หลายคนคิดว่าการเป็นโรค กรดไหลย้อน ไม่ใช่เรื่องอันตราย แค่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงเลือกที่จะปล่อยปละละเลย ไม่ยอมรักษา แต่รู้หรือไม่ หากปล่อยไว้แบบนี้ นอกจากจะส่งผลให้ใช้ชีวิตลำบากแล้ว ยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารในอนาคตได้ด้วย
มาดูกันว่าสาเหตุและวิธีรักษา กรดไหลย้อน มีอะไรบ้าง จะได้ป้องกันและแก้ไขทันก่อนจะลุกลาม
กรดไหลย้อนคืออะไร
กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่มีสารคัดหลั่งจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร โดยสารคัดหลั่งที่ว่านี้ส่วนใหญ่เป็นน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีสภาวะเป็นกรด มีรสเปรี้ยว หรืออาจเป็นแก๊สจากกระเพาะอาหารหรือน้ำย่อยจากลำไส้เล็ก ที่อาจปะปนมากับกรดในกระเพาะอาหารได้ ทำให้ผู้ป่วยบางรายรู้สึกถึงรสเปรี้ยวๆ ขมๆ เวลาเกิดอาการกรดไหลย้อน โดยที่อาจมีหรือไม่มีผลข้างเคียงจากโรคนี้ก็ได้
สาเหตุของการเกิดโรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย และเกิดจากการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสมดังต่อไปนี้
1.ความผิดปกติจากการคลายตัวของหลอดอาหารส่วนปลาย
ตามปกติเมื่อเรากินอาหาร อาหารจะเป็นตัวกระตุ้นให้หลอดอาหารบีบและคลายตัวออกเพื่อลำเลียงอาหารจากปากสู่กระเพาะอาหาร แต่ในผู้ป่วยกรดไหลย้อนบางราย หลอดอาหารจะมีการคลายตัวที่ผิดปกติ คือ เกิดการคลายตัวทั้งๆ ที่ไม่มีการกลืนหรือไม่มีอาหารเป็นตัวกระตุ้น และคลายตัวบ่อยครั้ง ทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นสู่หลอดอาหารได้
2.ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลาย
กล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารจะทำหน้าที่กั้นไม่ให้อาหารและกรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหารได้ แต่ในผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายผิดปกติหรือมีภาวะกล้ามเนื้อหย่อน ก็จะทำให้กรดหรืออาหารจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารได้เช่นกัน
3.ความผิดปกติจากการบีบตัวของหลอดอาหาร
เมื่อเรารับประทานอาหาร ตามปกติหลอดอาหารจะทำหน้าที่บีบตัวเพื่อไล่อาหารลงสู่กระเพาะอาหาร แต่หากประสิทธิภาพการบีบตัวไม่ดีเท่าที่ควร เวลาที่มีกรดจากกระเพาะอาหารบางส่วนไหลย้อนขึ้นมา ก็จะไม่สามารถบีบไล่กรดกลับสู่กระเพาะอาหารได้
4.สูบบุหรี่
สารนิโคตินจะทำให้หูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างหย่อนลง และมีผลทำให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อหลอดอาหารลดลง ทำให้ประสิทธิภาพในกำจัดกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาสู่หลอดอาหารลดลงด้วย อีกปัจจัยหนึ่งคือ สารพิษจากบุหรี่จะเพิ่มการหลั่งกรดจากกระเพาะอาหาร และยังทำลายเยื่อบุหลอดอาหารด้วย
5.ภาวะน้ำหนักเกิน
ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน มีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติตามเกณฑ์ เนื่องจากความดันในช่องท้องสูงกว่าปกติ ในขณะที่ความดันในทรงอกซึ่งเป็นจุดที่หลอดอาหารวางตัวอยู่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้ความดันทั้งสองส่วนต่างกัน จึงทำให้กรดจากกระเพาะอาหารมีโอกาสถูกดันขึ้นสู่หลอดอาหารได้ ยิ่งความดันในช่องท้องสูงเท่าไร โอกาสที่จะเกดิโรคกรดไหลย้อนก็ยิ่งสูงมากขึ้น
ยิ่งรู้เร็ว รักษาไว ก็หายได้
หลังจากพบแพทย์แล้วว่าคุณเป็นโรคกรดไหลย้อนแน่นอน โดยไม่มีอาการเตือนที่เป็นสัญญาณอันตราย จึงเริ่มรักษาตามความรุนแรงของโรคดังนี้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
เช่น การลดน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นอาการ ไม่ว่าจะเป็นอาหารรสเปรี้ยวจัด เช่น มะนาว น้ำส้ม ซึ่งมีสภาพเป็นกรดอยู่แล้ว หรืออาหารรสเผ็ดจัดที่ทำให้เกิดอาการเสาะท้อง รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน ไม่ว่าจะเป็น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
หลีกเลี่ยงการกินอาหารเย็นจำนวนมาก และไม่ควรนอนทันทีหลังจากกินอาหารเสร็จ ควรเว้นระยะอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้มีอาหารตกค้างในกระเพาะอาหารซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อน และควรนอนตะแคงซ้าย เพราะรูปร่างของกระเพาะอาหารฝั่งซ้ายและขวาต่างกัน หากนอนตะแคงซ้าย โอกาสที่กรดไหลย้อนขึ้นมานั้นน้อยกว่า
รักษาด้วยการใช้ยา
ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจรักษาด้วยยาที่ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่ ยากลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ เช่น โอมีพราโซล, แลนโซพราโซล, ราบีพราโซล, อีโซเมพราโซล และเด็กซ์แลนโซพราโซล กลุ่มยาที่ว่านี้นับเป็นกลุ่มยาที่ได้ผลในการรักษาดีที่สุด และเป็นกลุ่มยาที่แพทย์นิยมจ่ายให้ผู้ป่วยมากที่สุดด้วย
ข้อมูลจากหนังสือ โรคกรดไหลย้อน
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
ทำอย่างไร เมื่อตัวเองหรือคนใกล้ตัวเป็นโรคไบโพลาร์
สาเหตุของการเกิดมะเร็ง และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็ง
อาหารลดไขมันในเลือด กินอย่างไรให้ห่างไกลโรค NCDs