหมาะสม แต่ถึงกระนั้นก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อโครงเรื่อง เพราะใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ยังอยู่ครบ แต่ถูกระวังไม่ให้เกินงามต่อการนำเสนอในสังคมไทย อย่างไรก็ดี นวนิยายชุดนี้จำเป็นอยู่ที่จะกฎเกณฑ์ในการจำกัดอายุผู้อ่านที่ควรจะเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น เพราะยังคงมีบางฉากบางตอนที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกรุนแรง หรืออาจถูกตีความไปว่าเป็นอนาจารจากมุมมองแบบขนบ แต่กลับเป็นปรากฏการณ์สามัญในโลก
โซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่การควบคุมดูแลเป็นไปได้ยาก แต่กลับง่ายต่อการเข้าถึงตราบที่เราไม่อาจปฏิเสธการมีอยู่ของนิยายเรื่องนี้ในสังคมโลก การยอมรับอย่างเรียนรู้ เข้าใจในบริบทอย่างเปิดใจน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่าอย่างอื่น เพราะที่สุดแล้ว ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรเที่ยง ล้วนวนเวียนเกิดดับอยู่อย่างนี้
ปรากฏการณ์ของนวนิยายชุด Fifty Shades ที่สุดก็คงไม่ต่างจากฟ้าผ่าในเมฆฝนแห่งวงการหนังสือโลกเท่านั้น
เรียบเรียงจากบทบรรณาธิการ
Pingback: โลกในหุบเขามูมิน หนังสือที่จะพาคุณไปสู่โลกในหุบเขามูมินที่สมบูรณ์ที่สุด