เคลาส์ ชวาบ (Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เปิดเผยผ่านหนังสือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) ว่า การ ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นั้น สำคัญยิ่งกว่าและส่งผลสั่นสะเทือนลึกซึ้งกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งใดๆ ก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์มนุษย์
เคลาส์ ชวาบ
By World Economic Forum from Cologny, Switzerland
Klaus Schwab – World Economic Forum Annual Meeting Davos 2008, CC BY-SA 2.0
ประวัติศาสตร์การปฏิวัติอุตสาหกรรม
คำว่า ‘ปฏิวัติ’ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลันและรุนแรง ถ้าดูตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแล้ว การปฏิวัติต่าง ๆ เกิดขึ้นตลอดเมื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ และวิธีใหม่ ๆ ในการมองโลกส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมต่าง ๆ โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจใช้เวลาหลายปี
การเปลี่ยนแปลงอันดับแรกในวิถีชีวิตของเรา คือการขยับจากการเก็บของป่าล่าสัตว์มาเป็นการทำเกษตร เกิดขึ้นราว 10,000 ปีก่อน และเกิดขึ้นได้เพราะการนำสัตว์มาทำให้เชื่อง การปฏิวัติทางการเกษตรนี้เกิดจากความพยายามของมนุษย์เพื่อมุ่งหมายให้เกิดการผลิต การขนส่งและการสื่อสาร การผลิตอาหารค่อย ๆ พัฒนาขึ้นทีละน้อย ส่งผลให้เกิดการเติบโตของประชากรและทำให้การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ขยายขนาดขึ้นในไม่ช้า สิ่งนี้ก็นำไปสู่ความเป็นเมืองและการเกิดขึ้นของเมืองต่าง ๆ ในที่สุด
การปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งนั้นตามมาด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมชุดใหญ่ซึ่งเริ่มต้นในช่วงหลังของศตวรรษที่สิบแปด การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกกินเวลาตั้งแต่ประมาณปี 1760 จนถึงประมาณปี 1840 การสร้างรางรถไฟและการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการผลิตด้วยเครื่องจักร
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง ซึ่งเริ่มต้นในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าและเลยมาจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ยี่สิบทำให้การผลิตจำนวนมากเกิดขึ้นได้เนื่องจากการคิดค้นกระแสไฟฟ้าและระบบสายพานการผลิตในโรงงาน
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามเริ่มต้นในทศวรรษ 1960 โดยมักเรียกกันว่า ‘การปฏิวัติดิจิทัลหรือการปฏิวัติคอมพิวเตอร์’เพราะมีตัวเร่งปฏิกิริยา ได้แก่ การพัฒนาสารกึ่งตัวนำ เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (ทศวรรษ 1960) คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (ทศวรรษ 1970 และ 1980) และระบบอินเทอร์เน็ต (ทศวรรษ 1990)
ทุกวันนี้เราอยู่ในช่วงต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ซึ่งเริ่มขึ้นในช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่ผ่านมาและเป็นผลมาจากการปฏิวัติดิจิทัลนั่นเอง ลักษณะเด่นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ก็คือระบบอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลายขึ้นอย่างมากและเคลื่อนที่ได้ มีตัวเซ็นเซอร์ที่เล็กลงและทรงพลังมากขึ้น แต่มีราคาถูกลง และมีปัญญาประดิษฐ์และจักรกลเรียนรู้ (Machine Learning: ML) ที่พัฒนามากยิ่งขึ้น
การปฏิวัติอุตสาหกรรมเหล่านี้มีลักษณะเด่นอยู่ที่การขยับจากแรงงานคนมาเป็นเครื่องจักร ค่อย ๆ พัฒนามาสู่ปัจจุบัน ซึ่งในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ พลังแห่งการรู้จากเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาช่วยเพิ่มผลผลิตของมนุษย์ให้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่มิได้หมายถึงแค่ระบบและจักรกลอัจฉริยะที่เชื่อมโยงกันได้เท่านั้น สิ่งที่เกิดควบคู่กันคือ การค้นพบครั้งใหญ่ที่ล้ำหน้ายิ่งขึ้นในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การจัดลำดับพันธุกรรมไปถึงนาโนเทคโนโลยี ตั้งแต่พลังงานทดแทนไปถึงคอมพิวเตอร์ระบบควอนตัม การผสมกลืนกลายและปฏิสัมพันธ์ของเทคโนโลยีเหล่านี้ ทั้งในด้านกายภาพ ดิจิทัล และชีวภาพ คือสิ่งที่ทำให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่แตกต่างจากการปฏิวัติที่ผ่าน ๆ มาโดยสิ้นเชิง
