[ทดลองอ่าน] ให้ความโดดเดี่ยวเชื่อมเราไว้ด้วยกัน ทาคาชิ ไซโต

ให้ความโดดเดี่ยวเชื่่อมเราไว้ด้วยกัน
孤独のチカラ

ทาคาชิ ไซโต เขียน
นพัฒน์ หัทยานันท์ เเปล

————————————————————-

คำนำสำนักพิมพ์

หากเวลานี้คุณรู้สึกโดดเดี่ยว และไม่สามารถสลัดความรู้สึกนี้ออกไปได้ ก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะคุณใช้ชีวิตมาถูกทางแล้ว

ไม่ว่าวันนี้คุณจะเป็น นักเรียน นักศึกษา หรือพนักงานบริษัท ที่รายร้อมไปด้วยเพื่อนฝูงมากมาย แต่คุณก็ต้องไม่ลืมว่าพอถึงวันหนึ่งพวกเขาก็จะจากไป  แล้วคุณก็ต้องกลับมาอยู่อย่างโดดเดี่ยวอยู่ดี  เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่พอจะทำได้ ก็คือต้องหัดเรียนรู้ที่จะอยู่กับความโดดเดี่ยวให้ได้ตั้งแต่ตอนนี้ หากปล่อยให้เวลาไหลผ่านไปโดยไม่ฝึกฝน  เมื่ออายุมากขึ้นคุณก็จะไม่สามารถรับมือกับความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นในชีวิตได้

ลองคิดดู ถ้าชีวิตของคุณยังรายล้อมไปด้วยเพื่อนฝูงที่จัดปาร์ตี้กันทุกคืน หรือมีครอบครัวดูแลอยู่ตลอดเวลา แล้วคุณจะเติบโตเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร จริงอยู่ที่การใช้เวลาอยู่กับเพื่อนฝูงและครอบครัวคือสิ่งที่ดี  แต่เชื่อไหมว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนใหญ่ พวกเขาล้วนหันหน้าเข้าหาตัวเอง และเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยวของชีวิตอย่างกล้าหาญ

ความโดดเดี่ยวในที่นี้ไม่ได้หมายว่า ต้องตัดความสัมพันธ์กับทุกคนในชีวิตเพื่อให้รู้สึกโดดเดี่ยว แต่หมายถึงการเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเอง ฝึกฝนความสามารถของตัวเอง  โดยไม่ปล่อยให้คำพูดหรือรสนิยมของคนอื่นมากำหนดชีวิตของเรามากจนเกินไป

“  หวังว่าหลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว  คุณจะค้นพบหนทางแห่งความโดดเดี่ยวที่เหมาะกับตัวคุณ และสามารถเปลี่ยนความโดดเดี่ยวนั้นให้กลายเป็นพลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ในที่สุด ”

–  Springbooks

————————————————————-

สารบัญ

บทที่ 1

10 ปีแห่งการสูญเสีย (ความโดดเดี่ยวกับตัวฉัน)  

ช่วงเวลาอันโดดเดี่ยวของผม

แสงสว่างในความโดดเดี่ยว

ช่วงเวลาแห่งความโดดเดี่ยวที่ได้สั่งสมพลัง

บทที่ 2

ใช้ชีวิตในฐานะ “ผู้ถือสันโดษ”

อย่างแรกคือการตัดสินใจที่จะแยกตัวออกมา

เป็นตัวเองแบบทุกวันนี้ดีแล้วหรือ

ท่องคาถา “จงหาข้อสรุปให้ได้”

สิ่งที่ควรทำในห้วงเวลาแห่งความโดดเดี่ยว

การอยู่คนเดียวทำให้ผู้คนเข้มแข็งขึ้น

ความกล้าหาญในการตัดสัมพันธ์

จงเลือกความโดดเดี่ยวที่ผลักดันเราไปข้างหน้า

ร่างกายและความรู้สึกรับรู้ของผู้ถือสันโดษ

 

บทที่ 3

เทคนิคแห่งความโดดเดี่ยว

วิธีการทั้ง 3 ข้อ เพื่อไม่ให้คุณนิ่งนอนใจกับตัวเองในปัจจุบัน

เปลี่ยนตัวเองให้เป็นเพื่อนตาย

ความโดดเดี่ยวที่มีสายน้ำช่วยหล่อเลี้ยง

ดิน น้ำ ลม ไฟ

ร่างกายคือวิหารเคลื่อนที่

แนบชิดและถอยห่างจากอารมณ์ด้านลบ

ความโดดเดี่ยวที่มีแรงสั่นสะเทือนคอยปลอบประโลม

เทคนิคการใช้เวลาตามลำพังของผู้หญิง

 

บทที่ 4

โลกที่อยู่เพียงลำพัง (เหล่าบรรดาผู้ถือสันโดษ)

ความโดดเดี่ยวกับการออกพเนจร

วิธีการลิ้มรสความโดดเดี่ยวในแบบสนัฟกิ๊น

ความรู้สึกโดดเดี่ยวอันเกิดจากความแปลกแยกของยุคสมัย

วรรณกรรมกับความโดดเดี่ยว

“วัยรุ่น”

การอ่านหนังสือคือการเดินทางสู่โลกของคนตาย

ชนวนแห่งความโดดเดี่ยว

นะคะฮะระ จูยะ

จมดิ่ง

“เกลียดชังคนธรรมดา”

 

บทที่ 5

พลังแห่งความโดดเดี่ยว

สิ่งที่มองเห็นจากมุมมองของผู้ถือสันโดษ

รู้จักกับความโดดเดี่ยวในความรัก

ความโดดเดี่ยวทำให้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น

ความโดดเดี่ยวกับเครื่องดนตรี

ภาระงานที่เหมาะสมกับความโดดเดี่ยวคือ

รากฐานของพลังแห่งความโดดเดี่ยวคือนอร์อดรีนาลีน

เปลี่ยนมุมมองแห่งความอนิจจังมาเป็นอาวุธ

กระแสน้ำใต้พิภพ

 

————————————————————-

 

บทนำ

 

ผู้คนในยุคปัจจุบันต่างหวาดกลัวความโดดเดี่ยวเป็นอย่างมาก อาจจะเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบต่อความหวาดกลัวที่มีต่อความโดดเดี่ยวนั้นหรือเปล่า พวกเราจึงปรารถนาที่จะรวมกลุ่มกับผู้คนอื่น ๆ จนผมแทบอยากจะเรียกว่า “เป็นอาการของโรควิตกกังวลที่เกิดจากการไร้พวกพ้อง”

