เซลล์สมองมนุษย์จะเติบโตเต็มที่ภายในอายุ 3 ขวบ นี่เป็นเหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ พัฒนาการของเด็ก ในช่วง 0-3 ขวบมากเป็นพิเศษ เพราะความสามารถและอุปนิสัยส่วนใหญ่ของคนเราจะถูกกำหนดในช่วงเวลานี้เช่นกัน
มาดูกันว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงต้องเอาใจใส่กับ พัฒนาการเด็ก ในช่วง 0-3 ขวบเป็นพิเศษ
เด็กแรกเกิดมีศักยภาพมหาศาล
ระยะแรกเกิด คนเรามีความสามารถแค่ร้องไห้กับดูดนมเป็นเท่านั้น ในขณะที่สัตว์อื่นๆ ไม่ว่าหมา ม้า ลิง พอเกิดออกมาก็ยืนได้ เดินได้ทันที เพราะเหตุนี้สัตว์อื่นจึงมีความสามารถหลายอย่าง เช่น ความสามารถในการเดินติดตัวมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ส่วนมนุษย์ต้องเกิดมาในสภาพที่ยังทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้เลย ซึ่งหมายความว่าความสามารถของเด็กแรกเกิดนั้นขึ้นอยู่กับการศึกษาหลังจากที่ลืมตาดูโลกแล้ว
ถ้าอยากให้เด็กแรกเกิดมีความสามารถอะไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเขียนอะไรลงไปในกระดาษขาวนั้น ในทางตรงข้าม ถ้าในระยะแรกเกิดแล้วปล่อยปละละเลยไม่สนใจ เด็กก็อาจหยุดอยู่ในสภาพสมองว่างเปล่าเช่นนั้น
เด็กจำอักษรยากๆ ได้ง่ายกว่าอักษรง่ายๆ
มีคุณแม่คนหนึ่งเล่าว่า ลูกชายอายุ 2 ขวบครึ่งเริ่มจำลักษณะของรถยนต์ต่างๆ ได้ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ภายใน 2-3 เดือนแกก็บอกได้ว่ารถคันไหนเป็นรถอะไรเกือบ 40 ชนิด รถบางคันแม้มีผ้าคลุมรถอยู่แกก็ทายได้ว่าเป็นรถอะไร นอกจากนั้นยังสามารถบอกธงประจำชาติของประเทศต่างๆ ได้กว่า 30 ประเทศ แม้แต่ธงชาติของมองโกเลีย ปานามา และเลบานอน ซึ่งผู้ใหญ่อย่างเรายังไม่ค่อยจะรู้จักเลย
เรื่องเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าเด็กเล็กๆ มีความสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆ ได้เกินกว่าที่พวกผู้ใหญ่คิด รวมไปถึงการจำตัวอักษรจีนด้วย ครูสอนอักษรจีนคนหนึ่งเล่าว่า เด็กอายุ 3 ขวบสามารถจำตัวอักษรจีนยากๆ ได้อย่างสบาย เวลาผู้ใหญ่เล่นแข่งหยิบไพ่รูปภาพกับเด็ก ผู้ใหญ่มักแพ้ เพราะผู้ใหญ่พยายามจำในเรื่องตัวอักษรหรือตัวเลขและสถานที่วางไพ่ แต่เด็กเล็กมีความสามารถเป็นเยี่ยมในการจดจำสิ่งเหล่านี้รวมกันเป็นรูปแบบหนึ่งขึ้นมา
เด็กอ่อนอายุ 6 เดือนก็ว่ายน้ำเป็น
มีผู้ใหญ่จำนวนมากที่ว่ายน้ำไม่เป็น และคงตกใจเมื่อรู้ว่าแม้แต่เด็กทารกก็ว่ายน้ำได้ถ้ามีคนสอนให้ สำหรับเด็กอ่อนซึ่งยังไม่เคยใช้เท้านั้น การคลานบนดินหรือการลอยในน้ำก็เป็นประสบการณ์ใหม่เหมือนกัน
เคยมีข่าวว่ามีชาวเบลเยียมคนหนึ่งเปิดสอนว่ายน้ำให้เด็กทารก จากการทดลองของเขาพบว่าถ้าเอาเด็กวัย 3 เดือนมาฝึกในสระน้ำ ไม่นานเด็กจะหงายตัวลอยน้ำและรู้จักวิธีหายใจด้วย การที่เด็กอายุไม่ถึงขวบว่ายน้ำเช่นนี้ แสดงถึงศักยภาพอันไม่มีขอบเขตของเด็กเล็ก
การทดสอบเด็กในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสอนว่ายน้ำหรือสอนไวโอลิน การว่ายน้ำทำให้เด็กนอนหลับดี เจริญอาหาร ประสาทตอบสนองว่องไว กล้ามเนื้อพัฒนาได้ดี เรามีคำพังเพยว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย” ถ้าปล่อยให้เป็นไม้แก่เสียก่อนก็คงจะดัดไม่ไหว
สมองของเด็กวัยก่อน 3 ขวบนั้นเรียนรู้ได้ดีมาก
เคยมีพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นเรื่อง “สองพี่น้องผู้เก่งกาจปราดเปรื่องถึง 5 ภาษา อังกฤษ สเปน อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส กับคุณพ่อบ้าดีเดือด” ยอดคุณพ่อคือ มาสุโอะ นางาตะ ซึ่งยอมลาออกจากการเป็นครูมาอยู่บ้านสอนลูกอย่างเต็มที่ ลูกชายคนโตอายุ 2 ขวบครึ่ง และลูกสาวอีกคนอายุเพียง 3 เดือน ตอนนั้นผู้คนพากันวิจารณ์คุณนางาตะว่าเป็นคุณพ่อบ้าดีเดือด น่าสงสารเด็กเล็กๆ ที่ถูกคุณพ่อยัดเยียดอะไรต่ออะไรจนหนักเกินไป ต่อไปคงจะเป็นเด็กขี้กังวลและส่งผลลบต่อเด็ก
แต่ปรากฎว่าคำวิจารณ์นั้นผิดพลาดมาก เพราะในปัจจุบันครอบครัวของนางาตะมีชีวิตอยู่อย่างราบรื่นและสงบสุข และวิธีการสอนของเขาช่วยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเด็กเล็ก เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า
“ผมถูกถามบ่อยๆ ว่าสอนทีเดียว 5 ภาษา เด็กไม่งงแย่หรือ แต่แกก็แยกได้ถูกต้องนี่ครับ การเรียนภาษาต่างประเทศผมอาศัยวิทยุเป็นเครื่องมือ รายการสอนภาษาที่เขาจัดได้ดีมากๆ การออกเสียงด้วย เขาพูดช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำดี พวกเด็กๆ ก็อ้าปากออกเสียงตามนั้นเลยครับ”
เราจะรู้สึกว่าเด็กอายุก่อน 3 ขวบจะมีพลังสมองในการรับรู้สิ่งต่างๆ มหาศาลกว่าสมองของผู้ใหญ่อย่างเราๆ เสียอีก เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าเราจะ “ยัดเยียดให้มากเกินไป” สมองของเด็กเล็กสามารถดูดซับทุกสิ่งได้เหมือนฟองน้ำ และเมื่ออิ่มตัวก็จะหยุดดูดเข้าไปเอง สิ่งที่ควรเป็นห่วงในตอนนี้ไม่ใช่เรื่อง “ให้มากเกินไป” แต่เป็นเรื่อง “ให้น้อยเกินไป” ต่างหาก
เด็กเล็กจดจำทุกสิ่งที่ตนสนใจ
หากไม่อยากป้อนอะไรให้เด็กมากจนเกินไป ให้เน้นความสำคัญตรงที่ “จะทำอย่างไรให้เด็กสนใจ” เด็กเล็กนั้นถ้าสนใจอะไร แกก็จะดูดเข้าไปอย่างดื่มด่ำ และจดจำเอาไว้ และในระหว่างกระบวนการนี้แหละที่สิ่งสำคัญต่างๆ เช่น ความกระตือรือร้น ความคิดสร้างสรรค์ ความมุมานะพยายามจะเติบโตขึ้นมา และสิ่งเหล่านี้มีบทบาทสำคัญมากต่อการทำงานของสมองและการสร้างอุปนิสัย
ตอนที่เราอ่านนิทานให้ลูกฟัง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าลูกรู้เรื่องหรือเปล่า เมื่ออ่านหลายๆ หนเข้า เด็กก็จำนิทานได้ทั้งเรื่อง คุณพ่อคุณแม่อ่านผิดเมื่อไรเป็นโดนลูกท้วงทันที เด็กเล็กสามารถจดจำนิทานทั้งเรื่องได้อย่างถูกต้องโดยที่ไม่เข้าใจเนื้อเรื่องเลย
และต่อมาเด็กก็จะเริ่มติดใจนิทานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และเกิดความอยากอ่านเองขึ้นมาบ้าง เด็กยังอ่านหนังสือไม่ออกแต่สามารถดูรูปภาพไปพลางเปรียบเทียบกับความจำของตัวเองไปพลางแล้วก็อ่านหนังสือเล่มนั้นได้อย่างคล่องแคล่วที่เดียว ในระยะนี้แหละที่เด็กจะสนใจถามว่า ตัวนี้อ่านว่าอะไร ยิ่งถามย้ำบ่อยๆ ยิ่งแสดงว่าสนใจมาก เด็กบางคนจึงสามารถอ่านหนังสือพิมพ์ได้เกือบหมดตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนประถมเสียอีก
เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่าเด็กอายุราวๆ 3 ขวบสามารถจำจำสิ่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำในเรื่องที่เขาสนใจ
ข้อมูลจากหนังสือ รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
แนะนำหนังสือการ์ตูนความรู้ สำหรับเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไป
ทักษะ EF ที่จำเป็นต่อเด็กทั้งการเรียน การใช้ชีวิตและการเข้าสังคม
เลี้ยงลูกด้วยดนตรี เสริมสร้างพัฒนาการที่ดีตั้งแต่ลูกยังเล็ก
60 นิทานแนะนำ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อย
แนะนำหนังสือเลี้ยงลูก คู่มือพ่อแม่สำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงวัยรุ่น
เทคนิคเลือกหนังสือให้เหมาะกับลูกวัยทารก 6 -12 เดือน เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูก