วันวิสาขบูชา: ความสำคัญ และความหมายลึกซึ้งกว่าที่เคยรู้

วันวิสาขบูชา คือวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนารู้ บทความนี้จะบอกให้ทุกคนว่าในวันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 นี้ มีความสำคัญอย่างไร ธรรมะที่มีความหมายลึกซึ้งกว่าที่เคยรู้คือเรื่องใด และบุญที่ควรทำมีอะไรบ้าง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทุกท่านได้ทำกุศลให้สมบูรณ์ ละบาปอกุศลได้หมดจด เพื่อประโยชน์และความสุขสืบไป

 

วันประสูติ

หลังจากพระโพธิสัตว์ทรงอยู่ในครรภ์ของพระนางสิริมหามายาครบ 10 เดือน พระนางสิริมหามายามารดาก็มีพระประสงค์จะเสด็จไปหาพระญาติที่กรุงเทวทหะ เมื่อผ่านสวนลุมพินีวัน พระนางมีพระประสงค์จะทอดพระเนตรต้นสาละที่กำลังออกดอกบานสะพรั่ง ครั้นมาถึงโคนต้นสาละ เพียงแค่มีพระประสงค์จับกิ่งสาละ กิ่งสาละก็ได้น้อมลงมาใกล้พระหัตถ์ให้จับได้โดยง่าย ขณะที่ทรงจับกิ่งสาละอยู่ พระครรภ์ก็เกิดปั่นป่วน เหล่าข้าราชบริพารจึงกั้นบังตาเพื่อทำการคลอด พระโพธิสัตว์ได้ประสูติ ณ โคนต้นสาละ สวนลุมพินีวัน ใน วันวิสาขบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 นี้เอง

ขณะนั้น ท้าวมหาพรหมทั้ง 4 จากชั้นสุทธาวาสได้ถือตาข่ายทองคำรองรับร่างของพระโพธิสัตว์แล้วทูลพระนางสิริมหามายาว่า พระราชบุตรผู้มีศักดาใหญ่ทรงอุบัติขึ้นแล้ว ด้านพระโพธิสัตว์ เมื่อออกจากครรภ์มาแล้วก็เหยียดพระหัตถ์และพระบาททั้งสองข้างยืนอยู่ และทั้ง ๆ ที่อยู่ในครรภ์เหมือนทารกทั่วไป แต่ร่างกายไม่แปดเปื้อนไปด้วยสิ่งปฏิกูล พลันก็มีสายน้ำ ๒ สายพลุ่งขึ้นจากอากาศลงรดอาบพระสรีระของทั้งพระโพธิสัตว์และพระพุทธมารดา หลังจากนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ แห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาก็นำผ้าที่มีสัมผัสอ่อนนุ่มมารับพระโพธิสัตว์จากท้าวมหาพรหมทั้ง 4 เหล่าข้าราชบริพารก็นำผ้าทุกูลพัสตร์ซึ่งเป็นเบาะผ้า เข้ามารับพระโพธิสัตว์จากท้าวมหาราชทั้ง 4 อีกทีหนึ่ง

พระโพธิสัตว์ประทับยืนบนพื้นดิน มีท้าวมหาพรหมกั้นเศวตฉัตรให้ร่มเงา มีท้าวสุยามะผู้เป็นราชาของเทวดาในสวรรค์ชั้นยามาเป็นผู้ถือพัดวาลวิชนี ทรงมองไปทั้ง 10 ทิศ ก็มิได้เห็นผู้ใดที่เสมือนกับพระองค์ จึงทรงบ่ายหน้าไปทางทิศเหนือ ย่างพระบาทไป 7 ก้าว แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจา คือวาจาอันยิ่งใหญ่
ในขณะที่พระโพธิสัตว์ประสูตินั้น พระนางยโสธรา พระอานนท์ นายฉันนะ กาฬุทายีอำมาตย์ ม้ากัณฐกะ ต้นพระศรีมหาโพธิ และขุมทรัพย์ทั้ง 4 ขุม ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับพระองค์จึงเรียกว่า สหชาติทั้ง 7

 

[su_note text_color=”#090808″ radius=”2″]ธรรมะน่ารู้

เหตุการณ์ประสูตินั้นมีหลักธรรมมากมายให้ระลึกถึง เช่น

การที่พระโพธิสัตว์ประสูติแล้วประทับยืนด้วยพระบาททั้งสองเป็นบุพนิมิตแห่งการได้ อิทธิบาท 4

การที่พระองค์ทรงบ่ายหน้าไปเบื้องทิศเหนือเป็นบุพนิมิตแห่งการได้ โลกุตตรธรรม

การย่างพระบาท 7 ก้าว เป็นบุพนิมิตแห่ง โพชฌงค์ หรือธรรมแห่งการตรัสรู้ 7 ประการ

การยกพัด เป็นบุพนิมิตแห่งการ ย่ำยีเดียรถีย์ คือผู้ประพฤตินอกรีต

การกั้นเศวตฉัตร เป็นนิมิตแห่ง การเป็นพระอรหันต์

การประทับยืนบนก้าวที่ 7 แล้วทอดพระเนตรเหลียวดูทั่วทิศ เป็นบุพนิมิตแห่งการได้เป็นพระสัพพัญญู เป็นผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวง

