พ่อแม่นอกจากจะต้องเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งคือ การเลี้ยงลูกให้ไกลโรค เพราะปัจจุบันโรคต่างๆ มีการพัฒนาความรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะอาการเจ็บป่วยพื้นฐานที่พ่อแม่หลายคนมองข้าม ซึ่งบางครั้งกลับทำให้อาการมีความรุนแรงมากขึ้นเพราะปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน โดยไม่ทำการรักษาด้วยแพทย์ให้ถูกต้อง “รู้ทัน 6 เรื่อง เลี้ยงลูกให้ไกลโรค” แค่รู้จัก เข้าใจ เพียงเท่านี้ ลูกน้อยก็มีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลได้ทุกโรค

มีไข้สูงขนาดไหนถึงต้องไปโรงพยาบาล
อาการไข้สูงในเด็ก 3 ลักษณะที่พ่อแม่ควรให้ความระมัดระวังและควรไปโรงพยาบาลพบแพทย์ทันที
1.ไข้ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 3 เดือน ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที ยำว่าทันที! ไม่ต้องรอ ยกเว้นไข้หลังฉีดวัคซีนเท่านั้นที่กินยาลดไข้พาราเซตามอลและเช็ดตัวได้ นอกจากนั้นไปพบแพทย์ทุกกรณี เพราะเด็กเล็กยังมีภูมิคุ้มกันจากแม่ที่ได้มาตั้งแต่ะอยู่ในครรภ์และนมแม่ จึงไม่ควรเกิดไข้
2.ไข้สูงลอยโดยไม่มีอาการอื่น
เป็นอาการที่พบบ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนต้น โดยในช่วงแรกอาจมีแค่ไข้เพียงอย่างเดียวและอาการต่างๆ อาจจะเริ่มตามมาภายหลัง แต่มีไม่น้อยที่อาจจะเป็นอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด และการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอันตรายมากโดยเฉพาะในเด็กเล็ก กลุ่มอายุต่ำกว่า 3 เดือน
3.เด็กที่มีอาการต่อไปนี้
-ไข้สูงติดต่อกันนานเกิน 3 วัน และไม่มีสัญญาณว่าดีขึ้น
-ดื่มน้ำหรือนมไม่ได้ ปัสสาวะสีเข้ม มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ
-หายใจเร็ว ไอเป็นชุด หอบเหนื่อย หายใจแล้วอกบุ๋ม
-ซึมลง นอนตลอด
-มีสัญญาณของอาการช็อกและความดันโลหิตต่ำ เช่น ตัวลาย ชีพจรเร็วและเบา
-ถ่ายเหลวมีมูกเลือดปน
-ชักเกร็ง หมดสติ โดยเฉพาะการชักจากการเป็นไข้สูงครั้งแรก
-มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำจ้ำเลือดตามร่างกายโดยไม่ได้กระแทก
-เมื่อเด็กมาพบหมอที่โรงพยาบาล แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับไข้ เช่น
เริ่มเป็นไข้ตั้งแต่เมื่อไร หากหมอถามแบบนี้ สิ่งที่หมอต้องการคือ ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเป็นไข้ เพราะระยะเวลาของไข้เป็นชั่วโมงมีประโยชน์มากในการจำแนกระยะของการติดเชื้อ รวมถึงมีประโยชน์ต่อการพิจารณาตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมด้วย
ลักษณะของไข้เป็นอย่างไร มีประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกโรคได้ แม้จะไม่มาก แต่หากพ่อแม่วัดไข้และจดอุณหภูมิไว้ด้วยจะดีที่สุด
มีอาการร่วมอะไรบ้าง เป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก สีของเสมหะ รวมถึงประวัติอื่นๆ เช่น ประวัติวัคซีน ซึ่งประวัติเหล่านี้ร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดจะทำให้หมอสามารถวินิจฉัยโรคติดเชื้อเฉพาะที่ได้ เช่น หวัดทั่วไป คออักเสบ หรือหากยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ ก็จะกำหนดแนวทางการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

