ความสุขของกะทิ เป็นวรรณกรรมที่เขียนโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ ซึ่งได้รางวัลซีไรต์เมื่อปีพ.ศ. 2549 และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งนอกเหนือจากตัวละครเด่นอย่าง “กะทิ” แล้ว ตัวละครในเรื่องก็มีบทบาทที่สำคัญ และสร้างสีสันให้กับนิยายเรื่องนี้อย่างมาก
มาดูกันว่าตัวละครไหน ที่เพื่อนๆ หลงรักมากที่สุดในเรื่อง
กะทิ
ความสุขของกะทิ จะขาดกะทิไปได้อย่างไร “กะทิ” หรือ ณกมล พจนวิทย์ เด็กหญิงอารมณ์ดี ช่างซักถาม ช่างสังเกต ขณะเดียวกันก็เป็นเด็กที่เก็บงำความทุกข์ไว้กับตัวด้วย กะทิชอบฟังเพลงมากจนถึงขั้นสนใจไปเรียนร้องเพลง แถมยังชอบวาดรูป ดูงานศิลปะ อ่านหนังสือ และถ่ายรูป เรียกว่ามีพลังงานความเป็นศิลปินอยู่ในตัวเต็มเปี่ยม เธอมีสัตว์เลี้ยงตัวโปรดเป็นหมาปั๊กที่ได้รับเป็นของขวัญวันเกิด เธอตั้งชื่อให้มันว่าฟาโรห์ ตามหนังสืออารยธรรมไอยคุปต์ ที่กะทิกำลังอ่าน
ตา
“ตา” หรือ “พิทักษ์ พจนวิทย์” คุณตาของกะทิ ผู้สร้างสีสันในเรื่องไม่น้อย คุณตาเป็นคนใจดี ขี้เล่น ช่างคุย และช่างแซว (ถึงขั้นเปิดสงครามน้ำลายกับยายได้!) แต่ขี้เล่นขนาดนี้ ดีกรีเรื่องงานไม่ธรรมดา เพราะตาเป็นถึงทนายความมือหนึ่งที่ช่วยคนมาแล้วมากมาย ต่อให้ปลดเกษียณ ย้ายมาอยู่ที่บ้านริมคลองแล้ว ก็ยังเป็นที่ปรึกษาให้ชาวบ้านได้เสมอ
ส่วนงานอดิเรกของตาก็คือ…เลี้ยงไก่! ที่ตอนแรกเหมือนจะจำใจเลี้ยง แต่ไปๆ มาๆ กลับจริงจังถึงขั้นอ่านตำรา ความผูกพันของตากับไก่แจ้แนบแน่นจนถึงที่ยายเคยแซวว่า “ถ้าไก่แจ้ไม่ได้ยินเสียงเรียกหวานๆ จากตา คงกินข้าวไม่ลงเป็นแน่”
นอกจากไก่แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ตารักมากคือ เสียงเพลง ตามีทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียงสมัยใหม่กับสมัยเก่า แต่ตาชื่นชอบเครื่องเสียงโบราณเป็นพิเศษ บางวันก็หยิบแผ่นเสียงไวนิลมาเล่น ฟังเพลงเดิมๆ เพื่อหวนคิดถึงวันวาน
ยาย
“ยาย” หรือ “ลัดดา พจนวิทย์” คุณยายของกะทิ ตัวละครที่ทำอาหารอร่อยที่สุดในเล่ม ยายเคยเป็นเลขานุการในโรงแรมห้าดาวอยู่นาน ทำให้ยายมีทักษะหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องภาษา ที่รู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังได้ความเจ้าระเบียบมาจากการทำงานอีกต่างหาก
ยายเป็นอีกตัวละครหนึ่งที่ต้องแบกรับความรู้สึกของคนรอบตัวไว้มากมาย โดยเฉพาะความรู้สึกของลูกสาวที่ป่วยหนัก กับหลานที่กำลังเติบโตขึ้นมาเจอความจริง…
นอกจากคนอ่านจะรักกะทิแล้ว ยายก็น่าจะเป็นตัวละครที่มีคนรักเยอะไม่แพ้กัน
น้าฎาและน้ากันต์
“น้าฎา” หรือ “โฉมชฎา” หญิงสาวคนสวย อดีตผู้ช่วยของแม่กะทิ ที่ทำงานด้วยกันมาตั้งสมัยที่น้าฎาฝึกงาน จนกระทั่งเรียนจบก็ยังได้ทำงานด้วยกันต่อ
ตาของกะทิมักชื่นชมน้าฎาว่า เป็นคนมีหัวคิด และเป็นธุระดูแลกะทิแทนแม่ของเธอได้ จนน้าฎาเปรียบเหมือนคนในครอบครัวนี้จริงๆ
ส่วน “น้ากันต์” รุ่นน้องชมรมเทนนิสของแม่กะทิ เป็นนักเขียนบทโฆษณา เขาไม่ค่อยพูด แต่กลับรับบทด้านการสื่อสารได้เป็นอย่างดี (ก็คนนี้แหละ ที่อธิบายโรคเอแอลเอสให้กะทิ วัย 9 ขวบฟังจนเข้าใจได้ทันที!)
