การ เก็บเงิน ออมเงินเป็นเรื่องลำบากสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมชวนให้เสียเงินตลอด ที่ทำงานอยู่ใกล้แหล่งช้อปปิ้ง ร้านอาหารน่านั่งอีกเพียบ บางครั้งเก็บเงินเข้าบัญชีเงินเก็บไปแล้ว ต้องเอาออกมาใช้ปลายเดือนเพราะใช้เงินเยอะเกินไป เงินเก็บเลยไม่ค่อยจะเหลือ
ลองมาดูกันว่าคุณทำพฤติกรรมแบบไหนบ้าง บางนิสัยที่คุณคิดว่าดีแล้ว มันเป็นการประหยัดเงินอาจจะเป็นความเข้าใจผิดก็ได้ รู้ไว้ตอนนี้จะได้ปรับพฤติกรรมก่อนที่เงินจะค่อยๆ บินออกจากกระเป๋าสตางค์แบบไม่ทันรู้ตัว
เล่นเฟซบุ๊กและไลน์บ่อยๆ หรือแทบไม่ได้เล่นเลย
ภาพที่พบเห็นบ่อยๆ เวลาขึ้นรถไฟฟ้าคือคนที่กำลังจดจ่อกับเฟซบุ๊ก ไลน์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ รู้หรือไม่ว่าเมื่อมองจากมุมมองเรื่องเงิน เรื่องนี้ถือเป็นการใช้เงินอย่างสิ้นเปลืองพอสมควรเลย
หลายคนอาจให้เหตุผลว่า “โซเชียลมีเดียมีประโยชน์มาก เพราะช่วยเชื่อมโยงฉันกับเพื่อนๆ และคนรู้จัก แถมไม่ต้องเสียเงิน และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการติดต่อกับคนอื่นๆ” ซึ่งก็จริง การใช้โซเชียลมีเดียโดยตัวมันเองไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ “ระยะเวลาที่ใช้” ต่างหาก
เวลาที่เราใช้เล่นโซเชียลมีเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น คนอายุ 20-29 ปีใช้ไลน์ถึงร้อยละ 90 ขณะที่คนอายุ 30-39 ปีก็ใช้มากถึงร้อยละ 70
หากใครรู้ทั้งรู้และลดไม่ได้ก็ลองนึกถึง “รายได้ต่อชั่วโมง” ของคุณดู เช่น คุณได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 150 บาท การใช้โซเชียลมีเดียย่อมเท่ากับเป็นการสิ้นเปลืองเงิน 150 บาท
หรือถ้าอยากพลิกแพลงการติดโซเชียลของคุณให้กลายเป็นการเก็บเงินก็ย่อมได้ ถ้าคุณเล่นโทรศัพท์มือถือ 1 ชั่วโมง ก็ยัดเงิน 150 บาท (ตามจำนวนค่าจ้างรายชั่วโมง) ลงกระปุกไปซะ เพียงเท่านี้ก็ได้ออมเงินเพิ่มขึ้นแล้ว
เวลาซื้อของกิน คุณชอบซื้อตุนคราวละมากๆ หรือซื้อทีละนิด
เพียงดูตู้เย็น ก็จะรู้ทันทีว่าคุณเป็นคนใช้เงินสิ้นเปลืองโดยไม่รู้ตัวหรือไม่
ประการแรก ตู้เย็นที่มีของกินอัดแน่นเต็มตู้จนแทบไม่มีที่ว่างคือ “ตู้เย็นของคนเก็บเงินไม่เก่ง” เพราะการมีอาหารเต็มตู้ทำให้ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ในตู้บ้าง และน่าจะมีอาหารที่หมดอายุแล้วอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน อุตส่าห์เสียเงินซื้อมาทั้งที ถ้าต้องทิ้งอาหารนั้นโดยไม่มีโอกาสได้เอาเข้าปากเลยก็เท่ากับทิ้งเงินไปเปล่าๆ นอกจากนี้ก็ยังต้องจ่ายค่าไฟเพื่อแช่ของที่กินไม่ได้แล้วด้วย