เจ็บคอต้องกินยาแก้อักเสบหรือไม่
ประเด็กแรกคือ ไม่มีคำว่ายาแก้อักเสบในสารบบของการรักษาโรคติดเชื้อ ซึ่งในความหมายของพ่อคุณแม่ก็คือยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยานี้ส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องรับประทาน เพราะไข้หวัดโดยทั่วไป ส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและหายเองได้ เพียงแต่ต้องให้เวลาร่างกายควบคุมการติดเชื้อไวรัส
ประเด็นที่สอง หากรับประทานยาปฏิชีวนะแบบพร่ำเพรื่อไม่จำเป็น เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องรับประทานกลับรับประทานไม่ครบคอร์ส (ปกติต้องรับประทานติดต่อกัน 7-10 วัน) ก็จะเพิ่มโอกาสในการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียได้
แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของคออักเสบหรือต่อมทอนซิลอักเสบ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่ม A ที่มีชื่อว่า Streptococcus pyogenes ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบอยู่ในคอและจมูกของคนปกติอยู่แล้ว แต่วันร้ายคืนร้ายก็จะลุกลามทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อบริเวณคอหรือต่อมทอนซิลได้
ความแตกต่างของคออักเสบจากเชื้อแบคทีเรียและไข้หวัดทั่วไปอาจไม่สามารถแยกได้ด้วยอาการ ไม่ว่าจะเป็นระดับของไข้ การเจ็บคอ หรือสีของเสมหะ เพราะไข้หวัดทั่วไปก็มีไข้สูงและเจ็บระคายคอได้ และเสมหะก็เปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีเขียวได้
ตามข้อมูลพบว่า เด็กเพียง 3 ใน 10 คน ที่มีอาการเจ็บคอเท่านั้น ที่คออักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่มีผู้ใหญ่เพียง 1 ใน 10 คน เท่านั้น ที่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ
รู้อย่างนี้แล้ว เวลาที่ลูกมีอาการเจ็บคอ หากไปตรวจแล้วหมอไม่ได้สั่งยาปฏิชีวนะให้ ก็สบายใจได้ว่าลูกเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา อย่าร้องขอยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ เพราะไม่ช่วยอะไร แต่หากหมอสั่งยาปฏิชีวนะให้ ก็ต้องรับประทานให้ครบตามสั่ง

ทำไมเด็กยิ่งเล็กRSV ยิ่งอาการเยอะ
เด็กยิ่งเล็ก ยิ่งมีโอกาสที่การติดเชื้อจะลุกลามลงปอด ยิ่งเล็ก ยิ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยเฉพาะเมื่อมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมฝอยอักเสบ
RSV ย่อมาจาก Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่ติดต่อกันง่ายมากในเด็กเล็ก ทำให้มีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป แต่มักรุนแรงกว่า ป่วยนานกว่า เป็นไข้นานกว่า บางคนอาจป่วยนานกว่า 7-10 วัน เด็กจะมีเสมหะเยอะ ไอเยอะ เชื้อลุกลามลงปอด ทำให้เกิดหลอดลมฝอยอักเสบ และปอดอักเสบหรือปอดบวมได้
กลุ่มเสี่ยงคือ เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ขวบ และกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ ที่สำคัญคือ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
RSV ติดต่อแบบเดียวกับเชื้อไวรัสหวัดทั่วไป โดยแพร่กระจายแบบละอองฝอยน้ำมูก น้ำลาย การไอจาม และการสัมผัส โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 3-7 วัน การแพร่กระจายจะเกิดขึ้นเร็วมากในช่วง 2-3 วันแรกของการติดเชื้อ และต่อเนื่องไปอีก 1 สัปดาห์
ช่วงที่ RSV ระบาดสูงในประเทศไทยคือช่วงปลายฝนต้นหนาวของทุกปี
ถ้าเด็กเป็นแล้วให้ทำใจเลยว่า เป็นนานแน่นอน ซึ่งการรักษาก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องทำใจ เพราะยังไม่มียารักษา มีเพียงการรักษาแบบประคับประคอง และรอให้ร่างกายของลูกจัดการกับเชื้อไวรัสเอง หน้าที่ของหมอคือ ให้ยาลดไข้ ยาขับเสมหะ ดูดเสมหะ พ่นยาเมื่อจำเป็น กินไม่ได้ก็อาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
การป้องกัน RSV คือ การไม่แพร่กระจายเชื้อโดยการล้างมือด้วยสบู่ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ใส่หน้ากากอนามัย ไม่จูบ ไม่หอมแก้มเด็ก

