นอกจาก เบเรนกับลูธิเอน ฉบับภาษาไทยจะวางจำหน่ายแล้ว ช่วงนี้แฟนๆ ของเจ.อาร์.อาร์ โทลคีนคงมีเรื่องให้กรี๊ดไม่น้อย เพราะทาง Amazon ประกาศว่าจะสร้างซีรีส์ ลอร์ดออฟเดอะริงส์ และก็มีข่าวว่า The Fall of Gondolin ฉบับภาษาอังกฤษจะวางแผงในช่วงปลายเดือนสิงหาคมอีก แต่ก่อนจะไปเรื่องนั้น เรามาทำความรู้จักเบเรนกับลูธิเอนกันก่อนดีกว่า
รวมตำนาน เบเรนกับลูธิเอน เล่มเดี่ยวครั้งแรก
หลังจากตำนานแห่งซิลมาริลได้รับการตีพิมพ์เมื่อปีค.ศ.1977 คริสโตเฟอร์ โทลคีน ลูกชายคนที่สามของเจ.อาร์.อาร์. โทลคีนก็เริ่มรวบรวมต้นร่างงานเขียนของพ่อ ซึ่งค่อนข้างกระจัดกระจาย รวมแล้วมีถึง 17,835 หน้า นำมาชำระและเรียบเรียงใหม่
จากจุดเริ่มต้นในวันนั้น ตำนานบุตรแห่งฮูริน หนึ่งในมหาตำนานที่ปรากฏในตำนานแห่งซิลมาริลก็ได้ตีพิมพ์ออกมาในปี 2007 สิบปีต่อจากฮูริน เบเรนกับลูธิเอน ฉบับภาษาอังกฤษเพิ่งวางจำหน่ายครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ปี 2017 นับว่าไม่เสียยี่ห้องานของโทลคีนเลยที่ใช้เวลาในการทำงานยาวนานทุกเล่ม
เบเรนกับลูธิเอน เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคแรกของมิดเดิ้ลเอิร์ธ ก่อนเหตุการณ์ใน ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ จะเกิดขึ้นถึง 6,500 ปี โดยโทลคีนเขียนเรื่องราวของเบเรนและลูธิเอนขึ้นหลังกลับจากการสู้รบที่เมืองซอมม์ ประเทศฝรั่งเศสปลายปี ค.ศ. 1916 สงครามส่งผลต่องานเขียนของโทลคีนไม่น้อย
หลังสงคราม โทลคีนก็นำประสบการณ์โหดร้ายที่เขาเจอมาเขียน กลายเป็นต้นร่างของตำนานมากมาย ตำนานของวินูทิเอล (The Tale of Tinúviel) ซึ่งเป็นตำนานรักระหว่างเบเรนมนุษย์ผู้หนึ่งกับลูธิเอนเจ้าหญิงแห่งเอลฟ์ ก็เป็นหนึ่งในเรื่องราวแรกๆ ที่เขาเขียน เรียกว่าหากไม่มีเบเรนกับลูธิเอนแล้ว ก็คงไม่มีตัวละครหลักที่เป็นครึ่งเอลฟ์อย่างอาร์เวน ในลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์
ในการทำงานหนังสือเล่มนี้ แม้ว่าคริสโตเฟอร์จะไม่ได้เลือกต้นฉบับทุกชิ้นที่กล่าวถึงเบเรนและลูธิเอนมาเขียน และอาจมีบางส่วนเปลี่ยนแปลงจากในตำนานแห่งซิลมาริลเล็กน้อย แต่เขาก็เรียบเรียงจากต้นฉบับที่ “สมบูรณ์ชัดเจนที่สุด” ที่สำคัญชะตากรรมความรักของเบเรนและลูธิเอนก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง
แรงบันดาลใจจากภรรยา สู่เบเรนกับลูธิเอน
กล่าวกันว่า เจ.อาร์.อาร์. โทลคีนได้แรงบันดาลใจในการเขียนและการสร้างตัวละครอย่างเบเรนและลูธิเอน จากเรื่องราวความรักของเขากับอีดิธผู้เป็นภรรยา โทลคีนพบอีดิธครั้งแรกแรกในงานเลี้ยงเต้นรำงานหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการเขียนฉากที่เบเรนกับลูธิเอนพบกัน บ้างก็เล่าว่าในตอนแรกครอบครัวของอีดิธไม่ยอมรับโทลคีน เพราะเขาเป็นคาทอลิก
โทลคีนเองก็คงฝังใจกับเรื่องราวของเบเรนและลูธิเอนมาก เพราะบนป้ายหลุมฝังศพของเขากับภรรยาก็มีชื่อเบเรน ซึ่งหมายถึงตัวเขา และลูธิเอนซึ่งหมายถึงภรรยาสลักไว้ด้วย
นอกจากจะได้แรงบันดาลใจในการเขียนจากเรื่องของตัวเองแล้ว หลายๆ ส่วนของเรื่องโทลคีนยังได้ไอเดียมาจากนิทานพื้นบ้าน ตำนานต่างๆ และงานเขียนอีกหลายเรื่องอย่าง Culhwch and Owen, The Devil with the Three Golden Hair, The Griffin, โรมิโอกับจูเลียต, เทพปกรณัมนอร์ส เป็นต้น
ภาพประกอบโดย อลัน ลี
ถ้าเป็นแฟนโทลคีน คงรู้จักชื่ออลัน ลี กันอยู่แล้ว เพราะเขานี่แหละที่วาดภาพปกและภาพประกอบให้งานของโทลคีนมาแล้วแทบทุกเล่ม และปกเวอร์ชั่นภาษาไทยของเราก็ใช้ภาพปกและภาพประกอบเดียวกับเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษฝีมือของอลัน ลีเช่นกัน
อลัน ลีเป็นนักวาดภาพประกอบ เป็น Movie Conceptual Designer ชาวอังกฤษ ผลงานของเขาเคยได้รับรางวัลมากมาย และฮอบบิทฉบับครบรอบ 60 ปีที่เขาเป็นผู้วาดภาพปกและภาพประกอบ ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ Chesley Award นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่เขาเคยได้รับรางวัลนี้
Pingback: วรรณกรรมเยาวชน 7 เรื่อง จาก 100 หนังสือดีที่ Amazon แนะนำ
Pingback: วรรณกรรมเยาวชน ที่กระทรวงศึกษาธิการเลือกให้เป็น หนังสืออ่านนอกเวลา
Pingback: 80 ปี เดอะฮอบบิท กับ 8 ข้อที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน