การลดความสะเพร่าจำเป็นต้องใช้เวลา แต่ก็ใช่ว่าจะร่นระยะเวลานั้นให้สั้นลงไม่ได้เลย วิธีจัดการปัญหาที่ดีที่สุดคือ วิเคราะห์แนวโน้มว่า “มักทำพลาดในจุดใด” และคิดหามาตรการรับมือว่า “ควรเพิ่มความระมัดระวังจุดใดบ้าง” ลองใช้วิธีเขียนแนวโน้มความผิดพลาดและวิธีแก้ไขลงบนกระดาษโน้ต เราไปดูเทคนิค “ใช้กระดาษโน้ตลดความสะเพร่าด้วยการบันทึกจุดผิดแบบเห็นผล” กันเลย
1. หยิบกระดาษคำตอบข้อสอบเก่ามาค้นหาจุดผิดพลาดจากความสะเพร่า
ขอยกตัวอย่างความสะเพร่าของการทำข้อสอบเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น หลายคนได้กระดาษคำตอบข้อสอบกลับมาไม่เคยเก็บไว้ ดังนั้นนับจากนี้ขอแนะนำให้เก็บเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นสอบย่อยหรือสอบใหญ่อย่างน้อยที่สุดหนึ่งปี เนื่องจากข้อสอบเก่าเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์เพื่อแก้ไขจุดผิดพลาด
สิ่งที่ต้องทำหลังจากรวบรวมกระดาษคำตอบได้มากสุดเท่าที่หาได้แล้วก็คือ การระบุจุดผิดจากความสะเพร่า จากนั้นใส่เครื่องหมายด้วยการเขียนตัวเลขกำกับที่โจทย์คำถามซึ่งคิดว่า “ผิดเพราะสะเพร่า”
ผิดเพราะสะเพร่า หมายถึง “ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการขาดความระมัดระวัง (สะเพร่า)” เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรจำให้ขึ้นใจ เนื่องจากบางคนอาจเหมารวมคำว่า “ผิดอย่างน่าเสียดาย” ทั้งหมดมาอยู่ในกลุ่มผิดเพราะสะเพร่า ซึ่งจริงๆ แล้วถือว่าไม่ถูกต้อง “รู้ว่าคำตอบคืออะไร (ตอบถูกเสมอ) แต่กลับผิดเพราะขาดความระมัดระวัง…” ต่างหาก ที่เข้าข่ายผิดเพราะสะเพร่า
2. รวมคะแนนที่พลาดจากผิดเพราะสะเพร่าเพื่อหา “คะแนนที่ควรได้”
รวมคะแนนของจุดที่ผิดเพราะความสะเพร่า นำมาบวกเพื่อตรวจสอบว่า “หากไม่ทำผิดเพราะความสะเพร่าจะได้คะแนนเท่าไร” การให้เด็กซึ่ง “ผิดเพราะสะเพร่าค่อนข้างมาก” ได้เห็นคะแนนของตัวเองชัด ๆ จะช่วยให้ตระหนักว่า “ถ้ารู้ว่าจะได้คะแนนเพิ่มขนาดนี้ ตั้งใจให้มากขึ้นเพื่อจะได้ไม่ทำพลาดเสียก็ดี!”
ผู้มีเวลาน้อยสามารถข้ามขั้นตอนนี้ได้ แต่หากเพิ่งเคยเขียน “จดจุดพลาด” ควรลองคำนวณดูสักครั้ง ยิ่งถ้าเป็นคนที่คะแนนลดลง เพราะโจทย์คำนวณวิชาคณิตศาสตร์พื้น ๆ ซึ่งปกติตอบได้ถูกต้องด้วยแล้ว ยิ่งควรต้องทำ
3. ค้นหาจุดเด่น (แนวโน้ม) ข้อผิดพลาดของตัวเอง
ลองเปรียบเทียบจุดผิดเพราะสะเพร่า เพื่อค้นหาจุดเด่น (แนวโน้ม) ของข้อผิดพลาดนั้น หลักสำคัญของขั้นตอนนี้มี 2 ข้อ
ข้อที่หนึ่ง รีบจัดการโดยไว ไม่มีใครอยากเผชิญหน้ากับข้อผิดพลาดของตัวเอง เพราะฉะนั้นควรรีบค้นหาให้เสร็จโดยไว แทนที่จะ “ค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลานานหลายวัน”