ในความเป็นจริง หากพูดว่า “ไม่มีเพื่อน” เราก็จะถูกสังคมนี้ตรีตราราวกับว่าเป็นผู้ล้มเหลวในการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ เพราะว่าเราต่างหวาดกลัวสภาวะของการไม่มีพวกพ้อง จึงมีผู้คนที่เผลอตัวคบหากับผู้คนอื่น ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำความรู้จักกันตั้งแต่แรกเลยก็ได้อยู่มากมาย

หากคุณรู้สึกสบายใจที่ได้ทำเช่นนั้น นั่นก็ถือว่าเป็นวิธีการใช้ชีวิตรูปแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน แต่ถ้าหาก  ลึก ๆ ในใจของคุณก็ไม่ได้รู้สึกพอใจกับการใช้ชีวิตเช่นนั้น และไม่สามารถเข้าใจด้านดีของการใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้จนทำให้ใช้เวลาในชีวิตนี้ไม่ได้ตามที่หวังไว้ล่ะก็ การปล่อยเวลาจำนวนมหาศาลให้ผ่านไปแต่ละวันนั้นจึงเท่ากับการทำให้ความหมายของชีวิตนั้นเจือจางลง

 

สมัยยังเด็ก ผมเคยเรียนเพลงเพลงหนึ่งที่มีเนิ้อร้องว่า  จะมีเพื่อนถึง 100 คนไหมนะ (ชื่อเพลง Ichinensei ni nattara  แต่งเนื้อเพลงโดย มะโดะ มิจิโอะ ทำนองเพลงโดย ยะมะโมโตะ นะโอซุมิ) แต่ทว่า หากมีคนที่มีเพื่อนเป็นร้อยคนจริง ๆ ก็คงจะเป็นจำนวนที่มากเกินพอ

ถ้าอย่างนั้นแล้ว ทำไมผู้คนถึงหวาดกลัวต่อความโดดเดี่ยวมากขนาดนั้นกันล่ะบางทีภาพลักษณ์ของคำว่า โดดเดี่ยว อาจจะผูกติดโดยตรงอยู่กับ “ความเหงา” เป็นความเหน็บหนาวอันบางเบาราวกับความแห้งแร้งในฤดูหนาวไม่ว่าใครต่างก็ทุกข์ทรมานกับความโดดเดี่ยวกันทั้งนั้นจึงทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “การรวมกลุ่ม” ขึ้น

สาเหตุที่การอ่านหนังสือเรียนสร้างความทุกข์ทนอาจเป็นเพราะว่าเราจะต้องทำสิ่งนั้นท่ามกลางความโดดเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ฝึกแก้โจทย์ปัญหา หรือตอนอ่านหนังสือ ช่วงเวลาเหล่านั้นจะเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์อย่างพวกเราจะรู้สึกโดดเดี่ยว แต่กระนั้นกิจกรรมที่สามารถสร้างประสิทธิภาพและผลิตภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นโดยที่ต้องพึ่งพาความโดดเดี่ยวเพียงเท่านั้น คือการเรียนและการอ่านหนังสือแต่เมื่อไม่สามารถฝืนทนต่อความโดดเดี่ยวในช่วงขณะนั้นได้จึงต้องเปิดทีวี หรือวิทยุ หรือไม่ก็ดนตรีที่ชอบให้มีเสียงคลอเอาไว้ เพื่อเป็นการดึงความรู้สึกให้ออกมาจากความโดดเดี่ยวนั้น สิ่งที่ได้รับจากการอ่านหนังสือก็จะลดน้อยลง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรทัศน์ ที่จะสร้างบรรยากาศชวนให้รู้สึกว่าผู้คนในโทรทัศน์ที่ออกมานั้นเป็นเพื่อนของเรา ราวกับได้พูดคุยกันอย่างสนิทสนมกับเหล่าบรรดาผู้มีชื่อเสียง อย่างเช่น “ คุณ A ก่อนหน้านี้ก็ได้เล่าเรื่องนี้มาแล้วใช่ไหมล่ะครับ” หรือ “คุณ B นี่สุดยอดไปเลยครับ” พอได้พูดคุยเรื่องราวเหล่านั้นกับเหล่าเพื่อนฝูงใกล้ตัว ทำให้เกิดความรู้สึกราวกับว่าตัวเองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาแล้วเมื่อถึงตอนนั้นความโดดเดี่ยวที่มีอยู่ก็จะจางหายไปชั่วครู่ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถมีสมาธิอยู่กับการครุ่นคิดได้อย่างลึกซึ้ง

ความนิยมของแบรนด์เสื้อผ้าแบบ DC(1)ที่เติบโตจนน่าตกใจในปัจจุบันก็เป็นผลมาจากสังคมที่ผู้คนต่างออกไปต่อแถวซื้อมากันอย่างมากมาย เพราะว่าคนอื่นอยากได้ ตัวเองจึงอยากได้บ้าง บริษัทผู้ผลิตได้วางแผนที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์แบรนด์” ใช้ความปรารถนาอยากได้อยากมีของกลุ่มคนมากลบเอาความโดดเดี่ยวออกไป หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เพราะว่าตัวเองมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งตรงหน้า จึงทำให้สามารถหลบหนีกับการตั้งคำถามพื้นฐานอย่างเช่นว่า ตัวเองคือใคร และการใช้ชีวิตคืออะไร ออกไปได้ ถึงแม้ความคิดที่ว่า “ฉันกำลังตามหาตัวตนพลางมองสินค้าแบรนด์นี้อยู่อย่างเดียวดาย” อาจจะไม่ได้หยุดลง แต่ความว้าวุ่นในจิตใจที่ได้มาสนุกสนาน“มารวมตัวกัน”อยู่ต่อหน้าสินค้าแบรนด์เนมเหล่านั้น กลับเพิ่มขึ้นจนห้ามไม่อยู่

