ประโยชน์ของการเดินสมาธิ มีมากมายกลายประการ ทำให้เรามีสติที่จดจ่อและมั่นคงกับการก้าวเดิน และยังสามารถช่วยลดความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้ด้วย
การเดินสมาธิเป็นการฝึกปฏิบัติที่มีมายาวนานในพระพุทธศาสนา ด้วยเป็นหนทางการพัฒนาการเจริญสติ และปัจจุบันได้มีการบรรจุลงไปในโปรแกรมการฝึกเจริญสติที่ได้รับการฝึกฝนในหลายๆ หน่วยงาน ด้วยประโยชน์ในการลดความเครียดและภาวะซึมเศร้า รวมถึงใช้ในการฝึกจิตวิทยาองค์กร ทั้งในโรงเรียนและเรือนจำ
แก่นของการฝึกเดินสมาธิก็คือ การนำเอาสัมผัสที่เกิดขึ้นที่เท้าในระหว่างการเดินอย่างเชื่องช้า มาเป็นจุดในการตั้งสติ คล้ายกับการกำหนดลมหายใจที่ใช้ในการฝึกสมาธิในท่านั่ง การฝึกสติอยู่กับขณะเวลาที่ประสาทการรับรู้ อยู่กับปัจจุบัน ช่วยให้สติของเรามั่นคงขึ้น และยังเป็นเสมือนจุดยึดเหนี่ยวให้กับจิต เมื่อผู้ฝึกสังเกตได้ว่าจิตเริ่มว่อกแว่ก ไม่ตั้งอยู่ในสมาธิ
ลองมาดู ประโยชน์ของการเดินสมาธิ กันบ้าง
• มีสติที่จดจ่อและมั่นคง
• เกิดความคุ้นเคยต่อระบบความคิดในจิตใจเรา รวมถึงสิ่งที่จิตเปิดรับในขณะที่ฝึก
• เป็นโอกาสให้ฝึกดึงสติกลับมาอยู่กับช่วงเวลาในปัจจุบัน
• รู้สึกไวต่อการตอบสนองของประสาทสัมผัสที่เกิดขึ้นในร่างกาย
วิธีเดินสมาธิที่ถูกต้อง
หากเป็นไปได้ให้หาสถานที่เงียบสงบ ไม่มีสิ่งใดมารบกวนขณะฝึก ถอดรองเท้า จากนั้นให้ลองกำหนดจุดบนพื้นตรงหน้าสองจุด ให้ทั้งสองจุดห่างกันประมาณ 10 เมตร โดยคุณยืนอยู่จุดหนึ่ง เมื่อพร้อมที่จะฝึกให้ตั้งสติอยู่กับประสาทสัมผัสของร่างกายในท่ายืน ให้ร่างกายอยู่ในท่าเหยียดตรงและมุ่งมั่น พร้อมตามองไปข้างหน้า พยายามปล่อยวางความตึงเครียดในร่างกายออกไป แล้วหายใจตามสบายให้มากที่สุด
จากนั้นนำสติของคุณลงไปอยู่ที่ส้นเท้า และพิจารณา รับรู้ถึงการสัมผัสกับพื้นดิน คุณอาจจะทดสอบตัวเองด้วยการโน้มตัวไปข้างหน้า และเอนตัวมาข้างหลัง หรือเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง แล้วสังเกตถึงการถ่ายน้ำหนักตัวที่ส่งผลไปถึงการสัมผัสของเท้า ในขณะที่ทำเช่นนั้น จากนั้นค่อยๆ ยกเท้าข้างหนึ่งขึ้นจากพื้น แล้ววางลงข้างหน้าอย่างช้าๆ อาจจะลองฝึกก้าวสั้นๆ โดยให้หัวแม่เท้าชี้ตรงไปด้านหน้าเพื่อรักษาสมดุลในการเดิน
สำรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับส้นเท้าในกระบวนการที่เกิดขึ้น จากนั้นให้ยกเท้าอีกข้างแล้ววางลงอย่างช้าๆ ให้คุณสามารถจดจ่ออยู่กับรายละเอียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสนั้น
ฝึกอย่างนี้ซ้ำๆ ไปจนกว่าคุณจะเดินไปยังจุดที่สอง เมื่อถึงแล้วอาจจะหยุดนิ่งสักครู่ ก่อนจะหันหลัง แล้วเดินกลับมาที่จุดเริ่มต้น ในการฝึกเดินสมาธิ แน่นอนว่าจิตของเราจะเกิดการว่อกแว่กไปยังที่ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด ทว่าเป็นจุดประสงค์หนึ่งของการฝึก เป็นการเปิดโอกาสให้เราตระหนักถึงการเคลื่อนไหวของจิต และตั้งมั่นให้สติกลับมาอยู่กับการรับรู้ช่วงเวลาปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับส้นเท้า
ในแต่ละครั้งที่ฝึก หากคุณเริ่มรู้สึกว่าจิตไม่จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ให้หยุดนิ่ง และรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความอดทนและยอมรับ จากนั้นให้ดังสติกลับมาอีกครั้งก่อนจะเริ่มต้นใหม่
วิธีฝึกนับก้าว
วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีสติจดจ่อในการฝึกเดินสมาธิได้คือ การนับก้าวแต่ละก้าวในใจทุกครั้งที่เดิน เมื่อนับถึง 10 ให้ลองเริ่มต้นนับใหม่ หากคุณสังเกตได้ว่าจิตว่อกแว่กไม่อยู่กับช่วงเวลาที่เท้าสัมผัสพื้น ให้คุณหยุดนิ่งชื่นชมตัวเองที่สังเกตเห็นจิตที่ว่อกแว่กได้ จากนั้นจึงเริ่มเดินและนับหนึ่งใหม่
หากคุณเลือกวิธีการนับก้าวในการฝึก คุณต้องนับในใจ หรือไม่ให้รบกวนการรับรู้สัมผัสของเท้า หรือไม่จดจ่ออยู่ที่การนับ พยายามตั้งมั่นในความรู้สึกขณะที่เท้าย่ำลงกับพื้น เมื่อเท้าได้สัมผัสลงอย่างนุ่มนวลแล้วจึงค่อยนับหนึ่ง และทำต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ
วิธีขยายการรับรู้ของสติ
ในการฝึกเดินสมาธินั้น นอกจากการตั้งสติให้จดจ่ออยู่กับสัมผัสที่เท้าแล้ว สติก็ยังพิจารณาร่างกายทั้งหมดขณะที่เคลื่อนไหวด้วย การฝึกต่างๆ นี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าสตินั้นมีความยืดหยุ่น สามารถย้ายความสนใจจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่ง หรือเปิดกว้างการรับรู้และจดจ่ออยู่กับจุดจุดเดียว วิธีที่ช่วยฝึกได้คือ การเริ่มฝึกใช้สติจดจ่อ เพื่อรวบรวมสติการจะขยายการรับรู้ไปยังร่างกายทั้งหมด สังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นและผ่านไปในทุกขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว
นอกเหนือจากการสังเกตร่างกายแล้ว สติยังสามารถรับรู้ได้กว้างขึ้นจากสิ่งที่เรามองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ในขณะที่กำลังเดิน สังเกตดูว่าร่างกายรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆ ผ่านประสาทสัมผัสอย่างไร เช่น ความอบอุ่นของแสงแดด หรือลมพัดกระทบผิว เสียงรถยนต์ นก หรือทะเล
ข้อมูลจากหนังสือ เดินสมาธิ
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
วิธีฝึกสมาธิคลายความเครียด ฝึกจิตอย่างไรให้ใจไม่เครียด
7 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการฝึกสมาธิ : อย่ากลัวว่าจะฝึกสมาธิไม่ได้
วิธีสวดมนต์ที่ถูกต้อง สวดมนต์อย่างไรให้ได้ผลสูงสุด