แม่
“แม่ของกะทิ” หรือ “ณภัทร พจนวิทย์” ตัดสินใจแยกทางกับสามี (แอนโทนี่) ตั้งแต่กะทิยังอยู่ในท้อง
แม่กะทิเริ่มเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ตั้งแต่อายุ 33 ปี ตอนที่กะทิเพิ่งอายุ 4 ขวบ เธอตัดสินใจออกจากบ้านริมคลอง ไปพักรักษาตัวที่บ้านริมทะเลตลอดระเวลา 5 ปี
เธอใช้ทุกนาทีที่เหลืออยู่ในชีวิตอย่างมีค่า บันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ให้กะทิ ลูกสาวสุดที่รักเพียงคนเดียว
พี่ทอง
“พี่ทอง” หรือ “สุวรรณ วินัยดี” เด็กหนุ่มผิวคล้ำ ฟันขาว จนกะทิชอบแซวว่าเห็นฟันของพี่ทองเด่นมาแต่ไกล
พี่ทองเกิดในครอบครัวที่พ่อกับพี่ชาย 3 คนนับถือศาสนาอิสลาม แม่นับถือศาสนาพุทธ ทองเป็นลูกคนสุดท้อง แม่เลยตั้งใจให้นับถือศาสนาพุทธด้วย จึงพามาฝากไว้กับหลวงลุงตั้งแต่เด็ก ทองคลุกคลีมากับแม่น้ำลำคลอง จึงว่ายน้ำเก่งตามแบบฉบับของเด็กริมคลอง และความสามารถนี้แหละที่ทำให้ทองกลายเป็นฮีโร่ของกะทิ!
ลุงตอง
“ลุงตอง” หรือ “ทิฆัมพร วงศ์ภิรมย์” นักจัดดอกไม้คนเก่ง ลุงตองตัวท้วมๆ ผมบางหน่อยๆ เป็นคนน่ารักที่ช่วยทำให้ครอบครัวของกะทิมีสีสันขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะ “การบอกเส้นทาง” ที่อธิบายได้ละเอียดยิบทุกครั้ง แต่ไม่เกี่ยวกับทางที่ไปสักครั้ง! เรียกเสียงหัวเราะคนในรถได้เสมอ
จะบอกว่าลุงตองเหมือนเครื่องปรับอากาศในรถก็ว่าได้ ให้ความสดชื่นแก่ผู้โดยสาร แต่เป็น GPS นำทางไม่ได้นะ
ความสุขของกะทิ ที่จัดพิมพ์โดยแพรวสำนักพิมพ์มีทั้งเวอร์ชั่นนิยาย และการ์ตูนภาพ โดย ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร สามารถหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำ หรือที่เว็บ amarinbooks.com
สั่งซื้อ ความสุขของกะทิ คลิกที่นี่
สั่งซื้อ ความสุขของกะทิ ฉบับลายเส้น คลิกที่นี่
Pingback: 12 เพลงที่ควรเปิดระหว่างอ่าน ลืมตาตื่นอีกครั้ง...ในเวลาอันสมควร
Pingback: 4 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วรรณกรรมเยาวชน DID YOU KNOW ? โดย แพรวเยาวชน