นิสัยแบบคนดีบางอย่างก็ทำให้ชีวิตเราไม่พัฒนา การยอมคนไปเสียทุกอย่างจนถูกเอาเปรียบ และอีกหลายปัญหาที่บอกเราว่าควร เลิกเป็นคนดี ซะ!
การเป็นคนดีของเราอาจทำให้หลายๆ คนสบายใจ อยากอยู่ใกล้ เพราะเราใจดี ให้ทำอะไรก็ทำให้ พูดด้วยง่าย ไหว้วานอะไรก็ไปหมด จนทำให้ตัวเองอึดอัดและไม่สบายใจ เราจะมัวฝืนใจทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นคนดีอยู่ทำไม ในเมื่อเราสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่เราอยากเป็นและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
มาดูวิธี เลิกเป็นคนดี แบบมืออาชีพ ที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณไปในทางที่ดีขึ้นได้
เลิก “เลี่ยงบทสนทนาที่เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ”
ความจริงที่น่าเศร้าอย่างหนึ่งในสังคมเราก็คือ “ยิ่งเป็นคนดีก็จะยิ่งจน” เพราะคนดีมักมีความคิดว่า การพูดคุยเรื่องเงินเป็นเรื่องที่เสียมารยาท และมักแคร์สายตาคนอื่นมาเกินไป และกลัวว่า “ถ้าคุยเรื่องเงินจะถูกมองว่าเป็นคนน่ารังเกียจหรือเปล่า” ทั้งยังไม่กล้าเผชิญหน้าความจริงจึงไม่อยากพูดเรื่องเงินซึ่งเป็นสิ่งของที่เห็นเป็นรูปธรรม
คนดียากจนเพราะไม่ยอมเข้าหาเงิน และมักเลี่ยงบทสนทนาที่เกี่ยวกับเงิน
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราชอบเลี้ยงแมว แล้วพูดถึงแต่เรื่องแมว เราจะมีเพื่อนที่ชอบเลี้ยงแมวเหมือนกัน หากเราชอบวิ่งมาราธอนแล้วคุยแต่เรื่องนี้ เราก็จะมีเพื่อนไปวิ่งมาราธอนด้วย
เรื่องเงินก็เช่นกัน คนที่ไม่ชอบคุยเรื่องเงินจะไม่เข้าใกล้คนที่สนใจเรื่องเงิน โอกาสที่จะได้รับข้อมูลในการสร้างรายได้ก็จะลดน้อยลงด้วย ดังนั้น หากไม่อยากขัดสนเรื่องเงินหรืออยากมีเงินมากขึ้น เราก็ต้องพูดคุยเรื่องเงินมากขึ้น
แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปพูดกับคนอื่นว่า “คุณมีเงินเดือนเท่าไหร่” หรือ “โปรดช่วยเหลือคนจนๆ อย่างฉันด้วยเถอะ” การพูดคุยเรื่องเงิน หมายถึงการคุยในหัวข้อต่างๆ เช่น “มีวิธีประหยัดเงินแบบนี้ด้วยนะ” “ทำแบบนี้จะคุ้มกว่านะ” หรือ “การซื้อกองทุนทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเยอะเลยละ”
การพูดคุยเช่นนี้จะทำให้เราได้เข้าใจคนที่มีความรู้และความสนใจ “โอกาสสร้างรายได้” “วิธีบริหารจัดการ” “วิธีประหยัดเงิน” และ “เทคนิคการซื้อของอย่างชาญฉลาด” เป็นต้น
เลิก “ประเมินตัวเองต่ำเกินไป”
คนเรานั้น ยิ่งเป็นคนดีมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกผิดกับการรับเงินค่าจ้าง จึงไม่กล้าตั้งราคาตามที่ใจต้องการ เพราะคนเหล่านี้มักคิดว่าการรับค่าจ้าง คือการรับเงินจากผู้อื่น และเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้ตัวเองเท่านั้น