เฉกเช่นเดียวกัน ก็ยังมีกรณีที่การพูดคุยกับเพื่อนที่สนิทสนมกันเป็นเพียงแค่การใช้เวลาไปอย่างฟุ่มเฟือยแต่ก็รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้คุยกับพวกพ้องที่เข้ากันได้ดี แน่นอนว่าการได้ใช้ช่วงเวลาอย่างสนุกสนานกับเพื่อนฝูงนั้นสามารถกลายเป็นเป้าหมายของการใช้ชีวิตได้ข้อหนึ่งเลย สำหรับเรื่องของเวลาอันแสนสำคัญนั้น ผมไม่มีอะไรจะโต้แย้ง แต่ว่าในระหว่างที่เราพูดคุยกันนั้นก็คงจะตอบได้ยากว่ามีอะไรสักอย่างที่กำลังเติบโตขึ้น

การใช้เวลาฟังเพลงและผ่อนคลายอยู่ในห้องเพียงลำพังนั้น หากพูดกันตามตรง ผมว่านั่นไม่ใช่ความโดดเดี่ยว เสียงเพลงจะทำให้ตัวเราไหลไปตามท่วงทำนองของมัน มากกว่านั้นยังทำให้ไม่ได้ครุ่นคิดถึงสิ่งอื่นใด ลักษณะเช่นนี้ คือความสุขสบาย และเป็นพฤติกรรมเชิงรับ จากงานวิจัยสาขาประสาทวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนี้กล่าวว่า ตอนที่กำลังฟังเพลงอยู่นั้นสมองแทบจะไม่ได้ทำงานเลย

กล่าวคือ ข้อเสนอของผมไม่ได้จะบอกให้ทุกคนพยายามใช้เวลาไปกับการผ่อนคลายคนเดียว หรือให้พยายามเยียวยาตัวเองลำพังแต่ผมอยากให้ทุกคนพยายามหาเวลาที่ตัวเองจะได้หันหน้าเข้าหาตนเอง และได้พัฒนาความสามารถของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ช่วงเวลาสั้น ๆ ของกิจกรรมทางปัญญาที่ทำให้สมองตื่นตัวและทำงานต่างหาก คือความโดดเดี่ยวที่ทุกคนควรจะมี ความโดดเดี่ยวเช่นนี้จำเป็นต้องใช้พลังงานพ่วงมาด้วยความเคร่งคัด และอารมณ์อันมัวหมองคือวิธีการที่ดีที่สุด แม้ว่าจะทำสิ่งต่าง ๆ อย่างสดใสเพียงลำพังได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรเสีย ความมืดมนมัวหมองต่างมีพลังของมันอยู่

หากเป็นไปได้ ผมจึงอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ความโดดเดี่ยวที่จะสะสมมากขึ้นยิ่งไปในช่วงเวลาที่ยังหนุ่มสาวและยังมีพละกำลังอยู่ หากเราเอาแต่ถือเพียงแค่ความสนุกสนานที่ได้คุยเสียงดังครึกครื้นกับผองเพื่อน ไปคาราโอเกะต่าง ๆ ติดตัวไป เราจะไม่มีทางเติบโตได้เลย

เราจะต้องขัดเกลาตนเองอย่างเคร่งคัด เดิมพันแพ้ชนะ และตอนนั้นตัวเราจะเดินไปข้างหน้าและโดดเดี่ยว ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นวิถีทางแห่งความโดดเดี่ยวที่พึงมี

ในหนังสือเล่มนี้ผมจะพูดถึงเกี่ยวกับกลวิธีของความโดดเดี่ยวโดยจะพิจารณาจากหลาย ๆ แง่มุม หากสามารถอยู่ร่วมกับความโดดเดี่ยวนั้นได้อย่างชำนาญแล้วล่ะ ช่วงเวลาสั้น ๆ นั้นจะกลับกลายเป็นสิ่งสร้างสรรค์อย่างล้นหลาม

หนังสือเล่มนี้จะเป็น “การกล่าวคำชื่นชมต่อความโดดเดี่ยว” ในแบบของผมที่ได้รับรู้มาว่าความโดดเดี่ยวนั้นจะกลายมาเป็นพลังในที่สุด

 

 

 

ช่วงเวลาอันโดดเดี่ยวของผม

            เมื่อปี 2005 ผมได้ออกหนังสือไปมากกว่า 30 เล่ม นอกจากนี้ยังมีงานวิทยากร งานสอน งานเกี่ยวกับสื่อบันเทิง และงานบรรณาธิการงานเขียน ผมทำงานจนตัวเองก็ไม่เข้าใจเหตุผลด้วยเหมือนกันว่า ทำไมต้องทำงานมากขนาดนี้ ในขณะที่ผมรู้สึกขอบคุณกับการที่ได้รับโอกาสในการทำงานต่าง ๆ นี้ ก็ยังมีอีกความคิดหนึ่งที่ลอยขึ้นมาในหัว นั่นก็คือ “ทำไมเมื่อ 10 ปีก่อน ผมถึงไม่มีโอกาสได้ทำงานเหมือนตอนนี้เลย”

สิ่งที่ผมได้ทำในโรงเรียนกวดวิชาประถมไม่ว่าจะเป็นการอ่านออกเสียงหรือวิธีการหายใจที่ผมพูดเน้นย้ำอยู่เสมอนั้นเป็นสิ่งที่ผมได้สร้างมันขึ้นมาเอาไว้เมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว กล่าวคือ แม้จะเป็นเมื่อ 10 ปีก่อนนั้น ผมก็ได้ทำงานที่เหมือนกับงานในตอนนี้มาแล้วนั่นเอง และยิ่งไปกว่านั้น ตอนนั้นผมมีทั้งพลังกายที่มากมายเหลือล้นกว่าตอนนี้ ทั้งยังมีความคิดที่เฉียบแหลมรวดเร็วกว่า แต่ทว่าตอนนั้นกลับไม่มีใครยอมรับผมเลย จึงพูดได้ว่าความคับแค้นใจในตอนนั้นทำให้ผมต้องทุ่มเททำงานหนักมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องที่ทำไม่ได้ในตอนนั้นและความโดดเดี่ยว หากพูดกันตรง ๆ แล้วผมไม่แม้แต่อยากจะนึกถึงมันเลย แต่ทว่า ถ้าหากการเล่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นการให้กำลังแก่ผู้คนที่กำลังทุกข์ทนอยู่กับความโดดเดี่ยวในตอนนี้ หรือเป็นพลังให้แก่ผู้คนที่รู้สึกว่าอยากจะปลีกตัวจากสังคมกลุ่ม แต่ก็หวาดกลัวความโดดเดี่ยวจนไม่สามารถก้าวเท้าออกมาได้ แม้จะเป็นกำลังใจเพียงเล็กน้อย แต่ก็คงมีความหมายอยู่บ้าง

