อ่านนิทานให้ลูกฟัง

จะเริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟังต้องทำยังไง ? : วิธีง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ทำตามได้ทันที

การ อ่านนิทานให้ลูกฟัง มีประโยชน์หลายอย่าง ตั้งแต่ช่วยสร้าง EF หรือ Executive Function ให้กับเจ้าตัวน้อย เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว ช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้คำใหม่ ๆ พัฒนาทักษะทางภาษา จนกระทั่งช่วยให้เข้าใจความแตกต่างหลากหลายของโลกใบนี้ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยกล่าวไว้ในบทความเรื่อง “อ่านเถอะนะ ง่ายจะตายชัก” ว่า “แนะนำให้อ่านนิทานก่อนนอนเพราะนี่คือวิธีที่ง่ายที่สุดในโลกสำหรับการเลี้ยงลูกและกำไรมาก”  แต่ว่าหลาย ๆ ครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ได้อ่านด้วยเหตุผลที่ว่า  “อ่านนิทานไม่เป็น”

“ไม่รู้จะอ่านยังไงก็ต้องปล่อยให้เขาอ่านเอง”

 

“อ่านแล้วไม่สนุกเหมือนคนอื่น”

 

“ดูภาพแล้วมีรายละเอียดเยอะ ไม่รู้จะเล่ายังไง”

 

คำพูดเหล่านี้เป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ เวลาได้พบปะกับพ่อแม่ที่งาน Amarin Baby and Kids หรือ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา

เราจึงอยากรวบรวมวิธีง่าย ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ได้เริ่ม อ่านนิทานให้ลูกฟัง แม้ไม่เคยอ่านมาก่อนก็ตาม

ให้ลูกเลือกนิทานเอง

 

ก่อนอ่านนิทานเราควรมีหนังสือที่เหมาะกับวัยและนิสัยของลูกไว้ที่บ้าน เพื่อเขาจะได้เลือกว่าเขาอยากจะอ่านเล่มไหน

• สำหรับเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ ควรจะอ่านหนังสือลอยน้ำเพราะว่าจะไม่ขาดหรือเปียกและมีเนื้อหาที่กระชับ เข้าใจง่าย

 

• บอร์ดบุ๊คสำหรับเด็ก ๆ ที่ชอบฉีกหรือโยนหนังสือ เพราะว่า บอร์ดบุ๊กแข็งแรงทนทานและไม่ขาดง่าย ๆ

 

 

• นิทานที่มีสอดแทรกเกมในตัวสำหรับเด็กโต ให้เขาได้อ่านนิทานไปด้วย ฝึกสังเกตไปด้วย

 

 

เมื่อเรามีหนังสือที่เหมาะกับวัย เราสามารถเปิดโอกาสให้ลูกได้ตัดสินใจเลือกเรื่องที่เขาชอบได้ เมื่อเขาได้เลือกเอง เขาจะยิ่งสนใจและสนุกไปกับเรื่องราวที่เรากำลังจะอ่านด้วยกัน นอกจากนี้ การให้เขาเลือกนิทานเอง ยังช่วยให้เขาเห็นว่า เราใส่ใจความคิดเห็นของเขาด้วยค่ะ สำหรับเด็กที่โตและกำลังช่างสงสัย พ่อแม่อาจจะถามคำถามให้เด็ก ๆ ได้คิดก่อนเริ่มอ่านนิทาน เช่น ถามลูกได้ว่า “เรื่องนี้ชื่อ ท้องร้อง จ๊อก ๆ ดูจากหน้าปกและเรื่อง ลูกคิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องอะไรคะ”

 

เตรียมกายเตรียมใจให้พร้อม

เมื่อจะเริ่มอ่านให้ลูกนั่งใกล้กับเราและจัดให้เขาอยู่ในท่าที่สบายตัว หากมีลูกหลายคน ก็ให้ทุกคนนั่งในจุดที่จะเห็นหนังสือได้ชัดเจน เราอาจจะรอสักครู่ให้ลูกพร้อมก่อนแล้วค่อยเริ่ม ก่อนเริ่มเราสามารถให้สัญญาณกับเขา เช่น บอกเขาว่า “พ่อจะอ่านนิทานแล้วนะครับ” เพื่อเด็ก ๆ จะได้รู้ว่านี่คือเวลาที่เราจะอ่านนิทาน ไม่ใช่เวลาเล่น หรือกินข้าว

เทคนิคง่าย ๆ ที่พ่อแม่ใช้อ่านนิทานได้คือ อ่านให้ตัวเราเองรู้สึกสนุก  ถ้าเรารู้สึกสนุก ลูกก็จะสนุก และถ้าเราตื่นเต้น หรือขำ ลูกก็จะรู้สึกแบบเดียวกัน เด็ก ๆ ชอบให้มีเสียงสูง เสียงต่ำ เวลาเล่าเรื่อง ถ้ามีเสียงประกอบหรือคำกลอนที่มีคำคล้องจองหรือคำซ้ำจะทำให้เด็ก ๆ สนุกมากยิ่งขึ้น และเมื่อถึงช่วงตื่นเต้น เราอาจจะเล่าช้าลงให้เด็ก ๆ ได้ลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างในเรื่อง “มาต่อบล๊อกไม้กันเถอะ” เด็ก ๆ จะได้ยินเสียง ก๊อก แก๊ก ก๊อกแก๊ก ตลอดทั้งเรื่อง และจะได้ลุ้นว่า คนในหนังสือจะต่อบล๊อกไม้เป็นรูปอะไรกันแน่

