5 วรรณกรรมเยาวชน ต้นแบบโรคผิดปกติทางจิต

โรคผิดปกติทางจิต หรืออาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับจิตใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้บนโลกใบนี้ บางครั้งคุณหมอจะตั้งชื่อของโรคผิดปกติทางจิตเหล่านั้น ตามอาการที่เกิดขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า โรคผิดปกติทางจิต หลายๆ โรค ตั้งชื่อขึ้นตามตัวละครในวรรณกรรมคลาสสิกก้องโลก  และแน่นอนว่า อาการของโรคที่ผู้ป่วยต้องประสบนั้น มีอาการเช่นเดียวกับตัวละครในเรื่องนั้นๆ ด้วย

เราลองมาดูกันว่า มีโรคอะไรบ้าง จะมีตัวละครโปรดของเราเป็นหนึ่งในนั้นไหมนะ…?

 

อลิซ อิน วันเดอร์แลนด์ ซินโดรม (Alice in Wonderland Syndrome)

 

‘อลิซ อิน วันเดอร์แลนด์’ หรือ ‘อลิซผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์’ วรรณกรรมเยาวชนที่มีอายุกว่า 150 ปี แต่งโดย ลูอิส แคร์รอล (Lewis Carroll)  เป็นเรื่องราวการผจญภัยสุดแฟนตาซีของเด็กสาว “อลิซ” โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากโพรงกระต่ายสุดอัศจรรย์

“อลิซ อิน วันเดอร์แลนด์ ซินโดรม” เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ชื่อของโรคนำมาจากการผจญภัยตอนหนึ่งที่อลิซหลงเข้าไปในบ้านลึกลับแล้วต้องเลือกระหว่าง ‘Drink Me’ เครื่องดื่มที่ทำให้ตัวเล็กลง หรือทานเค้ก ‘Eat Me’ ที่ทำให้ตัวใหญ่ขึ้น หากใครจำได้เมื่ออลิซเลือกทาน ‘Drink me’ ตัวของเธอก็เริ่มหดเล็กลงจนมองเห็นโต้ะทานข้าวใหญ่โต

อาการของโรคนี้ก็เช่นกัน มันจะทำให้คุณมองเห็นภาพทุกอย่างบิดเบี้ยวไปจากสัดส่วนปกติ อาการนี้ต่างจากสาวๆ ที่ชอบพูดเกินจริงว่าต้นขาฉันใหญ่เท่าซุง หรือหน้าของฉันบานเป็นกระด้ง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นโรคนี้คือ การมองเห็นภาพทุกอย่างผิดปกติจริงๆ และผู้ป่วยจะเห็นเพียงคนเดียวเท่านั้น เช่น บางคนเห็นจมูกของตัวเองใหญ่เท่าลูกชมพู่ หรือเห็นขาตัวเองใหญ่เท่าท่อนซุงจริงๆ อาจจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกช็อค งงงวย บางคนยืนไม่ไหวเพราะเห็นขาตัวเองเล็กเท่าตะเกียบ

บางคนอาจเห็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ผิดปกติไปด้วย เช่น มองเห็นประตูห้องเล็กมากๆ จนคิดว่าออกไปไม่ได้อีกแล้ว หรือมองเห็นจิ้งจกตัวเท่าคน  (หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ตลกจัง แต่ลองคิดดูว่าถ้าเรามองเห็นรถทุกคันเล็กเท่ามด จนคิดว่าถนนโล่งจัง แล้วเดินดุ่มๆ ออกไปให้รถชน แบบนี้คงไม่ตลกแน่ๆ)

โรคนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ปวดหัวไมเกรนบ่อยๆ มีภาวะเนื้องอกในสมอง มีอาการลมชักที่กลีบขมับสมอง หรือมีภาวะใช้ยาเสพติดประจำ ซึ่งตัวของผู้เขียนนั้นก็เป็นโรคนี้เช่นเดียวกัน  เขาจึงนำสิ่งที่เธอต้องประสบพบเจอมาถ่ายทอดเป็นวรรณกรรมสุดมหัศจรรย์เรื่องนี้ซะเลย

 

ปีเตอร์ แพน ซินโดรม (Peter Pan Syndrome)

 

ปีเตอร์ แพน ตัวละครจากวรรณกรรมในชื่อเดียวกันซึ่งแต่งโดย เจ.เอ็ม. แบร์รี่ (J. M. Barry) เรื่องราวการผจญภัยสุดตื่นเต้นทั้งบนท้องฟ้า บนผืนดินและแผ่นน้ำ ของเด็กหนุ่มนามว่า ปีเตอร์ แพน  บนดินแดนเนเวอร์แลนด์สุดมหัศจรรย์

