“คำถามสัมภาษณ์งาน” ยอดฮิตที่เด็กจบใหม่ต้องถูกถาม

โอกาสได้งานในฝันจะมีเพิ่มขึ้น ถ้าคุณรู้ว่าจะถูกถามอะไรบ้างในการสัมภาษณ์งาน และนี่คือ 8 “คำถามสัมภาษณ์งาน” ยอดฮิตที่เด็กจบใหม่ต้องถูกถาม พร้อมด้วยเคล็ดลับการตอบที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณได้งานในองค์กรที่ใฝ่ฝัน เราไปติดตามกันว่ามีคำถามอะไรบ้าง!

1. แนะนำตัวเองให้ฟังหน่อย

อาจเป็นคำถามที่เอาไว้ใช้ละลายพฤติกรรมให้ผู้ถูกสัมภาษณ์หายเกร็ง แต่ก็เป็นโอกาสให้ผู้สัมภาษณ์ได้ทำความรู้จักผู้สมัครมากขึ้น ในทางกลับกัน ก็เป็นโอกาสของผู้สมัครในการสร้างความประทับใจแรกเริ่มด้วย ถ้าเราเปิดตัวตอบคำถามนี้ได้ดี ก็จะมีส่วนทำให้บรรยากาศในการพูดคุยไหลลื่น และเป็นกันเองมากขึ้น

การตอบคำถามอาจเริ่มอธิบายจากปัจจุบันว่าทำงานตำแหน่งอะไร แล้วย้อนไปถึงอดีตว่าเคยทำงานด้านไหนมาก่อน มีประสบการณ์ในด้านใดเป็นพิเศษ จากนั้นจึงจบด้วยการพูดถึงความสนใจ และเหตุผลที่อยากร่วมงานกับบริษัท พยายามพูดให้กระชับ เน้นเฉพาะใจความสำคัญ ไม่ต้องขยายความมาก

หลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องส่วนตัว และไม่จำเป็นต้องพูดถึงรายละเอียดที่มีในเรซูเม่ เช่น สถานศึกษา งานอดิเรก เพราะนั่นคือสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์รับทราบแล้ว แต่ถ้าในกรณีที่เราเพิ่งเรียนจบ ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน เราอาจต้องพูดถึงประวัติการศึกษา เหตุผลที่เลือกเรียนในสาขาที่จบมา กิจกรรมที่เคยทำระหว่างเรียน และแสดงออกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมงานกับองค์กรนี้ โดยพยายามอธิบายว่าเราจะนำประสบการณ์ที่ได้จากการทำกิจกรรมมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับองค์กรได้อย่างไร

2. อธิบายถึงเป้าหมายในอาชีพของคุณหน่อยสิ

ผู้สัมภาษณ์ ถามคำถามนี้เพราะอยากรู้เป้าหมายในการทำงานของผู้สมัคร และประเมินว่าองค์กรจะตอบโจทย์เป้าหมายนั้นได้หรือไม่ คำตอบนี้ยังสะท้อนได้ว่า ผู้สมัครเป็นคนมีความมุ่งมั่น ทะเยอทะยานมากน้อยเพียงใด ซึ่งคนที่ตั้งเป้าหมายสูงก็มีแนวโน้มที่จะต้องพัฒนาตัวเอง เพื่อไปถึงจุดนั้นให้ได้ และถ้ารับเข้าไปอยู่ในองค์กรก็อาจจะทำให้ได้บุคลากรที่พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ส่วนผู้สมัครที่ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ อาจถูกประเมินว่าเป็นคนที่ไม่เคยคิดวางแผนเผื่ออนาคต ทำงานเพียงแค่ให้เสร็จไปเท่านั้น

เคล็ดลับในการตอบคำถาม เราอาจเริ่มอธิบายจากเป้าหมายระยะสั้น 1- 2 ปีข้างหน้าก่อน เช่น ในช่วงแรกเราต้องการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดี และพยายามเรียนรู้งานในตำแหน่งนั้นให้มากที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสและความรับผิดชอบที่มากขึ้น หลังจากนั้นค่อยพูดถึงเป้าหมายในระยะยาว ว่าเราต้องการที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานนี้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้แก่องค์กรต่อในอนาคต โดยเป้าหมายที่ตอบจะต้องมีความเป็นรูปธรรม มีความเป็นไปได้ และสอดคล้องกับตำแหน่งงานที่เราสมัคร

