หมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) โรคยอดฮิตของเหล่ามนุษย์เงินเดือน

ภาวะ หมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome เกิดขึ้นได้ทุกคน ภาวะนี้เกิดจากความเครียด ความกดดันในการทำงาน ทำให้รู้สึกเบื่องาน ไม่อยากไปทำงาน และเฉื่อยชา

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศรวม Burnout ไว้ในบัญชีจำแนกโรคระหว่างชาติขององค์การอนามัยโลก ฉบับที่ 11 เป็นปรากฏการณ์ด้านการทำงานอาชีพ และไม่ใช่โรคทางการแพทย์ อธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาวะและการไปใช้บริการทางสุขภาพ แต่ไม่ใช่ความเจ็บป่วย

มาดูกันว่าภาวะ หมดไฟในการทำงานคืออะไร และมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง

 

คุณมีโอกาสเข่าข่าย Burnout หรือ หมดไฟในการทำงานหรือไม่

บนเว็บไซต์ของเมโยคลินิกเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2561 ได้ให้คำถามไว้ 10 ข้อเพื่อใช้ตรวจดูว่าตนเองเข้าข่ายมีภาวะหมดไฟในการทำงานหรือไม่

  1. ชอบค่อนแคะถากถาง หรือชอบติและวิจารณ์ในการทำงานหรือไม่
  2. ต้องใช้ความพยายามในการลากตัวเองไปทำงานหรือไม่
  3. รู้สึกหงุดหงิดและไม่มีความอดทนต่อเพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้าหรือไม่
  4. รู้สึกไม่มีพลังในการทำงานหรือไม่
  5. ยากที่จะตั้งใจจดจ่อทำงานหรือไม่
  6. ไม่รู้สึกพอใจ หรือแฮปปี้ เมื่องานสำเร็จหรือไม่
  7. รู้สึกว่างานมีลักษณะที่ไม่เหมือนเดิม และเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
  8. ใช้อาหาร ยา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นหรือไม่
  9. มีอาการนอนไม่หลับหรือไม่
  10. มีอาการปวดหัว ไม่สบายท้อง ลำไส้แปรปรวน หรือไม่

ทางเมโยคลิกนิกไม่ได้กำหนดคะแนนว่าเท่าไหร่ถึงจะเข้าข่าย นั่นถือเป็นเรื่องที่ดี เราควรสำรวจตัวเองเบื้องต้น และข้อคำถามเหล่านี้สามารถนำทางไปสู่การตรวจพบโรคซึมเศร้าได้ด้วย

 

องค์ประกอบของภาวะหมดไฟในการทำงาน

องค์ประกอบแรกเป็นเรื่อง ภาระงานที่มากเกินตัว (overload) เวลาที่เราพูดว่าภาระงานมากเกินตัว เราควรคิดด้วยว่าเป็นเพราะเราบริหารจัดการไม่เป็น หรือเป็นเพราะภาระงานที่มากเกินกว่ามนุษย์คนหนึ่งจะทำได้จริง ลำพังภาระงานที่มากไม่ได้ทำให้คนจำนวนมากเกิดภาวะนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนวัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคนที่กำลังมีไฟสุดๆ

คนจำนวนมากทำงานได้สารพัด แม้ว่าจะเหนื่อยมากๆ เมื่อได้นอนหลับดีแล้วหรือแม้กระทั่งหลับไม่ดีเพราะต้องขึ้นเวร เช่นงานที่ต้องทำเป็นกะ

คนเหล่านี้ก็พร้อมจะลุกขึ้นแล้วทำงานต่อโดยไม่ปริปากบ่น

องค์ประกอบที่สองจะมาซ้ำเติมองค์ประกอบแรกจึงเป็นเรื่องคือ บรรยากาศในที่ทำงาน และ เรื่องที่ใหญ่ที่สุดของบรรยากาศในที่ทำงานก็คือ ความมีอิสระในการทำงาน องค์ประกอบประเภท เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ลูกค้า การประเมินผล เหล่านี้เป็นองค์ประกอบทั่วไปที่ที่ทำงานทั่วไปต้องมี และเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความมีอิสระในการทำงาน โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์

ในที่ทำงานทั่วไป คนเรามักจะเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานเมื่อพบภาระงานที่มากเกินตัวและขาดอิสระในการทำงาน การขาดอิสระนี้เองทำให้เจ้าตัวไม่สามารถบริหารจัดการงานและเวลาได้ จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะนี้

 

