10 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า เกิดขึ้นได้อย่างไร อาการเป็นอย่างไร

รักษาหายได้หรือไม่ และอีกหลายคำถามที่ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดควรรู้

 

จากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2547 พบว่า โรคซึมเศร้า พบมากเป็นอันดับ 3 ของโรคที่คุกคามคนทั่วโลก (Global burden of diseases)  คาดการณ์ว่าในปี 2563 โรคซึมเศร้า จะเป็นปัญหาการเจ็บป่วยอันดับ 2 ของประชากรโลก รองจากโรคหลอดเลือดและหัวใจ และอาจแซงไปเป็นอับดับ 1 ได้ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น

ในประเทศไทยเองก็มีสถิติที่น่ากลัวอยู่เช่นกัน มีผู้ป่วยซึมเศร้าอยู่ประมาณ 3 ล้านคน แต่มาพบจิตแพทย์ไม่ถึงแสนคน อีกสองล้านคน ปล่อยให้ความเศร้าหดหู่กัดกินความรู้สึกไปเรื่อยๆ เพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเผชิญกับ โรคซึมเศร้า อยู่หรือไม่

 

ดังนั้น เราลองมาสำรวจตัวเองและทำความเข้าใจโรคซึมเศร้าไปพร้อมกัน ผ่านคำถาม 10 คำถามต่อไปนี้ เรียบเรียงจากหนังสือ “เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง” เขียนโดย ดาวเดียวดาย ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ต่อสู้กับอาการมานานกว่า 7 ปี

 

โรคซึมเศร้า

ดาวเดียวดาย ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ต่อสู้กับอาการมานานกว่า 7 ปี

ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และการบำบัดของเธอผ่านหนังสือเล่มแรกในชีวิต

“เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง” (สำนักพิมพ์อมรินทร์)

[su_quote]“…แม้การบำบัดและประสบการณ์ของฉันอาจไม่เหมือน หรือมีบางส่วนเท่านั้นเหมือนใครบางคน ฉันรู้ดีว่าแต่ละคนมีเรื่องราวในชีวิตมีปมปัญหาแตกต่างกัน กระทั่งวิธีบำบัดหรือค้นหาตัวเองก็ต่างกัน หนทางที่ดีที่สุดที่พอจะแนะนำได้ในฐานะผู้ป่วยคนหนึ่งคือ ไปพบจิตแพทย์ และเปิดใจให้ตัวเองเรียนรู้เพื่อเข้าใจโรคกับอาการที่กำลังเป็นอยู่…”ดาวเดียวดาย[/su_quote]

 

ผู้เขียนในฐานะผู้ป่วยได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์  โดยได้รับความเมตตาจากจิตแพทย์คลินิกกู้ใจ คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร (มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช) เป็นผู้ตอบคำถามเหล่านี้

 

ทางผู้เขียนและ Amarinbooks หวังว่า คำถามเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและผู้คนทั่วไปให้เข้าใจและพร้อมรับมือกับโรคซึมเศร้า

 

10 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

 

 จะสังเกตอาการของโรคซึมเศร้าอย่างไร อาการแบบไหนจึงควรไปพบจิตแพทย์

เราสามารถสังเกตความผิดปกติของตัวเองได้ดังต่อไปนี้

  • คุณภาพของอารมณ์ของเราเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หมายความว่า เราเคยเศร้าแบบนี้แล้วเดี๋ยวมันก็หาย คราวนี้ไม่ใช่ มันเศร้าลึกและยาวนาน หรือเราเคยเศร้าแล้วพอมาเจอสิ่งที่ชอบ เราสามารถสนุกกับมันได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เราสนุกกับมันไม่ได้อีกแล้วและหนีทุกอย่าง
  • เป็นอารมณ์เศร้าในทุกด้าน เช่น สมัยก่อนเราเคยเศร้า เสียใจ แล้วมันไม่อยู่กับเราทั้งวันหรือตลอดเวลา คราวนี้ไม่ใช่ เรามีอาการเศร้าเกือบตลอดเวลา เกือบทุกวัน ติดต่อกันนานเกินสองสัปดาห์หรือเป็นเดือน
  • มีอาการบางอย่างบ่งบอกถึงโรคจิตเวชแน่นอน เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน และไม่ได้เป็นแบบนิดๆ หน่อยๆ เช่น อาบน้ำแล้วได้ยินเสียงเรียกหรือเคาะประตู อันนี้ไม่ใช้ อาการหูแว่วทางจิตเวชจะเหมือนมีคนมาพูดให้เราได้ยินเลย เป็นต้น