 

สำหรับผม ช่วงเวลานับจากตอนอายุ 18 ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่สำเร็จ จนถึงอายุ 32 ปีที่ได้เข้าทำงานที่มหาวทิยาลัยเมจิ ช่วงเวลา 10 กว่าปีมานี้ ผมได้ใกล้ชิดอยู่กับความโดดเดี่ยวอย่างลึกซึ้ง เป็น ช่วงเวลา 10 กว่าปีแห่งความดำมืด ผมเรียกมันว่าอย่างนั้น

ช่วงระยะแรกแห่งความโดดเดี่ยว เริ่มตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นโรนิน (2) จนถึงช่วงเป็นนักศึกษาปี 1-2 อาจจะมีหลายคนที่ตอนเด็กรู้สึกหลงใหลอยากที่จะใช้ชีวิตตัวคนเดียว แต่อาจจะเป็นเพราะผมถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่ทุกคนต่างคึกครื้นร่าเริง การออกมาใช้ชีวิตตัวคนเดียวในโตเกียวจึงไม่ค่อยสะดวกสบายเลยแม้แต่น้อย พอล้มตัวลงนอนและจ้องมองเพดานใต้หลังคา ก็รู้สึกหดหู่อย่างท่วมท้นว่า “มีเพียงแค่ฉันคนเดียวสินะที่ถูกแยกออกมาให้อยู่ในซอกหลืบของจักรวาล” นอกจากนี้การใช้ชีวิตแบบโรนินทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองหยุดอยู่กับที่ไม่ขยับไปไหน และความรู้สึกโดดเดี่ยวนั้นก็ซึมลึกลงสู่หัวใจไปทุกอณู

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการแข่งขันระดับประเทศหรือกีฬาโอลิมปิก การสอบจะถูกจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ความสำเร็จของ 1 ปีนั้นที่ได้ทุ่มเทใช้เวลามาหลายต่อหลายวันจะถูกตัดสินภายในช่วงเวลา 1-2 วัน หากเป็นนักเรียนมัธยมที่เข้าสอบในปีนั้นล่ะก็ เพียงแค่แสดงความสามารถที่สะสมมาหลายต่อหลายปีออกมาทั้งหมดเท่าที่มีก็เพียงพอ แต่สำหรับโรนินพวกเขาจะถูกไล่ต้อนจนไม่มีทางให้หนีไปมากกว่าเดิม ในวันที่สำคัญเช่นนั้นจึงต้อง “พยายามอย่างสุดความสามารถ” สำหรับเด็กมัธยมที่เข้าสอบในปีนั้นอาจรู้สึกไม่กังวลแต่สำหรับโรนินแล้ว พวกเขายังมีความกดดันที่คอยวนเวียนติดตัวอยู่เสมอ

แต่เมื่ออายยุเกิน 30 ปี ผมจึงสามารถยอมรับได้อย่างง่าย ๆ ว่า ถึงแม้เวลาในชีวิตจะช้าไปสัก 1 ปีก็ไม่เป็นไรหรอก หากเป็นผมในตอนนี้ละก็ คงจะคิดว่า “อะไรกัน แค่ปีเดียวเอง” แต่ตอนนั้นผมกลับรู้สึกว่าช่วงเวลา 1 ปีในตอนนั้นช่างเป็นการเสียเวลาอย่างมากที่สุด

 

 

 

ถ้าหากจะพูดถึงสาเหตุของช่วงเวลา 1 ปีแห่งการหยุดชะงักนั้น ก็เป็นเพราะว่าตัวผมเองสมัยมัธยมปลายหมกมุ่นเรื่องกีฬามากเกินไป และเข้าสอบโดยที่เตรียมตัวอ่านหนังสือมาอย่างไม่เพียงพอ ทั้ง ๆ ที่ผมเข้าใจเช่นนั้นมาตลอด แต่ตัวผมกลับไม่สามารถให้อภัยกับการที่จะต้องมาใช้ 1 ปีเพื่อการสอบเข้าครั้งที่สองได้เลย

นอกจากนี้ สถานภาพที่ไม่ได้สังกัดกับหน่วยใด ๆ นั้นเป็นต้นกำเนิดของความทุกข์ เรื่องนี้เป็นความโดดเดี่ยวระยะที่ 2 ผมได้ลิ้มรสชาติแห่งความทุกข์ทรมานพอ ๆ กับช่วงที่เริ่มหางาน ยกตัวอย่างเช่น การที่ได้บอกว่า ตนเองเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Aหรือได้บอกว่า เป็นพนักงานจากบริษัทBก็ล้วนทำให้เรารู้สึกมั่นคงไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ความรู้สึก หรือสถานภาพทางสังคม แต่ตัวผมที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่สำเร็จนั้น กลับไม่มีที่ยืนเลย ถึงแม้จะเป็นนักเรียนโรงเรียนกวดวิชา แต่ผมไม่ถนัดการตื่นเช้า จึงไม่ค่อยได้ไปโรงเรียนกวดวิชาซักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผมนั้นห่างไกลออกจากสังกัดทั้งปวง

ตอนนั้นสิ่งที่ผมรู้สึกอย่างรุนแรงกว่าสิ่งใดก็คือ ความยึดติดที่ว่าจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าช่วงเวลาแรมปีที่เสียไปนั้นจะต้องไม่ไร้ความหมาย ถ้าหากเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านไปได้อย่างราบรื่น จะมีอะไรอีกล่ะที่จะไม่สามารถไขว่ขว้ามาได้ ความมุ่งมั่นที่ไม่รู้จักท้อถอยว่า จะต้องคว้าโอกาสนั้นมาให้ได้นั้น มีอยู่อย่างมากมาย