ระหว่างที่กำลังอ่าน ถ้าเจ้าตัวเล็กยังไม่สามารถถามตอบได้คล่องแคล่ว เราอาจจะเริ่มจากการชี้ภาพ โดยเล่าเรื่องไปทีละหน้า โดยไม่จำเป็นต้องเล่าเป็นเรื่องราวยาวต่อกัน และค่อย ๆ เสริมไปทีละนิดจนกระทั่งคำหรือประโยคสั้น ๆ กลายเป็นนิทานแสนสนุกที่เด็ก ๆ สามารถเข้าใจได้ และสำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย เราสามารถถามคำถามกับเขาได้ เช่น ถ้าเราอ่านเรื่องมาราธอนสัตว์ 109 ชนิด เราสามารถชวนลูกคิดได้คำว่า “มาราธอน” แปลว่าอะไร ถ้าเขาไม่รู้ เราจะได้อธิบายให้ลูกฟัง หรือชวนคุยกันเรื่องภาพสัตว์ต่าง ๆ และอาจจะมีหยุดพักบ้างเพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีเวลารวบรวมความคิดว่าตอนนี้เนื้อเรื่องไปถึงไหนแล้ว การได้อ่านนิทานด้วยกันเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ฝึกสมอง ฝึกภาษา และสนุกกับคุณพ่อคุณแม่ที่เขารักในเวลาเดียวกัน

 

ทบทวนนิทาน

เมื่ออ่านเสร็จเราสามารถคุยกับเขาเรื่องนิทานได้ เช่นทวนเนื้อเรื่อง และเชื่อมเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับในชีวิตจริงของลูก เช่น เพราะอะไร ชิโรสะถึงไม่กล้าคุยกับคุณยาย และถามต่อว่า เราเคยไม่อยากคุยกับผู้ใหญ่บ้างไหม เพราะอะไร ทำให้เราได้มีโอกาสเข้าใจลูกมากขึ้นและเขาก็จะได้เรียนรู้และเข้าใจตัวเองผ่านนิทานเหล่านี้ด้วย

 

 

เวลาเราอ่านนิทานให้ลูกฟัง ลูกจะผูกพันกับเรา และเขาจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่อย่างเต็มที่ และเด็ก ๆ ชอบให้พ่อแม่สนใจเขา ใช้เวลากับเขา  ต่อให้เป็นของเล่น ทีวี แท็บเล็ต ก็ไม่มีอะไรจะเทียบเท่าเวลาที่พ่อแม่ให้กับเขา และถึงแม้พ่อแม่อาจจะไม่ใช่นักเล่านิทานที่เก่งหรือสนุกที่สุดในโลก แต่ถ้าเราได้ทำทุกวัน ยังไงเราก็เก่งขึ้นแน่นอน เพราะฉะนั้น วันนี้เรามาเริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟังกันเถอะค่ะ

 

ที่มา :

https://www.scholastic.com/parents/books-and-reading/books-and-reading-guides/raise-reader-parent-guide-to-reading-ages-3-5.html

https://www.parents.com/baby/development/intellectual/age-by-age-guide-to-reading-to-your-baby/

https://raisingchildren.net.au/babies/play-learning/literacy-reading-stories/reading-storytelling

https://www.booktrust.org.uk/books-and-reading/tips-and-advice/reading-tips/how-to-read-with-your-child/

https://www.babycentre.co.uk/a25015135/reading-to-your-baby-when-to-start-and-how-to-do-it

https://thepotential.org/2019/04/09/ef-and-education-18/

 


บทความอื่นๆ 

60 นิทานแนะนำ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อย

นิทานก่อนนอน 5 เรื่อง สอนลูกเรื่องมิตรภาพ ความเอื้อเฟื้อและการแบ่งปัน

อ่านนิทานให้ลูกฟังแล้วได้อะไร?

“เลี้ยงลูกด้วยนิทาน” ปูพื้นฐานพัฒนาการชีวิต 6 ด้าน

นิทานญี่ปุ่น ส่งเสริมนิสัยและความคิดเด็ก

พัฒนา ทักษะEF ให้ลูกได้ไม่ยาก ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนิทาน

1 thoughts on “จะเริ่มอ่านนิทานให้ลูกฟังต้องทำยังไง ? : วิธีง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ทำตามได้ทันที

  1. Pingback: แนะนำ นิทานเสริมทักษะ ชุดฉลาดครบ 7Q ข้าวสวย ข้าวต้ม

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า