การแพ้ยา อาการข้างเคียงของยา และการลดความรุนแรงของการแพ้ยา

การแพ้ยา เกิดขึ้นได้กับคนจำนวนมาก เพราะยาก็เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน คือเป็นทั้งยารักษาโรคและยาพิษได้ในเม็ดเดียวกัน หรือเข็มเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้ยาจะมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับยาที่ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ ไม่เป็นโทษหรือไม่ เพราะยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการแพ้ บางชนิดอาจเป็นสารก่อมะเร็ง และบางชนิดก็อาจทำให้ทารกพิการได้

 

การแพ้ยา

การแพ้ยา เป็นปฏิกิริยาการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ต่อยาชนิดนั้น ๆ ปฏิกิริยานี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อยามากกว่าปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำนายได้ยาก

การแพ้ยาสามารถเกิดขึ้นได้กับยาทุกประเภท เพราะไม่มียาตัวไหนที่ปลอดภัยจากการแพ้ยาร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้แต่ยาสามัญประจำบ้านอย่างพาราเซตามอล ยาแก้แพ้อย่างคลอเฟนิรามีนก็เคยมีคนแพ้เช่นเดียวกัน

 

อาการแพ้ยา

อาการแพ้ยามีความหลากหลาย มีความรุนแรงแตกต่างกัน ดังนี้

1. อาการแพ้ยาที่ไม่รุนแรง เช่น ผื่นคัน ลมพิษทั่วทั้งตัว หรือเฉพาะตำแหน่ง เป็นปื้น ๆ ผิวหนังเปลี่ยนสี หากมีอาการดังกล่าว ควรนำยากลับไปปรึกษาสถานพยาบาลที่ได้รับยาในทันทีที่เป็นไปได้

2. อาการแพ้ยาที่รุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก อาจมีลักษณะบวมตามใบหน้า เปลือกตา ความดันโลหิตต่ำจนถึงกับหมดสติ หรือมีผื่นผิวหนังหลุดลอกชนิดรุนแรง ควรรีบมาโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่จะลุกลามจนมีโอกาสเสียชีวิต

 

การลดความรุนแรงของการแพ้ยา

รักษาตามอาการ เฝ้าระวังการเกิดอาการแทรกซ้อน และป้องกันการแพ้ยาซ้ำอีกในครั้งหน้า จำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากหากเป็นอาการแพ้ยาที่รุนแรงอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ แม้ว่าอาการแพ้ยาจะมีทั้งที่หายเองได้เมื่อหยุดยาที่แพ้ หรือให้ยาแก้แพ้ที่เหมาะสมตามความรุนแรงของการแพ้ยา

อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัย หากเกิดอาการผื่นขึ้นผิดปกติภายหลังการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มยาปฏิชีวนะ ยากันชัก ยาแก้ปวด หรือยาโรคเกาต์ แนะนำให้ส่งโรงพยาบาลด่วน เพื่อการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เฉพาะเจาะจง เพราะอาจเป็นอาการแพ้ยาที่รุนแรงถึงเสียชีวิต

ยกตัวอย่างข่าวหน้าหนึ่ง กรณีของผู้ป่วยที่กินยากันชักแล้วมีผื่นขึ้น ผู้ป่วยและคนรอบข้างต่างไม่รู้ว่าผื่นเหล่านี้แสดงถึงอาการแพ้ยา ในที่สุดอาการแพ้ยาก็ลุกลามอย่างรุนแรง จนกระทั่งทำให้ตาบอด แต่ในบางครั้งที่ผู้ป่วยเข้าใจว่า อาการแปลก ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการแพ้ยา เช่น ผมร่วง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ น้ำหนักลด ประจำเดือนไม่มา ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่อาการเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงความบังเอิญที่เกิดขึ้นตอนใช้ยาชนิดนั้นอยู่พอดี หรือเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น โรคประจำตัว ทำให้ยาชนิดนั้นอาจกลายเป็น “แพะรับบาป”

 

อาการข้างเคียงจากการใช้ยา

คำว่า “แพ้ยา” แตกต่างจาก “อาการข้างเคียงจากการใช้ยา” เนื่องจากการแพ้ยาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดกับใครและจะเกิดขึ้นอย่างไร ในขณะที่อาการข้างเคียงจากการใช้ยานั้นเป็นเรื่องที่อธิบายได้ด้วยหลักทางเภสัชวิทยา เพราะมักจะเกิดกับทุกคนที่ใช้ยานั้น

 

อาการข้างเคียงจากการใช้ยาที่พบบ่อย

ยาที่กินแล้วง่วง เนื่องจากออกฤทธิ์ที่สมอง มีผลทำให้ผู้ที่กินยากลุ่มนี้ต้องระมัดระวังเรื่องการขับรถและการทำงานใกล้เครื่องจักร ตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยาแก้แพ้รุ่นเก่า ปัจจุบันมีการพัฒนายาแก้แพ้รุ่นใหม่ที่มีผลข้างเคียงง่วงซึมน้อยลง

ยาที่ทำให้ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร หรือ “ยากัดกระเพาะ” เนื่องจากเมื่อรับประทานอย่างต่อเนื่องจะมีผลต่อการลดการสร้างเมือกมาเคลือบกระเพาะอาหาร ทำให้มีโอกาสเกิดแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น ตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่เรียกว่า เอ็นเสด (NSIADs) แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาในระยะยาว เช่น ผู้ป่วยโรคเข่าเสื่อม คุณหมอมักจะให้ยาลดกรดควบคู่ไปด้วย

 

วิธีป้องกันอันตรายจากการแพ้ยาและอาการข้างเคียง

  • ไม่ควรใช้ยาที่ไม่มีชื่อยาระบุ เช่น ยาชุด หรือยาที่ได้รับจากผู้อื่น เนื่องจากหากเกิดอาการแพ้จะไม่ทราบชื่อยา
  • ในขณะรับยาชนิดใหม่ควรสอบถามถึงอาการแพ้ยาที่สำคัญและมีโอกาสเกิดขึ้นได้
  • หากพบอาการผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยนำตัวยาที่สงสัยมาด้วยเพื่อประเมินร่วมกับอาการที่เป็นว่าสอดคล้องกับการแพ้ยาหรือไม่
  • หากได้รับการยืนยันว่าแพ้ยาจริง ต้องยื่นบัตรแพ้ยาที่ได้รับจากเภสัชกรทุกครั้งให้แก่ห้องยาเพื่อป้องกันการแพ้ยาซ้ำ ซึ่งอาจจะมีอาการรุนแรงกว่าการแพ้ยาในครั้งแรก เนื่องจากร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันต่อยาที่แพ้แล้ว

 

ดังนั้นคำถามที่เภสัชกรถามผู้ป่วยทุกครั้งก่อนจ่ายยาว่า “คุณมีประวัติแพ้ยาหรือไม่” จึงมีความสำคัญมาก

 

ส่วนหนึ่งจากหนังสือ

Drug Guru ฉลาดรู้เรื่องยา

ราคา 335 บาท สั่งซื้อออนไลน์ คลิกที่นี่


บทความอื่นๆ 

 

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า