พอหลังจากที่เข้ามหาวิทยาลัยมาแล้ว ผมก็ถูกนักเรียนคนอื่น ๆ ที่อายุน้อยกว่าผม 1 ปี พูดคุยด้วยภาษาที่เป็นกันเอง ทั้งยังถูกอดีตเพื่อนร่วมรุ่นเรียกแบบห้วน ๆ ในฐานะรุ่นพี่อีกด้วย ผมจึงรู้สึกไม่สบอารมณ์อย่างยิ่งเพราะว่าผมมีความถือตัวที่ว่าตนได้ฝึกฝนจิตใจมาอย่างหนักหน่วงเป็นเวลาตั้ง 1 ปี “ชมรม” ที่เป็นความบันเทิงผ่อนคลายพื้นฐานของนักศึกษามหาวิทยาลัย ผมพูดได้เลยว่าเป็นสิ่งที่ผมรังเกียจมาตลอด คำว่า circle แรกเริ่มเดิมที่แล้วหมายถึงวงกลม ทุกคนต่างกอดไหล่ เรียงแถว มารวมตัวและใช้เวลาร่วมกัน อย่างเช่นออกไปร้องเพลง ซึ่งเป็นภาพที่ชวนให้ผมรู้สึกหดหู่ ผมเป็นบุคคลอันตราย ชวนทะเลาะไปเรื่อย ทำความสัมพันธ์ที่มีทั้งหมดพังทลายลง และแทบจะอยู่ตัวคนเดียวตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือหนังสือผมก็อยากจะทำความรู้จักสิ่งเหล่านั้นไปจนถึงเนื้อแท้ของพวกเขา แต่ในความเป็นจริงแล้วก็เป็นไปได้ยาก เพื่อนที่แสนดีเพียงคนเดียวของผมนั้นคือเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันที่มีความรู้สึกพ้องต้องกันว่าพวกเราจะไม่มีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบัน

แม้กระทั่งหนังสือเองก็ตาม ผมถือคติว่าจะไม่อ่านผลงานการเขียนที่เป็นยุคปัจจุบัน หรือจะไม่อ่านหนังสือที่ติดอันดีบขายดีจนเป็นกระแสอย่างเด็ดขาด ในช่วงที่ผมกำลังสับสนว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยดีหรือไม่นั้น ผลงานฉบับเดบิวต์ของฮารุกิมุราคามิ  เรื่อง สดับลมขับขานที่เป็นกระแสอยู่ตอนนั้น ผมค่อนข้างใช้เวลามากพอสมควรกว่าจะสามารถอ่านงานเขียนชิ้นนั้นได้ หากมองจากสายตาของผู้หญิงก็อาจจะเป็นงานเขียนเกี่ยวกับความโดดเดี่ยวแห้งแล้งที่มีตัวละครเอกเป็นวัยรุ่นหน้าตาดีคนหนึ่งเพียงเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นความโดดเดี่ยวที่ต่างออกไปจากที่ผมได้เคยลิ้มรสมา

พออายุผ่าน30 มาผมก็ตั้งใจจะเยียวยาตัวเองจากความโดดเดี่ยว จึงหยิบหนังสือนี้ขึ้นมา แล้วเริ่มอ่านอีกครั้ง ความรู้สึกที่ซึมลึกลงในใจนั้นกลับแตกต่างออกไปจากความรู้สึกร่วมที่เคยมีต่อผลงานชิ้นนั้น

อาจจะพูดแก้ต่างได้ว่านั่นเป็นการกระทำแบบหุนหันพลัดแร่นเพราะอยู่ในวัยหนุ่ม แต่สำหรับผมในตอนนี้ก็เป็นเพียงแค่ความภาคภูมิใจอันจืดชืดที่ผมเคยดูแคลนมาก่อน แต่ทว่าตอนนั้นที่ทำแบบนั้นก็เพียงเพื่อปกป้องตนเอง

 

ผมใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความโดดเดี่ยวอย่างจวนเจียนจนแทบจะพูดได้ว่าคงไม่มีอะไรมากไปกว่านี้แล้ว ในความเป็นจริง ผมรับเอาความโดดเดี่ยวเหล่านั้นเข้ามาด้วยความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับความอาฆาตแค้น “มันจะไม่จบลงแค่นี้หรอกนะ หนี้แค้นครั้งนี้จะขอให้ชดใช้คืนกลับมา สิบเท่า ยี่สิบเท่า”นั่นจึงเป็นครั้งแรกสำหรับผมที่ได้รับรู้ถึงพลังที่ทำให้ตนเองคิดว่าตัวเองไม่มีความสุขเหลือเกิน และได้รับรู้ว่าสามารถเปลี่ยนความรู้สึกโดดเดี่ยวนั้นเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ได้

 

แสงสว่างในความโดดเดี่ยว

ดังนั้น ผมในสมัยก่อนจึงแทบจะไม่ได้พูดคุยกับใครเลยในชีวิตประจำวัน ไม่สิ ไม่มีแม้แต่คนที่จะมาคอยรับฟังเลยด้วยซ้ำ ก้มหัวทักทายให้กับผู้คนในร้านหนังสือบ้าง หรือโรงอาบน้ำบ้าง และก็สั่งอาหารในร้านบ้าง ได้ยินคำพูดที่ถูกกำหนดตายตัวอย่าง “ขอบคุณสำหรับที่ผ่านมานะครับ” แล้วหนึ่งวันของผมก็จบลง ท่ามกลางความเหงาเช่นนั้นผมก็ได้เข้าใกล้กับความเป็นคนอื่นที่ห่างไกลไปโดยปริยาย

พอมองย้อนกลับไป หนังสือที่ผมอ่านตอนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นงานเขียนที่ผมชอบอ่านมากจริง ๆ ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่มืดมนทั้งนั้น แต่ก็เพราะว่าผมชอบอ่านงานเขียนที่มีลักษณะเหมือนกับคำสั่งเสียก่อนตาย ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งเสียของนักรบไอทซึฮันที่ชื่อว่า บันทึกของชาวเมจิผู้หนึ่ง หรือ ชีวิตของบีโธเฟน และ จดหมายของแวนโก๊ะ นอกจากนี้ผลงานของฌ็อง ฟร็องซัว มีแล และ โยฮัน ว็อล์ฟกัง ฟ็อน เกอเธ่ผมก็อ่านมาแล้วทั้งนั้น ถึงแม้ว่าพวกเขาจะถูกรู้จักในฐานะบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ แต่ในญี่ปุ่นพวกเราต่างอ่านเรื่องราวเหล่านี้อย่างเพลิดเพลินเพื่อที่จะมีความรู้สึกร่วมกับบุคคลเหล่านี้ ในฐานะผู้บุกเบิกของความโดดเดี่ยวที่ถูกลืมเลือนไป