 

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าระดับไหนที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน

  • ในระดับที่เป็นอันตรายต่อตัวเอง ไม่ใช่แค่ทำร้ายหรือฆ่าตัวตายเท่านั้น หมายถึงไม่สามารถดูแลตัวเองได้ด้วย เช่น ไปเดินริมถนนซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเองได้
  • ระดับที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น

นอกจากนี้ก็เป็นเหตุผลปลีกย่อย เช่น ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือมีความจำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยไฟฟ้า คือการใช้ไฟฟ้าระดับอ่อนเข้าไปกระตุ้นเซลล์สมอง ช่วยให้ผู้ป่วยลืมว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่มีผลเสียในระยะยาว พอหยุดการรักษาด้วยไฟฟ้า สมองก็จะทำงานเป็นปกติ

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้ามีอะไรบ้าง

มีหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยทางชีวภาพคือสารเคมีในสมองไม่สมดุล ปัจจัยด้านสังคม ปัจจัยด้านจิตใจ ปัจจัยด้านพันธุกรรม เปนต้น ปัจจัยไหนจะมีอิทธิพลมากกว่ากันขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน สมมิตว่าเราเป็นฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน พี่เราป่วยเป็นจิตเภทไปแล้ว เรามีโอกาสเป็นจิตเภทสูงมาก นี่คือปัจจัยพันธุกรรมมันแรง แต่ในกรณีที่เราไปทำอะไรแล้วเกิดภาวะเครียดหนักจนเกิดโรคขึ้นมา อันนี้เป็นปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกมากระตุ้นให้ยีนที่ไม่ควรแสดงอาการมันแสดงอาการของโรคออกมา

 

มีวิธีป้องกันโรคซึมเศร้าไหม

การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ดูแลรักษาสุขภาพจิตของตัวเองในทุกเรื่อง ทำชีวิตให้สมดุล ดูแลสุขภาพกาย ฝึกสมาธิ มีการเตรียมพร้อมจิตใจสำหรับรับเรื่องร้ายๆ ถ้าทำอยู่เรื่อยๆ โอกาสที่จะเป็นโรคก็น้อยมาก หรือเป็นแล้วไม่เรื้อรัง ฟื้นตัวได้เร็ว

ส่วนคนเป็นพ่อแม่สามารถป้องกันหรือเตรียมตัวได้ตั้งแต่แต่งงาน เมื่อพร้อม ตอนท้องไม่เครียด ถ้าเป็นผู้ป่วยอยู่แล้วต้องรักษาตัวให้ดี พอมีลูกต้องเอาใจใส่ คอยสังเกตว่าลูกมีอาการผิดปกติด้านอารมณ์หรือพฤติกรรมอะไรไหม หากมีให้รีบปรึกษาจิตแพทย์และรับการรักษา

ถ้าโรคเกิดเพราะปัจจัยทางชีวภาพ มันก็เหมือนโรคทางกายโรคหนึ่ง ยิ่งถ้าปัจจัยชีวภาพไม่ซับซ้อนมาก โอกาสจะรักษาให้หายก็ง่ายขึ้น

 

คนมีเงินเยอะๆ มีเพื่อนเยอะๆ หรือมีทุกอย่างในชีวิตเพียบพร้อม มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าไหม

มีโอกาส  รูปแบบการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันที่เร่งรีบ แข่งขันสูง อาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ยิ่งทำให้มีโอกาสเป็นโรคได้มากขึ้น

 

คนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวของผู้ป่วยจำเป็นต้องมาพบจิตแพทย์ด้วยไหม

กรณีผู้ป่วยเด็ก พ่อแม่จำเป็นต้องมาพบจิตแพทย์ด้วย เพราะมีส่วนสำคัญมากในการดูแลลูก ส่วนผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนใกล้ชิดมีบทบาทต่อชีวิตผู้ป่วยแค่ไหน ถ้ามีบทบาทมาก ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ หรือในทางกลับกัน มีบทบาททำให้ผู้ป่วยแย่ลง ควรมาพบจิตแพทย์เพื่อทำความเข้าใจโรค หรือเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะแสดงออกต่อผู้ป่วย

 

