ที่นี่มีคนตาย! 7 จุดสำคัญในประวัติศาสตร์จากนวนิยาย กาหลมหรทึก

นวนิยายชื่อดัง กาหลมหรทึก เขียนโดย ปราปต์ ที่โด่งดังจนถูกนำไปสร้างเป็นละครสืบสวนสอบสวนทางช่อง One31 ดำเนินเรื่องโดยมี 7 จุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่คนร้ายได้ลงมือก่อเหตุ และสักคำ 5 คำไว้บนตัวของเหยื่อ ด้วยความที่เป็นนิยายแนวพีเรียดจึงถูกโอบล้อมด้วยประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศที่น้อยคนจะรู้ลึกถึงความเป็นมา

มาดูกันว่า 7 สถานที่ในประวัติศาสตร์ไทยจากนวนิยาย กาหลมหรทึก มีที่ใดบ้าง

ตรอกศาลาต้นจันทน์ วัดระฆังโฆสิตาราม

ตรอกศาลาต้นจันทน์อยู่ในย่านวังหลัง ไม่ไกลจากวัดระฆังโฆสิตาราม ศาลาต้นจันทน์เป็นอาคารไม้สักชั้นเดียวใต้ถุนสูง ทิศเหนือด้านหน้ามีต้นจันทน์ 2 ต้น ทิศเหนือและใต้มีเจดีย์องค์เล็กๆ ด้านละองค์ ตัวศาลาอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี เป็นศาลาอเนกประสงค์ชาวบ้านย่านวังหลังใช้ประกอบพิธีต่างๆ เช่น ทำบุญประจำปี สงกรานต์ ต่อมาเมื่อขยายถนนอรุณอมรินทร์จึงต้องรื้อศาลาออก ปัจจุบันย้ายไปปลูกที่เมืองโบราณแทน ส่วนศาลศาลาต้นจันทน์นั้นชาวบ้านร่วมทุนสร้างให้มีลักษณะเดิม เชื่อกันว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

วังเดิม

พระราชวังเดิมหรือพระราชวังกรุงธนบุรี เป็นพระราชวังหลวงในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ซึ่งสร้างในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์และทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้ชื่อว่าพระราชวังเดิม กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชวังเดิมก็ได้รับพระราชทานให้กับกองทัพเรือ เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ ก่อนต่อมาโรงเรียนนายเรือจะถูกย้ายไปยังสัตหีบ

ภายในพระราชวังแห่งนี้ประกอบด้วยกลุ่มอาคารหลายหลัง อาทิ อาคารท้องพระโรง (ปัจจุบันกองทัพเรือใช้เป็นที่ประกอบพิธีสำคัญต่างๆ) พระตำหนักของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งสร้างขึ้นแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ศาลาเก๋ง ศาลศีรษะปลาวาฬ รวมถึงเรือนเขียวซึ่งเดิมเป็นโรงพยาบาลเก่า ใช้เป็นสถานพยาบาลโรงเรียนนายเรือ
ส่วนถนนวังเดิมนั้นเป็นถนนสายที่๖ในโครงการตัดขยายถนน 11 สายเพื่อรองรับการก่อสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า ในปี พ.ศ. 2472

 

 

ศาลเจ้าเกียนอันเกง

ศาลเจ้าเกียนอันเกง หรือศาลเจ้าแม่กวนอิม เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของชุมชนกุฎีจีน ซึ่งถือเป็นชุมชนเก่าที่ผสานวัฒนธรรมถึง 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ คือศาสนาคริสต์ อิสลาม พุทธศาสนาลัทธิหินยาน และพุทธลัทธิมหายานคือศาลเจ้าเกียนอันเกงนี้เอง ชื่อศาลเจ้าเกียนอันเกงมีความหมายว่า อารามที่สร้างความสงบสุข ตัวศาลตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ว่ากันว่าชาวจีนฮกเกี้ยนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาเป็นผู้สร้างขึ้น มีไม้แกะสลักและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในปี พ.ศ. 2551

สมัยก่อนพื้นที่แถบศาลเจ้านี้เคยคึกคักมาก ด้านหน้าเป็นโป๊ะที่มีเรือรับส่งสินค้าและเรือข้ามฟากมาจอดมิได้ขาด ชาวบ้านทำสวนมะพร้าว สวนผลไม้ โรงงานปลาทู รวมไปถึงโรงงานผลิตปีบ แต่สภาพดังกล่าวเปลี่ยนไปเมื่อมีการตัดถนนอรุณอมรินทร์เข้ามา คนหันไปใช้รถแทนเรือ วัฒนธรรมเก่าๆ เริ่มตายและกิจการต่างๆ ก็เริ่มปิดตัว จนกระทั่งมีสภาพดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

