Famiread EP.11 รู้จัก EF ใน 5 นาที

ใครๆ ก็บอกว่าเด็กยุคนี้ต้องมี EF ถึงจะประสบความสำเร็จและอยู่รอดในสังคมอย่างมีความสุข แล้ว EF คืออะไร ทำอย่างไรลูกของเราถึงจะมี EF บ้างนะ เรามาหาคำตอบใน FamiRead Podcast กันเลยค่ะ

รายการ FamiRead รายการผู้ช่วยมือหนึ่งของพ่อแม่ พิธีกร คือ บ.ก.แสตมป์จาก Amarin Kids คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวไว้ในหนังสือ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้EF ว่า เด็กบางคนเรียนเก่งตอนเด็ก แต่ยิ่งโตผลการเรียนยิ่งแย่ลง เด็กบางคนตอนเด็กๆ เล่นตลอด แต่เมื่อโตกลับยิ่งตั้งใจเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จในชีวิต สิ่งที่ทำให้เด็กมีศักยภาพแตกต่างกันไม่ใช่ความฉลาด แต่เป็น Executive functions หรือที่คุ้นหูคุ้นปากกันดีว่า EF นั่นเองค่ะ

EF คืออะไร ดีต่อเด็กๆ อย่างไร ทำอย่างไรลูกถึงจะมี EF วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันค่ะ

โครงสร้างสมองของมนุษย์มี 3 ส่วน ได้แก่สมองส่วนหน้า สมองส่วนกลางและสมองส่วนท้าย สมองส่วนท้ายคือสัญชาตญาณของชีวิต เป็นสมองส่วนที่ควบคุมระบบต่างๆ ในร่างกาย สมองส่วนกลางคือสมองส่วนอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ที่เร็วและแรงมากที่สุดของมนุษย์คือความกลัวและความโกรธนั่นเอง สองอารมณ์นี้เป็นอารมณ์ด้านลบที่ผลักดันให้เราแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาโดยอัตโนมัติ และสมองส่วนหน้าก็คือ EF ทำหน้าที่ควบคุมสมองส่วนอื่น คอยยับยั้งอารมณ์ ยับยั้งความอยากความความต้องการ ช่วยให้เรามีสติ คิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ ให้สามารถใช้เหตุผลในการวางแผนและแก้ไขปัญหาได้ เพราะฉะนั้นเด็กที่มี EF จึงสามารถตั้งเป้าหมายได้ ควบคุมตัวเองให้รับผิดชอบงานได้จนตลอดรอดฝั่ง หนักเอาเบาสู้ ไม่ท้อถอย จึงมีแนวโน้มประสบความสำเร็จกว่านั่นเอง

การทำงานของ EF

การทำงานของ EF เป็นการใช้ความคิดระดับสูง จึงเป็นการใช้สมองจากบนลงล่าง กล่าวคือสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นสมองที่อยู่สูงที่สุดคอยควบคุมและสั่งการสมองส่วนกลางและสมองส่วนท้าย แต่พัฒนาการทางสมองของเด็กกลับเริ่มพัฒนาจากสมองส่วนท้ายขึ้นไปยังสมองส่วนหน้า ในขณะที่สมองส่วนท้ายและสมองส่วนกลางพัฒนาจนสมบูรณ์และพร้อมใช้งานตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้นการใช้ EF จึงสวนทางกับพัฒนาการ แต่จะบอกว่าสมองลูกยังไม่มี EF แล้วปล่อยเลยตามเลยก็ไม่ได้ เพราะ EF ปลูกฝังได้ดีที่สุดในช่วงวัยก่อน 9 -12 ปีเท่านั้น ครั้นจะไปฝึกตอนโตก็ยากเย็นแสนเข็ญแล้ว เพราะฉะนั้นฝึกไว้ตั้งแต่เด็ก พัฒนาสมองส่วนหน้าให้มี EF มากๆ เข้าไว้ก็ดีที่สุด


เสริม EF ด้วยวินัยเชิงบวก

การเสริมสร้าง EF ให้ลูกก็ทำได้มากมายหลายวิธี เช่น เสริม EF ด้วยวินัยเชิงบวก คือไม่ใช้การดุด่า หรือลงโทษที่รุนแรง ไม่ใช้คำว่า ห้าม ไม่ อย่า หยุด เราจะใช้แต่คำว่า ได้ เพียงแต่ประเด็นสำคัญจริงๆ จะอยู่ที่ ได้อย่างไร และ ได้เมื่อไหร่ เท่านั้นเอง เช่น เด็กอยากเล่นในร้านอาหาร แทนที่จะบอกว่า เราเล่นในนี้ไม่ได้นะ ก็เปลี่ยนเป็น เดี๋ยวเรากินข้าวเสร็จแล้วค่อยเล่นกันข้างนอกนะจ๊ะ

เสริม EF ด้วยความพ่ายแพ้

ต่อมาก็คือการเสริม EF ด้วยความพ่ายแพ้ ฟังไม่ผิดหรอกค่ะ ความพ่ายแพ้คือสิ่งที่สอน EF ลูกได้เช่นกัน การสอนให้เด็กรู้จักแพ้ ชนะ บ้าง เรียนได้บ้าง สอบตกบ้าง ไม่ได้สำคัญที่ผลการเรียน แต่สำคัญที่พ่อแม่และลูกจัดการกับความผิดหวังอย่างไร แทนที่จะกดดันคาดคั้น พ่อแม่ที่สอนให้ลูกรู้ว่า แพ้บ้างผิดหวังบ้างก็ไม่เป็นไร เรายังมีโอกาสในครั้งหน้าเสมอ จะทำให้ลูกเป็นคนคิดบวก และล้มแล้วลุกได้เมื่อเติบโตขึ้น  

เสริม EF ด้วยเวลาครอบครัว

และสุดท้ายก็คือการเสริม EF ด้วยช่วงเวลาดีดีของครอบครัว การทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม อ่านนิทาน วิ่งเล่น คุย จะช่วยสร้างสายใยผูกพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก แม้เขาจะเริ่มเติบโตและเริ่มห่างเหินจากพ่อแม่ไปมีเพื่อน สังคมของเขาเอง แต่สายใยที่เกิดขึ้นก็ยังคงอยู่ คอยรั้งเวลาที่ลูกถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี เขาก็จะนึกถึงพ่อแม่ที่ยังรออยู่ที่บ้านเสมอ

และทั้งนี้ก็คือบทสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับ EF หากคุณพ่อคุณแม่สนใจ อยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ EF แบบเต็มๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้EF และ สร้างเด็กภูมิดีด้วย EF ของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ หรือถ้าอยากเสริม EF ให้ลูกแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง เพียงแค่ใช้เวลาอ่านนิทานเรื่องใดก็ได้ให้ลูกฟัง หรืออ่านนิทานที่ช่วยเสริมทักษะ EF อย่างนิทานชุดพ่อมดน้อย นิทานดีสร้าง EF ก็จะช่วยได้ส่วนหนึ่งแล้ว

 

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า