 

ทำตัวเองให้เหมือนกับบีโธเฟนที่แขวน “โชคชะตา” เอาไว้กับบทเพลงซิมโพนีหมายเลข 5 และมีอาการหูดับจากกรได้ยินเสียงดัง จ้องมองภาพเขียนของแวนโก๊ะที่อยู่บนหน้าหนังสือรวมรูปภาพจมลึกอยู่กับความรู้สึกโศกเศร้าของเขาหลังจากที่มีเรื่อผิดใจกับปอล โกแก็งจนต้องตัดหูของตนเอง

โมสาร์ทที่ถูกยอมรับมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ แล้วว่าเป็นเด็กอัจฉริยะนั้น ในอีกแง่หนึ่งเขาคงจะมีความโดดเดี่ยวอยู่มากมายเหลือเกิน ก็เพราะว่า พรสวรรค์ที่มีมากมายเอ้อล้นขนาดนั้นคงจะไม่มีใครสามารถเข้าใจได้ ผมหลงใหลอยู่กับทฤษฎีการใช้ชีวิตของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่เลือกเดินตามเส้นทางของตนเองโดยมีพรสวรรค์เหลือล้นและโลกของจิตวิทยา ตอนนั้นผมได้เพื่อนเพิ่มขึ้นจากสภาวะจิตใจที่คิดว่า “ตัวเราเองก็มีอะไรที่เชื่อมโยงกับคนคนนี้เหมือนกันนี่” สำหรับผม ความโดดเดี่ยวเหลือล้นที่ผู้คนอันมีความสามารถได้โอบกอดเอาไว้ และความรำคาญใจที่ทุกข์ทนอยู่กับความไม่เข้าใจของผู้คนรอบข้างนั้นทำให้คิดได้ว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากเสียยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคุณลุงเกอเธ่ หรือลุงแวนโก๊ะ สำหรับผมแล้วการมีอยู่ของพวกเขานั้นเป็นแสงไฟที่ส่องสว่างเพียงหนึ่่งเดียวสำหรับผม

พอคิดย้อนกลับไปนักเขียนที่ผมมีความรู้สึกร่วมด้วยในตอนนั้น อย่างน้อยก็คือโคะบะยาชิ ฮิเดะโอะ  (3) ซึ่งเป็นยุคที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันมากที่สุด ผมก็เข้าใจดีว่าการรับรู้ทางอารมณ์ของผมในตอนนั้นกับการรับรู้ทางอารมณ์ของยุคสมัยในตอนนั้นไม่ได้ไปด้วยกันสักเท่าไหร่ แต่การรับรู้ทางอารมณ์ที่ผิดแปลกออกไปของตัวผมนั้น สำหรับผมแล้วเป็นความรู้สึกที่สบายใจอย่างประหลาด ราวกับว่าตนเองกำลังสื่อสารกับผู้ที่เสียชีวิตลง เหมือนกับกำลังใช้ชีวิตอยู่ในอีกมิติเวลาหนึ่งที่ต่างออกไปจากผู้คนอื่น ๆ ท่ามกลางความืดมิดแห่งความโดดเดี่ยว ตัวผมก็ยังคงร่องลอยอยู่ในความมืดนั้นเพื่อมุ่งสู่แสงสว่าง

 

และอีกคนหนึ่งที่ผมรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับผลงานของเขาก็คือ ซะคะคุจิ อังโกะ (4) ซึ่งมีผลงานที่โด่งดังอย่างDiscourse on Decadence (ทฤษฎีของการร่วงหล่น)แต่หากถามว่าผมชอบผลงานไหนของเขาที่สุดคำตอบก็คือ Ishi no omoi ( ความคิดของก้อนหิน ) และ Ma no taikutsu (ความเบื่อหน่ายของปีศาจ ) ซึ่งเป็นผลงานที่ได้เรียงร้อยเอาความโดดเดี่ยวเกินต้านทานที่มีอยู่ในตัวเขาขึ้นมา เขามีความหลวงไหลในพระพุทธศาสนา ร่ำเรียนภาษาสันสกฤต เขาโหมเรียนอย่างหนักจนเข้าสู่สภาวะประสาทอ่อนแรง ทำไมเขาถึงหักโหมมากถึงเพียงนี้กัน… ผมจึงรู้สึกว่าลักษณะเช่นนี้ก็คล้ายคลึงกับตัวผมเป็นอย่างมาก

การเรียนภาษานั้นมีสิ่งที่ทำให้เราหลงใหลอย่างลึกซึ้งอยู่บ้างบางจุด สำหรับตัวผมแล้วในบรรดาวิชาตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยผมถนัดวิชาภาษาอังกฤษ แต่ทว่ามากกว่าอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบผมกลับชอบอ่านงานเขียนของเบอร์ทรันด์รัสเซลล์ (5)โดยอ่านเป็นต้นฉบับเสียมากกว่า แน่นอนว่านั่นออกจะหลุดจากจุดประสงค์การเตรียมตัวสอบ แต่ทครั้งที่ผมได้อ่านภาษาอังกฤษของรัสเซลล์ ผมรู้สึกดีใจว่า “ยังมีคนที่สามารถพูดถึงความเป็นจริงอันลึกซึ้งของชีวิตได้อย่างละเอียดลึกซึ้งอยู่ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่แจ่มแจ้งชัดเจนเช่นนั้นนั่นเอง ช่างสวยงามเหลือเกิน”

เมื่อก่อนผมมีความรู้สึกต่อต้านการใช้ภาษาอังกฤษอย่างไม่มีแก่นสาระ อย่างคำที่มีความหมายตื้นเขิน เช่น “Oh, yeah”หรือ “of course” เป็นต้น แต่พอได้มาสัมผัสกับรูปประโยคอันสวยงามอย่างในงานเขียนของรัสเซลล์แล้ว ผมก็รู้สึกดีขึ้นมาก ราวกับว่าเขาได้เล่าเรื่องราวความลึกซึ้งของชีวิต เมื่อรัสเซลล์ปรากฏออกมาในข้อสอบ ผมรู้ทันทีโดยที่ไม่ต้องดูข้อความอ้างอิงเลยว่า “นี่คืองานของรัสเซลล์” ยิ่งไปกว่าอาจจะมีแค่ผมคนเดียวที่รู้เรื่องนี้ก็ได้  พอคิดเช่นนั้นผมก็รู้สึกมีแรงฮึดขึ้นมา และเผลอทำท่ายกมือดีใจต่อหน้ากระดาษคำตอบ