ยามีส่วนอะไรในการรักษาโรคซึมเศร้า

หน้าที่หลักของยาคือ เข้าไปปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ในอนาคตอาจจะมียาที่สามารถปรับเปลี่ยนยีนที่ผิดปกติและทำให้เกิดโรคได้ แต่ปัจจุบันยาที่ใช้จะเข้าไปช่วยปรับสารเคมีในสมองโดยตรง เช่น สารสื่อประสาทน้อยไป ยาก็ไปช่วยเพิ่ม หรือถ้ามากไปยาก็ไปช่วยบล็อก

 

กินยาไปนานๆ จะติดไหม ยาสะสมในร่างไหม

ยาที่กินแล้วติดมีเพียงส่วนน้อยมาก กลุ่มที่ติดคือ Benzodiazepines เป็นยาในกลุ่มยานอนหลับและคลายเครียด ซึ่งหมอทั่วไปให้คนไข้เวลาเครียดมากๆ นอนไม่หลับ จิตแพทย์จะให้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยจิตเวชด้วยความระมัดระวังมาก เพราะโอกาสจะใช้ยาตัวนี้แล้วใช้อย่างต่อเนื่องมีสูง ยากลุ่มนี้ทุกวันไปนานๆ ไม่ได้ ต้องให้เป็นครั้งคราว ส่วนยารักษาโรคจิตเวชตัวอื่นๆ ไม่มียาที่ทำให้ติด แต่หลายตัวกินต่อเนื่องแล้วจะหยุดไม่ได้ทันที ต้องค่อยๆ ลดปริมาณลง ความจริงก็เหมือนยารักษาโรคอื่นอีกหลายโรค เช่น ยารักษาโรคความดัน กินอยู่ดีๆ จะหยุดเลยไม่ได้เหมือนกัน

ยารักษาจิตเวชไม่ใช่โลหะหนักที่กินแล้วร่างกายจะไม่กำจัดออกมา และยามีครึ่งชีวิต หมายความว่า ส่วนใหญ่ออกฤทธิ์อยู่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น อีก 24 ชั่วโมงฤทธิ์ของมันจะลดเหลือครึ่งหนึ่งไปเรื่อยๆ จนไม่เหลือ จึงไม่สะสมในตับหรือร่างกาย

 

การหยุดยาขึ้นกับวินิจฉัยของแพทย์อย่างเดียวหรือเปล่า

ผู้ป่วยสามารถคุยกับจิตแพทย์ได้ว่าต้องการหยุดยา การรักษาโรคจิตเวชไม่ใช่แค่หมอสั่งอย่างเกียว แต่ต้องเป็น “การร่วมมือกัน” ผู้ป่วยสามารถปรึกษาหมอได้ว่าอยากหยุดยา หมอก็จะให้คำแนะนำ เช่น ยังมีอาการอยู่ไหม ถ้ามีควรกินยาคุมไว้อีกสักระยะ ถ้าไม่มีอาการค่อยปรับลดยา เป็นเรื่องที่หมอและผู้ป่วยต้องพูดคุยกัน

 

โรคซึมเศร้าถ้ารักษาหายแล้วตามคำวินิจฉัยแพทย์ มีโอกาสกลับมาเป็นอีกไหม แล้วจะหายได้ไหม

กลับมาเป็นใหม่ก็มี หายขาดก็มี เพราะมันเป็นโรคที่มีโอกาสเป็นซ้ำหรือกำเริบ ซึ่งโรคทางสมองทั้งหมดมีลักษณะนี้ เช่น โรคไมเกรน โรคลมชัก เป็นแล้วหายก็อาจกลับมาเป็นอีกก็ได้

ผู้ป่วยซึมเศร้าที่หายแล้วจึงต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเองเป็น ย้อนกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น อะไรทำให้เราเป็นหนัก อะไรช่วยให้เราดีขึ้น ต้องหมั่นเช็กตัวเองว่าผิดปกติไหม ถ้าผิดปกติขึ้นมาจะวิ่งหาใครได้บ้าง

 

 

 


บทความอื่นๆ
คำพูดที่ไม่ควรพูดกับคนเป็นโรคซึมเศร้า

6 วิธี เยียวยาโรคซึมเศร้า คำแนะนำจากอดีตผู้ป่วยที่รับมือโรคซึมเศร้านานกว่า 7 ปี

รับมือ โรคซึมเศร้าหลังคลอด โดยหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

รู้จักโรคซึมเศร้า สาเหตุ อาการและการรักษา โดยหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

9 บุคคลดังระดับโลกที่คุณอาจคิดไม่ถึงว่าพวกเขาก็เป็น

โรคหลายบุคลิกคืออะไร มาทำความรู้จัก โรคหลายบุคลิก ผ่าน 5 เคสดัง

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า