การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กเล็กสำคัญอย่างไร

การสร้าง สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ ของเด็กเล็กสำคัญมาก เด็กเล็กเปรียบเสมือนผ้าสีขาว ที่แต้มสีอะไรลงไป สีนั้นก็จะติดตัวของเด็กไปตลอด อยากให้ลูกมีพฤติกรรมแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่าคุณพ่อคุณแม่สร้างสภาพแวดล้อมแบบไหนให้กับลูก

ลองมาดูเหตุผลกันว่าทำไมการสร้าง สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ จึงสำคัญ

 

การศึกษาและสภาพแวดล้อมเหนือกว่ากรรมพันธุ์

ในประเทศญี่ปุ่นมีการทดลองมากมายว่า หากนำลูกแฝดซึ่งเกิดจากไข่ใบเดียวกันไปเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันตั้งแต่แรกเกิดจะเป็นอย่างไร ผลการทดลองพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า แม้แต่เด็กที่เกิดจากพ่อแม่คู่เดียวกัน แต่ถ้าได้รับการเลี้ยงดูจากบุคคลที่ต่างกัน ในสถานที่ต่างกัน ได้รับการศึกษาต่างกัน อุปนิสัยและความสามารถจะแตกต่างกันมาก

ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะให้การศึกษาลูกอย่างไร สร้างสภาพแวดล้อมแบบไหนถึงจะพัฒนาศักยภาพของเด็กได้ดีที่สุด

 

เด็กซึมซับภาษาได้ง่าย

มีครอบครัวหนึ่ง สามีต้องไปทำงานที่ต่างประเทศในขณะที่ลูกสาวเพิ่งคลอดมาได้ไม่กี่เดือน เขาจึงส่งภรรยาและลูกสาวไปอยู่กับตาและยายที่ภาคอีสาน 1 ปีผ่านไป เขาก็กลับมาอยู่ที่ไทยถาวร พร้อมทั้งนำภรรยาและลูกสาวกลับมาอยู่ด้วย ตอนนั้นลูกสาวอยู่ในวัยหัดพูด หลังจากนั้นไม่นาน พอเด็กเริ่มหัดพูดได้บ้าง พ่อแม่ถึงกับตะลึง

เพราะคำพูดที่หลุดออกมาจากลูกสาวทุกคำเป็นสำเนียงอีสานอย่างชัดเจน ทั้งบ้านมีแต่คนพูดภาษากลางทั้งนั้นยกเว้นลูกสาววัย 2 ขวบคนเดียวเท่านั้นที่พูดภาษาอีสาน ได้ความว่าระหว่างที่เขาไปต่างประเทศ และภรรยากลับไปอยู่บ้านเดิมนั้น ตากับยายรักหลานมากและดูแลอย่างใกล้ชิด ภรรยาของเขายังคิดว่าลูกสาวยังเด็กอยู่ พูดไม่ได้เลยพูดภาษาอีสานกับที่บ้านทุกวัน

หลายปีหลังจากนั้นเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนประถม แกก็ยังติดสำเนียงอีสานอยู่นั่นเอง เรื่องนี้เป็นเพราะภายในสมองของเด็กมีการสร้างเส้นสายสำเนียงอีสานก่อนที่เด็กจะพูดได้เสียอีก และเมื่อสร้างเส้นสายเสร็จแล้ว ให้วางสายใหม่อีกครั้งนั้นเป็นเรื่องยากมากสำหรับมนุษย์เรา มีผู้กล่าวว่าการทำลายเส้นสายเก่าเพื่อวางเส้นสายใหม่นั้นต้องใช้เวลามากกว่าการวางสายถึง 4 เท่า!

ห้องที่ว่างเปล่ามีผลร้ายต่อเด็กเล็ก

เพดานขาวสะอาด รอบด้วยกำแพงสีขาวบริสุทธ์ เงียบสงบ ปราศจากเสียงรบกวน พ่อแม่หลายคนคงอยากเลี้ยงเด็กแรกเกิดในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ทว่าห้องซึ่งไม่มีสิ่งกระตุ้นกลับเป็นผลร้ายต่อเด็กทารก

ผลการทดลองของศาสตราจารย์ชาวอเมริกันชื่อบรูเนอร์ชี้ให้เห็นว่า เด็กทารกที่มีสิ่งกระตุ้นกับไม่มี มีการพัฒนาการทางสติปัญญาแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เขาได้ทำการทดลองดังนี้

แบ่งทารกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้อยู่ในห้องว่างเปล่า ไม่มีสิ่งกระตุ้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้อยู่ในห้องกระจกซึ่งสามารถมองเห็นหมอและพยาบาลทำงานกันขวักไขว่ ผนังเพดานและผ้าห่มใช้ลายดอกไม้สีสันสดใส และเปิดเพลงเบาๆ ให้ฟังตลอดเวลา นับว่าเป็นห้องที่มีสิ่งกระตุ้นเต็มอัตราเลยทีเดียว