การเปล่งอาสภิวาจา เป็นบุพนิมิตแห่ง การประกาศพระธรรมอันประเสริฐ ซึ่งใคร ๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้[/su_note]

นอกจากนี้ยังควรระลึกถึงพระคุณของแม่ เพื่อระลึกถึงพระพุทธมารดาผู้บำเพ็ญบารมีมาถึง 100,000 มหากัป เพื่อทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในการประสูติพระโพธิสัตว์ให้แก่โลกนี้

 

ทำอะไรให้ได้บุญ
สวดคาถาอาสภิวาจา เพื่อระลึกถึงความประเสริฐของพระพุทธเจ้าและศักยภาพของมนุษย์ ว่า

อัคโคหมัส-สะมิ โลกัสส เชฏโฐหมัส-สะมิ โลกัสส

เสฏโฐหมัส-สะมิ โลกัสส อยมันติมา ชาติ นัตถิทานิ ปุนัพภโวติ

แปลว่า “เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก

การเกิดครั้งนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีต่อไป”

การเปล่งอาสภิวาจาไม่ใช่การอวดตัวว่ายิ่งใหญ่ แต่เป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ เพราะเป็นการบ่งบอกว่ามนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองได้สูงสุด เมื่อมนุษย์พัฒนาตนเองได้แล้วก็จะเป็นผู้ประเสริฐที่สุดไม่ต้องไปพึ่งอำนาจภายนอก

 

วันตรัสรู้

การตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเกิดขึ้นในวันเดียวกันนี้ แต่ต่างปีกันณ โพธิบัลลังก์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ (ต้นอัสสัตถะ) ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ คือ เรื่องทุกข์ การดับทุกข์ และทรงค้นพบหนทางที่ดับทุกข์ทั้งปวงให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิง ก่อนที่จะตรัสรู้ทรงอธิษฐานว่า

“เนื้อและเลือดในสรีระนี้ แม้จะแห้งเหือดไปหมดสิ้น เหลือแต่หนังเอ็น และกระดูกก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตราบนั้น เราจักไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้”

ในเวลานั้นพญาวสวัตตีมารและไพร่พลมารจำนวนมากก็ปรากฏตัวขึ้นเพื่อขัดขวางไม่ให้ตรัสรู้ ต่างส่งเสียงโห่ร้องดังกึกก้อง เทวบุตรมารขี่ช้างคิริเมขล์สูง 150 โยชน์ หรือ 2,400 กิโลเมตร ทั้งยังเนรมิตแขนออกมาถึงหนึ่งพันข้างถืออาวุธต่างชนิดกัน บริวารมารก็มีรูปร่างต่าง ๆ กัน ถืออาวุธมาต่างชนิดกัน ทั้งหมดเคลื่อนพลเข้ามาจู่โจมพระโพธิสัตว์ บรรดาพญามารและเสนามารนั้นบันดาลอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ หมายจะให้ทรงลุกจากโพธิบัลลังก์ แต่ด้วยบารมี 10 ที่พระองค์ทรงสั่งสมมาหลายภพหลายชาติ จึงทรงกำจัดพญามารและไพร่พลมารให้พ่ายแพ้ไปได้ในที่สุด ตอนนั้น เป็นเวลาพลบค่ำพอดี

เมื่อถึงปฐมยามช่วง 18 – 22 นาฬิกา ทรงสำเร็จญาณระลึกชาติ ถึงมัชฌิมยามช่วง 22- 02 นาฬิกา ทรงบรรลุญาณที่รู้การตายและการเกิดของสัตว์อื่น และเมื่อถึงปัจฉิมยามช่วง 02 – 06 นาฬิกา ทรงใช้ญาณดูปฏิจจสมุปบาท และพิจารณาการเกี่ยวเนื่องเป็นปัจจัย เป็นเหตุเป็นผลต่อกันของทั้ง 12 บท อย่างละเอียด ทั้งตามลำดับและย้อนกลับ ด้วยอำนาจของการเวียนว่ายและการไม่เวียนว่าย

ในตอนนั้น จักรวาลทั้งหลายสั่นไหวถึง 12 ครั้ง จนจรดน้ำรองแผ่นดิน จากนั้นทรงเข้าฌาน 4 ด้วยการพิจารณาอานาปานสติ ดูลมหายใจ แล้วอาศัยฌานนั้นเจริญวิปัสสนาจนบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงกำจัดกิเลสทั้งปวงให้สิ้นไปด้วยอรหัตตมรรค และได้สำเร็จสัพพัญญุตญาณอันเป็นญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาเช้าพอดี จากนั้นก็ทรงเปล่งคำอุทานที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องกระทำ