3. ความท้าทายที่คุณมองหาในการทำงานของคุณคืออะไร

คำถามนี้ ผู้สัมภาษณ์ถามขึ้นเพื่อจะดูว่าคุณเป็นคนชอบทำงานแบบไหน บางคนอาจชอบทำงานเป็นระบบหรืองานที่มีรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ในขณะที่บางคนชอบทำงานใหม่ๆ ท้าทายตัวเองตลอดเวลา ซึ่งคำถามนี้มักจะถูกถามต่อด้วยว่า คุณจะใช้ความสามารถและประสบการณ์ของคุณอย่างไร เมื่อต้องเจอกับงานที่ท้าทาย

การตอบคำถามนี้ คุณอาจจะตอบว่าคุณชอบที่จะทำงานใหม่ๆ ที่ท้าทายอยู่เสมอ มีความสามารถที่จะรับมือกับปัญหาต่างๆ โดยคุณอาจยกตัวอย่างงานที่คุณคิดว่าท้าทาย และอธิบายถึงวิธีการทำงาน หรือจัดการกับปัญหา ที่ทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จด้วยทักษะและประสบการณ์ของคุณ

4. เป้าหมายในอนาคตของคุณคืออะไร

คำถามสัมภาษณ์งานประเภท “เป้าหมายในอนาคตของคุณคืออะไร” หรือ “เป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าของคุณเป็นอย่างไร” เป็นคำถามที่คนสัมภาษณ์ถาม เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อเขารับคุณเข้ามาทำงานแล้ว คุณจะไม่ลาออกในระยะเวลาอันใกล้ และอยากจะรู้ว่าเป้าหมายของคุณไปกับบริษัทได้หรือไม่

คุณควรตอบให้เห็นว่า เป้าหมายในอนาคตเกี่ยวข้องกับเรื่องงาน เช่น คุณอาจจะตอบว่า อยากจะทำงานในบริษัทที่คุณได้ใช้ความสามารถให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ การได้ทำงานอยู่ในบริษัทที่คุณสามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่สิ้นสุด หรือการได้ทำงานในระดับบริหาร เมื่อคุณมีความสามารถและประสบการณ์ที่เพียงพอ

แต่เป้าหมายสำหรับบางคน อาจเป็นการได้กลับไปเรียนต่อหรือทำธุรกิจของตัวเอง คำตอบเหล่านี้ไม่ใช่คำตอบที่ผิด หลายองค์กรไม่ได้มีปัญหากับเรื่องนี้ เขาอาจสนใจแค่ว่า เมื่อรับคุณเข้ามาแล้ว คุณสามารถทำงานให้เขาได้อย่างเต็มที่ตามที่เขาคาดหวังหรือไม่ แต่บางองค์กรอาจจะรู้สึกว่า คุณเข้ามาทำงานกับเขาเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ แล้วก็จะนำความรู้ที่ได้จากเขาไปทำประโยชน์ให้กับตัวเอง ซึ่งส่งผลให้เขาอาจไม่อยากรับคุณ เพราะคิดว่าคงทำงานกับเขาได้ไม่นาน และทำให้เขาต้องเสียเวลาในการสอนงาน และหาคนใหม่มาทำงานแทน

ดังนั้น ถ้าหากคุณต้องการที่จะตอบเรื่องการเรียนต่อ หรือเรื่องการมีธุรกิจของตัวเอง คุณก็ควรจะต้องศึกษาวัฒนธรรมขององค์กรที่คุณไปสมัคร และประเมินผู้สัมภาษณ์ให้ดีก่อนตัดสินใจตอบออกไป 

