ผู้หญิงทุกคนต้องเข้าสู่วัยทองด้วยกันทั้งนั้น วัยทอง เป็นวัยหมดประจำเดือน เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 40 ปี และช้าที่สุดคือ 58 ปี อาการเหล่านี้จะส่งผลต่อสุขภาพและอารมณ์อย่างมาก
มาทำความเข้าใจ วัยทอง อย่างลึกซึ้งเพื่อเตรียมดูแลตัวเองกันเถอะ
คำจำกัดความของวัยทอง
วัยทองเป็นวัยหมดประจำเดือน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการทำงานของรังไข่ลดลง หรือการผ่าตัด การรักษาด้วยสารเคมีบำบัดหรือฉายแสง โดยการหมดประจำเดือนตามธรรมชาติถือเอาการขาดประจำเดือนติดต่อกัน 12 เดือน โดยที่ไม่ได้เป็นโรคหรือใช้ยาอะไร
วัยทองเริ่มต้นที่อายุเท่าไหร่
วัยทองเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 40 ปี และช้าที่สุดคือ 58 ปี
หากหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี จะถือว่าหมดเร็วไป เสี่ยงต่อระบบกล้ามเนื้อ ระบบกระดูก ระบบหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น
หากหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี จะถือว่าหมดช้าไป เสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งโพรงมดลูกมากขึ้น
อาการวัยทองระยะต่างๆ
1.อาการวัยทองที่เกิดระยะสั้น หลังหมดประจำเดือนไม่นาน
จะรู้สึกร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ เครียด ขี้หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ฟุ้งซ่าน ฯลฯ
2.อาการวัยทองที่เกิดระยะปานกลาง หลังหมดประจำเดือนไปเป็นปี
ผิวหนังเหี่ยวย่น มีริ้วรอย ช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ฯลฯ
3.อาการวัยทองที่เกิดระยะยาว หลังหมดประจำเดือนไปเป็นสิบปี
ต้องระวังโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงส่วนใหญ่ แต่บางคนอาจมีอาการวัยทองไม่เหมือนกับคนอื่น เช่น มีอาการวัยทองระยะสั้นเมื่อหมดประจำเดือน 10 ปีก็ได้ หรือเกิดอาการวัยทองระยะยาวทั้งๆ ที่เพิ่งหมดประจำเดือนก็ได้
24 อาการที่เกิดจากวัยทอง
- ร้อนวูบวาบซู่ขึ้นตามเนื้อตัว เหงื่อไหล
- รู้สึกใจเต้นเร็ว แรง
- อารมณ์สวิงสวาย ขี้บ่น ไม่แน่นอน เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง ร้องไห้ง่าย
- นอนไม่หลับแม้ไม่มีอาการวูบวาบ
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ความสนใจทางเพศลดลง
- ช่องคลอดแห้ง น้ำหล่อลื่นน้อย
- ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
- เครียด ซึมเศร้า กลัว
- ขี้ลืม ไม่มีสมาธิ
- กลั้นปัสสาวะได้ไม่ดี
- คันตามผิวหนัง เจ็บเหมือนมีเข็มแทงตามผิวหนัง
- คัดตึงเต้านม
- ปวดหัว
- ระบบย่อยอาหารผิดปกติ
- อาการภูมิแพ้กำเริบ
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น
- ผมร่วง ศีรษะล้าน
- เวียนหัว เดินเซ
- ร่างกายมีกลิ่นฉุน
- เล็บเปราะ หักง่าย
- กินอาหารไม่อร่อย จืดปากจืดคอ
- หูอื้อ
- กระดูกพรุน กระดูกหัก แม้ล้มไม่รุนแรง
หากมีอาการ 1 ใน 24 อาการเหล่านี้ และเป็นมากจนทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้สุขภาพกายใจเสื่อม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่าเป็นอาการของวัยทองหรือเป็นโรคอื่นๆ หรือไม่
วัยทองมาถึงเร็วเกินไป ทำอย่างไรดี
วัยทองมาถึงเร็วเกินไปเป็นอาการรังไข่ล้มเหลว ไม่สร้างฮอร์โมนเพศในผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 40 ปี มักเกิดในผู้หญิงที่ผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออก ขาดสารอาหารรุนแรง พันธุกรรม มีบุตรยาก มีความเครียดมาก เป็นโรคโลหิตจาง หรือได้รับสารพิษจากการติดเชื้อไวรัส ยาฆ่าแมลงเป็นระยะเวลานาน
วิธีดูแลสุขภาพเมื่อวัยทองมาถึงเร็วเกินไป
1.ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ผอมหรืออ้วนจนเกินไป งดการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานผัก ผลไม้เป็นประจำ
2.ดูแลสุขภาพใจ ด้วยการเล่นโยคะ นั่งสมาธิ เพื่อลดความเครียด
3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งหนึ่งนานประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อช่วยให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง
4.ใช้ฮอร์โมนทดแทนการหมดประจำเดือน ซึ่งมีทั้งชนิดกินและใช้แผ่นแปะ
ข้อมูลจากหนังสือ วัยทอง (ฉบับปรับปรุง)
วางขายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สั่งซื้อออนไลน์ คลิกที่นี่
บทความอื่นๆ
5 ท่ายืดเหยียด คลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดเมื่อย เพื่อสุขภาพที่ดี
สัญญาณอันตรายร่วมกับอาการปวดหลัง ระวังหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมาเยือน
อาการและวิธีรักษา ต่อมลูกหมากโต โรคยอดฮิตของผู้ชายวัยทอง
เทคนิคง่ายๆ เพิ่มฮอร์โมนชะลอวัย ผิวสวยหน้าใส ห่างไกลความแก่
8 ความเข้าใจผิดเรื่องการบำรุงผิว และวิธีบำรุงผิวที่ถูกต้อง
Pingback: “โยคะนิ้ว” ออกกำลังกายง่ายๆ ด้วยปลายนิ้ว ไม่เหนื่อยแถมสุขภาพดี