คุณเป็นพ่อแม่แบบไหน เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องรู้จักตัวเอง เพื่อที่จะได้ไปวิเคราะห์ลูกต่อว่า ลูกเราเป็นเด็กแบบไหน จะช่วยเพิ่มความเข้าใจในการเลี้ยงลูกได้ดียิ่งขึ้น ในเรื่องนี้ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ได้จำแนกประเภทของพ่อแม่ไว้ด้วยสัตว์ 4 ประเภท ดังนี้
พ่อแม่ หนู
พ่อแม่ หนู เป็นพวกชอบเข้าสังคม สนุกสนาน เฮฮาปาร์ตี้ ตามเพื่อน ยอมเพื่อน ที่สำคัญคือชอบหาของกินหรือชอบของสวยงาม แต่ขี้กลัว ไม่มั่นใจ
ข้อเด่น ของพ่อแม่หนูคือ เมื่อลูกอยากทำอะไร พ่อแม่หนูก็จะสนับสนุนให้ลูกได้ทำอย่างเต็มที่ ดังนั้น การที่พ่อแม่ตามใจลูกจึงเป็นฝ่ายสนับสนุน เพื่อให้ลูกได้ค้นหาตัวตน (identity) ได้ทำสิ่งที่ชอบ และพ่อแม่ก็สนับสนุน เช่น พาลูกไปประกวดร้องเพลง แต่งตัวสวยงาม ทำให้ลูกๆ มีความสุขร่าเริง
ข้อด้อย ของพ่อแม่หนูคือ หากตามใจมากเกินไปก็ไม่มีความเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าเด็กยังต้องมีผู้ปกครอง ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนให้เขาค้นหาตนเอง ผู้ปกครองจึงต้องมีความเป็นโค้ช เป็นฟา เป็นเมนทอร์ ต้องดูว่าลูกเหมาะสมกับสิ่งนี้ไหม ถ้าไม่ใช่ก็ต้องหาวิธีอื่นให้ลูกได้ลองทำ เหมือนพ่อแม่กระทิง ขณะที่พ่อแม่หนูจะแล้วแต่ลูกเป็นหลัก และมีความกลัวสารพัด กลัวลูกเจ็บป่วย กลัวโน่นกลัวนี่ สุดท้ายพ่อแม่หนูจะเป็นผู้ทำให้ทุกอย่าง แล้วลูกจะทำอะไรไม่เป็นเลย
พ่อแม่กระทิง
พ่อแม่กระทิงเป็นผู้มุ่งมั่น กัดไม่ปล่อย ชอบลงมือทำ พูดตรง ลุย ไม่กลัว ใจร้อน งานได้ผล คนเสียหาย นี่คือนิสัยของกระทิงชัดเจน
ข้อเด่น ของพ่อแม่กระทิงคือ พาลูกลุยทำกิจกรรมต่างๆ พาเรียนรู้จากการลงมือทำ ให้ลูกลองผิดลองถูก สังเกตง่ายๆ ถ้าลูกงอแงอยากได้ของแล้วมีอาการลงไปชักดิ้นชักงอ พ่อแม่กระทิงจะปล่อยให้ลูกลงไปชักอย่างเต็มที่
ข้อด้อย ของพ่อแม่กระทิงคือ เป็นพ่อแม่สายโหดที่มักคิดว่าลูกต้องทำได้ ทำไมจะไม่ได้ หากทำไม่ได้ก็จะว่าอย่างเดียว บางครั้งจึงพบว่าลูกจะมีความเป็นผู้นำสูง ซึ่งหากเกินความพอดีจะกลายเป็นบ้าอำนาจ อาจทำให้ไม่มีเพื่อนคบด้วย หรือเพื่อนยอมคบเพราะอำนาจ แต่ไม่ได้ยอมเพราะบารมีหรือไม่ได้ยอมด้วยใจ
พ่อแม่หมี
พ่อแม่หมีเป็นคนที่รู้อะไรรู้ลึกมาก แต่ไม่รู้กว้าง คิดนาน คิดละเอียด มีกฎระเบียบ เป็นขั้นเป็นตอน ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง มักเลือกจากความชอบ-ไม่ชอบ ชอบทำอะไรซ้ำๆ สั่งแต่กะเพราไข่เจียว เมนูเดียวกินทั้งปีไม่มีเบื่อ รักอะไร เชื่ออะไร จะมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง
ข้อเด่น ของพ่อแม่หมีคือ ตกผลึกทุกอย่างมาแล้วอย่างแน่นอนจึงค่อยสนับสนุนให้ลูกทำตามสิ่งที่ชอบ เพราะเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไตร่ตรองมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เช่น ถ้าลูกอยากจะเป็นวิศวกรให้ทำอย่างนี้ๆ ลูกก็ทำตามและสำเร็จได้ นอกจากนี้พ่อแม่หมีจะมีกติกาในบ้าน จึงแบ่งหน้าที่ให้ลูกดูแลอย่างชัดเจน เช่น วันเสาร์ลูกต้องถูบ้าน ทำให้ลูกรู้จักทำหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเองตั้งแต่เด็ก
ข้อด้อย ของพ่อแม่หมีคือ ทุกคนต้องอยู่ในกติกาของบ้าน อยู่ในกรอบที่พ่อแม่หมีวางไว้ ทุกอย่างบังคับลูกหมดเลย หากถามว่าแตกต่างจากพ่อแม่อินทรีอย่างไร พ่อแม่หมีคือจอมบงการ พ่อแม่อินทรีคือจอมวางแผน สิ่งที่พ่อแม่อินทรีคิดว่าดีแล้ว แต่ยังมีอิสระและมีความหลากหลายให้ลูกได้เลือกด้วย
แต่พ่อแม่หมีคือทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบเดียวหมด เลี้ยงลูกด้วยกฎระเบียบอย่างเดียว เหมือนอยู่โรงเรียนประจำทั้งชีวิต เช่น พ่อแม่ซื้อเสื้อผ้าให้ลูก ลูกต้องแต่งตัวแบบนี้ พ่อแม่ต้องไปรับส่งลูก เรียกว่าอยู่ในสายตาตลอด ผลคือทำให้ลูกคิดเองไม่เป็นเลย กลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะถูกเลี้ยงมาด้วยความกลัว
พ่อแม่อินทรี
พ่อแม่อินทรีเป็นคนชอบพูด ชอบคิด ชอบวางแผน แต่ไม่ชอบลงมือทำ รู้ทุกเรื่อง อธิบายได้เป็นขั้นตอน อธิบายได้หมด สอนเก่ง วิเคราะห์เก่ง แต่ถามวิธีทำ ไปไม่เป็น เรียกว่ามีไอเดียเยอะ แต่เบื่อง่าย
ข้อเด่น ของพ่อแม่อินทรีคือ พาลูกเที่ยว พาไปเปิดหูเปิดตา หาของใหม่ๆ อยู่เสมอ ด้วยความเป็นพ่อแม่ที่ชอบวิเคราะห์และช่างวางแผน ถ้าพ่อแม่วางแผนชีวิตลูกดีๆ ลูกก็จะประสบผลสำเร็จได้ เหมือนกับพ่อแม่ลูกได้คุยแผนกันทุกวัน โดยมีพ่อแม่ช่วยวางกลยุทธ์ ทั้งนี้พ่อแม่ต้องมีความเป็นโค้ช เป็นฟา เป็นเมนทอร์
ข้อด้อย ของพ่อแม่อินทรีคือ พาทำแต่ไม่สอน ดังที่กล่าวว่าพ่อแม่อินทรีเป็นคนชอบวางแผน เช่น หากรู้แล้วว่าลูกฝันเป็นหมอ พ่อแม่ก็วางแผนบริหารจัดการควบคุมลูกไปสู่การเป็นหมอ ถ้าหากมีส่วนนี้มากเกินไป ถึงขั้นบงการทุกอย่างในชีวิตลูกตั้งแต่เกิด ไม่ปล่อยให้ลูกคิดเอง คิดแทนหมด เรื่องนี้น่ากลัวมากนะครับ ส่วนใหญ่ลูกมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าตามมา เพราะลูกอยากทำจริงๆ แต่เถียงสู้เหตุผลของพ่อแม่ไม่ได้ก็มี จึงต้องทำตามสิ่งที่พ่อแม่บงการแทน
เข้าใจตนเอง เข้าใจลูก เพื่อการเลี้ยงลูกอย่างเหมาะสม ได้เพิ่มเติมจากหนังสือ
Family 4.0 ห้องเรียนพ่อแม่
บทความอื่นๆ
Pingback: พัฒนา ทักษะEF ให้ลูกได้ไม่ยาก ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนิทาน
Pingback: 5 วิธี เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี : สอนลูกแบบนี้ ลูกได้ดีและมีความสุขแน่นอน
Pingback: เทคนิค สอนลูกอ่านหนังสือ - เขียนหนังสือ : ลูกฉลาดเริ่มต้นที่พ่อและแม่
Pingback: พัฒนา "ทักษะEF" ให้ลูกได้ไม่ยาก ด้วยการ "เลี้ยงลูกด้วยนิทาน"