 

 

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

เดิมที่ดินที่ใช้สร้างวัดนี้เป็นสวนกาแฟของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) จากนั้นได้รับการอุทิศเพื่อสร้างเป็นวัดตั้งแต่พ.ศ. 2371 สมัยก่อนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าวัดรั้วเหล็ก รั้วดังกล่าวนี้มีลักษณะสูงโปร่งราวสามศอกเศษ ปลายและบางส่วนเป็นรูปอาวุธสามประเภทได้แก่ขวานสามหมื่น ปืนสามกระบอกและหอกสามแสน นำเข้ามาจากอังกฤษตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เพื่อใช้เป็นกำแพงวังในตอนต้น แต่เนื่องจากพระองค์ไม่โปรด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ผู้สั่งรั้วเหล็กนี้เข้ามาจึงทูลขอมาใช้เป็นกำแพงวัดแทน โดยแลกกับน้ำตาลทรายแบบหนักต่อหนัก คือใช้น้ำตาลจำนวนหนักเท่ากับเหล็กทั้งหมดแลก

นอกจากรั้วเหล็กอันลือชื่อ วัดประยุรวงศาวาสยังโดดเด่นด้วยเจดีย์สีขาวทรงกลมมหึมานามว่าพระบรมธาตุมหาเจดีย์ เจดีย์แบบลังกาวงศ์องค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ รวมถึงเขามอ ภูเขาจำลองก่อด้วยศิลากลางสระหน้าวัดซึ่งได้เค้าโครงมาจากหยดเทียนขี้ผึ้งในห้องลงพระบังคนหนักของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3

 

สะพานภานุพันธุ์ ย่านเยาวราช

ในสมัยสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ที่ดินฝั่งขวาของเจ้าพระยาหาได้ว่างเปล่า มีชาวจีนกลุ่มใหญ่นำโดยพระยาราชาเศรษฐีตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้ว ในการสร้างพระบรมมหาราชวังใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนจีนแถบนั้นย้ายไปตั้งบ้านเรือนลึกห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้นอกกำแพงวัง โดยพระราชทานที่ดินระหว่างคลองวัดสามปลื้มกับคลองวัดสำเพ็งให้แทน 

ในอดีต สำเพ็งเป็นชุมชนที่วิวัฒน์ว่องไว เนื่องจากไทยมีนโยบายจูงใจชาวจีนโพ้นทะเลให้มาตั้งถิ่นฐานเพื่ออาศัยเป็นแรงงาน อีกทั้งการค้าสำเภาระหว่างสองชาติก็ขยายตัว โดยเฉพาะกับจังหวัดเฉาโจวหรือแต้จิ๋วในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ชายหนุ่มยากจนแถบนั้นจึงเรียงแถวขึ้นอั้งเถ้าจุ้งหรือสำเภาหัวแดงจากท่าเรือจางหลิน เดินทางฝ่าคลื่นลมมาสู่ความอุดมสมบูรณ์แห่งแดนแหลมทอง ครั้นขึ้นฝั่งยังสามารถเลือกสังกัดมูลนายเฉกชาวไทย หรือจะปักใจอยู่อิสระโดยจ่ายเป็นเงินผูกปี้แทนก็ได้ ความเจริญของย่านคนจีนตั้งแต่คลองโอ่งอ่างถึงคลองผดุงกรุงเกษมนี้งอกงามควบคู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองชาติมาโดยตลอด ตราบกระทั่งนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม

 

 

ย่านสามแพร่ง 

ชุมชนเก่าแก่และเคยติดอันดับความเจริญมากที่สุดแห่งหนึ่งในพระนครนี้ เดิมเป็นที่ประทับของพระโอรสสามองค์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล 4 คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ พระนามเหล่านี้กลายเป็นที่มาของชื่อเรียกแพร่งทั้งสาม แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งสามแพร่งเต็มไปด้วยตลาดสดและร้านอาหาร มีทั้งสถานอนามัยและโรงละคร ซึ่งเปิดขึ้นเพื่อรองรับบรรดาข้าราชการตามหน่วยงานต่างๆ ที่รายล้อมอยู่ในบริเวณนั้น เป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองตามต่อมาจากบริเวณเสาชิงช้า เนื่องจากการตัดถนนบำรุงเมืองและเฟื่องนครผ่าน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนจากตลาดน้ำคือการค้าทางเรือในคลองคูเมืองเดิมมาเป็นตลาดบก ลักษณะอาคารในย่านเป็นแบบชิโนโปรตุกีส มีชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าขายทั้งชาวจีน เปอร์เซีย ตะวันตก สถานที่สำคัญอีกแห่งในย่านได้แก่ ศาลเจ้าพ่อเสือ

