เรื่องควรรู้ก่อนเดินเข้าป่าหาชีวิตไปกับ ‘หากวันใดคุณหลงทาง จงฟังเสียงที่อยู่ในหัวใจ’ / PICCOLO

หากวันใดคุณหลงทาง จงฟังเสียงที่อยู่ในหัวใจ 羊と鋼の森 (Hitsuji to Hagane no Mori) เป็นวรรณกรรมเรื่องเยี่ยมที่มียอดขายกว่า 1 ล้านเล่มในประเทศญี่ปุ่น ผลงานจากปลายปากกาของ มิยาชิตะ นัตสึ (Miyashita Natsu) ซึ่งเคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันเมื่อปี 2018 นำแสดงโดยพระเอกหนุ่มดาวรุ่งชื่อดัง ยามาซากิ เคนโตะ (Yamazaki Kento)

มิยาชิตะ นัตสึ เป็นนักเขียนหญิงชาวญี่ปุ่นที่เปิดตัวด้วยผลงานเรื่อง “ฝนสงัด” ในปี 2004 และสามารถคว้ารางวัลอันทรงเกียรติ Bungakukai Rookie of the Year Award ครั้งที่ 98 มาครองได้ จากนั้นในปี 2010 เธอก็มีชื่อเข้าชิงในรางวัล Johji Tsubota Literature Award จากผลงานเรื่อง “บทเพลงแห่งความสุข” และล่าสุดในปี 2016 เธอก็สามารถคว้ารางวัลไปครองได้อีกครั้งด้วยการชนะเลิศรางวัล Japan Booksellers’ Award ครั้งที่ 13 จากผลงานเรื่อง “หากวันใดคุณหลงทาง จงฟังเสียงที่อยู่ในหัวใจ”

หากวันใดคุณหลงทาง จงฟังเสียงที่อยู่ในหัวใจ คือวรรณกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการตามหาตัวเองของ “โทมุระ” เด็กหนุ่มวัยมัธยมปลายที่บังเอิญได้ดูการจูนเสียงเปียโนของช่างจูนคนหนึ่งในโรงพละ จากนั้นโลกของเขาก็เปลี่ยนไป โทมุระค้นพบแล้วว่าเขาหลงใหลการจูนเสียงเปียโน หลังเรียนจบชั้นมัธยมปลายจึงตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านเกิดในเมืองเล็ก ๆ ที่ฮอกไกโดแล้วเข้าเรียนที่โรงเรียนเฉพาะทางสำหรับฝึกจูนเสียงในฮอนจู

 

ช่างจูนเสียงเปียโนผู้อยู่เบื้องหลังบทเพลงอันแสนไพเราะ

เมื่อพูดถึงเปียโน คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงนักเปียโนกันเป็นอันดับแรก แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่ายังมีอีกอาชีพหนึ่งที่สำคัญกับนักเปียโนเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ “ช่างจูนเสียงเปียโน” เพราะหากขาดอาชีพนี้ไป ไม่ว่านักเปียโนคนนั้นจะเก่งหรือมีพรสวรรค์มากขนาดไหนก็ไม่สามารถบรรเลงเพลงให้ออกมาไพเราะได้

การทำงานของช่างจูนเสียงเปียโน (Piano Tuner) มี 3 ขั้นตอน ขั้นแรกคือ “การปรับแต่งกลไก” โดยจะตรวจเช็กกลไกและปรับแต่งให้เข้าที่ เพื่อให้สามารถตั้งเสียงได้ดี ขั้นที่สองคือ “การปรับตั้งเสียง” จะมุ่งไปที่การจัดตำแหน่งโทนเสียงและคุณภาพเสียงเป็นสำคัญ และขั้นสุดท้ายคือ “การปรับแต่งเสียง” เพราะเปียโนมีเสียงมากถึง 88 คีย์ จึงจำเป็นต้องปรับทุกเสียงให้สมดุลกันอีกทีหนึ่ง

การจูนเสียงเป็นศาสตร์เฉพาะทาง จำเป็นต้องได้รับการศึกษาจากสถาบันที่เปิดสอนโดยตรง ทั้งยังต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทักษะการฟังซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากทำก็สามารถทำได้เลย ในวรรณกรรมเรื่องนี้จึงเปรียบการจูนเสียงว่าเป็นเสมือน “ป่า” ที่ไม่สามารถเดินผ่านไปได้โดยง่าย แต่โทมุระก็ต้องเดินเข้าไปเพื่อตามหาสิ่งที่ตัวเองต้องการ

 

 

‘โทมุระ’ ชายหนุ่มผู้ตัดสินใจเดินเข้าป่าอย่างไม่ลังเล

โทมุระ คือชายหนุ่มจากเมืองเล็ก ๆ ที่เติบโตมาอย่างโดดเดี่ยวและมักรู้สึกอิจฉาน้องชายที่ได้รับคำชื่นชมจากคนอื่นอยู่เสมอ การได้อยู่เพียงลำพังในป่าหลังบ้านจึงเป็นสถานที่เดียวที่ทำให้เขารู้สึกได้รับการยอมรับ

ตอนอายุ 17 ปี โทมุระได้พบคุณอิทาโดริที่โรงพละของโรงเรียนเป็นครั้งแรก หลังจากได้ฟังเสียงเปียโนที่คุณอิทาโดริจูน เขาก็ค้นพบความรู้สึกนั้นอีกครั้ง “ความรู้สึกได้รับการยอมรับ” ซึ่งเคยมีแค่ป่าที่มอบให้เขาได้ โทมุระจึงตัดสินใจเดินตรงเข้าไปในป่าที่เรียกว่า “การจูนเสียง” ทั้ง ๆ ที่เขาก็ไม่รู้เลยว่าการเดินเข้าไปครั้งนี้จะได้กลับออกมาอีกหรือไม่ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเดินหน้าเข้าไปเพื่อตามหาสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างไม่ลังเล