[su_quote]“…ในบรรดาสิ่งท้าทายหลากหลายและน่าทึ่งสารพัดที่มนุษย์เผชิญอยู่ทุกวันนี้ที่หนักหนาและสำคัญที่สุดก็คือ การทำความเข้าใจและปลุกปั้นการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการกลายเปลี่ยนของมนุษยชาติ เรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติที่จะพลิกวิถีและวิธีที่เราใช้ชีวิต ทำงานและสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ไปอย่างสิ้นเชิง หากพิจารณาจากระดับ ขอบเขตและความซับซ้อน สิ่งที่ผมมองว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่นั้นไม่เหมือนสิ่งใด ๆ ที่มนุษย์เราประสบพบเจอมาก่อน…”– เคลาส์ ชวาบ [/su_quote]
ชวาบมองว่า การปฏิวัติครั้งนี้มีขนาด ขอบเขต และความซับซ้อมที่แตกต่างไปจากการปฏิวัติครั้งที่ผ่านๆ มา ด้วยลักษณะโดดเด่นที่เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาหลอมรวมโลกกายภาพ ชีวภาพ และดิจิทัลเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อทุกสาขาวิชา ทุกอุตสาหกรรม ทุกระบบเศรษฐกิจ และท้าทายความหมายของการเป็นมนุษย์ แต่เขาเชื่อว่ามันจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับมนุษย์
ความกังวลต่อเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบกับงานไม่ใช่เรื่องใหม่
เมื่อปี ค.ศ. 1931 นักเศรษฐศาสตร์ จอห์น เมย์นาร์ด เคย์นส์ ได้กล่าวเตือนเรื่องการว่างงานเนื่องจากเทคโนโลยีที่แพร่หลายว่า “เนื่องจากการค้นพบวิธีต่าง ๆ ที่จะประหยัดการใช้แรงงานนั้นเร็วกว่าการหาวิธีใหม่ ๆ ในการใช้แรงงาน” คำเตือนนี้เคยถูกล้มล้างไปแล้วว่าไม่ถูกต้อง แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากครั้งนี้มันถูก..?
ตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการถกเถียงเพราะมีหลักฐานของการใช้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนมนุษย์จำนวนมาก ที่เห็นชัดที่สุดคือบรรณารักษ์ พนักงานคิดเงินและพนักงานรับโทรศัพท์ โดยเราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ด้วยการทำความเข้าใจผลกระทบของเทคโนโลยีหลัก ๆ 2 ข้อที่มีต่อการจ้างงาน
[su_note note_color=”b3b054″ text_color=”#040303″ radius=”4″]ข้อแรก เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงานทำให้เกิดการว่างงานหรือการโอนย้ายแรงงาน
ข้อสอง ส่งผลกระทบด้านการลงทุน ซึ่งทำให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการใหม่ๆ นำไปสู่การสร้างอาชีพใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ หรือกระทั่งอุตสาหกรรมใหม่ๆ[/su_note]
จะเห็นว่ามีความเห็นตรงข้ามกันสองขั้วเมื่อพูดถึงผลกระทบของเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่มีต่อตลาดแรงงาน นั่นคือ ฝ่ายที่เชื่อว่าจะจบด้วยดี แรงงานที่เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่จะหางานใหม่ได้ และเทคโนโลยีจะนำไปสู่ยุคใหม่แห่งความรุ่งเรือง กับฝ่ายที่เชื่อว่าจะเกิดหายนะทางสังคมและการเมืองจากการว่างงานครั้งใหญ่เนื่องจากเทคโนโลยี
ประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าผลลัพธ์น่าจะอยู่ตรงกลางระหว่างนี้ ดังนั้นคำถามก็คือ เราควรทำอะไรเพื่อส่งเสริมให้ผลลัพธ์เชิงบวกเกิดมากขึ้น และช่วยผู้คนที่ประสบปัญหาจากการเทคโนโลยี
[su_quote]“นวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะทำลายงานบางส่วนไปเสมอ แต่ก็มักจะสร้างงานใหม่ ๆ ในกิจกรรมอื่น ๆ หรือในสถานที่อื่น ๆ แทนด้วย”[/su_quote]
