โรคเบาหวาน ไม่ใช่โรคร้ายที่น่ากลัวนัก เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่เราสามารถ “ป้องกัน” ได้แน่นอน
เส้นทางสู่ โรคเบาหวาน ใช้เวลานานเกินคาด
สาเหตุสำคัญของการเกิด โรคเบาหวาน คือ ความดื้อต่ออินซูลิน
หมายความว่าร่างกายต่อต้านกับการทำงานของอินซูลิน ในด้านอาหารเกี่ยวข้องกับปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าว แป้ง ขนมปัง เส้นต่าง ๆ เผือก มัน น้ำตาล ฯลฯ เวลาเรากินอาหารประเภทที่มีพลังงานว่างเปล่าอย่างน้ำตาล น้ำตาลจะถูกดูดซึมเร็วและเป็นปริมาณมาก ทำให้อินซูลินที่เคยหลั่งออกมาไม่พอใช้ ตับอ่อนจึงต้องเร่งผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้นานวันไปร่างกายจะชินกับการหลั่งอินซูลินมากขึ้นเพื่อลดระดับน้ำตาลลงให้ได้ ทำให้อินซูลินในเลือดสูงอยู่เสมอ ซึ่งเป็นปัญหาของความดื้อต่ออินซูลินต่อไปนั่นเอง
ระดับอินซูลินที่สูงขึ้นเป็นสัญญาณแรกในการเตือนว่าร่างกายเริ่มมีปัญหา เบาหวานกำลังคืบคลานเข้ามาอย่างช้า ๆ เมื่อระดับอินซูลินสูงขึ้นจะทำให้มีความอยากอาหารมากขึ้น ยิ่งถ้าระดับอินซูลินสูงมาก ๆ เจ้าตัวมักจะบอกกับใคร ๆ ว่าหยุดกินไม่ได้ แม้ใจจะอยากหยุดสิ่งที่ตามมาคือเส้นรอบเอว(พุง)เพิ่มขึ้น
อาการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินและอาการของเมตาโบลิกซินโดรมมักจะเกิดร่วมกับภาวะอ้วนลงพุง คือมีอาการเพลียหลังจากกินอาหารอยากของหวาน ถ้าไปตรวจเลือดอาจจะพบว่าระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น ระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอลลดลง อาจมีความดันโลหิตสูงขึ้น การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และมีการอักเสบภายในร่างกายที่มองไม่เห็น สิ่งเหล่านี้มักจะใช้เวลานานถึง 10 ปีก่อนที่จะตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน
ในช่วงระยะเวลาที่เบาหวานกำลังฟักตัวในร่างกายอย่างเงียบ ๆ หากรู้ตัวแต่เนิ่น ๆ ว่ากำลังพาตัวเดินเข้าสู่ประตูเบาหวาน เราก็ยังพอหาวิธีป้องกันเบาหวานได้
เมื่อพบว่าตัวเองเป็น โรคเบาหวาน ต้องเริ่มดูแลตัวเองอย่างไร
หากตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน สิ่งแรกคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้ดีขึ้นและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในกรณีที่ตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานและมีน้ำตาลสูงมากจนอยู่ในระดับอันตราย แพทย์อาจต้องฉีดอินซูลินเพื่อให้ระดับน้ำตาลกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนจะเปลี่ยนเป็นยากินต่อไป
สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลตัวเองของผู้เป็นเบาหวาน คือ การเปลี่ยนวิธีการกินให้ดีตลอดไป การควบคุมชนิดและปริมาณคาร์โบไฮเดรตรวมทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ปัจจุบันมียากินมากมายที่มีประสิทธิภาพดีในการคุมระดับน้ำตาลในคนที่เป็นเบาหวาน แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาตามความเหมาะสม หรือเมื่อการปรับเปลี่ยนอาหารและออกกำลังกายไม่สามารถทำให้ระดับน้ำตาลลดลงจนอยู่ระดับที่น่าพอใจได้ ผู้เป็นเบาหวานบางรายอาจต้องฉีดอินซูลินเพิ่มเมื่ออายุมากขึ้น หรือเมื่อตับอ่อนเสื่อมสภาพมากขึ้น เพราะอินซูลินจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีขึ้นได้