แต่เมื่อเรียนจบและได้เข้าทำงานที่ร้านเอโต้การดนตรี เขากลับต้องเผชิญกับความจริงที่บั่นทอนกำลังใจและอาจส่งผลให้เขาไม่สามารถเป็นช่างจูนเสียงอย่างที่ฝันได้ เพราะเขาไม่มีพรสวรรค์หรือแม้แต่พื้นฐานเกี่ยวกับดนตรีเหมือนกับรุ่นพี่คนอื่น ๆ เลย

ท่ามกลางป่าที่เต็มไปด้วยหญ้ารกทึบและมืดมิดจนแทบมองไม่เห็นปลายทางนี้ โทมุระต้องเลือกแล้วว่าเขาจะยอมแพ้แล้วหันหลังกลับหรือเดินหน้าต่อไปเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า “ชีวิตคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ แต่ต้องพยายามด้วยสองมือของตัวเองต่างหาก”

 

เพื่อนร่วมเดินทางในป่าแห่งการตามหาตัวเอง

ในป่าแห่งการจูนเสียงที่โทมุระเดินเข้าไปนี้ บางครั้งก็ทำให้เขารู้สึกสดชื่นที่ได้ทำตามความฝัน แต่บางครั้งก็ทำให้เขารู้สึกหวาดกลัวและไม่มั่นใจ แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ในระหว่างทางที่เขากำลังมุ่งหน้าไปนี้ เขาก็ได้พบกับเพื่อนร่วมทางมากมายที่ช่วยให้เขาได้เรียนรู้และเข้าใจถึงวิธีการเดินในป่าแห่งนี้มากขึ้น

อิทาโดริ รุ่นพี่ในร้านเอโต้การดนตรีผู้จุดประกายความฝันให้แก่โทมุระ

อิทาโดริ อัจฉริยะด้านจูนเสียงที่บรมครูด้านเปียโนเจาะจงเรียกใช้บริการทุกครั้งจนเกือบได้รับโอกาสให้ติดตามไปจูนเปียโนตอนทัวร์การแสดงที่ยุโรปด้วย แต่น่าเสียดายที่เขาเกลียดการขึ้นเครื่องบิน จึงเลือกมาทำงานที่ร้านดนตรีในเมืองเล็ก ๆ นี้แทน

ยานางิ รุ่นพี่ในร้านเอโต้การดนตรีผู้คอยดูแลโทมุระมากที่สุด

ยานางิ ชายหนุ่มอัธยาศัยดีที่ช่วงวัยรุ่นเคยประสบปัญหามีภาวะความรู้สึกมากเกินไปจนทำให้เขาไม่สามารถทนเห็นสีฉูดฉาดตามสถานที่หรือสิ่งของในที่สาธารณะได้เลย แต่เพราะเสียงไขลานของเมโทรนอมแบบอนาล็อก เขาจึงสามารถเอาชนะมันมาได้

อากิโนะ รุ่นพี่ในร้านเอโต้การดนตรีผู้ทำให้โทมุระได้เรียนรู้ในอีกแง่มุมหนึ่ง

อากิโนะ คุณลุงผู้มีลักษณะนิสัยตรงข้ามกับยานางิอย่างสิ้นเชิง เขาทั้งไร้อัธยาศัยและมีปากเหมือนกรรไกร แต่ในอดีตกลับเคยหวาดกลัวต่อขีดจำกัดของตัวเองในฐานะนักเปียโนจนถึงขั้นเก็บไปฝันร้ายซ้ำไปซ้ำมา สุดท้ายเขาจึงตัดสินใจผันตัวมาเป็นช่างจูนเสียงแทน

ยูนิ หนึ่งในพี่น้องฝาแฝดผู้ทำให้โทมุระเข้าใจถึงวิธีการเดินในป่ามากขึ้น

ยูนิ ลูกค้าประจำของร้านเอโต้การดนตรีที่ถ่ายทอดความสดใสร่างเริงออกมาผ่านเสียงเปียโนอยู่เสมอ แต่แล้ววันหนึ่งความฝันที่อยากเป็นนักเปียโนของเธอก็ต้องพังทลายลง เพราะอาการป่วยที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันทำให้ไม่สามารถเล่นเปียโนได้ แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ไม่ยอมแพ้และเลือกก้าวต่อไปบนเส้นทางของนักจูนเปียโนแทน

เรื่องควรรู้นี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งจากเรื่องราวทั้งหมดเท่านั้น ในวรรณกรรมเล่มนี้ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวพลังบวกมากมายที่จะช่วยให้คุณมั่นใจและกล้าก้าวต่อไปข้างหน้ามากขึ้นอย่างแน่นอน เปิดหนังสือแล้วมาติดตามเส้นทางชีวิตที่โทมุระเลือกเดินและเป็นกำลังใจให้เขาไปพร้อม ๆ กันได้เลย!

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.sarakadee.com/2005/08/19/piano-technician/https://www.youtube.com/watch?v=YLDdYRjP_PE

มิยาชิตะ นัตสึ เขียน
พิมพ์พชร คุณโสภา แปล

 

Leave a Reply

แจ้งเตือนการใช้งานคุกกี้ เว็บไซต์ของเรามีการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการประสบการณ์ของผู้ใช้งานให้ดีที่สุด ได้แก่ คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ คุกกี้เพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ศึกษารายละเอียดและการตั้งค่าคุกกี้เพิ่มเติมเพื่อความเป็นส่วนตัวของท่านได้ใน นโยบายคุกกี้ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า