นอกจากนี้ คนดีมักไม่อยากถูกเกลียด จึงไม่กล้าปฏิเสธ แม้ถูกขอร้องให้ทำงานแบบไม่คุ้มค่าจ้างก็ยังยอมทำ แถมยังประเมินตัวเองต่ำจึงไม่กล้าเรียกร้องผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเหนื่อยยาก
ตัวอย่างเช่น เราโดนเพื่อนจ้างให้ทำเว็บไซต์ให้ จึงเรียกค่าตอบแทนที่ถูกมาก หรืออาจทำงานให้ฟรีๆ โดยพูดว่า “ฉันไม่ใช่มืออาชีพ ไม่ต้องให้ค่าตอบแทนหรอก”
การยอมทำงานด้วยค่าตอบแทนอันน้อยนิดอาจตกเป็นเหยื่อของคนฉลาดแกมโกงได้ และพวกเขามักจะแสดงความรู้สึกขอบคุณ เช่น “ขอบคุณนะ ช่วยได้มากเลย” แล้วจบกันโดยไม่มีค่าตอบแทนอื่นๆ อีก คนดีจึงมักคิดว่าการลงแรงของตนนั้นได้รับการตอบแทนเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
เลิก “อดกลั้นไม่โต้ตอบ”
“ยังไม่มีแฟนอีกหรอ น่าจะหาคนมาดูแลได้แล้วนะจะได้สบาย”
หากจู่ๆ มีคนที่คุณไม่ค่อยสนิทด้วยสักเท่าไร มาพูดจาเสียมารยาทแบบนี้ คุณจะตอบอย่างไร
“เรื่องของฉัน”
คนทั่วไปอาจตอบแค่นี้ และรู้สึกไม่พอใจบ้าง แต่ถ้าตอบกลัวไปว่า “ฉันว่าคุณสบายเกินไปนะ อีกอย่างฉันก็ยังไม่แก่สักหน่อย” คงสะใจไม่น้อย
แต่คนดีก็ยังเป็นคนดีอยู่วันยังค่ำ เมื่อต้องเก็บกดทุกครั้ง ก็ย่อมทรมานและนอนไม่หลับไปเรื่อยๆ ในที่ทำงานซึ่งมักให้ความสำคัญแก่การยึดหลักเหตุผล จึงไม่ค่อยมีการบ่นหรือดุด่าอย่างไร้เหตุผลนัก
แต่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นเรื่องส่วนตัว เช่น สมาคมผู้ปกครอง สมาคมท้องถิ่น มักมีการแสดงความเกลียด ชอบโมโห พูดจาถากถาง หรือวิพากษ์วิจารณ์กันเสมอ
คนไม่มีเหตุผลพวกนี้มักไม่รู้ตัวว่ากำลังพูดเรื่องไร้สาระและนึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ ทั้งยังพยายามบังคับให้คนอื่นคิดเหมือนกัน ใครคิดต่างถือว่าผิดหมด เมื่อเจอคนประเภทนี้ คุณต้องรู้จักตอบโต้ให้รุนแรงกว่า
ลองใช้คำพูดว่า “แล้วยังไงล่ะ” ตอบโต้อีกฝ่ายดูสิ
ตัวอย่างเช่น แม้จะมีคนพูดกับเราว่า “เรื่องนี้มันแย่ลงเพราะเธอคนเดียว” ก็ให้ตอบไปว่า “แล้วยังไงล่ะ” ต่อให้เขาตอบมาว่า “เธอต้องรับผิดชอบ” ก็ให้พูดต่อไปว่า “แล้วยังไงล่ะ” จนพวกเขาเหนื่อยและเลิกพูดไปเอง
เราต้องคิดเสียว่า ถึงจะเถียงเรื่องไร้สาระแบบนี้ไม่ชนะก็ไม่เป็นไร แต่หากเราจริงจังกับคำพูดของอีกฝ่ายเมื่อไร เราก็ยิ่งตกหลุมพรางได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
ข้อมูลจากหนังสือ เลิกเป็นคนดี แล้วจะมีความสุข
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
เลิกนิสัยแย่ๆ เหล่านี้ แล้วชีวิตจะดีขึ้น
วิธีแก้ปัญหาในการทำงาน จากโนโบรุ โคยามา CEO ชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น
ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็หาวิธีอยู่กับมันซะ!
Pingback: ใช้ชีวิตให้มีความสุข ในทุกๆ วัน ด้วยการเลิกทำสิ่งเหล่านี้
Pingback: ทิ้ง นิสัยไม่ดี เหล่านี้ แล้วการทำงานของคุณจะราบรื่นขึ้น