[su_note text_color=”#090808″ radius=”2″]ธรรมะน่ารู้

วิชชา 3 ที่พระพุทธเจ้าทรงบรรลุในแต่ละยามในคืนที่จะตรัสรู้ประกอบด้วย 1. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ความรู้ในการระลึกชาติได้ 2. จุตูปปาตญาณ คือ ญาณรู้การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย และ 3. อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ คือ กิเลสที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน

บารมี 10 เป็นบารมีที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต้องบำเพ็ญมาอย่างยิ่งยวดในขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์อยู่ในชาติก่อน ๆ ประกอบไปด้วย ทาน คือการให้ การเสียสละ ศีล คือการรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย เนกขัมมะ คือความปลีกตัวปลีกใจจากกาม ปัญญา คือความรู้ หยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ตามความเป็นจริง วิริยะ คือความเพียร ขันติ คือความอดทน สัจจะ คือพูดจริง ทำจริง และจริงใจอธิษฐาน คือความตั้งใจมั่น เมตตา คือความปรารถนาดี คิดเกื้อกูลให้เพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุข ความเจริญ และ อุเบกขา คือความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้าย[/su_note]

 

ทำอะไรให้ได้บุญ

ถือเนสัชชิก สมาทานปฏิเสธอิริยาบถนอน และอยู่ในอิริยาบถนั่งเนื่องจากในคืนแห่งการตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ลุกจากโพธิบัลลังก์ เราจึงควรสมาทานปฏิเสธการเอนนอนเพื่อเป็นพุทธบูชาในค่ำคืนนี้

ฝึกอานาปานสติ มีสติในการหายใจเข้าและออก โดยการดูลมหายใจให้รู้ชัด ว่าหายใจเข้ายาวหรือหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้นก็รู้ชัด หายใจออกสั้นก็รู้ชัด กำหนดรู้ตลอดกองลม เป็นต้น

 

วันปรินิพพาน

พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในช่วงปัจฉิมยาม ใต้ต้นสาละ ณ กรุงกุสินารา ก่อนจะปรินิพพาน ทรงแสดงธรรมหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคณะสงฆ์ ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ และทรงอนุญาตให้สุภัททปริพาชกได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์ รวมทั้งทรงอุปสมบทให้จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในคืนที่เสด็จปรินิพพาน

พระพุทธองค์ตรัสโอวาทครั้งสุดท้ายว่า

“บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

หลังจากนั้นก็มิได้ตรัสอะไรอีก ทรงเข้าและออกฌานสมาบัติ เพ่งอารมณ์เป็นสมาธิตามลำดับ ครั้งสุดท้ายทรงเข้าจตุตถฌาน พิจารณาดูองค์ฌานนั้น และเมื่อออกจากฌานก็ปรินิพพาน

วันวิสาขบูชา

 

[su_note text_color=”#090808″ radius=”2″]ธรรมะน่ารู้

ในคืนปรินิพพานนี้พระพุทธเจ้าตรัสธรรมหลายประการ เช่น

การปฏิบัติบูชา หรือการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถือว่าเป็นการเคารพบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการบูชาอันสูงสุดกว่าการบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ ตราบใดที่ยังมีการปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ตราบนั้นโลกจะยังคงมีพระอรหันต์อยู่เสมอ

เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว ให้ถือว่าพระธรรมที่ทรงแสดงนั้นเป็นศาสดา สืบต่อไป

ปัจฉิมโอวาท ก็ทรงตักเตือนให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ซึ่งแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่อาจพ้นไปจากกฎธรรมชาตินี้[/su_note]

 

ทำอะไรให้ได้บุญ
จาริกไปยังสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ว่า 4 แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ควรเห็นของผู้มีศรัทธา ถ้าหากผู้ใดจาริกไปยังสังเวชนียสถานเหล่านี้แล้วมีจิตเลื่อมใส ผู้นั้นย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์เมื่อสิ้นชีพ

บูชาสถูปเจดีย์ของถูปารหบุคคล คือบุคคลผู้ควรค่าแก่การสร้างเจดีย์ไว้กราบไหว้บูชา 4 จำพวกที่พระพุทธเจ้าตรัสก่อนปรินิพพาน ได้แก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยการเดินทางไปไหว้เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า หรือเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุของพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ

วันพุทธ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ไม่มีในปฏิทิน

โดย รศ. ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์

สนพ. อมรินทร์ธรรมะ

 

ขอชวนทุกท่านร่วมทำบุญ สร้างกุศลด้วยการศึกษาธรรมะเนื่องในวันวิสาขบูชา และตลอดปีนี้ ทาง Amarinbooks.com 

และ FB อมรินทร์ธรรมะ


บทความอื่น

มาฆบูชา : ไม่ใช่แค่การรวมกันของพระสงฆ์ 1,250 รูป !! เกิดอะไรขึ้นในวันนี้บ้าง

 

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า