ทักษะ EF จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของเด็กๆ มาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียน วางแผนไปเที่ยว เข้าร้านสะดวกซื้อ เล่นฟุตบอล ไปจนถึงทำรายงานส่งคุณครู เหล่านี้ล้วนใช้ทักษะชีวิตคือ กำหนดเป้าหมาย วางแผน ลงมือทำ ประเมินผล และปรับแผน
ที่ว่าใช้ EF คือเด็กต้องเรียนรู้ที่จะใช้ทรัพยากรที่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการบริหารความจำใช้งาน คิด ยืดหยุ่น และควบคุมตนเองไปข้างหน้าด้วยทรัพยากรในตัวและรอบตัว
มาดูกันว่า ทักษะ EF สำคัญและจำเป็นต่อเด็กๆ อย่างไร
EF กับการอ่าน-เขียน
ขณะที่เราอ่าน เราจะเห็นเพียงไม่กี่มิลลิเมตรไปทางด้านซ้ายของคำที่เราอ่าน และมากกว่าเล็กน้อยไปทางด้านขวา ส่วนอื่นของบรรทัดและบรรทัดอื่นเราไม่เห็นเลย
เด็กอ่านหนังสือด้วยการควบคุมยับยั้ง คือ ยับยั้งตัวอักษรที่ยังมาไม่ถึงแล้วอ่านที่จ้องตรงหน้า เมื่ออ่านแล้วต้องยับยั้งที่อ่านแล้ว แล้วเลื่อนการจ้องมองไปสู่ตัวถัดไป ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
เมื่อเด็กโตขึ้น เด็กควรอ่านเร็วขึ้น ถูกต้องด้วย และเข้าใจด้วย จะทำได้เมื่อมีพื้นที่สมองสำหรับบริหารความจำใช้งานมากพอ นั่นก็คือมีที่ทำงานของสมองสำหรับการวางตัวอักษรที่มองเห็นมาก ยับยั้งและอ่านแล้วเลื่อนไปจนกระทั่งอ่านหนังสือจนจบเล่ม เรียกว่า Fluent Reading
พบว่าเด็กที่ถูกบังคับอ่านเร็วจนเกินไปจะทำได้เพียงแค่อ่าน แต่ไม่มีพื้นที่มากพอที่ความจำใช้งานจะทำงาน เพราะเล่นน้อยเกินไป พออายุมากขึ้น การอ่านหนังสือจำนวนมากและมีข้อความยาวๆ กลับทำไม่ได้ เพราะการจราจรของสมองที่มันคอขวดได้ถ่วงเอาไว้
การอ่านและเขียนไม่ได้แตกต่างกัน การเขียนต้องการประสาทส่วนควบคุมกล้ามเนื้อใหญ่ คือต้นแขน และกล้ามเนื้อเล็กคือนิ้วมือ แต่การอ่านและเขียนในเวลาเดียวกันต้องการ EF ที่ดีกว่า นั่นคือ การเขียนตามคำบรรยาย การเขียนเก็บประเด็นขณะนั่งฟัง การเขียนวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้าน เหล่านี้ต้องการพื้นที่ทำงานของความจำใช้งานที่มากพอ
EF กับความอยู่รอด
การควบคุมตัวเองที่เกิดจากการพัฒนาทักษะ EF เป็นวิวัฒนาการที่มีเพื่อความอยู่รอด
หากไม่มี ไม่น่าจะรอด
Bratsch-Hine etal 2016 ติดตามเด็ก 1,292 คนในชุมชนยากจน 6 แห่งของเพนซิลเวเนียและนอร์ทแคโรไลนา พบว่าเด็กจากครอบครัวที่ยากจนกว่ามีการควบคุมตัวเองน้อยกว่าครอบครัวที่การเงินดีกว่า
พบว่าความแตกแยกในครอบครัว 3 ขวบปีแรกและการเลี้ยงดูที่หนักเกินไปทางการทำโทษ มีผลกระทบต่อพัฒนาการการควบคุมตัวเอง และส่งผลกระทบต่อ EF ในระยะยาว
EF ในการศึกษาสมัยใหม่
ถัดจากการอ่านเขียน มาถึงเรื่องยากของการศึกษาแบบเก่า คือทำการบ้านและการสอบ จนถึงการศึกษาแบบใหม่ คือการทำโครงงานและการประเมินตนเอง
ในการศึกษาแบบเก่า เด็กที่ EF ไม่ดีมักไม่รู้ว่าต้องเริ่มทำการบ้านกี่โมงเพื่อจะไปเสร็จกี่โมง ไม่รู้ว่าอยู่ในห้องสอบควรทำข้อสอบควรทำข้อสอบข้อไหนก่อน ข้อไหนที่เหมาะสมกับความถนัดของตัวเอง เด็กบางคนทำข้อยากก่อน บางคนทำข้อง่ายก่อน
ในการศึกษาแบบใหม่ เด็กที่ EF ไม่ดียิ่งลำบากมากขึ้น กำหนดเป้าหมายไม่เป็น วางแผนไม่เป็น ซอยงานไม่เป็น ไปจนถึงทำงานไม่เป็น เราควรส่งเสริมให้เด็กรู้จักกำหนดเป้าหมายของงาน รู้จักวางแผน จัดลำดับความสำคัญของงานย่อย แบ่งขั้นตอนการทำงานทีละขั้น รู้จักคัดเลือกเรื่องสำคัญมาทำก่อน แล้วประเมินตนเองและปรับความเข้าใจ
จะเห็นว่าครูสมัยใหม่มุ่งพัฒนาความสามารถในการทำงาน ไม่เน้นความรู้และการท่องจำ สร้างความใฝ่รู้ก่อนความรู้ พ่อแม่ และครู ควรส่งเสริมเด็กๆ ด้วยกระบวนทัศน์พัฒนา (growth mindset) จะไม่มีอะไรที่อยู่นิ่ง พัฒนาการจะพัฒนาต่อเนื่องไม่สิ้นสุด
ข้อมูลจากหนังสือ สร้างเด็กภูมิดีด้วย EF
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
วิธีพัฒนา EF ในวัยเด็ก โดยคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
พัฒนา ทักษะEF ให้ลูกได้ไม่ยาก ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนิทาน
EF คืออะไร ทำไม EF ถึงสำคัญกับลูก
เลี้ยงลูกด้วยดนตรี เสริมสร้างพัฒนาการที่ดีตั้งแต่ลูกยังเล็ก
60 นิทานแนะนำ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อย
Pingback: พัฒนาการเด็ก อายุ 0-3 ขวบกับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ของพ่อแม่