เมื่อนับจากช่วงเวลาที่ผมเป็นโรนินก็จะผ่านไปได้ 25 ปี แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจว่า ความทุกข์ใจและความรู้สึกไม่สบายใจต่าง ๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัยนั้นกลับไม่ได้จางหายไป แถมความทรงจำอันทำให้เกิดความไม่สบายใจกลับเด่นชัดกว่าเดิม ถ้าหากจะมีสิ่งที่คอยสนับสนุนพลังของตัวผมเองในตอนนี้ หรือความปรารถนาในการทำงาน ผมคิดว่า สิ่งนั้นคงจะเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน

ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงสภาพจิตใจ หรือในเชิงเวลา ผมไม่สามารถไล่ต้อนตัวเองให้ไปสู่ความโดดเดี่ยวได้อีกแล้ว พอได้มาลองคิดดูใหม่ก็พบว่า ช่วงเวลาที่ได้อยู่ตัวคนเดียวในตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากจริง ๆ

 

 

ช่วงเวลาแห่งความโดดเดี่ยวที่ได้สั่งสมพลัง

            ช่วงปี 3 ถึงปี 4ของชีวิตมหาวิทยาลัย ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างเล็กน้อย แต่พอเข้าสู่ช่วงปริญญาโท ผมก็กลับมาเผชิญกับความโดดเดี่ยวอีกครั้ง เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเสียเหลือเกิน เพราะผมนั้นไม่เหมาะกับการเรียนระดับปริญญาโทเลยแม้แต่น้อย

ผมเข้าเรียนต่อปริญญาโทก็เพราะว่ามีความมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่ที่ตั้งใจหวังจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของญี่ปุ่น แต่ทว่า ความคิดของผมกับคนอื่น ๆ รอบข้างแตกต่างกันเกินไป ความแตกต่างนั้นปรากฏให้เห็นได้ในทุก ๆ คำพูดและการกระทำ จนในที่สุดก็เห็นได้อย่างชัดเจนและรุนแรง

ความสัมพันธ์ของผมกับอาจารย์ที่ปรึกษาก็ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่  ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ไม่มีกำลังใจที่จะทำทั้งนั้น ผมจึงออกไปดูหนังแนวมิวสิคเคิลทุกวัน หากถามว่าทำไมต้องเป็นหนังมิวสิคเคิล ผ่านมาจนถึงวันนี้ผมก็ยังไม่รู้เหมือนกันอาจเป็นเพราะอยากจะรู้สึกสนุกเพียงอย่างเดียวก็ได้ ส่วนวิทยานิพนธ์ ปกติแล้วจะเขียนให้เสร็จภายใน 2 ปี แต่สุดท้ายแล้วผมก็เลือกเป็นนักเรียนปริญญาโทที่ไม่เขียนวิทยานิพนธ์

ที่ผมเขียนไม่ได้ก็เพราะว่าผมคงเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า การศึกษาระดับปริญญาโทผิดไป บางทีสิ่งที่ผมต้องการอาจจะคือการทำงาน แต่กระนั้นผมก็ได้นำพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่ห่างไกลจากคำว่าการทำงาน เพราะแบบนี้จึงรู้สึกขุ่นเขืองอยู่ในใจมาตลอด ถึงแม้จะนั่งเรียนอยู่ในห้องเรียน แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีพัฒนาการใด ๆ จึงทำให้รู้สึกทุกข์ใจมากกว่าเดิม

พอเป็นเช่น ผมทำอย่างไร

ผมเลือกที่จะเก็บตัวเงียบอยู่คนเดียว

ตอนนั้น ในคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโตเกียว มีประเด็นว่าจะปรับปรุงห้องห้องหนึ่งขึ้นมาใหม่ จึงมีการเสนอว่าจะทำเป็นห้องเสื่อทาทามิ(6)เพื่อที่จะเรียกเด็ก ๆ มารวมตัวกันได้ บางครั้งห้องเสื่อทาทามิก็ถูกใช้จัดสัมมนา แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นห้องว่าง สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว สถานที่ที่เป็นเหมือนห้องวิจัยของตัวเองนั้นไม่มีหรอก แต่ด้วยความที่ผมชอบเสื่อทาทามิมากอยู่แล้ว จึงเข้าไปกกตัวอยู่ในห้องนั้นโดยปริยาย

การกระทำเช่นนั้นอาจจะใกล้เคียงกับการครอบครองไว้เพียงผู้เดียวโดยมิชอบทางกฎหมายก็จริง แต่ผมก็ไม่ได้อยู่ในห้องเป็นระยะเวลายาวนานขนาดนั้น ต่อให้เป็นนักศึกษาปริญญาโท ก็คงจะไม่เข้าใกล้ห้องนั้น ผมคิดว่าข้างในคงจะมีบรรยากาศที่ไม่ชวนให้เข้าใกล้ ราวกับว่าไม่มีใครสามารถอยู่ในห้องนั้นได้นาน  ผมรู้สึกผิดจนถึงตอนนี้ แม้ว่าผมจะเรียนต่อจนถึงระดับปริญญาเอกผมก็มักจะอยู่มหาลัยจนถึง 5 ทุ่มทุกคืน ในตอนนั้นประตูกลางของมหาลัยก็ปิดหมดแล้ว ผมเลยต้องปีนข้ามรั้วออกไปทำไมผมถึงอยู่ตัวคนเดียวได้นานขนาดนั้น ผมเองก็ไม่เข้าใจ ผมกลับบ้านด้วยการข้ามรั้วมหาวิทยาลัยออกไปทุกวัน ช่วงนั้นผมอ่านหนังสืออยู่ในห้องเสื่อทาทามิมาตลอด บางครั้งผมก็เผลอหลับอยู่ในห้อง ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องนั้นมาเสมอ  ผมตั้งใจอ่านหนังสืออย่างเอาเป็นเอาตายจนคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นได้เกินระดับของความเป็นมนุษย์ไปเสียแล้ว