 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

วัดโพธิ์หรือวัดโพธารามถูกสร้างตั้งแต่แผ่นดินอยุธยา ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงธนบุรี ต่อเมื่อปี พ.ศ.2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาเป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวังฝั่งใต้ คู่กับวัดสลักหรือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ที่ด้านเหนือ พระอุโบสถ พระระเบียง และพระวิหารถูกสร้างใหม่พร้อมการบูรณะของเก่าแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2344 ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส’ วัดประจำรัชกาลที่ 1 จากนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกหน โดยดำเนินการนานกว่า 16 ปี ครั้งนี้เพิ่มจารึกสรรพตำราบนแผ่นหินอ่อนประดิษฐ์ไว้ตามศาลาราย เป็นที่มาของสมญามหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ต่อเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้อยนามพระอารามถูกเปลี่ยนใหม่ กลายเป็นชื่อที่คนไทยรู้จักกันตราบเท่าทุกวันนี้ ‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร’

วัดโพธิ์มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศ ถึงกว่า ๙๙ องค์ องค์สำคัญได้แก่พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ ประจำรัชกาลที่ 1 พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน ประจำรัชกาลที่ 2 พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร ประจำรัชกาลที่ 3 และพระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย ประจำรัชกาลที่ 4 ในยุคนั้นการสร้างพระเจดีย์องค์สุดท้ายยังไม่แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจียนเสด็จสวรรคตได้มีพระราชดำรัสเฉพาะกับองค์มกุฏราชกุมารว่า “พระเจดีย์วัดพระเชตุพนนั้นกลายเป็นการใส่คะแนนพระเจ้าแผ่นดินไป ถ้าจะใส่คะแนนอยู่เสมอจะไม่มีที่สร้าง ควรจะถือว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งสี่พระองค์นั้น ท่านได้เคยเห็นกันทั้งสี่พระองค์จึงควรมีพระเจดีย์อยู่ด้วยกัน ต่อไปอย่าให้ต้องสร้างทุกแผ่นดินเลย” พระเจดีย์ประจำรัชกาลที่วัดโพธิ์จึงมีอันหยุดลงแค่รัชกาลที่ 4 ด้วยประการฉะนี้

ลึกล่วงไปยังมีพระวิหารสี่ทิศ แต่ละทิศประดิษฐานพระพุทธรูปแต่ละปาง มีประวัติการอัญเชิญมาจากพื้นที่แผกต่าง พระวิหารคด พระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากรซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญมาแต่วัดศาลาสี่หน้าในนามใหม่วัดคูหาสวรรค์วรวิหาร ประติมากรรมตกแต่งรอบด้าน ทวารบาล ซุ้มประตู ภาพสลัก รูปปั้นฤาษีดัดตน ยังไม่รวมถึงศาลารายรอบด้านอันเป็นที่ผนึกของจารึกวัดโพธิ์หมวดต่างๆ หมวดพระพุทธศาสนา อาทิเรื่องพระมหาวงษ์ พระสาวกสาวิกา หมวดประวัติเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์ หมวดประเพณีเรื่องริ้วกระบวนแห่พระกฐินทางสถลมารค หมวดเวชศาสตร์ตำรายา หมวดสุภาษิตวรรณคดี และหมวดทำเนียบ รวมทั้งสิ้น 6 หมวด 38 เรื่อง บนศิลา 1,440 แผ่น

 
 

สั่งซื้อ กาหลมหรทึก คลิกที่นี่

บทความอื่นๆ 

ตามรอย กาหลมหรทึก: คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ จากหนังสือดังสู่ละครช่องวัน 31

10 เรื่องอึกทึก ที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับกาหลมหรทึก

ไขความระทึก! อะไรที่ทำให้ กาหลมหรทึก เป็นนวนิยายยอดนิยม


 

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า