SAY AFTER S.E.A Write 2017
จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
ท่ามกลางกระแสแห่งความยินดีโถมถั่งเข้าหานักเขียนซีไรต์คนล่าสุดของเมืองไทย ประจำปี 2560 เราคว้าตัว จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ออกจากพื้นที่ตรงนั้นชั่วคราว จับเข่าถามสั้นถึงความรู้สึกที่เพิ่งผ่าน กับการเดินทางก้าวต่อไปหลังพ่วงดีกรีระดับอาเซียนติดไปด้วยมาให้คุณได้อ่านกัน
ความรู้สึกตอนนี้เป็นอย่างไร
“เหนื่อยค่ะ ตอนนี้ทุกคนแชทมา ทุกคนมายินดีแต่เราตอบไม่ไหวแล้ว ส่วนความดีใจ ปกติเราจะดีใจช้าค่ะ ตอนนี้ความดีใจกำลังนั่งรถไฟชั้นสามมาจากสุไหงปาดี”
“สิงโตนอกคอกเกิดจากการที่เราเขียนเรื่องสั้นมาระยะเวลาหนึ่ง แล้วเราก็คิดว่าควรมีรวมเรื่องสั้นแล้วแหละ ก็นำเรื่องสั้นเหล่านั้นมาคัดค่ะ ฟีลลิ่งตอนแรกมันอยู่แค่ตรงนั้น เรื่องในเล่มนี้เป็นเรื่องที่เขียนไว้แล้วเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยเล่มนี้จะคัดเรื่องที่เกี่ยวกับดิสโทเปียหรือสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือแฟนตาซี มารวมกันไว้ คือตอนเขียนไม่ได้กำหนดธีมเล่ม เพราะเขียนในหลายโอกาส แต่ตอนเอามารวมกัน มันดันมีจุดที่เหมือนกัน มันดันกลายเป็นธีมเล่ม . ทุกวันนี้มาพอใจกับมันตอนที่น้องๆ นักเรียนนักศึกษาหลายๆ คน บอกว่าไม่เคยอ่านงานวรรณกรรมมาก่อนแต่มาอ่านเล่มนี้ ชอบ เข้าใจ สนุก เป็นจุดที่คิดว่าคอมพลีทแล้วค่ะ . ไปได้ถึงไหนเหรอคะ ลี้ว่ามาได้ถึงนี่ก็น่าตกใจแล้วนะคะ เรามาไกลเท่านี้ก็ดีเหลือเกิน “
เคยฝันถึงพื้นที่ตรงนี้ไหม
“ทุกคนที่มาสายวรรณกรรมน่าจะเคยฝันถึงตรงนี้นะคะ อย่างน้อย คนที่เคยผ่านนายอินทร์อะวอร์ด แล้วมองหาป้ายต่อไป….หนึ่งในป้ายที่พวกเขาต้องคิดถึง ยังไงก็ต้องมีซีไรต์ค่ะ ลี้เองก็เป็นหนึ่งในพวกเขาค่ะ”
รู้ตัวใช่ไหมว่าตัวเองเป็นนักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ (ก่อนหน้านี้ชาติ กอบจิตติ ๒๘ ปี)
“กลัวพอสมควรค่ะ หวังว่าจะได้รับความเมตตาจากวงการวรรณกรรมนะคะ ส่วนทางคนรุ่นใหม่คนอยากเขียนหนังสือ เคยคุยมาเยอะนะส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ นักอ่าน ที่ผ่านมาก็จะตอบทุกคนเลยค่ะ ส่วนหลังจากนี้ ถ้าไม่มีจำนวนมากเกินไป ก็จะพยายามตอบให้ครบนะคะ”
หลายเสียงบอกว่า ซีไรต์ครั้งนี้น่าจะเป็นซีไรต์ครั้งที่ร้อนที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ มองอย่างไร รับมืออย่างไร