ในเมื่อไม่มีใครเข้าใจตัวผมที่เป็นเช่นนั้น ผมจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า จะเลิกพูดคุยกับคนอื่นอย่างจริงจัง บทสนทนาไร้สาระทั่วไปนั้นอาจมีบ้าง แต่หากเป็นเรื่องสำคัญ หรือเรื่องที่เป็นเหมือนไอเดียของตัวเอง การไม่พูดให้คนอื่นฟังจะเป็นการรักษาพลังงานได้มากกว่า แต่ผมก็ไม่ได้คิดว่า การเล่าไอเดียให้คนอื่นฟังนั้นจะเป็นการถูกขโมยไอเดียวไป แต่ตอนนั้นผมกลับรู้สึกจริง ๆ ว่า หากเล่าไอเดียให้กับคนอื่นฟังเมื่อไหร่ พลังงานที่ใช้สำหรับการทำงานนั้นจะถูกพรากเอาไป แต่ตอนนี้ผมกลับไม่ได้มีความคิดเช่นนั้นแล้ว การที่ได้พูดความคิดของตัวเองออกไปทั้งหมด อาจจะเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ก็ได้ล่ะมั้ง

 

อาจจะฟังดูแปลกไปบ้างเล็กน้อยที่ประสิทธิภาพในการผลิตผลงานเพิ่มมากขึ้นจากการครุ่นคิดเงียบ ๆ หลังจากที่เข้าหลักสูตรปริญญาเอกแล้ว ผมก็เริ่มเอาแต่เขียนวิทยานิพนธ์และแน่นอนว่าวิทยานิพนธ์ไม่ได้ทำเงินให้กับผม แต่ ก็ไม่มีอะไรอย่างอื่นให้ทำแล้ว และตอนนั้นผมก็ได้แต่งงานอย่างไม่ได้ตั้งใจมาก่อน ผู้ชายเรานั้นเมื่ออยู่เป็นโสดตัวคนเดียวก็แทบจะเป็นคนที่ไม่เอาไหน แต่เมื่อแต่งงานแล้ว กลับมีความรู้สึกที่เหมือนกับว่าถูกให้แบกรับโชคชะตาอะไรสักอย่างขึ้นมาอย่างกะทันหัน หากถามว่าสิ่งที่ต้องแบบรับเอาไว้คืออะไร ก็มีเพียงแค่วิทยานิพนธ์เพียงเท่านั้น ดังนั้นผมจึงเปลี่ยนตัวเองเป็นนักผลิตวิทยานิพนธ์ และรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อหาข้อสรุปออกมา และนี่ก็คือความทรงจำแห่งความโดดเดี่ยวช่วงที่สอง

 

 

ส่วนช่วงที่สามคือตอนที่ผมสูญเสียสถานภาพนักศึกษากลายเป็นคนว่างงาน และมีลูก ช่วงเวลาหลายปีนั้นเป็นช่วงเวลาที่เศร้าเหลือหลายจนไม่สามารถเล่าออกมาได้ ช่วงนั้นผมทำให้คนที่ออกไปดื่มเหล้ากับผมต้องเดือดร้อนพอสมควร จึงอยากจะขอใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อกล่าวคำขอโทษต่อพวกเขา

ช่วงเวลาสิบปีแห่งความืดมน ตัวผมที่เคยทำตามใจชอบมาอย่างตลอดตั้งแต่ยังเด็ก ได้ตกลงสู่หลุมพลางและติดอยู่ในนั้นอย่างไม่รู้ตัว ทั้ง ๆ ที่ความโดดเดี่ยวไม่เหมาะกับตัวผมเลยแม้แต่น้อย  แต่ผมก็มีช่วงเวลาแห่งความโดดเดี่ยว และช่วงเวลาที่ความสมดุลของสภาพจิตใจอยู่ในช่วงวิกฤติด้วยเช่นกัน แต่จากการอยู่กับความโดดเดี่ยวอย่างแท้จริงแล้ว ทำให้ผมได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่เรียกว่า “ผู้ถือสันโดษ” หากพูดให้ชัดก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงในตัวผมตอนนั้นก็คือ “ยังมีบางเรื่องที่ไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้จากการรวมตัวเป็นกลุ่มอยู่ด้วยนี่หน่า”

สำหรับนักปืนเขานั้น มีทั้งบุคคลที่ไปกันเป็นทีมหรือคนที่ออกไปปืนเขาคนเดียว ไม่มีทั้งคนที่ขอให้พวกเขาปืน และไม่มีทั้งคนที่ขึ้นไปปืนเขาแทนพวกเขา การปืนเขาในความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบากเกินไป ซึ่งผมไม่ถนัดเอาเสียเลย

            หากเป็นการปีนเขาแห่งจิตใจ ไม่รู้ทำไมถึงรู้สึกถนัดเสียเหลือเกิน และผมมักจะเดินคนเดียวมาตลอด หากมีใครสักคนอยู่เคียงข้างด้วยตอนนั้น ก็นับว่าดี แต่ในหมู่ผู้ถือสันโดษพวกเขาอยากปืนเขาคนเดียว โดยที่ยังหวังว่า จะได้บังเอิญพบเจอกับผู้ปืนเขาคนอื่น ๆ ระหว่างทางเสียมากกว่า

 

 

1 ย่อมาจาก Designer’s & Character’s

2 คนที่พลาดการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในครั้งแรก และเตรียมตัวเพื่อจะสอบเข้าในปีถัดไป

3 นักวิจารณ์ผลงานวรรณกรรมและศิลปะนักเขียน บรรณาธิการในสมัยเมจิ โดยวิธีคิดส่วนใหญ่ของเขาจะได้รับอิทธิพลมาจากบทกลอน และปรัชญาตะวันตก

4 นักเขียนญี่ปุ่นที่โด่งดังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

5 นักคณิตศาสตร์ นักปรัชญา ที่มีอิทธิพลอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 20 ผู้นำเสนอทฤษฎีความรู้ Epistemology และเขียนหนังสือเรื่อง Principia Mathematica

6 เสื่อปูพื้นชนิดหนึ่งที่ใช้กันมาตั้งแต่ญี่ปุ่นสมัยโบราณ

 

อ่านบทอื่น ๆ ต่อได้ในหนังสือ “ให้ความโดดเดี่ยวเชื่อมเราไว้ด้วยกัน”

 

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า