หลังจากเลี้ยงดูเด็กทั้งสองกลุ่มเป็นเวลาหลายเดือน ก็วัดระดับสติปัญญาของเด็กทั้งสองกลุ่ม โดยใช้วัตถุส่องแสงยื่นไปตรงหน้าเพื่อดูว่าเด็กจะเกิดความสนใจอยากจับมันเมื่อไร ผลการทดลองปรากฏว่าเด็กทั้งสองกลุ่มมีระดับสติปัญญาที่แตกต่างกัน 3 เดือน กล่าวคือ ทารกที่ถูกเลี้ยงในห้องว่างเปล่าจะมีพัฒนาการทางสติปัญญาช้ากว่าอีกกลุ่มหนึ่งถึง 3 เดือนด้วยกัน

และมีการทดลองใช้อย่างอื่นร่วมด้วยเช่น พู่ห้อยสีสดใส ลูกแก้วส่องแสง กระดาษสีต่างๆ สิ่งที่กระตุ้นได้ผลชัดคือ กังหันลมมีเสียงดนตรี ผ้าม่านลายดอกไม้ เป็นต้น

 

การให้คนอื่นเลี้ยงลูกนั้นเสี่ยงที่สุด

สามีภรรยาคู่หนึ่งเป็นคนร่าเริงแจ่มใส ใครๆ ก็ชอบ แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด ลูกชายคนโตอายุ 5 ขวบกลับชอบหมกตัว เงียบขรึมและดื้อรั้น ในขณะที่น้องชายวัย 4 ขวบนั้นร่าเริง มีชีวิตชีวาและเป็นที่ชื่นชอบในโรงเรียน สองสามีภรรยากลุ้มใจมากจึงไปปรึกษาแพทย์ และจากการซักเรื่องราวต่างๆ ก็ได้ความว่า ตอนที่ลูกคนเล็กเกิด ผู้เป็นแม่สุขภาพไม่ค่อยดี จึงเอาลูกชายคนโตซึ่งตอนนั้น 1 ขวบไปฝากคนอื่นเลี้ยงเป็นเวลา 6 เดือน

หมอคิดว่าสาเหตุอาจจะอยู่ในช่วง 6 เดือนนั้นก็ได้ จึงเรียกตัวผู้หญิงที่เคยเลี้ยงเด็กตอนนั้นมาซักถาม แล้วเธอก็เล่าให้ฟังว่า เวลาที่พาเด็กไปเดินเล่น เธอมักจะแอบไปพบแฟนในโรงดินเก่าๆ ท้ายสวนเกือบทุกวัน เด็กน้อยอายุ 1 ขวบจึงถูกทิ้งให้อยู่ในมุมมืดของโรงดินวันละประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วจะไม่ให้เหตุการณ์เช่นนั้นมีผลกระทบต่อเด็กได้อย่างไร แทนที่เด็กจะได้วิ่งเล่นสนุกๆ กลับต้องมาจมอยู่กับโรงดินที่อับและมืด ซึ่งมีผลทำให้จิตใจของเด็กมืดหม่นไปด้วย

แน่นอนว่าเด็ก 1 ขวบยังไม่เข้าใจความหมายและพฤติกรรมของพี่เลี้ยง แต่เสียงสวบสาบในความมืด ย่อมทำให้เด็กน้อยที่อยู่คนเดียวเกิดความหวาดกลัว และพอจะเข้าใจได้ไหมว่าทำไมแกถึงกลายเป็นเด็กที่เก็บตัว เงียบขรึมในภายหลัง

 

การทะเลาะกันช่วยให้เด็กรู้จักเข้าสังคม

สาเหตุของการทะเลาะกันมีหลายอย่าง เช่น แย่งของเล่นกันบ้าง แย่งกันเล่นไม้ลื่นหรือชิงช้าในสนามเด็กเล่นบ้าง ต่อปากต่อคำกันบ้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตามจะไม่มีการทะเลาะกันแบบไม่มีสาเหตุเด็ดขาด หากเราไม่รู้สาเหตุ เอาแต่ห้ามไม่ได้เด็กทะเลาะกัน ย่อมไม่เป็นการส่งเสริมเด็กให้รู้จักรอมชอมแต่อย่างใด

ยิ่งการที่พ่อแม่ชอบเข้าไปยุ่งเวลาเด็กทะเลาะกันนั้นเปรียบเสมือนการหยุดยั้งไม่ให้สัญชาตญาณของการอยู่รวมหมู่พัฒนาขึ้นมา เด็กๆ ต้องทะเลาะกันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ผู้ใหญ่ไม่ควรเข้าไปยุ่งย่าม ถ้าผู้ใหญ่ใช้เหตุผลของผู้ใหญ่ตัดสินปัญหาของเด็ก จะกลับกลายเป็นการสร้างนิสัยดื้อรั้นขึ้นในตัวเด็ก

เราควรคิดว่าการทะเลาะกันเป็นการทดสอบเด็กซึ่งเริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตรวมหมู่

 

ข้อมูลจากหนังสือ รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว

วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก

 


บทความอื่นๆ 

พัฒนาการเด็ก 0-3 ขวบกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่

แนะนำหนังสือเลี้ยงลูก คู่มือพ่อแม่สำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงวัยรุ่น

เลี้ยงลูกด้วยดนตรี เสริมสร้างพัฒนาการที่ดีตั้งแต่ลูกยังเล็ก

หลักการ เลี้ยงลูกยุคใหม่ เรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเข้าใจ

พัฒนา ทักษะEF ให้ลูกได้ไม่ยาก ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนิทาน

 

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า