ข้อที่สอง วิเคราะห์ในเชิงรูปธรรมให้ได้มากที่สุด พูดอีกอย่างหนึ่งคือให้ลองพิจารณาว่าคำนวณผิดอย่างไร เช่น “ใส่เครื่องหมายผิดตอนถอดวงเล็บ” หรือ “บวกลบคูณหารสลับลำดับกัน” ไม่ใช่ตอบรวบรัดแคว่า “คำนวณผิด”
4. พิจารณาว่า “ต้องระวังเรื่องใดบ้าง” (มาตรการรับมือ)
ลำดับถัดมาคือพิจารณาว่า “หากต้องการลดข้อผิดพลาดเหล่านั้น ควรระวังเรื่องใดบ้าง” โดยวิเคราะห์แนวโน้มในขั้นตอนที่ 3 หลายคนอาจยังไม่คุ้นการคิดหามาตรการรับมือกับข้อผิดพลาด สำหรับกรณีดังกล่าวให้ลองนำเคล็ดลับ 3 ข้อต่อไปนี้เข้ามาเป็นตัวช่วย
- การขีดเส้นใต้ (หรือเขียนวงกลมล้อมรอบ) คำว่า “ข้อที่ผิด” เป็นแนวทางป้องกันข้อผิดพลาดที่ดีทางหนึ่ง
- หลายคนใช้วิธีมองด้วยตาอย่างเดียวเวลาตรวจทาน เป็นเหตุให้มองผ่านจุดผิดพลาดโดยไม่ทันตระหนัก “เวลาตรวจทานให้ลากนิ้วตาม!” และจะให้ดีควรปลูกฝังนิสัยใช้นิ้วช่วยในการตรวจทานทุกเรื่อง
- สาเหตุหนึ่งของความผิดเพราะสะเพร่าก็คือ “ความรีบร้อน” เวลาลนลานว่า “เวลาไม่พอแล้ว!” นี่ละ คือเวลาที่ผิดเพราะสะเพร่าได้ง่าย ดังนั้นเมื่อเกิดลนลาน ให้ตั้งสมาธิ สูดหายใจเข้าออกลึก ๆ แล้วค่อยเขียนคำตอบ
5. รวบรวมแนวโน้มและมาตรการรับมือลงบนกระดาษโน๊ตแผ่นเดียว
เมื่อมองเห็นแนวโน้มที่จะทำผิดพลาดและมั่นใจว่าเจอมาตรการรับมือแล้ว ให้เขียนทั้งหมดนั้นลงบนกระดาษโน้ต โดยด้านบนเขียน “แนวโน้ม (ลักษณะเด่นของจุดที่ตัวเองมักผิดพลาด)” ส่วนด้านล่างเขียน “มาตรการรับมือ (ข้อความระวัง)”
สำหรับการจัดเรียงลำดับสิ่งที่ต้องการทบทวนซ้ำอีกครั้ง เพราะคิดว่า “จุดนี้ถ้าไม่ระวังละก็ ผิดแน่นอน!” ขอแนะนำให้ใช้กระดาษโน้ตสีเด่นสะดุดตาแบบแถบกาวเต็มแผ่น เพราะหลุดยากและสังเกตเห็นง่าย
6. ติดไว้ด้านหลังปกสมุดโน๊ต
ติดกระดาษโน้ตที่เขียนเมื่อครู่นี้ลงสมุดจดแต่ละรายวิชา โดยแนะนำให้ติดไว้ด้านหลังปกหน้าของสมุดซึ่งมักถูกปล่อยว่าง แต่สำหรับคนที่ใช้พื้นที่ส่วนดังกล่าวจดข้อความเสียแล้ว จะเปลี่ยนมาติดกระดาษโน้ตด้านหลัง (ด้านใน) ของปกหลังแทนก็ได้ เพียงเท่านี้ วิธี “จดจุดผิด(จด + จำจุดที่ผิดบ่อย)” ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ข้อสำคัญคือ อย่าลืมย้อนกลับมาอ่านอีกครั้งก่อนสอบ และเมื่อเปลี่ยนสมุดโน้ตใหม่ ก็ลอกกระดาษโน้ตมาติดลงสมุดใหม่ด้วย หรืออาจเขียนข้อความเหล่านั้นใส่กระดาษโน้ตแผ่นใหม่เลยเพื่อย้ำเตือนตัวเองให้จำขึ้นใจว่าเคยผิดในจุดใด และต้องรับมือเช่นไร
ใช้กระดาษโน้ตลดความสะเพร่าด้วยการบันทึกจุดผิดแบบเห็นผล
หนังสือ เทคนิคเรียนเก่งด้วยกระดาษโน้ต ฉบับเด็กโทได
เขียนโดย ชิมิซุ อากิฮิโระ
วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่น ๆ
วิธีบันทึกการอ่านด้วยกระดาษโน้ต เพื่อให้เป็นคน Input เก่งขึ้น!