หลายคนนิยมใช้สมุนไพรในการรักษาโรค เพราะเชื่อมั่นใน สรรพคุณของสมุนไพรไทย ที่เป็นการรักษาแบบไม่ใช้สารเคมี มีความปลอดภัย และเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่ายาประเภทอื่น
สมุนไพรในบ้านเรามีหลายชนิด เช่น บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร มะขามแขก ว่านหางจระเข้ ซึ่งบางชนิดก็ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อที่ร้านขายยา เราสามารถปลูกสมุนไพรเหล่านี้ไว้ที่บ้านได้ ต้องการใช้งานเหมือนไรก็สามารถตัดมาใช้ได้ทันที
มาดูกันว่า สรรพคุณของสมุนไพรไทย สามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง
แก้ไอ ขับเสมหะ
ไอ เป็นกลไกของร่างกายในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การอักเสบ การแพ้สารระคายเคือง หรือการสูดดมสารเคมี
เสมหะ เป็นของเหลวที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อคลุมผนังทางเดินหายใจและดักจับเชื้อโรค ทั้งสองอาการนี้เป็นกลไกธรรมชาติของร่างกาย แต่ถ้ามีเสมหะมากหรือข้นเหนียวจนเกิดความรำคาญ ร่างกายต้องขับไล่เสมหะด้วยการไอ เรียกว่า ไอแบบมีเสมหะ ซึ่งอาจรบกวนการนอนหลับพักผ่อนของผู้ป่วยและสร้างความเดือดร้อนให้กับคนรอบข้าง
สมุนไพรไทยที่ช่วยรักษาอาการไอ และขับเสมหะ มีทั้งหมด 3 ชนิดดังนี้
1.ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม
ช่วยบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ จิบเมื่อมีอาการทุกๆ 4 ชั่วโมง ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรใช้ และระวังหากเป็นคนที่ท้องเสียง่าย เนื่องจากมะขามป้อมมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
2.ยาแสงหมึก
มีส่วนผสมจาก หมึกหอม จันทน์ชะมด ลูกกระวาน จันทน์เทศ ใบพิเสน ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กานพลู ใบสันพร้าหอม หัวหอม ใบกะเพรา เป็นยาที่ใช้สำหรับเด็กเล็ก ช่วยบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ เมื่อละลายกับน้ำลูกมะแว้งเครือหรือลูกมะแว้งต้น ใช้กวาดคอสำหรับเด็กวันละ 1 ครั้ง หลังจากนั้นรับประทานทุก 3 ชั่วโมง
เด็กอายุ 1-6 เดือน ครั้งละ 2 เม็ด
เด็กอายุ 7-12 เดือน ครั้งละ 3 เม็ด
3.ยาอำมฤควาที
มีส่วนผสมจาก รากชะเอมเทศ ลูกผักชีลา เนื้อลูกมะขามป้อม โกฐพุงปลา เทียนขาว และเนื้อลูกสมอพิเภก วิธีใช้คือ นำผงยาละลายกับน้ำมะนาวแทรกเกลือ ใช้จิบหรือกวาดคอ ผู้ใหญ่ครั้งละ 1 ช้อนชา ส่วนเด็กอายุ 6-12 ปี ครั้งละครึ่งช้อนชา
ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดัน โรคไต หรือโรคหัวใจไม่ควรใช้น้ำมะนาวแทรกเกลือ
แก้ปวด ลดไข้
หากอาการปวดไข้ไม่รุนแรงนัก หรือมีไข้ขึ้นสูงมากจนเกินไป สามารถใช้ยาสมุนไพรไทยได้ 3 ชนิดดังนี้
1.ยาฟ้าทะลายโจร
ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ให้รับประทานครั้งละ 1.5-3 กรัม วันละ 4 ครั้ง ข้อที่ควรระวังคือ ห้ามใช้เมื่อตั้งครรภ์หรือตอนให้นมบุตร ห้ามใช้เมื่อมีการไอรุนแรง มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูงและหนาวสั่น
2.ยาจันทน์ลีลา
ประกอบด้วยโกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา แก่นจันทน์ขาว แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม รากปลาไหลเผือก พิมเสน เถาบอระเพ็ด สรรพคุณคือช่วยแก้ไข้ ตัวร้อน รับประทานทุก 4 ชั่วโมง หากเป็นชนิดผง ผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา เด็กอายุ 6-12 ปี ครั้งละครึ่งช้อนชา