ทำไมลูกกินนมแล้วท้องเสีย
เชื่อว่าหลายบ้านมีสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ถูกกับการดื่มนม ดื่มปุ๊บ… ปวดท้อง ท้องเสีย เข้าห้องน้ำทันที!
ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสไม่ได้หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่าย่อยนมไม่ได้ เป็นภาวะที่พบบ่อยในคนเอเชีย โดยผู้ที่มีภาวะนี้จะมีอาการท้องอืด ถ่ายเหลว ปวดบิดหลังจากดื่มนมเข้าไป สำหรับคนไทยพบภาวะนี้ได้ในผู้ใหญ่ปกติสูง 50-60 เปอร์เซ็นต์
น้ำตาลแล็กโทสเป็นน้ำตาลชนิดที่พบสูงในนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิด รวมถึงนมวัวและนมแม่ด้วย โดยน้ำตาลแล็กโทสเป็นแหล่งพลังงานที่ดีสำหรับสิ่งมีชีวิตวัยเด็ก ย่อยได้ด้วยน้ำย่อยหรือเอนไซม์แล็กเทสในลำไส้เล็ก
โดยช่วงแรกเกิด ทารกเกือบทุกคนจะมีน้ำย่อยชนิดนี้เพื่อให้เด็กย่อยนมแม่และเติบโตได้ แต่ธรรมชาติก็สร้างน้ำย่อยมาเพื่อให้ย่อยนมในวัยเด็กได้ดีเท่านั้น
เพราะหลังอายุ 2-12 ปี จะพบว่าร่างกายของเด็กหลายคนเริ่มสร้างน้ำย่อยชนิดนี้ลดลง เกิดภาวะพร่องเอนไซม์นี้ไปซะอย่างงั้น ในขณะที่เด็กบางคนก็ยังสร้างได้ปกติ ดังนั้นหลายคนพอโตเป็นวัยรุ่นจึงเริ่มดื่มนมแล้วไม่สบายท้อง
สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้คือ แทบไม่พบภาวะนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ดังนั้นเด็กกินนมแม่จะท้องอืด ถ่ายเหลว หรือร้องโคลิก ก็ไม่ควรคิดถึงภาวะนี้
แต่ในเด็กเล็กเราสามารถพบภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทสภายหลังการติดเชื้อโรตาไวรัสหรือโนโรไวรัวได้ เพราะการติดเชื้อของลำไส้จะทำให้เกิดการอักเสบจนสร้างเอนไซม์แล็กเทสไม่ได้ เด็กจึงถ่ายเหลวนานกว่าปกติ แม้การติดเชื้อจะดีขึ้นแล้วก็ตาม รวมถึงการมีก้นแดง อุจจาระมีกลิ่นเปรี้ยว แต่ก็เป็นชั่วคราวเท่านั้น
หากต้องการให้อาการถ่ายเหลวดีขึ้นสามารถทำได้ 2 แบบ คือ ลดการกินนมส่วนหน้าที่มีปริมาณน้ำตาลแล็กโทสสูง และกินนมส่วนหลังมากขึ้น หรือเปลี่ยนชนิดเป็นนมปราศจากน้ำตาลแล็กโทส หรือที่เรียกว่า“นมท้องเสีย”
ส่วนวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์แล็กเทส สามารถลองรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่ผ่านกรรมวิธีต่างๆ เช่น โยเกิร์ตหรือชีส หากรับประทานแล้วไม่ค่อยมีอาการท้องอืด ถ่ายเหลว ปวดท้อง ก็กินต่อไปได้
แต่หากยังมีอาการรุนแรงอยู่และยังอยากดื่มนม ให้เลือกนมที่ปราศจากน้ำตาลแล็กโทส แต่จะมีราคาสูงหน่อย หรืองดนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวเลยก็ได้ ถ้าไม่ซีเรียส