5. สิ่งที่คุณสนใจเกี่ยวกับงานนี้คืออะไร

ผู้สัมภาษณ์ต้องการรู้ว่า คุณต้องการทำงานในตำแหน่งนี้จริงหรือไม่ เพราะทุกบริษัทก็อยากได้พนักงานที่มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่ง และรักในงานที่ทำ พวกเขาจึงต้องแน่ใจว่าผู้สมัครมีทั้งความรู้ในตัวงานและมีความกระตือรือร้นในการเข้ามาทำงานกับบริษัทอย่างแท้จริง การถามคำถามนี้จะช่วยคัดกรองว่า ผู้ถูกสัมภาษณ์เตรียมตัวมาสมัครงานดีพอหรือไม่ หรือแค่ส่งใบสมัครมาโดยไม่ได้ใส่ใจรายละเอียดงาน ไม่ทำการบ้านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัท

คุณต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่า คุณมีทั้งความสามารถใส่ใจและเตรียมตัวมาอย่างดี เมื่อถูกถามเกี่ยวกับงานหรือข้อมูลของบริษัทก็สามารถตอบได้ สิ่งเหล่านี้จะแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงความตั้งใจจริงในการสมัครงาน และเกิดความประทับใจ คุณอาจอธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมงานตำแหน่งนี้จึงทำให้คุณสนใจ คุณมีประสบการณ์อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานดังกล่าว คุณคิดว่าคุณจะสามารถพัฒนางานในตำแหน่งนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างไร หรือหากคุณมีความรู้เกี่ยวกับบริษัท หรือรู้วัฒนธรรมขององค์กร

คุณอาจเสริมได้ว่า คุณเหมาะสมกับบริษัทอย่างไร เช่น คุณมีสไตล์การทำงานที่เข้ากันกับบริษัท ยิ่งสามารถให้เหตุผลประกอบเชื่อมโยงตัวตนของคุณกับตำแหน่งงานที่สมัครได้มากเท่าไร ผู้สัมภาษณ์จะยิ่งสนใจในตัวคุณมากขึ้นเท่านั้น เพราะเขาจะเห็นแววว่าคุณมีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้แผนกและองค์กรโดยรวมดีขึ้นได้

6. จุดแข็งของคุณคืออะไร

ความจริงแล้วผู้สัมภาษณ์งานที่ถามคำถามนี้ ไม่ได้ต้องการรับฟังเพียงข้อดี หรือความสามารถของคุณ เท่านั้น แต่คำถามนี้เป็นการประเมินพฤติกรรม ปฏิกิริยา และทัศนคติของผู้ถูกสัมภาษณ์ว่า พวกเขามองเห็นตัวเองเป็นคนอย่างไร มีลักษณะนิสัยหรือรู้จักตัวเองดีแค่ไหน และมีความเหมาะสมต่อตำแหน่งงานนี้จริงๆ หรือไม่

คำถามนี้เป็นหนึ่งในคำถามยอดนิยมที่ผู้สัมภาษณ์มักจะถาม แต่ก่อนจะตอบ เราแนะนำให้คุณเตรียมตัวในการตอบคำถามนี้ให้ดีก่อนไปสัมภาษณ์งานทุกครั้ง ด้วยการค้นหาข้อมูลของบริษัท และตำแหน่งงานที่คุณจะไปสัมภาษณ์ หลังจากนั้นให้ลิสต์คุณสมบัติ และทักษะการทำงานที่คุณมั่นใจว่าเป็นจุดแข็งของคุณ จัดลำดับความสามารถจากมากไปน้อยสัก 3 – 5 อันดับ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตอบคำถาม แล้วพิจารณาว่าทักษะด้านไหนของคุณที่สอดคล้องกับบริษัท หรือตำแหน่งงานที่คุณกำลังจะไปสัมภาษณ์มากที่สุด

ให้เลือกทักษะที่เกี่ยวข้องนั้นในการตอบคำถาม และอธิบายว่าคุณจะสามารถใช้จุดแข็งของคุณช่วยเหลือบริษัทได้อย่างไรบ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าคำตอบของคุณต้องเป็นความจริง และคุณมีความสามารถในเรื่องนั้นจริง เน้นย้ำให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจว่าคุณคือคนที่ใช่ สำหรับตำแหน่งนี้ ด้วยการแสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณมีคุณสมบัติ ทักษะ และประสบการณ์มากเพียงพอสำหรับการทำงานในตำแหน่งที่บริษัทกำลังต้องการตัว 