[su_quote]เป้าหมายสำคัญ คือ ต้องรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด[/su_quote]
ปัจจุบันหลายบริษัทได้ผลิตเครื่องตรวจน้ำตาลขนาดพกพาขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถติดตามระดับน้ำตาลในเลือดได้ตลอดทั้งวันด้วยตนเอง เครื่องมือนี้จะช่วยให้ผู้เป็นโรคเบาหวานสามารถเข้าใจได้มากขึ้นว่า อาหาร การออกกำลังกาย การเจ็บป่วย และปัจจัยอื่น ๆ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดอย่างไร
การวิจัยในประเทศอังกฤษพบว่า หากผู้เป็นเบาหวานควบคุมและติดตามควบคุมระดับน้ำตาลอยู่เสมอ ๆ จนค่าน้ำตาลเฉลี่ยต่ำกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ ก็จะสามารถช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับเบาหวานได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อม ไตเสื่อม และระบบประสาทเสื่อม นอกจากนี้ทุก ๆ 1 เปอร์เซ็นต์ของค่าน้ำตาลเฉลี่ยที่ลดลงจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากถึง 35 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้น แม้จะเป็นโรคเบาหวานแล้ว แต่สามารถควบคุมเบาหวานได้สำเร็จ คุณก็อยู่กับโรคเบาหวานได้โดยไม่ต้องทุกข์ทรมานกับโรคแทรกซ้อน
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน เป้าหมายใหญ่ที่สุดคือ การรักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การวิจัยหลายชิ้นต่างพิสูจน์แล้วว่าวิธีนี้สามารถชะลอและป้องกันปัญหาโรคแทรกซ้อนได้ดีที่สุด เรียนรู้วิธีการบริโภคอาหารอย่างถูกต้อง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใช้ยาตามแพทย์สั่ง ตรวจน้ำตาลในเลือดที่ปลายนิ้วบ่อยๆ
ผู้ป่วยเบาหวานต้องกินอย่างไร กินอะไรได้บ้าง
ทุกวันนี้เราพยายามกินอาหารที่มีสารอาหารเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น น้ำตาลต่ำ มีเส้นใยอาหารสูง มีกรดไขมันโอเมก้า-3 หรือน้ำมันปลามากขึ้น เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ มาเยือน แต่เวลาไปกินอาหารนอกบ้าน เรากลับเพลิดเพลินกับอาหารที่กระตุ้นยีนเบาหวานโดยไม่รู้ตัว อาหารเหล่านั้นก็คือน้ำตาล ไขมันทรานส์ แป้งขัดสี และอาหารแปรรูปที่คนในยุคนี้ชอบกินกัน
การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายถือเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมโรคเบาหวาน แต่สิ่งที่ผู้เป็นเบาหวานมักวิตกกังวลคือต้องงดอาหาร ขนม ของหวานอร่อย ๆ ที่ชื่นชอบ ทำให้ผู้เป็นเบาหวานมักจะบ่นเสมอว่า แล้วจะเหลืออะไรให้กิน กินก็ยาก อยู่ก็ยาก อีกไม่นานก็ตายแล้ว จะอดไปทำไม
ข่าวดีก็คือ สมัยนี้คนเป็นเบาหวานสามารถกินได้ทุกอย่าง ถ้าเรียนรู้เทคนิคการกินที่ถูกต้อง เป้าหมายที่ต้องการคือกินให้ระดับน้ำตาลขึ้นช้า ๆ และไม่ขึ้นสูงเกินค่าปกติ
หลักง่าย ๆ ในการกินอาหารของผู้ป่วยเบาหวาน
1.กินอาหารเป็นเวลา มื้อเล็ก ๆ วันละหลายมื้อ ช่วยคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ตลอดวัน
2.กินคาร์โบไฮเดรตที่มีกากใยอาหารสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ ผัก นม และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ ทั้งนี้ต้องควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสม เพราะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร
3.ผู้ที่เป็นเบาหวานมีความต้องการโปรตีนเท่ากับผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน โปรตีนในอาหารควรให้พลังงาน 10 – 35 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดที่ต้องได้รับในแต่ละวัน ซึ่งเท่ากับหมวดเนื้อสัตว์วันละ 180 – 240 กรัมสำหรับคนทั่วไป เนื้อสัตว์ไม่มีคาร์โบไฮเดรต จึงไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่วนโปรตีนที่กินควรมาจากทั้งพืช (ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ ผัก เต้าหู้) และสัตว์ (สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์นมเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ อาหารทะเล ไข่)
4.เลี่ยงน้ำตาล หรืออาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ลูกอม เยลลี่ น้ำหวาน เพราะน้ำตาลก็เป็นคาร์โบไฮเดรตและเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากที่เรากินเข้าไป
5.รับประทานอาหารที่เป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระ(วิตามินซี อี และแคโรทีนอยด์)เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันเซลล์เนื้อเยื่อถูกอนุมูลอิสระทำลาย
สารต้านอนุมูลอิสระมีมากในผักและผลไม้หลากหลาย ชนิด วิตามินซีช่วยสร้างคอลลาเจนที่จะช่วยเนื้อเยื่อให้แข็งแรง วิตามินอีช่วยป้องกันเนื้อเยื่อชั้นนอกจากอนุมูลอิสระ มีมากในน้ำมันพืช ถั่วเปลือกแข็ง ธัญพืชไม่ขัดสี และผักใบเขียว แคโรทีนอยด์และเบต้าแคโรทีน ช่วยเสริมคอลลาเจนลดอนุมูลอิสระ เสริมสร้างเซลล์เนื้อเยื่อให้แข็งแรง มีมากในผักใบเขียว ผักและผลไม้ที่มีสีเหลือง ส้ม แดง เป็นต้น
6.เลี่ยงไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ซึ่งเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
ไขมันอิ่มตัวมีมากในมันสัตว์ หนังสัตว์ ส่วนไขมันทรานส์มีมากในเนยเทียม เนยขาว และมาร์การีน
7.กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมหรือผลิตภัณฑ์นมพร่องมันเนย นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
การป้องกันหรือควบคุม โรคเบาหวาน ก็ใช้วิธีเดียวกัน คือควบคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมกับการใช้ยาตามแพทย์สั่งผู้เป็นโรคเบาหวานบางรายที่อ้วน เมื่อลดน้ำหนักและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้นจนอาจสามารถลดหรืองดการใช้ยาได้
บทความอื่นๆ
โรคและความผิดปกติที่มาพร้อมกับการนอนดึก นอนไม่พอ อดนอน
อาหารลดคอเลสเตอรอลและป้องกันโรคหัวใจ ควรกินอะไรและกินอย่างไร
ใครว่าคอเลสเตอรอลไม่มีประโยชน์
อาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน อาหารเบาหวาน คนเป็นเบาหวานต้องกินอะไร?
อาหารผู้สูงอายุ กินอย่างไรให้อายุยืน
Pingback: ใครว่า คอเลสเตอรอล ไม่มีประโยชน์ วิธีกินเนื้อสัตว์เพื่อคอเลสเตอรอลที่มีประโยชน์
Pingback: ดีท็อกซ์ล้างพิษ เพิ่มวิตามิน ด้วย สมูทตี้เพื่อสุขภาพ จากผักและผลไม้
Pingback: โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ : กฎเหล็กเพื่อป้องกันโรคที่ทุกคนต้องรู้
Pingback: 6 สัญญาณอันตรายที่บอกว่าคุณอาจจะเป็น โรคไต โดย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต
Pingback: น้ำตาลอันตรายกว่าที่คิด! ผลเสียของการกินรสหวาน มากเกินไป