3.ยาเขียวหอม
แก้ตัวร้อน ร้อนใน กระหายน้ำ เมื่อละลายน้ำสุก ให้รับประทานวันละ 4-6 ครั้ง ผู้ใหญ่ครั้งละ 1 ช้อนชา เด็กอายุ 6-12 ปี ครั้งละครึ่งช้อนชา ข้อควรระวังคือ หากแพ้เกสรดอกไม้ ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่ความเสี่ยงจะเป็นไข้เลือดออก เพราะอาจจะบดบังอาการได้
แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
เวลาโดนน้ำมันกระเด็นใส่ โดนไฟลวก น้ำร้อนหกราด สิ่งที่ต้องทำคือรีบออกห่างจากของร้อนโดยเร็ว จากนั้นให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด อุณหภูมิปกติจนรู้สึกปวดแสบปวดร้อนลดลง ห้ามถูบาดแผลด้วยน้ำแข็งเพราะอาจระคายเคือง ทำให้แผลลึกขึ้น จากนั้นซับแผลให้แห้งสนิท ไม่ควรใช้ยาสีฟันหรือยาหม่องทา เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองเพิ่มขึ้น
แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ยังไม่มียาแผนปัจจุบันที่จะช่วยบรรเทาอาการได้ ส่วนสมุนไพรไทยที่ใช้รักษาได้แก่ ว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้ ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลวันละ 3-4 ครั้ง หากมีอาการคัน มีผื่นแดงควรหยุดใช้ทันที สำหรับว่านหางจระเข้นั้นสามารถปลูกไว้ในบ้านได้ด้วย
ยาระบาย แก้ท้องผูก
ภาวะท้องผูกพบได้บ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการขับถ่าย ในบางครั้งจำเป็นต้องใช้ยาช่วยบรรเทา เพราะหากไม่ขับถ่ายเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการเบื่ออาหาร อึดอัดไม่สบายท้อง หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตันได้
ยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูกมี 2 ชนิดดังนี้
1.ยาชุมเห็ดเทศ
ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก รับประทานครั้งละ 3-6 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร นาน 10 นา วันละ 1 ครั้งก่อนนอน ข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเพราะจะทำให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป และทำให้ลำไส้ใหญ่ชินต่อยา ถ้าไม่ใช้ยาจะไม่ถ่าย
2.ยาถ่าย
แก้ท้องผูก รับประทานวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน ทานครั้งละ 2-5 เม็ด
สมุนไพรไทยสามารถรักษาโรคได้เทียบเท่ากับยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันเลยทีเดียว แต่ต้องศึกษาการใช้อย่างถูกวิธี และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
ข้อมูลจากหนังสือ หายป่วยด้วยยาแผนไทย
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิก
บทความอื่นๆ
เทโลเมียร์ ยิ่งยาวยิ่งดี! เคล็ดลับความอ่อนเยาว์ที่เราสร้างเองได้
วิธีสังเกตอาการไทรอยด์เป็นพิษด้วยตัวเอง และวิธีรักษา
ไวรัสตับอักเสบบี อาการ การติดต่อ การรักษา คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ
ห้ามกินยากับอะไร กินยากับนมไม่ได้จริงหรือ?
การแพ้ยา อาการข้างเคียงของยา และการลดความรุนแรงของการแพ้ยา
8 พฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม รู้ไว้เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
Pingback: น้ำตาลอันตรายกว่าที่คิด! ผลเสียของการกินรสหวาน มากเกินไป