ลูกเดินเขย่งเท้าผิดปกติหรือไม่
พ่อแม่หลายคนคงเคยสังเกตเห็นลูกเล็กเดินเขย่งเท้า บางบ้านอาจคิดว่าเป็นปกติ บางบ้านอาจเริ่มสงสัย
การเดินเขย่งหรือการเดินลงปลายเท้า จะผิดปกติหรือผิดปกติต้องดูพัฒนาการและการตรวจร่างกายของเด็กแต่ละคน ดั้งนั้นขอย้ำว่า ต้องตรวจ
เด็กปกติก็เดินเขย่งได้ โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกที่เริ่มเดิน จึงไม่ต้องกังวล จากการศึกษาพบว่า เด็กปกติ 5-12 เปอร์เซ็นต์ ก็เดินเขย่งปลายเท้าโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีความผิดปกติทางร่างกายแต่อย่างใด มากกว่าครึ่งหายเองตอนอายุ 5 ขวบครึ่ง
สำหรับเด็กที่ยังเดินเขย่งหลังเริ่มเดินคล่องแล้วเกิน 6 เดือน ก็ควรได้รับการตรวจประเมิน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุอื่นทางร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อน่องตึงผิดปกติ เอ็นร้อยหวายสั้นหรือตึง
หรือโรคที่มีความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น โรคสมองพิการ โรคกล้ามเนื้อเสื่อม และกลุ่มอาการออทิสติก โดยพบว่า 19 เปอร์เซ็นต์ ของเด็กที่เป็นกลุ่มอาการออทิสติกจะเดินเขย่งปลายเท้าร่วมด้วย
สรุปคือ หากคุณพ่อคุณแม่พบว่า ลูกยังเดินเขย่งหลัง2ขวบต้องพาลูกไปตรวจ ที่สำคัญ อย่าทักลูก เพราะยิ่งทักจะยิ่งเขย่ง เหมือนการดูดนิ้ว เพราะหากไม่มีความผิดปกติ นี่คือเรื่องของความเคยชิน ดังนั้นเผลอๆ ก็เขย่ง พอทักแล้วก็จะเขย่งเยอะขึ้นได้

ทำไมเด็กบางคนขาลาย คันขาตลอดเวลา
เด็กที่ขาลาย คันขาตลอดเวลา มีผื่น มีตุ่ม มีรอยเกา และมีแผลถลอกตื้น มีน้ำเหลืองเยิ้มๆ หลายคนเรียกอาการลักษณะนี้ว่า “เด็กน้ำเหลืองไม่ดี” แต่ความจริงแล้วไม่มีโรคน้ำเหลืองไม่ดีในสารบบการแพทย์ มีเพียงเด็กที่สุขภาพผิวไม่ดี ผิวแห้ง ไวต่อการระคายเคือง และปล่อยให้โดนยุงหรือมดกัดบ่อยๆ
พอโดนกัดก็เกาจนมีแผล พอมีแผลก็ดูแลผิวไม่ดีจนติดเชื้อและน้ำเหลืองซึม ทางการแพทย์เรียกอาการแบบนี้ว่า “แผลอักเสบติดเชื้อ”
เมื่อผิวอักเสบบ่อยครั้งโดยไม่ดูแลผิวให้ดี ก็จะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น ไวต่อการระคายเคืองมากขึ้น และเป็นผื่นง่ายขึ้น โดนยุงกัดทีก็จะมีปฏิกิริยามากกว่าเด็กคนอื่น บวมแดงมากกว่า คันมากกว่า และทิ้งรอยกะดำกะด่างบนผิวไว้ไม่น่าดู
การป้องกันคือหัวใจสำคัญของการดูแล โดยดูแลผิวไม่ให้แห้งและระคายเคือง ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยใส่เสื้อผ้าแขนขายาว ไม่ปล่อยเด็กๆ เล่นในที่มืด ทายากันยุงอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันโรคที่มียุงเป็นพาหะอีกหลายโรคด้วย
สำหรับการรักษาจะเน้นแผลติดเชื้อเป็นอันดับแรก ล้างแผล ฟอกสบู่ยา ทายาฆ่าเชื้อ หรือรับประทานยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการดูแลผิวหนังอักเสบแห้งด้วยครีมมอยส์เจอไรเซอร์รักษาผิวแห้ง
หากอักเสบร่วมด้วยก็อาจจะต้องทาครีมที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ จึงจะช่วยลดอาการคันและอักเสบได้เร็วขึ้น แต่หากคันมากให้กินยาลดคันด้วย ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือ ไม่ให้ยุงกัด
รู้ทัน 6 เรื่อง เลี้ยงลูกให้ไกลโรค
หนังสือ “เลี้ยงลูกให้ไกลโรค”
เขียนโดย ผศ. นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ

วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
Famiread EP.9 มาเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติกันเถอะ
FamiRead EP.8 สำรวจให้รู้ ลูกเราเลี้ยงยาก เลี้ยงง่าย หรือเป็นแบบไหนกันแน่