โรคซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร
คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือเรื่อง โรคซึมเศร้า (สนพ. Amarin Health)ได้พูดถึงเรื่อง โรคซึมเศร้าหลังคลอด ภาวะที่คุณแม่มือใหม่ต้องเผชิญไว้ดังนี้
อารมณ์เศร้าหลังคลอด (postpartum blues) เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้บ้างในคุณแม่หลังคลอดไม่นาน เป็นเพียงอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นหลังจากความเครียดของการตั้งครรภ์นาน 9 เดือน โดยอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นเป็นไม่มากและไม่นานสามารถหายเองได้เมื่อปรับตัวได้ หรือเมื่อสามีปรับตัวได้เข้ามาช่วยเหลือดูแลรวมทั้งช่วยดูแลทารกมากกว่าเดิม
ในสตรีหลังคลอดบางคน อารมณ์เศร้าเป็นมากและนานจนกระทั่งรบกวนการนอน รบกวนการปฏิบัติภารกิจในฐานะแม่ มีความคิดอยากฆ่าตัวตายและบางรายอาจจะมีความคิดไม่ต้องการทารกร่วมด้วยในกรณีที่เป็นมากและนานจนกระทั่งเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression) มีความจำเป็นต้องพบจิตแพทย์และได้รับยากที่ถูกต้องทันท่วงที หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอดในบางคนเป็นรุนแรงเกือบจะทันทีหลังคลอด เช่นนี้ควรพบจิตแพทย์เลย
โรคซึมเศร้าหลังคลอด เกิดจากอะไร
สาเหตุของโรคซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากการรบกวนอย่างรุนแรงต่อฮอร์โมน ระบบต่อมไร้ท่อ และสมดุลของสารสื่อนำประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง เป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาหลังคลอดที่รุนแรง มิได้เกิดจากพ่อแม่หรือสามีดูแลไม่เหมาะสมแต่อย่างใด
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะโรคซึมเศร้าหลังคลอดมักสร้างความเสียหายต่อตนเอง ต่อครอบครัว หรือทารกได้มากหากมิได้รับการรักษาทันท่วงที การปลอบใจหรือให้กำลังใจเป็นวิธีที่ไม่ได้ผลและเสียเวลาไปเปล่าๆ
โรคซึมเศร้าหลังคลอดอาจจะมีหรือไม่มีอาการทางจิตแทรกซ้อนเช่นเดียวกับโรคซึมเศร้าทั่วไป ในกรณีที่มีอาการทางจิตแทรกซ้อนอาจะมีอาการหลงผิดว่าทารกมิสมควรเกิดมา โลกโหดร้ายเกินกว่าจะให้ทารกมีชีวิตอยู่ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางจิตเวชศาสตร์ข้อหนึ่งที่ต้องรีบรับการรักษาโดยเร็ว
โรคซึมเศร้าหลังคลอดสามารถรักษาให้หายขายได้ไม่ยาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนข้างเคียงจะรู้ทันและไม่เสียเวลาอยู่กับการปลอบใจหรือให้กำลังใจนานเกินไป และการรักษาด้วยยามักได้ผลดีมาก
สตรีหลังคลอดบางรายเพียงรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการโดยที่ไม่มีอารมณ์เศร้าชัดเจนนัก แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นมากพอที่จะทำให้เกิดอาการอื่นๆ ของโรคซึมเศร้าร่วมด้วย โดยที่สามีก็ดูแลปกติ เช่นนี้อาจจะต้องคิดถึงโรคซึมเศร้าหลังคลอดด้วยเช่นกัน
จากบทความเรื่อง โรคซึมเศร้าหลังคลอด หน้า 88 – 90
เขียนโดย หมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เชี่บวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์
บทความอื่นๆ
10 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
คำพูดที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
6 วิธี เยียวยาโรคซึมเศร้า คำแนะนำจากอดีตผู้ป่วยที่รับมือโรคซึมเศร้านานกว่า 7 ปี
รู้จักโรคซึมเศร้า สาเหตุ อาการและการรักษา โดยหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
9 บุคคลดังระดับโลกที่คุณอาจคิดไม่ถึงว่าพวกเขาก็เป็นโรคซึมเศร้า
Pingback: วิธีสังเกตอาการ สาเหตุของ โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว
Pingback: ทำอย่างไรเมื่อตัวเอง ครอบครัวหรือคนใกล้ตัวเป็น โรคไบโพลาร์