7. จุดอ่อนของคุณคืออะไร

ผู้สัมภาษณ์ที่ถามคำถามนี้ มักจะต้องการทราบว่าคุณรู้จักตัวเองดีแค่ไหน ซื่อสัตย์แค่ไหนในการยอมรับข้อเสียของตัวเอง และมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตัวเองมากแค่ไหน

การที่คุณสามารถบอกได้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนอะไร หมายถึงคุณเป็นคนที่รู้จักตนเองเป็นอย่างดี เป็นคนที่กล้ายอมรับความจริงและซื่อสัตย์กับตนเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องนั่งสาธยาย ข้อเสียทั้งหมดของตัวเองให้คนอื่นได้รับรู้ การตอบคำถามข้อนี้ให้เน้นไปที่ข้อเสียซึ่งสามารถแก้ไขได้ โดยคุณอาจบอกว่า คุณค้นพบจุดอ่อนของตัวเองแล้วและกำลังแก้ไขจุดอ่อนนั้นอยู่

คุณอาจอธิบายเพิ่มเติมว่า คุณมีวิธีในการพัฒนาทักษะด้านนั้นให้ดีขึ้นอย่างไร และทิ้งท้ายว่าทักษะที่คุณกำลังเรียนรู้เพิ่มเติมนั้นอาจช่วยส่งเสริมในเรื่องการทำงานในตำแหน่งที่คุณสมัครได้อย่างไรบ้าง ขอบเขตของจุดอ่อนอาจเป็นได้ทั้งเรื่องของทักษะเฉพาะบางอย่างที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานโดยตรง ความรู้บางสาขา เช่น ภาษาต่างประเทศ หรือความรู้อื่นๆ ที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้หากใช้เวลา

8. ทำไมคุณถึงเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับงานนี้

คำถามนี้นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งจุดประสงค์ของผู้ถามคือ ต้องการให้ผู้สมัครได้อธิบายความสามารถของตนเอง และจุดเด่นที่คิดว่าแตกต่างจากผู้สมัครงานคนอื่น โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีการแข่งขันสูง และผู้สมัครส่วนใหญ่มีคุณสมบัติครบถ้วน ผู้สัมภาษณ์จึงต้องการคำตอบที่จะทำให้พวกเขาตัดสินใจได้ง่ายยิ่งขึ้น

การตอบคำถามนี้ทำได้โดยพิจารณาจากหน้าที่และคุณสมบัติของตำแหน่งที่สมัคร หลังจากนั้นให้พิจารณาถึงจุดเด่น ทักษะที่เรามีประกอบกับผลงานที่เคยประสบความสำเร็จ เลือกมาไม่เกิน 4 ข้อ ที่คิดว่าโดดเด่น และสอดคล้องกับตำแหน่งนั้น นำมาเรียบเรียงและเตรียมการนำเสนอให้น่าสนใจ และอธิบายให้รวบรัดเข้าใจง่าย

ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าตัวเราไม่ได้มีทักษะที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ให้เราแสดงออกถึงความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมกับองค์กร และอธิบายถึงสิ่งที่คิดว่าเราจะทำให้แก่องค์กร ซึ่งในสถานการณ์จริง ถึงแม้ว่าผู้สัมภาษณ์จะไม่ได้ถามคำถามนี้ เราก็ต้องหาโอกาสที่จะนำเสนอจุดเด่นที่เราเตรียมมาให้ได้อยู่ดี

“คำถามสัมภาษณ์งาน” ยอดฮิตที่เด็กจบใหม่ต้องถูกถาม

หนังสือ โปรดหยิบเล่มนี้อ่านเพราะ “ไม่มีงาน” มันน่ากลัว

เขียนโดย JobThai

วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์
คลิก

บทความอื่นๆ

Soft Skills ทักษะที่ทำให้คุณมีความสามารถเหนือหุ่นยนต์

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า