สรุปแล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่ “ใช้ของในตู้เย็นให้หมด” นี่คือวิธีใช้ตู้เย็นของคนเก็บเงินเป็น
อีกหัวข้อหนึ่งคือการซื้อของตุนคราวละมากๆ กับซื้อทีละนิด แบบไหนเป็นวิธีที่ขาดทุน…
คนที่ขาดทุนได้ง่ายคือคนที่ชอบ “ซื้อของตุน” คุณอาจจะคิดว่าการซื้อของกินมาตุนไว้ตอนลดราคาดูเหมือนจะได้กำไร แต่การซื้อของในปริมาณมากทำให้จัดการตู้เย็นลำบาก และเป็นการสะสมของในตู้เย็น ยิ่งเป็นคนขี้เกียจเก็บกวาด จัดระเบียบด้วยแล้ว ยิ่งควรหลีกเลี่ยงการซื้อของมาตุนจะดีกว่า
เวลาได้รับใบเสร็จ คุณทิ้งหรือเก็บไว้
คงเคยได้ยินมาบ้างว่าคนที่เก็บใบเสร็จไว้เต็มกระเป๋าสตางค์คือคนที่เก็บเงินไม่ได้ ไม่สามารถจัดระเบียบหรือจัดการสิ่งต่างๆ ได้ จึงมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นคนหละหลวมเรื่องเงิน ถ้าอย่างนั้น การไม่เก็บใบเสร็จเลยเท่ากับจะเป็นคนเก็บเงินเก่งใช่ไหมล่ะ
คำตอบคือ “ไม่ใช่” เพราะการไม่เก็บใบเสร็จจะยิ่งทำให้เข้าใกล้ลักษณะความเป็นคนเก็บเงินไม่อยู่อีกด้วย วิธีที่จะทำให้เก็บเงินได้คือ เก็บใบเสร็จและตรวจสอบรายละเอียดเหล่านั้นต่างหาก
คุณต้องเก็บใบเสร็จที่ได้มาแบ่งตามหมวดหมู่ ของกิน ของใช้จำเป็น ของไม่จำเป็น เสื้อผ้า ฯลฯ เพื่อควบคุมบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้สมดุลกัน รวมไปถึงจัดการเงินเก็บด้วย
คุณมีเงินในกระเป๋าสตางค์เท่าไหร่ 300 บาทหรือ 3,000 บาท
มีคนจำนวนมากที่ใส่เงินไว้ในกระเป๋าสตางค์เพียง 300 บาทด้วยเหตุผลว่าไม่อยากใช้เงินสิ้นเปลือง เคล็ดลับของการไม่ใช้เงินคือการไม่พกเงินเกินจำเป็น ในแง่หนึ่งวิธีนี้ก็เป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่อีกด้านก็มีความเป็นไปได้สูงที่คุณจะค่อยๆ ขาดทุนทีละน้อยในส่วนที่มองไม่เห็น
เวลาคุณพกเงินในกระเป๋าเพียง 300 บาท แต่ละครั้งที่เงินไม่พอ คุณก็ต้องเดินวุ่นหาตู้เอทีเอ็มใกล้ๆ ซึ่งถ้าเป็นตู้ของธนาคารอื่นก็ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นไปอีก
จำนวนเงินที่ควรมีไว้ในกระเป๋าสตางค์อยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทอาจมากหรือน้อยกว่านี้เล็กน้อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ในชีวิตประจำวันเท่าไหร่ เช่น ในหนึ่งสัปดาห์ใช้เงินค่ารถ ค่ากิน รวมทั้งหมด 2,000 บาท เราก็พกเงินไว้ 3,000 บาทเผื่อเวลาฉุกเฉิน เช่น เพื่อนชวนไปสังสรรค์ ต้องเลี้ยงอาหารลูกค้า ฯลฯ
หากกลัวว่าจะใช้เงิน 3,000 หมดเร็วไป ให้เก็บ 1,000 บาทไว้ในซอกลับของกระเป๋าสตางค์แทนเพื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉินเท่านั้น และเวลากดเงินจากตู้เอทีเอ็มมาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ควรกดยิบย่อยทีละ 200-300 บาท ควรกดไว้ใช้เป็นสัปดาห์แทน