“อาจจะร้อนจริงๆ นั่นแหละ มีประเด็นให้คุยกันหลายอย่างเนอะ และโลกเราก็เร็วขึ้น แสดงความคิดเห็นง่ายขึ้น คนก็หงุดหงิดง่ายขึ้น ดังนั้นก็อาจจะกระทบกระเทือนกันง่าย ทุกคนก็มีสิทธิพูด และรับทั้งผิดและชอบจากคำพูดของตน ก็ขอให้พูดคุยกันไปตามใจท่าน รับผิดชอบต่อผลของมัน ส่วนลี้ก็ตั้งใจว่าจะไม่อ่านมากนักค่ะ เพราะอะไรเหรอ เพราะไม่มีเวลาเลย มีบ.ก.ดุดันหลายคน เนี่ยบ.ก.โทรมาแสดงความยินดีพร้อมทวงต้นฉบับ โหดจริงๆ”
มองรางวัลเวทีต่าง ๆ อย่างไร นักเขียนจำเป็นต้องผ่านของพวกนี้เพื่อจะสร้างฐานแฟนหรือไม่ แล้วการที่นักเขียนหน้าใหม่จะมีที่ทางบนเวทีวรรณกรรมไทยโดยไม่ต้องผ่านการการันตีรางวัล เป็นไปได้ไหม
“ขออนุญาตบอกก่อนว่าลี้เขียนส่งประกวดและได้รับรางวัลมาหลายที่นะคะ อันนี้ไม่ได้อวดตัวนะ แต่ไม่รู้จะขึ้นต้นยังไงดี อยากบอกว่ามันเป็นสิ่งที่เห็นจากประสบการณ์ที่ผ่านมาอะค่ะ จากมุมมองส่วนตัวของเรา
๑. รางวัลในเวทีต่างๆ มีสไตล์ของตัวเอง สไตล์ที่เวทีต้องการ ซึ่งเรามองว่าไม่ใช่สิ่งแปลก เหมือนสำนักพิมพ์แต่ละแห่ง มีสไตล์งานที่จะตีพิมพ์แตกต่างกัน รางวัลก็เช่นกัน งานที่จะได้รับเลือกจะต่างกัน รางวัลนี้ชอบแนวการเมือง รางวัลนี้ชอบแนวอบอุ่น ครอบครัว รางวัลนี้ชอบเนื้อหาแนวเชื้อชาติ เราไม่ได้มองว่ามันผิดนะ แต่เป็นโจทย์ที่นักเขียนต้องมองให้แตกหากคุณจะทำงานส่งรางวัล
๒. ฐานแฟนของลี้ไม่ได้ปรากฏขึ้นตอนได้รางวัล แม้แต่ตอนได้นายอินทร์อะวอร์ด ฐานแฟนก็ไม่เกิดขึ้น ฐานแฟนเกิดขึ้นเมื่อคุณออกหนังสือเป็นเล่มและออกค่อนข้างต่อเนื่อง โดยเฉพาะถ้าออกหนังสือแมส
๓. เป็นไปได้ นักเขียนที่ออกงานต่อเนื่อง มีรวมเรื่องสั้นมีนิยายออกเรื่อยๆ ก็มีที่ทางเองโดยไม่เกี่ยวกับรางวัล แต่ที่เห็นทุกคนดูเกี่ยวข้องกับรางวัล เราว่าเป็นเพราะพอเขียนมาแล้วก็อยากส่งประกวดดูบ้าง อยากทดสอบตัวเอง เท่านั้นแหละค่ะ คนก็เลยเหมือนมีรางวัลกันเยอะ มองกลับดูสิ บางคนมีรางวัลติดตัว แต่ก็หายไปจากวงการวรรณกรรมนะถ้าทำงานไม่ต่อเนื่อง หากมีรวมเรื่องสั้นมีนิยายออกเรื่อยๆ ก็มีที่ทางเองโดยไม่เกี่ยวกับรางวัล”
ต่อจากนี้ไปเวลาสร้างงาน จำเป็นต้องแบกความเป็น “นักเขียนซีไรต์” ไปด้วยไหม
“ตอนนี้เพิ่งรู้ข่าวนะคะ ไม่รู้เหมือนกันว่าคำนี้มันจะกระทำอะไรต่อเราบ้าง อาจต้องรอดูในอนาคตค่ะ แต่ลี้ยังอยากออกผลงานแนวชายรักชายที่เคยเขียนต่อไปนะคะ แม้จะได้รางวัลวรรณกรรมมาแล้วก็ตาม”
Pingback: วรรณกรรมเยาวชน ที่กระทรวงศึกษาธิการเลือกให้เป็น หนังสืออ่านนอกเวลา
Pingback: วรรณกรรมเยาวชน 7 เรื่อง จาก 100 หนังสือดีที่ Amazon แนะนำ
Pingback: 10 เรื่องอึกทึก! ที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับ 'กาหลมหรทึก' จากนิยายสู่ละครดัง!