นิสัยที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน

นิสัยส่วนตัวที่ก่อปัญหามีอยู่จริง นิสัยที่ก่อปัญหาบ่อยๆ คือพยายามทำทุกอย่างเพื่อทุกคน

ในด้านดีก็มีเหมือนกัน บุคคลเช่นนี้อยากทำทุกอย่างเพื่อทุกคนจริงๆ รับงานไม่อั้น ช่วยเหลือคนอื่นเสมอ เจ้านายใช้รับปากทันทีโดยไม่คิด เจ้านายถาม ยกมือตอบทันควัน เป็นมิสเตอร์เยสในวันแรกๆ แต่เมื่อไหร่ที่ผิดหวัง ไม่เป็นไปตามคาด รู้สึกว่าทำได้ไม่ดีก็มักจะผิดหวังและเสียใจมาก สาเหตุอาจเป็นเพราะวัยเด็กไม่ได้รับความไว้วางใจหรือชื่นชมมากพอก็เป็นไปได้ อีกเหตุหนึ่งอาจจะชื่นชอบการได้รับคำป้อยอจากเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน

จะเห็นว่าพยาธิสภาพทางจิตไม่ได้เกิดโดดๆ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมหรือจิตสังคมมีเอี่ยวด้วยเสมอ การที่ถูกหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานตำหนิว่าทำงานไม่ดี หรือแย่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมาก อาจทำให้รู้สึกเบื่อ ไม่อยากทำงานไปเลยก็เป็นได้

 

วิธีแก้ไขภาวะหมดไฟในการทำงาน

เมื่อภาวะนี้เป็นเรื่องของที่ทำงาน ความพยายามที่จะแก้ไขจึงควรเริ่มต้นจากเรื่องในที่ทำงานดังต่อไปนี้

1.หาโอกาสพูดคุยกับเจ้านาย

ถ้าทำได้ ควรหาโอกาสพูดคุยกับเจ้านายถึงขอบเขตของงาน ความรับผิดชอบ สิทธิ์ขาดและอำนาจในการทำงาน ไปจนถึงการบริหารจัดการงานด้วยตนเอง และขอบเขตของการตัดสินใจ

2.แสวงหาความช่วยเหลือด้านเทคนิคอย่างตั้งใจ

สำหรับคนทำงานที่กำลังมีภาวะนี้อยู่ วิธีแก้ไขที่เป็นรูปธรรมคือพัฒนาความสามารถของตนเองให้ดีขึ้น หากดีอยู่แล้วให้พัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

3.คำแนะนำแบบเหมาโหล

คำแนะนำข้อสุดท้ายเป็นคำแนะนำประเภทเหมาโหล และได้ผลแน่นอนถ้ายอมทำตาม นั่นก็คือ

กินให้อิ่ม ให้ถูกสัดส่วน ไม่กินมากจนเกินไปเพื่อระบายความเครียด

นอนให้หลับ นอนให้ตรงเวลา ถ้าไม่หลับให้ลุกมาทำงานที่เป็นงานจริงๆ สักอย่าง ง่วงหรือเพลียค่อยไปเริ่มต้นนอนใหม่ อย่ามัวแต่เล่นโทรศัพท์มือถือทั้งวัน

ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้สมองและจิตใจอยู่ในสมดุล ระยะยาวมีผลต่อสมองส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัส ซึ่งมีผลต่อความจำใช้งาน และทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นอย่างแน่นอน

เจริญสติ เจริญสติง่ายๆ เพียงให้จดจ่อกับการเดินหรือการทำงาน เมื่อเดินให้รู้ว่าเดิน เท้าขวากำลังยก ก้าวแล้ววาง ฝึกทำเช่นนี้เรื่อยไป

 

เมื่อร่างกาย จิตใจ สมอง และสติกลับคืนมา ภาวะหมดไฟในการทำงานจะหนีหายไป ไฟจึงลุกโชนได้อีกครั้งหนึ่ง!

 

ข้อมูลจากหนังสือ Burn-out Syndrome ภาวะหมดไฟในการทำงาน

 

วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก

 


บทความอื่นๆ 

เคล็ดลับการทำงานที่ทำให้คุณไม่เหนื่อยฟรีไปตลอดชีวิต

พัฒนาการทำงานของคุณให้ดีขึ้น ด้วยการพยายามให้ถูกวิธี

ทำงานยังไงให้ได้เงินเดือนสูง ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในองค์กรไหน

เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้วยการพักผ่อนให้ถูกวิธี

วิธีจุดไฟให้ลุกโชนอีกครั้ง เมื่อเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า