กฎหมายใกล้ตัวที่ควรรู้

กฎหมายใกล้ตัวที่ควรรู้ รู้ไว้สบายใจ ไม่โดนเอาเปรียบ

รอบตัวเรามักมีเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายเยอะเหลือเกิน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับ กฎหมายใกล้ตัว เอาไว้

กฎหมายใกล้ตัว ที่ทุกคนควรรู้ไว้ จะมีเรื่องใดบ้างมาดูกัน

แค่กดไลค์ กดแชร์ ทำไมติดคุกได้

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

  1. โพสต์ข้อมูลปลอมไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลที่เป็นเท็จ ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
  2. โพสต์ข้อมูลเท็จ ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
  3. โพสต์ข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
  4. โพสต์ข้อมูลที่มีลักษณะลามก อนาจาร และข้อมูลนั้นอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้
  5. เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามข้อ 1 2 3 หรือ 4

 

กดแชร์ คือ เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลซึ่งเป็นความผิดชัดจน

กดไลค์ หากมีเจตนาเพื่อเล็งเห็นผลจะเป็นความผิด เพราะเมื่อกดจะมีข้อความขึ้นใน news feed แต่ถ้าดูเฉยๆ ไม่ได้กดไลค์จะไม่มีความผิด

ก่อนกดไลค์ กดแชร์ หรือแสดงความคิดเห็น ควรตรวจสอบก่อนว่าข้อความนั้นทำให้ผู้อื่นเสียหายหรือไม่ เพราะอาจมีโอกาสต้องขึ้นโรงขึ้นศาล จ่ายค่าปรับ แถมอาจถูกจำคุกด้วย

 

รถคันอื่นขับฝ่าไฟแดงตัดหน้า รถเราหักหลบไปชนรถอีกคัน งานนี้ใครผิด

เรื่องนี้ผู้ขับรถผ่าสัญญาณไฟแดงมีความผิดแน่นอน แต่ที่สงสัยคือ ผู้ขับรถผ่าสัญญาณไฟแดงแต่ไม่ชนรถคันอื่น กลับกลายเป็นว่าผู้ขับมาในสัญญาไฟเขียวเป็นผู้ขับรถชนคตันอื่นเพราะหลบรถที่ผ่าไฟแดง กรณีนี้ผู้ชนผิดหรือผู้ฝ่าไฟแดงแต่ไม่ได้ชนผิด

กรณีศึกษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1417/2540 นาย ก. ขับรถยนต์ฝ่าสัญญาณไฟแดงตัดหน้ารถยนต์ของนาย ข. ซึ่งขับมาในทางสัญญาณไฟเขียว นาย ข. จึงต้องหักหลบ ทำให้ชนรถยนต์ของนาย ข. เสียหลีกไปชนรถยนต์อีกคัน นาย ก. ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้นาย ข. และผู้ถูกชน เพราะนาย ก. เป็นเหตุที่ทำให้เกิดการชน

ขายตั๋วผี ผิดกฎหมายหรือไม่

ตั๋วผี คือ ตั๋วที่คนซื้อเก็บไว้แล้วขายต่อเพื่อเก็งกำไรในราคาที่สูงขึ้นเนื่องจากตั๋วหมด เช่น บัตรชมคอนเสิร์ตราคา 3,000 บาท ขายหมดภายในครึ่งชั่วโมง คนที่ซื้อตั๋วไม่ทันก็อยากดู จึงทำให้มีคนมาประกาศขายตั๋วต่อในราคา 5,000 บาท

ถามว่า ขายแพงเกินไป แจ้งจับได้ไหม

คำตอบคือ แจ้งจับไม่ได้ การซื้อขายจะสมบูรณ์เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายมีเจตนาตรงกัน ผู้ซื้อยินดีที่จะจ่ายในราคานี้ แล้วจะไปแจ้งว่าคนขายขายแพงได้อย่างไร ถ้าแพงก็อย่าซื้อ นอกจากว่าเขาจะเอาตั๋วคอนเสิร์ตปลอมมาขาย อย่างนี้สามารถแจ้งจับได้

 

ให้ยืมรถ ให้ยืมปืน เมื่อเกิดเรื่องใครต้องรับผิดชอบ

เมื่อเราให้เพื่อนยืมรถส่วนตัวไปใช้ โดยธรรมเนียมทั่วไปจัดว่าเป็นการยืมใช้คงรูป คือต้องคืนในสภาพเหมือนตอนที่ยืมมา หากใช้น้ำมันไปครึ่งถังก็ต้องเติมให้เท่าเดิม หากขับไปชนโดยที่ผู้ยืมเป็นฝ่ายผิด ผู้ยืมก็ต้องซ่อมแซมให้เหมือนเดิม รวมทั้งรับผิดชอบต่อผู้เสียหาย แต่หากรถที่ยืมถูกผู้อื่นขับมาชน ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด

กรณีผู้ยืมขับรถไปชนคนตาย เจ้าของรถต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 เจ้าของรถไม่ต้องร่วมรับผิด เพราะกฎหมายบัญญัติว่า ผู้ครอบครองยานพาหนะขณะเกิดเหตุเป็นผู้รับผิด ต่างกับการให้ยืมปืน ผู้ยืมขอยืมปืนไปฆ่าคน เจ้าของปืนให้ยืม มีความผิดฐานสนับสนุน เพราะรู้ว่าจุดประสงค์การยืมคือนำไปฆ่าคน เท่ากับเป็นการสนับสนุน ถ้าไม่ให้ยืมปืนไป เขาก็จะไม่มีปืนไปฆ่าคนได้

 

บีบให้ออกจากงาน นายจ้างทำกับเราได้หรือไม่

นายจ้างบางคนหัวหมอไม่ไล่ลูกจ้างออก เพราะกลัวเสียค่าชดเชย จึงตั้งอุบายบีบให้ออกจากงานด้วยวิธีต่อไปนี้ เช่น ด่าลูกจ้าง กดกันทางจิตใจให้อยู่ไม่ได้และลาออกไปเอง หรือเอากฎหมายมาแอบอ้างว่าหากการประเมินการทำงานประจำปีไม่ได้ขึ้นเงินเดือน 2 ปีติดต่อกันเท่ากับทำงานไม่มีประสิทธิภาพ นายจ้างสามารถไล่ออกได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เอาเปรียบลูกจ้างอย่างไร้คุณธรรม

 

กรณีที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2038/2533 ระบุว่า การเลิกจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย หมายถึง การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออก หรือไล่ออกจากงานโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดข้อ 47 แห่งประกาศดังกล่าว จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง

 

กรณีที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985/2527 ลูกจ้างป่วย นายจ้างจะเลิกจ้างโดยอ้างว่าหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้างได้ตามกรณีที่ลูกจ้างทำผิดดังต่อไปนี้

1.ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร

2.ทุจริตต่อหน้าที่

3.กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

4.ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

5.ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่เป็นกรณีร้ายแรงที่นายจ้างไม่จำเป็นต้องเตือน

6.ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

 

หากนายจ้างกดดันด้วยการด่าว่า ลูกจ้างก็ไม่ควรลาออก ให้อดทนรอรับค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ซึ่งจะได้เงินเก็บไว้ใช้จ่ายระหว่างหางานใหม่ โดยอัตราชดเชยการบอกเลิกจ้างมีดังนี้

• ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

• ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน

• ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน

• ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน

• ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

 

 

ข้อมูลจากหนังสือ กฎหมายรอบตัว รู้ไว้ไม่เสียเปรียบ

วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

สั่งออนไลน์ คลิก

 

 

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า