ดูตัวอย่างจากภาคเกษตรในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเก้า สหรัฐฯมีแรงงานในที่ดินร้อยละ 90 ของแรงงานทั้งหมด แต่ทุกวันนี้แรงงานภาคเกษตรมีไม่ถึงร้อยละ 2 การลดขนาดครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยส่งผลกระทบทางสังคมหรือการว่างงานในท้องถิ่นเพียงน้อยนิด
‘เศรษฐกิจแอปพลิเคชั่น’ คือตัวอย่างระบบของการจ้างงานแบบใหม่ ซึ่งเพิ่งเริ่มเมื่อปี ค.ศ. 2008 ที่สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล ยอมให้นักพัฒนาโปรแกรมอิสระสร้างแอปพลิเคชั่นสำหรับใช้ในโทรศัพท์ไอโฟน พอถึงกลางปี ค.ศ. 2015 เศรษฐกิจแอปพลิเคชั่นก็คาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้กว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำหน้าธุรกิจภาพยนตร์ที่อยู่มากว่าร้อยปี
ผู้มองเทคโนโลยีในแง่ดีกล่าวว่าเทคโนโลยีอาจพลิกผันสิ่งต่างๆ แต่มันจะลงเอยด้วยการพัฒนาและเพิ่มความมั่งคั่งเสมอ ทำให้เกิดอุปสงค์สูงขึ้นต่อสินค้าและบริการ และเกิดประเภทงานใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองอุปสงค์นั้น ดังนั้นในอนาคตจะมีงานสำหรับทุกคนเสมอ แต่ข้อความนี้มีหลักฐานใดสนับสนุนและมันบอกอะไรเราถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบ้าง เราลองมาดูนวัตกรรมที่เข้ามาแทนแรงงานในอุตสาหกรรมและงานประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีข้างหน้า
AI จะแย่งงานมนุษย์
มีงานหลากหลายประเภท โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรทำซ้ำและงานทำมือที่มีลักษณะชัดเจนแน่นอน ได้ถูกระบบอัตโนมัติเข้าแทนที่แล้วและคงตามมาด้วยงานอื่น ๆ อีกมากตราบเท่าที่พลังในการคำนวณยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คนส่วนใหญ่คาดไว้คืองานวิชาชีพต่าง ๆ เช่น ทนายความ นักวิเคราะห์การเงิน แพทย์ นักข่าว นักบัญชี ผู้พิจารณารับประกันภัย หรือบรรณารักษ์ อาจถูกระบบอัตโนมัติแทนที่บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
หลักฐานจนถึงขณะนี้ก็คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ดูจะสร้างงานในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ น้อยกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ผ่าน ๆ มา จากการคาดการณ์ของโครงการศึกษาเทคโนโลยีและการจ้างงานของออกซฟอร์ด มาร์ติน มีแรงงานสหรัฐฯเพียงร้อยละ 0.5 ได้รับการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อันเป็นอัตราส่วนที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับการจ้างงานใหม่ราวร้อยละ 8 ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ช่วงทศวรรษ 1980 และการจ้างงานใหม่ ๆ ร้อยละ 4.5 ในช่วงทศวรรษ 1990 ตัวเลขนี้สอดคล้องกับผลการสำรวจสำมะโนธุรกิจของสหรัฐฯ เมื่อไม่นานนี้ ที่เผยคำอธิบายที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับการจ้างงานไว้ว่า นวัตกรรมด้านสารสนเทศและเทคโนโลยีพลิกผันต่าง ๆ มีแนวโน้มจะเพิ่มผลิตภาพด้วยการแทนที่แรงงานที่มีอยู่ แทนการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ต้องอาศัยแรงงานผลิตมากขึ้น
นักวิจัยจากออกซฟอร์ดมาร์ติน คือ คาร์ล เบเนดิกต์ เฟรย์ นักเศรษฐศาสตร์ และไมเคิล ออสบอร์น ผู้เชี่ยวชาญด้านจักรกลเรียนรู้ ได้ศึกษาเชิงปริมาณถึงผลกระทบที่เป็นไปได้ของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่อการจ้างงานด้วยการจัดลำดับอาชีพต่าง ๆ 702 อาชีพตามความเป็นไปได้ที่จะถูกระบบอัตโนมัติแทนที่ จากที่มีโอกาสเสี่ยงน้อยสุด (“0” คือไม่มีความเสี่ยงเลย) จนถึงที่มีโอกาสเสี่ยงสูงสุด (“1” คือมีความเสี่ยงแน่นอนที่งานจะถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์บางอย่าง)
งานที่มีแนวโน้มถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติที่มากที่สุด
งานที่มีแนวโน้มถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติน้อยที่สุด
ที่มา : Carl Benrdikt and Michael Osborne, University of Oxford, 2013
งานวิจัยนี้สรุปว่า การจ้างงานในสหรัฐฯประมาณร้อยละ 47 มีความเสี่ยง ซึ่งอาจเกิดในช่วงสิบถึงยี่สิบปีข้างหน้า โดยดูจากการสูญเสียงานที่มีขอบเขตกว้างขวางและเกิดขึ้นเร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งก่อน ๆ มาก การจ้างงานจะเติบโตในงานที่ใช้ตรรกะและความคิดสร้างสรรค์ที่มีรายได้สูงและงานใช้แรงงานที่มีรายได้ต่ำ แต่งานลักษณะทำซ้ำที่มีรายได้ปานกลางจะหดหายไปอย่างมหาศาล
ไม่ใช่แค่ความสามารถที่เพิ่มขึ้นของอัลกอริทึม หุ่นยนต์และสินทรัพย์รูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้นที่ผลักดันให้เกิดการแทนที่นี้ ไมเคิล ออสบอร์น สังเกตว่าปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้เกิดระบบอัตโนมัติคือข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทต่าง ๆ นิยามคำว่า ดีกว่า, ทำให้งานต่าง ๆ ง่ายขึ้น ให้แก่ระบบคอมพิวเตอร์เหล่านั้น
งานที่ใช้ทักษะฝีมือความเสี่ยงต่ำจริงหรือ
งานความเสี่ยงต่ำในแง่ระบบอัตโนมัติ ได้แก่ งานที่ต้องใช้ทักษะเชิงสร้างสรรค์และทักษะสังคม โดยเฉพาะการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอนและการพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เสี่ยงเลย ลองมาดูหนึ่งในวิชาชีพที่สร้างสรรค์ที่สุดอย่างการเขียน ณ เวลานี้อัลกอริทึมที่สลับซับซ้อนสามารถเขียนเรื่องรูปแบบใด ๆ ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะบางกลุ่มได้ เนื้อหานั้นคล้ายมนุษย์มากจนแบบสอบถามเมื่อไม่นานนี้ของนิวยอร์กไทมส์เปิดเผยว่า บทความลักษณะคล้ายกันสองชิ้น แต่ผู้ตอบแบบสอบถามไม่อาจแยกแยะได้ว่าบทความใดมนุษย์เขียน บทความใดหุ่นยนต์เขียน
เทคโนโลยีนี้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนคริสเตียน แฮมมอนด์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทนาร์แรทีฟไซเอนซ์ ซึ่งชำนาญด้านการสร้างเนื้อหาอัตโนมัติ คาดการณ์ว่า ภายในกลางทศวรรษ 2020 อัลกอริทึมจะเขียนข่าวร้อยละ 90 โดยส่วนใหญ่จะไม่มีการแทรกแซงของมนุษย์เลย (นอกจากการออกแบบอัลกอริทึมนั้น)
เตรียมความพร้อมแก่คนเพื่อรับมือจักรกลอัจฉริยะ
จากงานวิจัยของเฟรย์กับออสบอร์น ชวาบได้สรุปว่า ผลกระทบครั้งใหญ่ที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่จะมีต่อตลาดแรงงานและที่ทำงานทั่วโลกนั้นยากจะหลีกเลี่ยงได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะเผชิญวิกฤติที่ต้องเลือกระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร
อันที่จริงแล้ว การผสมผสานของเทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล และกายภาพ ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันจะช่วยเสริมตรรกะและแรงงานมนุษย์มากกว่าเข้าแทนที่มนุษย์ นั่นหมายความว่าผู้นำทั้งหลายจำเป็นต้องเตรียมคนของตนให้พร้อมและพัฒนาแบบจำลองการเรียนรู้ไว้ใช้ควบคู่ไปกับจักรกลอัจฉริยะที่เชื่อมโยงอยู่ในระบบซึ่งมีทักษะความสามารถเพิ่มขึ้น
ในสภาวะแวดล้อมการทำงานที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นนั้น ความสามารถในการคาดการณ์แนวโน้มการจ้างงานในอนาคตและความต้องการด้านความรู้และทักษะฝีมือที่จำเป็นต่อการปรับตัวกลายเป็นสิ่งสำคัญกว่าที่เคยสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย แนวโน้มนี้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมและภูมิศาสตร์ และดังนั้นการทำความเข้าใจอุตสาหกรรมและรู้ผลลัพธ์เฉพาะประเทศของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่จึงเป็นสิ่งสำคัญ
เรียบเรียงจากหนังสือ
เขียนโดย เคลาส์ ชวาบ
ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum)
ฉบับภาษาไทยโดย สำนักพิมพ์ Amarin How-To
บทความอื่นๆ
Pingback: Black Mirror กระจกสะท้อนภาพ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
Pingback: 10 เทคโนโลยีพลิกอุตสาหกรรม งาน และชีวิตในยุค 4IR
Pingback: ความคิดที่ขวางทางเจริญก้าวหน้า ทำให้ยังไม่ ประสบความสำเร็จ