เช่น “สัปดาห์นี้ฉันจะใช้เงิน 2,000 บาทเท่านั้น” ซึ่งจะง่ายต่อการควบคุมรายจ่าย เมื่อเทียบกับการกดเงินทีละ 200-300 บาท ซึ่งไม่รู้ว่าในหนึ่งสัปดาห์จะกดไปทั้งหมดกี่ครั้ง ควบคุมการใช้เงินยากกว่าวิธีแรกเยอะเลย
ซื้อของช่วงลดราคามากแค่ไหน ซื้อบ่อยๆ หรือไม่ค่อยซื้อ
หลายคนคงคิดว่า “ควรซื้อของช่วงลดราคาสิ จะได้ช่วยลดรายจ่าย ได้ของแพงในราคาถูกกว่าคนอื่นดีจะตาย” ว่าแต่ว่า คนที่ซื้อของช่วงลดราคาบ่อยๆ เป็นคนเก็บเงินเก่งจริงหรือ…
คำตอบคือ “ไม่ใช่” เพราะยิ่งชอบซื้อของช่วงลดราคามากเท่าไร ประเภทเห็นของถูกเมื่อไรตาจะเป็นประกายทันที ยิ่งเป็นคนที่เก็บเงินไม่อยู่ เหตุผลคือ ช่วงลดราคาจะกระตุ้นพฤติกรรม “เผลอซื้อเยอะเกินไป” ได้ง่ายนั่นเอง ป้าย SALE มีมนตร์สะกดให้คนซื้อกระทั่งของที่ไม่ได้วางแผนจะซื้อหรือของที่ไม่จำเป็นต้องใช้เลยก็มี
แต่ช่วงลดราคาก็มีข้อดีคือ คุณสามารถซื้อของในราคาถูกกว่าราคาป้าย แต่ขอเสียคือคุณมักจะซื้อของที่ไม่ได้อยู่ในรายการที่จะซื้อด้วย ฉะนั้น คุณก็แค่ตัดข้อเสียตรงส่วนนี้ออกไปเท่านั้นเอง
เวลามีของที่อยากได้ คุณจะรีบซื้อทันทีหรือคิดหนักก่อนค่อยซื้อ
คนส่วนใหญ่ที่ติดนิสัยซื้อของที่ตัวเองอยากได้ทันทีมักเป็นคนเก็บเงินไม่อยู่ เพราะการ “รอคอย” เป็นกุญแจสำคัญในการเก็บเงิน การรอเวลาจะช่วยให้เงินของคุณเพิ่มได้ด้วย แต่ถ้าคิดว่า จะต้องซื้อเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นของจะหมดแล้วต้องรอนาน เลยตัดสินใจใช้เงินในอนาคตไปก่อนด้วยการจ่ายผ่านบัตรเครดิต ชีวิตคุณก็จะตกอยู่ในวังวนของการตามใช้หนี้ตลอดไป
มีอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้แน่ใจว่าเราอยากได้ของชิ้นนั้นจริงๆ หรือเปล่าคือการไปดูของที่ร้าน 3 ครั้ง และเมื่อไปดูครั้งที่ 3 แล้วยังรู้สึกอยากได้จริงๆ ค่อยตัดสินใจซื้อ แต่มีข้อแม้ว่าเราต้องมีเงินเพียงพอที่จะซื้อแล้วเท่านั้น
เหตุผลที่ต้องคิดก่อนซื้อ เพราะบางครั้งสิ่งที่เราอยากได้นั้นอาจจะเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ เห็นนางแบบในรูปใส่แล้วสวยจัง ซื้อมาใส่บ้างดีกว่า แต่พอได้มาจริงๆ กลับใช้เพียงครั้งสองครั้งแล้วก็ไม่ใช้อีก เป็นการเสียเงินอย่างเปล่าประโยชน์
สารพัดวิธีเก็บเงินแบบเศรษฐีจากหนังสือ นิสัยเศรษฐี ทำแบบนี้ถึง เก็บเงิน ได้
หาซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
หรือสั่งซื้อออนไลน์ คลิกที่นี่
ยอดเยี่ยมมากค่ะ
Pingback: วิธี วางแผนการใช้เงิน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ต้องประหยัดก็มีเงินใช้