โรคผิดปกติทางจิต

วรรณกรรมฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน

 

ปีเตอร์ แพน เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่คุณหมอนำมาตั้งชื่อให้กับโรคผิดปกติทางจิต โดยมีชื่อว่า “ปีเตอร์ แพน ซินโดรม” แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าคุณเป็นโรคนี้ แล้วคุณจะสามารถบินได้นะ เพราะผู้ที่เป็นโรคนี้จะอยู่ในภาวะที่กลายเป็นเด็กไปตลอดชีวิตเหมือนปีเตอร์แพนยังไงล่ะ

 

ปีเตอร์แพน ซินโดรม ตั้งชื่อมาจากตัวละคร ปีเตอร์ แพน เด็กชายในชุดสีเขียวผู้บินได้  มาพร้อมกับคำพูดประจำตัวว่า ‘ฉันไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่’  

ผู้ที่มีอาการของปีเตอร์แพนซินโดรมก็เช่นกัน พวกเขาก็ไม่อยากเป็นผู้ใหญ่  ไม่อยากทำงาน ต้องการเที่ยวเล่นตลอดเวลา มีความคิดเหมือนเด็กๆ  ทำให้พวกเขาเก็บตัว ทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ และอาจจะใช้ชีวิตในสังคมอย่างยากลำบาก  ซึ่งสาเหตุนั้นมักเกิดขึ้นกับเด็กที่ถูกเลี้ยงดูจากครอบครัวที่ประคบประหงมมากเกินไป ไม่ปล่อยให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเองบ้าง และโรคนี้มักเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

 

 

 

เมาคลี ซินโดรม (Mowgli Syndrome)

…เมาคลีล่าสัตว์…. เมาคลีล่าสัตว์…. เพลงที่หลายคนคุ้นหูและร้องตามได้ มีที่มาจากวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง ‘เดอะ จังเกิ้ล บุ๊ก’ (The Jungle Book)  เขียนโดยรัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard  Kipling)  ตั้งแต่สมัยปี ค.ศ. 1893

เรื่องราวของเมาคลีลูกหมาป่า เล่าถึงการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสัตว์ป่า และการผจญภัยสุดตื่นเต้นเร้าใจของ ‘เมาคลี’ เด็กหนุ่มกำพร้าที่เติบโตในป่าลึกของอินเดีย โดยการเลี้ยงดูของครอบครัวหมาป่าและบรรดาสัตว์ป่าน้อยใหญ่ที่ทำให้เราหลงรักและเอาใจช่วยไปกับเมาคลีจนจบเรื่อง

สำหรับโรคเมาคลี ซินโดรม แม้จะมีต้นแบบมาจากเมาคลีลูกหมาป่า แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้ไม่จำเป็นต้องถูกเลี้ยงมาด้วยหมาป่าหรอกนะ  โดยส่วนใหญ่แล้วโรคนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่ถูกพ่อแม่ทำร้ายร่างกายด้วยความรุนแรง หรือถูกปล่อยปละละเลย (เหมือนกับถูกสัตว์ป่าเลี้ยงมาจริงๆ )

เมื่อเด็กๆ ถูกละเลย  พวกเขาอาจเก็บกดทางอารมณ์  เจ็บป่วยทางจิตใจ หรืออาจจะเจ็บป่วยที่ร่างกายหากถูกทำร้ายอย่างรุนแรง และอาจมีภาวะทางอารมณ์ไม่ปกติ  ดุร้ายหรือซึมเศร้าจนควบคุมไม่ได้  บางครั้งเด็กที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่อย่างเหมาะสมก็ไม่สามารถใช้ชิวตแบบมนุษย์ทั่วไปได้เลย  เช่น กินข้าวเองไม่ได้ หรืออาจไม่เข้าใจภาษาพูดในการสื่อสารเลย

เมาคลีโชคดีที่ได้หมาป่าดูแล แต่เด็กๆ อีกหลายคนอาจโชคร้ายที่ได้หมาป่าในคราบมนุษย์มาเลี้ยง  น่าเศร้าใจเสียจริง

 

 

ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ ซินโดรม (Huckleberry Finn Syndrome )

วรรณกรรมฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน

 

ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ ซินโดรม เป็นโรคจิตเวชที่ตั้งชื่อตามลักษณะนิสัยของ ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ จากวรรณกรรมขึ้นหิ้งของ มาร์ก ทเวน  (Mark Twain) เรื่อง ‘การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์’ (The Adventures of Huckleberry Finn)  เป็นเรื่องราวของ ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ เด็กชายลูกคนขี้เมาไร้การศึกษาที่ถูกพ่อจับขังไว้ แต่ด้วยความเฉลียวฉลาด ฟินน์ก็หนีออกมาได้ พร้อมกับ  ‘จิม’  และเริ่มต้นการผจญภัยบนโลกกว้างไปด้วยกันบนแม่น้ำมิสซิสซิปปี้

 

สำหรับฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ ซินโดรม  มีชื่อทางการแพทย์ว่า Truancy Syndrome  ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับเด็กที่พ่อแม่ละเลยความใส่ใจ ซึ่งส่งผลให้เด็กเหล่านั้นกลายเป็นคนหลีกหนีปัญหาและปัดความรับผิดชอบ เรียกว่าการทำเช่นนั้นเป็นกลไกการป้องกันความรู้สึกของตัวเองจากการถูกปฎิเสธจากพ่อแม่  หากไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อาจทำให้ปรับตัวเข้ากับสังคมไม่ได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้แม้จะเป็นคนเก่งก็ตาม และอาจมีความรู้สึกนับถือตัวเองต่ำและมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย

 

 

ราพันเซล ซินโดรม (Rapunzel Syndrome)

เวอร์ชั่นวอลท์ ดีสนีย์ ใช้ชื่อว่า Tangled

‘ราพันเซล’ เจ้าหญิงผมยาวจากปลายปากกาพี่น้องตระกูลกริมม์ (The Brothers Grimm)  ความดาร์กของเทพนิยายเยอรมันเรื่องนี้ อาจจะดูแตกต่างไปจากเวอร์ชั่นของวอลท์ ดีสนีย์ (Walt Disney)ที่เราเคยดูมา แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ราพันเซล เป็นเจ้าหญิงแสนสวย ที่มีผมยาว ยาวมากจนทิ้งลงมาจากหอคอยสูงได้

สำหรับโรคราพันเซลนั้น ผู้ป่วยไม่ได้มียาวสลวยเหมือนดั่งราพันเซลนะ แต่หมายถึง อาการย้ำคิดย้ำทำ ขี้กังวล  และชอบดึงเส้นผมตัวเองมากิน โดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากินเส้นผมลงไป!

ราพันเซล ซินโดรม  มีชื่อทางการแพทย์ว่า “Trichobezoar”   เป็นโรคที่พบมากในเพศหญิง  ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กๆ อายุต่ำกว่า 10 ขวบ  โรคนี้เป็นอาการทางจิตที่ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร โดยอาการของโรคนี้ที่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือ ร่างกายผอม อ่อนแอ  เพราะกินแต่เส้นผมซึ่งไม่มีคุณค่าทางสารอาหารใดๆ มักจะอาเจียนและปวดท้องบ่อยๆ อย่างหาสาเหตุไม่ได้ เพราะเส้นผมนั้นไม่สามารถย่อยสลายในกระเพาะอาหารได้ จึงทำให้มันรวมตัวกันเป็นก้อนขนาดใหญ่และอุดตันในช่องท้องหรือทางเดินทางอาหารต่างๆ หากไม่รีบผ่าตัดออกอาจทำให้เสียชีวิตได้  (สยองและน่ากลัวมากๆ )

 

[su_quote]เมื่ออ่านจบแล้วหลายคนอาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นโรคปีเตอร์แพนอยู่หรือเปล่า เราขอแนะนำให้คุณลองสำรวจตัวเองดีๆ ก่อนว่าจริงๆ แล้วคุณแค่ขี้เกียจหรือเปล่านะ

 

แต่ถ้าคุณมีอาการอย่าง “อลิส” หรือ “ราพันเซล” อยู่ล่ะก็ คำแนะนำจากเราคือ รีบปิดบทความนี้แล้วไปพบแพทย์ดีกว่าค่ะ[/su_quote]


บทความอื่นๆ

9 บุคคลดังระดับโลกที่คุณอาจคิดไม่ถึงว่าพวกเขาก็เป็น โรคซึมเศร้า

รับมือโรคซึมเศร้าหลังคลอด โดยหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

รู้จักโรคซึมเศร้า สาเหตุ อาการและการรักษา โดยหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

โรคหลายบุคลิกคืออะไร? มาทำความรู้จัก โรคหลายบุคลิก ผ่าน 5 เคสดัง

 

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า